Latest

เสียงจิ้งหรีดในหู (tinnitus)

เรียนคุณหมอสันต์

ดิฉันอายุ 49 ปีกับอีก อีก 18 วันค่ะ เริ่มเป็น tinnitusหรืออาการมีเสียงคล้ายเสียงจิ้งหรีด ดังในหูด้านซ้ายตลอดเวลา เป็นเมื่อวันที่ 28 กค.ที่ผ่านมา รักษาที่รพ. … แต่ไม่ดีขึ้น จึงเปลี่ยนมาฝังเข็มที่รพ. … ฝังมาได้ 8 ครั้งแล้วค่ะ อยากเรียนถามว่า อาการนี้จะรักษาให้หายขาดได้ไหมค่ะ และมีวิธีดูแลสุขภาพ วิธีรักษา หรือรับประทานอาหารเสริม วิตะมินเสริมชนิดใดที่จะช่วยได้บ้าง

ดิฉันทำใจได้ครึ่งหนึ่งแล้วว่า อาจต้องเป็นไปตลอดชีวิต พยายามอยู่ด้วยกันฉันท์เพื่อน วันสบายๆ เสียงก็เบามาก จนแทบไม่สังเกต วันหนักๆ เครียดๆ เสียงก็ดังก้องในกระโหลก จนนอนไม่หลับ อยากหายค่ะ แต่
ถ้าเป็นอาการเสื่อมของสังขาร ก็ทำใจได้ค่ะ เพราะเราทำตัวเอง จึงอาจเสื่อมก่อนวัยอันควร

ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ หากคุณหมอมีเวลาตอบ

……………………………………..
ตอบครับ
     พูดถึงจิ้งหรีดดังในหู จะว่าเป็นของดีก็ดีนะคุณ บางคนเอาเสียงจิ้งหรีดดังในหูแต่งออกมาเป็นเพลงก็มี อย่างเพลงนี้ที่ว่า
     “…..หริ่ง เรไรระงมร้องเร่า
     เสียงหริ่งกรีดกริ่งไม่เบา ทั่วลำเนาเสียงเจ้ากล่อมไพร
     หริ่งเจ้าร้อง เสียงก้องลอยล่องจับใจ
     หริ่งระงม ผสมเรไร ครวญหาใครหรือขาดคู่เชย..”
     (ที่ผมบอกว่าเขาเอาเสียงจิ๊งหรีดดังในหูมาแต่งเพลงนี้ผมมั่วเอาเองนะครับ ไม่ใช่ข้อมูลความจริงดอก ผมเดาเอาเพราะคนร้องเพลงนี้คือ ทูล ทองใจ เขาร้องตอนหนุ่มๆเสียงกำลังดี แต่ทูลไม่ได้แต่งเพลงนี้เอง คนแต่งเป็นคนสูงอายุ ผมจึงเดาเอาว่าท่านคงแต่งจากเสียงวิ้งๆในหูของท่านเอง)
ไหนๆก็นอกเรื่องแล้วขอนอกเรื่องต่ออีกหน่อยนะ เมื่อได้ยินเสียงวิ้งๆคนเราก็บอกว่าเป็นเสียงหรีดหริ่งเรไร “หรีด”นะก็คือจิ้งหรีด โอเค. แต่หริ่งละ คืออะไร คุณรู้หรือเปล่า ถ้าคุณฟังเพลงข้างบนนี้ที่ทูล ทองใจร้อง เนื้อหามันเหมือนกับว่าเจ้าหริ่งนี้มันเป็นตัวอะไรสักอย่างที่ร้องได้ เพราะท่อนหนึ่งบอกว่า
          “..หริ่งเจ้าร้อง เสียงก้องลอยล่องจับใจ”
เพลงนี้ฮิตตอนผมเป็นเด็กราว 9 ขวบ ซึ่ง ณ อายุขนาดนั้นผมรู้สึกว่าผมเจนจบหมดแล้วในเรื่องการทำมาหากินตามหัวไร่ปลายนาและสุ้มเสียงทุกชนิดในชนบทไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน อย่างเสียงหรีดนี้ผมรู้ตั้งแต่วัยนั้นแล้วว่ามันไม่ได้เกิดจากการอ้าปากร้องของจิ้งหรีด แต่เกิดจากมันขยับปีก เพราะเวลาพวกเราเด็กๆออกล่าจิ้งหรีดตอนกลางคืนเพื่อเก็บไว้ต้มกินเป็นอาหารโปรตีนตอนกลางวัน เราต้องค่อยๆบรรจงส่องคบไฟแหวกพงหญ้าไปตามหาต้นเสียง ซึ่งก็จะเห็นจิ้งหรีดอยู่ที่ปากรูของเขา กำลังเอาปีกสีกันเพื่อส่งเสียงอย่างตั้งอกตั้งใจ ในการจะจับจิ้งหรีดนี้ไม่ใช่ว่าเอามือไปตะครุบแล้วจะได้ตัวเขานะครับ ไม่มีทาง เพราะเขาจะผลุบกลับลงไปในรูอย่างรวดเร็ว วิธีการจับคือผมต้องจ้องมองปากรู แล้วคำนวณในใจก่อนว่าหน้าตัดของปากรูมันหันไปทางไหน แล้วคะเนว่ารูมันวิ่งลงไปทางไหน แล้วอย่างเงียบและบรรจง ค่อยๆเงื้อมีดปลายแหลมขึ้น แล้วปักฉับลงดินอย่างรวดเร็วโดยให้ใบมีดปักขวางกลางรูของเขาพอดี จิ๊งหรีดเมื่อได้ยินเสียงมันจะหยุดร้องและมุดกลับลงรู แต่ก็เจอทางตัน จึงวิ่งหันกลับมาทางปากรู ก็จะเข้ามาสู่อุ้งมือมัจจุราชที่วางครอบปากรูพร้อมตะครุบอยู่แล้วพอดี กลายเป็นอาหารโปรตีนให้เด็กน้อยไปอีกหนึ่งมื้อ
            (สาธุ..บาปกรรมที่ทำตั้งแต่ครั้งกระโน้น จะต้องมานั่งชดใช้ด้วยการทำอะไรให้คนอื่นฟรีๆไปอีกกี่ชาติไม่รู้เนี่ย) 
            ส่วนเสียงเรไรนั้น ผมถามครูที่โรงเรียน ซึ่งเป็นคนใต้  (หมายถึงคนที่อยู่ภาคอื่นที่อยู่ต่ำกว่าภาคเหนือ) ครูบอกว่าเรไรก็คือจักจั่น ผมก็หายข้องใจทันที เพราะคนเหนือมีธรรมชาติเชื่อคนใต้มาแต่กำเนิดแล้ว และผมก็คุ้นเคยกับจักจั่นจนเป็นเพื่อนกันแล้ว เวลาเบื่อๆผมชอบเอาจักจั่นมาให้มันขยับพุงให้ผมฟังเล่น อ่านถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านที่เป็นคนกรุงไม่เคยเห็นจักจั่นอาจเป็นงง คือจักจั่นเวลามันร้องมันไม่ได้ใช้ปากร้อง แต่มันใช้วิธีขยับพุงของมันให้กระเพื่อมแบบเดียวกับนักเต้นระบำขี้ปุ๋มแถวทะเลทรายแถบตะวันออกกลางนะแหละ ต่างกันที่ระบำขี้ปุ๋มเสียงที่ได้ยินมาจากปี่แขก ไม่ได้มาจากพุง
            เหลือความข้องใจอยู่อย่างเดียวว่า “หริ่ง” คืออะไร หน้าตามันเป็นอย่างไร ถามครูๆก็บอกว่า
“..ไม่รู้ ข้าไม่รู้จักหริ่ง ข้ารู้จักแต่หนูหริ่ง”
 ตัวผมเองก็ย่ำราตรีไปตามชายทุ่งจนเจนจบหมดแล้วยังไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยินว่าหริ่งมันเป็นอย่างไรและเสียงร้องของมันเป็นอย่างไร จนกระทั่งผมเรียนจบแพทย์แล้วไปเป็นหมอบ้านนอกอยู่ที่อำเภอปากพนัง นครศรีธรรมราช พอตกค่ำก็มืดและเงียบเชียบ หมอหนุ่มโสดได้แต่นอนฟังเสียงหรีดหริ่งเรไรอยู่ พลันคำถามเดิมที่ว่าหริ่งหน้าตามันเป็นอย่างไรเสียงเป็นอย่างไรก็กลับมาหลอนอีก เนื่องจากสมัยนั้นคือ พ.ศ. 2524 คอมพิวเตอร์แบบ PC ยังไม่มี และอากู๋ก็ยังไม่เกิด ผมจำได้ว่าได้เก็บความข้องใจไว้จนได้กำหนดเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อมาติดต่องานที่กระทรวง  (สธ.) จึงเดินเท้าแวะไปหอสมุดแห่งชาติที่อยู่ใกล้กัน ไปคุยกับบรรณารักษ์ บอกเธอว่าให้ช่วยผมค้นหาให้ผมตายตาหลับหน่อยซิว่าหริ่งมันเป็นแมลงชนิดไหนเสียงร้องเป็นอย่างไร เราค้นหากันอยู่พักใหญ่ ในที่สุดเธอก็อุ้มเอาพจนานุกรมโบราณฉบับหนึ่งมากางให้ดู ซึ่งบอกสั้นๆว่า
“หริ่ง คือเสียงร้องของเรไร”
ปั๊ดโธ่ อย่างนี้นี่เอง มิน่า ตอนเด็กๆผมถึงหาตัวหริ่งไม่เจอ ที่แท้หริ่งก็คือเสียงขยับพุงของจักจั่นนั่นเอง แล้ว ทูล ทองใจ ก็ทำให้ผมเป็นงงอยู่ตั้งแต่ผมเป็นเด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่.. เวรกรรม
เอาละครับ นอกเรื่องไปมากแล้ว คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ
       1.. ถามว่าเสียงวิ้งในหูจะหายไปได้ไหม ตอบว่า ยากส์..ส์ มีตัวเอสด้วยนะ แปลว่ายากมาก แต่ว่ามีโอกาสที่มันจะรบกวนเราน้อยลง แปลไทยให้เป็นไทยก็คือว่าทนๆไปเถอะ เดี๋ยวก็จะด้านไปเอง

     2.. ถามว่าเสียงหริ่ง เอ๊ย.. ไม่ใช่ เสียงวิ้งๆในหู (tinnitus) เกิดจากอะไร ตอบว่าไม่รู้ รู้แต่ว่ามันเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนของกระบวนการถ่ายทอดและรายงานเสียงนับตั้งแต่หูชั้นกลาง หูชั้นใน เส้นประสาท ก้านสมอง และเนื้อสมองใหญ่ มีผู้ป่วยจำนวนน้อยที่เราบอกสาเหตุได้จริงจัง ต่อไปนี้คือตัวอย่างของสาเหตุที่พบในผู้ป่วยจำนวนน้อยเหล่านั้น

     2.1 หูโดนพิษยา (ototoxicity) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เพราะยาที่เป็นพิษต่อหูมีมากมายเยอะแยะแป๊ะตราไก่ ที่ใช้กันมากที่สุดก็คือยากล่อมประสาทหรือยาคลายกังวล (benzodiazepine) และยาต้านซึมเศร้าทั้งแบบเก่า (tricyclic) และแบบใหม่ (SSRI), ที่ใช้กันมากรองลงไปก็ได้แก่ยาปฏิชีวนะกลุ่ม aminoglycoside และยาปฏิชีวนะยอดนิยมปัจจุบันอย่าง clarithromycin, ยาหัวใจกลุ่ม ACEI, ยาแก้ปวดแก้อักเสบสมัยใหม่กลุ่ม COX-2 inhibitor, ยารักษาโรคกระเพาะ (proton pump inhibitor) ยาความดัน (calcium blocker) ยาขับปัสสาวะ ยารักษาต่อมลูกหมากโต, ยากันชัก  

     2.2 ภาวะซึมเศร้า กังวล นอนไม่หลับ ก็ทำให้เกิดเสียงในหูได้ เรียกว่าโรคซึมเศร้าก็ทำให้เกิดเสียง ยาต้านซึมเศร้าก็ทำให้เกิดเสียง ทั้งขึ้นทั้งล่อง

     2.3.. หูตึงเพราะอายุมาก (presbycusis) หมายความว่าพอแก่แล้ว หูรับเสียงจริงๆที่มีความถี่สูงไม่ได้ แต่ก็มีเสียงปลอมวิ้งๆในหูแถมให้มาแทน

     2.4.. กระดูกหูชั้นในแข็ง เสื่อม แบะบิดเบี้ยว (otosclerosis) หมายถึงกระดูกรูปโกลน (stepes)  ซึ่งเป็นกระดูกรับเสียงชิ้นที่สามเกิดทื่อขึ้นกว่าปกติ ทำให้หูตึงและมีเสียงวิ้งได้

     2.5.. มีเนื้องอก (
schwannoma)  เกิดขึ้นในหูชั้นกลางหรือในเส้นประสาทหู  

     2.6.. มีความผิดปกติเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่นหลอดเลือดโป่งพอง หรือมีรอยต่อหลอดเลือดแดง-ดำที่ผิดปกติ (A-V malformation) ถ้าเป็นสาเหตุจากหลอดเลือดเสียงวิ้งที่ได้ยินมักเป็นจังหวะๆหรือเป็นพักๆคือดังฉึก ฉัก ฉึก ฉัก เหมือนเสียงรถไฟโบราณของการรถไฟไทย ส่วนรถไฟสมัยใหม่เขาไม่ดังแบบนี้แล้ว เขาจะดังฟ้าว..วแบบม้วนเดียวจบ เขียนถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ ไม่นานมานี้มีเพื่อนผมเป็นวิศวกรชาวฟินแลนด์อายุเจ็ดสิบกว่าแล้วคนหนึ่งมานอนค้างที่บ้านมวกเหล็ก บ้านที่นั่นอยู่บนเขา ตอนกลางคืนจะได้ยินเสียงรถไฟที่วิ่งผ่านที่ก้นหุบเขา เพื่อนคนนี้เขาเงี่ยหูฟังแล้วบอกว่า
            โอ้โฮ.. รถไฟที่วิ่งอยู่ข้างล่างนั่นเป็นรถไฟรุ่นเก่ามากนะเนี่ย แล้วรางรถไฟก็เป็นรางรุ่นเก่ามากอีกด้วย”
เรียกว่ารฟท.นี้เป็นของแท้ ออริจินอล จะหาชมหรือฟังจากที่ไหนในโลกนี้ไม่ได้อีกแล้ว (หิ หิ พูดเล่น)

     3.. ถามว่ามีวิตามินอาหารเสริมอะไรจะช่วยลดเสียงวิ้งในหูได้บ้าง ตอบว่าเท่าที่ความรู้แพทย์แผนปัจจุบันมีอยู่ ไม่มีวิตามินหรืออาหารเสริมใดๆรักษาเสียงวิ้งในหูได้หรอกครับ

     4.. ถามว่ามีอะไรจะทำได้อีกบ้าง ตอบว่าคุณได้ไปให้หมอหูคอจมูกตรวจเพื่อคัดกรองสาเหตุที่รักษาได้เรียบร้อยแล้ว นั่นเป็นสิ่งแรกที่คนมีเสียงวิ้งๆในหูต้องทำ ซึ่งคุณก็ได้ทำไปแล้ว วิธีรักษาขั้นต่อไปก็คือ make your heart แปลว่า “ทำใจ” ไงครับ เป็นวิธีรักษาที่เจ๋งที่สุด เพราะงานวิจัยพบว่าไม่ว่าจะเป็นแหล่งกำเนิดเสียงก็ดี ความดังก็ดี ล้วนไม่ใช่ตัวกำหนดคุณภาพชีวิตของคนเป็นโรคเสียงวิ้งในหู การสนองตอบของเจ้าตัวเองต่างหาก ที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิต
     วิธีการรักษาอื่นๆของทางการแพทย์เป็นการขี่ม้าเลียบค่าย ซึ่งคุณอาจเอาไปทดลองรักษาตัวเองก็ได้ ดังนี้
     4.1. ถ้ามีปัญหาเรื่องภาวะซึมเศร้า และนอนไม่หลับ ต้องแก้ก่อน แล้วเสียงวิ้งจะดีขึ้น

     4.2. ถ้าหูตึงมาก (จากการตรวจการได้ยิน) การใช้เครื่องช่วยฟังจะลดเสียงวิ้งลงได้ 75%

     4.3 เอาเสียงกลบ (masking) ดื้อๆเลย เปิดเพลงให้ดังเข้าไว้ หรือเสียบหูฟังหรือซาวด์เบ้าท์แบบวัยรุ่นก็ได้

     4.4  การสอนให้คิดใหม่ทำใหม่ (cognitive behavior therapy – CBT) คือสอนให้สนองตอบเชิงบวก ฝึกทักษะที่จะรับมือกับเสียงได้ดีขึ้น ฝึกเทคนิคการผ่อนคลายตัวเอง (relaxation response) เช่นสมาธิ โยคะ มวยจีน ฝึกทักษะการหันเหไปสนใจสิ่งอื่นที่ไม่ใช่เสียงวิ้ง การทบทวนงานวิจัยพบว่าคนป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฝึก CBT มีอาการดีกว่าคนที่ไม่ได้ใช้วิธี CBT

     4.5 เข้าโปรแกรมฝึกรับมือเสียงวิ้งเสียใหม่ (tinnitus retraining therapy – TRT) อันนี้เมืองไทยไม่มีทำ มีทำตามศูนย์การได้ยินหลายแห่งของฝรั่ง วิธีการก็แตกต่างกันไปในรายละเอียด ภาพรวมคือเป็นการควบวิธีสอนให้คิดใหม่ทำใหม่เข้ากับการหาทางกลบหรือเพิกเฉยต่อเสียงวิ้งโดยใช้ตัวช่วยทางเทคนิคเช่นให้สวมเครื่องปล่อยเสียง เป็นต้น งานวิจัยเปรียบเทียบการรักษาแบบนี้กับการรักษาแบบเปิดเสียงกลบดื้อๆ พบว่าการรักษาแบบ TRT ให้ผลดีกว่า
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
 บรรณานุกรม