Latest

บ้านโบราณ ริมกว้านพะเยา

     วันนี้ หยุดตอบคำถามหนึ่งวัน เพราะผมต้องพาลูกชายไปเยี่ยมย่าของเขาที่บ้านนอก ไปกันทั้งสามคนพ่อแม่ลูก ไปขึ้นเรือบินที่บขส. หิ หิ พูดเล่น ไปขึ้นที่ดอนเมือง แต่บรรยากาศมันก็เหมือนบขส.นั่นแหละ เพราะว่าผมเคยเป็นลูกค้าบขส.มานานจนจำบรรยากาศได้ขึ้นใจ แต่การขึ้นเครื่องบินที่ดอนเมืองนี้บางอย่างก็เป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับผม เช่นพอเขาประกาศว่าเครื่องบินที่จะไปเชียงรายพร้อมที่จะออกเดินทางแล้ว ขอเชิญผู้โดยสารขึ้นเครื่องได้ ถ้าเป็นสมัยก่อนผมก็จะเห็นผู้โดยสารรีบไปยืนเข้าคิวออกันอยู่ที่ทางออกไปขึ้นเครื่อง แต่เดี๋ยวนี้พอเขาประกาศแล้ว ผู้โดยสารจะไปออกันอยู่ที่ประตูห้องสุขา โดยเฉพาะห้องสุขาหญิงนั้น พอสิ้นเสียงประกาศ คิวเข้าห้องสุขาจะตั้งแถวขึ้นมาพรึบทันที นี่นับว่าเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับคนแก่ที่ไม่ค่อยได้เดินทางอย่างผม

ไปถึงเชียงราย กะว่าจะร้อน กลับหนาว ต้องขุดเสื้อกันหนาวในกระเป๋าออกมาใส่ แล้วก็ไปเช่ารถขับออกจากสนามบิน บังเอิญเขากำลังขุดถนนกันอยู่ทำให้หลงทางไปทางตรงกันข้ามกับที่จะเข้าเมืองเชียงราย ไปโผล่เอาที่ทางไปอำเภอเทิง จึงตั้งสติได้เลี้ยวขวามาขึ้นถนนพหลโยธินใหม่ แล้วก็ไปถึงอำเภอแม่ใจ และเยี่ยมคุณย่าได้สมใจหมาย คุณย่าแปดสิบกว่าแล้ว การมาเยี่ยมคุณย่าเราต่างเจียมตัวว่าจะต้องไม่เรื่องมาก คุณย่าให้กินอะไรก็ต้องกิน ให้นอนก็ต้องนอน ท่านให้กินข้าวเหนียว น้ำพริกอ่อง แคบหมู ก็ต้องกิน กินแล้วทุกคนต่างพากันง่วงสะบัดเพราะไม่เคยกินข้าวเหนียวอย่างเอาเป็นเอาตายอย่างนี้มาก่อน ผมจึงออกอุบายแก้ง่วงว่าเราไปขับรถเที่ยวตอบบ่ายรอบๆกว๊านพะเยากันดีกว่า คุณย่าอนุญาต แต่กำชับว่าให้เที่ยวแต่แถวริมน้ำห้ามขับรถขึ้นไปเที่ยบบนป่าบนเขา

บ้านโบราณริมกว๊านพะเยา

     ผมให้ลูกชายขับรถ ตัวเองหลับ พอตื่นก็ดูวิวข้างทางเพลิน เราขับเลี้ยวขวาเข้าพะเยา ขับไปตามถนนเลียบกว๊านซึ่งกว้างขวางและเงียบเชียบ อากาศซึ่งเย็นจนต้องใส่เสื้อกันหนาวในตอนเช้า เปลี่ยนเป็นแดดเปรี้ยงร้อนตับแล่บในตอนบ่าย ขณะค่อยๆคลานรถไปตามถนน ด้านขวามือซึ่งเป็นด้านบึงน้ำมองเห็นรูปปั้นพญานาคสีขาวตัวบะเล่งสองตัวลอยเท้งเต้งอยู่กลางอากาศ ความจริงเขาตั้งใจจะปั้นให้เลื้อยอยู่บนผิวน้ำ แต่ตอนนี้น้ำแห้งลงไปมาก พญานาคทั้งคู่จึงขึ้นไปเลื้อยบนท้องฟ้าแทน ผมเหลือบเห็นด้านขวามือเป็นรั้วสังกะสีสูงท่วมหัวแบบไซท์งานก่อสร้าง มองข้ามรั้วสังกะสีเข้าไปเห็นส่วนบนของตัวบ้านเป็นบ้านไม้โบราณ ยิ่งกว่านั้นหลังคาบ้านยังเป็นหลังคาประหลาด คือเป็นหลังคาคล้ายกระเบื้องว่าว แต่ปลายของแต่ละแผ่นแหลมเปี๊ยวจนน่าฉงนว่าใครนะปั้นกระเบื้องพิเรนอย่างนั้นมามุงหลังคา ด้วยความสนใจเราจึงหยุดรถ เป็นประตูสังกะสีแง้มอยู่เล็กน้อย และเห็นมีฝรั่งซำเหมาสองคนสะพายกล้องถ่ายรูปมุดประตูรั้วออกมา รู้ทั้งรู้อยู่ว่าการแอบมุดบ้านคนอื่นเขาโดยไม่บอกให้เจ้าของรู้มันไม่สุภาพ แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นทำให้เราตัดสินใจมุดประตูที่แง้มๆอยู่นั้นเข้าไป

ประตูเข้าสวนหลังบ้าน และเรือนคนใช้

     อู้ฮูว์.. ไม่มาเห็นกับตาตัวตัวเองไม่เชื่อนะเนี่ย เป็นบ้านโบราณที่กำลังซ่อมกันอยู่จริงๆ แม้จะเก่าคร่ำคร่าลายครามอายุระดับร้อยปี แต่ความเท่ในเชิงสถาปัตยกรรมนั้นไม่ได้ทรุดโทรมไปตามตัวบ้านเลย กำลังที่ตะลึงกับความเท่ของบ้านอยู่นั้น ก็มีผู้ชายสูงวัยท่าทางใจดีคนหนึ่งเดินออกมาขึ้นรถปิ๊กอัพที่จอดอยู่ในลาน ก่อนจะขับออกไปเขายิ้มให้ผมนิดๆ ผมโค้งให้เล็กน้อยพองาม ในใจเดาเอาว่าเขาคงเป็นผู้รับเหมาที่มาซ่อมบ้านนี้

     เราเดินเลียบด้านข้างของบ้านไป มีประตูทางเข้าอยู่หลังบ้าน เราแอบด้อมๆมองๆ ช่างฝีมือที่ทำงานอยู่ในบ้านร้องบอกว่าให้เข้ามาดูข้างในได้ ได้การแล้วเรา มีหรือจะปล่อยโอกาสให้ผ่านไป เรารีบขอบคุณแล้วยกทัพเข้าไปทันที อารามรีบร้อนไปสะดุดกองแป้นเกล็ดไม้สักมุงหลังคาเก่าที่เขารื้อลงมากองไว้เข้า เมื่อก้มลงมองจึงเห็นว่าที่เห็นเป็นหลังคากระเบื้องแหลมเปี้ยวนั้นอันที่จริงไม่ใช่กระเบื้องดอก มันเป็นหลังคาไม้แป้นเกล็ด แต่เป็นไม้แป้น

กระเบื้องไม้ ไม่ใช่ปูน

เกล็ดล็อตนัมเบอร์ไหนเวอร์ชั่นไหนผมก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าผมไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในชีวิต จึงถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน คือธรรมดาแป้นเกล็ดเขาจะต้องใช้ขวานถากให้ผิวมันมีร่องให้น้ำไหลง่าย แต่นี่เป็นแป้นเกล็ดโบราณที่ไสผิวบนเสียจนเรียบแปร้ และเมื่อโดนแดดโดนฝนไปนานเป็นสิบเป็นร้อยปีเข้าสีมันก็กลายเป็นสีเทาจนแยกไม่ออกว่าเป็นไม้หรือเป็นกระเบื้อง ยิ่งไปแต่งให้ปลายแหลมเปี๊ยวอย่างนั้นยิ่งดูยังไงก็นึกว่าเป็นกระเบื้องว่าวปูน

     เราเดินผ่านประตูเข้าหลังบ้าน ผมเดาว่าบ้านนี้อายุน่าจะสักร้อยปี ช่างที่ทำประตูนี้จะต้องเป็นช่างญี่ปุ่นหรือไม่ก็ช่างจีนเป็นแน่ เพราะประตูหลังบ้านแบบนี้เป็นไม้สักประณีตทั้งชุด มีหลังคามุง แถมบนหลังคายังมีเสาสลักและคานคาดแบบประตูซินโตของญี่ปุ่นหรือประตูวังของพวกพ่อค้าผู้ร่ำรวยตามหัวเมืองของจีน พอผ่านประตูเข้ามาแล้วเราก็เข้ามายืนอยู่กลางลานหลังบ้านใหญ่ มองไปทางบ้านใหญ่ซึ่งมีสองชั้นจะเห็นผนังไม้สักซึ่งคร่ำคร่าด้วยลายน้ำฝนแต่มองให้ทะลุลอยด่างดวงของน้ำฝนก็จะเห็นความสวยงามของเนื้อไม้สักที่ได้รับการขัดถูเอาคราบไคลออกไประดับหนึ่งแล้ว ลองตั้งใจดูวงกบหน้าต่างและช่องแสงเหนือวงกบประตูที่เป็นวงกลมทับกากบาทเรียงแถวกันอยู่สิครับ มันเนี้ยบเสียจนไม่น่าเชื่อว่าจะทำขึ้นมาได้ด้วยมือคนโดยไม่ใช้เครื่องจักร

จากสวนหลังบ้าน มองย้อนดูตัวบ้านใหญ่

หันมามองทางด้านหลังบ้าน เป็นเรือนคนใช้หรือบ่าวไพร่ คงประมาณนั้น เพราะเป็นอาคารชั้นเดียวและแบ่งเป็นห้องๆ ผนังไม่สักทองซึ่งเพิ่งขัดเสร็จยังไม่ได้ทาแลกเกอร์ ยามที่แดดส่องลงมาจากด้านบน เอาเงาของหางกระเบื้องแป้นเกล็ดเลียนแบบกระเบื้องปูนที่แหลมเปี๊ยบเรียงเป็นแถวราวฟันเลื่อยทาบอยู่บนกระดานไม่สักสวยงามนัก ที่ผมชอบเป็นพิเศษคือเมื่อเงยขึ้นไปมองมุมระหว่างประตูทางเข้ากับเรือนคนใข้ เป็นฟันเลื่อยหางกระเบื้องของซุ้มประตูทางเข้า เล่นมุมกับเงาของหางกระเบื้องหลังคาเรือนคนใช้ที่ทาบอยู่บนเชิงชายและผนังแล้ว เป็นภาพเขียนแนวเพอร์สเพ็คทีฟที่จ๊าบจริงๆ

หัวบันไดทางเดินสำหรับบ่าวไพร่

   เราเดินมาจนสุดสนามหลังบ้าน มาขึ้นบันไดเฉลียง เสาบันได้สองข้างนี้ช่างพอเหมาะพอดีจริงๆ ไม่เรียบเกินไปเสียจนไร้ความรู้สึก แต่ก็ไม่สลักเสลาลวดลายเสียจนแปลกแยกกับความเป็นแค่ทางเดินหลังบ้าน วิธีสลักแบบง่ายๆแต่ไม่ถึงกับเรขาคณิตเกินไปนั้น พอแสงตกกระทบด้านนอกแล้วมันให้เงาด้านข้างและสร้างมิติได้ลึกกว่าความเป็นจริงเสียอีก

     พอขึ้นไปถึงเฉลียง มองไปทางหน้าบ้าน ความรู้สึกแรกของผมก็คือเหมือนผมกำลังอยู่ที่พนมรุ้ง หมายถึงปราสาทหินพนมรุ้งที่สร้างให้ช่องหน้าต่างประตูตรงกันชนิดมองทะลุได้ยาวมาก อาจจะเป็นความตั้งใจจะให้ลมวิ่งผ่านหน้าทะลุหลัง ข้างทะลุข้าง แต่พอทำออกมาแล้วมันเพิ่มความใหญ่ให้บ้านได้ดีจัง

มีช่องให้ลมวิ่งยาว หน้าทะลุหลัง

     ผมเลือกเข้าไปสำรวจในตัวบ้านใหญ่ก่อน ห้องโถงกลางบ้านนั้นใหญ่ก็จริง แต่ไม่ได้โล่งแบบง่ายๆ มีเสาซึ่งสลักร่องดิ่งเหมือนเสาของสิ่งปลูกสร้างในวังของจีนหรือยุโรป มีอาร์คไม้โค้งเป็นช่วงๆเพื่อรับช่องลมซึ่งเป็นซื่ไม้สักแยกโถงโล่งนั้นออกจากกันอย่างน้อยก็ด้วยความรู้สึก มองผ่านซุ้มอาร์คโค้งเหล่านั้นไปทางหน้าบ้าน จะเห็นแสงจากภายนอกแทงทะลุผ่านกระจกสีม่วงแกมแดงซึ่งเป็นช่องแสงเหนือหน้าต่างเข้ามา ทำให้แสงภายในห้องโถงเป็นแสงสีบานเย็นซึ่งอะเมซซิ่งมาก ผนังโถงแต่ละด้านไม่ใช่ผนังลุ่นๆ แต่เป็นผนังที่ซับซ้อนแต่มีเสน่ กล่าวคือเริ่มด้วยระเบียงไม้กันตกรอบโถงสูงแค่ต้นขา ประกบหลังด้วยประตูหรือจะเรียกว่าหน้าต่างสูงก็ได้ เรียงกันตลอดความยาวผนังทุกด้าน เหนือหน้าต่างมีช่องแสงสองระดับ ระดับล่างเป็นช่องแสง

โถงกลางบ้าน อาร์คโค้งแยกความรู้สึกเป็นหลายส่วน และกระจกสีสร้างความอุ่น

กระจกสี ระดับบนเป็นช่องลมเกล็ดไม้สัก ตัวบานหน้าต่างสูงแต่ละบานเองมีกลไกการเปิดสองชั้น คือเปิดทั้งบานแบบประตูทั่วไป หรือจะเปิดบานผลักเล็กเฉพาะหน้าต่างช่องลมเล็กในหน้าต่างบานใหญ่อีกทีหนึ่งก็ได้ กลไกหน้าต่างที่ซับซ้อนแบบนี้ผมเห็นใช้กันมากในอาคารไม้เก่าๆทางยุโรป

บันไดคลาสสิกแบบยุโรป

     บ้านนี้มีบันไดขึ้นชั้นบนขนาดใหญ่สองบันได้ ซึ่งเท่ไปคนละแบบ ผมชอบบันได้หลังมากกว่า เพราะมีราวบันได้ที่จ๊าบที่ลูกหลานของเจ้าของบ้านคงจะใช้เล่นกระดานลื่นได้สนุก ตัวลูกตั้งและลูกนอนของบันไดนั้นผิดวิสัยบันได้ในทางเอเชียทั่วไป คือเป็นบันไดที่มีลูกนอนกว้างระดับหนึ่งฟุตทีเดียว ขณะที่ลูกตั้งไม่ได้สูงมาก ผมคะเนว่าอย่างมากก็ 18 ซม. เป็นบันไดที่เดินสบายมากสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีห้องใต้บันไดแบบที่นิยมกันในยุโรปอีกด้วย ดูชายของไม้สักที่บุห้องใต้บันไดซึ่งผุกร่อนไปพอสมควรแล้ว งานปรับปรุงคงจะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยทีเดียว

ห้องโถงหกเหลี่ยม กำธรเสียงน่าจะดีมากกับเปียโนหรือไวโอลิน

      สิ่งที่เตะตาผมที่ชั้นบนคือห้องโถงหกเหลี่ยม ซึ่งมองเห็นวิวพาโนรามาของกว๊านพะเยา เป็นไม้สักทั้งพื้น ผนัง และเพดาน แต่ยังไม่ได้ขูดสีเก่าออก แหม..ถ้าได้เปียโนไม้วอลนัทตัวเก่าๆมาตั้งในห้องนี้สักตัว หรือมีคนสีไวโอลินมือดีๆมาสีสักคน แล้วช่วยเพื่อนฝูงมาร้องเพลงด้วยเสียงสดๆไม่ต้องใช้ไมค์กันในห้องนี้ ผมว่าเสียงจะต้องทั้งเพราะทั้งนุ่มนวลแน่ๆ

     เราชมกันจนจุใจแล้วขอบคุณช่างก่อสร้างก่อนออกมานอกบ้านใหญ่ ผมถามเขาว่าใครเป็นเจ้าของบ้านนี้หรือ เขาตอบว่าก็เถ้าแก่ที่สวนกับคุณที่ข้างนอกไง ผมนึกตำหนิตัวเองในใจว่าไปหาว่าเขาเป็นช่างผู้รับเหมา ที่แท้เขาเป็นเจ้าของบ้านตัวจริงนี่เอง

บ้านเล็กออริจินอล อยู่หลังบ้านใหญ่

     พอออกมานอกบ้านใหญ่ มีบริเวณร่มรื่นหลายไร่ ประมาณสักแปดไร่ได้ละมัง อ้าว มีบ้านหลังเล็กข้างนอกอีกหลังหนึ่งนะ ยังออริจินอลอยู่เลย หมายความว่ายังไม่ได้ซ่อม สีเดิมๆเขียวมะกอกซีดๆ มีมุ้งหมอนผ้าห่มของคนงานตากอยู่ที่ระเบียงหน้าบ้าน แต่ปิดบังความสวยงามของบ้านไม่ได้หรอก มันออกแนววิคตอเรียมากกว่าตัวบ้านใหญ่ แม้จะมอมแมมอยู่กลางสลัมแต่ก็สวยเสียจนขณะมองผมรู้สึกเหมือนได้อยู่ในอดีตที่มีแต่ความสุขกายสบายใจได้
 
     ก่อนจากบ้านโบราณที่ริมกว๊านพะเยาแห่งนี้ ผมก้มต่ำลงสำรวจเชิงวิศวกรรมบ้าง อื้อฮือ..นี่ไม่ใช่งานเล็กเลยนะเนี่ย อย่างน้อยอีกเป็นปีกว่าจะเสร็จ บ้านโกรฟเฮ้าส์ที่ผมซ่อมว่างานช้างแล้ว แต่นี่งานช้างอาฟริกาเลยละ ตงไม้ส่วนใหญ่ผุกร่อนและขาดยุ่ยที่ปลาย ต้องเอาตงใหม่สอดเข้าไปประกบแบบอันต่ออันเพื่อให้ตงถ่ายน้ำหนักลงบนคานได้ โคนเสาไม้สักส่วนใหญ่ขาดกร่อนหมดแล้ว ต้องลงตอม่อคอนกรีตแล้วตีคานพื้นขนาดใหญ่โดยรอบใหม่เพื่อรับหัวตงที่ใส่ใหม่ทั้งหลาย ไม้เคร่าฝาก็ผุกร่อนที่ปลายล่างเกือบหมด ต้องบรรจงถอดไม้ฝากระดานออกเพื่อเสริมเคร่าใหม่ก่อนที่จะเอาไม้ฝากระดานปิดกลับลงไปอีกครั้ง

ส่วนหน้าบ้าน ่งานซ่อมเกือบเสร็จแล้ว

เราเดินออกมาทางหน้าบ้าน งานซ่อมแซมด้านนี้เห็นรูปร่างมากแล้ว ผมจึงถ่ายรูปมาให้ดูหน่อย ฝีมือการซ่อมดีมาก แต่ถ้าเป็นผม ผมจะใช้น้ำมันชักเงาที่ด้านกว่านี้มากๆ คือผมชอบความใสแบบด้านๆ ผมจะชักเงาแบบไม่ให้รู้สึกว่าชักเงาเลย หิ หิ อุ๊บ..ขอโทษที่ทะลึ่งออกความเห็น คนอะไร ไม่รู้จักอายรึไง แอบมาดูของเขาฟรีๆแล้วยังมีหน้ามาเสนอความเห็นอีก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์