Latest

หมอขี้กลัว

คือผมเป็นแพทย์ใช้ทุนปีสองจาก รพ. … ครับ อ่านบล็อกของอาจารย์มามากเลยครับ แต่มีสองหัวข้อที่อ่านแล้วทำให้ผมได้จุดประกาย อันแรกคือ “เป็นหมอแต่ไม่มีความสุข” ที่อาจารย์แนะนำให้ใช้ชีวิตแบบ portfolio ผมก็พยายามไปทำอะไร ศึกษาอะไรหลายๆอย่าง อย่างเล่นหุ้น ยิงธนู ฟันดาบซามูไร แต่ผมก็รู้สึกว่าชีวิตมันต้องมีงานหลัก เรื่องที่ผมไปทำเป็นงานอดิเรกทั้งสิ้น ผมรู้สึกเบื่องานประจำที่ตรวจอยู่มาก แต่ก็ไม่รู้จะเรียนอะไร จนคิดจะลาออกหลายครั้ง ทำงานไปวันวัน จนกระทั้งได้อ่าน “หมอขี้เบื่อ” ผมก็รู้สึกว่า เอ้อ เรานี่มันขี้เบื่อ แบบ severe หลังจากอ่านจบสองบล๊อก ผมเลยตัดสินใจไปขอทุนคณะแพทย์ มหาวิทยาลัย …… ไปเรียนอาชีวเวชศาสตร์ครับ แต่ตอนนี้ก็มีปัญหาใหม่ ว่าสาขานี้ สถานที่เรียนแต่ละที่รับน้อยมาก ถึงจะมีทุนของคณะแพทย์ แต่ว่า ถ้าไปเรียน อย่าง รพ. นพรัตน์ ที่เหมือนเป็นอันดับหนึ่งด้านนี้ ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะได้เรียน ทำให้รู้สึกกังวล และเราก็ไม่ได้มีเส้นสายอะไร ถ้าจะเรียนก็ต้องทำโพรไฟล์ของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับของบรรดาอาจารย์ สาขาอาชีวเวชศาสตร์นี้ผมอยากเรียนเพราะเป็นสาขาป้องกัน ใช้ความรู้ประยุกต์กว้างขวาง ได้ทำงานนอก รพ. และมีความเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร แต่ก็ต้องอาศัยการติดต่อประสานงานอย่างกว้างขวาง ทั้งลูกจ้างนายจ้าง กลุ่มอาชีวอนามัย หน่วยงานของรัฐต่างๆ ซึ่งผมเป็นคนพูดไม่เก่ง แล้วก็มักจะประหม่า เวลาต้องเจอคนใหญ่คนโต หรือคนที่สูงกว่าเรา หรือพูดในที่สาธารณะคนจำนวนๆมาก ทำให้รู้สึกกังวล ผมจะรู้สึกกังวลมากๆ เวลาที่อะไรในอนาคตมันยังไม่นิ่ง ไม่รู้จะได้เรียนที่ๆอยากเรียนไหม เรียนแล้วคงจะต้องฝึกการพูดประสานงานของตัวเองให้ดีขึ้น และมีความมั่นใจในตัวเองให้มากขึ้น ขอคำแนะนำอาจารย์ครับ
ขอบคุณมากครับอาจารย์

……………………………………………………………………

ตอบครับ

     1.. ถามว่าเมื่ออนาคตมันยังไม่นิ่ง จะดับความกังวลได้อย่างไร ตอบว่า ผมแนะนำให้ทำสามอย่างต่อไปนี้ครับ

     อย่างที่หนึ่ง คือ คุณเข้าใจชีวิตผิดไปหรือเปล่า? มีอนาคตของใครนิ่งบ้าง ขนาดอนาคตของคนตายยังไม่นิ่งเลย เพราะไม่รู้จะถูกฝังหรือถูกเผา เผาแล้วเขาจะเก็บเถ้าทำสถูปหรือจะเอาเถ้าไปลอยน้ำ ยังไม่รู้เลย ไม่ต้องพูดถึงอนาคตของคนตัวเป็นๆ มันจะนิ่งได้อย่างไรเล่าครับ ดังนั้นสิ่งแรกเลยคือคือแก้ไขความเข้าใจชีวิตที่ผิดไปให้ถูกเสียก่อน ว่าอนาคตนั้นมันมีธรรมชาติว่าจะต้องไม่นิ่งและไม่แน่นอน จะต้องเปลี่ยนแปลง คุณจะต้องยอมรับตรงนี้ให้ได้ก่อน ชีวิตจึงจะเดินหน้าต่อไปได้

     อย่างที่สอง คือ คุณจะต้องวางแผนชีวิตแบบมีแผนเผื่อความเป็นไปได้ (contingency plan) พูดง่ายๆว่าชีวิตมันต้องมีหลายแผน เหมือนกระต่ายป่าที่เจาะทางเข้าออกรังตัวเองไว้หลายรู ถ้าแผนนี้ติดก็งัดแผนนั้นขึ้นมา ถ้าแผนนั้นติดก็งัดแผนโน้นขึ้นมา    โดยวิธีนี้ก็ไม่ต้องมีคำถามว่าถ้าไม่ได้อย่างที่คิดแล้วจะทำอย่างไร เพราะเราคิดไว้หลายอย่าง ไม่ได้อย่าง 1 ก็ไปอย่าง 2

     อย่างที่ 3. คือคุณต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ ณ here and now เพราะชีวิตที่แท้จริงดำรงอยู่ในสถานที่ here และเวลา now

     เมื่อพูดถึงปัจจุบัน ชีวิตมันมีอยู่สองอย่างเท่านั้น คือ

     (1) เรากำลังทำอะไรสักอย่างตามแผนชีวิต พูดง่ายๆว่าเรากำลังทำงาน หรือ

     (2) เราไม่ได้ทำงาน อาจทำอะไรอยู่ก็ได้แต่ไม่ได้ทำงาน

     ถ้าเป็นกำลังทำงานไม่มีปัญหา เราก็โฟคัสที่งานไป จนงานจบ แต่ถ้าไม่ได้ทำงานนี่แหละยุ่ง เพราะมันไม่มีอะไรจะให้เราโฟคัส ใจมันก็เลยเตลิดไปไหนต่อไหนจนตามไม่ทัน ผลก็คือความทุกข์กังวลอย่างที่คุณเจออยู่

     การจะเอาชนะปัญหานี้คุณต้องเรียนรู้ทักษะที่จะอยู่ที่ here ในเวลา now อย่างมีความสุข ผมเพิ่งแนะนำคนไข้ท่านหนึ่งไปไม่นานนี้ว่าให้ใช้วิธี “เรียกความสุขมาหา” เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าตัวเองล่องลอยกังวลไปไหนต่อไหนไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ให้หายใจเข้าลึกๆแล้วระบายลมหายใจออกพร้อมกับบอกให้ร่างกายทุกส่วนผ่อนคลาย ทำสักสองสามครั้งจนรู้สึกว่าสบายกาย แล้วความสบายใจก็จะตามมา เมื่อสบายกายสบายใจแล้วก็จำโมเมนต์นี้ไว้ ว่านี่คือความสุขที่อยู่กับเราที่นี่เดี๋ยวนี้ แค่เนี้ยะ ไม่ซับซ้อนเลย พอคุณมีทักษะที่จะอยู่กับปัจจุบันอย่างสบายกายสบายใจได้แล้ว ความกังวลที่คุณพยายามเอาชนะมันจะหายหน้าไปเอง

     2. ถามว่าความกลัวคน เจอคนที่สูงกว่าเราก็กลัว จะไปสอบสัมภาษณ์ก็กลัว จะทำอย่างไร ตอบว่า มันก็คล้ายๆกับการเลิกหวังว่าอนาคตจะแน่นอน คราวนี้คุณต้องเลิกหวังว่าคนอื่นเขาจะเข้าใจคุณ จะรู้จักคุณ และให้คุณเตรียมตัวไว้เลยว่าเขาอาจจะเข้าใจคุณผิดไปแบบว่า โอ้โฮ.. คิดได้ไงเนี่ย อันนี้มันเป็นความจริงอีกข้อหนึ่งของชีวิต

     เขียนมาถึงตรงนี้เพิ่งนึกอะไรขึ้นได้ ขอนอกเรื่องหน่อยนะ คือเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1995 คือประมาณยี่สิบปีมาแล้ว ผมไปทำงานให้สมาคมหัวใจอเมริกันที่เมืองดัลลัส งานนั้นเป็นการจัดทำมาตรฐานการช่วยชีวิตของโลก เป็นการทำงานร่วมกันของหมอจากทั่วโลกจำนวนร่วมร้อยคน หมอที่มาทำงานช่วยชีวิตมักมีภูมิหลังแปลกๆ บางคนเป็นพนักงานดับเพลิงมาก่อน บางคนเป็นสัปเหล่อมาก่อน มีเพื่อนคนหนึ่งเป็นหมอจากอังกฤษ เขาเคยเป็นสัตวแพทย์มาก่อน เขาเล่าโจ๊กเรื่องนี้ให้ฟังโดยเขายืนยันว่าเป็นเรื่องจริง เรื่องมีอยู่ว่าแต่เดิมสำนักงานเกษตรท้องถิ่นของอังกฤษมีบริการพ่อวัวพันธุ์ดีให้เกษตรกรเอาไปผสมพันธุ์กับวัวตัวเมียของตนฟรี ต่อมาเมื่อเทคนิคการผสมเทียมปศุสัตว์พัฒนาดีขึ้นรัฐบาลอังกฤษก็แจ้งให้ชาวนาทราบว่าต่อแต่นี้ไปรัฐบาลจะเลิกบริการพ่อวัวพันธุ์ดีแล้ว ใครที่ต้องการผสมแม่วัวให้ไปติดต่อขอรับบริการผสมเทียมจากคลินิกสัตว์แพทย์ในท้องถิ่นแทน เพื่อนผมเล่าว่าชาวนาคนหนึ่งก็ไปติดต่อขอรับบริการที่คลินิกสัตวแพทย์ สัตวแพทย์ก็ให้คำแนะนำต่างๆพร้อมสั่งว่าเมื่อแม่วัวเป็นสัดก็ให้รีบใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดรอบๆอวัยวะเพศพร้อมทั้งให้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคไปทำความสะอาดด้วย และกำชับว่าเมื่อพร้อมแล้วก็ให้รีบโทรศัพท์มาบอกสัตว์แพทย์จะไปดำเนินการผสมเทียมให้ ชาวนาก็ทำตามนั้นทุกประการ พอสัตว์แพทย์ไปถึงชาวนาก็แจ้งว่า

     “ทุกอย่างพร้อมแล้วครับคุณหมอ ผมติดตะขอไว้ที่เสาข้างประตูคอกวัวให้คุณหมอด้วย” สัตวแพทย์สงสัยจึงถามว่า

     “ติดไว้ทำไมหรือครับ” ชาวนาตอบว่า

     “อ้าว..ก็เอาไว้ให้หมอแขวนกางเกงไงครับ”
   
     ฮะ ฮ่า ฮ่า แคว่ก แคว่ก แคว่ก ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น
     
     กลับเข้าเรื่องดีกว่า ความที่คนอื่น เขามักจะเข้าใจเราผิดไปเสมอ ประเมินเราผิดไปเสมอ ปีเตอร์ ดรั๊กเกอร์ ปรมาจารย์วิชาบริหารธุรกิจจึงได้สอนหลักสำคัญอันหนึ่งเรียกว่า “หลักความรับผิดชอบต่อความสัมพันธ์ (relationship responsibility)” หลักอันนี้มีอยู่ว่าเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะต้องเข้าหาเจ้านายแล้วให้ข้อมูลเจ้านายว่าเรามีจุดอ่อนจุดแข็งอะไรบ้าง เราชอบอะไรไม่ชอบอะไร เขาจะใช้ประโยชน์อะไรจากเราไปสร้างสรรค์องค์กรได้บ้าง ขณะเดียวกันก็ศึกษาเจ้านายว่าเขาถนัดแบบไหน ต้องสื่อสารกับเขาอย่างไร อย่างในกรณีที่คุณหมอจะต้องไปสอบสัมภาษณ์เข้าเรียน มันก็เป็นความรับผิดชอบของคุณหมอที่จะต้องให้ข้อมูลอาจารย์ผู้สัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้วยโปรไฟล์ผลงาน หนังสือแนะนำตัว หรือวิธีใดก็ตาม ที่จะให้อาจารย์ผู้คัดเลือกทราบว่าตัวเรามีจุดแข็งและมีความชอบความสนใจอะไรบ้าง ตรงนี้เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำ ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ แล้วอาจารย์ผู้คัดเลือกจะไปตรัสรู้ได้อย่างไรละครับว่าเราเหมาะกับสาขาที่เราสมัครเรียนหรือไม่

     ควบคู่ไปกับการเลิกคาดหวังให้คนอื่นเข้าใจเราและถือเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำให้เขารู้จักเรา ก็ต้องสร้างทักษะในการทำให้เขารู้จักเราหรือทักษะในการสื่อสารกับคนอื่นด้วย เทคนิคที่เราใช้แนะนำผู้ป่วยโรคกลัวคน (SAD) สามอย่างต่อไปนี้คุณหมอเอาไปประยุกต์ใช้ได้

   2.1 เทคนิคเข้าหา (exposure therapy) เริ่มด้วยการจินตนาการสมมุติเอาก่อน สมมุติว่าเราไปนั่งสอบสัมภาษณ์ จินตนาการให้เห็นตัวเรากำลังสื่อสารให้คนอื่นเห็นจุดอ่อนจุดแข็งของเรา ใหม่ๆแม้จะเป็นเพียงจินตนาการเราก็ยังรู้สึกกลัว บ่อยๆเข้าก็ชักจะคุ้นและทำได้ พอมั่นใจระดับหนึ่งก็ทำการบ้านโดยหาทางออกงาน เช่น พบผู้ใหญ่ตัวเป็นๆก็เข้าไปพูดคุยกับเขา ทำแบบนี้บ่อยๆก็จะหายกล้วและกล้าพบกล้าคุยออกความเห็นกับคนที่ใหญ่กว่าเราไปเอง

     2.2 เทคนิคฝึกทักษะทางสังคม (social skill training) ก็คือการซ้อมนั่นเอง ใหม่ๆก็ซ้อมพูด ซ้อมมองตาคนโดยพูดกับตัวเองในกระจก มองตาตัวเองในกระจก แล้วก็ไปซ้อมกับคนใกล้ชิดที่เราไม่กลัวอยู่แล้ว จนกล้าพอก็ไปซ้อมกับคนที่ใหญ่กว่าเรา

    2.3      เทคนิดคิดใหม่ (cognitive restructuring) เรียนรู้ที่จะจับให้ได้ว่าความคิดอันไหนชักนำให้เกิดความกลัว แล้วมองลงไปในความคิดนั้นให้เห็นว่าประเด็นนั้นไม่จริง ประเด็นนี้งี่เง่า แล้วฟอร์มความคิดใหม่ที่เป็นบวกและเข้าท่ากว่าขึ้นมาแทน คิดถึงความคิดบวกนี้บ่อยๆ

     3. พูดถึงสาขาอาชีวเวชกรรมที่คุณหมอว่าไม่เหมือนสาขาอื่นนั้น ความจริงมันเป็นสาขาที่เนื้อหาวิชาค่อนข้างนิ่งและมีโครงสร้างตายตัวแน่นอนแล้ว มาตรฐานต่างๆในวิชานี้ แม้ว่าในเมืองไทยจะยังไม่มีการจัดทำเป็นมาตรฐานของไทย แต่ในระดับนานาชาติก็มีการจัดทำมาตรฐานและหลักปฏิบัติของวิชานี้ไว้ชัดเจนมาก โดยเฉพาะมาตรฐานของ occupation health and safety act (OSHA) และ National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH) นั้นเป็นอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป การจัดทำทำเนียบของสารพิษและวิธีแก้ไขพิษ (MSDS) ก็มีการจัดทำไว้แล้วในระดับสากลอย่างสมบูรณ์ยิ่งทุกอุตสาหกรรม อีกทั้งวงการอุตสาหกรรมแขนงต่างๆทั่วโลกก็ได้นำเอากระบวนการจัดการความเสี่ยงต่อสุขภาพ (health risk management) ในงานอาชีวเวชกรรมไปปฏิบัติจนส่งผลให้การเจ็บป่วยจากการทำงานลดลงจนเหลือต่ำมาก ดังนั้นส่วนที่เป็นเนื้อหาวิชาอาชีวเวชกรรมนั้นนิ่งแล้วและไม่มีอะไรท้าทายมากนัก แต่สิ่งที่ท้าทายมากกว่าคือทำอย่างไรจึงจะนำหลักการส่งเสริมสุขภาพทั่วๆไปทั้งเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด ไปใช้กับผู้คนที่ทำงานอยู่ในภาคอุตสากรรมให้ได้ผล ถ้าคุณหมอไปเรียนในสาขาอาชีวเวชกรรมผมฝากให้คุณหมอเอาตรงนี้ไปทำด้วย จะทำเป็นงานวิจัยตอนสอบบอร์ดก็ได้ เพราะทำแล้วจะมีคนได้ประโยชน์มากมาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์