Latest

อยากไปเป็นหมอที่นิวซีแลนด์

กราบเรียนอาจารย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ที่เคารพ
            กระผม นพ. …จบศัลยแพทย์ทั่วไป เมื่อปี 2011 ครับ ขณะนี้ทำงานอยู่ รพ.จังหวัดครับ
            ผมมีความสนใจ อยากจะไปทำงานในฐานะศัลยแพทย์ทั่วไป ที่ประเทศนิวซีแลนด์ครับ เนื่องด้วยผมติดตามบทความอาจารย์มาโดยตลอด และทราบว่า อาจารย์เคยไปอยู่กับ อาจารย์ Sir Brian Baratte Boyes  ที่ Auckland มาก่อน ในตำแหน่ง Registrar doctor เลยใคร่อยากเรียนขอคำแนะนำจากอาจารย์ครับ
            ตอนนี้ ผมเจอตำแหน่งที่ผมจะสามารถ apply เข้าไปอยู่ที่เมือง Dunedin ได้ ในตำแหน่ง General Surgery Registrar (ที่เว็บไซท์ ….) (รายละเอียดบอกว่าเป็น University Hospital ไม่แน่ใจว่าเป็น University of Otago หรือไม่นะครับ) ผมมีคำถามที่อยากจะขอเรียนปรึกษาอาจารย์ดังนี้ครับ

1.ถ้าผม applyไปในตำแหน่งนี้ มีโอกาสที่เขาจะรับไหมครับ ผมศึกษาเองจากเวบไซต์แพทยสภาของนิวซีแลนด์ เห็นว่ามี Vocational (Specialist) Registration : VOC3  โดยที่เราไม่ได้จบแพทย์ที่นิวซีแลนด์ และไม่ต้องมีเฉพาะทางของนิวซีแลนด์ (ผมอ่านดูวิธีและขั้นตอนการ apply แล้ว พอเข้าใจระดับหนึ่งครับ)

2.ตำแหน่ง Registrar doctor มีหน้าที่อะไรครับ เหมือน Resident บ้านเราไหมครับ เมื่อเราทำงานปรับพื้นฐานและประเมินผ่านแล้ว เรามีโอกาสได้ทำงานเป็นศัลยแพทย์ทั่วไปอย่างเต็มตัวไหมครับ

3.การ apply เข้าไปอยู่ในตำแหน่งนี้ ผมต้องเตรียมค่าใช้จ่ายไว้มากน้อยแค่ไหนครับ หรือเราจะได้รับเงินเดือนจากรพ.ที่นั่นเลย

4.โรคที่เราเจอที่ประเทศนิวซีแลนด์ และการรักษาต่างๆ ใกล้เคียงกับของเราบ้างไหมครับ หรือแตกต่างมากจนต้องปรับตัวใหม่ทั้งหมดครับ

5.ระบบการทำงานใน รพ.ที่นิวซีแลนด์ ถ้าเป็นของรัฐ เรามีโอกาสได้ทำไหมครับ แล้วรัฐดูแลประชากรเขาทุกอย่างด้านสุขภาพแบบที่ว่าเราสั่งการรักษาแบบไม่ต้องกังวลเงินในกระเป๋าของคนไข้ไหมครับ (ผมสบายใจมากกับการทำงานในรพ.รัฐบ้านเรา คือ ถ้าคนไข้มีสิทธิ์การรักษาแล้ว เราสามารถสั่งการรักษาที่เหมาะสมได้เลย โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายของคนไข้ครับ)

6.อยากรบกวนเรียนขอความคิดเห็นของอาจารย์เกี่ยวกับการทำงานเป็นหมอผ่าตัดที่นิวซีแลนด์ครับ

            สุดท้ายนี้ ผมขอกราบขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงนะครับ ที่กรุณาสละเวลาอ่านจดหมายของผม

ด้วยความเคารพอย่างสูง
นพ. ………………

Sent from Mail for Windows 10

……………………………………………….

ตอบครับ

1. ถามว่าถ้าคุณหมอสมัครไปทำงานในตำแหน่งที่เขาประกาศ เขาจะรับไหม ตอบว่าเขาคงไม่รับหรอกครับ เพราะ
1.1 เขาไม่รู้จักเรา ไม่รู้หัวนอนปลายตีนของเรา เขาไม่เสี่ยงรับเราเข้าไปทำงานแน่นอน

1.2 การจะได้เข้าไปทำงานในระบบของเขามีด่านอยู่สองก๊อก ก๊อกแรกคือการมีใบประกอบวิชาชีพ (license) ก๊อกสองคือการหาตำแหน่งงานให้ได้ ด่านที่ใหญ่ที่สุดคือก๊อกแรก เพราะแพทยสภานิวซีแลนด์ไม่ได้รับรองใบประกอบวิชาชีพของต่างชาติยกเว้นประเทศในเครือจักรภพบางประเทศ แต่ใช้วิธีพิจารณาอนุมัติใบประกอบวิชาชีพเป็นรายๆไป การพิจารณาของเขาต้องใช้หลักสำคัญสองประการประกอบ คือ

1.2.1 ต้องมีหลักฐานว่าเรามีความรู้แพทย์เทียบเท่าเกณฑ์มาตรฐานความรู้สากล ซึ่งหลักฐานที่จะบอกคุณสมบัติข้อนี้มีอยู่สองอย่างเท่านั้น คือหลักฐานว่าเราสอบ PLSB test ของอังกฤษผ่าน หรือหลักฐานว่าเราสอบ USMILE ของอเมริกาผ่าน

1.2.2 ต้องเคยฝึกปฏิบัติงานอยู่ในนิวซีแลนด์มาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งนิยามกันทั่วไปว่าอย่างน้อย 6 เดือน แล้วมีหมอ consultant ที่แพทยสภาเชื่อถือสามคนเขียนคำแนะนำหรือคำรับรองว่าเรามีผลการทำงานที่ดี

อันที่จริงกฎหมายไม่ได้เคร่งครัดว่าการได้ใบประกอบวิชาชีพต้องสอบ PLAB test หรือ USMILE ผ่าน แต่วิธีการสอบให้ผ่านเป็นวิธีพิสูจน์ตัวเราเองให้ฝรั่งเห็นว่าเรามีความรู้ขั้นเบสิกเทียบเท่าของเขาที่ง่ายที่สุด วิธีพิสูจน์วิธีอื่นจะยากกว่านี้ ซึ่งผมไม่แนะนำ ผมแนะนำให้สอบ PLAB หรือ USMILE ให้ผ่านง่ายสุด

ดังนั้นเส้นทางที่จะไปทำงานมี 4 ขั้นตอนคือ

ขั้นที่ 1. ต้องสอบ PLAB test หรือ USMILE ให้ได้ก่อน

ขั้นที่ 2. แล้วหาทางไปฝึกงานเป็นอินเทอร์นโข่ง (เรียกว่า HHO หรือ honorary house officer แปลว่าอินเทอร์นโข่งที่ไม่มีเงินเดือนกิน ต้องกินแกลบกินหญ้าไปพลางๆก่อน การจะได้เข้าไปเป็นอินเทอร์นโข่งกินแกลบกินหญ้านี้ก็ไม่ใช่จะเข้าไปได้ง่ายๆนะ ต้องร่อนจดหมายบรรยายสรรพคุณของเราไปขอทำงานกับเขา โอกาสที่เขาจะเชื่อและเสี่ยงรับเรามีน้อยมาก ในขั้นตอนนี้ถ้ามีเส้น เช่นแพทย์ไทยที่เป็นที่รู้จักและยอมรับของหัวหน้าหน่วยที่เราจะไปทำงานนั้นเขียนจดหมายแนะนำให้ ก็จะทำให้เข้าไปได้ง่ายขึ้น พูดถึงเส้นนี้เป็นระบบสำคัญในวงการแพทย์นิวซีแลนด์ สำคัญตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมสอบสัมภาษณ์เข้าเรียนแพทย์เลยละ

ขั้นที่ 3. เมื่อได้เข้าไปแล้ว ทำงานครบหกเดือนแล้ว ก็ขอหนังสือรับรองการทำงานจากเจ้านาย แนบใบสมัครขอใบประกอบวิชาชีพชั่วคราวชนิดที่จะทำงานรับเงินเดือนได้จากแพทยสภา

ขั้นที่ 4. เมื่อได้ใบประกอบวิชาชีพชั่วคราวแล้วก็เขียนจดหมายไปสมัครงานตรงไหนก็ได้ที่เขาประกาศรับ จะเป็นตำแหน่ง house surgeon หรือตำแหน่ง registrar ก็ได้ อย่าไปเกี่ยง เมื่อเขารับแล้ว คราวนี้ก็จึงจะได้ทำงานแบบมีเงินเดือนกิน

3. ถามว่าตำแหน่ง Registrar doctor มีหน้าที่อะไร ตอบว่าตำแหน่งนี้หน้าที่ก็คือเป็น “ทาส” สุดแล้วแต่เขาจะจิกหัวใช้ ถ้าใหญ่หน่อยก็เป็น “ขุนทาส” (senior registrar) ซึ่งมีความรับผิดชอบล้นฟ้า แต่ก็เป็นขี้ข้าเขาอยู่เหมือนเดิม งานของขุนทาสมีความแตกต่างกันมากขึ้นอยู่กับความไว้เนื้อเชื่อใจที่เจ้านายมีต่อตัวขุนทาสแต่ละคน สมัยผมเป็นขุนทาส ผมทำงานผ่าตัดและดูแลคนไข้เหมือนกับเป็น consultant คนหนึ่งไม่ผิดเพี้ยน เพียงแต่ว่าเป็นการทำงานภายใต้เขตอำนาจของเจ้านาย

4. ถามว่าตำแหน่ง registrar ถ้าทำงานดีแล้วจะมีโอกาสได้เป็นศัลยแพทย์ทั่วไปอย่างเต็มตัวไหมครับ ตอบว่าไม่มีโอกาสครับ หรือถ้าจะพูดให้เบาหน่อยก็คือมีโอกาสแต่น้อยมากครับ เพราะการได้เป็น consultant เป็นอาชีพสงวนสำหรับ citizen ของเขาเท่านั้น มันจะไปติดที่ด่านการสอบบอร์ด (FRACS) การจะได้สิทธิสอบบอร์ดต้องเริ่มด้วยการไปตั้งต้นที่สนามหลวง คือต้องสมัครเข้าเป็น registrar ในโปรแกรมฝึกอบรมเฉพาะสาขานั้น ซึ่งเขามีโควต้ารับจำกัดจำเขี่ยมาก แล้วต้องฝึกอบรมไปจนครบจำนวนปีที่เขาตั้งไว้ คือประมาณ 5-7 ปี

     แต่อย่างไรก็ตามวงการแพทย์ของนิวซีแลนด์ไม่มีกฎหมายกำกับตายตัว จึงมีดิ้นได้บ้าง สมัยผมทำงานที่นั่นผมก็ไม่ได้ไปตั้งต้นฝึกอบรมตามระบบของเขา แต่พอผมจะกลับบ้าน เจ้านายถามว่ามีจ๊อบหมอผ่าตัดหัวใจที่ทาสมาเนีย ยูอยากไปทำไหม คือพูดง่ายๆว่าถ้าเป็น “เด็กฝาก” ก็อาจจะมีลุ้น แต่นี่ไม่ใช่วิธีที่ผมแนะนำเพราะมันไม่เวอร์คกับทุกคน ยกตัวอย่างง่ายๆเช่นสมัยผมเป็นเด็ก ผมมาสอบเข้าเรียนแพทย์โดยไม่ได้เรียนมัธยมปลายแต่ใช้วิธีสอบเทียบเอา แล้วถ้าผมแนะนำเด็กนักเรียนทุกวันนี้ว่าจะไปเรียนแพทย์ไม่ต้องเรียนมัธยมปลายก็ได้ ไปสอบเทียบเอาเถอะ คุณว่ามันจะเป็นคำแนะนำที่คนเป็นอยากเป็นหมอควรทำตามไหม ไม่อย่างแน่นอนใช่ไหมครับ ดังนั้นในภาพรวมผมแนะนำว่าหากอยากไปประกอบอาชีพหมอที่นั่น คุณสอบ PLAB ให้ผ่านแล้วเข้าฝึกอบรมตามระบบให้ครบตั้งแต่ต้นแล้วสอบบอร์ดให้ได้เป็นวิธีที่ชัวร์ที่สุดครับ อย่าไปคิดว่าจะเสียเวลา เพราะตลอดเส้นทางนั้นคุณก็มีงานทำมีเงินเดือนกิน

5. ถามว่าการสมัครเอาตำแหน่ง ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายไว้มากน้อยแค่ไหน ตอบว่าต้องมีเงินใช้จ่ายขณะไปเป็น honorary house surgeon หรือ honorary registrar อย่างน้อยก็สักหนึ่งล้านบาทละมังครับ ถ้าไม่ได้งานก็กลับมาแบกจ๊อบที่บ้านเราเหมือนเดิมต่อไปไม่มีอะไรเสียหาย ถ้าได้งานจริงๆแล้วก็จะมีเงินเดือนใช้ ซึ่งเป็นเงินเดือนที่เหลือกินเหลือใช้หากกินอยู่อย่างคนธรรมดา

6. ถามว่าโรคที่เราเจอที่ประเทศนิวซีแลนด์ และการรักษาต่างๆ ใกล้เคียงกับของเราไหม ตอบว่าเหมือนกันแหละครับ เหมือนกันอย่างกับแกะ คือโรคหัวใจหลอดเลือด เบาหวาน ความดัน โรคไตเรื้อรัง มะเร็ง เป็นต้น

7 ถามว่าจะมีโอกาสได้ทำงานในรพ.ของรัฐไหม ตอบว่าหากเข้าไปเริ่มตามระบบตั้งแต่ต้น คือไปเป็น HO แล้วสมัครเข้าฝึกอบรมเฉพาะสาขา จบแล้วสอบบอร์ด ได้บอร์ดแล้วก็มีสิทธิ์สมัครเข้าทำงานในรพ.ของรัฐได้ครับ

8.. ถามว่าทำงานที่นั่นไม่ต้องกังวลเรื่องเงินในกระเป๋าของคนไข้ใช่ไหม ตอบว่าใช่ครับ ที่นั่นเป็นระบบสังคมนิยม การรักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่รัฐให้ฟรีแก่พลเมืองทุกคน ยกเว้นกรณีที่ไปรพ.เอกชน นั่นก็ตัวใครตัวมัน

9. ถามความเห็นหมอสันต์เรื่องที่คุณอยากไปเป็นหมอผ่าตัดที่เมืองนอก ตอบว่าหมอสันต์สนับสนุนให้แพทย์รุ่นใหม่ของไทยทุกสาขาทุกคนที่อายุยังไม่มาก (อย่างคุณนี้เพิ่งจบบอร์ดมาห้าปี ก็ยังพอถือได้ว่าอายุยังไม่มาก) และที่เป็นอิสระทางการเงินไม่มีพันธะต้องเลี้ยงดูครอบครัวมากมาย ได้ทดลองขวานขวายไปฝึกทำงานเป็นหมอในต่างแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกซีกตะวันตกซึ่งวัฒนธรรมและวินัยในการทำงานเขาแข็งแรงกว่าของเรา จะพยายามแล้วไม่สำเร็จ หรือพยายามแล้วสำเร็จแต่อยู่ได้ไม่นาน หรืออยู่ได้นาน ก็ไม่สำคัญ เพราะประสบการณ์ที่ได้พยายามอย่างน้อยก็จะทำให้โลกทัศน์ในวิชาชีพแพทย์กว้างขึ้น จะทำให้ตัวเราเองกลายเป็นกบนอกกะลา เมื่อได้กลับมาอยู่บ้านเราก็จะมีศักยภาพที่จะช่วยกันสร้างสรรค์วงการแพทย์ไทยเราให้เจริญยิ่งขึ้นไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์