Latest

เจ้านกปี๊บ วาเลนไทน์ 2537

     วันนี้ของดตอบคำถามอีกหนึ่งวัน เพราะกำลังสาละวนเตรียมตัวที่จะไปบรรยายในการประชุมผู้บริหารบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่ง ซึ่งเขานัดหมายมาประชุมกันที่เมืองเสียมเรียบ ผมตอบรับไปบรรยายให้ด้วยจิตใจแบบงกนิดๆ เพราะตัวเองยังไม่เคยเห็นนครวัด จึงกะถือโอกาสนี้พาลูกเมียไปเที่ยวนครวัดเสียเลย เผอิญขณะค้นหาสไลด์เก่าเพื่อเตรียมการสอนก็ไปพบเอาไฟล์ดึกดำบรรพ์ที่ผมเขียนเล่าเหตุการณ์เล็กๆในครอบครัวไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2537 คือยี่สิบกว่าปีมาแล้ว เขียนในวันวาเลนไทน์เสียด้วย เขียนแล้วและลืมไปแล้วว่าเก็บไว้ที่ไหนแล้ววันนี้กลับมาพบโดยบังเอิญ แม้จะเลยวันวาเลนไทน์มาแล้วสองสัปดาห์ แต่คิดว่าพอจะเอามาให้ท่่านผู้อ่านแก้เหงาไปพลางในขณะที่ผมเดินทางไปต่างประเทศหลายวันได้

…………………………………………………………………

14 กุมภาพันธ์ 2537

     1. ความนำ

ด.ช.พอ อายุ 10 ขวบ เป็นนักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บ้านของพออยู่ที่หมู่บ้านเมืองทองธานี ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นบ้านสี่เหลี่ยมสองชั้นขนาดเล็ก ในบ้านอยู่กันสี่คน คือคุณพ่อ ซึ่งเป็นหมอผ่าตัดหัวใจทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี คุณแม่ซึ่งเป็นหมอเด็กอยู่ที่โรงพยาบาลเด็ก และ “พี่น้อย” ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งแม่ครัว ผู้ดูแลบ้าน และเป็นพี่เลี้ยงของพอมาตั้งแต่พอยังเป็นเด็กอนุบาล แล้วก็ตัวพอเอง

หน้าบ้านของพอมีสนามหญ้าเล็กๆขนาดสักครึ่งหนึ่งของห้องเรียน รอบสนามเป็นต้นปีบสูงใหญ่สองต้น นอกรั้วหน้าบ้านเป็นต้นประดู่และต้นตะแบกสูงใหญ่เช่นกัน ทำให้หน้าบ้านร่มรื่น มีนกมาเกาะและส่งเสียงร้องระเบ็งเซ็งแซ่เป็นประจำ พอใช้ลานหน้าบ้านเป็นที่ตั้งของบ้านเด็กเล่นชื่อ “บ้านแสงอาทิตย์” ซึ่งคุณพ่อสร้างขึ้นจากไม้ลังและมีแผงโซล่าเซลที่หลังคาไว้ให้ความสว่างในตัวบ้าน ตัวบ้านมีขนาดพอที่คุณพอกับเพื่อนอีกหนึ่งคนจะมุดเข้าไปนั่งเล่นในนั้นได้

     ข้างหลังบ้านเป็นที่ว่างขนาดเล็กประมาณสักสามคูณห้าเมตร มีกอหมากเขียวแน่นขนัดและสูงชนชายคาชั้นล่างของบ้าน พื้นที่หลังบ้านนี้พี่น้อยผูกขาดเอาเป็นที่ซักผ้าและทำอาหารแบบไทยที่มีควันโขมง  เวลาทำงานพี่น้อยจะร้องเพลงไทยบ้างเพลงอิสานบ้างเสียงดังลั่น ไม่มีใครเข้าไปยุ่งกับพื้นที่หลังบ้านของพี่น้อยมากนัก

     แม้ว่าบ้านของพอจะอยู่ในเขตจังหวัดนนทบุรี แต่วิถีชีวิตก็เป็นแบบเดียวกับคนกรุงเทพฯทั้งหลาย คือต้องตื่นแต่เช้าตีห้าครึ่ง เพื่อที่จะได้ออกจากบ้านพร้อมกันตอนหกโมงเช้า เพราะคุณพ่อต้องขับรถไปส่งพอไปโรงเรียนก่อน แล้วขับรถต่อไปให้ถึงที่ทำงานซึ่งอยู่ที่ข้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิให้ทันก่อนรถติด โชคดีที่ที่ทำงานของคุณแม่อยู่ใกล้กับของคุณพ่อเพียงแค่เดินถึง คุณแม่จึงอาศัยรถไปกับคุณพ่อได้ทุกวัน

     ทุกเย็นคุณพ่อจะขับรถกลับมารับพอที่โรงเรียน วันไหนโชคดีที่คุณพ่อไม่มีการผ่าตัดหัวใจยืดเยื้อที่โรงพยาบาล พอก็จะได้กลับถึงบ้านเร็วก่อนตะวันตกดิน แต่ส่วนใหญ่คุณพ่อมักจะต้องอยู่ที่โรงพยาบาลถึงเย็น ทำผ่าตัดบ้าง สอนนักศึกษาแพทย์บ้าง กว่าจะมารับพอกลับถึงบ้านได้ก็มักจะเป็นเวลาเกินหนึ่งทุ่มไปแล้ว

     2. หล่นจากฟ้ามาเป็นอาหารของมด

เย็นวันหนึ่งพอกลับมาถึงบ้านเร็วยังไม่ทันมืด ขณะที่กำลังทำการบ้านอยู่ก็ได้ยินเสียงพี่น้อยร้องเอะอะเรียกให้คุณพ่อไปช่วย จับความได้ว่ามีลูกนกหล่นมาจากไหนก็ไม่รู้อยู่ที่บนพื้นดินหลังบ้าน พอตามไปดูด้วย เห็นคุณพ่อหยิบลูกนกขึ้นมาวางบนฝ่ามือ

     ตัวมันมีมดไต่อยู่เต็มไปหมด คุณพ่อค่อยๆเป่าไล่มดออกจากตัวลูกนกจนหมด มันมีแต่หนัง แทบไม่มีขนเลย ถ้าขดให้เป็นก้อนกลมก็คงมีขนาดเล็กกว่าลูกปิงปอง มันนอนอยู่บนฝ่ามือของคุณพ่อ หายใจรวยริน อ้าปากพะงาบๆ แต่ไม่มีเสียงออกมา ภาพของเจ้านกน้อยที่น่าสงสารทำให้พอรู้สึกกลัวนิดๆ ไม่กล้ามองตรงๆ

     “ไม่รู้นกอะไร อาจจะเป็นนกเขา” 

     คุณพ่อว่าขณะเพ่งดู

     “จะรอดมั้ยเนี่ย” 

     พี่น้อยพูดขณะเอาเมือเท้าสะเอวเอียงคอมองลูกนกพลางส่ายหัวไปมา

     “มันก็ต้องลุ้นดู ของอย่างนี้มันบ่อแน่” 

     คุณพ่อพูดปนคำอิสานกับพี่น้อย

     ถึงตอนนี้คุณแม่เข้ามาสมทบด้วย เราทั้งสี่คนช่วยกันมองหารังของมันเพื่อจะได้ส่งกลับไปให้แม่ของมันดูแลต่อ และสำรวจไปรอบๆหลังบ้านแล้วก็มองไม่เห็นว่ารังของมันอยู่ที่ไหน และมันมานอนให้มดตอมอยู่ที่นี่ได้อย่างไร คุณพ่อจึงพูดขึ้นว่า

     “ดูท่าเราคงจะต้องช่วยเลี้ยงมันเสียแล้วละ” 

      3. โภชนาการและที่พักอาศัย

สิ่งแรกก็คือต้องหาอะไรให้มันกินก่อน ตอนนี้มันนอนหายใจแขม่ว ไม่ยอมอ้าปาก คุณพ่อเอาหลอดดูดของนมกล่องตราวัวแดงจุ่มลงไปในกล่องนมแล้วเอานิ้วอุดอีกปลายหนึ่งไว้ ใช้อีกมือหนึ่งจับเจ้าลูกนกเงยหน้าและใช้นิ้วบังคับให้มันอ้าปากออก แล้วหยอดนมลงไป

     “แม่ครับ นมวัวมันจะเลี้ยงนกได้หรือ” 

     พอถามคุณแม่ด้วยความไม่แน่ใจ คุณพ่อได้ยินเข้าจึงตอบแทนว่า

     “อาหารโปรตีนสำหรับสัตว์ทุกชนิดเมื่อย่อยลงไปแล้วก็จะกลายเป็นกรดอามิโนเหมือนกันนั่นแหละ เหมือนเวลาเราทุบตึกทุกหลังก็จะเจอก้อนอิฐเหมือนกันหมด นมนี่เป็นอาหารที่มีกรดอามิโนที่จำเป็นครบถ้วนนะ  ลูกสัตว์ชนิดไหนก็กินได้”

     ขั้นตอนต่อไปก็คือการสร้างที่ให้มันอยู่ กล่องกระดาษสำหรับใส่รองเท้าของคุณแม่ถูกเลือกมาทำเป็นรังนก คุณพ่อเอากรรไกรตัดกระดาษออกเป็นฝอยเล็กๆยาวๆคลายเส้นก๋วยเตี๋ยวจำนวนมาก แล้วขยุ้มใส่เข้าไปในกล่องกระดาษแทนหญ้าผสมกิ่งไม้แบบที่นกใช้ทำรังตามธรรมชาติ แล้วจับเจ้าลูกนกวางไว้ในรังหญ้าเทียมนั้น มันนอนนิ่งแทบไม่ไหวติง ไม่ออกอาการใดๆกับบ้านใหม่ที่เราสร้างให้

     คุณพ่อเอาโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือซึ่งเป็นหลอดกลมขนาด 60 แรงเทียนมาเปิดส่องให้ลูกนก

     “เราจะเปิดไฟไว้ทั้งคืนเลยหรือครับ มันจะหลับได้อย่างไร” 

     พอถาม คุณพ่อตอบว่า

     “ไฟนี่ไม่ได้มีไว้ให้แสงสว่าง แต่มีไว้กกให้ความอบอุ่น เพราะลูกนกไม่มีขน ถ้าไม่มีไฟช่วยกกมันจะทนหนาวไม่ได้”

     “พ่อรู้ได้อย่างไรละครับ ว่าลูกนกจะสบายถ้าใช้หลอดไฟฟ้ากก” 

     พอยังไม่แน่ใจ

     “สมัยเป็นเด็กวัยรุ่น พ่อเคยเลี้ยงลูกไก่นะ เลี้ยงตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบออกจากไข่มาเลย พ่อก็เลยเอาวิธีกกลูกไก่มาประยุกต์”  คุณพ่อตอบ

     พอเอามือไปอังใต้หลอดไฟ รู้สึกว่ามันออกจะร้อนทีเดียว จึงถามคุณพ่อว่า

     “แล้วจะรู้ได้อย่างไรละครับว่ามันร้อนเกินไปหรือเปล่า”

     “ถ้าเป็นลูกไก่เราดูการจับกลุ่มของทั้งฝูง คือถ้ามันร้อนมันจะกระจายไปอยู่ไกลแสงมากที่สุด ถ้ามันหนาวมันจะนอนสุมกันอยู่ใกล้หลอดไฟ แต่ถ้าเป็นนกตัวเดียวอย่างนี้ เราก็คงต้องสังเกตดูอาการของมัน ถ้ามันร้อนมันก็จะกางปีกอ้าปากหายใจเหมือนหมาหอบแดด ถ้ามันหนาวมันก็จะขดกลมนิ่ง”  คุณพ่ออธิบาย

     เย็นวันรุ่งขึ้นเมื่อกลับจากโรงเรียน คุณพอไม่กล้าเข้าไปดูเจ้าลูกนกด้วยตนเองเพราะกลัวจะเห็นมันตาย อยู่ที่รัง ได้แต่รอฟังข่าวจากพี่น้อยว่ามันตายหรือยัง เมื่อได้ยินพี่น้อยบอกคุณพ่อว่า

     “หมอต้องป้อนนมนกด้วยนะ หนูทำไม่เป็น”

     พอจึงรู้ว่าลูกนกยังไม่ตาย จึงค่อยๆย่องไปดู

      มันนอนอยู่กลางกล่องรองเท้า พยายามโงหัวอันใหญ่โตของมันขึ้นแล้วอ้าปากกว้าง แต่ไม่มีเสียงอะไรออกมา ดูท่าทางมันจะมีการเคลื่อนไหวมากกว่าเมื่อวานนี้

     คุณพ่อป้อนนมมันอีกอย่างเคย

     “เราจะเลี้ยงนกด้วยนมไปจนมันโตเลยหรือพ่อ มันไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนะ”  พอตั้งคำถาม

     “เป็นคำถามที่ดี ถ้าเป้าหมายของเราคือเลี้ยงเพื่อให้มันไปมีชีวิตของมันเองได้ เราก็ต้องหัดให้มันกินอาหารที่มันหากินได้เองตามธรรมชาติ แล้วตามธรรมชาตินกมันกินอะไรละ” คุณพ่อย้อนถาม

     “ตัวหนอน เมล็ดพืช ผลไม้” พอตอบ

     “โอเค. เราจะเริ่มอาหารเลียนแบบธรรมชาติ ตัวหนอนก็เอาหมูหยองมาทำให้เปียกน้ำเสียหน่อยก็น่าจะใช้ได้แล้ว เป็นโปรตีนเหมือนกัน รูปร่างคล้ายๆกันด้วย ส่วนเมล็ดพืชก็เอาข้าวซ้อมมือที่เรากินอยู่ทุกวันนี่แหละ” 

     คุณพ่อไม่ได้พูดเปล่า แต่ไปเปิดกระป๋องหมูหยอง หยิบเอาหมูหยองมาแช่น้ำ แล้วปั้นเป็นรูปตัวหนอน จับเจ้าลูกนกอ้าปากแล้วหย่อนตัวหนอนปลอมลงไป มันกลืนลงคออย่างรวดเร็วจนพอหัวเราะ

     4. ความแข็งแรงของปีก

เย็นวันที่สามพอรอฟังข่าวนกจากพี่น้อยเช่นเคย พี่น้อยก็เหมือนจะรู้ใจ รีบรายงานให้คุณพอฟังว่าวันนี้เจ้าลูกนกส่งเสียงร้องเพราะมันคงจะหิว พี่น้อยก็เลยมั่วๆเอาข้าวป้อนมันไปแบบได้กินบ้าง ไม่ได้กินบ้าง พอคุณพ่อว่างงานก็จึงมาป้อนตัวหนอนเทียมที่ทำจากหมูหยองให้มันไปอีกหลายตัวจนไม่น่าเชื่อว่าลูกนกตัวเล็กขนาดนั้นจะกินเข้าไปได้อย่างไร

วันต่อๆมาก็กลายเป็นกิจวัตร เมื่อลงจากรถเข้าบ้าน สิ่งแรกที่พอทำก็คือวิ่งตรงไปยังรังของลูกนก มันเริ่มมีขนสีเทาคลุมไปทั่วตัว โดยเฉพาะตรงปีกรู้สึกว่าจะมีขนเหมือนนกจริงๆขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ดูน่าเป็นห่วงว่ามันดูเหมือนจะนอนจมกองอุจจาระและปัสสาวะของตัวเอง

“เป็นเพราะกระดาษดูดซับความชื้นสู้หญ้าแห้งที่นกใช้ทำรังตามธรรมชาติไม่ได้” 

     คุณพ่ออธิบาย และไปเอาหญ้าแห้งที่นอกรั้วบ้านมาทำที่นอนให้มันแทนกระดาษ ดูมันจะอยู่แบบสุขสบายขึ้น

     หลายวันต่อมาคุณพ่อเจาะรูที่ผนังสองด้านของกล่องรองเท้าแล้วเอากิ่งไม้เล็กๆเท่าครึ่งหนึ่งของดินสอเสียบทะสุรูทั้งสอง

     “นี่เป็นคานที่มันจะใช้นอนได้ โดยวิธีนี้ปัญหาการนอนแช่อึก็จะหมดไป” 

     คุณพ่อบอกพลางเอามือจับเจ้าลูกนกขึ้นอยู่บนคาน คุณพ่อต้องเอานิ้วมือช่วยกางนิ้วของเจ้าลูกนกออกเพื่อให้มันเกาะคานได้ เวลาจะเอามันออกจากคานมากินอาหารก็ต้องเอานิ้วมือแกะนิ้วของมันออกจากคาน เพราะมันยังขึ้นและลงคานเองไม่เป็น

      นับวันมันยิ่งจะส่งเสียงร้องดังขึ้น เวลาหิวมันจะร้อง

     “ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ”

     คุณแม่จึงตั้งชื่อให้มันว่า “เจ้าปี๊บ” ซึ่งกลายเป็นชื่อที่ทุกคนใช้เรียกมันตั้งแต่นั้นมา

     ประมาณสามสัปดาห์ผ่านไป ตัวของเจ้าปี๊บโตขึ้นเกือบเท่ากำปั้นของพอได้ มีขนขึ้นคลุมรอบตัว มีปีกที่ดูเกือบจะสมบูรณ์ แต่มันดูไม่ค่อยมีชีวิตชีวา วันๆเอาแต่นั่งจุมปุ๊กอยู่บนคาน

     “มันต้องเริ่มออกกำลังกายเพื่อเตรียมปีก” คุณพ่อบอก

     ทุกเย็นหลังเลิกงาน คุณพ่อจะพาเจ้าปี๊บออกกำลังกายปีก เริ่มต้นด้วยการให้มันอยู่บนฝ่ามือ ชูฝ่ามือให้สูง แล้วเคลื่อนไหวฝ่ามือลงอย่างรวดเร็ว เจ้าปี๊บจะกางปีกออกเพื่อประคองตัวเองโดยสัญชาติญาณจนมือของคุณพ่อหยุดเคลื่อนไหวมันจึงจะหุบปีก ต่อมาคุณพ่อจับมันเกาะอยู่บนกิ่งเล็กของต้นปีบ สูงจากพื้นประมาณครึ่งเมตร แล้วโยกกิ่งปีบขึ้นลงแรงๆ เจ้าปี๊บถูกบังคับให้กางปีกและขยับขึ้นลงเพื่อประคองตัวเอง แต่ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งมันพลัดตกหัวทิ่มลงบนพื้นสนามหญ้าแบบไม่เป็นท่า

     5. บทเรียนที่แสนสาหัส

หลายสัปดาห์ต่อมา เย็นวันหนึ่งคุณพ่อบอกว่าถึงเวลาที่เจ้าปี๊บจะต้องเริ่มหัดบิน พอรู้สึกอดเป็นกังวลแทนมันไม่ได้ และตามไปเชียร์การหัดบินครั้งแรกของมันที่สนามหน้าบ้าน

คุณพ่อยืนอยู่กลางสนามหน้าบ้าน วางเจ้าปี๊บไว้บนฝ่ามือ ชูมือขึ้นสูงเหนือศีรษะ แล้วปล่อยมือทิ้งให้เจ้าปี๊บอยู่กลางอากาศตามลำพังอย่างรวดเร็ว มันตกใจแต่ก็ขยับปีกบินได้อย่างสง่างาม บินเฉียงไปได้ประมาณสามเมตรก็เกือบลงถึงพื้น น่าภูมิใจแทนเจ้าปี๊บที่มันรู้วิธีบิน แต่เสียดายที่มันไม่รู้วิธีลงจอด มันบินจนตัวเองชนพื้นสนามหญ้า แล้วร่างของมันทั้งร่างก็ถูกแรงเฉื่อยจากการบินพาครูดไปบนสนามหญ้า ตัวเจ้าปี๊บเองหลับตาปี๋ พอดูแล้วต้องเบือนหน้าหนีด้วยความสงสาร

“นี่แสดงว่าแลนดิ้งเป็นเรื่องสำคัญกว่าการบิน” 

     คุณพ่อสรุปจากการฝึกบินวันแรก

     “พ่อครับ เจ้าปี๊บมันคงยังไม่อยากบิน ทำไมเราต้องไปบังคับมันด้วยละครับ มันอยู่กับเราก็สุขสบายดีแล้ว” 

     คุณพ่อตอบว่า

     “เราเลี้ยงเขาเพราะเราต้องการให้เขาไปมีชีวิตข้างหน้าที่ดี เรารู้ว่าสำหรับนก ชีวิตที่บินไปบนท้องฟ้า ไปทุกหนทุกแห่งได้ดังใจต้องการ เป็นชีวิตที่ดีกว่าเดินไปเดินมาอยู่ในบ้านคน เพื่อไปสู่จุดนั้นมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เขาต้องทนฟันฝ่าความลำบาก และเราต้องทนทำเป็นใจร้ายกับเขานิดๆ”

     “พอไม่ชอบเห็นนกเจ็บครับพ่อ”  พอพูดเสียงอ่อยๆ คุณพ่อตอบว่า

“พ่อก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ว่าในฐานะผู้เลี้ยงดูเขา เราต้องเลือกทางเดินสองทาง หนึ่งคือเลี้ยงดูเขาเพื่อให้ตัวเรารู้สึกสุขใจสบายใจ หรือสอง คือเลี้ยงดูเขาเพื่อให้เขาไปมีชีวิตที่ดีของเขาเองในวันข้างหน้า แล้วยูว่าเราควรจะเลือกทางไหนละ”

     พอนิ่งเฉย ไม่ยอมตอบ

     วันต่อมาคุณพ่อฝึกเจ้าปี๊บใหม่โดยเน้นการลงจด เริ่มต้นโดยปล่อยมันที่ระดับสูงกว่าพื้นเล็กน้อยให้มันรู้วิธีประคองตัวลงจอดบนพื้น แล้วปล่อยมันที่ระดับสูงขึ้นๆ จนมันลงจอดบนพื้นได้ด้วยความมั่นใจ
แต่การลงจอดบนพื้นก็ยังไม่ยากเท่าการลงจอดบนกิ่งไม้ หลังจากจอดบนพื้นสนามได้แล้ว คุณพ่อปล่อยเจ้าปี๊บให้จอดบนกิ่งไม้ ปรากฏว่ามันบินพับๆพาร่างฟาดเข้ากับกิ่งไม้แล้วหล่นลงบนพื้นแบบหมดท่า แต่เมื่อทำซ้ำไปหลายๆหน มันก็เริ่มรู้วิธีบินประคองตนเองอยู่กลางอากาศเพื่อรอจังหวะจับกิ่งไม้ให้ได้ก่อนที่จะหุบปีก และเมื่อมันทำเป็นแล้ว แม้คุณพ่อจะโยกกิ่งไม้หนีมันก็ยังลงจอดบนกิ่งไม้ด้วยตัวมันเองจนได้

     6. เรียนการจิกเมล็ดข้าว

บทเรียนที่ไม่สามารถสอนเจ้าปี๊บได้เลยก็คือการสอนให้จิกอาหารเอง เพราะแม้จะโตจนบินได้เองอย่างแข็งแรงแล้ว แต่มันก็ยังจิกอาหารเองไม่เป็น ต้องป้อนกันทุกวัน พี่น้อยพยายามเอาเม็ดข้าวมาวางบนพื้นแล้วชี้ให้มันดูแล้วพูดว่า

“กุ๊ก..กุ๊ก..กุ๊ก”

เพื่อให้มันจิกเม็ดข้าว แต่ก็ไม่ได้ผล

กลางคืนวันหนึ่ง เมื่อพาเจ้าปี๊บเข้านอนบนคานในบ้านกล่องรองเท้าของมันแล้ว คุณพ่อทำงานอยู่กับคอมพิวเตอร์ที่ด้านหน้าบ้านซึ่งห่างจากรังของเจ้าปี๊บที่อยู่ในห้องครัวแพนทรีประมาณ 7 เมตร พอทำการบ้านอยู่ใกล้ๆ คุณแม่ดูโทรทัศน์อยู่ที่โซฟาชุดรับแขก แล้วทุกคนก็ประหลาดใจเมื่อเห็นเจ้าปี๊บบินจากห้องครัวแพนทรีมาเกาะที่หัวไหล่คุณพ่อ มันจับอยู่ตรงนั้นครู่ใหญ่พลางจ้องมองดูนิ้วคุณพ่อที่พิมพ์ลงไปบนแป้นคีย์บอร์ด แล้วมันก็บินลงไปบนแป้นคีย์บอร์ด ใช้ปากไล่จิกไปตามตัวอักษร ก. ไก่ ข. ไข่ เลียนแบบนิ้วคุณพ่อ ยิ่งคุณพ่อพิมพ์เร็ว มันก็ยิ่งรีบจิกแป้นอักษรโน้น แล้วไปจิกแป้นอักษรนี้ มันเรียนรู้วิธีจิกอาหารเข้าแล้ว โดยการเลียนแบบนิ้วที่พิมพ์ลงไปบนแป้นคีย์บอร์ด

นับตั้งแต่นั้นมาเราก็ไม่ต้องป้อนอาหารเจ้าปี๊บอีกเลย มันสามารถจิกเมล็ดข้าวที่โปรยบนพื้น มันจิกเม็ดกรวดบนพื้นสนาม และจิกกินอาหารที่ใส่ไว้ในจานได้เอง

     7. ความกลัวโลกกว้าง

วันหนึ่ง คุณพ่อบอกว่าเจ้าปี๊บโตพอที่จะออกไปเผชิญชีวิตของตนเองได้แล้ว คุณพ่อไปซื้อกรงนกที่สวนจตุรจักรมาอันหนึ่ง เอาแขวนไว้นอกบ้าน ให้เจ้าปี๊บอยู่ข้างในกรงกลางวันคุณพ่อเปิดประตูกรงไว้ และให้พี่น้อยคอยดูแลไม่ให้เจ้าแมวเหมียวของเพื่อนบ้านซึ่งชอบมาป้วนเปี้ยนแถวนั้นมาทำอันตรายเจ้าปี๊บ ส่วนกลางคืนก็ปิดประตูกรงเพื่อความปลอดภัย คุณพ่อบอกว่าจะทำเช่นนี้จนกว่าเจ้าปี๊บจะออกโบยบินไปมีชีวิตของตัวเอง

แต่ปรากฏว่าเจ้าปี๊บกลัว มันเกาะคอนจ๋องอยู่ในกรงทั้งวันไม่กล้าออกไปไหน จนตกเย็นเมื่อคุณพ่อกลับจากทำงานมันจึงออกมาเกาะไหล่ และบินไปบินมาในบ้านอย่างร่าเริงและคุ้นเคย เป็นเช่นนี้อยู่หลายวัน พอบอกคุณพ่อว่า

“พ่อครับ เจ้าปี๊บมันกลัวนอกบ้าน เราให้มันอยู่กับเราในบ้านนี้ก็ดีอยู่แล้วนี่ครับ จะไปบังคับให้มันออกไปทำไม” คุณพ่อตอบว่า

     “มองอีกแง่หนึ่งสิลูก เรากำลังให้โอกาสเจ้าปี๊บในการออกไปสู่โลกกว้าง เขาจะหยิบฉวยโอกาสนั้นหรือไม่ หรือเลือกจะอยู่กับเราตลอดไป พ่อไม่รู้ แต่เรารักเขา เรารู้ว่าชีวิตอิสระที่ในโลกกว้างข้างนอกนั้นดีกว่า เราจึงพยายามให้โอกาสเขา เราจะให้เวลาเขาตัดสินใจนานเท่าที่เขาต้องการ”

เย็นวันหนึ่ง ขณะที่เจ้าปี๊บกำลังอยู่ในกรง มีนกเสรีอีกตัวหนึ่ง เป็นนกชนิดเดียวกับเจ้าปี๊บ ตัวขนาดเท่าผลมะม่วง ขนสีดำสลับน้ำตาล ร้องเสียงปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ เหมือนกัน มันเกาะอยู่ที่ยอดกิ่งปีบ แล้วส่งเสียงร้อง ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ ขณะที่เจ้าปี๊บซึ่งอยู่ในกรงก็ส่งเสียงร้องตอบ ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ

     8. ความพลัดพรากที่รับไม่ได้

เย็นของอีกวันหนึ่ง เช่นเคย ทันทีที่ลงจากรถ คุณพอรุดไปยังกรงของเจ้าปี๊บเพื่อส่งเสียงทักทาย แต่ปรากฏว่าเจ้าปี๊บไม่ได้อยู่ในกรงเสียแล้ว

“พี่น้อยครับ เจ้าปี๊บอยู่กับพี่น้อยหรือเปล่า” พอถาม

     “เปล่า เจ้าปี๊บมันบินไปแล้ว” พี่น้อยตอบ

พอถึงกับร้องไห้โฮ..โฮ

คุณแม่เข้ามาลูบหลังปลอบพอว่า

     “เราช่วยชีวิตเขาไว้ เลี้ยงเขามา จนเขาไปใช้ชีวิตของเขาเองได้ เราก็ควรภูมิใจแล้ว จะหวังให้เขาอยู่กับเราไปตลอดนั้น ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขาอย่างแน่นอน”

คุณพ่อก็ช่วยพูดช่วยอธิบายว่า

“ชีวิตคนเรา เมื่อมีพบแล้วก็ต้องมีจากอย่างนี้แหละ จากกันด้วยดี จากไปเพื่อมีความสุข ถือเป็นการจากที่ดีนะลูก”

พอตอบทั้งๆที่ยังร้องไห้น้ำตานองหน้าว่า

“พอรู้ ว่าเขาจะต้องไป แต่ก่อนจากกันมันน่าจะมีเวลาได้ล่ำลากันบ้าง อีกอย่างหนึ่ง เจ้าปี๊บไม่เคยกับชีวิตข้างนอก เราไม่เคยสอนชีวิตข้างนอกให้มัน มันจะเอาตัวรอดได้อย่างไร”

คุณพ่อกับคุณแม่ได้แต่มองหน้ากัน ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไรดี

     9. กลับมาสวัสดี

เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุด คุณพอตื่นสายได้ แต่ก็ต้องเตรียมตัวออกจากบ้านเพื่อไปเรียนภาษาอังกฤษกับเพื่อนฝรั่งของคุณแม่ชื่อโรสแมรี่ ที่อยู่คนละฟากของหมู่บ้าน ขณะที่พอกำลังนั่งผูกเชือกรองเท้า ก็ได้ยินเสียง

     “ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ”

     พอเงยหน้ามองหาที่ยอดต้นปีบ ต้นประดู่ ต้นตะแบบ ไม่ใช่..เสียงนั้นมาจากใกล้ๆนี่เอง เสียงนั้นมาจากในกรง

     พอเดินไปที่กรงนก เห็นเจ้าปี๊บกำลังยืนอยู่บนคอน และกางปีกกวักลมอยู่ในกรง

     “ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ”

     พอเอื้อมมือเข้าไปในกรง เจ้าปี๊บไต่ขึ้นมาตามแขน มาเกาะอยู่ที่หัวไหล่ พอจับมันมาวางบนฝ่ามือ แล้วลูบหัวมันอย่างที่เคยทำบ่อยๆ มันกางปีกออกขยับขึ้นลงแล้วร้องอย่างดีใจอยู่บนฝ่ามือ

     “ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ”

     คุณพ่อเดินออกมาเห็นเข้าพอดี ขณะจ้องมองเจ้าปี๊บบนนิ้วมือ พอพูดกับคุณพ่อว่า

     “พ่อครับ เจ้าปี๊บอาจได้รับอันตรายจากการออกไปสู่ภายนอกเร็วเกินไป ทำไมเราไม่ทำกรงขนาดใหญ่มีต้นไม้อยู่ในนั้นด้วยเพื่อสอนการใช้ชีวิตข้างนอกให้เขาก่อนละครับ” คุณพ่อตอบว่า

     “จำที่พ่อเคยพูดถึงว่าสิ่งที่เราอยากให้เขาคือโอกาส จำได้ไหมลูก แต่ความรักและความเป็นห่วงของเรา คือกรงขังที่จำกัดโอกาสนั้น การเลี้ยงดูเขา เราต้องมองออกไปให้ไกลว่าวันหนึ่งถ้าไม่มีเรา เขาจะมีชีวิตอยู่อย่างไร อย่าให้กรงของความรักความห่วงใยของเราไปขังชีวิตเขาไว้ตลอดกาลเลย”

     พอไม่ตอบ ตาจ้องมองเจ้าปี๊บที่ขยับปีกอยู่บนนิ้วมือ มันร้องอีกว่า

     “ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ”

     แล้วก็..

     “ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ”

     แต่เสียงที่สองไม่ใช่ของเจ้าปี๊บ แต่มันดังมาจากบนยอดไม้ พอเงยหน้าขึ้นไปดู มองเห็นนกอีกตัวหนึ่ง รูปร่างหน้าตาเหมือนเจ้าปี๊บทุกอย่าง เกาะอยู่บนยอดต้นปีบ

     เจ้าปี๊บโผบินจากมือของพอ บินขึ้นไปยังยอดไม้ พอโบกมือตามด้วยน้ำตานองหน้า

     “ปี๊บปี๊บ..ปี๊บปิ๊บ”

     เสียงนกสองตัวร้องประสานกัน

      10. ลาก่อน.. สู่โลกกว้าง

คุณแม่ออกมาที่หน้าบ้านเตรียมจะขึ้นรถไปส่งพอไปเรียนภาษาอังกฤษ พอชี้ให้คุณแม่ดูนกสองตัวบนยอดต้นปีบ

“ตัวไหนเป็นเจ้าปี๊บครับ” พอถาม คุณแม่บอกว่า

“เหมือนกันจังเลยนะ เราน่าจะผูกเทปสีไว้ที่ขาเจ้าปี๊บ”

     คุณพ่อบอกว่า

     “เมื่อตั้งใจจะเลี้ยงดูให้เขาไปสู่เสรี แล้วจะมาสร้างสายใยผูกพันอีกทำไมเล่า”

     ถึงตอนนี้พี่น้อยตามมาสมทบ เราทั้งสี่คน คือพอ คุณพ่อ คุณแม่ และพี่น้อย พากันยืนมองเจ้าปี๊บและมิตรใหม่ในโลกกว้างของมันที่บนกิ่งไม้ จนนกทั้งสองตัวออกบิน บินไปจนลับตา ไปพร้อมกับเสียงที่ค่อยๆแผ่วลงจนเลือนหายไป

     “ปี๊บปี๊บ..ปี๊บปี๊บ…..ปี๊บปี๊บ………”

สันต์ ใจยอดศิลป์
14 กุมภาพันธ์ 2537