Latest

อายุ 72 ปี กินยา 17 อย่าง

ผมอายุ 72 ปี ทำธุรกิจสำรวจเหมือง ในการทำงานต้องเดินเท้าในป่าบ้าง ตามชนบทบ้าง ทั้งวัน ออกพื้นที่มากกว่าสองสัปดาห์ในหนึ่งเดือน เวลาอยู่ในกรุงเทพผมเดินเท้าตลอดไม่เคยใช้รถเมลหรือรถส่วนตัว ผมตรวจสุขภาพประจำปีที่รพ. … เป็นประจำ ไขมันในเลือดของผมดีจนหมอไม่เชื่อ ต่อมาธุรกิจของผมมีปัญหากัน พูดง่ายๆว่าหุ้นส่วนนิสัยไม่ดีเบี้ยว ครั้งหนึ่งเมื่อพบหน้ากันในศาลผมมีอาการกลัวจนสั่นเทิ้ม หมอจิตแพทย์ได้ให้การรักษาด้วยยา Lexapro และ Xanax ในช่วงเวลานั้นผมมีความดันเลือดสูงด้วย (148/96)  จึงได้ยา Concor 2.5 mg วันละเม็ด มีไขมันในเลือดสูงด้วย จึงได้ยา Lipitor 10 mg วันละเม็ดควบกับยา Hidil 300 mg วันละเม็ด ในช่วงไล่เลี่ยกันนั้นผมมีอาการปวดท้องท้องเสียทรมานมาก หมอได้ให้การรักษาด้วยยา Colofac 135 mg วันละเม็ด + Pariet วันละเม็ด + Antacil ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละสามครั้ง ต่อมาผมมีอาการปวดหัวไหล่ เคลื่อนไหวหัวไหล่ลำบาก ไปหาหมอกระดูก ได้ยา Pyroxicam อาการปวดมีมากจนนอนไม่หลับ บวกกับมีอาการมือสั่น ชาปลายมือเหมือนเป็นเหน็บ ผมได้ไปรักษากับหมอประสาทวิทยา ซึ่งได้ให้ยา Lylica 75 mg วันละเม็ด  คุณพ่อคุณแม่ผมเป็นเบาหวานด้วยทั้งคู่ ผมได้สรุปยาที่กินและผลการตรวจมาให้คุณหมอสันต์ช่วยดูข้างท้ายนี้ด้วย

ผมอยากปรึกษาคุณหมอสันต์ว่าทุกครั้งที่ผมไปหาหมอสาขาใหม่ ก็ได้ยามาเพิ่ม โดยยาที่หมอสาขาเก่าเคยให้ก็ไม่เคยได้ลดลง และทุกหมอก็นัดผมไปหาสม่ำเสมอ ซึ่งผมก็ไปเพราะถือว่าตัวเองเป็นคนไข้ที่ดีก็ต้องทำตามหมอนัดและแนะนำ แต่ผมรู้สึกว่าสุขภาพของผมไม่ดีขึ้น  แล้วยาก็มากเหลือเกิน มากเกินที่ผมจะกินได้หมด ได้พยายามเอายาไปให้หมอทุกคนดู ทุกครั้งไปก็เอายาขึ้นกองบนโต๊ะแต่หมอแต่ละท่านก็ดูผ่านๆแล้วก็สั่งยาของท่านไปโดยไม่ได้สนใจยาที่ผมกินอยู่เลย โรงพยาบาลที่ผมรักษาเป็นเอกชน มีระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่พร้อม แต่ผมไม่แน่ใจว่าหมอเขาดูข้อมูลที่หมอคนอื่นลงไว้หรือไม่ ผมเข้าใจว่าหมอแต่ละท่านก็ไม่ได้คุยกันเรื่องยาที่ผมได้ด้วย ทุกท่านก็บอกว่ายาของหมออื่นก็ทานไป แต่ถ้าอยากให้หายจากปัญหาใหม่นี้ก็ต้องทานยาของหมอด้วย ผมอยากถามคุณหมอสันต์ว่าแล้วการเจ็บป่วยของผมจะไปจบที่ไหน กว่าผมจะตายผมคงต้องหาอีกหลายหมอ ยาของผมจะไม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนมากกว่าข้าวในแต่ละมื้อหรือครับ ผมควรจะทำอย่างไรดี
สรุปยาที่กินอยู่ตอนนี้
1. Propranolol (Betalol) 40 mg 3 times/day
2. Pregabalin (lyrica) 75 mg once daily
3. Mebeverine (Colofac)135 mg once daily
4. Rabeprazole (Pariet) 1 tab daily
5. Antacil susp 1-2 tbsp, 2 times daily
6. Bisoprolol (Concor) 2.5 mg once daily
7. atorvastatin (Lipitor) 10 mg once daily
8. gemfibrosil (Hidil) 300 mg once daily
9. Gabapentine (Rontin) 300 mg once daily
10. Baby Aspirin 80 mg once daily
11. Bioflor (lactobacillus)
12. glucosamine (Flaxa)
13. Flupenthixol (Deanxit)
14. Sertraline (Zoloft) antidepressant
15. Alprozolam (Xanax) 0.5 mg 3 times daily
16. pyroxicam
17. Tramadol (Ultracet)

ผลการตรวจครั้งสุดท้ายเมื่อ กพ. 57
LabName
ResultLab
PastLab
Normal
CPK::
106
113
[ 38 – 174]
Glucose::
126
128
[ 70 – 99]
Creatinine::
1.17
1.12
[< 1.17 ]
eGFR::
65.50
69.09
[> 90]
Uric Acid::
6.8
6.0
[ 3.4 – 7]
Cholesterol::
176
192
[< 200]
Triglyceride::
103
105
[< 150]
HDL-C::
71.8
84.4
[> 40]
LDL-Cholesterol (Direct)::
102
102
[< 100]
SGOT::
24
25
[< 40]
SGPT::
25
21
[< 41]
Alk.Phos::
15
17
[ 40 – 130]
HbA1C%::
5.7
5.8
[ 4.8 – 5.9 ]

………………………………………

ตอบครับ

คุณลุงครับ (หิ..หิ เรียกลุงได้นะ เพราะแก่กว่าผมสิบกว่าปี) ก่อนที่คุณลุงจะเข้าใจชีวิตผิดไปมากกว่านี้ ผมขอดึงคุณลุงกลับมาสู่ความเป็นจริงในชีวิตก่อนนะครับ ว่าเราอยู่ในความดูแลของการแพทย์แบบแยกระบบอวัยวะ หมายความว่าหมอแต่ละสาขา ก็ชำนาญกันคนละระบบอวัยวะ สัจจะธรรมของระบบนี้มันเป็นดังนี้ครับ

1. หมอสาขาหนึ่ง มักไม่รู้จักยาของหมออีกสาขาหนึ่ง ดังนั้นคุณลุงเอายาของหมอสาขาหนึ่งไปกองต่อหน้าหมออีกสาขาหนึ่ง เขาไม่ดูหรอกครับ เพราะดูไปเขาก็ไม่รู้จัก ถึงจะรู้จักก็รู้ผิวเผินไม่ลึกซึ้งจึงตัดสินอะไรแทนหมออีกสาขาหนึ่งไม่ได้ ดังนั้นหมอแต่ละคนจึงนิยมถือหลักไม่ยุ่งกับยาของหมอคนอื่น

2. ธรรมชาติของหมอ จะไม่ก้าวก่ายการรักษาของคนอื่น เพราะลำพังเรื่องของตัวเองยังจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว ที่จะให้ไปสอดส่องเรื่องของคนอื่นนั้นไม่ใช่วิสัยหมอ ทั้งหลักจริยธรรมแพทย์ก็เข้มงวดว่าแพทย์จะต้องไม่พูดจาใส่ร้ายทับถมกัน ทำให้หมอทุกคนพยายามจำกัดเขตตัวเองไม่ไปยุ่งกับวิธีทำมาหากินของเพื่อนแพทย์ด้วยกัน

3.  การคุยกันระหว่างหมอด้วยกันแบบสื่อสารกันไปมาในเรื่องของคนไข้ ในชีวิตจริงไม่มี เพราะหมอไม่มีเวลาคุยกัน ถึงมีเวลาคุยก็คุยกันไม่รู้เรื่องอยู่ดี เพราะชำนาญกันคนละสาขา  ก็จะปากแข็งคอแข็งที่จะพูดถึงเรื่องที่ตัวเองชำนาญเท่านั้น โดยไม่ฟังเรื่องของคนอื่นเพราะฟังไปก็ไม่รู้เรื่อง ถ้าเป็นโรงพยาบาลใหญ่อาจมีที่เดียวที่จะได้คุยกันแบบแลกเปลี่ยนในเรื่องของคนไข้ก็คือในห้องประชุมคอนเฟอเร้นซ์ (conference) ซึ่งเรื่องที่จะยกไปคุยกันที่นั่นก็มักจะเป็นเรื่องของคนไข้ที่ตายไปแล้วหรือไม่ก็กำลังเป็นคดีความกันอยู่ เรื่องของคนไข้ที่ยังดีๆอยู่หมอเขาไม่มีเวลาเอามาคุยกันหรอกครับ ได้แต่เตะลูกผ่านไปให้กันเป็นทอดๆ เรียกว่าเป็นการ “ส่งปรึกษา” คือไปแล้วให้ไปลับ เป็นแบบนี้ทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะแต่ในเมืองไทย

4. ระบบการแพทย์ในบางประเทศเช่นอังกฤษ แคนาดา นิวซีแลนด์ บังคับให้คนไข้ทุกคนต้องมีหมอประจำครอบครัว (family physician) ไว้คอยกลั่นกรองเรื่องราวและประสานงานกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา แต่เมืองไทยเป็นระบบอเมริกันคือ ไม่มีหมอประจำครอบครัว ความจริงก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน แต่คนไข้ก็ไม่รู้จัก นึกว่าเป็นหมอที่ชำนาญทางการวางแผนครอบครัวไปเสียฉิบ

ทุกระบบมีข้อดีข้อเสีย ข้อเสียของระบบอเมริกันก็อย่างที่คุณลุงเจอนี่แหละครับ คือพอยิ่งมากหมอ ก็ยิ่งมากยา รักษาไปรักษามาคนไข้บางคนมียาเป็นปี๊บ จึงใช้วิธีกินบ้างไม่กินบ้างตามใจฉัน ซึ่งอาจเป็นวิธีดีที่สุดก็ได้ เพราะถ้าขยันกินหมดเกลี้ยงตามที่ทุกหมอสั่งแบบที่คุณลุงทำตอนนี้ ก็จะไปเจอทางตันแบบคุณลุงเนี่ยแหละ คือ ยามันมากขึ้นๆจนมากกว่าข้าว แล้วจะกินต่อไปไงไหว พูดง่ายๆว่าประชาชนคนไทยทุกคนต้องทำตัวเป็นหมอประจำครอบครัว (family physician) ของตัวเองแล้วละ ต้องค่อยๆกลั่นกรองว่ายาหรือวิธีรักษาที่แพทย์เฉพาะทางแต่ละท่านให้มานั้น จะเลือกรับอะไร จะไม่รับอะไร นั่นหมายความว่าในฐานะคนไข้ นอกจากจะรู้ว่าเราเป็นโรคอะไรบ้างแล้ว เราต้องรู้จักยาทุกตัวว่ายาแต่ละตัวชื่ออะไร หมอให้มาทำไม เป็นยารักษาสมุหฐานของโรค หรือเป็นยาบรรเทาอาการ ยานั้นมันมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง และมันตีกับยาอื่นหรือเปล่า ข้อมูลเหล่านี้สมัยนี้หาได้ง่ายๆจากฉลากในกล่องยา หรือไม่ก็จากอินเตอร์เน็ท

เอาละ หลังจากได้ปูพื้นเรื่องระบบการแพทย์ของไทยมาพอเป็นไอเดียแล้ว คราวนี้มาตอบคำถามของคุณลุง

     1.. ก่อนอื่นการจะแก้ปัญหา เราต้องมาสรุปก่อนว่าคุณลุงมีปัญหาอะไรบ้าง แล้วเราค่อยไล่เลียงแก้ไปทีละปัญหา ผมสรุปเอาจากข้อมูลที่ส่งมาว่าคุณลุงมีปัญหาอยู่ 6 เรื่องดังนี้
1.1 เป็นโรคความดันเลือดสูง
1.2 เป็นโรคประสาทชนิดกลัวเกินเหตุ (panic disorder)
1.3 ไขมันในเลือดสูง
1.4 อยู่ในระยะใกล้จะเป็นเบาหวาน
1.5 มีอาการปลายประสาทอักเสบ (neuritis) โดยไม่ทราบสาเหตุ (อาจเกิดจากยาลดความดัน)
1.6 มีอาการปวดกล้ามเนื้อและเอ็นเรื้อรัง โดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด (อาจเกิดจากยาลดไขมัน)
1.7 มีอาการปวดท้องเรื้อรังโดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดเช่นกัน (อาจเกิดจากยาลดความดัน)

      2. เอาเรื่องความดันเลือดสูงก่อน  เนื่องจากตอนเริ่มต้นรักษาความดันนั้นคุณลุงมีความดัน  148/96 มม. หากจะถือเอาตามมาตรฐานการรักษาความดันเลือดสูง (AHA/ACC Guidelines 2013)ฉบับใหม่นี้  หากความดันยังไม่เกิน 150 / 100 ในคนไข้ทั่วไปยังไม่ต้องรีบใช้ยา ดังนั้นผมแนะนำว่าคุณลุงค่อยๆหยุดยาลดความดันก่อนเป็นอย่างแรก ซึ่งมีอยู่สองตัวคือ Propranolol (Betalol) และ Bisoprolol (Concor)  อันที่จริงยาทั้งสองตัวนี้เป็นยาในหมวดเดียวกัน ผมเข้าใจว่าคุณลุงได้มาจากหมอคนละคนเพราะหมอคนเดียวกันคงไม่มีใครจ่ายยาหมวดเดียวกันสองตัวแน่นอน วิธีลดก็คือคุณลุงค่อยๆเลิก Bisoprolol (Concor) ก่อน คือเริ่มจากลดแหลือวันเว้นวัน สักสองสัปดาห์ แล้ววัดความดันดู หากความดันตัวบนไม่เกิน 150 มม.ก็เลิกยาไปเลย อีกสองสัปดาห์แล้ววัดความดันอีก หากความดันไม่เกิน 150 ก็ลด Propanolol (Betalol) ลงครึ่งหนึ่งอีกสองสัปดาห์ แล้ววัดความดันอีก ถ้าความดันไม่เกิน 150 ก็เลิก Propanolol ไปเสียด้วย เป็นอันจบเรื่องความดันไปหนึ่งเรื่อง

     3. แล้วก็หันมาเอาเรื่องการลดไขมันในเลือดในเลือด คุณลุงไม่ได้ส่งรายงานผลตรวจเลือดก่อนใช้ยาลดไขมันมาให้ แต่ดูจากผลเลือดหลังการใช้ยาแล้วผมมั่นใจว่าระดับก่อนการใช้ยาไม่ได้สูงมาก แล้วคุณลุงยังไม่ได้ทำสิ่งแรกที่พึงทำในเรื่องการลดไขมันในเลือดเลย นั่นคือการปรับอาหารไปเป็นอาหารที่มีพืชเป็นหลักและมีแคลอรี่ต่ำ ควบกับการออกกำลังกายให้ถึงระดับมาตรฐาน ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ผมเคยเขียนไปแล้วบ่อยมากให้หาอ่านเอาในบล็อกนี้ได้ ผมแนะนำให้คุณลุงหยุดยาลดไขมันทั้งสองตัวคือ atorvastatin (Lipitor) และ Gemfibrosil (Hidil) หยุดแบบหยุดปึ๊ดเลย ความจริงการเอายาสองตัวมาให้ควบกันแบบนี้มีอันตรายมากเพราะมีโอกาสเกิดกล้ามเนื้ออักเสบและกล้ามเนื้อสลายตัวได้สูง เมื่อหยุดยาแล้วก็ไม่ต้องรีบไปยุ่งกับการเจาะเลือดดูไขมัน แต่ให้ไปตั้งใจปรับอาหารและการออกกำลังกายนานอย่างน้อย 3 เดือนแล้วจึงจะค่อยไปเจาะเลือดดูระดับไขมันใหม่

     4. ในระหว่างที่หยุดยาลดความดันและยาลดไขมันไปแล้วนี้ ให้สังเกตอาการที่อาจเกิดจากฤทธิ์ข้างเคียงของยาสองกลุ่มนี้ ทั้งอาการปวดท้องเรื้อรัง อาการปลายประสาทอักเสบ (เหน็บชาปลายนิ้ว) อาการปวดกล้ามเนื้อและเอ็น หากอาการเหล่านี้เกิดจากยา หลังจากหยุดยาแล้วอาการเหล่านี้จะหายไป อาการบางอย่างเช่นปวดกล้ามเนื้อหัวไหล่ หากเกิดจากท่าร่างในการทำงาน (เช่นใช้คอมพิวเตอร์ทั้งวัน) เมื่อเริ่มออกกำลังกายอาการจะดีขึ้นเอง เมื่ออาการปลายประสาทอักเสบหายไปก็หยุดยา Pregabalin (lyrica) และ Gabapentine (Rontin)  โดยลดขนาดเหลือวันเว้นวันนานสัก 2 สัปดาห์แล้วจึงหยุดหมด เมื่อาการปวดท้องเรื้อรังหายไปก็หยุดยา Mebeverine (Colofac), Rabeprazole (Pariet), Antacil แบบหยุดปึ๊ด ยกกระบิทีเดียวเลย เมื่ออาการปวดเอ็นหัวไหล่ดีขึ้นก็หยุดยา Pyroxicam ได้ ยา Tramadol (Ultracet) ซึ่งเป็นยาแก้ปวดครอบจักรวาลก็หยุดได้เลยเช่นกัน  Bioflor (lactobacillus) นั้นไม่ใช่ยา แต่เป็นบักเตรีช่วยย่อยในลำไส้ หากไม่มีอาการปวดท้องเรื้อรังก็หยุดได้ทันที  glucosamine (Flaxa) นั้นก็ไม่ใช่ยา หรือจะเรียกว่าเป็นยาผีบอกก็ได้ คือกินหรือไม่กินงานวิจัยบอกว่ามีผลรักษาอาการปวดข้อไม่ต่างกัน ดังนั้นคุณหยุดได้ทันทีเช่นกัน  

     5. มาถึงโรคประสาทชนิดกลัวเกินเหตุ ยา Flupenthixol (Deanxit) และ Sertraline (Zoloft) นั้นเป็นยากลุ่มเดียวกันคือยาต้านซึมเศร้า ผมเข้าใจว่าจ่ายมาจากหมอสองคนคนละที คุณกินตัวใดตัวหนึ่งเพียงตัวเดียวก็พอ 

     มาถึงตอนนี้ก็จะเหลือยาเพียงสามตัว คือนอกจากยาต้านซึมเศร้าที่เหลือไว้หนึ่งตัวแล้ว ก็จะเหลือยา Alprozolam (Xanax) ซึ่งในกรณีของคุณเป็นยารักษาโรคกังวลเกินเหตุ คุณควรจะกินไปพลางก่อน และยา  Baby Aspirin ที่ใช้ป้องกันการจับกลุ่มของเกล็ดเลือดเป็นการลดโอกาสเกิดอัมพาตอัมพฤกษ์หรือหัวใจวาย  ซึ่งในกรณีของคุณจะกินไม่กินก็ได้ตามความสมัครใจ

     คู่ขนานไปกับแผนการลดยานี้ นอกจากการปรับโภชนาการ การออกกำลังกายแล้ว ผมแนะนำให้คุณไปฝึกทำกิจกรรมตัดวงจรความเครียดวิธีใดวิธีหนึ่งจากสามวิธีคือ (1) 
     (1) ทำสมาธิตามดูลมหายใจเข้าออก หรือ 
     (2) รำมวยจีน (Tai Chi) หรือ 
     (3) โยคะ 

     โดยทำทุกวัน วันละอย่างน้อย 15-20 นาที เพื่อให้ดุลระหว่างจิตใจและร่างกายดีขึ้น งานวิจัยบอกว่าทำแบบนี้แล้วอาการซึมเศร้าและกลัวเกินเหตุอาจหายไปจนหยุดยาได้ ถึงตอนนั้นยาของคุณก็จะเหลือแต่ Baby Aspirin ตัวเดียว ซึ่งไม่ใช่ยาสำคัญระดับคอขาดบาดตายอะไร หากคุณเกลียดยามากถึงตอนนั้นคุณจะไม่กินยาเลยสักตัวก็ยังได้ครับ

    
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์