Latest

Primary Amenorrhea ขออนุญาตมีเซ็กซ์

   ผมเพิ่งกลับมาจากแค้มป์ปฏิบัติธรรมรูดซิปปากสองสัปดาห์ ถ้าเป็นทำทีวีก็ต้องเรียกว่าเป็นการกลับมาเริ่มซีซั่นใหม่ ผมขอเริ่มต้นตอบจดหมายในซีซั่นใหม่นี้ด้วยจดหมายของพลเมืองชั้นสองของบล็อก คือบรรดาวัยรุ่น ซึ่งผมทิ้งจดหมายของพวกเขาไปแยะมากจนรู้สึกเกรงใจ วันนี้จึงขอหยิบขึ้นมาตอบสักหนึ่งฉบับนะครับ

สันต์
………………………………………
สวัสดีคะคุณหมอ

     พอดีนั่งอ่านการตอบจดหมายของคุณหมอมาสักพัก วันนี้มีข้อข้องใจอยากถามนิดหน่อยคะคือตอนนี้หนูอายุ 19 จะ 20 เดือน ธันวานี้คะและยังไม่มีประจำเดือน…หนูเคยไปหาหมอเมื่อตอนอายุประมาณ 16-17คะ คุณหมอจ่ายยาคล้ายๆยาคุม แต่เป็นยาเร่งฮอโมนคะ ช่วงทานแผงแรกจนหมดมีประจำเดือนมาตามที่คุณหมอกาไว้ในปฎิทินเลยคะ คือหมอบอกว่าถ้ามาแล้วพอหยุดยาก็น่าจะมาปกติเหมือนเดิมคือพอดีว่าต้องมาเรียนต่างประเทศอ่ะคะ ช่วงที่กินยาก็อยู่ต่างประเทศนะคะ ที่นี้ตอนนี้อ่ะคุณหมอหนูไม่มีประจำเดือนมาเกือบ 2 ปีละคะ คือบางทีมันเหมือนมีเป็นเลือดนิดๆเปื้อนแต่จริงๆแล้วก็มีอาการเจ็บหน้าอกเหมือนกันคะ ยังงี้ควรไปปรึกษาแพทย์อีกรอบใช่มั้ยคะ
     ส่วนอีกประเด็นคือถ้าต้องการมี sex จะเป็นอะไรมั้ยคะ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าจะท้องหรือไม่ท้องถ้าปกติแบบนี้ประจำเดือนหนูไม่มา? กังวลมากคะไม่กล้ามี sex สักที แฟนขอหลายรอบละคะ หนูขอมี sex ได้ไหมคะ
รบกวนคุณหมอนิดนึงนะคะ

ชอบคุณมากคะ

Sent from my iPhone.

……………………………………………………
ตอบครับ
ถามว่าขอมีเซ็กซ์ได้ไหม ฮี่..ฮี่ เพิ่งรู้นะเนี่ย ว่าหมอสันต์มีอำนาจอนุมัติการมีเซ็กซ์ได้ด้วย ช่างเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่ล้นฟ้าเสียจริง ขอโทษ เลิกพูดเล่นมาตอบคำถามคุณดีกว่า ถามว่าขอมีเซ็กซ์ได้ไหม ตอบว่าการมีเซ็กซ์เนี่ยภาษากฎหมายเขาเรียกว่ามันเป็น “สิทธิ์แต่เริ่ม” ดังนั้นถึงกฎหมายจะไม่ได้เขียนอนุญาตไว้ คุณก็มีสิทธิ์ทำได้ครับ ไม่ต้องขออนุมัติหมอสันต์หรอก
(แคว่ก แคว่ก แคว่ก ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)
เฮ้ย เลิกพูดเล่นเลอะเทอะ ตอบจริงๆเสียทีสิ โอเค. โอเค. ตอบว่าไหนๆก็อั้นมาจนถึงป่านนี้แล้ว ทำไมไม่อั้นต่อไปอีกสักไม่กี่วัน เพื่อไปให้หมอทางต่อมไร้ท่อสืบค้นสาเหตุของการไม่มีประจำเดือนด้วยการตรวจระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเสียก่อน เพราะหากคุณมีเซ็กซ์ คุณก็อาจจะต้องกินยาคุม แล้วยาคุมซึ่งเป็นฮอร์โมนก็จะไปรบกวนระดับฮอร์โมนจริงในร่างกายทำให้การตรวจสภาพฮอร์โมนของร่างกายหลังจากกินยาคุมแล้วสรุปสาเหตุอะไรไม่ได้ ในการสืบค้นสาแหตุของการไม่มีประจำเดือนทั้งๆที่อายุเกิน 18 ปีแล้ว (primary amenorrhea) หมอเขาต้องทำหลายอย่าง คือ
อย่างที่ 1. ก็ต้องดูว่าคุณมีมดลูกหรือเปล่า การที่คุณเคยกินยาคุมครบแผงแล้วมีเลือดออกมานั้น แสดงว่าคุณมีมดลูกแน่นอน เพราะเลือดที่ออกนั้นคือ withdrawal bleeding จากเยื่อบุโพรงมดลูก จากการที่ระดับฮอร์โมนในยาคุมปลายแผงลดระดับลง การมีเลือดออกหลังกินยาคุม แปลว่ามีมดลูกซึ่งแปลว่าดีแล้ว อ้าวทำเป็นเล่นไป อย่าไปคิดว่าการมีหรือไม่มีมดลูกไม่สำคัญนะ นี่ผมจะเล่าเรื่องจริงให้ฟัง
ย้อนหลังไปประมาณเกือบสี่สิบปีมาแล้ว ผมมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนมัธยม เธอเป็นคนสวย เป็นดาวดวงเด่นของห้อง พอเรียนหนังสือจบ เธอไปเรียนป.ตรีที่ใช้เวลาสี่ปี ตอนเรียนเธอป่วยเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หมอต้องตัดมดลูกออก พอเธอจบไปทำงาน ผมยังเป็นนักเรียนโข่งอยู่ ยังเรียนแพทย์ไม่จบ ผมได้ข่าวว่าเธอไปมีแฟนเป็นอัยการหนุ่มรูปหล่อพ่อรวย เรียกว่าเป็นคู่กิ่งทองใบหยก พอผมจบแพทย์ ก็ได้ข่าวว่าเธออกหัก สมัยโน้นการอกหักถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่พบกันอีกครั้งหลังจากนั้นสองปี เธอหายโศกเศร้าแล้ว และกลับมาเป็นคนสวยที่มีแววตาขี้เล่นเหมือนเดิม ผมจึงถามด้วยนิสัยชอบ ส. ใส่เกือก ว่าเรื่องมันเป็นอย่างไร ทำไมรักที่หรูเริ่ดสะแมนแตนเป็นที่อิจฉาของเพื่อนๆจึงร้าวไปเสียได้ เธอตอบว่า     
            “..เขาไปหาคนอื่น ที่สาวกว่าฉัน สวยกว่าฉัน และ..มีมดลูก”
เห็นแมะ การไม่มีมดลูก ทำให้ ม.ค.ป.ด. ได้นะ

หมายเหตุ:สำหรับพลเมืองชั้นสองทิ่เกิดไม่ทัน ม.ค.ป.ด. เป็นแสลงสมัยผมเป็นวัยรุ่น ย่อมาจาก.. “หมาคาบไปแด๊กซ์”
ฮะ ฮะ ฮ่า แคว่ก แคว่ก แคว่ก ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น
กลับเข้าเรื่องดีกว่า ว่าแต่เรากำลังคุยเรื่องอะไรกันอยู่นะ อ้อ.. การสืบค้นเพื่อหาสาเหตุของการไม่มีประจำเดือนในคนอายุเกิน 18 ปี เราได้พูดถึงการพิสูจน์ก่อนว่ามีมดลูกไปแล้ว

อย่างที่ 2. คุณจะต้องได้รับการตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนออย่างละเอียด ซึ่งอย่างน้อยตัองครอบคลุมฮอร์โมนต่อไปนี้

2.1 ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) และฮอร์โมนไทรอยด์ (FT4)  เพื่อพิสูจน์วาคุณไม่ได้เป็นโรคไฮโปไทรอยด์ (hypothyroidism) อันเป็นสาเหตุทำให้ไม่มีประจำเดือนที่พบบ่อยมาก

2.2 ฮอร์โมนโปรแล็กติน (prolactin) ซึ่งมีฤทธิ์เดชระงับการตกไข่ทำให้ไม่มีประจำเดือนได้ ปกติคนในวัยคุณที่ไม่ได้คลอดบุตรและให้นมลูก ในร่ายกายจะมีฮอร์โมนตัวนี้ต่ำมาก หากเจาะเลือดแล้วพบว่าสูงก็ต้องสืบค้นต่อว่ามีเนื้องอกต่อมใต้สมอง (pituitary adenoma) ซึ่งมักผลิตฮอร์โมนตัวนี้หรือเปล่า ด้วยการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) เพื่อพิสูจน์

2.3 ฮอร์โมนกระตุ้นโพรงรังไข่ (FSH) และฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ (LH) ซึ่งในวัยของคุณมันควรจะสลับกันออกมาทำงานเป็นรอบๆในแต่ละเดือน ถ้ามันไม่ออกมา ก็ต้องตามไปดูว่ารังไข่ของคุณอยู่ดีสบายอยู่ไหม ทำไมไม่ปล่อยฮอร์โมน อย่างเช่นถ้าเป็นโรคมีถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (polycystic ovarian syndrome – PCOS) หรือมีเนื้องอกรังไข่ รังไข่ก็จะเสียการทำงานผลิตฮอร์โมนไม่ได้ก็ได้ การพิสูจน์ดูภาพของรังไข่วิธีง่ายที่สุดก็คือการตรวจท้องส่วนล่างด้วยอุลตร้าซาวด์ แต่คุณอย่าเพิ่งตกใจนะถ้าตรวจแล้วหมอบอกคุณว่าคุณไม่มีรังไข่ หรือไม่มีมดลูก เพราะคนไม่มีประจำเดือน บางครั้งถ้ามีฮอร์โมนเพศชายมาก ทั้งรังไข่และมดลูกมันจะเล็กเสียจนมองเห็นยากด้วยอุลตร้าซาวด์ ซึ่งในกรณีเช่นนั้นก็ต้องตามไปพิสูจน์กันด้วยการเจาะเลือดดูฮอร์โมนเพศชาย

2.4 ฮอร์โมนอีกชุดหนึ่งที่หมอบางคนก็ตรวจบางคนก็ไม่ตรวจ แต่ถ้าเป็นผมผมจะตรวจ คือฮอร์โมนกระตุ้นต่อมหมวกไต (ACTH) และฮอร์โมนเพศชาย (androgen) คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประจำเดือนไม่มีคือสมองผลิตฮอร์โมนกระตุ้นต่อมหมวกไตมากผิดปกติ ทำให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนเพศชายออกมามากเกินดุลกับฮอร์โมนเพศหญิง ถ้าพบว่า ACTH สูง ก็ต้องตามไปตรวจดู MRI ดูภาพของสมองและต่อมหมวกไต ว่ามีเนื้องอกอะไรทำให้เป็นเช่นนั้นหรือเปล่า ในกรณีที่ฮอร์โมนเพศชายสูง ก็ต้องตามไปตรวจเลือดดูขั้นละเอียดว่าฮอร์โมนที่สูงนั้นเป็นชนิดที่มาจากไหน มาจากต่อมหมวกไต หรือจากรังไข่

2.5 หมอบางท่าน (รวมทั้งผมด้วย) อาจให้ตรวจหาฮอร์โมนสะเตียรอยด์ (cortisol) เพราะคนที่มีฮอร์โมนตัวนี้สูงผิดปกติจะเป็นโรคที่เรียกว่า (Cushing syndrome) ซึ่งทำให้ไม่มีประจำเดือน ฮอร์โมนสะเตียรอยด์อาจได้จากกินเข้าไปในรูปของยา โดยเฉพาะยาสมุนไพรหรือยาลูกกลอน หรืออาจเกิดจากมีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไตที่ตั้งหน้าตั้งตาผลิตสะเตียรอยด์ ซึ่งพิสูจน์ได้โดยการตรวจระดับฮอร์โมนสะเตียรอยด์ในเลือด หรือในปัสสาวะที่เก็บตลอดวัน

2.6 นอกจากการตรวจทั้งหลายที่ว่ามาแล้ว หมอยังจะต้องตรวจพื้นฐานเพื่อให้มั่นใจว่าคุณไม่ได้เป็นโรคเรื้อรังอะไรที่มีผลให้ไม่มีประจำเดือน รวมทั้งโรคโลหิตจาง โรคขาดอาหาร (โดยเฉพาะการขาดอาหารจากความกลัวอ้วน) โรคติดเชื้อหรือมีการอักเสบเรื้อรังภายในร่างกายต่างๆ เป็นต้น และไม่ได้มีเงื่อนไขอื่นใดที่ทำให้ไม่มีประจำเดือน เช่นออกกำลังกายมากเกินเหตุ เครียดเรื้อรัง เป็นโรคจิตชนิดชอบกินแล้วอ๊วก (anorexia nervosa) เป็นต้น

ผลการตรวจทั้งหมดนี้ ถ้าพบสาเหตุที่รักษาได้ ก็จะนำไปสู่แผนการรักษา แต่ถ้าไม่พบสาเหตุอะไรเลย คุณก็ค่อยเดินหน้ามีเซ็กซ์..เอ๊ย ไม่ใช่ เดินหน้ากับชีวิตปกติต่อไปได้อย่างสบายใจ โดยยอมรับว่าร่างกายของคุณมันเป็นของมันอย่างนี้เอง
ประเด็นถ้าไม่มีประจำเดือนกับเขาเลยทั้งชาติ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามีเซ็กซ์แล้วตั้งครรภ์หรือไม่ ตั้งครรภ์เมื่อไหร่ ผมขอแยกตอบเป็นสองกรณีนะ

กรณีที่ 1.คือเมื่อตั้งใจจะมีบุตร การจะรู้ได้เร็วที่สุดก็คือการตรวจการตั้งครรภ์โดยใช้ที่ตรวจปัสสาวะซึ่งคุณซื้อหามาตุนไว้และตรวจเองได้ไม่ยาก หลังจากมีเซ็กซ์แล้วคุณต้องใจเย็นๆรอไปราว 11-21 วันหากนับวันที่มีเซ็กซ์เป็นวันที่ 0 แล้วจึงจะตรวจปัสสาวะได้ เพราะต้องเผื่อให้เวลาสะเปิร์มอ้อยอิ่งอยู่กว่าจะได้พบกับไข่ 0-2 วัน เมื่อพบกับไข่แล้ว เผื่อเวลาที่ไข่ต้องเดินทางไปฝังตัวที่มดลูกอีก 6-12 วัน เมื่อฝังตัวแล้วหลังจากนั้นอีก 3-4 จึงจะมีฮอร์โมนตั้งครรภ์ (HCG) ในเลือดถึงระดับจะตรวจพบได้ และหลังจากนั้นอีก 2-3 วันจึงจะตรวจฮอร์โมนในปัสสาวะพบ โหลงโจ้งแล้วสำหรับคนที่นับประจำเดือนไม่ได้เลย จากวันมีเพศสัมพันธ์ถึงวันตรวจการตั้งครรภ์โดยวิธีตรวจปัสสาวะจะยืนยันว่ามีการตั้งครรภ์ได้ใช้เวลา 11-21 วัน

กรณีที่ 2. คือกรณีไม่ต้องการมีบุตร ซึ่งเป็นกรณีหลักของคนวัยคุณ ตอบว่าการจะเฝ้าระวังการตั้งครรภ์ด้วยวิธีรอลุ้นว่าประจำเดือนมาหรือไม่มานั้นมันเป็นวิธีที่ช้าไปนะต๋อย วิธีนี้ใช้ไม่ได้แม้กับคนที่ประจำเดือนมาทุกเดือนตามปกติ เพราะ ณ วันที่ประจำเดือนหยุดมานั้น การตั้งครรภ์ได้เกิดขึ้นชาติหนึ่ง.. เอ๊ยไม่ใช่ นานหลายวันผ่านมาแล้ว เมื่อการตั้งครรภ์ได้เกิดขึ้นแล้ว คุณจะไปคุมอะไรทันละครับ วิธีที่ถูกต้องคือการคุมกำเนิดอย่างถูกวิธี ซึ่งมีประเด็นที่เด็กอายุสิบเก้ายี่สิบอย่างคุณต้องเรียนรู้หลายประเด็น แต่ผมมีเวลาสอนคุณประเด็นเดียว คือวิธีคุมกำเนิดแบบไหนให้ผลเชื่อถือได้กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่หนุ่มสาวไม่เข้าใจนึกว่าได้คุมแล้วก็เป็นอันแล้วกัน อันเป็นความเข้าใจไม่ถูกต้อง องค์การอาหารและยาสหรัฐฯได้ทำวิจัยและสรุปผลเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวิธีคุมกำเนิดแบบต่างๆ เป็น % ของโอกาสที่จะไม่ตั้งครรภ์ ดังนี้

วิธีที่ 1. ไม่มีเซ็กซ์เลย เป็นวิธีที่ชัวร์ป้าด ได้ผล 100% 

วิธีที่ 2. ตอน.. เอ๊ยไม่ใช่ ทำหมันหญิงซะ ทำแบบถาวรนะ ได้ผลมากกว่า 99%

วิธีที่ 3. จับแฟนตอน (ทำหมันชาย) ได้ผลมากกว่า 99% เช่นกัน

วิธีที่ 4. ใส่ห่วงคุมกำเนิด (IUD) คือให้แพทย์เอาขดพลาสติกใส่คาไว้ในมดลูก เอาออกได้เมื่อต้องการ วิธีนี้ได้ผล 99%


วิธีที่ 5. ฉีดแท่งฮอร์โมนคุมกำเนิดฝังใต้ผิวหนัง คือให้แพทย์ฉีดเข้าไปใต้ผิวหนังทีเดียวอยู่ได้ 3 ปี เรียกว่า Implantable rod ได้ผลมากกว่า 99% เช่นกั

วิธีที่ 6. . ฝังขดลวดทำหมันถาวรไว้ที่ปีกมดลูก (Sterilization implant) เป็นการฝ่าตัดโดยเอาเครื่องมือผ่านทางช่องคลอดเข้าไปทำ วิธีนี้ได้ผลมากกว่า 99% เช่นกัน

วิธีที่ 7. ยาฉีดคุมกำเนิด ฉีดทุกสามเดือน ได้ผลมากกว่า 99%

วิธีที่ 8. ยาเม็ดคุมกำเนิดกินทุกวัน ได้ผล 95% ขึ้นไป

วิธีที่ 9. แผ่นแปะผิวหนังคุมกำเนิด (The Patch) แปะไว้สามสัปดาห์แล้วเอาออกหนึ่งสัปดาห์ ได้ผล 95%

วิธีที่ 10. วงแหวนชุบฮอร์โมนใส่ในช่องคลอด  ใส่คาไว้สามสัปดาห์แล้วเอาออกหนึ่งสัปดาห์  (Vaginal contraceptive ring) ได้ผล 95%

วิธีที่ 11. ถุงยางอนามัยสำหรับชายได้ผล 84-89 % แต่มีข้อดีพิเศษที่ใช้ป้องกันเอดส์ได้ด้วย

วิธีที่ 12. แผ่นไดอาแฟรมครอบปากมดลูก ใช้ร่วมกับยาฆ่าอสุจิ ได้ผล 85% แต่ต้องระวังนะ ถ้าทิ้งคาไว้เกิน 24 ชม. จะเกิดช็อกจากพิษ (toxic shock syndrome)ได้

วิธีที่ 13. ยาคุมฉุกเฉิน เม็ดแรกกินภายใน 72 ชม.หลังมีเซ็กซ์ เม็ดที่สองกินหล้งเม็ดแรก 12 ชม. วิธีนี้ได้ผล 75-85% สมัยนี้มียาคุมฉุกเฉินอีกแบบชื่อ levonorgestrel กินที่เดียวสองเม็ด (1.5 กรัม) ภายใน 120 ชั่วโมงหรือห้าวันหลังมีเซ็กซ์ ก็มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน

วิธีที่ 14. ถุงยางอนามัยสำหรับหญิง ได้ผล 80% แถมป้องกันเอดส์ได้ไม่ดีเท่าถุงยางชายซะอีก

วิธีที่ 15. ฟองน้ำแช่น้ำยาฆ่าอสุจิ ได้ผล 68-84% แถมยังต้องระวัง ถ้าทิ้งคาไว้เกิน 30 ชม. จะเกิดช็อกจากพิษ (toxic shock syndrome) ได้

วิธีที่ 16. ครีมฆ่าอสุจิ ได้ผล 70% 

วิธีที่ 17. มีเซ็กซ์แบบปะฉะดะ ไม่ต้องไปคุมไปเคิมมันหรอก จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ผลเพียง 15% 

     ประเด็นสำคัญก็คือ คนหนุ่มสาว ชอบกันเหลือเกิ๊น..น กับวิธีกิน “ยาคุมฉุกเฉิน” หลังจากที่นิยายรักแบบฉุกละหุกจบลงไปแล้ว กินแล้วก็สบายใจว่าได้คุมกำเนิดแล้ว ทั้งๆที่มันเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเพียง 75% มีโอกาสล้มเหลวถึง 25% หรือหนึ่งในสี่ คุณเองก็เป็นคนเรียนหนังสือมามาก ได้ไปเรียนถึงเมืองนอกเมืองนา คงจะประเมินได้นะครับ ว่าการเสี่ยงที่มีโอกาสถึงหนึ่งในสี่นั้น มันคุ้มค่าที่จะเสี่ยงไหม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม



1.      Miller KK, Grinspoon SK, Ciampa J, et al. Medical findings in outpatients with anorexia nervosa. Arch Intern Med. Mar 14 2005;165(5):561-6. [Medline].
2.      Kawano Y, Kamihigashi S, Nakamura S, et al. Delayed puberty associated with hyperprolactinemia caused by pituitary microadenoma. Arch Gynecol Obstet. Sep 2000;264(2):90-2. [Medline].
3.      Bakalov VK, Vanderhoof VH, Bondy CA, Nelson LM. Adrenal antibodies detect asymptomatic auto-immune adrenal insufficiency in young women with spontaneous premature ovarian failure. Hum Reprod. Aug 2002;17(8):2096-100. [Medline].
4.      Arlt W, Allolio B. Adrenal insufficiency. Lancet. May 31 2003;361(9372):1881-93. [Medline].
5.      Revised 2003 consensus on diagnostic criteria and long-term health risks related to polycystic ovary syndrome (PCOS). Hum Reprod. Jan 2004;19(1):41-7. [Medline].
6.      Wang JG, Lobo RA. The complex relationship between hypothalamic amenorrhea and polycystic ovary syndrome. J Clin Endocrinol Metab. Apr 2008;93(4):1394-7. [Medline].
7.      Gidwani GP. Amenorrhea in the athlete. Adolesc Med. Jun 1999;10(2):275-90, vii. [Medline].
8.      Warren MP, Fried JL. Hypothalamic amenorrhea. The effects of environmental stresses on the reproductive system: a central effect of the central nervous system. Endocrinol Metab Clin North Am. Sep 2001;30(3):611-29. [Medline].

9.      US Food and Drug Administration Birth Control Guide 2010. Accessed on September 16, 2014 at http://www.fda.gov/ForConsumers/ByAudience/ForWomen/ucm118465.htm