Latest

หมอขี้เบื่อ (Self dialogue)

เรียน คุณหมอสันต์ ที่เคารพ..

     ผมเป็นหมอเวชปฏิบัติทั่วไปครับ เรียนจบมา 5 ปีแล้ว ทำงานใช้ทุนครบ 3 ปี หลังจากใช้ทุนครบผมได้ตัดสินใจศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินที่สถาบันแห่งหนึ่งในกทม.ครับ แต่เรียนได้ 6 เดือนก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ใฝ่หา จึงได้โบกมืออำลาออกมาทำงานฟรีแลนซ์อยู่ได้ระยะหนึ่งก็ตัดสินใจเข้าทำงานเป็นหมอที่สนามบินครับ งานหลักๆคือการตรวจรักษาพนักงานและครอบครัว แต่ก็จะมีตรวจผู้โดยสารอยู่เรื่อยๆครับทั้งไทยและเทศ ตอนนี้ทำมาได้ปีกว่าๆก็รู้สึกว่างานที่ทำอยู่มันไม่ค่อยมีความสุขความท้าทายเท่าที่ควรครับ แต่ก็ยังดีที่พอได้คุยกับคนต่างชาติบ้าง ไม่รู้ผมเป็นคนเบื่อง่ายไปหรือเปล่าครับ ตอนนี้ก็เลยกลับมาคิดเรื่องเรียนต่ออีกครั้ง

     ปัญหาก็คือไม่รู้จะเรียนต่อสาขาใดเพราะไม่ได้รู้สึกชอบสาขาใดสาขาหนึ่งเป็นพิเศษเลย แต่ที่ชอบคืออยากใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารครับถึงแม้ว่า ณ ขณะนี้จะยังไม่เก่งก็ตาม ผมไม่ชอบเมดจ๋า ไม่ชอบผ่าตัดอะไรมากมาย แรกเริ่มเดิมทีอยากเรียนจิตเวชแต่คิดว่าตัวตนเราเป็นคนเครียดง่ายกลัวจะบ้าไปเสียก่อน ที่มองๆอยู่ก็มีเวชศาสตร์การท่องเที่ยว และก็เวชศาสตร์ครอบครัว หรือจะกลับไปสานฝันเป็นจิตแพทย์ดีครับ

รบกวนขอคำปรึกษาด้วยนะครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง..

        หมอขี้เบื่อ
………………………………………..
ตอบครับ
     ฟังข้อมูลที่คุณหมอให้มาแล้ว ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ไม่รู้จะเลือกเรียนสาขาอะไร เพราะคุณหมอก็รู้จักตัวเองอยู่แล้ว ว่าชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ชอบใช้ภาษาอังกฤษ ไม่ชอบเจาะอะไรลึกๆแบบอายุรกรรม ไม่ชอบเป็นพระเอกฮีโร่ทำอะไรเสี่ยงๆยากๆอย่างศัลยกรรม เป็นคนเครียดง่าย สะเป๊คเท่าที่เล่ามานี้ก็พอที่จะเลือกสาขาอาชีพได้แล้ว ปัญหาของคุณหมอจึงไม่ได้อยู่ที่ไม่รู้จะเลือกสาขาอะไร แต่อยู่ที่ความขี้เบื่อมากกว่า 
     
     คนเราพอตั้งต้นเป็นคนขี้เบื่อเสียแล้ว ก็จะเป็นคนขี้เบื่อไปจนสิ้นชาติ เริ่มต้นก็ดูเหมือนอยากทำโน่นนี่นั่น ไปสักพักก็เบื่อ..ซะงั้น เวลาลงมือทำอะไรก็จะบ้าได้สักพัก แล้วก็ทิ้ง เรียนหนังสือตัวเองเป็นคนเลือกคณะหรือสาขาเองแท้ๆ แต่ก็เบื่อ แล้วก็ทิ้ง มีแฟนไปสักพักก็เบื่อเขา แบบว่ามีความรักแล้วกลายเป็นมีความเฉย แต่งงานก็เบื่อเมีย มีลูกก็เบื่อลูกไม่อยากเลี้ยง ดูเผินๆเหมือนคนใกล้จะบรรลุธรรม แต่พอเข้าวัดปฏิบัติธรรมก็เบื่อพระ เบื่อชี หนีวัดอีก
     คำว่า “เบื่อง่าย” หรือ “ขี้เบื่อ” เป็นคำเท่นะครับ ฟังแล้วน่าภาคภูมิใจ แต่คนรุ่นก่อนเรียกนิสัยแบบนี้ว่า “หยิบโหย่ง” หรือ “เหลาะแหละ” หรือ “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” หรือ “จับจด” ซึ่งสะท้อนอีกด้านหนึ่งของความขี้เบื่อและฟังดูแล้วไม่ค่อยเท่เท่าไหร่ คนที่ทำงานการบุคคลตามบริษัทต่างๆจะคุ้นมากกับพนักงานขี้เบื่อ เอาแต่บ่นๆๆๆ หนักเข้าการบุคคลขี้เกียจฟังเลยทำแบบฟอร์มให้กรอก อยากบ่นอะไรกรอกแบบฟอร์มมา แต่ก็ไม่วาย บ่นว่า
            “…เอาอีกละ เบื่อจริงๆเลย แบบฟอร์มเนี่ย เอะอะก็แบบฟอร์ม แบบฟอร์ม”
     ผมมีอาจารย์เก่าอยู่ท่านหนึ่ง ท่านเขียนเล่าว่าเจอคนแบบนี้เข้า การบุคคลเลยมีวิธีแก้เคล็ดว่า
            “…แบบฟอร์มแสดงความเบื่อหน่ายก็มีนะครับ จะเอาแมะ..”
            ฮิ..ฮิ…ฮิ  ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น 
            เอ เมื่อตะกี้เราคุยกันมาถึงไหนนะ อ้อ เรื่องปฐมเหตุคือความขี้เบื่อ ไม่ใช่ขาดข้อมูลประกอบการเลือกสาขาเฉพาะทาง ข้อมูลที่เชื่อถือได้หรือการวิจัยเปรียบเทียบที่จะบอกว่าการแก้ความเบื่อหน่ายด้วยวิธีไหนดีกว่าวิธีไหนไม่มีหรอกครับ คำแนะนำที่ผมจะให้กับคุณเรื่องแก้ความเบื่อหน่ายต่อไปนี้ผมคิดขึ้นเอง พูดง่ายๆว่าผมใช้กับผมเอง คุณลองเอาไปทำดูนะ
องค์ประกอบที่ทำให้คนเราเบื่อมีสามอย่าง คือ 
(1) ทัศนคติไม่แจ่มชัด 
(2) การขาดวินัยตนเอง 
(3) การขาดวิธีสร้างความบันดาลใจให้ตนเอง
ประเด็นทัศนคติไม่แจ่มชัด วิธีการมีง่ายๆเลยครับ ให้คุณหมอถามตัวเองดูก่อนว่าที่เราเบื่อสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เนี่ย เราทำมันอย่างสุดๆจนเจนจบไปถ้วนทั่วทุกกระบวนการหรือยัง ถ้าคำตอบเป็นว่าเราได้ทำมาอย่างสุดๆแล้ว เจนจบแล้ว ไม่มีอะไรจะเรียนรู้จากตรงนี้อีกแล้ว.. โอเค. เปลี่ยนงานได้ ถ้าคำตอบเป็นว่าเอ้อ.. อ้า.. ไม่แน่ใจว่าเราได้ทุ่มเทกับมันสุดหรือยัง คุณหมออย่าเพิ่งเปลี่ยนงาน เพราะเปลี่ยนไปก็ต้องไปเจอความเบื่ออีก เนื่องจากความเบื่อไม่ได้อยู่ที่งาน แต่อยู่ที่วิธีใช้ชีวิตของเราเอง
วันสุดท้ายที่ผมจบการเป็นอินเทอร์น ความจริงต้องบอกว่าวันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่ผมจบการเป็นอินเทอร์น เพราะผมอยู่เวรส่งท้ายจนรุ่งเช้า ออกจากเวรก็ไปประชุมจับฉลากเลือกที่ทำงานที่สป. (สนง.ปลัดกระทรวง) ตอนโหนรถเมล์ไปห้องประชุม ผมนึกในใจว่า
“..การเป็นอินเทอร์นนี้ผมจบแล้ว ผมทำมันมาอย่างสุดจิตสุดใจจนเจนจบครบถ้วนทุกกระบวนความแล้ว จะให้ผมกลับไปทำมันอีก ผมคงไม่ทำอีกแล้ว คงไม่ไหวแล้ว..”
 ครั้นไปถึงหน้าห้องประชุม ได้ยินเพื่อนคนหนึ่งเปรยว่า
“..จะออกไปอยู่ต่างจังหวัดแล้วหรือนี่ ไม่มั่นใจเลย รู้สึกว่ายังไม่พร้อมเลย หนึ่งปีที่อินเทอร์นมา รู้สึกว่าไม่ค่อยได้ทำอะไร ไม่ค่อยได้รู้อะไรเลย”
ความคิดสองแบบนี้คือเส้นแบ่งว่าใครควรจะแก้ความเบื่อของตัวเองด้วยวิธีไหน ถ้าคิดแบบแรก การจะแก้ความเบื่อคือเปลี่ยนงานลูกเดียว ถ้าคิดแบบที่สอง ต้องแก้ที่ทัศนคติของตัวเองต่องานที่ทำ หมายความว่ากลับไปทำมันใหม่ ทำมันให้จริงจังสุดๆทุกแง่ทุกมุมก่อน ให้ค้นพบด้วยตัวเองก่อนว่าทำไมคนทั่วไปเขาถึงพูดกันว่า
“..จริงจังกับอะไรสักอย่าง แล้วคุณจะพบกับความหมายของชีวิต”
ในประเด็นเบื่อเพราะไม่สามารถสร้างวินัยให้ตนเอง ถึงเวลาตื่นก็ไม่อยากลุก ถึงเวลาไปทำงานก็ไม่อยากไป ลึกๆก็คือคนเบื่อตัวเองนั่นเองแหละครับ เพียงแต่เราไม่กล้าถามตัวเองตรงๆว่าตัวเรามันไร้ค่าจนเราเอียนตัวเองเลยหรือนี่ การสร้างวินัยให้ตนเอง หรือการจะเป็นคนมีวินัยต่อตนเอง คงไม่มีวิธีไหนดีกว่าการนั่งคุยกับตัวเองละมังครับ แบ่งตัวเองออกมาเป็นคนสองคนในจินตนาการนั่งคุยกัน คุยกันดีๆ คุยกันอย่างพยายามที่จะเข้าใจกัน และมีความเห็นใจกันอยู่ในที  (self dialogue) ลองถามเขาสิว่า

“..คุณต้องการอะไรกับชีวิต”

“..อ้อ.. ต้องการเป็นอย่างนั้นเหรอ แล้วคุณทำตัวขี้เกียจสันหลังยาวอย่างนี้คุณจะบรรลุความสำเร็จอย่างนั้นได้ไหม”
 อะไรทำนองเนี้ย ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความรักและความเห็นใจเขาอยู่ในที แบบว่า
“ผมเข้าใจ ว่าคุณไม่เคยต้องเหนื่อยยากกับการทำอะไรจริงๆจังๆมาก่อน แต่ผมว่าลองทำดูก่อนไม่ดีหรือ อาจจะสนุกก็ได้นะ”

หรือบางทีก็ต้องปลอบ

“ผมเข้าใจ คุณพลาดอีกแล้ว แต่คนเราล้มแล้วลุกได้นะ ผมว่าเราต้องลองกันอีกสักที”

ทำนองเนี้ยะ  
เท่าที่ผมเคยใช้มา การคุยกับตัวเอง เป็นวิธีสร้างวินัยต่อตนเองที่ดีที่สุด คุณลองทำดูสิครับ
ในประเด็นเบื่อเพราะการขาดแรงบันดาลใจ ก็เสาะหาแรงบันดาลใจเข้าสิครับ ซึ่งมีตั้งร้อยแปดวิธี ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่คุณหมอทราบอยู่แล้ว  ตั้งแต่การพักผ่อนเงียบๆคนเดียว หรือดูหนัง หรือฟังเพลง หรือไปหาธรรมชาติ หรือไปหาไปคุยกับเพื่อนที่ดี หรือเข้ากลุ่มเพื่อนที่ดี หรือเดินทางตะเร็ดเตร็ดเตร่ไป หรือหยุดพักร้อนสักพักเพื่อทำอะไรที่แตกต่างจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง หรือลองพยายามช่วยเหลือคนไข้ของเราสักคนหนึ่งอย่างสุดจิตสุดใจและลึกซึ้ง หรือลองพยายามช่วยเหลือคนอื่นด้วยเรื่องอื่นโดยไม่หวังอะไรตอบแทน โดยอาศัยแต่ศักยภาพที่เรามี เป็นต้น ทั้งหมดนี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนเราได้ทั้งสิ้น 

ลองดูนะครับ ไม่ลองไม่รู้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์