Latest

หลอดเลือดมุดอยู่ในกล้ามเนื้อหัวใจ (myocardial bridging)

4 มีค. 57
สวัสดีค่ะคุณหมอสันต์
     เพื่อนสนิทของหนูเพิ่งได้รับการ Diagnosed ว่า เป็น Coronary Bridging เมื่อไม่กี่วันมานี้เองค่ะ เพื่อนเป็นผู้ชายอายุย่าง 34 ปี เดิมมีสุขภาพแข็งแรง ชอบออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นคน active ไฟแรง กำลังมีอนาคตไกล มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำทางด้านสุขภาพให้กับคนอีกหลายๆคน 
      เมื่อกลางเดือนมกราคม เขาไปวิ่งออกกำลังกายตามปกติก้อรู้สึกเหนื่อยมาก หายใจเร็ว หน้ามืด พอพักก้อรู้สึกดีขึ้นจึงกลับบ้านไป แต่หลังจากนั้นจะมีอาการเหนื่อยง่าย หอบ หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอกอยู่บ่อยๆ จึง consult คุณหมอด้านหัวใจ ขณะทำ Exercise Stress Test หลังจากหยุดวิ่งสายพานกำลังลงมานั่งพักปรากฏว่า collapsed ไป Heart rate drop เหลือเพียง 40-50 ครั้งต่อนาที หมดสติไปประมาณ 10 วินาที หนูจำผล EKG  ไม่ได้ว่าเป็นอะไร ทราบแต่ว่า abnornal
      เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้ทำ CAG ไป พบว่าเป็น Coronary Bridging  แต่ไม่ทราบว่าเป็นระดับไหนค่ะ และไม่ได้ขอผลกลับมาด้วย คุณหมอบอกแต่เพียงว่า ทำผ่าตัดคงไม่คุ้ม ให้ค่อยๆปรับพฤติกรรม ดูแลตัวเอง
      ตอนนี้เขารู้สึกท้อแท้ สับสน คิดว่าตัวเองเป็นคนล้มเหลว อยากที่จะกลับมาออกกำลังกายได้เหมือนเดิม อยากแข็งแรงกว่านี้ 
     หนูมีข้อสงสัยที่อยากจะขอความกรุณาคุณหมอให้ช่วยแนะนำ ชี้แนะด้วยค่ะ
การผ่าตัดจะสามารถทำได้ในกรณีไหนบ้างคะ มีความเสี่ยงในการทำมากน้อยแค่ไหนคะ
ไม่ทราบว่าคนที่มีภาวะนี้ ควรจะปฏิบัติตัว ดูแลตัวเองยังไงคะ เพื่อที่จะให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ คือเท่าที่หนูเข้าใจ myocardial bridging อาจส่งผลทำให้เกิด MI ได้ ซึ่งในคนที่มีภาวะ MI ที่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุนี้ สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงโดยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกาย ลดความเครียด ลด cholesterol ฯลฯ แต่สำหรับเพื่อนหนูคนนี้สาเหตุที่จะเกิด MI ในขณะนี้ หนูเข้าใจว่าไม่น่าจะเกิดจากปัจจัยต่างๆนี้  เพราะว่ามันเป็นเพราะหลอดเลือดถูกเบียดโดยกล้ามเนื้อไม่ใช่จากการอุดตันของหลอดเลือด (ไม่ทราบว่าหนูเข้าใจถูกหรือผิด) หนูเลยสับสนว่าแล้วสำหรับกรณีนี้จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรนอกเหนือจากการดูแลตัวเองในเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายจะช่วยได้มั้ยคะ แล้วถ้าควรออกกำลังกายควรเป็นแบบไหนคะ เพราะตอนนี้เขาบอกว่าแค่เดินก้อเหนื่อยแล้ว  
จากเดิมที่เป็นคนแข็งแรงดี ทำไมจู่ๆถึงเพิ่งจะมาแสดงอาการ และพอเป็นแล้วก็เป็นทุกวัน การใช้ชีวิตประจำวันก้อต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ความเครียดและวิตกกังวลเป็นปัจจัยด้วยรึเปล่าคะ ตอนนี้สภาพจิตใจของเขาย่ำแย่มากเลยค่ะ
ไม่ทราบว่า Health Camp เป็นกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุอย่างเดียวรึเปล่าคะ หรือว่าคนวัยไหนก็เข้าร่วมได้ มีโปรแกรมสำหรับคนที่ป่วยลักษณะนี้มั้ยคะ ถ้าเป็นไปได้หนูอยากพาเพื่อนคนนี้ไปพักที่ Health Cottage และอยากเข้าร่วม  Health Mentorship Programด้วยค่ะ 
…………………………………..

4 มีค. 57 (ตอบครั้งที่ 1) https://mail.google.com/mail/u/0/images/cleardot.gif
     คุณช่วยส่งผลการตรวจอย่างละเอียดมาให้ดูหน่อยสิครับ หมายความว่าภาพผลการสวนหัวใจ (CAG) ที่อัดไว้เป็นแผ่นซีดี.นะ เพราะผมอ่านจม.ของคุณจนจบแล้วผมยังไม่รู้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไร
สันต์ ใจยอดศิลป์
………………………………….
4 มีค. 57
เรียนคุณหมอสันต์ 
เพื่อนสนิทหนูคนนี้ arrest ไปเมื่อคืนนี้เองค่ะ ตอนนี้ยังอยู่ใน ICU อาการหนักมาก ถ้าปาฏิหาริย์มีจริงถ้าเขาอาการดีขึ้น หนูจะขอCDแล้วจะส่งมาให้อาจารย์ช่วยดูนะคะ
Sent from Samsung Mobile
……………………………………………………..
5 มีค. 57
เค้าไปสบายแล้วค่ะ หนูคงไม่มีโอกาสได้พาเค้ามาเข้า camp แล้วค่ะ ขอบพระคุณคุณหมอมากนะคะที่กรุณาตอบอีเมลล์อย่างรวดเร็ว 
…………………………………………………

6 มีค. 57 (ตอบครั้งที่สอง)
“เฮ้ย.. อะไรกัน ไปกันง่ายๆเงี้ยนะ” 
….อามิตตาพุทธ
แต่มาตั้งสติคิดอีกที  ชีวิตคนมันก็มีเรื่องแบบนี้ได้บ่อยๆเหมือนกัน คืออยู่ดีๆความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยคาดหมายก็มาเกิดขึ้นได้ ช่างมันเถอะ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็แล้ว เพราะสัจจะธรรมก็คือว่าเราซึ่งแม้จะเป็นเจ้าของชีวิต แต่ถ้าอะไรมันจะเกิดกับชีวิตเรา มันก็ต้องเกิดแม้ว่าเราจะยื้อยุดอย่างไรมันก็ยื้อไม่อยู่
คุณไม่ต้องส่งข้อมูลเพิ่มเติมและ CAG มาแล้วหละ เพราะผมวิเคราะห์ไปก็ไลฟ์บอย รังแต่จะไปก่อความขุ่นข้องหมองใจกับอดีตที่ผ่านไปแล้วเสียเปล่า 
อย่างไรก็ตามผมสัญญาว่าจะหาเวลาเขียนเรื่อง myocardial bridging ให้คนข้างหลังได้ศึกษาและนำไปใช้ประโยชน์
สำหรับตัวคุณ ขอให้ภาคภูมิใจกับความพยายามที่ได้ทำไปเพื่อเขาอย่างเต็มที่แล้ว
God knows, you have been tried!
สันต์ ใจยอดศิลป์
……………………………………………
6 มีค. 57 (ตอบครั้งที่ 3)

          อ่านจดหมายฉบับสุดท้ายของคุณแล้ว เพลงนี้ก็ดังขึ้นในหัวใจอย่างอัตโนมัติ
          “..โอ้ว่า อนิจจา ความรัก
เพิ่งประจักษ์ ดังสาย น้ำไหล
มีแต่ จะเชี่ยว เป็นเกลียวไป
ไหนเลย จะไหล กลับมา

          โอ้ว่า อนิจจา ใจพี่
กว่าจะรู้ ถ้วนถี่ นั้นหนา
เหลือเพียง ภาพฝัน ในวิญญา
เสน่หา วูบลับ ดับไป…”
          เนื้อเพลงไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องในวันนี้หรอกครับ มันป๊อกขึ้นในหัว ก็เลยถ่ายทอดออกมา เท่านั้นเอง
     ที่จั่วหัวให้อ่านข้างบนทั้งหมดนั้น เป็นไตเติ้ลที่มาของหนังเรื่องใหม่ในวันนี้ครับ คือเรื่อง “หลอดเลือดหัวใจมุดอยู่ในกล้ามเนื้อ” หรือที่ภาษาหมอเรียกว่า myocardial bridging
          เป็นธรรมชาติธรรมดาของหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery) ว่ามันจะวิ่งอยู่บนผิวนอกของกล้ามเนื้อหัวใจให้มองเห็นเหน่งๆ เพื่อที่หมอผ่าตัดซึ่งเป็นลูกสมุนที่พระเจ้าส่งมาจะทำงานได้ง่ายขึ้น อย่างแย่ที่หมอผ่าตัดหัวใจจะเจอก็แค่มีไขมันมาหุ้มรอบหลอดเลือดมากจนคุ้ยหาตัวหลอดเลือดไม่เจอ แต่อย่างแย่ที่สุดก็คือหลอดเลือดมุดลงไปในกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งก็คือที่เรียกว่า bridging เนี่ยแหละ เป็นอะไรที่วัดกึ๋นของหมอผ่าตัดหัวใจอย่างแท้จริงว่าเขาจะมีปัญญาหาหลอดเลือดเจอหรือเปล่า เพราะหากไปขุดๆคุ้ยผิดๆถูกๆมีดผ่าตัดอาจทะลุกล้ามเนื้อหัวใจลงไปถึงห้องหัวใจ กลายเป็นหนังโศกอีกเรื่องหนึ่งขึ้นมาแทน


เขียนถึงตอนนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ ประมาณปี ค.ศ. 1989 (ช่วงชีวิตที่อยู่เมืองนอกต้องขอใช้ ค.ศ. แทนพ.ศ. นะ เพราะสมองมันคำนวณ พ.ศ. ไม่ถืก) ผมเพิ่งไปทำงานเมืองนอก ฟังภาษาอังกฤษยังไม่ออก ผมทำงานในตำแหน่ง junior registrar ซึ่งแปลว่า “ลูกทาส” มีหน้าที่หมุนเวียนเปลี่ยนตัวรับใช้หมอผ่าตัดหัวใจและช่วยเขาผ่าตัด ช่วงเวลานั้นผมหมุนเวียนไปรับใช้หมอผ่าตัดชื่อเรียกย่อๆกันว่า DH เขาเป็นคนพูดน้อยต่อยหนัก นานๆจะคุยโม้โอ้อวดเสียทีหนึ่ง ซึ่งผิดวิสัยของหมอผ่าตัดหัวใจทั่วไปที่จะคุยโม้โอ้อวดก่อน จะต่อยไม่ต่อยค่อยว่ากันทีหลัง คำคุยโม้ของ DH จึงมีความขลังมากกว่าของคนอื่น ไม่มีใครกล้าปรามาสคำคุยของเขา เมื่อเขาโม้เรื่องอะไร พยาบาลต้องเอาไปขยายความต่อได้อีกสามวันเจ็ดวัน

วันนั้นเรากำลังทำผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจ (บายพาส) ของคนไข้รายหนึ่ง ปรากฏว่าหลอดเลือดที่เราจะต้องต่อดันมุดหายลงไปในกล้ามเนื้อหัวใจเป็นระยะทางยาวมาก ไปโผล่อีกทีก็เกือบถึงปลายสุดที่ไกลเกินกว่าจะเอาหลอดเลือดไปต่อได้แล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องขุดหา ซึ่งไม่น่าจะทำได้เพราะลักษณะที่มุดยาวแสดงว่าหลอดเลือดต้องมุดลึก อาจจะลึกเกินกว่าที่ควรจะขุดก็ได้ แต่สมัยโน้นเทคโนโลยีที่จะทำ MRI เพื่อดูเส้นทางที่หลอดเลือดมุดกล้ามเนื้อยังไม่มี ต้องขุดลูกเดียว ผมเห็น DH ขี่ม้าเลียบค่ายแบบกลัวๆกล้าๆอยู่นาน ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจขุดลงไปกลางหัวใจตรงตำแหน่งที่ไม่มีร่อยรอยอะไรเลยว่าจะมีหลอดเลือดอยู่ข้างใต้นั้น เขาคอนเซนเตรทมากจนเหงื่อออกที่หน้าผาก นิ่งมากผิดสังเกต คร่ำเคร่งกรีดมีดลงไปทีละครึ่งมิล ขุดลงไปได้ประมาณห้าหกมิลก็พบว่าหลอดเลือดอยู่ตรงนั้นจริงๆเหมือนมีตาทิพย์มองเห็นล่วงหน้า เขาถอนหายใจ เงยหน้าขึ้นมองเพดานอย่างผู้ชนะ แล้วถามผมว่า
“คุณประทับใจไหม?”
Are you impressed?”
ผมซึ่งเป็นกระเหรี่ยงหน้าใหม่ฟังภาษาอังกฤษไม่ออก เข้าใจว่าเขาถามว่าผมเครียดไหม เพื่อจะเอาใจเขาว่าผมอยู่กับหมอใหญ่ขนาดเขาแล้วผมจะไปปอดไปเครียดได้อย่างไร ผมจึงตอบไปว่า
..No”
DH ระเบิดเสียงหัวเราะแก้ขวยและเรียกหาพระเจ้าเสียงดังลั่น .. “Oh..God” พวกหมอดมยา พยาบาลช่วยผ่าตัด และนักสรีรวิทยาที่คุมเครื่องปอดหัวใจเทียมอยู่ก็ร้องฮือฮาออกมาพร้อมกันราวกับนัดกันไว้ นี่จะต้องเป็นเรื่องคุยกันในห้องกาแฟไปอีกนาน ว่าคำคุยอันศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เคยมีใครกล้าลูบคมของ DH ได้ถูกหมอลูกทาสคนใหม่สบประมาทเอาตรงๆแบบไม่ให้ราคาเลยแม้แต่นิดเดียว
ฮะ…ฮะ…ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น
กลับมาพูดถึงเรื่องของเราต่อดีกว่า อันธรรมดาเรื่องหลอดเลือดมุดกล้ามเนื้อนี้ไม่ใช่ของแปลก การผ่าศพคนทั่วไปพบว่ามี bridging ถึง 25% หมอหัวใจเองก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องซีเรียส บางคนยังไม่เชื่อด้วยซ้ำไปว่ามันจะก่อปัญหาอะไร เพราะในจังหวะกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว (systole) ซึ่งมีผลให้หลอดเลือดที่มุดอยู่ในกล้ามเนื้อถูกบีบแบนไปด้วยนั้น ไม่ใช่จังหวะส่งเลือดเข้าหัวใจ เพราะหลอดเลือดโคโรนารี่หรือหลอดเลือดมงกุฏนี้เขามีวิธีทำงานต่างจากหลอดเลือดกระจอกๆอื่นๆตรงที่มันส่งเลือดเข้าหัวใจในจังหวะกล้ามเนื้อหัวใจคลายตัว (diastole) หมอหัวใจหลายคนจึงไม่เชื่อว่า bridging เป็นปัญหาทางการแพทย์ ในความเป็นจริงส่วนใหญ่มันก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะรายงานอัตรารอดชีวิตใน 5 ปีของคนเป็น bridging เท่าที่มีรายงานไว้อยู่ที่  85 – 98% ซึ่งก็เรียกว่าดีเกือบเท่าคนปกติ แต่ว่าส่วนน้อยมันเป็นปัญหา ผมจำได้ว่าไม่กี่ปีมานี้หมอหัวใจคนหนึ่งได้เคยรายงานคนไข้ของเขาที่ตายกะทันหันและเมื่อผ่าศพแล้วพบมี bridging หรือหลอดเลือดมุดกล้ามเนื้อนี้ร่วมกับมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย เขาเขียนไว้ในวารสาร Circulation โดยเขาได้แสดงหลักฐานประกอบไว้อย่างละเอียด ดังนั้นถามผมว่าภาวะหลอดเลือดมุดกล้ามเนื้อเป็นสาเหตุการตายกะทันหันได้ไหม ผมตอบว่า “ได้” แต่ว่าโอกาสจะเกิดเช่นนั้นมีไม่บ่อยนัก เพราะมีคนรายงานไว้น้อยมาก

 สิ่งที่สำคัญกว่าการตายเพราะ bridging คือการตายเพราะเหตุอื่นที่ชอบมาเป็นกับคนที่มี bridging อยู่แล้ว อย่างเช่นในกรณีเพื่อนของคุณนี้ คุณเล่าว่าพอหมอให้วิ่งสายพาน วิ่งเสร็จแล้วนั่งพักได้สักครู่ เขาก็หน้ามืดเป็นลมหมดสติ คุณเล่าว่าตอนนั้นอัตราการเต้นของหัวใจลดลงเหลือ 40- 50 ครั้งต่อนาที ข้อมูลแค่นี้ถ้าจะให้ผมวินิจฉัยผมก็จะวินิจฉัยว่าเขาป่วยเป็นโรค “การนำไฟฟ้าจากห้องบนสู่ห้องล่างขาดหายเพราะการออกกำลังกาย” หรือ exercise induced paroxysmal atrioventricular block ซึ่งเป็นสาเหตุการตายกระทันหันที่พบบ่อยในของคนหนุ่มที่แข็งแรง

อีกปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยในการตายกะทันหันของคนหนุ่มสาวคือโรคกล้ามเนื้อหนาตัว (hypertrophic cardiomyopathy – HCM) ซึ่งมักพบร่วมกับ bridging ในกรณีของเพื่อนคุณนี้คุณไม่ได้เล่าถึงผลการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียง (echo) มาด้วย ผมจึงไม่ทราบว่าได้วินิจฉัยแยกภาวะ HCM ออกไปได้แล้วหรือยัง
ในแง่ของการรักษาด้วยยา ยากั้นเบต้าช่วยลดอาการได้ดี และควรใช้ แต่คนมักเข้าใจผิดว่าเมื่อเจ็บหน้าอกควรอมยาขยายหลอดเลือด (nitrate) ซึ่งหากทำเช่นนั้นในคนที่เป็น bridging อยู่อาการกลับจะแย่ลงหรือเผลอๆตายไปเลย ยาขยายหลอดเลือดจึงเป็นของต้องห้าม (contraindicated) ในคนที่เจ็บหน้าอกจาก bridging กลไกเรื่องนี้ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง หมอทั่วไปอาจคิดไม่ถึง กล่าวคือเมื่อได้ยาขยายหลอดเลือดความตึงของผนังหลอดเลือด (coronary wall tension) จะอ่อนยวบลง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบรัดหลอดเลือดให้แฟบลงกว่าเดิม นอกจากนี้การไปลดความดันในหลอดเลือดลงฮวบฮาบจะไปกระตุ้นกลไกเพิ่มความดันเลือดของร่างกายผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ  (sympathetic reflex) ซึ่งจะสั่งการให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวแรงขึ้น ทำให้เส้นเลือดถูกบีบแฟบหนักเข้าไปอีก

    งานวิจัยทดลองเอาขดลวดเข้าไปค้ำ พบว่าบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกได้ดีขึ้น แม้ว่าจะมีอัตราต้องกลับมาทำซ้ำสูงกว่ากรณีหลอดเลือดที่ไม่ได้มุดลงกล้ามเนื้อก็ตาม ปัจจุบันนี้ยังถือว่าการทำบอลลูนเอาลวดเข้าไปค้ำถือว่าเป็นวิธีรักษาที่เลือกได้วิธีหนึ่ง

ถามว่าเมื่อไรควรจะให้คนที่เป็น myocardial bridging ไปทำผ่าตัด ตอบว่าเมื่อใดที่มีเหตุการณ์แบบว่ายมพบาลบ้องหูไปหนึ่งเพี้ยะแล้วฟลุ้คกลับฟื้นขึ้นมาได้ เมื่อนั้นต้องผ่าตัด เพราะโดยสถิติ ครั้งที่สองยมพยาบาลมักจะไม่บ้องหู แต่จะอุ้มเลย (พูดเล่นนะครับ หมอบ้าที่ไหนจะมีสถิติเกี่ยวกับยมพบาล)ความเป็นจริงคือตามหลักวิชาแพทย์กรณีที่เกิดขึ้นกับเพื่อนคุณครั้งแรกที่วิ่งสายพานแล้วเป็นลมพับไปสิบนาที เป็นกรณีที่เรียกว่า aborted sudden death ซึ่งผมขอแปลว่า “กรณีโดนยมพบาลบ้องหู” ทางการแพทย์ถือเป็นข้อบ่งชี้ว่ากรณีอย่างนี้หากมีหลักฐานว่ามี bridging อยู่ก็ต้องทำผ่าตัดแก้ไข

ถามว่าเป็น myocardial bridging แล้วจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการปรับโภชนาการ การออกกำลังกาย จะได้ไหม ทำแล้วมันจะดีขึ้นไหม แยกตอบเป็นสามประเด็นนะ

ประเด็นแรก การปรับโภชนาการ ตอบว่าทำได้ และควรทำ

ประเด็นที่สอง การออกกำลังกาย คำตอบนี้ใช้ได้กับโรคหัวใจทุกแบบทุกชนิดเลยนะครับท่านผู้อ่าน ว่าในกรณีที่เป็นโรคหัวใจและมีอาการถึงระดับยมพบาลบ้องหูไปหนึ่งครั้งแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องไปหาหมอเพื่อสืบค้นหาข้อมูลสาเหตุให้แจ่มแจ้งถึงกึ๋นก่อนว่ายมพบาลบ้องหูเพราะอะไร แล้วต้องแก้เหตุนั้นก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นสาเหตุเกี่ยวกับความผิดปกติของการควบคุมจังหวะการเต้นหรือของเส้นทางเดินไฟฟ้าในหัวใจ หรือการหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อแก้สาเหตุแล้ว จึงจะมาวางแผนเรื่องการออกกำลังกาย หากถูกบ้องหูไปหนึ่งรอบ แล้วยังทู่ซี้ออกกำลังกายหนักๆโดยไม่ทราบสาเหตุและไม่แก้ไขสาเหตุก่อน..คราวต่อไปมีหวังถูกอุ้มแน่

 ประเด็นที่สาม ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแล้วมันจะดีขึ้นไหม ตอบว่า ในคนเป็น myocardial bridging ที่มีอาการเจ็บหน้าอก การจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือดในส่วนของอาหารและออกกำลังกาย จะไม่ช่วยให้โรคดีขึ้น เพราะมันคนละโรค คนละเรื่อง แต่ในส่วนของการจัดการความเครียด ผมเดาเอาว่าอาจจะช่วยก็ได้นะ เดานะ เพราะกลไกการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจมันขึ้นกับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งขึ้นกับความเครียดอีกต่อหนึ่ง เท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบ เดาเอา เพราะยังไม่เคยมีงานวิจัยการบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกคนเป็น bridging  ด้วยการจัดการความเครียด


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ปล. พูดถึงเรื่องจะมาเข้าคอร์สที่ Health Cottage ผมกำลังจะเปิด Health Camp เพื่อสอนคนเป็นโรคหัวใจโดยเฉพาะประมาณครึ่งหลังของปีนี้เปิดได้แน่ ตอนนี้กำลังรอการมาของเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอยู่ (ซื้อจากอเมริกา เพราะมันถูกดี) ต้องมีเครื่องนี้ก่อน จึงจะเปิดคอร์สได้ คือแค่เตรียมพร้อมในเชิงความปลอดภัยเท่านั้นเอง ไม่ได้กลัวว่าจะมีอะไรหรอก แล้วถึงมีจริง ในมือหมอสันต์แล้วก็น่าจะ..เอาอยู่น่า 

บรรณานุกรม
  1. Morales AR, Romanelli R, Boucek RJ. The mural left anterior descending coronary artery, strenuous exercise and sudden death. Circulation 1980; 62:230.
  2. Ishikawa Y, Akasaka Y, Suzuki K, et al. Anatomic properties of myocardial bridge predisposing to myocardial infarction. Circulation 2009; 120:376.
  3. Kramer JR, Kitazume H, Proudfit WL, Sones FM Jr. Clinical significance of isolated coronary bridges: benign and frequent condition involving the left anterior descending artery. Am Heart J 1982; 103:283.
  4. Sorajja P, Ommen SR, Nishimura RA, et al. Myocardial bridging in adult patients with hypertrophic cardiomyopathy. J Am Coll Cardiol 2003; 42:889.
  5. den Dulk K, Brugada P, Braat S, et al. Myocardial bridging as a cause of paroxysmal atrioventricular block. J Am Coll Cardiol 1983; 1:965.
  6. Alegria JR, Herrmann J, Holmes DR Jr, et al. Myocardial bridging. Eur Heart J 2005; 26:1159.
  7. Klues HG, Schwarz ER, vom Dahl J, et al. Disturbed intracoronary hemodynamics in myocardial bridging: early normalization by intracoronary stent placement. Circulation 1997; 96:2905.
  8. Prendergast BD, Kerr F, Starkey IR. Normalisation of abnormal coronary fractional flow reserve associated with myocardial bridging using an intracoronary stent. Heart 2000; 83:705.