Latest

กำลังจะได้อุ้มลูก แต่นอนร้องไห้ทุกคืน

วันหยุดที่ผ่านมามีท่านผู้อ่านบล็อกนี้หลายสิบท่านมาดูความเป็นไปได้ที่จะมาอยู่ใน Senior Co-Housing และมีบางท่านตัดสินใจซื้อที่ไปประมาณครึ่งหนึ่งของที่ดินที่เจ้าของเขาเสนอขาย เท่ากับว่าโอกาสที่ coho 2, 3, 4 จะเกิดได้ก็มีถึง 50% (จากทั้งหมด 19 แปลง) แล้ว ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่คึกคักดีพอควร รอไปอีกสักไม่กี่เดือนก็คงจะมีผู้สนใจมาอยู่เต็ม ถึงตอนนั้น coho 2, 3, 4 ก็คงได้เกิดจริง และความฝันของผมที่จะสร้างชุมชนคนเกษียณที่คึกคักสมบูรณ์แบบก็จะใกล้เข้าไปอีกนิด ชิดๆเข้าไปอีกหน่อย

แต่เรื่องที่อยากเล่าในวันหยุดที่ผ่านมานี้คือ พอส่งแขกกลับบ้านหมดแล้วผมก็แอบไปซ่อมบ้านโบราณต่อ บ้านที่ผมเคยเล่าว่าชาวบ้านเรียกว่าบ้านกาแลนั่นแหละ ตอนนี้ผมเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่แล้ว

ว่า “โกรฟเฮ้าส์” หรือ Grove House ซึ่งแปลว่า “บ้านในร่องสวน” เพราะเมื่อเดือนก่อนมีแฟนบล็อกนี้แหละ เป็นผู้สูงวัยสองท่าน ได้มาเยี่ยมผมที่บ้านมวกเหล็ก แล้วเล่าเรื่องการปลูกมัลเบอรี่ (หม่อน) ให้ภรรยาผมฟัง บ้านกาแลนี้มีพื้นที่รวมอยู่ราวสี่ห้าไร่ เธอเกิดปิ๊งไอเดียจะใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งทำสวนม้ลเบอรี่ขึ้นมาบ้าง ผมจึงถือโอกาสเปลี่ยนชื่อบ้านเสียเลย แม้ว่าจะยังไม่มีสวนมัลเบอรี่จริงๆเลยก็ตาม ไม่เปลี่ยนแต่ชื่อเปล่านะ ผมทำโลโก้ขึ้นมาด้วย เป็นภาพขาวดำอย่างที่ลงให้ดูข้างบนนี่แหละ เผื่อว่าวันหน้าภรรยาทำสวนมัลเบอรี่เจริญรุ่งเรื่องขึ้นมาจริงๆ จะได้เป็นโลโก้ติดข้างถุงไง (หิ..หิ จริงใจนะ เปล่าประชด)

สิ่งแรกในงานก่อสร้างที่ภูมิใจนำเสนอก็คือการแก้ปัญหาบันไดอันมืดมิด คือมัน มืดชนิดที่ว่าเหมือนหลับตาเดินแม้เวลากลางวันแสกๆ ในที่สุดผมตัดสินใจเจาะช่องหลังคา อย่าลืมว่าบ้านโกรฟเฮ้าส์นี้หลังคาเป็นแป้นเกล็ดไม้สัก การจะเจาะช่องหลังคาเอาแสงลงนี้ไม่ใช่หมูๆนะครับพี่น้อง แถมเมืองไทยเรานี้ไม่มีช่องหลังคาแบบ sun roof ขายเสียด้วย แต่ผมก็ทำของผมจนได้ เป็นซันรู้ฟสไตล์หมอสันต์ คือไปซื้อหน้าต่างห้องส้วมของโฮมโปรมาทำ เป็นความสามารถเฉพาะตัว ห้ามลอกเลียนเพราะหากท่านลอกเลียนแล้วบ้านของท่านฝนรั่วบักโกรกแล้วท่านโดนภรรยาอัดผมไม่รับผิดชอบนะ แต่ของผมทำดีนะครับ รับประกันถ้าไม่รั่วก็ไม่ซึม ทำเสร็จแล้วเท่อย่าบอกใครเชียว..ไม่เชื่อดูรูป พอเจาะใส่ซันรูฟเสร็จแล้ว ฉับพลันทันได้ก็เกิดแสงสว่างจากสวรรค์สาดลงมา สร้างแสงและเงาสไตล์ภาพเขียนของแรมแบรนท์ให้กับบันได แบบว่า..เหน็ดขนาด

ยังมีสิ่งที่ภูมิใจนำเสนออีกอย่างหนึ่ง คือภาพที่ลงให้ดูขวามือข้างล่างนี้ สิ่งที่จะให้ดูไม่ใช่ตะเกียงนะ แต่เป็นอะไรกลมๆเล็กๆข้างล่าง ใต้ตะเกียง

เมื่อวานน้องพยาบาลลูกน้องเก่าคนหนึ่งมาเยี่ยมขณะผมทำงานอยู่ เธอบอกว่า “อ๋อ รู้จัก.. กริ่ง กริ๊ง กริ๊ง ไง” ผมบอกว่าไม่ใช่ นี่มันคือสวิสต์ไฟโบราณที่ทำด้วยทองเหลือง เหลือรอดชีวิตมาอยู่อันเดียว โปรดสังเกตรอยบุบสลายบนครอบทองเหลืองซึ่งแสดงถึงความเก๋า สวิสต์แบบนี้สูญพันธ์ไปนานแล้ว ถ้าสวิสต์ไม่ตาย ผมเดาว่าเจ้าของสวิสต์ก็คงเกือบตายเพราะโดนไฟดูด เพราะการออกแบบสวิสต์แบบนี้ถ้าเจอช่างระดับขี้หมาก็มีหวัง..ไฟรั่วออกมาที่ครอบทองเหลืองแล้วดูดจ๊วบเอาได้ แต่สวิสต์ของบ้านโกรฟเฮ้าส์อันนี้ผมรับประกันไม่ดูด เพราะผมเสี่ยงตายทดสอบด้วยตัวเองมาแล้ว

อีกรายการหนึ่งที่ผมค้นพบแต่ว่ามันไม่สมประกอบ คือโคมไฟแบบชักรอกขึ้นลงได้แบบที่ใช้กันอยู่ตามร้านอาหารใต้ถุนปราสาทเก่าๆในยุโรปตะวันตก แต่ว่าชิ้นส่วนมันไม่สมบูรณ์ คือขาดฝาครอบหลอดไฟซึ่งบิ่นแตกไป โชคดีภรรยาเขาไปหาซื้อของเก่าแบบเยอรมันมาได้ พอได้มาแล้วผมเอามาประกอบให้ครบชุด ปรากฎว่าน้ำหนักมันไม่ได้ดุลกัน คือน้ำหนักของข้างฝาครอบหลอดไฟมันหนักกว่าข้างลูกตุ้มถ่วง ผมบอกภรรยาว่าคุณซื้อฝาครอบมาผิดสะเป๊กแล้ว แต่เธอก็ยืนยันว่ามันใช้ได้ เธออ้างว่าเห็นในยุโรปเขาใช้โคมร้อยพ่อพันแม่แต่ก็ใช้ตุ้มถ่วงแบบเดียวกันไม่เห็นเขามีปัญหาเลย แถมยังแขวะผมด้วยว่าของเก่าอายุเป็นร้อยปีจะเรียกร้องเอาสะเป๊กก็บ้าแล้ว ผมจึงต้องเอาโคมขึ้นติดท้้งๆที่ยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาหนักเอียงข้างได้อย่างไรเลย ลุงแก่ๆซึ่งเป็นช่างชาวบ้านผู้ช่วยของผมคงเห็นผมชักโคมขึ้นๆลงโดยไม่รู้จะทำอย่างไรต่อจึงตะโกนคอมเม้นท์ว่า “มันหนักไม่เท่ากัน” ผมนึกในใจว่า..รู้แล้ว..ว แต่ไม่ได้พูดอะไรออกไป ลุงแกมาเอานิ้วดีดตุ้มถ่วงสีขาวเสียงดังเคล้งๆแล้วพูดว่า “ว่ามันกลวงนี่นา มันถึงได้้เบาไง” ผมขำที่ลุงแกจะแสดงภูมิปัญญาท่้องถิ่นของแกให้ได้ แต่ฉับพลันผมก็คิดถึงคำพูดของแกขึ้นมา มันกลวง เออ จริงแฮะ แล้วทำไมเขาทำตุ้มถ่วงให้กลวงละ มันจะไปมีน้ำหนักไปถ่วงได้อย่างไร ผมจึงเอาตุ้มถ่วงโบราณนั้นมาพิเคราะห์อย่างละเอียด จึงพบว่ามีโลหะรูปร่างประหลาดเล็กๆขนาดเม็ดถั่วลิสงแปะอยู่ที่ด้านบน เอ๊ะ เขาทำตรงนี้มาทำไมเนี่ย พยายามดึงก็ดึงไม่ออก พยายายามบิดไปบิดมาในที่สุดก็พบว่ามันมีคันโยกเล็กให้หมุนตัวเองได้ เมื่อหมุนแล้วก็จึงเปิดให้เห็นรูเล็กเป็นทางเข้าไปสู่ช่องกลวงในลูกตุ้ม แหม ลุงสันต์เอ๊ย โง่อยู่ได้ตั้งนาน รูนี้เขาต้องมีไว้ให้ใส่น้ำหรืออะไรสักอย่างเพื่อ

ให้ลูกตุ้มมันหนักพอดีกับข้างหลอดไฟแน่เลย แต่ผมจะใส่น้ำก็กลัวคนทะเร่อทะร่าจับลูกตุ้มเอียงแล้วน้ำหก จึงไปเอาทรายของช่างมาบรรจงเทเข้าไปในรูอย่างลำบากยากเย็นเพราะรูมันเล็ก พอเทไปได้ค่อนลูกตุ้มก็ทดลองชักรอกอีกที่ โอ้โฮ คราวนี้โป๊ะเชะ ใช้การได้เลย

บ้านโกรฟเฮ้าส์นี้มีเตาผิงและปล่องไฟด้วย ในระหว่างนี้ผมยังคิดไม่ออกว่าจะตกแต่งเตาผิงอย่างไรดี แต่ลุงผู้ช่วยของผมได้เข้าไปตกแต่งแสดงไอเดียไว้แล้วเรียบร้อย ผมแอบถ่ายรูปมาให้ดู นอกจากจะตอกตะปูแขวนส้มเขียวหวานและเสบียงกรังขณะทำงานของแกไว้บนเสาแล้ว บนแท่นหินเหนือเตาผิงแกยังมีกระจกส่องหน้าและแป้งฝุ่นด้วยนะ แสดงว่าลุงแกเป็นคนใส่ใจภาพลักษณ์ของตัวเองไม่เบานะเนี่ย ทำเป็นเล่นไป

แล้วผมยังไปพบโดยบังเอิญอีกชิ้นหนึ่ง คือโต๊ะที่ลุงคนงานเอาวางเครื่องมือสัมภารก

ของเขา เมื่อเขม้นมองผ่านขี้ฝุ่นให้ดีจึงรู้ว่าโต๊ะนี้ไม่ใช่โต๊ะธรรมดา แต่เป็นล้อเกวียนขอบสีส้มที่เอาไม้สักมาเติมระหว่างร่องซี่เกวียนให้กลายเป็นพื้นโต๊ะ โห..จ๊าบซะไม่มี ผมยังนึกไม่ออกว่าจะเอาโต๊ะตัวนี้ไปทำอะไรดี แต่ก็ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุโบราณประจำโกรฟเฮ้าส์ไปแล้ว

พูดถึงล้อเกวียนและวัตถุโบราณ ที่ลานนอกบ้านโกรฟเฮ้าส์นี้มีซากล้อเกวียนอยู่คู่หนึ่ง ผมถ่ายรูปมาให้ดูด้วย ภรรยาบอกว่าเธออยากให้ผมซ่อมเกวียนนี้ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เธอเอากระถางดอกไม้ไปวางบนเกวียนให้เต็มสะพรั่ง โห.. ท่านผู้อ่าน

ลองดูสาระรูปของซากเกวียนนี้ก่อนสิครับ ชั้นแต่ล้อของมันยังไม่เหลือครบวงเลย แล้วเจ้านายมาสั่งให้เนรมิตให้เป็นเกวียนบรรทุกดอกไม้แบบสะพรั่ง หึ..หึ อย่างดีที่สุดที่ผมทำได้ก็คือฮัมเพลงเสียงอ่อยๆว่า “ชาติหน้าถ้ามี..” 

คราวนี้มาถึงประเด็นทำอย่างไรจะไม่ให้บ้านโกรฟเฮ้าส์นี้มีลุคเป็นบ้านผีสิง เพราะหลายคนคิดว่ามันเป็นบ้านผีสิง แม้แต่ท่านผู้อ่านบล็อกนี้ท่านหนึ่งก็เขียนมาบอกว่าบ้านสวยดี แต่ดูน่ากลัวจัง แผนแรกก็คือผมพยายามหาเรื่องให้มีสีขาวภายในบ้านมากขึ้นเพื่อเพลาๆบรรยากาศ

ศักดิ์สิทธิ์ลงไปบ้าง ส่วนด้านนอกนั้นก็ลองสางพงรกออกไปบ้างแล้วปลูกหญ้าสีเขียวหน้าบ้านซะหน่อยเพื่อให้ดูเหมือนบ้านคนมากขึ้น ผมลองถ่ายรูปภายนอกมาให้ดูสองรูปเพื่อจะให้ท่านผู้อ่านหายกลัวผี แต่ไม่แน่ใจว่าดูแล้วจะทำให้กลัวผีมากขึ้นหรือเปล่า แต่ผมยืนยันว่าบ้านนี้ไม่มีผี เมื่อผมซ่อมเสร็จแล้ว ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนบล็อกหมอสันต์มาแอ่วเล่นได้โดยไม่โดนผีหลอกแน่นอน

อะแฮ่ม วันหยุดสุดสัปดาห์นี้เผลอคุยนอกเรื่องแยะไปหน่อย มาตอบจดหมายท่านผู้อ่านสักหนึ่งฉบับดีกว่า

เรียน นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

หนูชื่อ.. ชื่อเล่น… (ผมขอใช้คำว่าหนูแทนชื่อนะ) ขอคำปรึกษาค่ะ หนูท้อง 8 เดือน ทั้ง หนูและสามีเป็น ธาลัซซีเมียทั้งคู่  EA ทราบแค่นี้ค่ะ
ฝากท้องที่โรงพยาบาล …. มีเรื่องอยากถาม เพราะกลุ้มใจนอนร้องไห้ทุกวันทุกคืน ไม่เป็นอันทำงานเลยค่ะ สงสารลูก
1.ทำไมหมอไม่เจาะน้ำคร่ำตั้งแต่เดือนที่ 5
2.ทำไมต้องรอถึง 8 เดือนบอกแค่ว่า อัลตร้าซาวน์ก็เจอความผิดปกติแล้ว (เด็กจะตัวบวม)
3.แล้วถ้าลูกตัวบวมต้องยุติการตั้งครรภ์ไหมคะ 
อยากเปลี่ยนโรงพยาบาลก้อคงไม่ทันแล้ว  เวลาไปพบหมอ หมอไม่เคยอธิบายเกี่ยวกับโรคนี้เลย ถามคำตอบคำ  ค่ะ
รบกวนด้วยนะคะ   หนูสามารถไปพบคุณหมอได้ไหมคะ

ขอบพระคุณค่ะ 

……………………………………..

ตอบครับ

     ผมติดใจประโยคที่ว่านอนร้องไห้ทุกคืนเพราะสงสารลูก ผมเข้าใจว่ามันคงเป็นธรรมชาติที่ความสัมพันธ์ที่แม่มีต่อลูกนี้ มันลึกซึ้งและดูท่ามันจะมากกว่าที่พ่อมีต่อลูก และเด็กที่เป็นลูกก็รับรู้อยู่เต็มอกตั้งแต่อ้อนแต่ออด เวลาพ่อพูดอะไรเขาไม่เชื่อหรอก เขาจะไปเช็คกับแม่ อย่างโจ๊กฝรั่งเรื่องหนึ่งเล่าว่า

    “พ่อฮับ คนเราเกิดมาจากไหนฮับ” พ่อค่อยๆอธิบายว่า

     “มันเริ่มจากอาดัมกับอีฟนะลูก เขาร่วมกันผลิตลูกมาเป็นเด็กๆ เด็กๆเหล่านั้นโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ร่วมกันผลิตลูกออกมาอีกต่อๆกันมาจนมาเป็นเรานี่ไง”

     เจ้าเด็กน้อยไปเช็คข้อมูลกับแม่

     “แม่ฮับ คนเราเกิดมาจากไหนฮับ” แม่ตอบว่า

     “พวกเราเนี่ยเป็นลิงกันมาก่อนนะลูก เรามาจากลิง แล้วค่อยๆวิวัฒนาการมาจนเป็นเรานี่ไง” เด็กน้อยสรุปได้ทันทีว่าอะไรถูกอะไรผิด แล้วกลับไปจวกพ่อว่า

     “พ่อโกหก แม่บอกว่าคนเรามาจากลิง” พอจึงรีบเคลียร์ข้อมูลว่า

     “พ่อไม่ได้โกหก นั่นแม่เขาเล่าประวัติทางสายพันธ์ของครอบครัวข้างเขา”

     ฮะ ฮ่า ฮ่า.. แคว่ก แคว่ก แคว่ก… ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     ขอโทษ คนเขากำลังร้องห่มร้องไห้ดันมาตลกผิดที่ มาตอบคำถามคุณดีกว่า

     1.. ถามว่าทำไมหมอไม่เจาะน้ำคร่ำตั้งแต่เดือนที่ 5 ตอบว่า แหะ..แหะ แล้วผมจะรู้ไหมเนี่ย ผมตอบด้วยวิธีเดานะ เดาข้อมูลที่คุณให้มาน้อยเกินไป ไม่ใช่เดาใจหมอ ผมเดาว่าปัญหาของคุณคือ คุณได้ผ่านด่านต่างๆมาหลายก๊อก ดังนี้

     ก๊อกที่ 1. คุณแต่งงานกันมาโดยทั้งคู่ไม่ได้มีการตรวจเลือดดูยีนทาลาสซีเมียก่อนแต่งงาน เรียกว่าไม่ได้ทำ marital counseling จะด้วยเหตุว่าไม่ทราบว่าในโลกนี้การจะแต่งงานมีลูกต้องผ่านขั้นตอนนี้ด้วย รึยังไงก็แล้วแต่ เมื่อไม่ได้ตรวจยีนก่อนสมรส จึงสมรสกันมาไม่ได้ทราบว่าต่างฝ่ายต่างมียีนแฝงทาลาสซีเมียชนิดที่เมื่อยีนสองฝ่ายมาพบกันแล้วจะได้บุตรที่เป็นโรคนี้ได้

     เพื่อเป็นการเรียนรู้จากสิ่งที่ผ่านมาในอดีตของคุณ ต่อแต่นี้ไปคู่หนุ่มสาวอื่นๆที่อ่านบล็อกนี้ทุกคนก่อนแต่งงานจะต้องทำ marital counseling คือพากันไปหาหมอ เจาะเลือดดูยีนทาลาสซีเมียทั้งสายอัลฟ่าและสายเบต้า ย้ำ สองสายนะ ทั้งสายอัลฟ่าและเบต้า เพราะหมอเองบางคนก็ยังไม่เข้าใจว่ายีนควบคุมทาลาสซีเมียมีสองสาย หรือบางทีก็รู้ว่ามีสองสายแต่ๆไม่รู้ว่าการตรวจวิเคราะห์ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin typing) ตรวจได้แต่ยีนสายเบต้า ซึ่งไม่พอ ต้องตรวจวิเคราะห์ยีนสายอัลฟ่าด้วย

     ก๊อกที่ 2. คุณตั้งครรภ์มา โดยที่กระบวนการฝากครรภ์และดูแลครรภ์ (ANC) ไม่สามารถตรวจพบได้ว่าคุณแม่มียีนแฝงทาลาสซีเมียที่มีความเสี่ยงที่จะได้บุตรที่เป็นโรคได้ ความสามารถที่จะตรวจพบนี้ ขึ้นอยู่กับมาตรฐานการตรวจของแต่ละโรงพยาบาลแต่ละสถาบัน ในภาพรวมการตรวจวิเคราะห์ฮีโมโกลบินและวิเคราะห์ยีนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการรับฝากครรภ์ในระดับชาวบ้าน ภาษาหมอเรียกว่าไม่ใช่การตรวจรูทีน ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมจึงไม่จัดให้เป็นการตรวจรูทีน ทั้งๆที่คนไทย 24 ล้านคนมียีนแฝงทาลาสซีเมีย อันนี้คุณไปถามคสช.หรือรมต.สาสุขเอาเองก็แล้วกัน ผมไม่เกี่ยว เอาเป็นว่ากรณีฝากครรภ์แบบชาวบ้านทั่วๆไปจะทำกันแต่ การตรวจปัสสาวะ การตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) การตรวจชีวะเคมีของเลือด หากเห็นว่ามีโลหิตจางหรือเม็ดเลือดมีลักษณะเล็กหรือบิดๆเบี้ยวๆจึงจะไปตรวจวิเคราะห์ฮีโมโกลบินหรือวิเคราะห์ยีน แต่ในชีวิตจริงนั้น การหวังพึ่งการตรวจ CBC ให้คัดกรองยีนแฝงทาลาสซีเมียด้วยนั้นมันไม่เวอร์คหรอก เพราะคนมียีนแฝงทาลาสซีเม่ียส่วนหนึ่งผลตรวจ CBC จะปกติ ตััวคุณก็หลุดลอกก๊อกนี้ไปด้วยเหตุอย่างนี้ โดยที่แพทย์ไม่ทราบเลยว่าคุณมียีนแฝงทาลาสซีเมีย นี่เป็นคำตอบว่าทำไมหมอไม่เจาะน้ำคร่ำเมื่อเดือนที่ห้า คำตอบก็คือก็เพราะหมอเขาไม่รู้ว่าคุณมียีนแฝงทาลาสซีเมียและไม่รู้ว่าสามีคุณก็มียีนแฝงทาลาสซีเมีย

     เพื่อเป็นการเรียนรู้จากอดีตของคุณอีกครั้ง ท่านผู้อ่านอื่นๆทุกท่านที่เพิ่งตั้งครรภ์และกำลังฝากครรภ์ ให้ถามหมอของท่านว่า “คุณหมอทราบไหมค่ะว่าดิฉันมียีนแฝงทาลาสซีเมียทั้งสายอัลฟ่าและเบต้าอยู่หรือไม่” ถ้าหมอตอบว่า “ไม่ทราบ” ท่่านผู้อ่านก็ต้องขอตรวจยีนแฝงทาลาสซีเมียทั้งสองสาย ถ้าหมอจะเก็บเงินเพิ่มก็ต้องยอมจ่าย ถ้าตรวจแล้วพบว่าตัวเองมียีนแฝง ก็ต้องไปลากเอาสามีมาตรวจด้วยอีกคน แล้วถามหมอว่าจะมีโอกาสได้ลูกผิดปกติแบบรุนแรงไหม ถ้าหมอตอบว่ามี ก็ต้องเดินหน้าตรวจยีนของลูกด้วยเทคนิคใดเทคนิคหนึ่ง (เช่นตรวจน้ำคร่ำ) ให้เสร็จก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ นี่เป็นมาตรฐานการจัดการโรคนี้สำหรับคนตั้งครรภ์ แต่ว่ามาตรฐานนี้ไม่ค่อยได้ใช้กับคนตั้งครรภ์ส่วนใหญ่

     ก๊อกที่ 3. ก็คือในการติดตามดูครรภ์นั้น แพทย์ส่วนใหญ่นิยมทำอุลตร้าซาวด์เป็นระยะๆ และในเดือนท้ายๆ หากเด็กทารกในครรภ์เป็นทาลาสซีเมียชนิดรุนแรง ภาพอุลตร้าซาวด์จะเห็นเด็กบวมน้ำ (hydrops fetalis) ตอนนี้คุณมาติดอยู่ที่ก๊อกนี้ และนี่เป็นคำตอบคำถามที่สองของคุณไปในตัว ว่าทำไมแพทย์ต้องรอมาถึงเดือนที่ 8 คำตอบก็คือแพทย์ไม่ได้รออะไร เพราะแพทย์ไม่มีข้อมูลอะไร ได้แต่เฝ้าดูครรภ์มาตามปกติ แล้วอยู่ๆก็มาจ๊ะเอ๋เอากับภาพอุลตร้าซาวด์ในเดือนที่ 8 ว่าเด็กบวมน้ำ เพราะการบวมน้ำมันจะเห็นจากอุลตร้าซาวด์ก็ต่อเมื่ออายุครรภ์แก่ๆใกล้คลอดแล้วเท่านั้น เห็นดังน้้นหมอจึงย้อนมาตรวจเลือดคุณแม่และคุณพ่อดู จึงพบว่าทั้งคุณแม่และคุณพ่อมียีนทาลาสซีเมียซึ่งนำไปสู่การเกิดบุตรที่เป็นทาลาสซีเมียได้

     2. ถามว่าถ้าลูกบวมน้ำแล้ว ควรยุติการตั้งครรภ์ไหม ตอบว่าถ้าภาพอุลตร้าซาวด์เห็นเด็กทารกในครรภ์บวมน้ำ (hydrops fetalis) จริง สิ่งที่พึงทำคือการสืบค้นหาสาเหตุของการบวมน้ำ ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุจากทาลาสซีเมียชนิดรุนแรงเท่านั้น ยิ่งในกรณีของคุณนี้ สาเหตุอาจไม่เกี่ยวกับทาลาสซีเมียเลยก็ได้ เพราะคุณบอกว่าฮีโมโกลบินทั้งของคุณและสามีเป็น EA โดยไม่พูดถึงว่ามีความผิดปกติสายอัลฟ่่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงโรคทาลาสซีเมียที่ลูกคุณจะเป็นอย่างแย่ที่สุดก็คือโรคฮีโมโกลบินอีเต็มขั้น (homozygous hemoglobin E disease) ซึ่งเป็นโรคระดับเบา เด็กเกิดมามีชีวิตปกติได้ และขณะอยู่ในครรภ์ก็จะไม่เกิดภาวะทารกบวมน้ำ (hydrops fetalis) ทั้งนี้หมายความว่าข้อมูลที่คุณให้ผมมาถูกต้องนะ ตรงนี้คุณและท่านผู้อ่านคงจะเห็นความสำคัญของการให้ข้อมูลที่ละเอียดครบถ้วนเวลาเขียนจดหมายมานะครับ เพราะคำตอบจะใช้ประโยชน์ได้มากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับความถูกต้องละเอียดของข้อมูลเนี่ยแหละ

     ในภาพรวมภาวะทารกบวมน้ำเกิดได้จากสองกลุ่มสาเหตุใหญ่ๆ คือ

     กลุ่มที่ 1. เหตุจากภูมิคุ้มกัน ภาษาหมอเรียกว่า immune related hydrops fetalis หรือ IHF ซึ่งหมายถึงโรคที่ภูมิคุ้มกันของตัวเองตีเม็ดเลือดของตัวเองแตก (autoimmune hemolitic disease) และโรคหมู่เลือด Rh ของแม่กับลูกไม่เข้ากัน (Rh isoimmunization) หมายความว่าแม่หมูเลือดเป็น Rh- แต่ลูกเป็น Rh+ แม่จึงผลิตภูมิคุ้มกันเล็ดรอดผ่านรกไปตีเม็ดเลือดแดงของลูกทำเอาเม็ดเลือดแดงของลูกแตกกระเจิง

     กลุ่มที่ 2. เหตุไม่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน (์NIHF) ซึ่งเกิดได้จากหลายโรค เช่น
(1) โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
(2) เนื้องอกที่หน้าอกซึ่งขัดขวางการไหลของน้ำเหลือง
(3) มียีนผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยีนอัลฟ่าทาลาสซีเมีย (ไม่เกี่ยวอะไรกับยีนแฝงฮีโมโกลบินอี.หรือ EA ของคุณซึ่งเป็นเรื่องของยีนเบต้าระดับหน่อมแน้มไม่รุนแรง)
(4) โรคเกี่ยวกับการเผาผลาญเช่นเบาหวาน
(5) การติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อ “สี่โรคแสบ” ที่ภาษาหมอเรียกว่า TORCH อันได้แก่ toxoplasmosis, หัดเยอรมัน ไวรัสซีเอ็มวี. และเริม

     ดังนั้นเมื่อตรวจพบภาวะทารกบวมน้ำ แพทย์จะต้องรีบสืบค้นหาสาเหตุด้วยการตรวจเลือดแม่ดูทุกอย่างรวมทั้งดูเอ็นไซม์ G6PD ที่เป็นสาเหตุให้ภูมิคุ้มกันตัวเองของแม่ เล็ดรอดผ่านรกไปตีเม็ดเลือดแดงของลูกแตกด้วย และเจาะเลือดจากสายสะดือทารกมาตรวจ (ใช้อุลตราซาวด์นำเข็มเจาะ) โดยยอมรับความเสี่ยงของความผิดพลาดจากการเจาะที่อาจนำไปสู่การแท้งบุตรได้ แต่ก็ต้องยอมเพราะการรู้สาเหตุเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อรู้สาเหตุแล้วก็จัดการไปตามสาเหตุ บางสาเหตุก็รักษาได้ง่ายๆ อย่างเช่นกรณีโรค G6PD และโรค Rh isoimmunization แต่บางโรคที่เป็นแล้วตายแหงๆก็ต้องทำแท้งเช่น กรณีโรคทาลาสซีเมียอัลฟ่าแบบจังๆที่ภาษาหมอเรียกว่าโรคฮีโมโกลบินบาร์ท เป็นต้น

     ปัญหาของคุณเป็นปัญหาที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างสูง ยกตัวอย่างเช่นการวินิจฉัยภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือเนื้องอกที่หน้าอกนี่ก็ต้องใช้หมอเฉพาะด้านโรคหัวใจเด็กที่เชี่ยวชาญเฉพาะการดูหัวใจทารกในครรภ์เท่านั้น การวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมก็ต้องอาศัยหมอโลหิตวิทยามาช่วย เป็นต้น โรงพยาบาลที่คุณบอกชื่อมานั้นเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก ไม่มีขีดความสามารถที่จะรับมือกับปัญหาของคุณได้ ผมแนะนำให้คุณกลับไปพบแพทย์ของคุณใหม่ ขอเวลาท่านสักครึ่งชั่วโมงเป็นกรณีพิเศษ พูดกับท่านดีๆว่า ท่านจะช่วยดำเนินการให้มีการวินิจฉัยสาเหตุของภาวะทารกบวมน้ำ (hydrops fetalis) ที่แน่ชัดถึงระดับที่ตัดสินใจได้ทันทีว่าควรทำแท้งหรือไม่ได้ไหม ถ้าท่านทำไม่ได้ ขอให้ท่านส่งตัวคุณไปรักษาต่อในโรงเรียนแพทย์ที่ไหนสักแห่งได้ไหม ถ้าท่านไม่ยอมส่งคุณก็ไปพบกับผู้อำนวยการของโรงพยาบาลแห่งนั้น ถ้าผู้อำนวยการไม่ยอมส่งตัวเพราะกลัวเสียเงิน คุณก็ไปยื่นเรื่องร้องเรียนฉุกเฉินกับคณะกรรมการแพทย์ของสำนักงานประกันสังคม (ผมเดาว่าคุณใช้ประกันสังคม) ถึงขั้นนี้แล้วผมรับประกันล้านเปอร์เซ็นต์ว่าคุณจะถูกส่งตัวไปรับการรักษาต่อในโรงเรียนแพทย์ที่มีผู้เชี่ยวชาญครบถ้วนพอที่จะวินิจฉัยสาเหตุของภาวะทารกบวมน้ำให้คุณได้ ส่วนการที่จะต้องรักษาสาเหตุอย่างไร ต้องทำแท้งไหม นั่นเป็นเรื่องของอนาคต ขึ้นอยู่กับผลการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร อย่าเพิ่่งไปตีอกชกหัวข้ามช็อตไปถึงนั่นเลย

     3.. ถามว่าจะมาหาหมอสันต์ได้ไหม ตอบว่า แหะ..แหะ หมอสันต์ตอนนี้เลิกรักษาคนไข้อย่างถาวรแล้วด้วยเหตุชราภาพ ได้แต่ให้การรักษาแบบโอรอล เซอเจอรี่ แปลว่าการทำผ่าตัดด้วยปาก เพราะแก่แล้วทำอะไรมากกว่านี้ไม่ไหว ทำได้แค่ให้ความรู้เล็กๆน้อยๆแก่คุณและท่านผู้อ่านอื่นๆเท่านั้น ถ้าจะมาหาหมอสันต์ เอาไว้บ้านโกรฟเฮ้าส์ซ่อมเสร็จมากินกาแฟคุยกันได้ แต่จะมาหาหมอสันต์ให้รักษาโรค hydrops fetalis เนี่ย โห.. cannot แปลว่า มิสามารถเจ้าค่ะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Hirsch M, Friedman S, Schoenfeld A, Ovadia J. Nonimmune hydrops fetalis–a rational attitude of management. Eur J Obstet Gynecol Reprod Biol. Mar 1985;19(3):191-6. [Medline].
2. Holzgreve W, Curry CJ, Golbus MS, et al. Investigation of nonimmune hydrops fetalis. Am J Obstet Gynecol. Dec 1 1984;150(7):805-12. [Medline].
3. Has R. Non-immune hydrops fetalis in the first trimester: a review of 30 cases. Clin Exp Obstet Gynecol. 2001;28(3):187-90. [Medline].
4. Heinonen S, Ryynänen M, Kirkinen P. Etiology and outcome of second trimester non-immunologic fetal hydrops. Acta Obstet Gynecol Scand. Jan 2000;79(1):15-8. [Medline].
5. Bukowski R, Saade GR. Hydrops fetalis. Clin Perinatol. Dec 2000;27(4):1007-31. [Medline].