Latest

Senior Co-Housing ปีนี้เอาจริงแล้วนะ

ความเป็นมา

             ผมใช้ชีวิตทั้งชีวิตที่ผ่านมาให้การดูแลผู้อื่น เมื่อผมแก่ตัวลงผมกลับไม่ต้องการให้ผู้อื่นมาดูแลผม แต่ผมต้องการมีชีวิตบั้นปลายอยู่ในบรรยากาศของการดูแลกันและกัน เหมือนในหมู่บ้านชนบทเล็กๆที่ผมเกิดและเติบโตมา คนแก่ทุกคนมีความสุข แก่ที่นั่น ตายที่นั่น ไม่เห็นมีคนแก่คนไหนในหมู่บ้านมีปัญหาว่าจะไปแก่ไปตายที่ไหนกันดีเลย ตัวผมวันนี้เหมือนสุนัขป่าที่พลัดหลงออกจากฝูงท่องเที่ยวหากินไปตามลำพังตั้งแต่หนุ่มจนแก่ แล้วเกิดความคิดอยากจะกลับไปเข้าฝูงอีกครั้ง ทำอย่างไรผมจึงจะสร้างหมู่บ้านที่มีบรรยากาศแบบนั้นขึ้นมาใหม่ได้ หมู่บ้านแบบนั้นมันจะเป็นสถานที่ที่ผมจะแก่และตายได้โดยไม่ต้องย้ายไปไหนอีก ถ้าจำเป็นจริงๆก็เอาผู้ดูแลจากภายนอกเข้ามาดูแลผมอยู่ในหมู่บ้านนั้นแหละ
     ความคิดที่จะทำที่อยู่อาศัยของคนสูงอายุนี้ผมมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยเป็นหมอฝึกหัด เห็นพี่ๆพยาบาลทำงานกันอย่างหนักและอุทิศตนตั้งแต่สาวจนแก่ แต่เกษียณแล้วพวกเธอเหล่านั้นซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งเป็นโสด ยังไม่มีไอเดียเลยว่าจะใช้ชีวิตบั้นปลายที่ไหนอย่างไรดี ผมจึงเกิดความบันดาลใจอยากจะสร้างที่อยู่ให้ผู้สูงอายุมาตั้งแต่นั้น ทุกครั้งที่ไปเมืองนอกผมก็จะไปตระเวนดูระบบการดูแลผู้สูงอายุถ้ามีโอกาส อย่างแถบเท็กซัสเนี่ยผมตระเวณดูมาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ continuous care retirement community (CCRC) หรือรูปแบบ nursing home หรือรูปแบบเจาะลึกปัญหาเฉพาะอย่างบ้านคนเป็นอัลไซเมอร์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักชนิดทำเพื่อคนยากจนหรือมั่งมี แถบแคลิฟอร์เนียตอนล่างผมก็ตระเวนดูมาพอสมควร รวมทั้งหมู่บ้านเกษียณของพวกเศรษฐีแถบปาล์มสปริงด้วย ทุกครั้งที่ไปดูที่ไหน ความรู้สึกคล้ายๆกันที่เกิดขึ้นตอนจบก็คือ ..นี่ช่างเป็นอะไรที่เศร้าสร้อยหงอยเหงาเสียจริง สิ่งที่คนสูงอายุในสถาบันดูแลเหล่านั้นเจอเหมือนกันหมดไม่ว่าจะเป็นสถาบันหรูเริดอลังการ์ขนาดไหนก็คือ ความซึมเศร้า หรือความเหงา  loneliness  จนบางครั้งผมสงสัยว่าที่อยู่อาศัยสำหรับคนวัยทองเนี่ยมันเป็นสวรรค์หรือเป็นปากทางไปสู่นรกแบบที่ฝรั่งเรียกว่า gate to hell กันแน่

     ต่อมาเมื่อผมเกษียณเมื่อปีกลาย ได้ยินได้ฟังคนอเมริกันคนหนึ่งชื่อ ชาร์ล ดูเร็ทเล่าให้ฟังถึงสมัยเขาไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน เมื่อปี 1980 เขาเล่าว่าทุกวันเขาต้องเดินจากสถานีรถไฟไปมหาลัยเป็นระยะทางราวหนึ่งไมล์ ผ่านบ้านเดี่ยวบ้าง อพาร์ตเมนท์บ้าง บ้านจัดสรรบ้าง บ้านเหล่านั้นเงียบ ไม่มีผู้คนออกมาเดินเพ่นพ่านระหว่างบ้าน ไม่มีใครไปมาหาสู่เยี่ยมเยือนใคร แต่เขาเล่าว่ามีอยู่บล็อกหนึ่งซึ่งมีกลุ่มบ้านก่อด้วยอิฐหลังเล็กๆหลายหลัง เดินผ่านตรงนี้ทีไรก็เป็นต้องได้เห็นมีผู้คนมีกิจกรรมบนพื้นที่ส่วนต่อระหว่างบ้านกับบ้าน บางคนเอวยังคอนตะกร้าผ้าอยู่เลย แต่หยุดคุยกันอยู่กลางทาง และทุกเย็นต้องเห็นคน 3 – 5 คนนั่งกินกาแฟบ้างเบียร์บ้างแล้วเม้าท์กันอยู่ไม่ขาด วันหนึ่งอดไม่ได้เขาจึงแวะเข้าไปถามว่าที่นี่เขามีอะไรกันหรือ ก็ได้รับคำอธิบายจากยายแก่คนหนึ่งว่าพวกเธอเป็นกลุ่มคนที่รู้จักกันมาก่อนแล้วมารวมหัวกันซื้อที่ดินตรงนี้แล้วออกแบบบ้านเอง ปลูกบ้านเองขึ้นมาเป็นชุมชนของกลุ่ม เรียกว่า co-housing คือเป็นบ้านหลังของใครของมันก็จริง แต่ปลูกแออัดยัดเยียดกันนิดหนึ่ง เพื่อให้เหลือที่ไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้งานร่วมกันได้มากๆ

ผมประทับใจกับแนวคิด co-housing ตั้งแต่นั้น และตั้งใจว่าจะต้องเอาแนวคิดนี้มาทำหมู่บ้านที่ผมจะใช้เป็นเรือนตายหลังเกษียณให้ได้ ตัวผมเองมีที่ดินอยู่ที่เขาใหญ่สองสามแปลง ตอนแรกตั้งใจจะไปทำที่นั่นแต่แล้วก็เปลี่ยนใจเพราะเขาใหญ่มัน

ทิวทัศน์มองจากเนินเขาที่จะสร้าง Senior Co-Housing

ไม่มีบรรยากาศของท้องถิ่น มันเป็นการยกกรุงเทพฯมาไว้ที่นี่ ซึ่งผมไม่ชอบ ผมชอบแถวบ้านพักวันหยุดของผมที่มวกเหล็กมากกว่า เพราะพูดถึงอากาศก็ดีพอๆกัน แต่วิวดีกว่า ใกล้กรุงเทพมากกว่า แถมยังมีตลาดมวกเหล็กซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นของแท้ที่สุดแสนจะโรแมนติกอยู่ใกล้ๆ ผมจึงตัดสินใจซื้อที่ดินซึ่งเป็นเนินเขาหนึ่งลูกและมีวิวสวยมากไว้ มีพื้นที่แปดไร่ เพื่อจะเอามาสร้างเป็นโคโฮ โดยตั้งชื่อไว้พลางก่อนว่า Alpine Co-Housing


Senior Co-housing คืออะไร

     คำว่า Senior Co-Housing นี้เป็นศัพท์เทคนิค มันหมายถึงรูปแบบชุมชนที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ที่มีลักษณะดังนี้

1.       สมาชิกอยู่ในนั้นไปตลอดชีพ โดยไม่ต้องย้ายไปไหน (age in place) เรียกว่าแก่ที่นั่น ตายที่นั่น

2.       เป็นสังคมที่รู้จักกัน ดูแลกันและกัน (co-care)

4.       ร่วมกันออกแบบ โดยออกแบบให้คนสูงอายุอยู่ง่าย และออกแบบให้เอื้อต่อวิถีชีวิตชุมชน

5.       ทุกคนเป็นเจ้าของบ้านของตัวเอง มีพื้นที่ส่วนตัว

6.       มีพื้นที่ใช้งานร่วม รวมทั้งที่พักสำหรับผู้ดูแลคนสูงอายุ (caregiver) ซึ่งใช้ร่วมกัน

3.       ตัดสินใจอะไรร่วมกัน ไม่มีใครเป็นใหญ่

7.       สมาชิกไม่มีใครมีรายได้จากการทำงานให้ชุมชน หรือหากินกับชุมชนของตัวเอง
เราเรียนลัดอะไรได้บ้าง
Co-housing เกิดขึ้นแล้วประมาณสองร้อยกว่าแห่งในยุโรป และอีกราวสองร้อยแห่งในอเมริกา ประสบการณ์ที่มากพอควรนี้ทำให้สรุปประเด็นการออกแบบที่สำคัญไว้ได้หมดแล้ว เช่น


1.       จำนวนหน่วยที่เหมาะกับการเป็นชุมชนตามแนวคิด co-housing คือ 15-25 ยูนิต ไม่มากไม่น้อยกว่านี้

–       ถ้าจำนวนผู้สูงอายุเกิน 35 คน มาอยู่ด้วยกัน จะเริ่มพูดกันไม่รู้เรื่อง

2.       จำนวนผู้อาศัยจริงเฉลี่ยต่อยูนิตในโคโฮ ตามสถิติทั้งในยุโรปและอเมริกาคือ 1.3 คนต่อยูนิต หมายความว่าในชีวิตจริง ยูนิตส่วนมากจะอยู่คนเดียว

3.      โคโฮที่ประสบความสำเร็จ ไม่ให้รถยนต์เข้าไปวิ่งในชุมชนหรือไม่ให้วิ่งไปจอดถึงตัวบ้าน แต่ทำที่จอดรถรวมไว้มุมหรือชายขอบที่ของชุมชนซึ่งมีรั้วรอบขอบชิด แล้วให้ผู้พักอาศัยเดินไปตามถนนเล็กภายใน เพื่อให้เกิดการพบปะทักทายกัน


4.       โคโฮที่ประสบความสำเร็จ ออกแบบให้ด้านหน้าของตัวบ้านเป็นส่วนชีวิตชุมชน หันหน้าเข้าหาถนนเดินภายใน มีระเบียงหน้าบ้านที่กว้างพอจับกลุ่มนั่งคุยกันได้ ระยะจากประตูห้องของบ้านหลังหนึ่ง ไปหาประตูของบ้านอีกหลังหนึ่งที่ฝั่งตรงข้ามถนน ต้องอยู่ระหว่าง 6-12 เมตร ไม่มากไม่น้อย เพื่อไม่ให้ใกล้จนเสีย privacy ไม่ไกลจนสื่อสารหรือชำเลืองดูแลกันลำบาก

5.       มีจุดพักผ่อนสังสรรค์ในรูปแบบของม้านั่งยาว โต๊ะสนาม หรือลานชมวิว เป็นระยะๆ ทั่วชุมชน

6.       ระบบแสงสว่างของชุมชนต้องสว่างและโปร่ง ไม่มืดทึบ จะช่วยลดอุบัติเหตุจากการลื่นตกหกล้ม

7.       ด้านหลังบ้านออกแบบให้เป็นพื้นที่ส่วนตัว มีสวนส่วนตัว แต่พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่แต่ด้านหน้าบ้าน


8.       อาจสร้างถนนหลังบ้านเป็นถนนหญ้า ให้รถบรรทุกเข้ามาขนของได้เมื่อจำเป็น

9.       ห้องครัวคือประภาคารของบ้าน ต้องอยู่ด้านหน้าบ้านติดถนนทางเดิน ต้องติดไฟสว่าง หน้าต่างต้องโล่ง ซิงค์ครัววางติดหน้าต่างด้านถนน เพื่อให้สื่อสารกับเพื่อนบ้านที่เดินถนน ขณะที่ตัวเองล้างจานหรือทำครัวอยู่ได้
10.    ตัวยูนิตจะเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านกลุ่มหน่วยละสี่ยูนิตก็ได้ ขึ้นกับความต้องการผู้อาศัย

11.    โคโฮที่ประสบความสำเร็จ ตัวยูนิตพักอาศัยเป็นอาคารชั้นเดียว พื้นราบ ไม่เล่นระดับ
12.    ตัวยูนิตออกแบบโดยใช้หลักที่พักผู้สูงอายุ คือ

          ลูกบิดที่เปิดประตูและก๊อกน้ำใช้แบบคันโยก เพื่อเอื้อต่อกำลังกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง
          ประตูห้องน้ำกว้างพอรับวีลแชร์ได้ และเป็นแบบเปิดออก เพราะเวลาผู้สูงอายุหกล้มหรือหมดสติขวางปากประตูอยู่ด้านใน เพื่อนบ้านยังสามารถเปิดประตูเข้าไปช่วยได้โดยไม่ถูกประตูกระแทกบาดเจ็บ
–  ห้องน้ำกว้างพอให้วีลแชร์และผู้ดูแลมาช่วยอาบน้ำได้ แต่ไม่กว้างเกินไป จากทุกจุดสามารถคว้าราวหรือเชือกดึงนิรภัยได้
พื้นห้องน้ำต้องราบเรียบ ไม่มีธรณีประตู ระบายน้ำโดยวิธีเอียงพื้นจากส่วนแห้งลงไปหาส่วนเปียก 
โถสุขภัณฑ์ต้องสูงระดับนั่งแล้วข้อเข่าไม่พับ ติดตั้งราวโหนสามจุด คือซ้ายมือ ขวามือ และเบื้องหน้า
อ่างล้างหน้าไม่ใช้แบบแปะเข้ากับผนัง แต่ใช้แบบฝังลงไปบนเคาน์เตอร์แทนเพื่อป้องกันการเกาะแล้วหล่นโครม 
สีของกระเบื้องบุพื้นกับผนังต้องเป็นคนละสี และไม่มีลวดลายมาก เพื่อให้เห็นขอบพื้นก่อนที่จะเดินชนฝา
พื้นห้องน้ำส่วนเปียกปู bath mat ที่อาบน้ำมีม้านั่งเตี้ยที่มีขาสี่ขามั่นคงไม่ไถลง่ายไว้ให้นั่งเวลาอาบน้ำด้วย
เครื่องทำน้ำร้อนต้องตั้งไว้ให้ตัดไม่ให้น้ำร้อนเกินไปอัตโนมัติ เพราะผู้สูงอายุมีปฏิกิริยาสนองตอบช้ากว่าธรรมดา
ทางเดินในบ้านโล่ง เรียบตลอด ไม่มีหีบห่อ สายไฟ แร็คหนังสือพิมพ์ กระถางต้นไม้ ผนังสองข้างทางเดินมีราวเกาะ
ไม่ใช้พรมปูพื้นแบบเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมวางกลางห้อง เพราะทำให้สะดุดขอบ หรือย่นไถลจนหกล้มได้ง่าย ถ้าจะใช้ก็ใช้พรมชนิดปูพื้นติดตายชนผนังห้องแทน 
ถ้าพื้นเป็นกระเบื้อง ต้องใช้กระเบื้องแบบกันลื่น และถูพื้นด้วยขี้ผึ้งแบบกันลื่น 
ระบบแสงสว่างในบ้านผู้สูงอายุ ต้องสว่างมากกว่าธรรมดา ติดไฟบอกทาง (night light) ไว้ทั่วบ้าน และหลอดไฟต้องไม่อยู่ในตำแหน่งที่ไฟแยงตา
สวิสต์ห้องนอนอยู่ข้างเตียง เปิดไฟได้ก่อนลุกจากเตียง และมีไฟฉายไว้ตลอดเผื่อเวลาไฟดับ 
การออกแบบครัวต้องเออร์โก้ดีไซน์ คือคำนึงถึงความสูงของตัวเจ้าบ้าน และกิจกรรมของเจ้าบ้าน

มีระบบ smoke detection และสัญญาณเตือนต่างๆตามความจำเป็น

13.    หลีกเลี่ยงการมีห้องนอนแขกในตัวยูนิตที่พักอาศัย เพราะจะเพิ่มภาระในการดูแลทั้งๆที่โอกาสใช้มีน้อย ควรไปใช้ห้องนอนแขกของ common house แทน

14.    ทั้งโคโฮมีบ้านที่ใช้ร่วมกันเรียกว่า Common house หนึ่งหลัง ซึ่งควรอยู่ระหว่างที่จอดรถกับยูนิตที่พัก เพื่อบังคับให้ทุกคนเดินผ่านเมื่อจอดรถและจะเดินเข้าบ้าน

15.    Common house ควรมองเห็นจากยูนิตที่พักทุกยูนิตหรือเกือบทุกยูนิต เพื่อให้คนในยูนิตทราบว่ากำลังมีกิจกรรมอยู่ เป็นการเพิ่มโอกาสให้ได้มาใช้ชีวิตรวมหมู่ใน common house

16.    รายละเอียดภายใน common house ออกแบบตามความต้องการของสมาชิกโคโฮ แต่อย่างน้อยต้องมีห้องครัวขนาดใหญ่ไว้ทำอาหารร่วมกัน มีสถานที่ทานอาหารเย็นร่วมกันอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และมีสถานที่ทำกิจกรรมอื่นๆร่วมกัน หลายแห่งจัดให้มีห้องนอนแขกเผื่อไว้สำหรับเป็นที่พักของผู้ดู (care giver) ซึ่งมักเป็นพนักงานจากองค์กรวิชาชีพภายนอกโคโฮด้วย
CoHo จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
            กำเนิดของโคโฮอย่างเป็นธรรมชาติ ต้องมีชุมชนเกิดขึ้นก่อน หมายความว่าต้องมีกลุ่มคนที่ใจตรงกันอยากจะอยู่ด้วยกัน มาทำความรู้จักกัน รวมตัวกัน ตกลงกันว่าจะร่วมสร้างโคโฮของกลุ่มขึ้นก่อน แล้วประชุมกันจัดทำโครงการ วางแผน แต่ละคนออกแบบบ้านของตัวเอง ออกแบบผังชุมชนร่วมกัน แล้วการก่อสร้างจริงค่อยเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น

หมอสันต์ชวนท่านที่ใจตรงกัน
           
ผมอยู่ที่มวกเหล็กวาลเลย์มานาน 14 ปี มีเพื่อนบ้านที่กินข้าวเย็นร่วมกันพบปะสังสรรค์กันประจำทุกสัปดาห์อยู่จำนวนหนึ่ง แต่เมื่อแก่ตัวลง ผมจำเป็นต้องมองหาบ้านหลังใหม่และสภาพแวดล้อมที่ออกแบบให้เกื้อหนุนต่อการใช้ชีวิตของคนวัยนี้ ผมกำลังหาเพื่อนมาร่วมสร้าง Alpine Co-Housing จำนวน 24 ยูนิต ขึ้นบนเนินเขาพื้นที่ 8 ไร่ที่มีรั้วรอบขอบชิดรัดกุม ที่มวกเหล็กวาลเลย์ ใกล้กับเฮลท์คอทเท็จที่ผมสอนการดูแลสุขภาพเป็นประจำอยู่แล้ว ผมเชิญชวนท่านผู้อ่านที่มีความคิดที่อยากจะสร้างสังคมแบบโคโฮเพื่ออยู่เองเป็นบ้านถาวรเช่นเดียวกับผม มาร่วมประชุมหารือและดูสถานที่จริงกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่แก่ได้ที่ แล้ว ณ วันนี้ก็ได้ หมายความว่าไม่จำกัดอายุคนที่จะมาอยู่ด้วยกัน แต่เป้าหมายของชุมชนนี้คือเอื้อต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย คนที่ยังไม่สูงวัยจะเข้ามาอยู่เตรียมตัวรอแต่เนิ่นๆก็ได้ไม่ว่ากัน ในขั้นนี้เป็นเพียงการหาเพื่อนร่วมคิด มิตรร่วมทำ ไม่ได้ซีเรียสว่ามาเจอหน้ากันแล้วต้องร่วมหัวจมท้ายกันแน่นอน ไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น โคโฮนี้จะสร้างตามใจผู้อยู่ ใครอยากอยู่บ้านเดี่ยวก็สร้างบ้านเดียว ใครชอบอยู่บ้านแบบดูเพล็กซ์หรือควัดดูเพล็กซ์ก็สร้างให้ตามนั้น ใครต้องการให้พื้นที่ร่วมมีอะไรบ้างก็แสดงความเห็นและหารือกัน

การประชุมจะมีขึ้นที่เฮลท์ คอทเท็จ มวกเหล็กวาลเลย์ วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 10.00-12.00 น.

อย่างไรเสียผมก็จะต้องเริ่มสร้าง Alpine CoHo ไว้เป็นบ้านถาวรในวัยเกษียณของผมในปีนี้อย่างแน่นอนไม่แปรผัน เว้นเสียแต่ว่าผมจะหาเพื่อนไม่ได้เลย เพราะผมตัวคนเดียวสร้าง CoHo ไม่ได้ ถึงสร้างไปมันก็จะไม่เป็น CoHo ดังนั้นผมต้องการเพื่อนร่วมอุดมการณ์ “แก่ไปด้วยกัน เกื้อกูลกันไป” ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดที่ยังไม่สนใจเรื่อง CoHo แต่ไม่อยากให้ผมแก่เร็วและสมองฝ่อหยุดเขียนบล็อกก่อนวัยอันควร ก็ฝากช่วยกันประกาศต่อๆไปเพื่อหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์นี้ให้ผมด้วยนะครับ
สำหรับท่านที่สนใจจะมาร่วมประชุมตั้งต้นโครงการ ช่วยโทรศัพท์หาผมก่อนด้วย เบอร์โทร 0819016013 หรือเขียนอีเมลถึงผมได้ที่ chaiyodsilp@gmail.com ผมจะได้ซื้อน้ำขวดไว้เลี้ยงให้พอดีจำนวนคน การมาร่วมประชุมนี้เป็นกิจกรรมเชิงสังคมของผู้สูงอายุอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรครับ กรณีไปไม่ถูก ดูแผนที่ได้ที่ http://health.co.th/contact.php

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………………………………………..

จดหมายจากผู้อ่าน 5 มค. 57

มันต้องมีเงินอย่างน้อยเท่าไหร่ค่ะอาจารย์ ถึงจะสร้างได้หลังนึง ก่อนไปประชุมอยากรู้ก่อนต่ะ ว่างบถึงรึเปล่า?

……………………………….
ตอบครับ

การสร้างบ้านใน co-housing จะมีราคาถูกกว่าบ้านธรรมดาเพราะของที่ทำขึ้นใช้ร่วมกันมันช่วยลดต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบำรุงรักษาในระยะยาว

ในภาพรวม ค่าที่ดินตกตารางวาละ 4000 – 5000 บาท ค่าปลูกยูนิตระดับเนี้ยบพอควรตกตารางเมตรละ 17,500 บาท และยังต้องมีเงินสมทบเข้า CoHo เพื่อสร้างทรัพย์สินส่วนกลาง เช่นรั้วรอบ CoHo ทางออกกำลังกายภายใน ระบบ landscape อีก 2000 บาทต่อตรว.  สมมุติว่าอยากมีที่ดินสัก 100 ตรว. ปลูกบ้านสัก 90 ตารางเมตรซึ่งเป็นมาตรฐานที่พักผู้สูงอายุที่อยู่ได้สองคน ก็ตกราว 400,000 + 200,000 + 1,575,000 = 2,175,000 บาท 


สันต์

…………………………………………………………

จดหมายจากผู้อ่าน 2

คนหนุ่มอยากอยู่ด้วยได้รึเปล่าครับคุณหมอ อยากวางแผนสุขภาพตั้งแต่ตอนนี้ครับ

………………………..

ตอบครับ

คนหนุ่มคนสาวก็เข้าอยู่ได้ครับ โคโฮที่ผมทำไม่ได้จำกัดอายุคนเข้า ทั้งในยุโรปและอเมริกา Senior Co-housing ก็มีคนอายุน้อยปะปนอยู่บ้างเสมอ ลูกเล็กเด็กแดงก็เห็นมีวิ่งเล่นกันไม่ขาด ส่วนใหญ่เป็นหลานๆที่มาเยี่ยมปู่ย่าตายาย การเข้าอยู่ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวมีข้อดีที่ได้สร้างสังคมไว้รองรับตัวเองตอนแก่ และมีบ้านพักวันหยุดของตัวเองที่ราคาถูก แต่มีข้อเสียที่พันธกิจของสถานที่นี้เขามุ่งรับใช้คนสูงอายุ อย่างเช่นเราจะไปเสนอให้เขาเอาพื้นที่ส่วนกลางส่วนหนึ่งทำสนามเด็กเล่นให้ลูกเราอย่างนี้คนอื่นก็คงไม่มีใครเอาด้วย เป็นต้น

สันต์
………………………………………..
จดหมายจากผู้อ่านฉบับที่ 4.

เรียนคุณหมอสันต์
                ผม …. หมายเลขโทรศัพท์ …….. ทราบเรื่องโครงการ ฯ ของคุณหมอ  มีความสนใจ  แต่ยังไม่มีเงิน ผมเป็นวิศวกรที่ผ่านงานทางด้านประปา ไฟฟ้า ในอาคารมาพอสมควร เตรียมจะเกษียณในอีก 2 ปี ขอเสนอตัวเป็นที่ปรึกษา หากคุณหมอมีความต้องการ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
…………………………………..
ตอบครับ
             
ขอบคุณมากครับ เจอคนใจดีอีกแล้ว คงได้รบกวนแน่ แล้วจะ keep in touch นะครับ 

ยังไงวันที่ 1 กพ. ไปเที่ยวชมเล่นเพลินๆก็ได้นี่ครับ ไม่แน่นะ ดูไปดูมาอาจจะตัดสินใจมาอยู่กับคนอื่นเขาด้วย เรื่องมีเงินน้อยก็อยู่แบบคนมีเงินน้อยสิครับ คุณเสนอรูปแบบหรือวิธีที่ให้มันถูกเงินก็ได้ CoHo มันเป็นเรื่องของคนที่จะอยู่ คิดเอง ทำเอง อยู่เอง จะทำยังไงก็ได้ ไม่ได้มีกฎเกณฑ์หรือประเพณีบังคับ อย่างของฝรั่งเขามีอีกรูปแบบนะ เรียกว่า ADU (accessory dwelling unit) คือทำแบบกระต๊อบท้ายสวนหลังกระติ๊ดเดียวแต่เท่มาก ผมเอารูปมาลงให้ดูเป็นตัวอย่าง ตัวผมเองจะให้อยู่อย่างนั้นผมอยู่ได้นะ เพียงแต่เมียไม่อนุญาตเท่านั้นเอง หิ..หิ

การมีเงินมากน้อยไม่สำคัญในการอยู่ร่วมกันในโคโฮหรอกครับ การเป็นคนรู้จักเอื้ออาทรคนอื่นสำคัญมากที่สุด ความสำเร็จของโคโฮอยู่ที่ความรู้จักเอื้ออาทรของคนที่มาอยู่ด้วยกันเป็นหลัก ไม่ใช่การต้องลงทุนสร้างโคโฮราคาแพงๆ

สันต์
…………………………….

จดหมายจากผู้อ่าน ฉบับที่  5.
คุณหมอคะ

โครงการ Co-Housing น่าสนใจมากค่ะ แต่ราคาสูงอยู่พอสมควร ถ้าสนใจแต่ยังไม่ได้ไปอยู่จะได้ไหมคะ ราคา 2 ล้านนี้เป็นบ้านเดี่ยว 1 ห้องได้หรือไม่คะ (คือ แยกบ้าน แต่จ่ายค่าส่วนรวม) ที่สำคัญไม่มีการผ่อนส่งเป็นงวด ๆ หรือคะ

ขอบคุณค่ะ

……………………………………..


ตอบครับ

เรื่องราคาอย่าไปเอานิยายมาก เป็นเพียงตัวเลขคร่าวๆเท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือสำนึกที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน
ถ้ามีเงินสองล้าน ก็พออยู่บ้านเดี่ยวได้นะครับ ที่ดินต่างจังหวัดไม่ได้แพง แต่ประเด็นสำคัญคือคุณน่าจะต้องหาเพื่อนหรือพวกมาร่วมซื้อที่ดิน เพราะที่ดินใน CoHo ขายเป็นแปลงๆละประมาณ 200 ตรว.ขึ้นไป ราคาที่ดินใน CoHo ไม่เท่ากัน ขึ้นกับทิวทัศน์และความสูง ตอนนี้ราคาที่เคาะออกมาครั้งสุดท้ายแล้วที่ดินแปลงที่ถูกที่สุดรวมค่าโอนตกวาละ 4,200 บาท (4200 – 6200) ต้องจ่ายค่าสมทบส่วนกลางอีก ซึ่งตอนนี้เคาะออกมาแล้วเหลือสมทบตรว.ละ 2,000 บาท รวมเป็น 6200 ต่อตรว. แปลงเล็กที่สุดในท้ืงหมด 12 แปลงคือ 200 ตรว. ถ้าคุณไม่มีเพื่อน ค่าที่ดินก็ 1.24 ล้านเข้าไปแล้ว เหลือเงิน 760,000 บาท มันจะปลูกบ้านได้หลังเล็กมาก คือราว 45 ตรม. ผมว่าจะดีกว่านี้ถ้าคุณหาเพื่อนมาแบ่งซื้อที่ดินไปคนละ 100 ตรว. คุณก็จะได้เงินมาอีก 620,000 บาท สามารถปลูกบ้านระดับ 80 ตรม.ได้ ซึ่งเป็นขนาดที่อยู่สบายกว่ามาก โดยเฉพาะอยางยิ่งถ้าอยู่สองคน
ส่วนเรื่องการผ่อนชำระนั้น เฉพาะที่ดินคุณต้องซื้อเงินสดเลย ผ่อนไม่ได้ครับ ส่วนบ้านนั้น คุณเอาที่ดินไปตึ๊งแบงค์เอาเองเพื่อกู้เงินมาปลูกบ้านได้ แล้วคุณก็ไปผ่อนกับแบงค์เอาเอง แต่การกู้เงินปลูกบ้านเอาตอนอายุมากนี้ผมไม่ค่อยสนับสนุนเท่าไหร่นะครับ เป็นหนี้ตอนแก่ไม่หนุกหรอก แบงค์เขาก็คงคิดอย่างเดียวกับผมนะแหละ
ในกรณีที่คุณกินบำนาญ ต้องเผื่อเงินไว้จ่ายค่าส่วนกลางอีกนะ ถ้าคุณซื้อที่ 100 ตรว. ก็ต้องจ่ายค่่าส่วนกลาง 15 บาทต่อตรว. รวมเดือนละ 3,000 บาท การจะซื้อที่แค่ 100 ตรว. ต้องมีเพื่อนนะ เพราะหน่วยเล็กที่สุดที่ขายคือ 200 ตรว.
ประเด็นซื้อแล้วยังไม่มาอยู่ได้ไหม ตอบว่าได้ แต่คุณต้องปลูกบ้านเลย และต้องจ่ายค่าส่วนกลางซึ่งหักคอเก็บล่วงหน้าคราวละ 3 ปี ดังนั้นปลูกแล้วทิ้งไว้ไม่คุ้มหรอกครับ ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณจะใช้มันเป้น Holiday Home ไปพลางก่อน
ย้ำอีกครั้ง มีเงินไม่มีเงิน อยู่บ้านเล็กบ้านใหญ่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะทำให้อยู่ใน CoHo ได้อย่างมีความสุข การเป็นคนมีความสุขที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าคุณเป็นคนอย่างนั้นมาเลย เรื่องอื่นค่อยมาพูดกัน แต่ถ้าคุณเป็นคนไม่ชอบวุ่นวายขายปลาช่อนกับคนอื่นมาก ปลูกบ้านอยู่คนเดียวเองที่ไหนซักแห่งดีกว่า เงินสองล้านบาทสำหรับต่างจังหวัดจ่ายค่าท่ีดินและบ้านหลังกลางๆได้สบายๆ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์