Latest

Senior Cohousing คลอดแล้ว..ไชโย!

           วันนี้ผมเปิดดูสถิตของบล็อกเพราะประมาณว่าน่าจะใกล้ที่จะมีผู้อ่านครบ 3 ล้านครั้งแล้ว จะได้ถือโอกาสงดตอบคำถามหันมาเขียนเรื่องไร้สาระในโอกาสผู้อ่านครบสามล้านได้อีกหนึ่งวัน แต่พอเปิดเห็นก็เป็นงงที่จำนวนผู้เปิดอ่านกระโดดพรวดจาก 2.9 ล้านกว่าๆเมื่อสองสัปดาห์ก่อนขึ้นไปเป็น 3.3 ล้านทั้งๆที่ปกติจะมีคนอ่านวันละราว 5,000 ครั้งเท่านั้น เมื่อไล่ดูสาเหตุก็พบว่าที่มันขึ้นพรวดเนี่ยไม่ใช่เป็นเพราะผู้คนหันมาใส่ใจปัญหาสุขภาพมากขึ้นดอก แต่เป็นเพราะบทความที่ผมเขียนเรื่องการเมืองเพียงครั้งเดียวมีคนอ่านถึงสองแสนกว่าเกือบสามแสนครั้ง หากตัดเรื่องความบ้าการเมืองชั่วคราวของผู้คนครั้งนี้ออกไปเสีย เรื่องที่มีคนอ่านรองๆลงไปก็ยังคงเป็นเรื่องของผู้อ่านวัยรุ่นเหมือนเดิม เป็นต้นว่า “มีเซ็กซ์แล้วกี่วันจึงจะตรวจการตั้งครรภ์พบ”  (อ่าน 162,784 ครั้ง) รองลงไปก็เป็นการสืบหาความรู้ง่ายๆไว้ดูแลตัวเอง เช่น “สอนวิธีอ่านผล CBC” (อ่าน 141,914 ครั้ง) ส่วนเรื่องการเจ็บป่วยของคนแก่นั้น ไม่ติดอันดับท็อปเท็นเลย อย่างเช่น “ความรู้เรื่องโรคไตเรื้อรัง” (อ่าน 32,591 ครั้ง) เช่นเดียวกัน จดหมายอีเมลที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็เป็นจดหมายวัยรุ่น รองลงไปเป็นของคนวัยทำงาน จดหมายคนแก่มีบ้างแต่ก็น้อย ซึ่งผมเองก็เข้าใจและเห็นใจ อย่างท่านผู้อ่านท่านหนึ่งส่งอีเมลมาหาผมความยาวห้าบรรทัด ท่านบอกว่าใช้เวลาพิมพ์สองชั่วโมง แถมพิมพ์ติดกันพรืดเพราะท่านบอกว่าเว้นวรรคและย่อหน้าไม่เป็น หิ..หิ

แต่ท่านผู้อ่านที่เป็นผู้สูงอายุทั้งหลายอย่าท้อถอยนะครับ อย่างไรเสียบล็อกนี้ก็ยังจะชูวิสัยทัศน์พันธกิจที่จะเป็น..

“..บล็อกของคนแก่ โดยคนแก่ เพื่อคนแก่”

ให้สูงเด่น มิเสื่อมคลาย มิใยที่จดหมายที่ท่านเขียนมาผมจะอ่านออกหรือไม่ก็ตาม จดหมายของท่านจะได้ไพรออริตี้มากกว่าของวัยรุ่นที่ขยันเขียนและพิมพ์เก่งกว่าท่านเสมอ

วันนี้ผมจะขอเขียนเรื่องการจัดตั้งนิคมคนแก่ในรูปแบบของ Senior Co-Housing เป็นครั้งที่สอง นอกจากจะเป็นการรายงานความคืบหน้าแล้ว ยังจะเป็นการแชร์ข้อมูลความรู้ในเรื่องการจัดทำที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งในเมืองไทยนี้ยังอยู่ในขั้นอนุบาลอยู่ อะไรๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ล้วนเป็นความรู้ใหม่สำหรับคนไทยทั้งสิ้น และที่สำคัญ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมชอบ  
เมื่อเริ่มต้นปีใหม่ (http://visitdrsant.blogspot.com/2014/01/senior-co-housing.html) ผมได้เขียนถึงคอนเซ็พท์ของชุมชนผู้สูงอายุในรูปแบบ Senior CoHo ของฝรั่งในยุโรปและอเมริกา ว่ามันคือแนวคิดสร้างชุมชนแบบ “แก่ที่นั่น ตายที่นั่น” (age in place) เป็นสังคมที่รู้จักกันเกื้อกูลกัน (co-care) ผู้จะอยู่มาช่วยกันออกแบบ ทุกคนเป็นเจ้าของบ้านหรือหน่วยของตัวเองมีชีวิตส่วนตัวในบ้าน (private life) ขณะเดียวกันก็มีชีวิตชุมชนร่วมกับเพื่อนบ้าน (community life) มีอะไรก็ตัดสินใจร่วมกันโดยไม่มีใครเป็นใหญ่ และออกแบบให้เอื้อต่อการนำผู้ดูแล (caregiver) จากภายนอกเข้ามาช่วยดูแลสมาชิกบางคนเมื่อคราวจำเป็น

นอกจากนี้ผมยังได้เขียนผลสรุปของการวิจัย Senior CoHo ของฝรั่งว่าจำนวนหน่วยที่พักที่เหมาะสมคือ 15-25 ยูนิต หรือมีคนอยู่รวมไม่เกิน 35 คน ต้องมีรั้วรอบ มีทางเข้าประตูเดียว จอดรถรวมกัน แล้วเดินผ่านทางเดินเล็กผ่านบ้านเพื่อนบ้านไปยังบ้านตัวเอง บ้านหรือหน่วยที่พักแต่ละหลังเป็นอาคารชั้นเดียวพื้นราบ ขนาดเล็ก อยู่ค่อนข้างติดกันตะโกนหากันได้  ระเบียงหน้าบ้านและห้องครัวซึ่งอยู่หน้าบ้านเป็นพื้นที่ที่จะได้พูดคุยทักทายกับเพื่อนบ้าน ตัวยูนิตอาจจะเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถวก็ได้ โดยต้องออกแบบจำเพาะเพื่อความปลอดภัยและสะดวกสบายของผู้สูงอายุ กลางชุมชนมีบ้านร่วม (common house) ขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการพบปะทานอาหารเย็นร่วมกันบ่อยๆ บ้านร่วมนี้มักมีห้องพักแขกด้วยเพื่อจะได้ไม่ต้องมีห้องสำรองไว้ให้แขกในบ้านผู้สูงอายุ

     แล้วผมก็ได้ป่าวประกาศผ่านบล้อกนี้ว่าผมได้ซื้อที่ดิน 8 ไร่ใกล้บ้านพักของผมที่มวกเหล็กเพื่อจะหาเพื่อนมาร่วมทำขึ้นเป็น Senior CoHo และได้นัดหมายคนที่คิดแบบเดียวกันไปคุยกันที่มวกเหล็กในวันที่ 1 กพ. 57 ซึ่งก็คือเมื่อวานนี้

     ก่อนหน้าที่จะถึงวันคุยกันผมได้ทำวิจัยแบบที่ทางการตลาดเรียกว่า focus group คือลองเอาคนสูงอายุวัยเกษียณหรือใกล้เกษียณมาพูดคุยซักถามความเห็นว่าหากจะสร้างชุมชนผู้สูงอายุในรูปแบบ Senior CoHo แต่ละท่านมีประเด็นหรือความเห็นอะไรบ้าง ซึ่งก็มีข้อสรุปจากผู้สูงอายุคนไทย เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับของฝรั่ง ดังนี้
      1. เรื่องจะทำชุมชนรั้วเดียวล้อมรอบทั้ง CoHoนั้นโอเค.
2. ใช้คนสวนดูแลสนามและเฝ้าบ้านร่วมกัน คือคนสวนคนเดียว เฝ้ามันทุกบ้าน… โอเค.
3. การมี“บ้านร่วม” หรือ common house หลังใหญ่แบบคลับเฮ้าส์ของหมู่บ้านจัดสรรนั้น ท่านว่าไม่เวอร์ค จะเสียเงินเปล่า
4. “บ้านร่วม” ควรเป็นแค่ลานกินข้าวร่วม อาจมีที่อุ่นอาหาร วันไหนฝนตกก็บ้านใครบ้านมัน ไม่ต้องร่วม
5. ที่จะให้จอดรถที่เดียวกันแล้วหิ้วของกะเร้อกะร่าเดินผ่านบ้านเพื่อนบ้านไปบ้านตัวเองนั้นอย่าหวัง ไม่เอาด้วยแน่นอน ผู้สูงอายุไทยต้องการทางเข้าออกส่วนตัวตรงจากภายนอก และจอดรถชิดประตูบ้านตนเองเลย
6. ผู้สูงอายุไทยไม่ชอบบ้านที่ขนาดเล็กเกินไป เพราะอึดอัด
7. ผู้สูงอายุไทยไม่ชอบบ้านอยู่แบบผนังติดบ้านอื่น เรียกว่าเคย “เข็ด” กับชีวิตแบบทาวน์เฮ้าส์มาแล้ว
8. หลายท่านเห็นว่าแม้จะมี เฮลท์ คอทเท็จซึ่งมีห้องพักให้เช่าอยู่ แต่ก็ยังควรมีห้องพักแขกในบ้านตัวเอง..อยู่ดี เพราะขนาดเตรียมห้องอย่างดีไว้รับเสด็จยังต้องลุ้นว่าบรรดาลูกบังเกิดเกล้าท่านจะมาเยี่ยมหรือเปล่าเลย ถ้าเป็นบ้านห้องนอนเดียวละก็.. ลูกคนไหนหรือจะมาเยี่ยม
9. การทำถนนเล็กๆเป็นทางเดินระหว่างบ้านแต่ละหลังอย่างเป็นทางการนั้นไม่จำเป็น เอาแบบไทยๆที่มีบ้านอยู่ในบริเวณเดียวกันในหมู่พี่ๆน้องๆ และเดินตัดสวนหรือสนามหญ้าไปมาหาสู่กันง่ายๆดีกว่า ขอแต่เพียงอย่าทำรั้วกั้นระหว่างบ้าน
                พอถึงวันนัด คือเมื่อวานนี้ ก็มีเพื่อนพ้องน้องพี่ผู้สนใจมาประมาณยี่สิบกว่าท่าน แยกเป็นประมาณสิบครอบครัวหรือสิบก๊วน การประชุมเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักกัน แล้วผมเล่าความฝันของผมที่อยากจะทำชุมชนผู้สูงอายุมาตั้งแต่เป็นหนุ่ม เล่าคอนเซ็พท์ของฝรั่งให้ฟัง เล่าผลวิจัย focus group ของผู้สูงอายุไทยให้ฟัง แล้วเล่าถึงที่ดิน 8 ไร่ที่ซื้อมา ว่ามีทั้งหมด 12 โฉนด อยู่ติดกันเป็นเกาะมีถนนล้อมรอบ ที่มีคุณภาพลดหลั่นกันตามระดับความสูง จึงตั้งราคาที่ไว้ 3 ราคาคือ ตรว.ละ 4000 บาทบ้าง 5000 บาทบ้าง และ 6000 บาทบ้าง โดยผู้ซื้อนอกจากจะจ่ายเงินซื้อที่ดินให้เจ้าของที่ดินแล้ว ยังต้องออกเงินสมทบเข้า CoHo ตารางวาละ 2000 บาท เพื่อเป็นค่าทำรั้ว ไฟฟ้าแรงสูง และระบบน้ำ อีกด้วย

หลังจากนั้นก็ผลัดกันออกความเห็นและซักถาม แบบแชร์กัน อย่างเช่น

ผมเองได้เล่าให้ฟังถึงชีวิตที่มวกเหล็กนี้ ว่ามีเพื่อนบ้านประมาณ 10 ครอบครัว สนิทสนมกันดี กินข้าวด้วยกันทุกสัปดาห์ เกื้อกูลกันดีมาก มีความสุขมาก แต่มีข้อเสียอยู่สองอย่าง คือบ้านของพวกเราตั้งอยู่ห่างกัน ไปมาหากันต้องขับรถจึงลำบากโดยเฉพาะกลางคืนเมื่อมากินข้าวด้วยกัน อีกอย่างคือความที่บ้านแต่ละหลังมีบริเวณกว้างเกินไปหลังละหลายไร่ ค่า maintenance จึงสูงเกินความจำเป็น พวกเราเพื่อนบ้านอยากจะมีเพื่อนบ้านใหม่ให้มันหนาแน่นขึ้น  และเพื่อนบ้านใหม่ก็ไม่ควรต้องมาลำบากด้วยเหตุทั้งสองอย่างนั้น คือควรจะได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใกล้ๆกัน และมีระบบบำรุงรักษาร่วมกันที่ไม่แพง
           
            ท่านหนึ่งซึ่งเป็นคนอังกฤษเล่าว่าพ่อแม่ของท่านซึ่งอายุแปดสิบแล้วทั้งคู่ เมื่อแก่ตัวขึ้นก็ย้ายบ้านมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ละครั้งก็อยู่บ้านเล็กลงเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ลงตัว ไม่มีความสุข มาลงตัวที่การไปอยู่ในหมู่บ้านแบบชุมชนผู้สูงอายุ (ที่อังกฤษ) ซึ่งเรียกว่าบังกะโล คือเป็นหมู่บ้านที่แต่ละหลังเป็นบ้านหลังเล็กๆชั้นเดียว มีบ้านใหญ่หลังหนึ่งเป็นศูนย์กลางที่มีห้องพักญาติที่ไปเยี่ยมอยู่ด้วย แต่ว่าญาติต้องจองล่วงหน้าจึงจะมาพักได้เพราะถ้าไม่จองก็อาจมาชนกับญาติของคนอื่น ท่านสมาชิกท่านนี้เล่าว่ามีอยู่วันหนึ่งคุณพ่อเดินทางไปต่างประเทศ คุณแม่อยู่บ้านคนเดียวแล้วล้มในห้องน้ำ คุณแม่ดึงเชือกสัญญาณภัยที่แขวนไว้กลางห้องน้ำ ไม่กี่นาทีเพื่อนบ้านและคนเฝ้าก็เข้ามาช่วยพาไปโรงพยาบาล ทำให้คุณแม่ได้รับการดูแลโดยไม่ขาดตกบกพร่องทั้งๆที่เธออยู่คนเดียว การแก่ตัวในชุมชนที่ดูแลกันและกันจึงเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน
และท่านสมาชิกชาวอังกฤษผู้นี้ยังได้พูดถึงประเด็นที่ว่าสมาชิก CoHo แต่ละคนมีความรู้ความชำนาญเฉพาะเรื่อง การสร้าง CoHo ต้องอาศัยความชำนาญชองสมาชิกแต่ละคนมาช่วยให้มากที่สุด

สมาขิกอีกท่านหนึ่งเป็นสถาปนิก เห็นว่าตัวเองอายุน้อยก็ออกจะสงบเงียบ ขอไม่ออกความเห็นในการพบกันครั้งแรกนี้ เพียงแต่บอกว่าสนใจที่จะมาร่วมเป็นสมาชิกสร้าง CoHo เพราะด้านหนึ่งมีคุณแม่ที่อายุมากและอยากให้ท่านมีที่อยู่ที่ท่านมีความสุข อีกด้านหนึ่งตัวเองและภรรยาก็อยากมีบ้านวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เป็นการเตรียมพร้อมสร้างสังคมไว้เผื่อเมื่อตนเองเกษียณด้วย ซึ่งผมได้ขยายความว่าแนวความคิดนี้ตรงกับของฝรั่งซึ่งเขาเรียกว่า extended holiday home คือไปสร้างบ้าน สร้างสังคมไว้ตั้งแต่ยังวัยทำงาน ใช้บ้านนั้นเป็นบ้านพักสุดสัปดาห์ แต่สังคมที่เกิดขึ้นก็เป็นสังคมใหม่ที่จะรองรับชีวิตตนเองตอนเกษียณด้วย

                  สมาชิกอีกท่านหนึ่งอยู่ในวัยเกษียณแล้วและมีประสบการณ์เรื่องการสร้างหมู่บ้าน ได้สอบถามประเด็นเช่น

ประเด็นที่ 1. ค่าจ้างสต๊าฟประจำเพื่อบริการสมาชิกว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่มาก ซึ่งก็ได้ทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า Senior CoHo เป็นระบบเล็กๆในเนื้อที่เพียง 8 ไร่ มีสมาชิกประมาณ 12 ครอบครัวหรือ 12 ก๊วน และเป็นระบบเกื้อกูลกันและกัน ไม่มีการจ้างสต๊าฟประจำใดๆ อย่างมากก็มีคนสวนครอบครัวเดียวซึ่งทำหน้าที่ทั้งคนเฝ้าสมบัติ รดน้ำ ตัดหญ้า จิปาถะ ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ต้องชำระประจำในอัตราที่ตั้งไว้ 15 บาทต่อตรว.ต่อเดือนนั้น เป็นค่าเงินเดือนค่าจ้างคนสวนคนนี้เนี่ยแหละเป็นสำคัญ ส่วนใครจะจ้างเมียคนสวนให้ทำความสะอาดบ้านหรือซักผ้ารีดผ้าให้ก็เป็นระบบ fee for service คือใครใช้ให้ทำ คนนั้นก็จ่ายเอง

ประเด็นที่ 2. สอบถามให้แน่ใจว่าจะต้องมีการจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นมาดูแลเรื่องของส่วนกลางหรือเปล่า ซึ่งก็ได้เคลียร์ให้เข้าใจตรงกันว่าระบบ CoHo เป็นระบบเล็ก เรียกว่า “สหการ” คือตัวสมาชิกทุกคนนั่นแหละเป็นผู้ร่วมตัดสินใจโดยไม่มีหัวหน้า ไม่มีการจดทะเบียนกับทางราชการ อาจจะมีสมาชิกบางคนสักสองสามคนรับหน้าที่ดูแลบัญชีเงิน เงินสมทบ 2000 บาทต่อตรว.จากตอนแรกเข้าร่วมครั้งเดียว ซึ่งจะเป็นเงินทั้งสิ้น 6.3 ล้านบาท เงินนี้จะตัดสินใจใช้จ่ายโดยสหการ โดยมีเจตนาเบื้องต้นจะใช้ไปกับการเพิ่มแรงดันไฟฟ้าแรงสูง ทำรั้ว ทำระบบน้ำ และอื่นๆที่จำเป็น

ประเด็นที่ 3. สอบถามเพื่อให้แน่ใจเพราะอ่านในแผนเดิมเห็นว่าสมาชิกจะต้องออกเงินซื้อที่ดินส่วนกลางซึ่งจะมีพื้นที่เป็น 2ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งประเด็นนี้ได้เคลียร์ความเข้าใจกันเสียใหม่ว่าแผนเดิมที่จะให้ทุกคนซื้อที่ส่วนกลาง 2 ใน 3 ของที่ดินทั้งหมดนั้นยกเลิกไปเพราะความยุ่งยากของการรวมโฉนดและระบบกฎหมายเรื่องกรรมสิทธิ์ร่วม ได้เปลี่ยนแผนมาเป็นให้สมาชิกแยกซื้อที่ดินโฉนดของใครของมันในราคา 4000-6000 บาทต่อตรว. แล้วเอามารวมทำ CoHo ร่วมกัน โดยสมทบเงินให้สหการซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทุกคนนั่นแหละ ในอัตราจ่ายครั้งเดียว 2000 บาทต่อตรว. (เงินส่วนนี้เป็นของ CoHo ไม่ได้ให้แก่เจ้าของที่ดิน)

ประเด็นที่ 4. เสนอแนะเรื่องระบบน้ำ ว่าแทนที่จะทำถังพักน้ำใต้ดินแล้วจ่ายด้วยแรงดันของสูบ น่าจะตั้งเป็นถังสูงและจ่ายโดยแรงโน้มถ่วง ซึ่งเรื่องนี้ได้หากรือกันขั้นต้นแล้วสรุปว่าให้เอาขึ้นลิสต์เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตัดสินใจภายหลัง หลังจากได้ข้อมูลเปรียบเทียบทางเทคนิครอบด้านแล้ว

            สมาชิกอีกท่านหนึ่งเป็นอาจารย์ใกล้เกษียณอยู่ที่มวกเหล็กนี่เอง เธอได้ให้ข้อมูลว่าราคาที่ดินในมวกเหล็กทุกวันนี้ได้ขึ้นไปอยู่ระดับเฉลี่ยตรว.ละ 7500 – 8500 บาทต่อตรว. ซึ่งเป็นราคาที่แพงกว่าที่สมาชิก CoHo จะซื้อในครั้งนี้มาก และเธอได้เล่าว่าตอนแรกจะเกษียณเธอตั้งใจจะไปอยู่เป็นกลุ่มกับญาติๆด้วยกันที่วังน้ำเขียวซึ่งต้องเดินทางจากมวกเหล็กไปอีกชั่วโมงกว่า แต่เมื่อเดินทางไปทดลองพักที่นั่น ลูกชายก็ทักท้วงว่าทำไมเราไม่อยู่กันที่มวกเหล็ก เพราะอากาศก็ดีเท่ากัน แต่มวกเหล็กสะดวกกว่ามาก เธอจึงตัดสินใจหาที่เกษียณที่มวกเหล็ก
   
         อีกท่านหนึ่งยกประเด็นเกณฑ์ทางด้านสถาปัตยกรรมว่ามีข้อแม้อะไรบ้าง ซึ่งก็มีข้อสรุปในชั้นต้นนี้เพียงแต่ว่าจะต้องไม่มีรั้วภายใน และจะต้องเป็นบ้านชั้นเดียวทั้งชุมชน และชุมชมมีเจตนาจะสร้างทั้งชุมชนให้เสร็จในเวลาไม่นานเกินไป เช่นไม่เกิน 3 ปี หากก่อสร้างในกรอบเวลานี้ต้นทุนก็จะถูกเพราะทุกคนยอมรับให้ทั้งชุมชนเป็น site งานก่อสร้าง พ้นเวลานี้ไปแล้วใครมาก่อสร้างค่าก่อสร้างก็จะแพง เพราะเป็นการก่อสร้างในเขตที่มีผู้พักอาศัยแล้ว ซึ่งจะมีข้อกำหนดมากมายเช่นคนงานจะอยู่ในที่ก่อสร้างไม่ได้ จะทำเสียงดังบางเวลาบางวันไม่ได้ จะตอกเสาเข็มด้วยวิธีที่สั่นสะเทือนไม่ได้ ฯลฯ ส่วนข้อกำหนดอื่นๆเชิงสถาปัตยกรรม ณ ขณะนี้ยังไม่มี คงต้องขึ้นกับมติของสมาชิกเป็นเรื่องๆไป

                  อีกท่านหนึ่งเป็นผู้อาศัยที่เป็นเพื่อนบ้านเดิมในหมู่บ้านที่ผมอยู่นี้  (มวกเหล็กวาลเลย์) เธออยู่ที่นี่มา10 ปี เธอได้ให้ข้อมูลที่ประชุมเกี่ยวกับข้อดีของสถานที่นี้ว่าใกล้กรุงเทพ ขับรถชั่วโมงกว่า ถ้าอยู่ฝั่งโน้นของกรุงเทพก็ขับอย่างมากสองชั่วโมง และว่าชีวิตที่นี่เป็นชีวิตที่ดี อากาศเย็นสบายทั้งปี ที่สูง เพื่อนบ้านดี ตลาดมวกเหล็กซึ่งห่างออกไปเพียง 3 กม. ก็เป็นศูนย์กลางชุมชนที่ดีมีอาหารดีราคาถูก รวมทั้งบริการดีๆอย่างเช่นร้านทำผม (ดีกว่าที่สปอร์ทคลับที่เธอเป็นสมาชิกอยู่.. เธอว่างั้น!) และตบท้ายว่าเธอไม่ได้มาโฆษณาชวนเชื่อ แต่เธออยากมีเพื่อนบ้านใหม่ๆ ซึ่งเรียกเสียงฮาจากสมาชิกได้พอควร

                  เมื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันถ้วนหน้าแล้ว ทั้งหมดก็ไปดูที่ดินกัน โฉนดแปลงเบอร์ไหนอยู่ตรงไหน แล้วก็พากันไปเที่ยวบ้านของผมซึ่งอยู่ห่างจากที่ดินไปราวสามร้อยกว่าเมตร ไปคุยกันต่อที่ลานบ้านผม ซึ่งการคุยกันที่นี่ทำให้สมาชิกใหม่ 7 ครอบครัวหรือ 7 ก๊วน ตัดสินใจซื้อที่ดินทันทีเดี๋ยวนั้น ทั้งนี้โดยไม่มีการแย่งกันเพราะใช้หลักใครติดต่อมาประชุมก่อนได้เลือกก่อน ส่วนคนที่ติดต่อมาประชุมก่อนแล้ววันจริงไม่มาก็ตัดไปต่อท้ายแถว บางท่านก็ยังตัดสินใจไม่ได้ต้องกลับไปหารือที่บ้าน สรุปว่าที่ดิน 12 โฉนด มีผู้ซื้อไปแล้ว 7 โฉนด เหลือ 5 โฉนด เฉพาะที่เหลือนี้มีเนื้อที่โฉนดละประมาณ 176 – 275 ตรว. ราคาตรว.ละ 4000 – 5000 บาท ส่วนที่ตั้งขายตรว.ละ 6000 บาทนั้นขายไปหมดเกลี้ยงแล้ว การที่มีผู้ซึ้อไปแล้ว 7 โฉนดนี้ จะมีผลทำให้สหการ CoHo มีเงินเข้าประมาณ 4 ล้านบาท ซึ่งมากเกินพอที่จะเดินหน้าโครงการ CoHo ให้สมบูรณ์แบบได้เลยโดยไม่ต้องรอให้มีผู้ซื้อครบ 12 โฉนด

                  การทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินคงจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน หลังจากนั้นทั้ง 7 ครอบครัวหรือ 7 ก๊วนก็จะสื่อสารกันทาง line หรือทาง internet เพื่อออกแบบแนวคิดสำหรับชุมชน (conceptual design) เมื่อมีความลงตัวในระดับหนึ่งแล้วก็จะนัดหมายประชุมกันเพื่อ “สรุป conceptual design ของชุมชน” และลงมติในเรื่องสำคัญต่างๆ เช่นแผนงบประมาณที่เป็นเงินส่วนกลางของ CoHo คาดว่าวันประชุมน่าจะเป็นวันที่ 1 มีค. 57 เวลา 11.00 – 12.00 น. คนที่มาประชุมไม่ได้ก็อาจจะใช้วิธีออกความเห็นมาทาง on line แทนก็ได้ แต่ว่าตัวผมเองจะเป็นตัวยืนเพื่อเป็นสื่อกลางการสื่อสารอยู่ที่นั่น หมายถึงที่ Health Cottage ดังนั้นท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิก แต่สนใจจะไปร่วมสร้างร่วมอยู่ใน CoHo ในอีก 5 โฉนดที่เหลือ ก็ไปดูสถานที่และร่วมประชุมในวันนั้นได้นะครับ โดยใช้หลักการเดิมคือ ผู้ติดต่อนัดหมายเข้ามาก่อน ได้สิทธิเลือกก่อน
                 
                  CoHo แห่งนี้จะเป็นแห่งแรกของเมืองไทย ที่คนแก่ เอ๊ย..ไม่ใช่ ผู้สูงอายุที่ประสงค์จะใช้ชีวิตบั้นปลายในชุมชนที่รู้จักกันเกื้อกูลกันและกัน มาซื้อที่ดินในที่เดียวกัน เอาที่ดินมารวมกันสร้างเป็น CoHo ร่วมกันออกแบบชุมชนของตัวเอง มีบ้านของใครของมัน มีที่ดินของใครของมัน แต่อยู่ในรั้วเดียวกัน แชร์ค่าบำรุงรักษาร่วมกัน และที่สำคัญ ใช้ชีวิตชุมชนแบบ “เพื่อนบ้านเกื้อกูล” ร่วมกัน รูปแบบของการอยู่อาศัยแบบนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับคนไทย จะเวอร์คหรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป ผมสัญญาว่าจะรายงานให้ทราบเป็นระยะๆ เพื่อเป็นความรู้แก่ผู้สนใจการพัฒนาที่พักอาศัยผู้สูงอายุในเมืองไทยจะได้นำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์