Latest

วัยชรา เป็นอย่างนี้เองหรือ

เมืองซานตา โรซา แคลิฟอร์เนีย

     การประชุมจบแล้ว ยังแถมได้ไปดูงานที่ทรูนอร์ท เฮลท์ เซนเตอร์ ตบท้ายเป็นกำไรอีกหลายชั่วโมงด้วย ได้ความรู้ ประสบการณ์ และไอเดียใหม่ๆ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์กับคนไข้ของตัวเองไม่น้อย นับกว่าการเดินทางมาครั้งนี้คุ้มค่าทีเดียว เพื่อนๆที่มาร่วมประชุมเขาเดินทางกลับประเทศใครประเทศมันกันไปหมดแล้ว แต่ผมจงใจอยู่อีกหนึ่งวันเพื่อพักฟื้นตัวเองด้วยความเจียมสังขาร เพราะปูนนี้แล้วการจะจบประชุมแล้วพรวดพราดวิ่งไปขึ้นเครื่องบินเหมือนตอนหนุ่มๆนั้น คงไม่ดี ผมบอกให้พนักงานโรงแรมจองแท็กซี่มารับผมไปสนามบินโซโนมาวันรุ่งขึ้นตอนห้าโมงเย็น แล้วก็กลับห้อง เคลียร์เมลและโต้ตอบเมลเรื่องงานกับคนโน้นคนนี้ ภรรยาอุตส่าห์เมลมาสำทับว่าเข้านอนได้แล้ว อย่าทำอะไรมากเกินไป หัดสโลว์ไลฟ์เสียบ้าง ซึ่งผมก็ทำตามอย่างว่าง่าย เข้านอนตอนตีสอง แล้วปล่อยให้ตัวเองตื่นสายโดยไม่ตั้งนาฬิกาปลุก และตั้งใจว่ารุ่งขึ้นจะพักรอแท็กซี่อยู่ในรีสอร์ทนี้ไม่ไปไหนให้เหนื่อยอีก กว่าจะตื่นนอนและยุรยาตรลงมาจากห้องก็สิบเอ็ดโมงเข้าไปแล้ว นั่งละเลียดกับกาแฟและสลัดแบบเคี้ยวเอื้องช้าๆอีกเป็นชั่วโมง แล้วเปลี่ยนบรรยากาศออกมานั่งตากแดดรำไรใต้ต้นไม้ในสวนริมสระว่ายน้ำกลางรีสอร์ท สระว่ายน้ำยามนี้ควันขึ้นกรุ่นอ้อยอิ่ง เพราะมันเป็นสระน้ำอุ่น มีแหม่มวัยห้าหกสิบว่ายน้ำอยู่สองคน ชายหญิงชราเดินเป็นคู่แบบสะโลว์โมชั่นไปมารอบๆสระอีกสองสามคู่ วันธรรมดากลางสัปดาห์ที่ไม่มีคอร์สสุขภาพ รีสอร์ทแห่งนี้ก็ออกจะเงียบสงบ แดดอ่อนๆเพราะมีเมฆ อากาศเย็นกัดๆกรอบๆกำลังดี ผมนั่งขัดสมาธิแบบอยู่กับปัจจุบันไม่คิดอะไรได้พักใหญ่ มองใบโอ๊คสีเหลืองแกมน้ำตาลที่ร่วงหล่นลงมาสู่พื้นหญ้าอย่างช้าๆ ใบแล้วใบเล่า ยกข้อมือขึ้นดูนาฬิกา เที่ยงครึ่ง..อีกสี่ชั่วโมงครึ่งกว่าแท็กซี่จะมารับ

     พอใจสงบ ไม่คิดอะไร ก็เกิดความว่างเปล่าขึ้นในใจ ไม่กังวล ไม่ห่วง มีแต่ความรู้สึกว่างๆสบายๆ เอ๊ะ มันสบายเกินไปหรือเปล่าเนี่ย ไม่ใช่ ไม่ใช่ มันไม่ใช่สบายเกินไปหรอก แต่มันเป็นความรู้สึกเวิ้งว้างมากกว่า นี่เราจะนั่งรอไปสี่ชั่วโมงแบบว่างๆเวิ้งๆว้างๆอย่างนี้อะหรือ หรือว่านี่เองที่เป็นความรู้สึกที่คนไข้เขาชอบรำพันให้ฟังว่าชีวิตมันช่างไร้ค่าเสียจริง คือเมื่อเรารอการมาถึงของอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่ อาหารเย็น หรือ..ความตาย โดยรอ รอ รอ แบบไม่ยอมทำอะไรอย่างอื่น มันจะกลายเป็นช่องว่างที่ความรู้สึกว่าชีวิตไร้ค่าดอดขึ้นมาจู่โจมได้ทันที โดยเฉพาะถ้าสิ่งที่เรารอนั้นมันใช้เวลาหลายปี หรือนานเท่าไหร่ก็ยังไม่รู้ คงเป็นเพราะอย่างนี้กระมัง งานวิจัยความสุขในผู้สูงอายุถึงให้ผลที่คล้ายๆกันไม่ว่าทำที่ประเทศไหน คือให้ผลสรุปตรงกันว่าผู้สูงอายุต้องการมีงานทำ หรืออย่างน้อยก็มีอะไรทำ จะไม่เรียกว่างานก็ได้ เพราะถ้าไม่มีอะไรทำ มันจะเกิดความรู้สึกลบต่อชีวิตที่เหลืออยู่ นั่งรำพึงอยู่ในป่าช้า เอ๊ย..ไม่ใช่ ในรีสอร์ทแห่งนี้ ผมก็ตรัสรู้ขึ้นมาอีกแล้ว อีกเรื่องหนึ่งแล้ว คือ อ้อ..ความชราเป็นอย่างนี้นี่เอง แบบว่าว่างเป็นไม่ได้ ว่างเป็นอกหักรักคุดน้อยอกน้อยใจว่าตัวเองกำลังผ่านชีวิตไปอย่างไร้ค่าไร้ความหมายเพียงแค่รอวันที่จะกลายเป็นปุ๋ยเท่านั้น

     ยกนาฬิกาขึ้นดู อะไรกัน นั่งสะโลว์ไล้ฟตามใบสั่งภรรยามาแล้วตั้งนาน เพิ่งเที่ยงสี่สิบห้าเอง โห เหลือเวลาอีกสี่ชั่วโมงเต็มๆกว่าจะได้ไปสนามบิน น่าจะมาทำอะไรให้ชีวิตมีค่าขึ้นมาบ้างดีกว่า คิดได้แล้วก็เดินไปบอกให้พนักงานโรงแรมเปลี่ยนแผนเรียกแท็กซี่มาเลย และบอกว่าผมจะใช้บริการเช่าเหมาเขาจนถึงห้าโมงเย็น อีกชั่วหม้อข้าวเดือนแท็กซี่ก็โผล่หน้ามา เขารูปร่างใหญ่อย่างกับช้าง ช้างตัวพ่อเลยละไม่ใช่ลูกช้าง ผมยื่นมือให้เขาจับ

     “ผมชื่อแซ้นท์ คุณชื่ออะไร” เขาจับมือผมด้วยสองมืออย่างนอบน้อม และว่า

     “แซม ยินดีที่ได้พบคุณ”

บ้านสวนของลูเธอร์ เบอร์แบงค์

   การที่เขาอ้วนอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเขาเป็นชาวแคลิฟอร์เนีย แคลิฟอร์เนียเป็นถิ่นคนหลายชาติหลายภาษา มีทั้งสูง ต่ำ ดำ ขาว แต่เมื่อมาอยู่แคลิฟอร์เนียจนเข้าฝักดีแล้ว จะต้องอ้วนเหมือนกันหมด นี่เป็นสัจจะธรรม ดังนั้นคำนิยามคนแคลิฟอร์เนียก็คือสูงอ้วน ต่ำอ้วน ดำอ้วน หรือขาวอ้วน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

      เราคุยกันถึงแผนการใช้เวลาสี่ชั่วโมงจากนี้ไป ผมบอกว่าค่อยๆไปทีละจุดๆ จนใกล้เวลาเครื่องบินออกจึงค่อยไปสนามบิน ผมถามเขาว่าควรจะเริ่มที่ไหนก่อน เขาถามว่าผมสนใจ ลูเธอร์ เบอร์แบงค์ ไหม ผมเลิกคิ้ว

     “ลูเธอร์ เบอร์แบงค์ นักผสมพันธุ์พืชนะหรือ?” 

พันธ์ไม้ตัดดอกที่ผสมขึ้นโดยลูเธอร์

     เขาตอบว่าใช่ ผมรู้สึกคึกคักหายจากโรคชราทันที ลูเธอร์ เบอร์แบงค์ เป็นฮีโร่ของผมมาตั้งแต่วัยเด็กแล้ว ผมไม่ยักรู้ว่าเขาเป็นคนท้องถิ่นที่ซานตา โรซา นี่เอง เรื่องราวของเขามีอยู่ในหนังสือเรียนสมัยผมเรียนระดับประถมหรือมัธยมต้นเนี่ยแหละ เขาเป็นคนทำสวนและเป็นนักผสมพันธุ์พืชที่ไม่ได้เรียนหนังสือหนังหาอะไรมาก แต่อาศัยเป็นคนฉลาดช่างสังเกตและหมั่นศึกษาเพิ่มเติม เขาอาศัยหลักวิวัฒนาการของดาร์วินทำการผสมพันธ์พืชจนก่อให้เกิดพืชพันธ์ใหม่ๆขึ้นมาหลายร้อยชนิด ตัวเขาคบหาเป็นเพื่อนกับโทมัส เอดิสัน ฮีโร่ในดวงใจอีกคนหนึ่งของผมเช่นกัน เรื่องราวของเอดิสันก็อยู่ในหนังสือเรียนชั้นประถม เขาเป็นนักประดิษฐ์ที่ครูไล่ออกจากโรงเรียนเพราะครูว่าเขาปัญญาทึบ แต่เขาได้ประดิษฐ์คิดค้นอะไรต่างๆไว้มากมาย ผลงานของเขาที่บ้านผมยังมีอยู่ชิ้นหนึ่งเลย คือเครื่องเล่นแผ่นเสียงครั่ง “ตราหมาหอน” ยังตั้งทิ้งไว้ที่บ้านโกรฟเฮ้าส์ มวกเหล็ก ผมเก็บไว้เพื่อให้ตัวเองคอยระลึกถึงคนที่ครีเอทีฟอย่างเขาไว้บ่อยๆ ตัวเองจะได้มีครีเอทิวิตี้บ้าง

เรือนเพาะชำหลังบ้านลูเธอร์ เบอร์แบงค์

     เรามุ่งหน้าไปสวนของลูเธอร์ เบอร์แบงค์ ซึ่งห่างจากรีสอร์ทที่ผมพักไม่ถึงยี่สิบนาที ไปถึงก็ไม่ผิดหวัง บ้านชนบทแบบคอทเท็จเล็กๆสีขาว รั้วเตี้ยๆสีขาวเช่นกัน เรือนกระจก และสวนพรรณไม้ต่างๆที่เบอร์แบงค์คิดผสมพันธ์ขึ้น เดินชมไป อ่านเรื่องราวบนป้ายไป ดูรูปเก่าๆในบ้านไป เป็นอะไรที่รื่นรมย์มาก

     ออกจากสวนของลูเธอร์ เบอร์แบงค์ เราขึ้นรถเดินทางต่อไป แซมถามผมว่าคุณรู้จากการ์ตูนชาร์ลี บราวน์ ไหม แหม ใครจะไม่รู้จักการ์ตูนชุดพีนัท มีชาร์ลีบราวน์เป็นตัวเอกกับหมากวนโอ๊ยของเขาชื่อสนูปี้ กับเด็กหญิงปากร้ายชื่อลูซี่ ใครๆก็รู้จักกันทั้งนั้นแหละ ผมเซอร์ไพรส์อีกครั้งเมื่อแซมบอกว่าบ้านของชุลซ์ (Charles M. Schulz) คนเขียนการ์ตูนชาร์ลีบราวน์ อยู่ที่นี่ เขาทำมิวเซียมด้วย ผมตกลงไปดู คราวนี้เราต้องขับรถบ่ายหน้าเข้าเมือง ขับมาได้ราวยี่สิบนาทีก็ถึง เข้าจอดได้โดยง่าย เพราะเมืองซานตา โรซา นี้เล็กนิดเดียว พอลงจากรถก็บรรยากาศเงียบเชียบ มีเจ้าหมาสนูปี้นอนเฝ้าหน้าบ้านอยู่ พอมองไปใต้ต้นไม้จึงเห็นชาร์ลีบราวน์ตัวเบ้อเร้ออมยิ้มพลางชี้นิ้วมือไปที่ป้าย ซึ่งเขียนว่า

เห็นแต่สนูปี้นอนเฝ้าหน้าบ้าน

     “วันนี้มิวเซียมปิด” 

     แป่ว..ว…

     ผมถามแซมว่าเฮ้ย ยูรู้ไหมทำไมถึงปิดละ แซมบอกว่าไม่รู้ ก็ไอมาทุกทีไม่เคยเห็นมันปิดเลย ผมเข้าไปอ่านป้ายเวลาเปิดปิด จึงพบว่าเขาเปิดทุกวันยกเว้นวันอังคาร และวันนี้ก็เป็นวันอังคาร โธ่..ถัง ก็คุณเอาช้างมาเป็นมัคคุเทศก์ มันไม่ใช่งานที่เขาเคยทำคุณจะไปว่าเขาได้อย่างไร

เกอรูวิล เมืองคาวบอยชายป่า

     คราวนี้แซมขยาดกลัวจะผิดพลาดอีก เขาไม่กล้าเสนอความเห็นแล้ว แต่หันมาหารือเป็นเชิงขอรับคำสั่งว่าผมอยากไปที่ไหนต่อ ผมบอกว่าเมื่อวันก่อนผมไปดื่มเบียร์ในตลาด ในร้านชื่อรัสเชียนริเวอร์ (Russian River) ซึ่งฟังว่าเขาต้มกลั่นเบียร์นี้กันที่ย่านหุบเขาชื่อเดียวกัน ผมจึงบอกแซมว่าผมอยากเห็นหุบเขารัสเชียนริเวอร์ เขาถามว่าคุณเจาะจงจะไปตรงไหน ผมบอกว่าไปแบบไม่เจาะจง ขับรถเข้าไปในหุบเขาแล้วก็ดูมันเรื่อยเปื่อยไป

เราขับขึ้นเนินลงเนิน ผ่านไร่องุ่นเขียวแกมเหลืองสุดลูกตา แล้วก็ขึ้นเขา แล้วก็ลงห้วย ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำรัสเชียน แซมเล่าว่าแม่น้ำนี้เคยน้ำสูงปริ่มสะพาน แต่เดี๋ยวนี้แล้งน้ำ ผมบอกให้เขาจอดเพื่อดูน้ำ ปรากฏว่าน้ำอยู่ต่ำมากจนน่ากลัว แซมเล่าว่าช่วงนี้แล้งจัด ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมามีฝนตกแค่หกครั้ง พยากรณ์อากาศบอกว่าอีกสองวันฝนจะตก แต่ชาวบ้านไม่มีใครเชื่อกันแล้วเพราะบอกว่าจะตกๆก็ไม่เห็นตกสักที แซมยังเล่าอีกว่าเมื่อสองวันก่อนไฟไหม้ป่าแถวเลคทาโฮซึ่งสูงจากที่นี่ขึ้นไป ทำให้บ้านถูกไหม้ไปตั้งกว่า 600 หลัง ผมแย้งว่าดูป่ายังเขียวอยู่เลย แซมบอกว่านั่นแหละ มันเขียวแต่ก็จริง แต่ติดไฟได้ เพราะมันแห้ง ติดไฟง่ายมาก

ไฟป่ามาที บ้านแบบนี้ก็..เรียบร้อย

     เราขับไปตามถนนเลียบแม่น้ำในหุบเขา จนมาถึงหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งดูเหมือนตลาดคาวบอยในหนัง ผมบอกให้แซมหยุดรถเพื่อลงไปถ่ายรูป เป็นตำบลเล็กๆชายป่า ชื่อเกอรูวิล (Guerueville) มีธนาคาร ร้านเหล้า ร้านทำผม ผู้คนที่เดินถ้าไม่เป็นคาวบอยใส่หมวกจริงๆก็เป็นฮิปปี้ผมยาว ขี้ยา และพวกสิงห์มอเตอร์ไซค์ใส่เสื้อหนัง ดูมาดเวลาพวกเขายืนจับกลุ่มกันแล้วผมอยากจะถ่ายรูปยังไม่กล้าถ่ายเลย กลัวจะถูกเหยียบ ผมเดินลงไปริมน้ำ บรรยากาศเป็นธารน้ำนิ่งไหลผ่านป่าเรดวู้ด มีนกเป็ดน้ำสีขาวบินว่อนและลอยน้ำฟ่องอยู่เป็นจุดๆ มีบ้านหลังเล็กหลังน้อยซุกอยู่ตามชายป่า บ้างแทรกอยู่ระหว่างโคนต้นเรดวู้ดขนาดใหญ่ มิน่า เวลาไฟป่ามาทีจึงวอดที่ละหลายร้อยหลัง

     เดินมาถึงสี่แยก เห็นป้ายบอกว่าไปป่าอาร์มสตรอง ผมเดินไปถามแซมซึ่งหลับกรนคร่อกๆรออยู่ในรถว่าป่าอาร์มสตรองอยู่ไกลไหม แซมบอกว่าสักยี่สิบนาทีมั้ง ช่างเป็นโชคจริงๆ เพราะผมชอบเดินป่าเรดวู้ด และป่าอาร์มสตรองนี้ก็เป็นป่าเรดวู้ดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของแคลิฟอร์เนียทีเดียว ผมบอกแซมว่าเราไปที่นั่นกันดีกว่า

บรรยากาศในป่าเรดวู้ดอาร์มสตรอง วันโชคดีที่ไม่เจอไฟป่า

     ขับมาราวครึ่งชั่วโมงก็ถึงทางเข้าป่า ผมให้แซมส่งผมที่ป้อมพนักงานรักษาป่าแล้วไปรอผมที่ที่จอดรถ ผมจะเข้าไปเดินป่า แซมจอดรถเปิดประตูให้แล้วหันมาถามผมว่า

     “เวลาเจอหมี คุณรู้นะว่าจะต้องทำอย่างไร” ผมตอบว่า

     “รู้ ทำเสียงดังๆเข้าไว้ แล้วทำตัวให้พองแบบอึ่งอ่าง” แซมหัวเราะ และว่า

     “ถ้าผมให้คุณยืมหุ่นผมไปได้ ผมจะไม่ลังเลเลย”

     ผมเริ่มออกเดินเข้าไปในป่าซึ่งเงียบเชียบ แซมร้องตามหลังมาด้วยความเป็นห่วงว่า

     “เวลาไฟป่ามา เสียงของมันจะมาก่อนกลิ่นนะ” ผมตะโกนกลับไปว่า

     “ถ้าอีกสองชั่วโมงผมไม่โผล่กลับมา คุณบอกพวกแรงเจอร์ให้ไปตามหาผมก็แล้วกัน”

     วันนี้เป็นวันทำงานกลางสัปดาห์ ทางเดินในป่าจึงเงียบเชียบไร้ผู้คน ผมชอบเดินป่าเรดวู้ด เพราะบรรดาต้นเรดวู้ดที่สูงใหญ่เป็นร้อยๆเมตรมันทำให้เราตระหนักว่าตัวเรานี้มันเล็กจิ๊บจ๊อยขนาดไหน เดินไปตามทางเดิน ซึ่งวกวนผ่านต้นไม้ขนาดใหญ่ระดับห้าถึงสิบคนโอบ ต้นที่เก๋ากึ๊กจริงๆจะมีป้ายบอกสรรพคุณไว้ ต้นที่คลาสสิกของป่านี้มีชื่อว่าผู้การอาร์มสตรอง (Colonel Armstrong) มีอายุพันกว่าปี สูงถึงกว่าหนี่งร้อยเมตร เดินผ่านไปที่ต้นหนึ่ง มีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์จนเขาปักป้ายตั้งชื่อให้ว่าต้นน้ำแข็งย้อย (icicle tree) เพราะเปลือกอันใหญ่โตหนาเตอะของมันห้อยงุ้มลงมาเหมือนหิมะรูปหินย้อยตามชายคาบ้านในหน้าหนาว บางตอนก็เดินผ่านต้นไม้เรดวู้ดยักษ์ที่ล้มตายพาดก่ายกองกันอยู่ เห็นแล้วคิดถึงคนสวนของผมที่มวกเหล็กซึ่งชอบไปสมคบกับเพื่อนๆของเขาทำอุตสาหกรรมเผาถ่านเป็นอาชีพเสริม ถ้ามาเห็นต้นเรดวู้ดยักษ์ตายระเกะระกะอย่างนี้เขาคงน้ำลายหกแน่ เส้นทางที่วกวนบางตอนก็มีสะพานไม้เล็กทอดผ่านธารน้ำ ซึ่งตอนนี้แห้งขอดสนิท นอกจากธารน้ำที่แห้งขอดแล้ว ใบไม้แห้งก็ร่วงเกลื่อนพื้นหนาเตอะ มิน่า แซมถึงบอกว่าป่าเขียวก็จริงแต่ก็ติดไฟได้

เรื่องราวของ “ผู้การอาร์มสตรอง”

     ผมเดินป่าสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป เดินไปได้ราย 45 นาที ยังอยากจะเดินสำรวจต่อไปอีก แต่ก็กลัวแซมจะส่งแรงเจอร์มาตาม จึงตัดสินใจเดินกลับทางเดิม มาถึงที่แซมจอดรถไว้ ใช้เวลาเดินชั่วโมงครึ่ง เหงื่อออกเปียกชุ่มเสื้อไปหมด ทั้งๆที่อากาศหนาวเย็น

     เราขับออกมาจากป่าอาร์มสตรอง ผ่านบ้านไม้หลังหนึ่ง ผมร้องบอกให้แซมหยุดเพื่อลงไปดู แซมเบรกพรืดแล้วเลี้ยวยูเทอร์นกลับไปจอดที่หน้าบ้าน มันเป็นบ้านไม้ล้วนๆที่สร้างได้วิจิตรไม่เบา โดดเด่นจากบ้านทั้งหลายในย่านนี้ซึ่งเป็นบ้านคนจนชายป่าชายเขาจึงสร้างแบบง่ายๆลักษณะคอทเทจ แต่บ้านหลังนี้สร้างแนวสวิสชาเล่ต์ (Swiss Chalet) หรือแนวอะดีรอนแด็ค (Adirondac) ซึ่งเป็นงานไม้ที่พิถีพิถัน การวางหมุดวางตะปูทำอย่างเนี้ยบไม่ซี้ซั้ว บ้านแบบนี้ปกติสร้างกันแถบเทือกเขาอะดีรอนแด็คที่นิวยอร์คและสร้างกันหลังใหญ่เบ้อเร่อบ้าร่า แต่นี่อยู่ที่แคลิฟอร์เนีย แถมสร้างหลังเล็กน่ารักกำลังดี

บ้านไม้ทรงอะดีรอนแดค หรือสวิสชาเลต์ที่ชายป่า

     ชมบ้านประสาคนชอบสร้างบ้านจนพอใจแล้วก็เดินทางกันต่อ ออกจากชายป่าเข้าสู่ดงไร่องุ่นกว้างใหญ่อีกครั้ง คราวนี้แซมเลี้ยวลงถนนลาดยางเล็กๆเพื่อลัดไปสนามบิน ซึ่งเขาเรียกมันว่าถนนหลัง (back road) ผ่านประตูเข้าไร่กระจุ๋มกระจิ๋มโน่นนิดนี่หน่อย ผมบอกแซมว่าเราแวะชิมไวน์ในไร่เล็กๆนี่กันก่อนดีกว่า แซมทำทีเป็นเหลือบมองนาฬิกาที่จอจีพีเอส. ผมจึงเปลี่ยนใจว่าโอเค. ไม่แวะก็ได้ เขาจึงขับลิ่วไปยังสนามบินโซโนมา (Sonoma) ซึ่งเป็นสนามบินขนาดเล็กประมาณบ้านหนึ่งหลังเท่านั้น ถ้าไม่เห็นเครื่องบินจอดอยู่ ก็คงจะหาสนามบินไม่เจอ

     จากโซโนมา ขึ้นเครื่องบินเล็กตกหลุมตกบ่อกระดอนๆมาอีกชั่วโมงครึ่งก็ถึงสนามบินแอลเอ.หรือ LAX ในสภาพที่กระเซอะกระเซิงเต็มที่ กางเกงยีนเปื้อนยางไม้ป่า และรองเท้าหนังเขรอะฝุ่นจนมองหนังแทบไม่เห็น แต่สาระรูปอย่างนี้ก็ไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าสำหรับสนามบินนี้แต่อย่างใด ผมไม่ได้มาที่นี่เกือบสิบปี คาดมิถึง สนามบิน LAX สมัยนี้กลายเป็นบขส.ไปเสียแล้ว ผู้คนแน่นขนัด ตรงที่วางม้านั่งอยู่อย่าว่าแต่จะไม่มีที่นั่งเลย ที่ยืนยังไม่มีเพราะผู้โดยสารเอากระเป๋าเดินทางวางกันไว้เต็มไปหมด ผู้คนต้องนั่งบนพื้นตามมุมและตั้งวงกินอะไรกันเป็นหย่อมๆ เวลาเดินต้องเยื้องย่างให้ดีจะได้ไม่ไปเหยียบอาหารของพวกเขาเข้า แต่พอเช็คอินเสร็จแล้วไปนั่งในห้องนั่งรอของสายการบิน บรรยากาศก็ค่อยเปลี่ยนไปบ้าง แม้จะมีกลุ่มอาซิ้มคุยกันเสียงล้งเล้ง แต่ผู้คนบางตากว่าทำให้ค่อยหายใจได้เต็มปอดหน่อย
 
16 กย. 58
ที่สนามบิน LAX
(บขส.แห่งชายฝั่งตะวันตก)