Latest

ฝากไว้กับคนรุ่นหนุ่มสาว.. “เรียนรู้จากฟินแลนด์”

สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์
        หนูชื่อ … คะ หนูได้อ่านและติดตามบทความของคุณหมอจนวันนี้ตัดสินใจอยากปรึกษาและขอคำแนะนำ เพราะเห็นว่าคุณหมอน่าจะเปิดโลกทัศน์ให้หนูได้กว้างขึ้น
        ขออนุญาตเกริ่นนิดนึง คือหนูเพิ่งศึกษาจบมาได้ประมาณ 4 เดือนกว่าค่ะ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ เรียนทำสื่อการเรียนการสอนให้นักศึกษาแพทย์เป็นส่วนใหญ่ค่ะ จะเรียน กายวิภาคศาสตร์ สรีระศาสตร์ ปรสิตวิทยา พยาธิวิทยา อิมมูนวิทยา รวมทั้งการวาดภาพดรออิ้ง วาดภาพสีน้ำ วาดภาพการแพทย์ ออกแบบโปสเตอร์ ทำอนิเมชั่น ถ่ายภาพในห้องผ่าตัด และปั้นหุ่นค่ะ และสิ่งที่หนูได้เรียนมาทั้งหมด ทำให้หนูมีความฝันอย่างหนึ่ง คือ หนูอยากทำให้คนไม่กลายเป็นคนไข้ (เท่าที่จะทำได้) โดยการให้ความรู้ แก้ไขความเชื่อผิดๆ
         พอเรียนจบหนูได้เข้าทำงานที่บริษัท ….. ทันที (อินโฟกราฟิค คือการนำข้อมูลจำนวนมากมาย่อยแล้วเสนอด้วยภาพกราฟิคให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น ตัวอย่างผลงานของหนูค่ะ … (แอบเหมือนมาพรีเซนต์งานเลย แต่เพื่อให้เห็นภาพนะคะ )   ที่เลือกทำที่นี่เพราะมีช่องทางเผยแพร่สื่อที่เข้าถึงคนได้กว้าง หนูเลยหวังว่าจะได้ใช้เป็นช่องทางหนึ่งที่คนจะได้เข้าใจสุขภาพมากขึ้น แต่มันกลับไม่เป็นแบบนั้น เพราะสิ่งที่หนูเจอกลายเป็นเรื่องของมาร์เก็ตติ้งส่วนใหญ่ หนูเลยออกมาทำที่วิทยาลัย… ได้ประมาณ 1 อาทิตย์แล้วค่ะ โดยหวังว่าจะได้เพิ่มเติมความรู้การแพทย์มากขึ้นจากการนำข้อมูลมาทำเป็นสื่อการสอนให้นักศึกษาพยาบาล  กายวิภาค และจิตวิทยา  
              แต่เมื่อไม่นานมานี้เป็นครั้งแรกที่ได้อ่านบทความแนะนำตัวของคุณหมอ (ปกติอ่านส่วนที่เป็นเรื่องโรค) หนูชอบมากเลยค่ะ หนูรู้สึกว่าใช่เลย หนูอยากทำแบบคุณหมอมากๆ ในจุดที่คนส่วนใหญ่ชอบ “เกาไม่ถูกที่คัน” หนูเลยอยากขอคำแนะนำว่าถ้าจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ควรเรียนเกี่ยวกับเรื่องอะไรเพิ่มเติม (หนูลองค้นคว้าเกี่ยวกับเวชศาสตร์ครอบครัวของคุณหมอ เเต่เหมือนต้องจบแพทย์มาก่อน (เศร้าจัง) พูดง่ายๆคือหนูมีความฝัน คืออยากทำให้คนไม่กลายเป็นคนไข้ แต่หนูไม่รู้จะทำมันอย่างไรดี จึงอยากขอคำแนะนำจุดนี้ค่ะ
             ขอขอบคุณมากๆค่ะที่สละเวลาอ่านจนจบ
             ขอบคุณมากค่ะ

……………………………………………………….

ตอบครับ

ถามว่าจบเทคโนการศึกษาแพทย์ศาสตร์ อยากทำงานให้ความรู้เพื่อให้ผู้คนมีสุขภาพดี จะเรียนต่อป.โทสาขาอะไรดี ตอบว่าไม่ต้องไปเรียนต่อป.โทหรอกครับ อยากทำก็ลงมือทำเลย ด้วยวุฒิป.ตรีนั่นแหละ ทำตรงที่ตำแหน่งงานปัจจุบันนั่นแหละ ใจเย็นๆเรียนรู้ ปรับวิธี คิดค้นช่องทางใหม่ไป ทำพลาดก็สรุปบทเรียนทำใหม่ อีกครั้งๆๆ ไม่ใช่ทำงานได้สี่เดือน ยังจำทางเดินไปห้องส้วมไม่ค่อยจะได้เลย เปลี่ยนงานซะละ แล้วอย่างนี้จะมีเวลาพอที่จะบ่มเพาะการเรียนรู้จนสร้างสรรค์นวัตกรรมดีๆขึ้นมาได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ผมดีใจมาก ที่คนหนุ่มคนสาวอย่างคุณอยากทำสิ่งดีๆในเรื่องสุขภาพให้กับสังคม นอกจากคุณแล้วผมมั่นใจว่ายังมีคนวัยเดียวกับคุณอีกจำนวนมากที่คิดแบบเดียวกัน สิ่งที่ผมอยากจะย้ำก็คือเรียนมาสาขาไหนไม่สำคัญ เพราะทุกสาขา ล้วนมีช่องทางให้สร้างสรรค์สิ่งดีๆได้ทั้งนั้น ผ่านการร่วมมือกันกับคนอื่น เพราะการสร้างสรรค์สังคม มันต้องร่วมมือกันเป็นทีม คนๆเดียวทำไม่ได้หรอก

     ผมทราบจากจำนวนจดหมายที่ขยันถามเข้ามาแต่เรื่องเซ็กซ์ว่าคนรุ่นคุณที่แอบอ่านบล็อกนี้มีจำนวนไม่น้อยเลย เพื่อเป็นการชักจูงคนหนุ่มคนสาวให้มาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆในทางสุขภาพ ผมจะขอเล่าเรื่องนี้ที่ผมตั้งชื่อให้ว่า “เรียนรู้จากฟินแลนด์” ให้เฉพาะคนหนุ่มคนสาวอ่านกันนะ ส่วนผู้สูงวัยซึ่งเป็นแฟนประจำของบล็อกนี้ถ้าอยากแอบอ่านก็อ่านได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์

………………………..

เรียนรู้จากฟินแลนด์

     ลดโรคหลอดเลือดหัวใจลงไปถึง 75%..ทำได้นะ

     ย้อนหลังไปเมื่อปี ค.ศ. 1960 (เมื่อ55 ปีมาแล้ว) คนในฟินแลนด์ถือว่าการที่คนอายุ 50 ปีแล้วเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดเนี่ยมันเป็นเรื่องธรรมดาๆธรรมชาติๆ และถ้าคนอายุ 30-40 ปีสมัยนั้นคุยกัน จะเป็นแบบว่า ถ้าคนหนึ่งถามว่า

     “คุณเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า” อีกคนก็จะตอบว่า

     “ยัง”

     เพราะว่าสมัยนั้นฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีอัตราตายจากหัวใจขาดเลือดสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แม้ว่าคนฟินแลนด์จะมีรูปร่างสันทัดเพราะทำงานหนักอย่างเช่นตัดไม้ซุงหรือทำไร่เลี้ยงวัว แต่พวกเขาก็กินเนย นมสด ชีส เกลือ ไส้กรอก และสูบบุหรี่ นานๆพวกเขาจึงจะกินผักกันเสียครั้งหนึ่ง อะไรที่สีเขียวๆคนฟินแลนด์สมัยนั้นถือว่ามันเป็น “อาหารของสัตว์”

     แต่ว่าพอมาถึงยุคปัจจุบัน นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมาจำนวนผู้ชายฟินแลนด์ที่ตายจากโรคหัวใจลดลงไปถึง 75% รายงานทางวิทยาศาสตร์บอกว่ามันเป็นผลจากการลดปัจจัยเสี่ยงเช่นโคเลสเตอรอล ความดันเลือด และบุหรี่ โดยที่การลดโคเลสเตอรอลเป็นปัจจัยที่ลดการตายได้ชงัดที่สุด

     เกิดอะไรขึ้น

     เรื่องมันเริ่มต้นเมื่อปีค.ศ. 1971 ในแคว้นคาเรเลีย (Karelia) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของฟินแลนด์อันเป็นถิ่นที่โรคหัวใจอุดมเหลือเกิน อุดมระดับที่หนึ่งในสิบของคนวัยทำงานต้องมีอันทุพลภาพเพราะโรคนี้ ถึงจุดหนึ่งชุมชนคาเรเลียก็ทนไม่ไหวจึงได้เข้าชื่อทำเรื่องร้องเรียนให้รัฐบาลหาทางช่วยเหลือ
รัฐบาลส่งหมอน้อยจบใหม่ซิงซิงอายุ 27 ปีคนหนึ่งชื่อ เปคคา พุสคา (Pekka Puska) มาให้ แม้จะเป็นเด็กเอียด แต่หมอพุสคาก็เป็นนักกิจกรรมตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ และเคยเป็นนายกองค์การนักศึกษามาด้วย ในสมัยนั้นซึ่งความเชื่อของคนส่วนใหญ่คือโรคหัวใจไม่มีวันหาย แต่เขาตั้งต้นภาระกิจของเขาด้วยความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าโรคหัวใจเนี่ยมันหายได้ เพราะสาเหตุที่แท้จริงของมันอยู่ที่สไตล์การใช้ชีวิต ด้วยวัยหนุ่มๆซิงๆขนาดนั้นเขาเขียนจดหมายถึงใครต่อใครว่า

     “ความรู้ปัจจุบันนี้มากพอแล้วที่จะบอกว่าการป้องกันโรคหัวใจต้องทำอะไรบ้าง ประเด็นคือจะลงมือทำให้สำเร็จได้อย่างไร” 

     เขาบอกพนักงานของรัฐบาลท้องถิ่นในคาเรเลียว่า

     “การสร้างพฤติกรรมสุขภาพใหม่ต้องทำให้มันง่ายและสนุก วิธีเดียวที่จะทำให้มันง่ายก็คือต้องเอาทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นสถานีอนามัย บริษัทห้างร้าน ที่ทำงาน สื่อมวลชน ซูเปอร์มาร์เก็ต กลุ่มผู้หญิง โรงเรียน โรงงาน และกฎระเบียบต่างๆ”

     นั่นเป็นแนวทางอันมั่นคงที่หมอพุสคาและทีมของเขายึดถือและทำมาตลอด 25 ปีที่ผ่านมา เริ่มที่คาเรเลีย จนแพร่หลายไปทั่วฟินแลนด์ในเวลาเพียงห้าปี

     เปลี่ยนเนยเป็นเบอรี่

     นี่ไม่ใช่ความสำเร็จเล็กๆเลย วัฒนธรรมการกินอยู่ดั้งเดิมซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคเคยสอดแทรกอยู่ในทุกอณูของขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งมีธรรมชาติที่ดื้อดึงแข็งขืนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างการทำฟาร์มเลี้ยงวัวนมซึ่งเป็นอาชีพหลักของผู้คนและเป็นวัตถุดิบสำหรับทำเนยที่นั่น หมอพุสคาและทีมงานของเขาเล่าว่า

     “ราวกับว่าอุตสาหกรรมนมทั้งชาติต่างร่วมแรงร่วมใจกับปกป้องสินค้าของพวกเขาอย่างพร้อมเพรียง”

     แต่ทีมพุสคาก็ยืนหยัด เล่นมันทุกทาง กุญแจสำคัญที่พวกเขาใช้คือปลุกชาวบ้านให้ลุกขึ้นมาเล่นด้วย คนส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือ นี่คือแรงขับดันที่สำคัญ สำหรับพวกเขาโรคหัวใจคือกาฬโรคยุคใหม่ พวกเขาต้องการขุดรากถอนโคนมันให้ได้
 
     ทีมพุสคาพากันพวกตระเวนเยี่ยมไปตามฟาร์มเลี้ยงวัวและแหล่งขายอาหาร พูดถึงประโยชน์ของไขมันไม่อิ่มตัวและชักชวนให้พวกเขาหันมาปลูกพืชอย่างเช่นเบอรี่ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวฟินแลนด์ นอกจากนี้ยังกระตุ้นชักชวนบริษัทขนมปังให้ลดเกลือลงและใช้น้ำมันพืชแทนเนย

     บ่อยครั้งต้องไปเยี่ยมไปคุยกันบ่อยๆถึงจะโน้มน้าวกันได้ คนขายไส้กรอกคนหนึ่งยืนหยัดต่อต้านคำแนะนำให้ใส่เห็ดแทนหมูในไส้กรอกของเขาอย่างไม่ลดละ จนกระทั่งวันหนึ่งที่ตัวเขาเองเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันขึ้นมาซะเอง

     อุปสรรคใหญ่อีกอันหนึ่งคือกฎหมายอุดหนุนเกษตรกรวัวนมซึ่งทำให้การทำครีมและเนยขายมีกำไรงาม เมื่อสามารถต่อสู้ให้เลิกกฎหมายอุดหนุนลงได้ ชาวไร่วัวนมก็หันไปปลูกเร็พซีดซึ่งนักวิจัยบอกว่าเหมาะกับอากาศที่นั่นดี จนปัจจุบันนี้เร็พซีดได้กลายมาเป็นสินค้าหลักของชาติ เพราะมันเป็นแหล่งของน้ำมันคาโนล่าที่ใช้แทนเนยทั่วโลก

     ลงไปลุยในถนน

     จากฟาร์ม ทีมงานพุสคาบ่ายหน้าไปสู่ท้องถนน ชักชวนให้คนทั้งเมืองหันมาอยู่กินเพื่อสุขภาพ ทั้งเขียนโปสเตอร์ติดตามที่ต่างๆ อาสาสมัครชักจูงยืนพูดวันละหลายชั่วโมงในซูเปอร์มาเก็ต แจกใบปลิวเล่าคุณประโยชน์ของอาหารพืชผัก การออกกำลังกาย การเลิกบุหรี่ บางครั้งทีมงานก็ไปพูดในศาลาเมือง บางครั้งก็ไปพูดที่สถานีอนามัย บางครั้งก็พูดในโรงพยาบาล

     กิจกรรมขยายไปถึงระดับชาติ มีการฝึกอบรมแพทย์ พยาบาล นักจิต นักสังคม และแม้กระทั่งครูวิชาเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน ให้รู้จักแนะนำการใช้ชีวิตที่ดีต่อหัวใจ

     พวกเขาเสาะหาความรู้ให้ตัวเองด้วย พอได้ข่าวว่านักวิทยาศาสตร์ที่อเมริกาชื่อพริททิคินได้ตั้งศูนย์สุขภาพขึ้นที่ฟลอริด้าเพื่อสอนให้คนป่วยลดไขมันในเลือดตัวเองลงอย่างได้ผล หมอพุสคาก็บินไปอเมริกาเพื่อไปเข้าเป็นคนป่วยและเรียนรู้ที่ศูนย์ของพริทิคินในปี ค.ศ. 1980

     กลับไปฟินแลนด์ปีนั้น หมอพุสคาชักชวนเพื่อนร่วมอุดมการจัดรายการเกมส์โชวทีวี.รับคนสมัครเข้ามาแข่งกันลดโคเลสเตอรอลและความดันเลือดออกอากาศทั่วประเทศ กลายเป็นรายการยอดนิยมที่อยู่ยงคงกระพันอยู่บนจอทีวีนานถึง 15 ปี ยอดนิยมถึงกับตามหัวเมืองและหมู่บ้านก็จัดแข่งขันกันเอง

     ทีมพุสคาจับมือกับสมาคมแม่บ้านแห่งชาติมาร์ธา (Martha Organization) เพื่อก่อการเปลี่ยนแปลงประเพณีการทำอาหารมันเยิ้มจนเลี่ยนที่ทำกินกันมาช้านาน รวมทั้งใส่ผักผลไม้เพิ่มเข้าไป ลดเกลือลง เปลี่ยนไขมันอิ่มตัวจากเนยเป็นไขมันไม่อิ่มตัวจากน้ำมันคาโนลา ทีมของเขาสปอนเซอร์ “ปาร์ตี้เพื่อชีวิตที่ยืนยาว” ซึ่งในปาร์ตี้นี้พวกแม่บ้านจะจัดงานเลี้ยงมื้อเย็นวันอาทิตย์ที่ศูนย์กลางเมือง ให้ผู้คนมาชิมอาหารแนวใหม่ที่มีผักผลไม้แยะๆ มีปาร์ตี้แบบนี้เกิดขึ้นมากกว่า 300 ครั้ง หมอพุสคาเล่าว่าแนวรบด้านบ้านเรือนนั้น สมาคมแม่บ้านเป็นพันธมิตรที่แข็งขันที่สุด

     กฎหมายใหม่

     แนวรบด้านกฎหมายเล่า มีการเปลี่ยนวิธีการเขียนฉลากอาหาร อนุญาตให้ผู้ขายแปะตราให้เห็นชัดว่าเป็นอาหาร “ไขมันต่ำและไม่เค็ม” และรัฐบาลก็ออกกฎหมายบังคับให้ลดเกลือในอาหารสำเร็จรูป มีกฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ มีกฎหมายบังคับให้ เทศบาล อบต. อบจ. จัดสร้างที่ออกกำลังกายที่สะดวกและใช้ได้ง่ายทุกสภาพอากาศ ในโรงเรียนก็ให้เอาน้ำเปล่าและนมไร้ไขมันเข้าไปแทนนมสด และสอนให้พนักงานโรงอาหารของโรงเรียนให้รู้วิธีล่อหลอกให้เด็กหัดกินสลัดผักผลไม้ ผักนึ่ง อาหารทะเล และไก่ แทนเนื้อวัวเนื้อหมู

     โดยสรุปก็คือ ทุกแง่ทุกมุมของชีวิตผู้คน ถูกปรับเปลี่ยนไปสู่การมีสุขภาพดี ซึ่งประสบความสำเร็จที่น่าเอาเป็นแบบอย่างว่า.. เขาทำกันได้นะ

     ผลลัพธ์ 

     นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1970 เป็นต้นมา อุบัติการณ์โรคหัวใจหลอดเลือดและอัมพาตของประเทศฟินแลนด์ลดลง 75-80% มะเร็งปอดลดลง 60% โคเลสเตอรอลในเลือดลดลงเฉลี่ย 18% การบริโภคเกลือลดลงหนึ่งในสาม สาเหตุการตายทุกอย่างรวมกันลดลง 45% อายุเฉลี่ยผู้ชายเพิ่มขึ้น 7 ปี ผู้หญิงเพิ่มขึ้น 6 ปี ฟินแลนด์เปลี่ยนจากการเป็นประเทศที่มีอัตราตายโรคหัวใจหลอดเลือดอยู่ในกลุ่มสูงที่สุดมาอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราตายต่ำที่สุดในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว

     เมื่อปีค.ศ. 1972 ชาวฟินแลนด์ใช้เนยป้ายขนมปังกัน 90% แต่เดี๋ยวนี้เหลือ 7% เท่านั้น การบริโภคนมสดลดจาก 74% เหลือ 14% ส่วนใหญ่หันไปดื่มนมไร้ไขมันและน้ำเปล่าแทน การบริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้นจากคนละ 44 ปอนด์ต่อปีในปี ค.ศ. 1972 เป็น 130 ปอนด์ต่อปีในปี ค.ศ. 2000 ทุกวันนี้ฟินแลนด์มีสัดส่วนสถานที่ออกกำลังกายต่อประชากรสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทุกชุมชนมีทางเดินที่มีแสงไฟส่องสว่างและลู่สำหรับจักรยานและสกีฟรี ประมาณว่าคนฟินแลนด์ทุกวันนี้ 65% เป็นคนแอคทีฟขยันออกกำลังกายสม่ำเสมอ

     จะเอามาใช้ที่เราได้หรือ?

     คนที่มองเห็นแต่อุปสรรคทุกครั้งที่คิดจะทำอะไรใหม่ๆมีอยู่เสมอ ด้วยข้ออ้างสารพัด ประเทศเขาเล็กก็ทำได้สิ ประเทศเขาหนาวก็ทำได้สิ ประเทศเขามีการศึกษาดีก็ทำได้สิ ฯลฯ

     ณ ขณะนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังให้เงินทดลองทำเมืองสุขภาพทั่วโลกโดยใช้แม่แบบจากฟินแลนด์ รวมทั้งเมืองเทียนจินที่ประเทศจีน เมืองวาลปาไรโซที่ประเทศชิลี เมืองอิสฟาฮานที่ประเทศอิหร่าน โครงการ Cardioversion 2020 ที่เมืองโอลมสเต็ด รัฐมิเนโซต้า ประเทศสหรัฐ ก็กำลังวางเป้าหมายที่จะเป็นเมืองที่สุขภาพดีต่อหัวใจมากที่สุดในอเมริกาในปี 2020 ที่เมืองโอล์มสะเต็ดนี้ทำทุกอย่างตามแนวทางฟินแลนด์ ผู้นำชุมชนมาเดินถนนด้วยกันทุกวันพุธ กลุ่มไหนพามวลชนมาร่วมเดินได้มากที่สุดก็มีรางวัลให้ เป็นต้น

     ทั้งหมดนี้ไม่ต้องใช้เงินมาก ชุมชนฟินแลนด์ใช้ทุกอย่างจากโครงสร้างที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ หอประชุม สถานีอนามัย และโรงเรียน งบประมาณโครงการ Cardioversion 2020 ตกปีละ 3 แสนดอลลาร์ ขณะที่ต้นทุนค่าวินิจฉัยและผ่าตัดโรคหัวใจขาดเลือดตกปีละมากกว่า 100 ล้านดอลล่าร์ ถ้ามันเวิร์คกับฟินแลนด์ได้ มันก็เวอร์คกับประเทศไหนๆในโลกได้ ขอเพียงแต่ชวนกันหลายๆคนมาจับมือกันแล้วลงมือทำเท่านั้น

     ที่ผมเล่าเรื่องทั้งหมดนี้ ก็เพราะผมได้ความบันดาลใจจากจดหมายของคุณ ผมจึงคิดว่าเล่าเรื่องนี้ทิ้งไว้ให้คนหนุ่มคนสาววัยระดับคุณได้ฟังไว้ก็คงดี เพราะอีกไม่นานคนรุ่นผมก็จะตายไป แต่ผมประเมินจากความชุกของปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจหลอดเลือดของคนไทย ณ วันนี้ ว่าโรคนี้จะชุกชุมดกดื่นที่สุดในประเทศไทยในอีกยี่สิบปีข้างหน้า ดกดื่นชนิดที่คนหนุ่มสาวสมัยโน้นจะถามกันว่า “คุณเป็นโรคหัวใจแล้วหรือยัง” ชาติไทยวันนั้นจะอยู่ในมือของคนรุ่นคุณ

     ความจริงวันนี้ตั้งใจจะซีเรียสนะ แต่เขียนมาถึงตรงนี้แล้วอดนอกเรื่องไม่ได้ สมัยที่ผมเป็นนักศึกษายุค 14 ตุลา 2516 รัฐบาลมีม็อตโต้ส่งเสริมประชาธิปไตยกรอกหูประชาชนทางโทรทัศน์จนคนจำได้ว่า “อนาคตของชาติอยู่ในมือท่านแล้ว..ว” วันหนึ่งผมไปเข้าห้องน้ำ เห็นมือดีเขียนจิตรกรรมผนังในห้องน้ำไว้ว่า
   
     “..อนาคตของชาติ อยู่ในมือท่านแล้ว..ว
     จงก้มลงไปดูเถิด..”

     ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Puska, P. Successful prevention of non-communicable diseases: 25-year experiences with North Karelia Project in Finland, Public Health Medicine, 2002; 4 (1): 5.
2. Vartiainen E, Puska P, Pekkanen J. Changes in risk factor explain changes in mortality from ischaemic heart disease in Finland. British Medical Journal, 1994; 309: 23.