Latest

ความกลัวอันเอกอุ คือกลัวความล้มเหลวของตัวเอง

กราบเรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ
หนูเป็นนศพ.ปี 6 เรียนอยู่ที่…. เป็นเด็กโอดอด ผลการเรียนไม่สู้ดี แต่ที่ไม่ดีมากๆคือความรู้สึกที่ว่าตัวเองไม่เหมาะกับอาชีพนี้ แต่ก็สุดจะแก้ไขอะไรได้ เพราะพ่อแม่ก็คาดหวังกับตัวหนูมากเหลือเกิน หนูบ่นกับเพื่อนจนเพื่อนบอกว่าหนูเป็นไซคาย หนูรู้สึกว่าความรู้ตัวเองไม่ดี อาจารย์ถามไม่เคยตอบได้ จบไปก็คงไปทำ malpractice น่าจะหาสนามบินลงไปทำอาชีพอื่นเสียตั้งแต่ตอนนี้จะดีกว่าไหม ขอความเห็นอาจารย์ด้วย

……………………………………………………….

ตอบครับ

สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไปที่อยู่นอกวงการแพทย์

นศพ. ย่อมาจาก นักศึกษาแพทย์
โอดอด หมายถึง ODOD ซึ่งย่อมาจาก one district one doctor แปลว่าโครงการคัดเลือกเอาเด็กในอำเภอมาเรียนหมออำเภอละคน
ไซคาย มาจากคำว่า psychiatry แปลว่าจิตเวชศาสตร์หรืออะไรเกี่ยวกับความบ้า
Malpractice แปลว่าการประกอบโรคศิลป์ที่ผิดหลักวิชา ซึ่งมักทำให้เกิดความเสียหาย และมักเป็นเหตุให้คนไข้ฟ้องร้องหมอเพื่อเรียกเอาค่าเสียหาย

ทีนี้มาตอบคำถาม

     ถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของคุณหมอ เป็นความบ้าใช่หรือไม่ ตอบว่าไม่ใช่ มันคือความกลัว (Fear) ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวเรามาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว งานวิจัยพบว่าเวลาเรากลัวจะมีกระแสประสาทเกิดขึ้นมากเป็นพิเศษในสมองส่วนที่เรียกว่าอามิกดัลลา ซึ่งสมองส่วนนี้แม้แต่กิ้งก่าก็ยังมีเลย

     พูดถึงความกลัว เขียนมาถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ ประมาณปีพ.ศ. 2513 ผมมีอายุราวสิบหกสิบเจ็ดปี เป็นวัยรุ่นเรียนหนังสืออยู่ทางเหนือ หน้าหนาวตามชนบทเขามักจัดงานวัดกัน ซึ่งต้องมีชกมวยเป็นรายการสำคัญ พวกเรามักจะไปเดินเที่ยวงานวัด เป็นจิ๊กโก๋ก๊วนใหญ่เป็นสิบๆคน และชอบไปเปรียบมวยชกมวยในงานวัด เปรียบมวยหมายความว่าเวทีมวยในงานวัดไม่ได้มีแผนมาก่อนว่าใครจะชกกับใคร กรรมการก็จะเปรียบมวยที่ข้างเวทีนั่นเอง เอาคนมาเที่ยวงานที่อาสาจะขึ้นชกมายืนเรียงกัน แล้วจับเอาคนรูปร่างพอๆกันมาเป็นคู่ชกกัน สมัยโน้นยังไม่มีการแบ่งรุ่นด้วยน้ำหนัก กรรมการใช้วิธีดูโหงวเฮ้งเอา บรรยากาศเป็นแบบว่าข้างบนเวทีก็ชกกันไป ข้างล่างเวทีก็เปรียบมวยคู่ถัดไปตามกันไป เวลาเปรียบมวย บางครั้งผู้สมัครจากกลุ่มชาวบ้านมีรูปร่างเล็ก ไม่มีคู่จากฝ่ายพวกเราที่เหมาะเลย เหลือแต่ตัวผมซึ่งเป็นคนตัวเล็กที่สุดในก๊วนและไม่ถนัดชกมวย ก็ต้องจำใจรับหน้าที่ขึ้นชก ขึ้นชกครั้งแรกผมจำได้ว่ากลัวมาก จนตัวเองสั่นเทิ้ม แข้งขาสั่นไปหมด กลัวจะถูกน้อคตายคาเวที ต้องคอยฟุตเวิร์คถอย และคอยหลบกำปั้นที่จะน็อคคางตัวเอง ถ้าจวนตัวถอยไม่ทันนานๆจึงจะสวนหมัดกลับไปสักครั้ง พอโดนปลายคางคู่ต่อสู้พรรคพวกก็เฮ พอการต่อสู้ใกล้ไคลแม็กซ์ พรรคพวกก็มาเกาะข้างเวทีตบผ้าใบเชียร์พร้อมกับตะโกนสวนเสียงปี่พาทย์สั่งสอน

“การ์ดขวามันตกแล้ว แย็ปเลย แย็ปเลย”

“เตะชายโครง เตะชายโครงสิ ทำไมไม่เตะ” ฯลฯ

จำได้ว่าผมทั้งๆที่กลัวจนตัวสั่นเทิ้มอยู่บนเวทีขณะนั้น ยังมีเวลานึกด่าเพื่อนในใจว่า

“เอ็งเก่งนักก็ทำไมไม่ขึ้นมาชกเสียเองละว่ะ”

ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     กลับมาคุยเรื่องของเราต่อดีกว่า แนวทางแก้ปัญหาของคุณหมอก็คือแนวทางการจัดการกับความกลัวซึ่งเป็นสัญชาติญาณดั้งเดิมของเรานั่นเอง ทั้งนี้ หากไม่นับความกลัวตายซึ่งมักจะปรากฎให้เห็นโดดเต่นเฉพาะในคนที่เห็นโลงลอยมาเหน่งๆอยู่ตรงหน้าแล้ว ความกลัวอันเอกอุในชีวิตของคนเราทุกคนคือความกลัวการล้มเหลวของตัวเอง (Fear of Failure) ความกลัวชนิดนี้เป็นคนละเรื่องกับความกลัวในโรคกลัวเกินเหตุ (panic disorder) ซึ่งก่ออาการทางร่างกายแบบชัดๆโต้งๆ แต่ความกลัวตัวเองจะล้มเหลวนี้มันเป็นความกลัวแบบที่ฝังแฝงอยู่ในการสนองตอบต่อสิ่งเร้าในรูปแบบของการคิด (thought formation) ในทิศทางที่จะทำให้ตัวเองล้มเหลวจริงๆ โดยที่ไม่มีอาการทางร่างกายให้เห็นเด่นชัดนอกเหนือไปจากอาการของความเครียดเรื้อรังที่ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น ปวด เพลีย ล้า นอนไม่หลับ เป็นต้น สาระหลักไม่ใช่เรากลัวอะไร แต่อยู่ที่ทำไมเราถึงกลัว เราต้องไปแก้ที่นั่น

     การจะรับมือกับความกลัวการล้มเหลวของตัวเอง ผมแนะนำให้คุณหมอทำเป็นขั้นตอนดังนี้

     ขั้นที่ 1. ทำความรู้จักและเข้าใจธรรมชาติของความกลัวในหัวเราก่อน ความกลัวมีทั้งแบบที่ก่อผลดีและแบบที่ก่อผลเสียต่อตัวเรา ความกลัวเบาะๆช่วยทำให้เราระมัดระวังในเรื่องความเสี่ยงต่างๆมากขึ้น เช่นจะข้ามถนนเรากลัวถูกรถชนต้องเหลียวซ้ายแลขวาสองรอบ นั่นเป็นความกลัวที่ส่งผลดี แต่กลัวมากๆทำให้เราสติแตกจนไม่กล้าทำอะไรที่ดีต่อตัวเอง หรือผลักดันให้เรากระโดดหนีสิ่งที่ปลอดภัยไปสู่สิ่งที่อันตรายไปเสียฉิบ ความกลัวแบบหลังนี้บ่อยครั้งที่แอบมาภายใต้หน้ากากของผู้หวังดีที่จะปกป้องคุ้มครองเรา แต่ถ้าเราไปหลงตามมันเราก็จะสร้างคอกขึ้นล้อมตัวเองจนเสียหาย อย่างเช่นจะสอบแล้วกลัวข้ามช็อตไปถึงว่าตัวเองจะไม่มีน้ำยาจะสอบผ่าน พาลคิดไปถึงว่าความสามารถเราคงไม่ถึงอาชีพนี้ หรือแบบปกป้องอีโก้ตัวเองหน่อยก็คิดว่าเราไม่เหมาะกับอาชีพนี้ อาชีพนี้ไม่ใช่ พาลพะโลเปลี่ยนอาชีพกลางคันทั้งๆที่ยังเรียนไม่จบ อย่างนี้เป็นตัวอย่างของความกลัวแบบก่อผลเสีย

     วิธีง่ายๆที่จะประเมินความกลัวการล้มเหลวที่ใช้ได้ผลดีอีกอย่างหนึ่ง คือคุณหยิบกระดาษกับปากกาขึ้นมา แล้วเขียนลงไปด้วยใจเป็นธรรมนะ ว่าถ้ามีเงื่อนไขว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิประกันว่าคุณจะไม่มีการล้มเหลวแน่นอนทุกเรื่องที่คุณทำสำเร็จแน่ 100% คุณจะเลือกทำอะไรกับชีวิตของคุณบ้าง หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า.. เขียนไปเลยไม่ต้องลังเล วิธีนี้จะทำให้คุณรู้จักเป้าหมายที่แท้จริงในใจของคุณ เขียนเสร็จแล้วก็เอามาเทียบดูกับชีวิตที่เป็นอยู่จริงในตอนนี้ ช่องว่างระหว่างสิ่งที่คุณอยากทำหากมีการประกันว่าจะไม่ล้มเหลว กับสิ่งที่เป็นจริงในชีวิตตอนนี้ ช่องว่างนี้แหละคือความกลัวการล้มเหลวของตัวเอง ซึ่งเป็นความกลัวชนิดไม่ดี

     ขั้นที่ 2. จัดการความกลัวไปตามชนิดของมัน ถ้าเป็นความกลัวชนิดที่เป็นประโยชน์ เราใช้มันให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเรา ถ้าเป็นความกลัวชนิดที่เป็นโทษ เราเพิกเฉยต่อมันเสียก่อนที่มันจะเข้ามาครอบและทำให้การตัดสินใจของเราผิดเพี้ยนไป อย่าไปมองความกลัวว่าเป็นตัวเรา แต่ให้มองว่ามันเป็นเจ้ากิ้งก่าที่ไม่ใช่ตัวเรา เมื่อไหร่ที่ความกลัวมา ให้บอกตัวเองว่าเจ้ากิ้งก่ามาแล้ว ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้ฝึกสติดีแล้วระดับหนึ่ง จนสามารถแยกตัวเองออกมาเฝ้าดูความรู้สึกต่างๆรวมทั้งความกลัวของตัวเองได้ด้วยใจอุเบกขา ถ้าเจ้ากิ้งก่ามันลนลานมากก็ตบหัวมันเบาๆแล้วบอกมันว่า..เย็นไว้น้องเอ๋ย เฉยไว้น้องเอ๋ย เดี๋ยวพี่แสดงให้ดูเอง

     ในการจัดการความกลัวด้วยวิธีแยกประเภทความกลัวแล้วเพิกเฉยต่อเจ้ากิ้งก่านี้ คุณต้องเข้าใจธรรมชาติของจิตใจเราว่า ควบคู่กับเจ้ากิ้งก่า ที่มักจะมาพร้อมกันก็คือเสียงเพรียกจากความเชื่อมั่นภายใน เหมือนเทียนชัยส่องนำทางประจำตัวเรา ให้คุณค่อยๆเขม้นมองก็จะเห็น ว่าขณะที่เจ้ากิ้งก่าโวยวายว่าโลกจะแตกแล้วอย่างนั้นอย่างนี้ คุณจงมองไปที่เทียนชัยประจำตัวเราว่าเขาส่องแสงนำทางไปทางไหน แล้วเข้าเป็นพวกเดียวกับเสียงแห่งความเชื่อมันนั้น แล้วตัวคุณเองยังสามารถทำให้เทียนชัยประจำตัวของตัวเองสว่างโชติช่วงได้ด้วยนะ โดยการหมั่นโฟกัสที่จุดแข็งและความสำเร็จที่ผ่านมาของตัวเอง เข้าใจตัวเองให้ถ่องแท้ว่าเราเป็นใครมาจากไหนมาอยู่นี่ได้อย่างไร จะทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้นและประเมินตัวเองได้ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น เพราะเทียนชัยส่องชีวิตของเรา ก็คือความมั่นใจในศักยภาพของตัวเรานั่นเอง ให้คุณเอาเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วเป็นตัวตั้ง แล้วเอาความมั่นใจในศักยภาพของตัวเองเป็นแรงหนุน และคุณก็จะฝ่าความกลัวไปได้

     ในการรับทราบแต่เพิกเฉยต่อความกลัวและเลือกไปเข้าข้างแสงเทียนส่องชีวิตนี้ ผมไม่ได้หมายความว่าความกลัวมันจะหายเกลี้ยงจากสมองไปเลยนะ มันไม่หายไปไหนหรอก มันอยู่นั่นแหละ เรารู้อยู่ว่าเรากลัว แต่ไม่ยอมให้ความกลัวมามีอำนาจเหนือเรา เรากลัว กลั๊ว กลัว รู้..แล้ว แต่เราก็จะลุยอยู่ดี

     ขั้นที่ 3. เตรียมที่ลี้ภัยไว้กบดานด้วย แม้แต่ “แบทแมน” มนุษย์ค้างคาวผู้เก่งกาจยังมีถ้ำไว้ซ่อนตัวจากศัตรูและกบดานพักฟื้นเอาแรงซ่อมรถซ่อมราเลย คำว่าที่ลี้ภัยนี้นอกจากจะหมายถึงสถานที่ที่คุณใช้หลบเลียแผลได้แล้ว ยังหมายความรวมไปถึงบุคคลที่พึ่งพิงกันได้อย่างญาติพี่น้องหรือคู่ชีวิตเราด้วย หากเป็นเพื่อนที่เราคบหา ก็ต้องเลือกคบหาหรือเข้าใกล้แต่คนกล้า อย่าคบคนขี้ขลาด เพราะคุณอยู่ใกล้คนแบบไหนคุณก็มีโอกาสจะเป็นคนแบบนั้น นอกจากจะหมายถึงบุคคลแล้ว ที่กบดานยังหมายถึงกิจกรรมในชีวิตที่เราใช้พักใจด้วย เพราะการลุยถั่วย่อมมีโอกาสชนะบ้าง เพลี่ยงพล้ำบ้าง การมีถ้ำไว้หลบกบดานเลียแผลจะทำให้คนกล้าที่เพลี่ยงพล้ำไม่ถูกศัตรูซ้ำเติมจนจมธรณี พอเราแข็งแรงขึ้นก็ค่อยออกไปโซ้ยกันยกใหม่ ชีวิตก็มีจังหวะจะโคนเป็นอย่างนี้

     ผมคงไม่สามารถบอกบทชีวิตคุณหมอในขั้นละเอียดถึงขั้นว่าจะต้องเลือกทำอะไรไม่เลือกทำอะไร เพราะไม่ได้มีข้อมูลครบถ้วน คงทำได้แค่ให้หลักทั้งสามขั้นตอนข้างต้นให้คุณหมอเอาไปประยุกต์ใช้เอง อีกอย่างที่ผมพอจะทำให้ได้คือขอตั้งข้อสังเกตให้ฟังในฐานะที่เคยเป็นครูสอนแพทย์มาก่อนว่าความคิดว่าอาชีพนี้ไม่เหมาะกับเรานั้น มักเกิดขึ้นขณะที่เราทำท่าจะเพลี่ยงพล้ำหรือทำท่าจะล้มเหลวในการเรียนการสอบ หากเรามีลูกฮึดเรียนให้จบและสอบให้ผ่านไปให้ได้ จบแพทย์แล้วค่อยไปประเมินใหม่ว่าอาชีพนี้เหมาะกับเราหรือไม่ก็ยังไม่สาย และในชีวิตจริงเท่าที่ผมเห็นมา เมื่อจบแพทย์แล้ว ส่วนใหญ่ก็อยู่ในอาชีพนี้ได้ดี และกลายเป็นแพทย์ที่ดี ผมยังไม่เห็นลูกศิษย์ของผมแม้แต่รายเดียวที่จบแพทย์แล้วก็ยังยืนยันว่าตัวเองไม่เหมาะกับอาชีพนี้ถึงขั้นต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นให้ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

……………………………………………

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 1.

     ผมชอบที่คุณหมอตอบมาก และเอาใจช่วย นศพ. ให้ท่านได้เรียนสำเร็จ แล้วย้อนกลับมาดูวันที่ท่านกลัว เผื่อว่าจะได้แนะนำรุ่นน้องที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันในอนาคต

……………………………………………..

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 2.

     สู้ๆนะครับ ลูกผมก็เรียนอยู่ มีปัญหาก็แก้ไปตามนั้นครับ..สู้ให้ถึงที่สุดครับ..ถึงวันนั้นค่อยว่ากันอีกทีครับ มีอาชีพอื่นอีกมากมายที่คนระดับ นศพ.จะทำได้ ถึงวันนั้นค่อยหาสิ่งที่มันใช่กับชีวิตเราครับ ..วันนี้สู้ๆครับ..

…………………………………..

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 3.

     หนูคิดว่า น้องเขาหลุดเข้าไปทำในสิ่งที่ไม่มีใจให้กับมัน ไม่ประสงค์ที่จะทำด้วยตัวเอง เพราะไม่กล้าขัดพ่อแม่ ก็เลยทำไปอย่างไม่มีความสุข อดนึกถึงตัวเองสมัยเด็ก ๆไม่ได้  สนใจด้านดนตรี+ศิลปะมาก แต่พ่อดูถูกศาสตร์ด้านนี้สุด ๆ เลยต้องฝืนทำตามสิ่งที่พ่อต้องการ สุขภาพจิตไม่ค่อยดีเลย ได้แต่บอกตัวเองให้ฮึดอีกนิดสู้อีกหน่อย จบแล้วพอให้พ่อแม่ชื่นใจ ก็จะทำอะไรตามใจตัวเองบ้าง…วันนี้ก็ได้คิด สิ่งที่ร่ำเรียนมาตามคำแนะนำ(เชิงบังคับ)ของพ่อ ไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายสักนิด ทำให้เรามีอาชีพมั่นคงได้ แม้จะมาใช้ชีวิตต่างแดน พวกฝรั่งก็ยังดูถูกดูแคลนไม่ลง ที่สำคัญ พอเรามีความมั่นคงในชีวิต(พอมีตังค์ซื้อข้าวกินไปจนตาย) เราก็หาเวลาทำในสิ่งที่อยากทำได้อย่างสบายใจ +++ ขอเป็นกำลังใจให้น้อง นศพ. คนนี้ค่ะ

………………………………………