Latest

เกือบตายคางานเลี้ยง..บทเรียนก่อนวันปีใหม่

เรียนคุณหมอสันต์

ผมอายุ 65 ปี นั่งกินเลี้ยงส่งเพื่อน เพียงแต่ดื่มน้ำขิงจิบแรกแล้วก็สำลัก รู้สึกแน่นหน้าอก พูดไม่ออก จะเรียกเอาน้ำเปล่าเขาก็ยังไม่ทันเสริฟน้ำ ได้แต่ไอ ไอ ไอ แต่ว่าไม่มีเสียง จะพูดกับใครว่าอย่างไรก็ไม่มีเสียง คนอื่นที่ร่วมโต๊ะก็ไม่มีใครรู้ว่าผมมีปัญหาอะไร ผมรู้สึกว่าถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างผมจะต้องตายแน่ ขณะที่สติยังดีอยู่ผมจึงรีบวิ่งไปห้องน้ำแล้วล้วงคอตัวเองอ๊วกและไออยู่หลายครั้งจนเจ็บซี่โครงไปหมดจึงค่อยๆหายแน่นหน้าอกและเริ่มไอมีเสียงแหบๆออกมา แล้วจึงกลับมาร่วมโต๊ะใหม่โดยไม่พยายามกินอะไรอีกเลยนอกจากน้ำเปล่า
ผมรู้สึกว่านับตั้งแต่ผมผ่าตัดแก้ไขโรคนอนกรน ผมก็สำลักอะไรง่ายมากขึ้นกว่าเดิม ปกติผมเป็นคนชอบกินอะไรเร็ว เป็นเพราะการผ่าตัดด้วยหรือเปล่า จะว่าผมกลืนอะไรชิ้นโตๆลงไปติดในคอก็ไม่ใช่ เพราะบางครั้งผมแค่จิบหรือกลืนอะไรเป็นน้ำๆนิดเดียวก็ไอเสียงแหบงอไปงอมาแล้ว พอไอแล้วก็จะเริ่มแน่นหน้าอกสูงๆหน่อยค่อนมาถึงระดับคอ และรู้สึกว่าอีกสักพักอาจตายได้ ผมเป็นบ่อยเสียจนคิดว่าตัวเองขยันดูแลตัวเองมาอย่างดีออกกำลังกายทุกวันแต่คงจะมาตายน้ำตื้นด้วยเรื่องง่ายๆแบบนี้ ผมควรจะเตรียมตัวแก้ปัญหาอย่างไรดี จะล้วงคออาเจียนดีไหม จะสูดดมยาขยายหลอดลมแบบคนเป็นหอบหืดดีไหม ผมพยายามไปค้นดูในอินเตอร์เน็ทก็ไม่เห็นมีคำแนะนำอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลยสักอันเดียว ผมค้นในภาษาไทยนะครับ

………………………………………………………..

ตอบครับ

     ก่อนตอบคำถามผมขออนุญาตท้วงติงพี่ท่านหน่อยนะ เพราะท่านสูงวัยกว่าผมจึงมีศักดิ์เป็นพี่ ว่าปูนนี้แล้วพวกเราซึ่งเป็นผู้สูงอายุแล้วสมควรต้องเจียมบอดี้ในเรื่องการกลืนไว้บ้าง คือเจียมว่าระบบการกลืนของคนเรานั้นเป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic nervous system) ซึ่งเคยแยบยลและออกแบบไว้อย่างละเอียดอ่อนมาก และเขาทำของเขาเองสมองไปสั่งการอะไรเขาไม่ได้ แต่ว่าระบบประสาทอัตโนมัตินี้พอแก่ตัวลงแล้วมันจะเริ่มรวนเหมือนระบบไฟฟ้าในรถยนต์เก่านั่นแหละ ภาษาหมอเขาเรียกว่า dysautonomia การกลืนก็ไม่แยบยลเหมือนเดิม หนุ่มๆเคยเอาหัวห้อยลงแล้วยังกลืนได้ ปูนนี้แล้วถ้าจะลองทำก็อาจจะได้กลับบ้านแทน..หิ หิ ขอโทษ พูดเล่น ดังนั้นคุณพี่จะต้องชดเชยการทำงานที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานของระบบประสาทอัตโนม้ติด้วยการทำงานของกล้ามเนื้อลาย หมายถึงกล้ามเนื้อที่เป็นลูกน้องสายตรงของเราซึ่งสมองเราสั่งได้ (voluntary muscle) ด้วยการกินอย่างตั้งใจ กินอย่างสโลวโมชั่น ค่อยๆบรรจงเคี้ยวเอื้องไป เคี้ยวอย่างตั้งใจ ลิ้มรสอย่างตั้งใจ จนอาหารเหลวเป็นครีม แล้วจึงค่อยๆบรรจงกลืน ก่อนกลืนก็ตั้งสติก่อนว่า เฮ้ย.. ข้าจะกลืนแล้วนะ แล้วค่อยกลืนช้าๆ กลืนอย่างตั้งใจ เวลาจะจิบน้ำ แม้จะเป็นน้ำเปล่าๆอุ่นๆอยู่นี่ก็ตาม อย่าได้ทำตัวแบบสมัยหนุ่มๆคว้าแก้วได้แล้วซดพรวด แบบนั้นมีหวังได้กลับบ้านง่ายๆอีกเหมือนกัน ยิ่งเป็นน้ำที่มีความระคายเคือง เช่นน้ำขิง น้ำมะนาว พี่ท่านต้องจิบเข้าไปตั้งหลักไว้ในปากก่อน รับรู้รสของเขาก่อน ให้โมเลกุลของเขาฟุ้งกระจายไปในลำคอและกล่องเสียงให้สายเสียงได้คุ้นเคยก่อน สักพักจนแน่ใจว่ากล่องเสียงและสายเสียงรับกลิ่นหรือสู้ความระคายเคืองของเขาได้ ไม่สำลัก ไม่ไอ ไม่จาม จึงค่อยๆบรรจงกลืนลงไปทีละนิด ทีละนิด อย่างช้าๆ การจิบคำต่อๆไปก็ใช้หลักเดียวกัน อย่าพรวดพราดแบบสาดเหล้าลงคอเป็นอันขาด

     เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของพี่ท่าน เพื่อประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านท่านอื่นด้วย ผมขอแยกตอบเป็นสองกรณีนะ

     กรณีที่ 1. เมื่อสำลักอาหาร (aspiration) เป็นก้อนๆหรือเป็นคำๆลงไปในหลอดลม แล้วอาหารนั้นลงไปอุดกั้นหลอดลมทำให้ลมวิ่งเข้าออกมาได้ ผู้สำลักจะมีอาการแน่นที่คอ หายใจเข้าออกไม่ได้ พยายามจะพูดออกมาแต่ไม่มีเสียง มักเอามือกุมคอไว้ แล้วมีสีหน้าแตกตื่นเลิ่กลั่ก วิธีช่วยเหลือ (Heimlich maneuver) มีสองวิธี คือ

     วิธีที่ 1. การช่วยเหลือโดยคนอยู่ใกล้ ทำได้โดยผู้ช่วยเหลือถามให้แน่ใจว่า “คุณสำลักรึเปล่า” ถ้าผู้สำลักพยักหน้าเลิ่กลั่กหรือนิ่งไม่ปฏิเสธชัดเจนให้ผู้ช่วยเหลือเข้าไปข้างหลังของเขา เอามือสองข้างโอบรอบพุงเอวผู้สำลัก กำหมัดข้างหนึ่งกดท้องระดับเหนือสะดือแต่ใต้ลิ้นปี่ หมายถึงใต้ปลายล่างของกระดูกหน้าอก เอาอีกมือหนึ่งกำรอบหมัดของมือแรก เกร็งกำลังแขนสองข้างแบบเบ่งกล้าม แล้วกระชากสองมือเข้าหาตัวเองสุดแรงในลักษณะตั้งใจจะส่งแรงอัดเข้าไปในท้องของผู้สำลัก แบบว่าปึ๊ก..ก…ก ปึ๊ก.ก..ก ปึ๊ก.ก..ก ทำซ้ำๆหลายๆครั้ง จนผู้สำลักสามารถไอหรือจามหรือพูดออกมาให้ได้ยินเสียง ผมลงรูปให้ดูด้วย รูปนี้เป็นของสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) ไม่ได้ขอลิขสิทธิ์เขาดอก แต่ถ้าถูกจับก็คงไม่ต้องเดือนร้อนให้ท่านผู้อ่านไปประกัน เพราะตัวผมเองเคยทำงานให้ AHA ตั้งหลายปี น่าจะยังมีคนจำหน้าผมได้อยู่

     วิธีที่ 2. การช่วยเหลือตัวเอง เมื่อพยายามหาคนข้างๆช่วยแล้วไม่มีใครเข้าใจ วิธีทำก็คือขณะที่สำลัก หายใจเข้าก็ไม่ได้ออกก็ไม่ได้อยู่นั้น คุณมีเวลาประมาณไม่เกิน 4 นาทีก่อนที่คุณจะหมดสติ และไม่เกิน 8 นาทีก่อนที่สมองของคุณจะตายแบบกู่ไม่กลับ ขณะตั้งสติได้ ให้คุณลุกออกมาด้านหลังเก้าอี้ของตัวเอง กำหมัดมือหนึ่งไว้ระดับเหนือสะดือใต้ลิ้นปี่ (ตรงพุง ไม่ใช่ตรงกระดูก) เอาอีกมือหนึ่งกำรอบหมัดแรก วางท้องพาดพนักเก้าอี้ให้มือทั้งสองที่กำไว้นั้นเป็นตัวรับน้ำหนักที่พนัก แล้วโยนตัวเองในลักษะกระแทกตัวลงไปข้างหน้าแบบจงใจให้ท้องกระแทกพนักเก้าอี้แรงๆ กระแทกแต่ละครั้งก็อ้าปากไอออกมาแรงๆพร้อมกับร้องว่า

     “..ฮ้า”

     ทำซ้ำหลายๆครั้ง แต่ละครั้งก็พยายามร้องเสียงดังแบบไม่ต้องเกรงใจใคร เพราะคุณกำลังจะตายอยู่แล้ว

     “ฮ้า…ฮ้า….ฮ้า…”

     ภาพที่ผมเอามาลงให้ดูนี้ผมได้ขออนุญาตมาจากรพ.จอห์นฮอพคินส์ ( www.hopkinsmedicine.org ) จึงต้องขอขอบคุณทางรพ.ที่ให้การอนุญาตไว้ ณ ที่นี้ด้วยอีกครั้ง

          กรณีที่ 2. คือกรณีไม่ได้สำลัก แต่แค่จิบของเหลว หรือดมไอระเหยก็เกิดแน่นคอแน่นอกหายใจเข้าออกไม่ได้ไอจามตัวงอแน่นหน้าอกจะเป็นจะตายเอาเสียแล้ว แบบนี้ไม่ได้เกิดจากอาหารเป็นก้อนลงไปจุกหลอดลม แต่เกิดจากตัวอาหารหรือไอของอาหารเช่นไอของน้ำขิงหรือไอของพริกไประคายเคืองสายเสียง (vocal cord) ทำให้สายเสียงเกร็งตัวในจังหวะที่ควรจะคลายตัว (vocal cord dysfunction) สายเสียงนี้มีสองเส้น เมื่อเขาเกร็งตัวทั้งสองเส้นจะช่วยกันปิดกล่องเสียงจนลมเข้าออกแทบไม่ได้เลย เรื่องอาหารไปกระตุ้นสายเสียงนี้กลไกการเกิดเป็นอย่างไรวงการแพทย์ก็ยังไม่ทราบชัด ทราบแต่ว่ามักพบในกรณีกรดไหลย้อน สำลักน้ำแกง สูดดมสารเคมีแรงๆ หรือแพ้ไอระเหยแบบรุนแรง (anaphylaxis) การแก้ปัญหาในกรณีนี้ไม่ใช้วิธีกดกระแทกหน้าท้องโดยคนอื่นหรือโดยตัวเองนะ แต่ต้องแก้ปัญหาโดยวิธีฝึกหายใจผ่านลำคออย่างผ่อนคลาย (relaxed throat breathing exercise) คือต้องฝึกซ้อมทำบ่อยๆก่อนเกิดเรื่อง วิธีฝึกคือก่อนและหลังฝึกก็จิบน้ำเปล่าๆเบาๆเสียก่อน แล้วนั่งตัวตรงเอาฝ่ามือสองข้างมือกุมท้องตัวเองไว้เพื่อให้สติอยู่ที่การใช้ท้องช่วยการหายใจ จากนั้นจึงทำปากจู๋เป็นรูเท่าหลอดกาแฟแล้วดูดลมเข้าปอดทางรูจู๋ เอ๊ย ไม่ใช่ทางรูปากจู๋นี้ การทำปากจู๋นี้ถ้าทำไม่เป็นจะเอาหลอดกาแฟจริงๆมาตัดเป็นท่อนสั้นๆแล้วอมแล้วดูด อมแล้วดูด ก็ได้ ดูดลมเข้าปอดช้าๆใช้เวลานานราว 1 วิ แล้วพ่นลมออกทางปากจู๋นี้ช้าๆใช้เวลา 2-3 วิ เข้าออกๆ การประมาณเวลาว่าแค่ไหนสามวินาทีจะใช้หลักของกรรมการบาสเก็ตบอลก็ได้ คือเขาถือว่านับในใจหนึ่งสองช้าๆเท่ากับหนึ่งวินาที สามวินาทีก็นับหนึ่งสอง หนึ่งสอง หนึ่งสอง สามครั้งโดยประมาณ ฝึกหายใจอย่างผ่อนคลายเข้าออกๆแบบเนี้ยะสักสิบรอบ วันหนึ่งทำสักห้าครั้ง คือฝึกให้เก่งเสียก่อนที่จะไปเกิดอาการจริงๆ เมื่อใดที่จิบอะไรที่ระคายเคืองแล้วเกิดอาการขึ้นจริงๆก็ตั้งสติ เอาเทคนิคนี้ไปใช้ ค่อยๆทำปากจู๋หายใจอย่างผ่อนคลายไปช้าๆ อย่าตาลีตาเหลือกรีบหายใจ ทำอย่างน้้นสายเสียงจะยิ่งปิดและยิ่งไม่ได้อากาศ

     อีกเทคนิคหนึ่งที่จะใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ก็คือเทคนิคหมาหอบแดด ชื่อเทคนิคนี้ผมตั้งให้เอง คำจริงเขาเรียกว่า panting คืออ้าปากแลบลิ้นออกมายาวเฟื้อยแล้วหายใจเข้าออกสั้นๆ ฮะหะ..ฮะหะ..ฮะหะ ก็พอช่วยให้สายเสียงคลายตัวได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน

     ถามว่าการผ่าตัดแก้ไขโรคนอนกรนทำให้คุณสำลักง่ายขึ้นได้หรือไม่ ตอบว่าเป็นไปได้..ถ้าโชคไม่ดีหมอเขาไปโซ้ยเอาแขนงของเส้นประสาทคุมสายเสียง (laryngeal nerve) เข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ ถ้าคุณอยากรู้ว่าเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าก็ต้องไปให้หมอหูคอจมูกเขาตรวจการทำงานของสายเสียงดู แต่ไม่ว่าผลการตรวจจะเป็นอย่างไรเส้นประสาทคุมสายเสียงของคุณก็ซ่อมไม่ได้หรอก วิธีแก้ปัญหาก็ยังต้องมาฝึกกลืนอย่างมีสติและทำการฝึกหายใจผ่านลำคออย่างผ่อนคลายอยู่นั่นเอง

     ….นี่อีกหลายวันกว่าจะถึงวันงานเลี้ยงปีใหม่ คุณพี่ตั้งใจซ้อมไว้ก็ดีนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์