Latest

เรียนรู้จากเรื่องของโกคิ้ม

(ขอขอบพระคุณโกคิ้มที่อนุญาตให้เผยแพร่เรื่องของท่านผ่านบล็อกนี้ได้)

     “โกคิ้ม” หรือ คุณกิตติคม ลิ่มโอภาษมณี เป็นนักธุรกิจชาวเมืองตรัง เรื่องราวของท่านเริ่มเมื่อปีกลาย ในวัยขณะนั้น 61 ปี โกคิ้มเป็นลมหน้ามืดหมดสติถูกหามเข้าโรงพยาบาลฉุกเฉิน แพทย์ตรวจแล้วพบว่าโกคิ้มเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จึงทำการสวนหัวใจเป็นการฉุกเฉิน พบว่าเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบสามเส้น และมีความเห็นว่าทำบอลลูนไม่ไหวแล้ว ต้องไปทำผ่าตัดบายพาส ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสำหรับโกคิ้ม เพราะเพื่อนสนิทกันก็ทำบอลลูนบ้าง ทำบายพาสบ้าง หลายคน บางคนทำแล้วดี บางคนทำแล้วไม่ดี โกคิ้มเคยต่อรองกับหมอว่าถ้าไม่ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น หมอพูดต่อหน้าภรรยาของโกคิ้มซึ่งนั่งอยู่ในที่นั่นด้วยว่า

     “ก็จะเกิดการตายแบบกะทันหันไง ซัดเด้น เด๊ด (Sudden Dead)”

     โกคิ้มเล่าพร้อมกับกระแทกเสียงคำว่า “ซัดเด้นเด๊ด” แบบเน้นๆ เมื่อเจอคำแนะนำที่หนักแน่นเช่นนี้โกคิ้มก็ตัดสินใจจะทำผ่าตัด แต่พอไปที่โรงพยาบาลมอ. (รพ.มหาลัยสงขลานครินทร์ที่หาดใหญ่) หมอบอกว่าคิวคนรอผ่าตัดยาวมาก ถ้าจะผ่าเร็วให้ไปผ่าที่รพ.ตรัง เพราะที่นั่นเขากำลังจะเริ่มเปิดผ่าตัดหัวใจใหม่ โกคิ้มก็ตั้งใจว่าจะไปผ่าที่เมืองตรังเป็นคนแรกเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย ซึ่งหมอก็ให้คิวนัดไว้

    ระหว่างที่รอนัดหมาย โกคิ้มอ่านเน็ทพบบล็อกของหมอสันต์ จึงเขียนอีเมลมาเล่าอาการเจ็บป่วยของตัวเองว่าแบบนี้จะไม่ผ่าได้ไหม หมอสันต์ขอดูผลการตรวจสวนหัวใจ โกคิ้มพยายามส่งภาพไปทางอีเมลแต่ก็ไม่สำเร็จ จึงต้องลงทุนถือแผ่นซีดี.มาขอพบหมอสันต์ที่กรุงเทพด้วยตัวเอง หมอสันต์เปิดวิดิโอผลการสวนหัวใจฉายดูหลายรอบแล้วบอกโกคิ้มว่างานวิจัยชื่อ OCT trial เอาคนที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแล้วรอดชีวิตพ้น 24 ชั่วโมงแรกมาได้โดยที่มีอาการเจ็บหน้าอกไม่เกินเกรด 3 เมื่อฉีดสีดูแล้วก็มีตีบสองเส้นบ้าง สามเส้นบ้าง อย่างโกคิ้มนี้ เอามาแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ไปแก้ไขหัวใจตีบด้วยการทำบอลลูนหรือทำผ่าตัดบายพาส อีกกลุ่มหนึ่งแค่ใช้ยาลดไขมันโดยไม่บอลลูนไม่บายพาส พบว่าการรักษาทั้งสองแบบให้ผลการรักษาในระยะยาวไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะวัดด้วยการตายหรือการเกิดจุดจบที่เลวร้ายก็ตาม ดังนัันคุณจะทำบายพาสหรือไม่ทำบายพาสก็ได้ มันเป็นทางสองแพร่ง แล้วแต่คุณ โกคิ้มถามถึงการดูแลตัวเองถ้าไม่ผ่าตัด หมอสันต์แนะนำให้ไปเข้าแค้มป์ RD1 ซึ่งรับเอาแต่คนเป็นโรคหลอดเลือดอย่างโกคิ้มนี้มาเรียนวิธีดูแลตัวเอง โกคิ้มก็ไปเข้าแค้มป์

     ตอนที่อยู่ในแค้มป์ มีชั่วโมงทดสอบความฟิตของร่างกายด้วยวิธีเดินเร็วหนึ่งไมล์ ขณะที่คนอื่นเขาเดินฉับๆๆ โกคิ้มก็เดินฉับๆๆเหมือนกันแต่แน่นหน้าอกเหงื่อแตกหายใจดังฟี้ด ฟี้ด แต่ก็ต้องรีบเพราะจะไปเข้าเส้นชัย หมอมาตรวจดู เอาเครื่องช็อกหัวใจมาจ่อดูคลื่น เล่นเอาโกคิ้มใจไม่ดี แต่แล้วก็ไม่มีอะไร หมอสอนว่าการออกกำลังกายสำหรับคนเป็นหัวใจขาดเลือดการไปให้ถึงระดับหนักพอควรคือหอบแฮ่กๆนั้นถูกต้องแล้ว แต่เมื่อใดก็ตามที่แน่นหน้าอกจะต้องผ่อนลง และจำระดับความหนักที่ทำให้เราแน่นหน้าอกไว้ เมื่อผ่อนลงจนหายแน่นแล้วจึงค่อยๆออกกำลังกายต่อไป แต่ว่าไม่รีบขึ้นไปท้าทายระดับนั้นอีก ให้ออกกำลังกายระดับต่ำกว่านั้นไปสักหลายๆวันแล้วจึงค่อยกลับขึ้นไปท้าทายระดับนั้นใหม่ ถ้าเจ็บหน้าอกอีก ก็ถอยอีก วันหน้าท้าทายใหม่อีก ทำอย่างนี้จะค่อยๆออกกำลังกายได้มากขึ้น จนออกได้มากเท่าคนปกติ

     ออกจากแค้มป์โกคิ้มไม่ยอมกลับบ้าน แต่คว้าจักรยานไปเข้ากลุ่มปั่นไปทั่วเมืองไทยจากใต้จรดเหนือ โกคิ้มประกาศไปทั่วกลุ่มว่าตัวเองเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบ ใครอย่ามาเร่ง เวลาปั่นไปแล้วโกคิ้มเริ่มมีอาการแน่นหน้าอกก็จะค่อยๆผ่อนความเร็วลงพร้อมกับโบกมือให้เพื่อนๆที่อยู่ข้างหลังแซงไปก่อน พออาการแน่นหน้าอกทุเลาลง โกคิ้มก็เพิ่มความเร็วใหม่ โกคิ้มชักชวนคนเป็นโรคหัวใจขาดเลือดด้วยกันมาตั้งก๊วน “สามตีบถีบหนีหมอ” หมายความว่าหลอดเลือดหัวใจตีบสามเส้น แต่ถีบจักรยานหนีไม่ให้หมอทำบอลลูนหรือบายพาส ซึ่งก็ได้เพื่อนร่วมก๊วนมาสองสามคน การได้เข้าแค้มป์ RD ทำให้ได้หมอสันต์เป็นคนให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์โดยอัตโนมัติ โกคิ้มค่อยๆลดยาซึ่งหมอให้มาสี่ห้าตัวลงโดยมีหมอสันต์คอยแนะนำจนเหลือแต่แอสไพรินกับยาความดันอีกตัวเดียว

     นอกจากจะขยันออกกำลังกายแล้วโกคิ้มยังเอาจริงเอาจังในเรื่องการปรับอาหาร ลดอาหารเนื้อสัตว์ลง กินพืชมากขึ้น เห็นเขาปั่นผลไม้โดยเอากากทิ้ง โกคิ้มไปขอกากนั้นมากิน จนทุกวันนี้ไขมันในเลือดของโกคิ้มลดลงแล้วโดยไม่ต้องใช้ยาลดไขมัน โกคิ้มไม่ทำด้วยตัวเองเท่านั้น ยังสอนให้เพื่อนนักปั่นจักรยานคนอื่นๆทำตามด้วย โกคิ้มเล่าว่า

     “..เดี๋ยวนี้ทุกคนก็จะกินแต่พืช อย่างเวลาพวกเราปั่นไปนอนค้างคืนตามวัด พวกญาติโยมศรัทธาเขาก็จะทำอาหารให้กินโดยเราก็ทำบุญให้วัดไปบ้าง เวลาเขาทำหมูต้มฟักมา ปรากฎว่าคนแย่งกันกินฟักหมด หมูไม่มีคนกิน…”

     โกคิ้มกลายเป็นนักปั่นถาวรไม่กลับบ้านกลับช่อง จากกรุงเทพ ไปอุบล จากอุบล ไปสารคาม ปั่นไปแวะทำบุญไปตามบ้านเล็กเมืองน้อย ความสามารถในการปั่นก็เพิ่มขึ้นๆเรื่อยๆ จนสามเดือนให้หลังมานี้สามารถปั่นได้สุดกำลังตัวเองนานเป็นวันๆโดยไม่เจ็บหน้าอกเลย โกคิ้มกลายเป็นนักปั่นระดับแถวหน้าของก๊วนในวัยเดียวกันไปเสียแล้ว จนเพื่อนๆอิจฉาและตั้งข้อกังขาว่า

     “..ถามจริงๆเหอะ เอ็งจ้างหมอสันต์เท่าไหร่เขาถึงยอมเซ็นให้ว่าเอ็งเป็นโรคหัวใจทั้งๆที่จริงเอ็งไม่ได้เป็นสักหน่อย”

        สิ่งที่เราควรเอาเยี่ยงอย่างจากโกคิ้มก็คือวิธีออกกำลังกายสำหรับคนเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ว่านอกจากจะต้องออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควร (moderate intensity) ซึ่งนิยามว่าต้องหอบแฮ่กๆจนร้องเพลงไม่ได้ แต่ยังพูดได้แล้ว ยังจะต้องมีลูกเล่นที่จะเล่นกับอาการเจ็บหน้าอกด้วย คือถ้าเจ็บหน้าอกที่ระดับไหนให้จำระดับความหนักนั้นไว้ แล้วถอยลงมานิดหนึ่ง ออกกำลังกายระดับต่ำกว่านั้นเล็กน้อยไปหลายๆวันแล้วกลับขึ้นไปท้าทายระดับนั้นใหม่ ทำไปแบบนี้ในที่สุดหัวใจก็จะมีขีดความสามารถในการออกกำลังกายมากขึ้นๆ เพราะกลไกการส่งเลือดผ่านหลอดเลือดฝอยเส้นเล็กเส้นน้อย (collateral) มันจะค่อยๆทำได้มากขึ้นๆอย่างเป็นธรรมชาติ จนในที่สุดก็จะสามารถออกกำลังกายได้มากเท่าภาวะปกติ

    ส่วนสิ่งที่เราไม่ควรเสี่ยงเอาเยี่ยงอย่างโกคิ้มก็คือ การไม่ยอมกลับบ้านกลับช่องคราวละเป็นเดือนๆ เพราะนี่เป็นความสามารถพิเศษเฉพาะตัว ไม่อาจลอกเลียนกันได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์