Latest

ทำไมผู้ชายคนนั้นไม่กินนัท?

เรียน คุณหมอสันต์ ที่เคารพ

อ่านข้อเขียนล่าสุดเรื่อง ไอดอลอีกคนหนึ่งจากแฟนบล็อกหมอสันต์ วันที่ 5 เมษ 2559

สงสัยตรงที่เจ้าของคำถามเขาบอกว่า ไม่ทาน Nuts โรคที่เขาเป็นอยู่ห้ามทาน nuts ถั่วทุกชนิดหรือคะ ดิฉันมีโรคประจำตัวที่ต้องระวังคือหัวใจเต้นผิดจังหวะ SPV และมีลิ้นหัวใจรั่วห้องบน(จำไม่ได้ว่าบนห้องไหน) ตั้งแต่ไปเข้าอบรมที่มวกเหล็ก ดิฉันกิน nut & seed เยอะมากๆ กินทุกวัน เนื้อสัตว์แทบไม่กิน ถ้าจะกินก็จะเป็นไก่(ไม่กินหนัง) และปลาเท่านั้น และเกือบปีมานี้ก็กินผักเป็นพระโคเลยค่ะ

ที่สงสัยและไม่สบายใจกับข้อเขียนนี้คือ ทำไมต้องไม่กิน nuts หรือโรคหัวใจห้ามกิน nuts แฮ่ๆ.. ดิฉันแปลผิดหรือเปล่า เจ้าของคำถามเขาหมายถึง bolt and nut หรือเปล่า แฮ่

สงสัยจริงๆ ค่ะ ไม่สามารถเขียนถามใน facebook ของคุณหมอได้เพราะดิฉันไม่มี facebook account ไม่ชอบเล่น

ขอรบกวนเรียนถามค่ะ คุณหมอตอบใน blog ก็ได้ค่ะถ้าเป็นประโยชน์กับผู้อื่น หรือตอบทาง email สุดแล้วแต่คุณหมอจะกรุณา

……………………………………..

ตอบครับ

     สุขสันต์วันสงกรานต์ครับ

     วันนี้อยู่กรุงเทพเพราะกลัวรถติด และมีแผนว่าจะถือโอกาสช่วงที่ไม่มีคนดูแลบ้านทำการปฏิวัติโละสัมภารกและสมบัติบ้าในบ้านออกทิ้งเสียสักรอบหนึ่ง แต่พอลงมือทำแล้วก็หมดแรงต้องนั่งพัก จึงหยิบจดหมายขึ้นมาตอบแทนที่จะนั่งพักเฉยๆ

      เอาละ มาตอบจดหมายของคุณผู้หญิงท่านนี้กัน

ถามว่าผู้ชายคนนั้นทำไมเขาไม่กินนัท ตอบว่า เออ..แล้วผมจะรู้ไหมเนี่ย
 
      แต่ถ้าคุณถามผมว่า

“Are you nut?”
“คุณบ้าอ๊ะเปล่า?”

     ผมอาจจะตอบคุณได้นะ หิ หิ

     แต่ว่าเอาเถอะ ถึงผมไม่รู้ว่าทำไมผู้ชายคนนั้นไม่กินนัท แต่ผมจะพยายามตอบคุณด้วยวิธีการเดาเอานะ ผมเดาว่าที่แฟนบล็อกท่านนั้นไม่กินนัทคงเป็นเพราะเขากินตามสูตรอาหารในหนังสือที่เขาอ่านอย่างเคร่งครัด เขาอ่านหนังสือของเอสซี่ (Caldwell ฺB Esselstyne Jr) ซึ่งในหนังสือของเอสซี่ แอน (เมียของหมอเอสซี่) เธอเขียนสูตรอาหารไว้ด้วย แอนเธอไม่กินนัท เพราะเธอ (รวมทั้งตัวหมอเอสซี่ด้วย) เชื่อจากการดูคนไข้ของเขาเองว่าการจะกดโคเลสเตอรอลรวมในเลือดให้ต่ำกว่า 150 มก/ดล.ด้วยอาหารอย่างเดียวนั้นต้องงดอาหารไขมันให้มากที่สุด รวมทั้งนัทด้วย มิฉะนั้นจะกดไม่สำเร็จ ตรงนี้ไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์นะ เป็นความเชื่อจากประสบการณ์ของเขา เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังถึงหลักฐานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับนัท แต่ก่อนจะเล่า เดี๋ยวจะลืม ขอบอกว่าตัวอย่างคนเป็นโรคหัวใจตัวเป็นๆที่กินนัทเป็นว่าเล่นแล้วโคเลสเตอรอลรวมก็ยังต่ำกว่า 150 อยู่ได้ก็คือตัวหมอสันต์ที่ชอบกินนัทวันละสองกำมือเนี่ยไง

ปี 2012 กินอาหารแบบไม่เลือก โคเลสเตอรอลรวม 268
ปี 2014 กินผักผลไม้บวกเนื้อนมไข่และนัท (เลิกไขมันทรานส์) โคเลสเตอรอลรวม 235
ปี 2015 กินผักผลไม้บวกนมไข่นัท (เลิกเนื้อ) โคเลสเตอรอลรวม 195
ปี 2516 กินผักผลไม้บวกนัท (เลิกนมไข่เลิกใช้น้ำมันผัดทอด) โคเลสเตอรอลรวม 145

     ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมกินนัทวันละสองกำมือไม่เคยเลิก แต่โคเลสเตอรอลก็ลงได้ลงดี และที่ว่าคนเขาว่าไม่กินเนื้อนมไข่แล้วจะผอมนั้นก็ไม่จริง เพราะน้ำหนักของหมอสันต์สวนกระแสขึ้นมาอีกเล็กน้อยตั้งแต่เลิกกินเนื้อนมไข่ ซึ่งเป็นการบ้านที่จะต้องดำเนินการกันต่อไป กล่าวคือนโยบายเดิมที่ว่าหิวขึ้นมาเมื่อไหร่ก็กินถั่วกินนัท ผมจะปรับไปเล็กน้อยเพราะตอนหลังนี้ผมได้อาหารใหม่มาแก้หิวอีกอย่างคือมันเทศนึ่ง ตอนนี้เลยใช้นโยบายใหม่หิวเมื่อไหร่กินถั่วกินนัทกินมันเทศ หิวเมื่อไหร่กินถั่วกินนัทกินมันเทศ ตั้งแต่ใช้นโยบายนี้มาความหิวอยู่กึ๊ก และมีความหวังว่าพุงที่เผยอขึ้นมายุบเพราะกรัมต่อกรัมแล้วมันเทศซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนชั่วดีถี่ห่างก็ให้พลังงานน้อยกว่าไขมันในถั่วและนัท

     ไหนๆคุณก็สนใจนัทแล้ว ผมจะเล่าหลักฐานวิทยาศาสตร์เรื่องผลของการกินนัทต่อสุขภาพให้ฟังนะ โดยตั้งประเด็นตามแต่ผมจะนึกได้ เพราะคุณไม่ได้ตั้งประเด็นคำถามมาให้

     ประเด็นที่ 1. นัทที่นอกจากความหมายว่า “บ้า” และ “แหวนน็อตเหล็ก” แล้ว มันหมายถึงพืชอะไรบ้าง ตอบว่ามันหมายถึงเมล็ด (seed) ของพืชอะไรก็ได้ที่เป็นเมล็ดโดดๆที่เปลือกมักจะแข็งแบบผลของไม้ป่าทั้งหลาย ถ้าเมล็ดพืชอยู่กันแบบไม่โดด คืออยู่เป็นฝัก นั่นก็กลายเป็นถั่ว (legume) ไปซะแล้ว ไม่ใช่นัท ยกเว้นถั่วลิสงซึ่งใครก็ไม่รู้ไปตั้งชื่อให้เป็นนัทจึงได้เป็นนัทตั้งแต่นั้นมา แต่จะได้เป็นนัทหรือได้เป็นถั่วก็ช่างมันก่อน เพราะตรงนั้นไม่ได้ทำให้บรรลุธรรมเร็วขึ้นหรอกอย่าไปสนใจเลย เอาเป็นว่าตัวอย่างของนัทก็เช่นอัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ แป๊ะก๊วย มะคาเดเมีย พิสตาชิโอ ฮาเซลนัท บราซิลนัท พีแคนนัท วอลนัท เป็นต้น มีอีกอันหนึ่งที่ควรพูดถึงเสียด้วยคือเกาลัด (chest nut) ซึ่งมีชื่อเป็นนัทเหมือนกัน แต่ว่ามีคุณสมบัติเชิงโภชนาการไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านนัททั้งหลาย กล่าวคือเกาลัดมีส่วนประกอบเป็นแป้งมากกว่าไขมันซึ่งผิดแผกจากนัทที่มีไขมันมากกว่าแป้ง ในทางการแพทย์เมื่อพูดถึงนัทจึงไม่ค่อยได้หมายความรวมถึงเกาลัดด้วย

     ประเด็นที่ 2. ในเชิงโภชนาการ นัทเป็นพืชที่มีโปรตีนเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง (25% ของแคลอรี่ในนัทมาจากโปรตีน) เรียกว่าโปรตีนสูงที่สุดในบรรดาพืชด้วยกัน คนที่เคยบ้าโปรตีนมาก่อนจึงมักจะบ้านัทด้วย หมายความว่าบ้ากินนัทนะ ไม่ได้บ้าแบบบ้าจริงๆ นอกจากมีโปรตีนสูง นัทยังเป็นพืชที่มีไขมันสูงด้วย มีกากใยสูง มีวิตามินเกลือแร่และสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆมาก ทั้งกรดโฟลิก ไนอาซิน โทโคฟีรอล วิตามินบี.6 แคลเซียม แมกนีเซียม ไฟโตสเตอรอล สารประกอบฟีโนลิกต่างๆ และเส้นใย

     ประเด็นที่ 3. กินนัทแล้วโคเลสเตอรอลในเลือดจะสูงขึ้นหรือเปล่า มีงานวิจัยแยะเหมือนกัน ส่วนใหญ่ใช้อัลมอนด์และวอลนัท มีทั้งวิจัยแบบกินควบกับอาหารคาร์โบไฮเดรตสูง อาหารไขมันสูง อาหารเมดิเตอเรเนียน อาหารญี่ปุ่น ผลวิจัยของทุกงานให้ผลเหมือนกันหมดว่าการกินนัท ได้ผลไปทางเดียวกันว่ากินนัทจริงๆแล้วโคเลสเตอรอลในเลือดไม่สูงขึ้นกว่ากินนัทหลอกหรือไม่กินนัท และหลายงานวิจัยสรุปผลไปทางว่ากินนัทแล้วมีผลลดโคเลสเตอรอลรวมลงโดยไม่มีผลต่อไตรกลีเซอไรด์

     ประเด็นที่ 4. กินนัทแล้วจะเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดมากขึ้นหรือน้อยลง การรวมผลวิจัยติดตามดูกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐสี่งานวิจัยมาวิเคราะห์พบว่ากลุ่มคนที่กินนัทมากกว่าจะเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดต่ำกว่ากลุ่มคนที่ไม่กินนัท 35% โดยเฉพาะในงานวิจัยสุขภาพแพทย์ที่ทำโดยฮาร์วาร์ดนั้นให้ผลสรุปว่าการกินนัทสัมพันธ์การลดความเสี่ยงตายกะทันหันจากโรคหลอดเลือดลง 43% ความสัมพันธ์นี้เป็นแบบแปรผันตามขนาด คือยิ่งกินนัทมากยิ่งลดความเสี่ยงตายกะทันหันได้มาก

      ประเด็นที่ 5. กินนัทแล้วจะเป็นเบาหวานมากขึ้นหรือเปล่า งานวิจัยสุขภาพพยาบาลของฮาร์วาร์ดซึ่งติดตามดูคนสองกลุ่ม 16 ปี กลุ่มหนึ่งกินเนยทำจากถั่วหรือเนยทำจากนัท อีกกลุ่มไม่ได้กินเนยถั่วหรือเนยนัท พบว่ากลุ่มที่กินเนยทำจากถั่วหรือจากนัทมีอัตราเป็นเบาหวานชนิดที่สองต่ำกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง  23% ข้อมูลนี้บ่งชี้ไปในทางว่ากินนัทสัมพันธ์กับการไม่เป็นเบาหวาน

     ประเด็นที่ 6. กินนัทแล้วอ้วนหรือเปล่า การวิเคราะห์ผลของนัทต่อน้ำหนักตัวในงานวิจัยโรคหัวใจก็ดี โรคเบาหวานก็ดี การทำวิจัยตัดขวางเพื่อดูความสัมพันธ์ของการกินนัทกับความอ้วนโดยตรงก็ดี ล้วนให้ผลตรงกันว่ากินนัทไม่สัมพันธ์กับการอ้วนหรือมีน้ำหนักเพิ่ม และยังมีอีกนะ งานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มงานหนึ่งทำที่สเปนชื่อ the SUN Study เอาคนอ้วน 937 คนมาสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินนัทเพิ่มสัปดาห์ละ 2 ครั้งขึ้นไป อีกกลุ่มไม่ให้กิน พบว่ากลุ่มกินนัทเพิ่มลดน้ำหนักได้ดีกว่าซะอีกแนะ ส่วนเหตุผลว่าทำไมก็มีคนบอกเหตุผลไว้มากมาย บ้างเป็นเหตุผลที่ได้จากการวิจัย บ้างเป็นเพียงการนั่งเทียนของอรรถกถาจารย์ ซึ่งทั้งหมดนั้นผมขอละไว้ ไม่พูดถึง

     กล่าวโดยสรุป หลักฐานวิทยาศาสตร์อย่างน้อย 77 งานวิจัย ชี้บ่งว่าการกินนัทดีต่อสุขภาพ ลดการเป็นโรคหลอดเลือด ลดการตายกะทันหันจากโรคหัวใจ อาจจะลดโอกาสเป็นเบาหวาน กินนัทแล้วไม่อ้วน และเผลอๆอาจช่วยลดความอ้วนได้อีกด้วย งานวิจัยเขาได้ผลว่าอย่างนี้นะ ส่วนใครที่กินนัทแล้วน้ำหนักขึ้นหรือไขมันในเลือดขึ้น แสดงว่ามีเหตุพิเศษอื่นที่ไม่เหมือนชาวบ้านทั้งหลายในงานวิจัยแล้ว ต้องค้นหาให้พบ เช่นใช้น้ำมันผัดทอดหรือพ่นเคลือบอาหารหรือเปล่า เป็นต้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Kelly J.H. Jr, Sabaté J. Nuts and coronary heart disease, an epidemiological perspective. Br. J. Nutr.2006;96:S61–S67. doi: 10.1017/BJN20061865.
2. Jiang R., Jacobs D.R. Jr, Mayer-Davis E., Szklo M., Herrington D., Jenny N.S., Kronmal R., Barr R.G. Nut and seed consumption and inflammatory markers in the Multi-Ethnic Study of Atherosclerosis. Am. J. Epidemiol. 2006;163:222–231.
3. Jiang R., Manson J.E., Stampfer M.J., Liu S., Willett W.C., Hu F.B. Nut and peanut butter consumption and risk of type 2 diabetes in women. J. Am. Med. Assoc. 2002;288:2554–2560. [PubMed]
4. Sabaté J., Fraser G.E., Burke K., Knutsen S.F., Bennett H., Lindsted K.D. Effects of walnuts on serum lipid levels and blood pressure in normal men. N. Engl. J. Med. 1993;328:603–607. [PubMed]
5. Feldman E.B. The scientific evidence for a beneficial health relationship between walnuts and coronary heart disease. J. Nutr. 2002;132:1062S–1101S. [PubMed]
6. Mukuddem-Petersen J., Oosthuizen W., Jerling J. A systematic review of the effects of nuts on blood lipid profiles in humans. J. Nutr. 2005;135:2082–2089. [PubMed]
7. Griel A.E., Kris-Etherton P.M. Tree nuts and the lipid profile, a review of clinical studies. Br. J. Nutr.2006;96:S68–S78. [PubMed]
8. Coates A.M., Howe P.R. Edible nuts and metabolic health. Curr. Opin. Lipidol. 2007;18:25–30.[PubMed]
9. Sabaté J., Oda K., Ros E. Nut consumption and blood lipids: a pooled analysis of 25 intervention trials.Arch. Intern. Med. 2010;170:821–827. [PubMed]
10. Banel D.K., Hu F.B. Effects of walnut consumption on blood lipids and other cardiovascular risk factors: a meta-analysis and systematic review. Am. J. Clin. Nutr. 2009;90:56–63. [PMC free article][PubMed]
11. Bes-Rastrollo M., Sabaté J., Gomez-Gracia E., Alonso A., Martinez J.A., Martinez-Gonzalez M.A. Nut consumption and weight gain in a Mediterranean cohort: the SUN Study. Obesity (Silver Spring)2007;15:107–116. [PubMed]
12. Bes-Rastrollo M., Wedick N.M., Martinez-Gonzalez M.A., Li T.Y., Sampson L., Hu F.B. Prospective study of nut consumption, long-term weight change, and obesity risk in women. Am. J. Clin. Nutr.2009;89:1913–1919. [PMC free article] [PubMed]