Latest

ท่องมาเป็นวรรคเป็นเวร.. แต่เวลาสอบไหงลืมหมด

อาจารย์ครับ 
คือผมมีเรื่องอยากจะปรึกษาครับ ผมเป็น นักศึกษาแพทย์ปี 2 ครับ ที่คณะแพทย์ผมเรียนเป็น blockๆ ไปครับ ซึ่งก็คือสอบทุกเดือนครับ ทีนี้ตอนช่วงใกล้ๆจะสอบประมาณ 2-3 วันก่อนสอบผมจะเครียดมากเลยครับแบบถึงขั้นแทบจะร้องไห้ อ่านอะไรก็ไม่เข้าหัวแล้วครับ คือแบบเป็นความรู้สึกที่แย่มากๆ ล่าสุดก่อนสอบ 1 วันผมเป็นแบบนี้ตั้งเเต่ 16.00-21.00 คือนั่งร้องไห้กับแม่ผ่านไลน์ครับ ไม่ใช่อ่านไม่ทันนะครับ คือถ้าให้ไปสอบเลยตอนนั้นก็คงผ่านอยู่ เเต่ถ้าผมได้ทวนอีกรอบเร็วๆจะดีกว่ามากๆอ่ะครับ พอ 21.00 ถึงกลับมาทวนต่อได้ครับ ทำให้ผมทวนไปสอบไม่จบครับแล้วแย่มากๆ แบบหดหู่อ่ะครับ พอตื่นเช้าขึ้นมาก็หายเลยครับอ่านได้เหมือนเดิม พออ่านไปติดต่อกันถึงซัก 16.00 ก็เป็นเหมือนเดิมเลยครับ ไม่ว่าผมจะอ่านทันหรือไม่ทันก็ตาม คือเนื่องจากมันเยอะมันก็ต้องทวนหลายๆรอบครับซึ่งก็ลืมแล้วลืมอีก ทำให้ผมต้องอ่านตลอดครับ ผมอยากรู้ว่าผมจะหายอาการแบบนี้ได้อย่างไรครับ เป็นเฉพาะช่วงสอบนะครับ สอบเสร็จนี่เหมือนคนละโลกเลย แล้วมันเกี่ยวกับการที่ผมอ่านคนเดียวอยู่ในห้องทั้งวันทั้งคืนไหม เพราะผมชอบอ่านคนเดียวครับแต่พึ่งจะมาเป็นแบบนี้ตอนเรียนหมอนี่หละครับ ขอบคุณครับ 

ขอโทษนะครับที่วนไปวนมาพิมพ์ในโทรศัพท์ครับ

………………………………………………………….

ตอบครับ

     พักนี้ผมเอาจดหมายของพวกหนุ่มๆสาวๆที่เป็นหมอบ้าง กำลังเรียนแพทย์อยู่บ้าง ขึ้นมาตอบบ่อย ท่านผู้อ่านขาประจำอาจทักท้วงในใจว่าไหนว่าบล็อกนี้จะเป็นคู่หูสุขภาพของคนแก่ไม่ใช่หรือ ตรงนี้ผมขอก็แล้วกันนะครับ คือพวกนักเรียนแพทย์เนี่ยเขาก็เป็นเด็กนักเรียนธรรมดา มีโรคมีการเจ็บป่วยกายป่วยใจเหมือนเด็กนักเรียนสาขาอื่น แต่เขาไม่รู้จะไปหาใคร จะไปหาหมอรึ หมอก็คือครูของเขานะแหละ เคราะห์หามยามร้ายอาจจะถูกครูประทับตราว่าเจ้าหมอนี่บ้า ก็จะพาลเสียอนาคตเอา ผมเลยต้องขอแบ่งพื้นที่ในบล็อกนี้ให้พวกเขาบ้างนะครับ
     ก่อนอื่นผมประทับใจจดหมายของคุณมากที่เล่าว่าอ่านหนังสือไม่รู้เรื่องแล้วนั่งร้องไห้กับคุณแม่ผ่านไลน์ แม่เฮย.. สมัยนี้นักเรียนแพทย์ของเราถดถอยไปไกลถึงขนาดนี้แล้วเหรอเนี่ย ถ้าอัตราการถดถอยอยู่ในอัตราเดิม อีกสิบปีต้องเห็นคุณแม่เอากระดาษทิชชูไปส่งให้นักเรียนแพทย์ที่ประตูห้องส้วมในหอพักแน่นอน (หิ..หิ พูดเล่น) 
 
ว่าที่จริงการอ้อนแม่เนี่ยมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ผู้ชาย เป็นกันทุกวัยอย่าว่าแต่เด็กหนุ่มนักเรียนแพทย์เลย สมัยผมทำงานอยู่เมืองนอกเพื่อนของเมียผมเป็นครูอนุบาล เธอเล่าโจ๊กในวงการศึกษาของฝรั่งเรื่อง “มีแกนไม่อยากไปโรงเรียน” ให้ผมฟัง เรื่องมีอยู่เช้าวันจันทร์ มีแกนไม่อยากไปโรงเรียน จึงอ้อนแม่ว่า
     “ผมไม่อยากไปโรงเรียน” คุณแม่ก็ปลอบว่า
     “ไปเถอะลูก” มีแกนก็อ้อนอีกว่า
     “ผมไม่อยากไปโรงเรียน ผมเกลียดโรงเรียน” คุณแม่ก็แก้ต่างว่า
     “ไม่จริงหรอกลูก ที่โรงเรียนใครๆก็คาดหวังว่าลูกจะไป” มีแกนก็อ้อนอีกว่า
     “ผมไม่อยากไปโรงเรียน ไม่มีใครรักผม นักเรียนก็เกลียดผม ครูก็เกลียดผม” คราวนี้คุณแม่เสียงเข้ม

     “มีแกน.. ลูกไม่ไปโรงเรียนไม่ได้ เพราะลูกเป็นครูใหญ่นะลูก” 

     ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     มาตอบคำถามของคุณหมอให้เป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า

     ในการจะเรียนแพทย์ให้จบนี้ คุณหมอจะต้องรู้ความจริงทางการแพทย์อย่างหนึ่งว่าความเครียดทำให้ความสามารถในการเก็บความจำและระลึกเอาความจำกลับออกมาใช้ลดด้อยลง หลักฐานที่ว่าความเครียดทำลายความจำนี้มีชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำระยะสั้น ทั้งหลักฐานในสัตว์ทดลองและในคน งานวิจัยของพาร์คาด (Parkad) ซึ่งสุ่มปล่อยแมวเขาไปไล่หนูในกรงต่างๆนาน 5 สัปดาห์ พบว่าความจำทางหนีทีไล่ในเขาวงกตที่เคยเรียนรู้และจำได้ดิบดีแล้วของหนูจากกรงที่ถูกแมวไล่หายไปดื้อๆหรือลดลงไปมาก และความสามารถเรียนรู้เขาวงกตชุดใหม่ก็ลดลงด้วย หลักฐานในคนซึ่งติดตามนานสามปีพบว่าความเครียดทำให้คนสมองเสื่อมเร็วขึ้น การศึกษาสมองของคนที่เครียดพบว่าเซลสมองส่วนฮิปโปแคมปัสซึ่งมีหน้าที่ประสานงานการจัดเก็บและรื้อฟื้นความจำถูกทำลายเสียหายหรือลดจำนวนลง ทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ต่อมหมวกไตปล่อยออกมามากในภาวะเครียด และเจ้าฮอร์โมนตัวนี้ตกค้างอยู่ในสมองได้นาน
        ในกรณีเครียดแบบฉุกเฉินระยะสั้น ผลของความเครียดต่อความจำมีได้สองแบบ ส่วนใหญ่จะทำให้การเก็บและระลึกเอาความจำเก่าออกมาใช้ทำไม่ได้หรือได้น้อยลง แต่มีบ้างเหมือนกันที่หากเงื่อนไขเหมาะสม เช่นหากสมองประเมินว่าปริมาณความเครียดที่สมองรับทราบมามีที่ท่าว่าจำนวนข้อมูลและวัตถุดิบที่มีเก็บไว้แล้วในหน่วยความจำจะ “เอาอยู่” ความเครียดจะทำให้การเก็บและการระลึกเอาความจำกลับมาใช้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 
     ความเครียดชั่วคราวนี้ หากมีความเกี่ยวข้องกับบุคคล ตัวตน เราเขา มักจะถูกเก็บไว้เป็นความจำถาวร ไปภายหน้าเมื่อตกอยู่ในภาวะเครียด ความจำส่วนนี้จะถูกระบบประสาทอัตโนมัติขาเร่ง (sympathetic system) รื้อฟื้นเอากลับขึ้นมาให้เครียดได้อีก
     นอกเหนือจากการทำลายเนื้อสมองโดยคอร์ติซอลแล้ว อย่าลืมว่าขณะเครียดยังมีฮอร์โมนคู่หูอีกตัวหนึ่งนะ คืออะดรินาลิน เจ้าตัวนี้แม้ว่าจะออกฤทธิ์เร็วจบเร็ว แต่ฤทธิ์ที่ออกมานั้นรุนแรงมาก ชนิดที่ว่าทำให้ fogged out หรือใบ้รับประทาน ตาค้างเติ่งเหมือนตาปลาตายไปเลย จะกลับฟื้นคืนชีพได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อผ่านไปหลายนาทีหรือจนระดับอะดรินาลินเริ่มลดลงโน่นแหละ 
     ยังมีอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นกรณีของคุณก็ได้ คือความเครียดสำหรับบางคน สามารถทำให้เกิดอาการที่ภาษาหมอเรียกกว่า “ลืมหมดชั่วคราว” หรือ transient global amnesia (TGA) แบบว่าท่องมาได้เป็นฉากๆอยู่แหม็บแต่พอเจอกระดาษข้อสอบไหงถึงลืมทุกอย่างไปหมดแบบไร้ร่องรอยเลย จะไม่ลืมก็แต่ความโหดในอดีตของครูคุมสอบเท่านั้น
      ดังนั้นในภาพรวม การจะเรียนแพทย์ให้จบได้ คุณต้องเรียนรู้วิธีจัดการความเครียดก่อน อย่างน้อยหน้าสิ่วหน้าขวานคุณต้องรู้วิธีลดฤทธิ์ของอดรินาลินให้ได้ก่อน คือยามเครียดมาก คุณต้องกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติขาหน่วง (parasympathetic system) ให้เด่นขึ้นมาถ่วงดุลกับขาเร่ง (sympathetic system) เทคนิคง่ายๆก็เช่นค่อยๆหายใจเข้าลึกๆๆๆๆ แล้วผ่อนลมหายใจออกช้าๆ หลายๆครั้ง เพราะการหายใจช้าเป็นการต้านฤทธิ์ของขาเร่ง (sym) ที่คอยเร่งการหายใจให้เร็ว ตอนหายใจออกยิ้มด้วยยิ่งดี เพราะการยิ้มผ่อนคลายกล้ามเนื้อบนใบหน้าเป็นการลดฤทธิ์ของ sym เช่นกัน
     การปิดกั้นความจำระยะสั้นเป็นกลไกธรรมชาติที่ร่างกายที่มีไว้ต่อสู้กับความเครียดระดับบิ๊ก บิ๊ก ทั้งนี้เพื่อปิดการใช้ดุลพินิจไตร่ตรองประเมินขนาดของสิ่งเร้าที่เรากำลังเห็นอยู่ตรงหน้า จะได้เห็นช้างตัวเท่าหมู จะได้ไม่กลัวและฮึดสู้ได้ สมัยที่เรายังอยู่ป่าต้องสู้กับช้างกลไกนี้อาจใช้ได้ แต่สมัยนี้เราสู้กับข้อสอบ กลไกนี้เป็นโทษมากกว่าคุณ แล้วระบบประสาทอัตโนมัตินี้มันครอบงำการทำงานของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสเสียเกือบหมดจนจิตสำนึกหรือดุลพินิจเข้าไปล่วงเกินได้ยากมาก อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่าฮิปโปแคมปัสเองถึงแม้จะไม่ยอมรับอิทธิพลของจิตสำนึก แต่ดูเหมือนว่ามันจะเทียบเคียงขนาดของความเครียด (stressor) ที่อยู่ตรงหน้ากับข้อมูลความจำที่มีอยู่ได้ หากมันประเมินว่า stressor แค่นี้ “เอาอยู่” มันจะไม่ปิดความจำระยะสั้น ตรงกันข้ามมันกลับจะหนุนส่งให้การเก็บบันทึกและเปิดใช้ความจำระยะสั้นได้เจ๋งขึ้นจนเจ้าตัวประหลาดใจว่าจำสิ่งเหล่านี้ได้ไง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมงานวิจัยผลของความเครียดเฉียบพลันต่อความจำจึงได้ผลไปตรงข้ามกันสองทาง บางงานวิจัยพบว่าทำให้ความจำและการตัดสินใจดีขึ้น บางงานวิจัยพบว่าทำให้แย่ลง ดังนั้น ทริกอีกอันหนึ่งที่ใช้ได้ก็คือก่อนสอบคุณต้องคอยท่องว่า 

     “เอาอยู่ เอาอยู่ เอาอยู่”  

     เพราะระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งเป็นผู้ควบคุมการสนองตอบต่อความเครียดทั้งมวลนี้ แม้จะอยู่นอกเหนือจิตสำนึกแต่ก็ถักทอเชื่อมโยงกับสมองใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของจิตสำนึกแน่นแฟ้น ดังนั้นระบบประสาทอัตโนมัติของคุณนี้ ถ้าคุณรู้วิธี คุณสอนมันได้ หากคุณจับทางมันได้ว่ามันกำลังจะไปทางไหน ไปทางเร่ง หรือไปทางหน่วง ในบรรดาระบบการทำงานที่สำคัญของร่างกายทุกระบบไม่ว่าจะเป็น หัวใจ ตับ ไต ไส้ พุง ระบบประสาทอัตโนมัติครอบครองไว้หมดสิ้นไม่มีช่องให้จิตสำนึก (consciousness) เข้าไปแทรกแซงได้เลย ไม่ว่าคุณจะฉลาดแค่ไหนคุณก็ไปยุ่งกับระบบประสาทอัตโนมัติไม่ได้ แต่มันมีอยู่หนึ่งสนาม ที่จิตสำนึกเข้าไปแทรกแซงได้บ้าง แม้ว่าจะชี้เป็นชี้ตายไม่ได้ นั่นก็คือระบบการหายใจไง จิตสำนึกไม่สามารถกลั้นหายใจจนขาดออกซิเจนตายได้ก็จริง แต่สามารถเข้าไป overrule ได้ในช่วงเวลาสั้นๆว่าจะหายช้าลงหรือเร็วขึ้น ดังนั้นการนับอัตราการหายใจของเราเป็นวิธีจับทิศทางของระบบประสาทอัตโนมัติที่ง่ายที่สุด ถ้าเราหายใจเร็วๆสั้นๆฟืดฟาดฟืดฟาดเมื่อไหร่ก็แสดงว่าระบบประสาทอัตโนมัติมันกำลังบอกว่า

     “ข้ากำลังจะเอาไม่อยู่ ข้ากำลังจะเอาไม่อยู่”

    จังหวะนี้เราต้องรีบส่งจิตสำนึกเข้าประกบ ตั้งใจหายใจเข้าให้ลึกขึ้น แล้วผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ยิ้มไว้ ท่องว่า

     “เอาอยู่ เอาอยู่ เอาอยู่”  

     แล้วคุณเชื่อผม คุณจะทำข้อสอบได้ดีกว่าที่สมองปกติของคุณทำได้
แต่ในระยะยาวคุณจะมาหวังท่อง “เอาอยู่” เพื่อให้จบแพทย์นั้นไม่ได้หรอก เพราะความเครียดจะเพิ่มขึ้นตามชั้นปี และจะไปเพิ่มสูงสุดตอนชั้นปีที่ 4 ซึ่งเริ่มขึ้นเรียนคลินิก นักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่จะสติแตกกันในปีนี้ ถึงตอนนั้นคาถาเอาอยู่ก็จะเอาไม่อยู่ คุณจะต้องฝึกจัดการความเครียดของคุณเอง วิธีง่ายๆก็คือคุณฝึกทำสมาธิตามดูลมหายใจเข้าออก (breathing meditation) ไม่ต้องถึงกับไปนั่งขัดสมาธิหลับตาหรอก เอาในชีวิตประจำวันเวลาที่ไม่ได้อ่านหนังสือเนี่ยแหละ เช่นเวลาอาบน้ำ กินข้าว เดินขึ้นบันได เวลาอย่างนี้คุณฝึกทำสมาธิตามดูลมหายใจได้ ควบคู่กันไปคุณต้องออกกำลังกายให้หอบแฮ่กๆทุกวัน การออกกำลังกายทำให้เกิดสารเอ็นดอร์ฟินขึ้นมาต่อต้านความเครียด สองยุทธศาสตร์นี้ช่วยคุณได้แน่ ถ้าคุณทำตามผมบอก ผมรับประกันคุณเรียนจบแน่นอน โดยไม่ต้องร้องไห้อ้อนคุณแม่ทางไลน์ด้วย (หิ..หิ ล้อเล่น)

นพ.ส้นต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Kuhlmann, S., Piel, M., Wolf, O.T. (2005). Impaired Memory Retrieval after Psychosocial Stress in Healthy Young Men. Journal of Neuroscience, 25(11), 2977-2982.
2. Oei, N.Y.L., Elzinga, B.M., Wolf, O.T., de Ruiter, M.B., Damoiseaux, J.S., Kuijer, J.P.A., Veltman, D.J., Scheltens, P., Rombouts, S.A.R.B. (2007). Glucocorticoids Decrease Hippocampal and Prefrontal Activation during Declarative Memory Retrieval in Young Men. Brain Imaging and Behaviour, 1, 31-41.
3. Cavanagh, J. F.; Frank, M. J.; Allen, J. J. B. (7 May 2010). “Social stress reactivity alters reward and punishment learning”. Social Cognitive and Affective Neuroscience 6 (3): 311–320. doi:10.1093/scan/nsq041.
4. Cavanagh, J. F.; Frank, M. J.; Allen, J. J. B. (7 May 2010). “Social stress reactivity alters reward and punishment learning”. Social Cognitive and Affective Neuroscience 6 (3): 311–320. doi:10.1093/scan/nsq041.
5. Parkad, C.R., Campbella, A.M., Diamond, D.M. (2001). Chronic psychosocial stress impairs learning and memory and increases sensitivity to yohimbine in adult rats. Biological Psychology, 50, 994-1004.
6. Roozendaal B, McEwen BS, Chattarji S. (June 2009). “Stress, memory and the amygdala.”. Nature Reviews Neuroscience 10 (6): 423–33.doi:10.1038/nrn2651. PMID 19469026.
7. Yang Y, Kim JS, Kim S, Kim YK, Kwak YT, Han IW. Cerebellar Hypoperfusion during Transient Global Amnesia: An MRI and Oculographic Study. J Clin Neurol. Jun 2009;5(2):74-80. [Medline]. [Full Text].
8. Pantoni L, Bertini E, Lamassa M, et al. Clinical features, risk factors, and prognosis in transient global amnesia: a follow-up study. Eur J Neurol. May 2005;12(5):350-6. [Medline].