Latest

เรื่องมีแม่ที่ชอบสร้างหนี้สิน กับเรื่องลิงซี.อี.โอ.

เรียน คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ 

    ผมชื่อ…ครับ เป็นวิศวกรทำงานโรงงานแถวสระบุรี มีเรื่องรบกวนคุณหมอดังนี้ครับ
1. ปัญหาด้านสุขภาพจิต เนื่องจากทางบ้านผมไม่รวย ต้องสู้ชีวิตมาพอสมควร แต่ปัญหาที่มีคือแม่ผมยังชอบสร้างหนี้สิน และสร้างมานานตั้งแต่ผมเด็ก ปัจจุบันผมต้องคอยใช้หนี้แก้ปัญหาหนี้สิน ทำให้ผมทั้งเครียดเรื่องของแม่ และเครียดเรื่องที่ผมเคยทำผิดมา ผมเคยคุยกับแม่ให้บอกหนี้ทั้งหมด แต่แม่ก็บอกไม่หมด “ไม่ทราบผมจะใช้วิธีไหนดีในการคุยกับแม่ และวิธีไหนดีที่ผมจะไม่คิดถึงเรื่องเก่าๆ หรือระแวงเรื่องในอนาคต”
2. ปัญหาในข้อ 1. ทำให้ผมคิดว่าเหล้าเป็นทางออก ผมดื่มเหล้า จนร่างกายย่ำแย่มาก รวมทั้งอุบัติเหตุอีกหลายๆครั้ง ปัจจุบันตับอ่อนผมอักเสบครับ ไม่ทราบจะทานอาหารเสริมสำหรับตับอ่อนยังงัยดีครับ และหาได้ที่ไหน
ขอบพระคุณมากครับ

……………………………………
ตอบครับ

     เห็นจดหมายของคุณซึ่งเป็นวิศวกร ทำให้ผมนึกถึงครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ประมาณ พ.ศ. 2535 สมัยนั้นเป็นสมัย “โชติช่วงชัชวาล” กล่าวคือพลเอกเปรมซึ่งเป็นนายกสมัยนั้นได้ประกาศแจ้งให้ประชาชนทราบว่ามีการค้นพบแก้สในอ่าวไทย และรัฐบาลได้ตัดสินใจเดินหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งจะทำให้ประเทศเกิดอาการโชติช่วงชัชวาล..ประมาณนั้น เหตุที่ผมไปยุ่งกับความโชติช่วงชัชวาลของป๋าเปรมก็คือว่าในยุคนั้นได้มีฝรั่งเข้ามาสร้างระบบการกลั่นน้ำมันและสร้างกลุ่มโรงงานผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดขึ้นที่ระยอง พวกฝรั่งที่มามีทั้งเชลล์ ทั้งคาลเท็กซ์ เมื่อจะก่อสร้างโรงกลั่นขนาดมหึมามีคนงานก่อสร้างหลายหมื่นคนเป็นเวลานานถึงสี่ปี ก็ต้องมีปัญหาการดูแลสุขภาพคนงานเหล่านั้น ฝรั่งจึงมองหาหมอที่พูดกับฝรั่งรู้เรื่องเพื่อให้ไปช่วยสร้างระบบดูแลคนงานเหล่านั้นขณะก่อสร้าง แล้วก็ส่งหน้าม้ามาทาบทามผม ผมซี่งมีความโลภอยากได้เงินอยู่แล้วก็ตกลงไปทำงานนี้ให้เขา
     ที่เกริ่นเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะนึกถึงเพื่อนร่วมงานสมัยนั้นซึ่งเป็นวิศวกรชาวอาฟริกันผิวขาวคนหนึ่งชื่อ คริส อีวาน เขารับผิดชอบด้านความปลอดภัย (safety) ในการทำงาน คำว่า safety นี้หมายถึงปลอดภัยจากการบาดเจ็บหัวร้างข้างแตกนะ ไม่ใช่หมายถึงปลอดภัยจากขโมย ขะโจร ความปลอดภัยอย่างหลังนี้ฝรั่งเรียกว่า security ซึ่งส่วนนี้มีฝรั่งอีกคนหนึ่งเป็นทหารผ่านศึกเวียดนามมาจัดการแยกออกไปต่างหาก
     มิชชั่นของ คริส อีวาน ก็คือนายสั่งว่าการทำงานทั้งหมดซึ่งจะกินเวลาและแรงงานรวมถึง 16 ล้านชั่วโมง-คนนี้ จะต้องจบลงโดยไม่มีการบาดเจ็บถึงขั้นต้องหยุดงานเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ใช่ว่าฝรั่งใจดีมีเมตตาต่อขี้ข้าคนไทยดอกนะ แต่เป็นเพราะฝรั่งก๊วนนี้เขาต้องการเครดิตว่าเขาสามารถสร้างโรงกลั่นด้วยระบบการทำงานที่ปลอดภัยต่อคนงานซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเจ้าของประเทศ เขาจะเอาเครดิตนี้ไปหางานสร้างนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จีนและที่รัสเซียเป็นขั้นตอนต่อไป 
     
      คริสเมื่อรับจ๊อบมาแล้วก็ทำงานอย่างแข็งขันและเฉียบขาด เห็นคนงานพักสูบบุหรี่ปุ๋ยอยู่ข้างถังน้ำมันเขาจะเดินตรงรี่เข้าไปหาแล้วกระชากบัตรประจำตัวออกจากหน้าอกจนเสื้อฉีกเสียงดังแคว่กแล้ววิทยุเรียกรปภ.มาเอาตัวคนงานคนนั้นออกนอกประตู่ไซท์งานไป และอย่าว่าแต่คนงานคนนั้นจะไม่ได้หวนกลับมาที่ไซท์นี้อีกเลย ขนาดห่อข้าวและของใช้ส่วนตัวยังไม่ทันได้เก็บกลับด้วยซ้ำไป คนงานทุกคนใส่ใจสวมหมวก สวมรองเท้าบู้ท สวมแว่น ยิ่งกว่าความใส่ใจสวม กกน. ของตัวเองเสียอีก ในไซท์งานที่คริสดูแลอยู่ซึ่งกว้างใหญ่ไพศาลนับพันไร่ทุกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย แม้แต่เศษไม้ค้ำยันซึ่งปกติเราจะเห็นกองระเกะระกะตามที่ก่อสร้างทั่วไป แต่ที่นี่จะกองเป็นแถวเป็นแนวได้เหลี่ยมได้มุมเรียบร้อย กองเป็นระเบียบยังไม่พอนะ ยังต้องตัดหัวท้ายของท่อนไม้ให้เรียบเสมอกันอีกด้วย ผมเคยแซวโฟร์แมนที่เป็นคนไข้ของผมคนหนึ่งว่าโอ้โฮ เอากันสวยงานขนาดนั้นเชียวหรือพี่ เขาเหลียวซ้ายแลขวาแล้วตะโกนตอบว่า
            “..ไม่ได้หรอกครับหมอ เดี๋ยวไอ้คริสมันเอาตาย”
การทำงานร่วมกับคริส ทำให้ผมได้เรียนรู้และจำขั้นตอนของหลักวิศวกรรมความปลอดภัยได้ ซึ่งมีหลักง่ายๆอยู่ว่า  (1) ค้นหาความเสี่ยงให้พบ (2) พบแล้วให้ป้องกันไม่ให้มันเกิดอีก (3) ถ้าป้องกันไม่ได้ให้หลีกเลี่ยงมัน (4) ถ้าหลีกไม่ได้ก็ให้หาทางลดความเสี่ยงลง (5) ถ้าลดไม่ได้ก็หาทางกักกันมันไว้ (เช่นสร้างผนังกันเสียง) (6) ถ้ากักกันไม่ได้ก็ให้ใช้เครื่องป้องกันส่วนบุคคล (PPE – personal protection equipment เช่นที่ครอบหู แว่นนิรภัย ถุงมือ หมวกกันน็อก)

วงการแพทย์เองก็รับเอาหลักวิศวกรรมนี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการความเครียดมานานแล้ว คือแนะนำคนไข้ว่าถ้าเครียดมากก็ต้องมองหาว่าอะไรเป็นสาเหตุ แล้วไปมุ่งแก้ที่สาเหตุนั้น ซึ่งสาเหตุทั้งหมดเรามักพบว่าอยู่นอกตัวเรา เช่นแม่ติดพนัน ลูกติดยา สามีติดผู้หญิงอื่น เจ้านายโกตั๊ก ฯลฯ แต่หลักการที่ได้ผลดีในทางวิศวกรรมนี้ เมื่อเอามาใช้ทางการแพทย์แล้วผลกลับปรากฏว่ามันไม่เวอร์ค..

แป่ว.ว…ว

ถามว่าติ๊ต่างว่าเรามีอำนาจดลบันดาลจัดการสาเหตุนอกตัวเราเหล่านั้นได้หมดเกลี้ยงจริง ความเครียดเราจะลดลงไหม ตอบว่าลดลงสิครับ หลักฐานที่ผมใช้ตอบคำถามนี้ได้มาจากการวิจัยของโรเบิร์ต ซาโปลสกี้ (Robert Maurice Sapolsky) ซึ่งสอนอยู่ที่สะแตนฟอร์ด เขาติดตามวิจัยฝูงลิงบาบูนที่เคนยาอยู่นานสามสิบกว่าปี ดูพฤติกรรมของลิงแต่ละตัว และเจาะเลือดดูคอร์ติซอลและสารเคมีบอกความเครียดอื่นๆเป็นระยะๆ เขาพบว่าเจ้าลิงที่มีอำนาจบาตรใหญ่ระดับคิดอยากจะบ้องหูลิงตัวไหนเมื่อไหร่ก็ทำได้ดังใจ ซึ่งเขาขนานนามให้ว่าลิงซี.อี.โอ.นั้น มีระดับความเครียดต่ำที่สุด ขณะที่ลิงยิ่งกระจอกก็ยิ่งมีระดับความเครียดสูงและเป็นโรคเกี่ยวกับความเครียดเช่นโรคหลอดเลือดตีบมากที่สุด

“..ปัญหาอยู่ที่ในการเกิดมาเป็นคนๆหนึ่งนี้ เราไม่ได้มีอำนาจบาตรใหญ่ถึงขนาดจะดลบันดาลให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงตัวเขาเองให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการได้อย่างลิงซี.อี.โอ.นะสิคะท่านสารวัตร..”

หลักวิชาแพทย์ในเรื่องการจัดการความเครียดจึงมาชนทางตัน ไม่สามารถจะช่วยอะไรคนไข้ได้มากนัก ได้แต่จ่ายยาโซลอฟท์ต้านซึมเศร้าบ้าง จ่ายยาซาแนกซ์คลายกังวลบ้าง ซึ่งพูดก็พูดเถอะ มันไม่ได้ผลนักหรอก อย่างยาต้านซึมเศร้างี้ กินน้ำมันปลาซะยังจะดีกว่าอีก

(พูดจริ๊ง งานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบพบว่าน้ำมันปลาป้องกันการกลับเป็นของโรคซึมเศร้าได้ดีกว่ายาต้านซึมเศร้าและดีกว่ายาหลอก)

แต่หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีมาถึงปัจจุบันนี้ หากตั้งใจปะติดปะต่อกันให้ดี ก็พอจะชี้เบาะแสไปถึงทางออกจากหลุมดำแห่งความเครียดนี้ได้

เพราะความเครียดก็คือปฏิกิริยาการสนองตอบ (response) ของร่างกายต่อสิ่งกระตุ้น (stimuli) ที่ปกติมาจากภายนอก แต่สมัยนี้ต้องนับรวมสิ่งกระตุ้นที่มาจากภายในด้วย คือจินตนาการเป็นตุเป็นตะที่ใจเรากุขึ้นเอง ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เราต้องสนองตอบแบบเครียดๆได้เหมือนกัน แถมเป็นเช่นนั้นบ่อยๆเสียด้วย

เปรียบได้กับจิตรกรยอดฝีมือคนหนึ่ง เขาบรรจงวาดภาพพอทเทรตของอาชญากรจอมโหดขึ้นมา เขาสามารถตวัดเส้นให้ใบหน้านั้นเยือกเย็น ขณะเดียวกันก็แต้มดวงตาให้แฝงประกายอำมหิตจนตัวเองมองตาคู่นั้นแล้วต้องเผลอหลบ มองอีกก็ต้องหลบอีก มองไปมองมาก็เกิดความกลัวขึ้นว่า ฮู้ว์ เจ้าโจรร้ายนี้น่ากลัวเหลือเกิน ผมกลัวมันเหลือเกิน มันจะมาฆ่าผม แล้วก็หนีหัวซุกหัวซุนไปขออาศัยนอนบ้านเพื่อน เพื่อนๆได้ยินข่าวก็รุมด่าว่า
“..เอ็งมันบ้า ก็นั้นมันเป็นภาพที่เอ็งวาดขึ้นมา มันไม่ใช่คนจริงๆ มันจะมาฆ่าเอ็งได้อย่างไร”
แต่อย่าเอาแต่ว่าจิตรกรคนนั้นมันบ้านะ เราเองกำลังจินตนาการถึงเรื่องบ้าๆที่ไม่มีอยู่จริงรึเปล่า ถ้าเราไม่ระวังตัวเราก็จะเผลอบ้าแบบเจ้าจิตรกรคนนั้นด้วย 

กลับมาเข้าเรื่องของเราดีกว่า เมื่อรู้ว่าความเครียดคือการสนองตอบ (response) เราก็ปรับยุทธศาสตร์ขยายแผนจัดการความเสี่ยงเชิงวิศกรรมของเราออกมาอีกชั้นหนึ่ง คือ เมื่อค้นหาความเสี่ยงพบแล้วแต่ป้องกันไม่ให้มันเกิดอีกก็ไม่ได้ จะหลีกเลี่ยงก็ไม่พ้น จะลดความเสี่ยงนั้นก็ไม่สำเร็จ จะกักขังความเสี่ยงนั้นไว้ก็ไม่ได้เพราะเป็นแม่ของเราเองเราจะไปกักขังอย่างไร จะถอยมาใช้เครื่องป้องกันส่วนบุคคลเช่นที่ครอบหูก็ไม่เวอร์คเพราะเสียงด่าของแม่มันเข้ามาติดอยู่ในใจเรียบร้อยแล้ว ยุทธศาสตร์ของผมก็คือถอยมาอีกชั้นหนึ่ง มาตั้งรับที่การสนองตอบต่อสิ่งเร้าของใจเรา ไม่ต้องไปสนใจที่จะแก้ไขคุณแม่ของคุณ มาสนใจการสนองตอบต่อสิ่งเร้าของใจคุณดีกว่า ปล่อยคุณแม่ให้อยู่แบบของท่านไป ท่องคาถาอินเดียโบราณที่ว่า
“..ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ 
ไม้ท่อนหนึ่ง ลอยมากระทบกับไม้อีกท่อนหนึ่ง 
แล้วลอยจากกันไปฉันใด 
การมาพบกันของผู้เกิดมาก็ฉันนั้น”
คือในส่วนของคุณแม่ให้คุณปลงเสียก่อนว่าเราแม่ลูกเกิดมาใช้ชีวิตร่วมกันได้ไม่นานหรอก อีกหน่อยก็จะตายจากกันไปแล้ว อย่าไปอะไรกับท่านมากเลย หันมาโฟกัสที่การปรับวิธีที่ใจของคุณสนองตอบต่อสิ่งเร้าภายนอกดีกว่า

เรื่องนี้ลึกซึ้งนะคุณ คุณเป็นวิศวกรระดับไหนละ ถ้าคุณเป็นระดับวันๆได้ยินแต่เสียงตีเหล็กตีขางและเทปูนโครมคราม คุณอาจจะไม่เข้าใจเรื่องที่ผมจะพูด แต่ถ้าคุณฝึกเซ้นส์ของคุณเสียใหม่จนได้ยินเสียงขนนกหล่นกระทบบีมเหล็กโครงหลังคาเมื่อไหร่ละก็ เมื่อนั้นคุณจะเข้าใจสิ่งที่ผมจะพูด

คือผมมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าด้วยความเร็วของการทำงานของระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสนองตอบเฉียบพลันแบบอัตโนมัติ (reflex) ซึ่งทำงานเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ เป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครคนไหนเก่งถึงขั้นดักรับรู้สิ่งกระตุ้นที่เข้ามาได้ทันก่อนที่จะเกิดการสนองตอบออกไป หมายความว่ากว่าจิตสำนึกของเราจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร การสนองตอบก็มักจะเกิดขึ้นเรียบร้อยไปแล้วเสมอ

ยิ่งไปกว่านั้นเรารู้จากการทดลองว่าการสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบเครียดๆนั้น บ่อยครั้งเป็นการสนองตอบที่จิตสำนึก (consciousness) ของเราไม่ได้รับรู้เลย แต่ความเครียดได้เกิดขึ้นแล้ว และการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอันเป็นผลจากความเครียดนั้นก็เกิดขึ้นแล้ว เช่นหัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้น หายใจไม่อิ่ม ความดันเลือดสูงขึ้น เป็นต้น

ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่เรา หมายถึงจิตสำนึก จะรู้ว่าเราเครียดหรือเปล่า ก็คือการคอยตรวจสอบกับเซ้นส์ของเรา (ตา หู จมูก ลิ้น สัมผัสที่ผิวหนัง) ว่า ณ ขณะนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ กำลังมีอะไรเกิดขึ้นบนร่างกายของเราหรือเปล่า เช่นว่า ปวดตรงไหน คันตรงไหน นั่นเสียงอะไร นั่นกลิ่นอะไร นั่นใจมันกำลังคิดอะไรอยู่ เลือกเซ้นส์เอาแต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่นี่ เดี๋ยวนี้ หรือเมื่อตะกี้นี้เท่านั้นนะ นี่เรียกว่าเป็นยุทธวิธี come back to our senses หรือยุทธวิธี recall ถ้าสำรวจเซ้นส์แล้วไปพบอะไรเข้าคาหนังคาเขา ก็ไม่ต้องกระต๊ากโวยวาย แค่ให้จิตสำนึกเฝ้าสังเกตการณ์อยู่เฉยจนตัวกระตุ้นตัวนั้นฝ่อหายไป ทำอย่างนี้ไปทุกวันทุกชั่วโมงทุกนาทีที่ตื่นอยู่และที่นึกขึ้นได้ นี่เรียกว่าเป็นยุทธวิธี awareness  ทั้งสองยุทธวิธีนี้ก็คือการฝึกสติ หรือ mindfulness นั่นเอง ถ้าทำเองแล้วไม่เห็นมันก้าวหน้าไปไหนสักทีก็ลองไปเข้าเรียนวิธีฝึกสติตามวัดวาหรือสำนักปฏิบัติธรรมดูก็ได้ ตัวผมเองก็มีแผนจะเปิดสอนเทคนิค MBSR หนึ่งครั้งที่ Health Cottage ช่วง 27-28 กย. ปีนี้ หากคุณสนใจก็มาเรียนได้

ถามว่าฝึกสติไปแล้วจะช่วยแก้ปัญหาชีวิตของคุณได้จริงหรือ ตอบว่าหลักฐานวิทยาศาสตร์ปัจจุบันนี้มีมากพอที่จะสรุปได้ว่าโรคหรืออาการที่การแพทย์แผนปัจจุบันนี้รักษาไม่หายจำนวนมาก สามารถทำให้หายไปได้ด้วยการฝึกสติ ข้อมูลนี้ส่วนหนึ่งได้มาจากการวิจัยที่คลินิกฝึกสติลดความเครียด (MBSR Clinic) ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแมสซาจูเซท สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคลินิกที่ใหญ่ที่สุดที่รักษาคนไข้ด้วยวิธีนี้และทำวิจัยไว้มากที่สุด มีคนไข้ที่เป็นโรคหรือมีอาการที่รักษาไม่หายถูกส่งต่อมาจากแพทย์แทบทุกสาขาทุกสาระทิศ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้คลินิก MBSR มีอยู่เกือบทุกรัฐในอเมริกา และผลวิจัยเรื่องประสิทธิผลของการใช้สติรักษาโรคก็ได้ผลชัดเจนแน่นอนจนถือเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับสูงได้แล้ว
          
     ถามว่ากลไกที่สติไปลดความเครียดนั้น มันทำได้อย่างไร ตอบว่าในเชิงวิทยาศาสตร์ยังไม่มีใครตอบตรงนี้ได้หรอกครับ ทราบแต่ว่าหากขโมยวิธีฝึกสติของพระพุทธเจ้ามาสอนให้คนไข้ทำแล้ว คนไข้จะหายจากอาการและโรคของเขาได้ ทราบแค่นี้ก็น่าจะพอแล้วน่า ลงมือเถอะ อย่าไปพยายามรู้มากกว่านี้เลย
     …เพราะผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1.    Grossman, P; Niemann, L; Schmidt, S; Walach, H. “Mindfulness-based stress reduction and health benefits: A meta-analysis”. Focus on Alternative and Complementary Therapies2010; 8 (4): 500. doi:10.1111/j.2042-7166.2003.tb04008.x.
2.     Ospina MB, Bond K, Karkhaneh M, et al. “Meditation practices for health: state of the research”. Evid Rep Technol Assess (Full Rep). 2007; (155): 1–263.PMID 17764203.
3.     Khoury, Bassam; Lecomte, Tania; Fortin, Guillaume; Masse, Marjolaine; Therien, Phillip; Bouchard, Vanessa; Chapleau, Marie-Andrée; Paquin, Karine; Hofmann, Stefan G. “Mindfulness-based therapy: A comprehensive meta-analysis”. Clinical Psychology Review 2013;33 (6): 763–71.doi:10.1016/j.cpr.2013.05.005PMID 23796855.
4.    Bohlmeijer, Ernst; Prenger, Rilana; Taal, Erik; Cuijpers, Pim “The effects of mindfulness-based stress reduction therapy on mental health of adults with a chronic medical disease: A meta-analysis”. Journal of Psychosomatic Research 2010;68 (6): 539–44.doi:10.1016/j.jpsychores.2009.10.005.PMID 20488270.
5.    Zgierska A, Rabago D, Chawla N, Kushner K, Koehler R, Marlatt A. “Mindfulness meditation for substance use disorders: a systematic review”Subst Abus(Systematic review) 2009;30 (4): 266–94.doi:10.1080/08897070903250019PMC 2800788.PMID 19904664.

6.     Lauche R, Cramer H, Dobos G, Langhorst J, Schmidt S . “A systematic review and meta-analysis of mindfulness-based stress reduction for the fibromyalgia syndrome”. J Psychosom Res (Systematic review) 2009; 75 (6): 500–10. doi:10.1016/j.jpsychores.2013.10.010.PMID 24290038.