Latest

Senior Co-Housing ข้อมูลสำหรับผู้จะซื้อ

     วันนี้ขอหยุดตอบคำถามเรื่องการเจ็บป่วยหนึ่งวัน เพื่อเขียนข้อมูลที่มีคนโทรศัพท์มาถามบ่อยๆ เกี่ยวกับ Senior Co-Housing ที่ผมกำลังทำอยู่ที่มวกเหล็ก จะเรียกว่าวันนี้เป็น “หน้าโฆษณา” ก็ว่าได้ เพราะฉะนั้น ท่านที่ตั้งใจจะอ่านเอาความรู้เรื่องสุขภาพ ให้ข้ามหน้านี้ไปได้เลยนะครับ

Concept

     คำว่า Senior Co-Housing หมายถึงรูปแบบชุมชนที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่คนที่วางแผนจะอยู่อาศัยเป็นผู้ที่รู้จักกันมาก่อน หรือมาทำความรู้จักกันก่อนเข้ามาอยู่ร่วมกัน เมื่อรู้จักกัน ตกลงกันในทิศทางหลักของชุมชนที่จะจัดตั้งขึ้นได้แล้ว จึงลงขันกันสร้างชุมชนซึ่งมีลักษณะจำเพาะดังนี้

1.       สมาชิกอยู่ในนั้นไปตลอดชีพ โดยไม่ต้องย้ายไปไหน (age in place)
2.       เป็นสังคมที่ดูแลกันและกัน (co-care)
4.       ร่วมกันออกแบบ โดยมุ่งเน้นให้คนสูงอายุอยู่ง่าย และให้เอื้อต่อวิถีชีวิตชุมชน
5.       ทุกคนเป็นเจ้าของบ้านของตัวเอง มีพื้นที่ส่วนตัว
6.       มีพื้นที่ใช้งานร่วม รวมทั้งที่พักสำหรับผู้ดูแลคนสูงอายุ (caregiver) ซึ่งใช้ร่วมกัน
3.       ตัดสินใจเรื่องของชุมชนร่วมกัน ไม่มีใครเป็นใหญ่
7.       สมาชิกไม่มีใครหากินกับชุมชนของตัวเอง ทุกอย่างที่ทำให้ชุมชน เป็นงานจิตอาสา

ที่ตั้ง 

Senior Co-Housing ตั้งอยู่ในใกล้กับ Health Cottage ที่อำเภอมวกเหล็ก สระบุรี ตามแผนที่ข้างล่างนี้ 

สภาพแวดล้อม

CoHo1 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 8 ไร่ แบ่งเป็น 12 หน่วย เป็นเกาะล้อมรอบด้วยถนน กลางเกาะเป็นเนินเขา อยู่กลางหมู่บ้านมากเหล็กวาลเลย์เดิม ซึ่งมีเนื้อที่ 400 ไร่ และกำลังถูกพัฒนาไปเป็น Retirement Community มี Health Cottage ซึ่งเป็นรีสอร์ทสุขภาพอยู่ในนั้นด้วย แล้วจะมีบ้านพักอาศัยสำหรับผู้เกษียณอายุในรูปแบบต่างๆทะยอยสร้างตามมา ที่ตั้งของชุมชนอยู่ห่างจากตัวอำเภอมวกเหล็กซึ่งเป็นฐานสำหรับจ่ายตลาดซื้อข้าวของประมาณ 3 กม.

ราคา

ผู้เข้าอยู่อาศัยเป็นสมาชิก Senior CoHo1 ต้องมีค่าใช้จ่ายดังนี้
ค่าที่ดินตารางวาละ 4000 – 5000 บาท
เงินร่วมลงทุนสร้างชุมชน 2,000 บาท/ตรว.
ค่าจ้างปลูกบ้าน 17,500 บาท/ตรม.
ค่าดูแลชุมชนรายเดือน 15 บาท/ตรว./เดือน
สมมุติว่าอยากมีที่ดินสัก 100 ตรว. ปลูกบ้านสัก 90 ตารางเมตรซึ่งเป็นมาตรฐานที่พักผู้สูงอายุที่อยู่ได้สองคน เงินลงทุนตั้งต้นก็จะตกราว  400,000 + 200,000 + 1,575,000 = 2,175,000 บาท

(updated 22 มีค. 57) มีคนซ์้อ Coho1 ไปหมดทั้ง 12 แปลงแล้ว ท่านที่สนใจจะเข้าอยู่อาศัยในชุมชนในรูปแบบ coho โปรดรอ coho 2 ซึ่งน่าจะเปิดให้เข้ามาดูรายละเอียดได้ประมาณเดือน ตค. 57 (ปลายฝนต้นหนาว) หรือโทรศัพท์แจ้งไว้ก่อนได้ที่ 081 901 6013 เวลาจะซื้อกันจริงๆจะใช้วิธีเรียงคิวตามการติดต่อเข้ามา คนที่ติดต่อเข้ามาไม่ว่าจะเป็นทางโทรศัพท์หรืออีเมลก่อน จะได้เลือกก่อน

การออกแบบชุมชน

สมาชิกที่จะอยู่อาศัย เป็นผู้ร่วมออกแบบชุมชน ซึ่งสำหรับ Coho1 แบบที่ลงตัวแล้ว ณ ขณะนี้คือ
1.      มี “รั้วชุมชน” ล้อมรอบทั้งเกาะซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสมาชิกชุมชนเพียงรั้วเดียว ไม่มีรั้วภายในระหว่างบ้านสมาชิก
2.      มีทางเดินออกกำลังกายภายในชุมชนขนาดความกว้าง 2 เมตร อยู่ภายในรั้วและวนรอบชุมชนผ่านบ้านทุกหลัง
3.      มีบ้านพักคนเฝ้าและคนสวนในรูปแบบ ADU (accessory dwelling unit) หนึ่งหลัง คนสวนนี้เป็นทั้งคนเฝ้าบ้านและคนสวนในคนเดียวกัน ทำงานให้กับทั้งชุมชน
4.      มีสวนหย่อมเป็นพื้นที่ส่วนกลางชุมชนที่สมาชิกใช้พบปะทานอาหารร่วมกันตามโอกาส
5.      มีนโยบายสัตว์เลี้ยง ที่สมาชิกเห็นพ้องและปฏิบัติเหมือนกัน
6.      ลงทุนระบบไฟฟ้าแรงสูงที่นำไฟเข้ามาจ่ายให้กับ CoHo โดยตรง
7.      มีระบบผลิตน้ำเพียงระบบเดียว จ่ายน้ำให้ทุกบ้าน
8.      สมาชิกมีอิสระในการออกแบบบ้านของตนเอง แต่ต้องให้ชุมชนตกลงเห็นชอบก่อนสร้าง โดยตกลงกันว่าตัวบ้านจะต้องมีความสูงนับจากระดับสูงสุดของพื้นดินเดิมไม่เกิน 7 เมตร

9.      สมาชิกจะต้องปลูกบ้านให้เสร็จภายใน 1 มค. 60 หมายความว่าปลูกภายใน 3 ปี

การประชุมสมาชิก

ในวันที่ 16 พค. 57 ได้มีการประชุมสมาชิกเพื่อโอนกรรมสิทธิที่ดินไปเรียบร้อยแล้ว 

การประชุมครั้งต่อไปจะมีในวันที่ 29 พย. 57 เพื่อจัดทำแผนก่อสร้างรวม เลือกกรรมการรักษาเงิน รับมอบเงินของ coho ไปบริหารเอง ปิคนิก และทำบุญเลี้ยงพระร่วมกัน (ฝรั่งก็เลี้ยงพระได้)

การบริหาร CoHo

     CoHo บริหารโดยสมาชิกทุกคน โดยมีสมาชิกที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ร้กษาเงิน 3 คน การจ้ดตั้งเป็นแบบองค์กรไม่จดทะเบียน เรียกว่า “คณะบุคคลสหการโคโฮ” ไม่ใช่นิติบุคคล และไม่ใช้กฎหมายอาคารชุดหรือกฎหมายบ้านจัดสรรมาบังคับสมาชิก ใช้วิธีคุยกันลูกเดียว นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ขนาดของโคโฮจำเป็นต้องมีขนาดเล็กและมีสมาชิกไม่มากเกินไป

Updated เรื่องแนวคิดในการทำ coho 2, 3, 4 

สำหรับ coho ที่จะทำขึ้นใหม่ในฤดูหนาวปี 2557 คอนเซ็พท์จะเปลี่ยนไปเล็กน้อย คือ 

     (1) แต่ละ coho จะตีวงกลุ่มเป้าหมายที่จะมาอยู่อาศัยด้วยกันให้แคบเข้า เช่นมุ่งเฉพาะนักวิชาชีพที่เคยทำงานอยู่ในเมืองใหญ่ (urban professional) เช่น หมอ วิศวกร นักบัญชี ครูอาจารย์สอนหนังสือ เป็นต้น

     (2) รูปแบบของชุมชนจะเป็นลักษณะผสม คือจะเริ่มต้นใช้เป็นกึ่ง holiday home ก่อนแล้วมาอยู่จริงตอนเกษียณ หรือจะมาอยู่เลยทันทีแบบคนเกษียณแล้ว ก็ได้

     (3) ไม่บังคับให้ปลูกบ้านทันที ปล่อยให้เป็นไปตามจังหวะเวลาความพร้อมในชีวิตของสมาชิกแต่ละคน แต่ว่ากิจการของชุมชนอันได้แก่การมีคนสวนคนเฝ้า การดูแลตัดหญ้าและภูมิสถาปัตย์จะเริ่มทันทีตั้งแต่วันแรก

     (4) ภูมิสถาปัตย์ของ coho จะแบ่งออกเป็นสามชนิด คือ

     4.1 ชุมชนแบบ gentleman’s farm แบบว่าฟู่ฟ่าหน่อย คือแต่ละบ้านมีพื้นที่กว้างประมาณ 1 ไร่ แต่ล้อมรั้วอยู่ในรั้วเดียวกัน เชื่อมกันด้วยเนินหญ้าสีเขียว มีจำนวนสมาชิกต่อชุมชนน้อย คือมีชุมชนละ 5 – 8 หลังก็พอ

     4.2  ชุมชนเกษียณชานเมือง คือแต่ละบ้านมีพื้นที่กว้างประมาณ 200 ตารางวา ส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียว อยู่ในรั้วเดียวกันหมด จำนวนสมาชิกประมาณ 10-20 หลัง

     4.3  ชุมชนที่มีสถาปัตยกรรมแบบ ADU (accessory dweling units) พูดง่ายๆว่าบ้านเล็กๆแบบบ้านตุ๊กตาเหมือนบ้านที่ปลูกให้คุณย่าที่ท้ายสวน แต่ละหน่วยใช้พื้นที่ประมาณ 100 ตารางวา ปลูกเป็นหลังเล็กๆอยู่ใน park ที่่ร่มรื่นขนาดใหญ่ ไม่มีรั้ว ไม่มีถนนภายใน มีแต่ทางเดินเล็กๆ ต้องจอดรถในที่จอดรถรวม แล้วเดินเข้าบ้าน แต่ก็จำกัดขนาดชุมชนไม่ให้ใหญ่เกินไป คืออย่างมาก 15-20 หลัง ชุมชนแบบนี้ในเมืองไทยยังไม่มีใครทำ แต่ผมคิดอยากจะทำ สำหรับผู้เกษียณที่มีเงินไม่มาก หรือผู้หญิงตัวคนเดียวที่อยากอยู่ในที่เล็กๆ แบบพอเพียง แต่ปลอดภัยและมีสังคม
     
………………………………………

อ่านบทความเรื่อง “Senior Co Housing ปีนี้เอาจริงแล้วนะ” ที่นี่ http://visitdrsant.blogspot.com/2014/01/senior-co-housing.html 

นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์