Latest

ผ่าตัดแบบต้อกระจกเพื่อรักษาสายตา (Refractive lens exchange)

ผมชื่อ …. อายุ 36 ปี เป็นอาจารย์อยู่ที่ ม. ….. ผมได้แก้ปัญหาสายตาแบบ Refractive lens exchange โดยให้สายตาเป็นแบบ mini monovision ครับผ่าตัดได้เดือนครึ่งครับ เจอปัญหาคือเปลี่ยนแว่นมองใกล้ ไกลบ่อยครับ ปวดหัวเวลาอ่านหนังสือด้วยตาเปล่า แว่นโปรเกรสซีฟก็ยังใช้ยากครับ คุณหมอผมควรจะทำอย่างไรดีครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง
อาจารย์….

Sent from Yahoo! Mail on Android

……………………………………………..

ตอบครับ

     ก่อนที่จะตอบคำถามของอาจารย์ท่านนี้ เรามานิยามศัพท์เพื่อให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นๆตามเรื่องได้ทันก่อนนะ

     ศัพท์ตัวแรก Refractive lens exchange แปลตามประสาหมอสันต์ว่าคือการผ่าตัดต้อกระจก ให้คนที่ตายังไม่ได้เป็นต้อกระจกสักนิดเดียว

     ิอะจ๊าก..ก พูดผิด พูดใหม่ แปลว่าคือการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ (ตาสั้นก็ดี ตาเอียงก็ดี ตายาวก็ดี) ให้คนอายุ 30-50 ปีด้วยวิธีเอาเลนส์ตาที่ยังดีๆอยู่ออกทิ้งไปซะ แล้วเอาเลนส์เทียมเข้าใส่แทน ทั้งนี้เพื่อหวังใช้เลนส์เทียมนี้แก้ปัญหาการหักเหของแสงที่ได้เกิดขึ้นแล้วเหน่งๆในปัจจุบัน แถมยังมองข้ามช็อตเผื่อไปถึงการใช้เลนส์เทียมนี้แก้ปัญหาต้อกระจกไว้ล่วงหน้า ต้อกระจกที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่ออายุ 70 ปี หรือ 80 ปี หรือ 90 ปี หรือ 100 ปีก็ตาม

     ถามว่า “ถ้าหมอสันต์เป็นหมอตา จะทำผ่าตัดชนิดนี้ให้คนไข้ไหม”

     ตอบว่า “ไม่ทำเด็ดขาด” 

     ถามว่า “ทำไมไม่ทำ”

     ตอบว่า “เพราะหมอสันต์ด่าศาลไว้แยะ จึงกลัวไปจนมุมในศาลแบบต้องยกมือไหว้ศาลปะลกปะลก ว่า..ข้าแต่ศาลที่เคารพ ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจดีที่สุดเท่าที่ความรู้และประสบการณ์ที่ข้าพเจ้ามีแล้ว ที่ได้ตัดสินใจผ่าเข้าไปในลูกตาของผู้ชายคนนี้ ดูดเอาเลนส์ตาจริงที่ยังดีๆอยู่ของเขาออกทิ้งไป แล้วใส่เลนส์เทียมให้แทน เพื่อแลกกับการที่เขาจะได้ไม่ต้องใส่แว่นสายตาราคาคู่ละสามพันบาท”

    แหะ แหะ แหะ ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     เฮ้ย.. นอกเรื่องแล้วลุ้ง เขาให้นิยามศัพท์นะ ไม่ใช่มาโม้ไร้สาระ โอเค. โอเค. กลับเข้าเรื่องดีกว่า แต่ขออีกหน่อยนะ ว่าก็ว่าเถอะ ในชีวิตจริงหมอสันต์ไม่ได้เป็นหมอตา ดังนั้นคุณอย่าไปสนใจว่าคนไม่รู้เรื่องตาจะซี้ซั้วแสดงทัศนะส่วนตัวอะไรเลยเกี่ยวกับตาเลย  มาสนใจข้อมูลความจริงทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้กันดีกว่า

     ศัพท์ตัวที่สอง Intra ocular lens (IOL) แปลว่าเลนส์เทียมที่หมอตาผ่าตัดใส่เข้าไปในลูกตาแทนเลนส์แท้ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เรียงตามชนิดโบราณไล่ไปหาชนิดทันสมัย คือ

     1. Monofocal IOL คือเลนส์รุ่นดั้งเดิมที่ปรับความยาวโฟกัสใกล้ไกลไม่ได้ ถ้าเลือกแบบมองใกล้ชัดก็ชัดแต่ใกล้ จะมองไกลต้องใช้แว่น ถ้าเลือกแบบมองไกลชัดก็ชัดแต่ไกล จะมองใกล้ต้องใช้แว่น ถ้าจะไม่ใช้แว่นเลยก็ต้องใส่แบบมองใกล้ให้ตาข้างหนึ่ง แล้วใส่แบบมองไกลให้ตาอีกข้างหนึ่ง แล้วให้เจ้าตัวไปหัดเย่อตากันเอาเอง ชัดไม่ชัดเวียนหัวไม่เวียนหัวก็ย่อมสุดแล้วแต่บุญกรรม ตัวเลนส์โมโนโฟคอลนี้แม้ว่ามันจะแข็งทื่อมะลื่อไม่ยืดหยุ่น แต่มันก็มีข้อดีคือเวลาแสงแยงตามันจะไม่เห็นแสงจ้าเป็นวง (halo)

     2. Mini monofocal IOL คือเลนส์ตาแบบโมโนโฟคอลนั่นแหละแต่ว่าแทนที่จะทำจากเลนส์ที่มีผิวเป็นส่วนของทรงกลมแบบผิวลูกปิงปองตามปกติก็ทำจากเลนส์ที่ผิวออกแนวลาดเหมือนหลังเต่า (aspheric lens) สมัยโบราณเรียกว่าเลนส์กาบกล้วย ซึ่งเป็นชื่อที่ไม่เข้าท่าเลยเพราะมันไม่ได้เหมือนกาบกล้วยสักนิด แล้วผ่าตัดใส่แบบมองใกล้หนึ่งตามองไกลหนึ่งตาเหมือนกัน แต่ว่าระยะใกล้ไกลนั้นตั้งไม่ห่างกันมาเท่าโมโนโฟคอลปกติ เชื่อว่าทำอย่างนี้จะทำให้การมองทั้งใกล้และไกลโดยไม่ใช้แว่นชัดดีโดยตาไม่ต้องเย่อกันมากนัก

     3. Multifocal IOL คือเลนส์แบบปรับระยะใกล้ไกลอัตโนมัติ ซึ่งพับได้และปรับความยาวโฟกัสได้เพราะกล้ามเนื้อตาสามารถขยับตัวเลนส์เข้าออกได้ระดับหนึ่ง ทำให้มองภาพได้ชัดทั้งใกล้และไกลได้ มีอัตราการต้องพึ่งแว่นตาน้อยกว่าแบบโมโนวิชั่น แต่ก็มีข้อเสียถ้ามีแสงแยงตาจะเห็นแสงสว่างโร่เป็นวง (halo) ได้ประมาณ 1-5% สุดแล้วแต่จะใช้ของถูกหรือของแพง รุ่นเก่า

     4. Accommodative intraocular Crystalens (Eyeonics) จัดว่าเป็นสุดยอดเทคโนโลยีเลนส์เทียม นับถึง ณ วันนี้ ตรงที่ตัวเลนส์เคลื่อนไหวเด้งได้ตามแรงดันของน้ำวุ้นช่องหลังลูกตา และตามแรงบีบของกล้ามเนื้อ ทำให้ปรับมองภาพทั้งใกล้และไกลได้ชัดกว่าเลนส์ดั้งเดิมรุ่นก่อนๆ แต่ว่าเหนือฟ้ายังมีฟ้า ยังมีเลนส์รุ่นใหม่ที่กำลังทำวิจัยใกล้ออกตลาดรอมร่ออีกหลายชนิด แต่ละชนิดคอนเซ็พท์ในการออกแบบก็จ๊าบๆทั้งนั้น ดังนั้นเรื่องเลนส์ตานี้ ใครทำช้า ก็จะได้พร้าเล่มงาม

     โอเค้. ได้นิยามศัพท์กันเป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายแล้ว คราวนี้ก็มาตอบคำถามของอาจารย์ท่านนี้

     1.. ถามว่าผ่าตัด Refractive lens exchange โดยใช้เลนส์แบบ mini monovision แล้วต้องเปลี่ยนแว่นมองใกล้ ไกลบ่อยครับ ปวดหัวเวลาอ่านหนังสือด้วยตาเปล่า จะใช้แว่นโปรเกรสซีฟก็ไม่ถนัด จะทำอย่างไรดีครับ ตอบว่า ทนๆลำบากไปเถอะครับ เดี๋ยวก็ชินไปเอง.. อุ๊บ ขอโทษ พูดตรงเกินไป เอ๊ย ไม่ใช่ พูดรวบรัดเกินไป

     ความเป็นจริงก็คือว่าการผ่าตัดใส่เลนส์แบบโมโนวิชั่นไม่ว่าจะมินิหรือไม่มินิ ก็ใช้หลักเดียวกัน คือให้ตาหนึ่งมองใกล้เห็นชัด อีกตาหนึ่งมองไกลเห็นชัด แล้วให้สองตาชักเย่อกันเอาเอง แต่ว่าก่อนผ่าตัดสมองของคุณคุ้นเคยแต่ว่าสองตามองผ่านแว่นแล้วเห็นชัดเท่าๆกัน ดังนั้นหลังผ่าตัดหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือนแรก สมองคุณจะต้องเรียนรู้การมองภาพและการกะระยะตื้นลึกเสียใหม่ ดังนั้นหกเดือนแรกนี้เป็นระยะหัดสมองของคุณ คุณต้องใจเย็นๆ และต้องมีความละเอียดลออ สังเกตสังกา ผมแนะนำให้คุณสอนสมองของคุณให้คุ้นเคยสักสามระยะก่อน คือระยะไกล้ ซึ่งก็คืออ่านหนังสือพิมพ์ ระยะกลาง ซึ่งก็คือดูจอคอมพิวเตอร์หรือทีวี. และระยะไกล ซึ่งก็คือมองสาวๆที่เดินถนน คุณเคยเห็นเขาเป่าทรอมโบนไหม เครื่องดนตรีที่คล้ายทรัมเป็ตแต่ว่ายาวสักวาหนึ่งได้ เวลาเป่าเขาต้องชักมือหนึ่งเข้าออกๆเพื่อให้ได้เสียงสูงต่ำตามต้องการ ในการสอนสมองของคุณ คุณก็ทำแบบนั้นแหละเอามือถือกระดาษที่เขียนอะไรไว้ ยื่นออกไปสุดแขน มองที่ระยะไกลสุด ถือไว้นิ่งๆ แล้วมองอย่างพินิจพิเคราะห์ ลองตั้งใจมองด้วยตาซ้าย แล้วเปลี่ยนมาตั้งใจมองด้วยตาขวา โดยที่ตาอีกที่ข้างเราไม้ได้ตั้งใจใช้มองก็ยังลืมตาอยู่นะ แต่ไม่ตั้งใจมอง มันยากตรงนี้แหละ ไม่แน่ใจว่าผมพูดพล่ามอยู่คนเดียวหรือเปล่า คุณเข้าใจไหมเนี่ย คือสมองของเรานี้ปกติเราไม่เคยสนใจว่าภาพที่เห็นตรงหน้านี้เอาตาไหนมอง แต่ในการฝึกนี้คุณต้องสนใจ มองแล้วเปรียบเทียบกันว่าตาไหนชัด แล้วจำไว้ ว่าระยะนี้ ต่อไปต้องเอาตาข้างนี้มอง แล้วเลื่อนมือเอากระดาษเข้ามาระยะกลาง มองอีก ด้วยตาซ้ายก่อน แล้วก็ด้วยตาขวา แล้วก็ชั่งน้ำหนักความชัด มองซ้ำกลับไปกลับมา จนสรุปได้ว่ามองตาไหนชัด แล้วจำไว้ แล้วเลื่อนมือเอากระดาษเข้ามาระยะใกล้ แล้วทำแบบเดียวกัน แล้วก็เปลี่ยนกระดาษจากตัวหนังสือเป็นรูปภาพสี่สี เลื่อนเข้าเลื่อนออกมองด้วยตาซ้าย มองด้วยตาขวา แบบเดียวกัน ทำแบบนี้บ่อยๆ จนคุณเกิดทักษะในการมอง พอจับระยะได้ปุ๊บ รู้เลยว่าจะต้องมองด้วยตาข้างไหน แล้วในที่สุดคุณก็จะหายเวียนหัว หายปวดหัว และไม่ต้องใช้แว่นโปรเกรสซีฟ

     2.. อันนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมถามแทนท่านผู้อ่านท่านอื่น โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่รักสวยรักงาม ห่วงภาพลักษณ์ รังเกียจแว่น แต่มีปัญหาสายตาผิดปกติ สายตานะ เรียกว่าเป็นปัญหาการหักเหของแสง ( refractive)  แล้วอยากจะไปทำผ่าตัด refractive lens exchange แบบอาจารย์ท่านนี้บ้าง จะดีไหม ผมขอแยกตอบเป็นสามกรณี

     กรณีที่ 1. ถ้าคุณแก่ได้ที่แล้ว หมายความว่าอายุใกล้จะหกสิบหรือหกสิบไปแล้ว แล้วมีปัญหาสายตายาว แถมมีต้อกระจกเกิดขึ้นมาบ้างแล้วประปรายแม้จะยังไม่ขุ่นมัวมาก ตอบว่า ทำผ่าตัดแบบ refractive lens exchange นี้ก็ดีนะครับ คือยิงนกทีเดียวได้สองตัวไง แก้สายตายาวด้วย แก้ต้อกระจกด้วย เพราะเมื่อเริ่มเป็นแล้วมันก็จะต้องขุ่นขึ้นๆจนมัวในที่สุดอยู่ดี

     กรณีที่ 2. ถ้าคุณเกือบจะแก่ ผมหมายความว่าอายุสี่สิบขึ้นไป แล้วเป็นสายตายาว เกลียดแว่นมาก คุณได้ลองคอนแทคแล้ว ก็ไปแพ้คอนแทคอีก ใส่ไม่ได้เลย คุณจะทำผ่าตัด refractive lens exchange กับเขาบ้าง ผมว่าก็โอนะ เพราะคนเกลียดการเป็นป้าแช่มใส่แว่นไม่ได้ ใส่คอนแทคก็แพ้ แถมคุณก็เกือบจะแก่แล้ว ชั่วดีถี่ห่างอีกไม่นานก็คงจะได้เป็นต้อกระจกกับเขาบ้าง คุณจะผ่าตัดแบบนี้กับเขาก็ช่างคุณเถอะ ผมไม่ได้ว่าอะไร

     กรณีที่ 3. ถ้าคุณอายุเท่าไหร่ก็ตาม เลนส์ตายังใสปิ๊งอยู่ ไม่ได้เป็นต้อกระจกเลย แต่ว่าเป็นสายตาสั้นใส่แว่นหนาเตอะ แล้วอยากทำผ่าตัด refractive lens exchange กับเขาบ้าง ผมแนะนำว่า ยกต.หส. (อย่าแกว่งตีนหาเสี้ยน) เลยนะคุณ เพราะการผ่าตัดแบบนี้เป็นการผ่าตัดเข้าไปในลูกกะตา (intraocular surgery) ไม่ใช่การไปเดินเล่นสวนจตุจักร แล้วคนสายตาสั้นนี้มีกรรมสืบเนื่องมาแต่ปางก่อนอยู่อย่างหนึ่งว่าจอประสาทตาจะหลุดลอก (retinal detachment) ได้ง่าย แล้วการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์นี้ก็จะซ้ำเหงาให้จอประสาทตาหลุดลอกได้ง่ายขึ้นไปอีก คือเพิ่มโอกาสเกิดจอประสาทตาหลุดลอกตามที่มีรายงานกันไว้ก็เกิดได้ตั้งแต่ 1-10% เลยทีเดียว ถ้าหลุดลอกก็คือบอดนะครับคุณพี่

     แต่ถ้าคุณเป็นสาวบ้า..เอ๊ย ไม่ใช่ สาวมั่น ยังไงก็ไม่เอาแว่น คอนแทคก็ไม่เอา เลสิกก็ไม่ชอบ ต้องเอาวิธีสมัยใหม่ใส่เลนส์เทียมเท่านั้น ผมแนะนำให้คุณใช้วิธีใส่เลนส์เทียมแบบยึดกับม่านตา (iris) ซึ่งเลนส์เทียมจะวางซ้อนอยู่หน้าเลนส์จริงสิครับ เลนส์แบบนี้ชื่อ Verisyse IOL (Ophtec/AMO) ผมว่าปลอดภัยกว่านะ แล้วผลวิจัยระยะยาวก็บอกว่าดีด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. American Academy of Opthalmology. Preferred Practice Pattern® guidelines (“PPP”). Accessed on Janyary 29, 2013 at  http://one.aao.org/CE/PracticeGuidelines/PPP.aspx?sid=a3043761-ec14-40a0-bb84-d353240d211e

2. Calladine D, Evans JR, Shah S, Leyland M. Multifocal versus monofocal intraocular lenses after cataract extraction. Cochrane Database of Systematic Reviews 2012, Issue 9. Art. No.: CD003169. DOI: 10.1002/14651858.CD003169.pub3. Link to Cochrane Library. [PubMed]

3. Horgan N, Condon PI, Beatty S. Refractive lens exchange in high myopia: long term follow up. Br J Ophthalmol. 2005 Jun;89(6):670-2.

4. Güell JL, Morral M, Gris O, Gaytan J, Sisquella M, Manero F. Five-year follow-up of 399 phakic Artisan-Verisyse implantation for myopia, hyperopia, and/or astigmatism.
 Ophthalmology. 2008 Jun; 115(6):1002-12. Epub 2007 Nov 5.