Latest

จะชักธงรบกับแม่สามีด้วยเหตุไม่อยากให้ลูกกินมัง

สวัสดีค่ะคุณหมอ
   หนูกำลังค้นหาข้อมูลเรื่องอาหารมังสวิรัติ แล้วบังเอิญมาเจอบทความของคุณหมอค่ะ
ปัญหาของหนูตอนนี้คือ ครอบครัวของสามีกินมังสวิรัติกันแบบเคร่งมาก กินมา 20 ปีแล้ว
พี่สะใภ้ก็เลี้ยงลูกแบบมังสวิรัติ คือ ให้น้องกินนมแม่ จนครบ 6 เดือน แล้วก็ให้กินมังสวิรัติ  ปัจจุบันน้องคนนี้ อายุ 11 เดือนแล้ว  สิ่งที่หนูสังเกตได้ คือ ตอนนี้น้องเค้าตัวซีด-เหลืองมาก ไม่ยอมกินข้าว-กินนม
ยอมกินแค่”กล้วยบด สาหร่อยทอด โยเกิร์ต”
ถ้ากินอย่างนี้ลูกแทบไม่ได้โปรตีนเลย น้องในวัย 11 เดือน ควรจะกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ไม่ใช่เหรอคะ โดยเฉพาะพวกโปรตีนจากสัตว์ที่มีกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ ธาตุเหล็ก ก็สำคัญสำหรับเด็กวัยนี้ใช่มั้ยคะ
ตอนนี้หนูก็มีลูกเช่นกัน ลูกชายอายุได้ 3 เดือนแล้ว   หนูจะไม่เดือดร้อนเลย ถ้าครอบครัวสามีไม่มากำหนดกฎเกณฑ์  อยากให้จะลูกชายของหนูกินมังสวิรัติด้วย    ตอนนี้เครียดมาก
โดยส่วนตัวไม่เคยแอนตี้อาหารเจ-มังสวิรัติเลย คิดว่าดีซะอีก  แต่แค่รู้สึกว่ามันไม่เหมาะกับเด็กวัยทารกควรจะเริ่มกินเร็วขนาดนี้
หนูเลยอยากจะถามคุณหมอว่า เด็กวัย 11 เดือนให้กินมังสวิรัติมันเหมาะสมมั้ยคะ
ขอบพระคุณคุณหมอมากนะคะ

ส่งจากสมาร์ทโฟน OPPO ของฉัน

………………………………………………………………..

ตอบครับ

     1.. ถามว่าน้องในวัย 11 เดือน ควรจะกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ไม่ใช่เหรอคะ ตอบว่า..ใช่ครับ

     2..ถามว่าเด็กวัยนี้ต้องการพวกโปรตีนจากสัตว์ที่มีกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้และพืชก็ไม่มีไม่ใช่เหรอคะ ตอบว่า..ใช่และไม่ใช่ครับ
 
     เอ๊ะ วันนี้หมอสันต์เป็นอะไรออกอาการกวนโอ๊ยตั้งแต่หัวค่ำ หิ หิ คือคุณถามมาสองประเด็นผมก็ตอบสองประเด็นไง คือ

     ประเด็นที่ 1. ถามว่าเด็กวัยนี้ต้องการโปรตีนใช่ไหม ตอบว่าใช่ครับ

     ประเด็นที่ 2. ถามว่าโปรตีนจากสัตว์มีกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้และพืชก็ไม่มีใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ครับ คำตอบที่ถูกต้องคือเมื่อกินอาหารพืชหลายชนิด ก็จะได้กรดอามิโนจำเป็นครบถ้วน และร่างกายของเรานี้มีคุณสมบัติพิเศษแบบโจรขโมยมอเตอร์ไซค์คือสามารถเลือกเอาของจำเป็นจากทางโน้นนิดทางนี้หน่อยมาประกอบกันแล้วใช้งานครบถ้วนได้ ยกตัวอย่างเช่น ข้าวมีกรดอามิโนจำเป็นครบทุกชนิดแต่ว่ามีตัวที่ชื่อไลซีนน้อย แต่ไลซีนมีมากในถั่วต่าง แต่ถั่วต่างๆก็มีกรดอามิโนชื่อเมไทโอนีนน้อย แต่เมไทโอนีนมีมากในงา ดังนั้นถ้ากินมันรูดมหาราชทั้งข้าวทั้งถั่วทั้งงา ก็จะได้กรดอามิโนครบถ้วนเจ๋งเป้งแน่นอน แล้วก็ไม่จำเป็นต้องกินทั้งหมดในมื้อเดียวกันเหมือนที่เขาตั้งให้ผมกินตอนไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรมดอก มื้อโน้นกินนั่นมื้อนี้กินนี่ ร่างกายก็เอามาใช้งานรวมกันได้

     3.. ถามว่าธาตุเหล็กก็สำคัญสำหรับเด็กวัยนี้ใช่มั้ยคะ ตอบว่าใช่ครับ แต่เรื่องนี้มีประเด็นสำคัญสามประเด็น แอ่น แอ้น แอ๊น

     ประเด็นที่ 1. การวิเคราะห์ทั้งอาหารพืชและอาหารเนื้อสัตว์พบว่าต่างอุดมด้วยเหล็กจนแทบจะเคาะได้ยินเสียงเคล้ง เคล้ง ทั้งนั้น

     ประเด็นที่ 2. เหล็กในเนื้อสัตว์จับอยู่กับโมเลกุลฮีม (heme iron) ซึ่งร่างกายดูดซึมเข้าไปใช้ได้ทันทีไม่ต้องเรื่องมาก แต่เหล็กในพืชอยู่ในรูปของเหล็กอิสระ (non heme iron) ซึ่งร่างกายดูดซึมไปใช้ตรงๆได้น้อย ต้องอาศัยวิตามินซี.เป็นตัวพาเข้าไป ดังนั้นถ้าไม่กินอาหารอุดมวิตามินซี.ในมื้ออาหารนั้นด้วยก็อาจจะดูดซึมเหล็กได้น้อย นอกจากนั้นเหล็กอิสระยังอาจจะถูกไฟเตทซึ่งเป็นโมเลกุลในเส้นใยอาหารดึงไม่ให้เหล็กถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายๆอีกด้วย นอกจากนั้นอีกที ยังอาจจะถูกสารแทนนินในน้ำชาหรือกาแฟจับไว้ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดอีกด้วย ดังนั้นหากกินอาหารแล้วกลั้วตามด้วยชากาแฟทันทีก็มีโอกาสได้เหล็กน้อยลงไปอีก

     ประเด็นที่ 3. งานวิจัยเชิงระบาดวิทยายุคปัจจุบันนี้เพื่อเปรียบเทียบความชุกของโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในคนกินเนื้อคน เอ๊ย..ไม่ใช้ในคนกินเนื้อสัตว์ กับคนกินมัง พบว่าต่างเป็นโรคโลหิตจางชนิดเกิดจากการขาดธาตุเหล็กไม่ต่างกัน เพียงแต่คนกินมังมีระดับเหล็กในร่างกาย (ferritin) ต่ำกว่าคนกินเนื้อสัตว์ แต่ก็ยังอยู่ในพิสัยปกติ

    4. ถามว่าเด็กวัย 11 เดือนให้กินมังสวิรัติมันเหมาะสมมั้ยคะ อ้าว นี่กระแทกผู้ใหญ่ซะแล้วนะเนี่ย ถามจิง..ถ้าเป็นแม่สามีตัวเองจะกล้าถามแบบนี้หรือเปล่า? (หิ หิ พูดเล่น) ตอบว่า..คุณต้องฟังให้ดี เพราะคำตอบมันเข้าใจยาก ผมจะแยกตอบเป็นสองกรณีนะ

     กรณีที่ 1. ถ้าเป็นเด็กวัยเรียน อันนี้ข้อมูลค่อนข้างเอกฉันท์ว่าการกินมังไม่มังอัตราการเติบโตไม่ต่างกัน หลักฐานยืนยันมีแยะ เช่น

     ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) ได้ทำวิจัยดังชื่อ FARM study สำรวจตามดูการเติบโตของเด็กกินมัง 404 คนที่ชนบทรัฐเทนเนสซี่พบว่าเด็กเหล่านี้มีพัฒนาการทางร่างกายอยู่ในช่วงเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25-75 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็แปลว่าปกตินั่นแหละ ไม่อ้วนเกินไป ไม่ผอมเกินไป

     การวิจัยตามดูการเติบโตของเด็กอายุ 7-11 ปีทั้งกลุ่มกินมังกับกลุ่มกินเนื้อสัตว์ที่อังกฤษพบว่าการเติบโตไม่ต่างกัน และพบว่าเด็กกินมังได้พลังงานจากอาหารพอเพียง

     ที่เด็ดสะระตี่จนแม่สามีของคุณตบเข่าฉาดด้วยความชอบใจก็คืองานวิจัยเปรียบเทียบความสูงของเด็กในโรงเรียนศาสนา(เซเวนเดย์แอดเวนทิส) ซึ่งกินมังจำนวน 870 คน กับโรงเรียนของรัฐซึ่งกินเนื้อสัตว์ 895 คน ที่เมืองโลมา ลินดา สหรัฐ พบว่าเด็กกินมัง (ซึ่งถ้ากินเนื้อสัตว์ก็กินน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์) มีความสูงเฉลี่ยมากกว่าเด็กกินเนื้อสัตว์แบบไม่มังที่อายุเท่ากันและเรียนระดับชั้นเดียวกัน 2.5 ซม.กรณีเด็กชาย และ 2.0 ซม.กรณีเด็กหญิง แม้ว่าจะอ้วนน้อยกว่าก็ตาม โดยที่เด็กทั้งหมดในทั้งสองกลุ่มล้วนมีการเติบโตปกติค่อนไปทางโตมาก (สูงกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 50) ทุกคน

     กรณีที่ 2 ถ้าเป็นเด็กก่อนวัยเรียน หมายความว่านับกันตั้งแต่หลังหย่านมเลย ถามว่ากินมังแล้วจะมีผลต่อการเติบโตหรือไม่ หุ หุ คำถามนี้ตอบยากมาก เพราะมันสลับซับซ้อนหลายแง่หลายมุมครับ สาธุชนทั้งหลายโปรดสดับ

     แง่มุมที่1. คำว่ากินมัง (vegetarian) จริงๆแล้วมันยังแยกประเภทไปได้อีกแยะมาก อย่างขี้หมูขี้หมาผมว่าก็มีหกประเภทแล้ว กล่าวคือ

พวก1. มังกินปลา (pesco)
พวก2. มังกินไข่กินนม (lacto-ovo)
พวก3. มังกินนมไม่กินไข่ (lacto)
พวก4. พวกเจ (vegan) คือไม่กินทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นเนื้อ นม ไข่ ไก่ ปลา หอย
พวก5. พวกแมคโครไบโอติกสายกลาง ซึ่งคล้ายๆกับพวกเจ กินทั้งธัญพืช ถั่วต่างๆ เต้าหู้ สาหร่าย ของหมักดอง ผัก ผลไม้
พวก6. พวกแมคโครไบโอติกสายฮาร์ดคอร์ ซึ่งสุดโต่งของพวกนี้ก็คือกินแต่ธัญพืชกับผักผลไม้ ไม่กินถั่วกินงาอะไรทั้งนั้น

     ปัญหาก็คืองานวิจัยผลของการกินมังในเด็กเล็กส่วนใหญ่ไม่จำแนกว่าเป็นมังแบบไหน ซึ่งเราจะเอาผลวิจัยมังแบบโหดไปเหมาใช้กับมังแบบกระจอกไม่ได้

     ในด้านหนึ่ง คือหลักฐานว่าเด็กกินมังตั้งแต่หลังหย่านมมีปัญหากับการเติบโต เผอิญงานวิจัยที่ใช้อ้างอิงกันมากว่าเด็กเล็กกินมังแล้วจะขาดอาหารนั้นเป็นงานวิจัยขนาดเล็กทำที่ประเทศฮอลแลนด์ในเด็กที่กินมังแบบโหด (แมคโครไบโอติกแบบที่กินแต่ธัญพืชอย่างเดียว) พบว่า 58% ของเด็กเหล่านั้นได้รับโปรตีนไม่ถึง 80% ของที่แนะนำว่าควรได้ต่อวัน (RDA)

     อีกงานวิจัยหนึ่งทำที่เนเธอร์แลนดแบบไม่ได้สุ่มตัวอย่างพบว่าเด็กเล็กที่กินมังแบบแมคโครไบโอติกขาดธาตุเหล็กมากกว่าเด็กกินเนื้อ

     อีกงานวิจัยหนึ่ง รายงานการขาดวิตามินบี.12 ระดับส่งผลต่อพัฒนาการของระบบประสาทในเด็กที่กินอาหารแมคโครไบโอติกสายฮาร์ดคอร์ จนถูกมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำร้ายเด็กเลยเชียว

     ในอีกด้านหนึ่ง งานวิจัยใหม่ๆ ซึ่งก็เป็นงานวิจัยขนาดเล็กๆเช่นกัน แต่ว่าทำในเด็กตั้งแต่หลังหย่านมที่กินมังแบบไม่โหด และได้รับการทดแทนวิตามินบี.12 เพียงพอ พบว่าอัตราการเติบโตไม่ได้ต่างจากเด็กปกติ ผมจะยกตัวอย่างมาไว้ที่นี้สองงานวิจัยคือ

     งานวิจัยที่1. เป็นการสำรวจเด็กกินมังแบบไขมันต่ำหลังหย่านม 51 คนที่อะริโซนาโดยดร.สตีเว่น โกลเบิร์กและดร.เกลน ฟรีดแมน ตีพิมพ์ไว้ในวารสารกุมารเวช (J of Pediatrics) ปีค.ศ. 1976 พบว่าเมื่อเด็กเหล่านี้มีอายุถึง3 ปี ก็ยังมีอัตราการเติบโตเท่ากับเด็กหสรัฐทั่วไปที่กินเนื้อและดื่มนมวัว

     งานวิจัยที่ 2. ทำในเด็กก่อนวัยเรียนที่ใต้หวัน ดูเด็กที่กินมัง 42 คนเทียบกับที่กินเนื้อ 56 คน โดยวัดความสูงและดัชนีมวลกาย วัดความหนาผิวหนังหลังแขน เจาะเลือดดูสารอาหาร พบว่าทั้งสองกลุ่มมีดัชนีการเติบโตทุกตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ

     กล่าวโดยสรุป ผมแนะนำว่าคุณอย่าไปทะเลาะกับแม่สามีเลย เพราะจนสามีคุณตายคุณก็จะไม่ชนะ ดังนั้นหากอยากจะอยู่กับสามีไปนานๆให้ยอมเขาซะ ยอมให้ลูกกินมัง ทั้งนี้ผมมีประเด็นสำคัญที่คุณต้องถือปฏิบัติดังนี้

     1. เพื่อประกันว่าจะไม่ขาดโปรตีน ให้กินถั่วต่างๆและงาแยะๆนอกเหนือจากข้าวและผักผลไม้ กล่าวคือให้กินถั่วโหลงโจ้งแล้ววันละ 7.5 กรัม/กก.ของน้ำหนักตัว หมายความว่าถ้าเป็นเด็กสมบูรณ์หยั่นหว่อหยุ่นน้ำหนัก 10 กก.ก็คือกินถั่ว 75 กรัม ก็ประมาณสองกำมือหรือเท่าไข่ไก่ฟองครึ่ง ก็จะเท่ากับว่าได้กินโปรตีนจากถั่วอย่างเดียว 1.5 กรัม/กก. ซึ่งมากเหลือเฟือบานเบอะ ไม่นับที่จะได้จากข้าวและอาหารพืชอื่นๆอีก

     2. เพื่อไม่ให้ขาดพลังงาน ให้กินเมล็ดใดๆที่ให้น้ำมัน เช่นนัทต่างๆ (ถั่วลิสงก็เป็นนัทกับเขาด้วย) วันละสักหนึ่งกำมือ (40-50 กรัม)

     3. เพื่อไม่ให้ขาดวิตามินดี. (ซึ่งปกติมีมากในปลาค้อดปลาแซลมอน) ให้คุณขยันพาลูกตากแดด หรือให้ดื่มนมถั่วเหลืองชนิดเสริมวิตามินดี

     4. เพื่อประกันว่าจะไม่ขาดวิตามินบี.12 ให้กินนมถั่วเหลืองชนิดเสริมวิตามินบี.12 ด้วย หรือให้กินวิตามินบี 12 เสริมในขนาด 1 ไมโครกรัม/กก.ทุกวันเสียรู้แล้วรู้รอด

     5. เพื่อไม่ให้ขาดเหล็ก ให้กินอาหารอุดมธาตุเหล็ก (ถั่ว นัท ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท) ควบกับอาหารอุดมวิตามินซี. (ผลไม้ต่างๆ)ในมื้อเดียวกัน เพื่อให้วิตามินซีเป็นตัวพาเหล็กอิสระเข้าสู่ร่างกาย

     และเมื่อยอมเขาแล้วก็อย่าไปขบเขี้ยวเคี้ยวฟันแค้นเคืองเลย จิตจะเศร้าหมองเปล่าๆ ให้มองในแง่ดี ว่าเมื่อลูกโตไปเป็นผู้ใหญ่แล้ว งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาพบว่าคนกินมังจะไม่อ้วน ไขมันจะไม่สูง จะเป็นโรคหัวใจน้อย เป็นเบาหวานน้อย และอย่างน้อยมีหนึ่งงานวิจัยคือของเซเวนเดย์แอดเวนทิส ที่ยืนยันว่าคนกินมังมีอัตราตายต่ำกว่าคนกินเนื้อสัตว์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. O’Connell JM, Dibley MJ, Sierra J, Wallace B, Marks JS, Yip R. Growth of vegetarian children: The Farm Study. Pediatrics. 1989 Sep; 84(3):475-81.
2. Nathan I, Hackett AF, Kirby S. A longitudinal study of the growth of matched pairs of vegetarian and omnivorous children, aged 7-11 years, in the north-west of England. Eur J Clin Nutr. 1997 Jan; 51(1):20-5.
3. Sabaté J1, Lindsted KD, Harris RD, Sanchez A. Attained height of lacto-ovo vegetarian children and adolescents. Eur J Clin Nutr. 1991 Jan;45(1):51-8.
4. Dagnelie PC, van Staveren WA. Macrobiotic nutrition and child health: results of a population-based, mixed-longitudinal cohort study in The Netherlands. Am J Clin Nutr. 1994 May; 59(5 Suppl):1187S-1196S.
5. Roberts IF, West RJ, Ogilvie D, Dillon MJ. Malnutrition in infants receiving cult diets: a form of child abuse. Br Med J. 1979 Feb 3; 1(6159):296-8.
6. van Dusseldorp M, Schneede J, Refsum H, Ueland PM, Thomas CM, de Boer E, van Staveren WA. Risk of persistent cobalamin deficiency in adolescents fed a macrobiotic diet in early life. Am J Clin Nutr. 1999 Apr; 69(4):664-71.
7. Yen CE1, Yen CH, Huang MC, Cheng CH, Huang YC. Dietary intake and nutritional status of vegetarian and omnivorous preschool children and their parents in Taiwan. Nutr Res. 2008 Jul;28(7):430-6. doi: 10.1016/j.nutres.2008.03.012.