Latest

หลักฐานเกี่ยวกับประโยชน์ของชาและกาแฟ

สวัสดีครับ
ผมหาบทความของคุณหมอเกี่ยวกับ ‘ชา’ ไม่เจอใน blog คุณหมอครับ ‘ชา’ ที่เราชงน้ำร้อนดื่มกัน เช่น ชาเขียว ชาอู่หลง ชาเจียวกู่หลาน
     1.ผลวิจัยระดับเกรด A มีการสรุปว่า ่ชา’ ส่งเสริม สุขภาพ และ/หรือ ต่อต้าน โรคต่างๆ บ้างไหมครับ?
(ถ้าผลวิจัยเกรดAไม่มี มีผลวิจัยพอจะศึกษาอื่นๆก็ได้ครับ)
     2.ถามต่อเนื่อง ถ้าให้คุณหมอแนะนำชาสัก 2-3 อย่าง ช่วยแนะนำด้วยครับ ปล.ถ้าช่วยเรื่อง ไขมันในเส้นเลือด เบาหวาน, ตับไต ก็ดีครับ?
     ขอให้มีความสุข และ อยู่ให้สาระความรู้กับแฟนคลับไปนานๆครับ 
ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
………………………………………………………….

ตอบครับ

     น้ำเปล่า เป็นเครื่องดื่มที่ดีที่สุด
    
     ก่อนจะพูดถึงชาหรือกาแฟ ขอพูดถึงน้ำเปล่าก่อนนะ เพราะเมื่อเราจะพูดถึงคุณประโยชน์ของเครื่องดื่ม จะข้ามเครื่องดื่มที่ดีที่สุดไปได้อย่างไร น้ำเปล่าเป็นทั้งวัตถุดิบในการผลิตพลังงานของเซล และเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลทุกเซลในร่างกาย ร่างกายไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่มีน้ำเพียงพอ การขาดน้ำนอกจากจะทำให้การทำงานของเซลทุกเซลผิดปกติและการเสียหายต่ออวัยวะหลักเช่น ไต หัวใจ สมอง หลอดเลือด แล้ว ยังอาจนำไปสู่ภาวะเลือดข้นหนืดและการตายกะทันหันจากลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดหรือจากหลอดเลือดเกร็งตัวอันสืบเนื่องมาจากการที่เยื่อบุหลอดเลือดผลิตไนตริกออกไซด์ไม่ได้ หรือจากภาวะช็อกจากการขาดน้ำดื้อๆเลย ดังนั้นน้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการมีชีวิตเป็นลำดับที่สองรองลงมาจากอากาศบริสุทธิ์ที่เราอาศัยหายใจอยู่ทุกวัน
     
     เป็นที่น่าแปลกใจที่วงการแพทย์ไม่ได้ทำวิจัยถึงปริมาณน้ำที่เพียงพอสำหรับร่างกายไว้เลย คำแนะนำที่ใช้สอนกันอยู่ทั่วไปว่าควรดื่มน้ำให้ได้วันละอย่างน้อย 8 แก้วของแก้วขนาด 8 ออนซ์ (240 ซี.ซี.) หรือที่เรียกกันว่าคำแนะนำ 8 x 8 นั้น เมื่อสืบสาวลงไปแล้ว ต้นตอกลับเป็นเพียงการคาดเดาเอาของคนเพียงคนเดียวโดยไม่มีหลักฐานวิจัยใดๆรองรับทั้งสิ้น[1]
     งานวิจัยที่น่าจะพอเรียกได้ว่าเป็นหลักฐานบ่งชี้ปริมาณน้ำที่ควรดื่มต่อวันที่ดีที่สุดเป็นงานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำดื่มและความเสี่ยงการเกิดจุดจบที่เลวร้ายของโรคหัวใจหลอดเลือด ชื่องานวิจัยสุขภาพแอดเวนทิส (The Adventis Health Study) ซึ่งศึกษาการดื่มน้ำและของเหลวทุกชนิดของชาย 8,280 คน หญิง 12,017 คน อายุ 38-100 ปี ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไรและที่ส่วนใหญ่ดื่มแต่น้ำและน้ำผลไม้ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เพราะคนพวกนี้เป็นพวกธรรมะธรรโมเคร่งศาสนา ใช้เวลาวิจัยติดตามดูนาน 6 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวมีคนเกิดจุดจบที่เลวร้ายทางด้านหัวใจขึ้น 246 ครั้ง และพบว่าเมื่อยึดเอาคนที่ดื่มน้ำวันละไม่เกิน 2 แก้ว (ดื่มน้อย) เป็นเกณฑ์ พบว่าผู้ที่ดื่มน้ำวันละ 3-4 แก้ว (ดื่มปานกลาง) มีความเสี่ยงเกิดเรื่องร้ายทางหัวใจหลอดเลือดน้อยกว่าผู้ที่ดื่มน้อย 35% และผู้ที่ดื่มน้ำวันละ 5 แก้วขึ้นไป (ดื่มมาก) มีความเสี่ยงเกิดเรื่องร้ายทางหัวใจหลอดเลือดน้อยกว่าผู้ที่ดื่มน้อย 54% คือสรุปว่ายิ่งดื่มน้ำมากยิ่งมีความเสี่ยงตายลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มน้ำน้อยกับการมีความเสี่ยงตายมากนี้คงอยู่แม้จะได้แยกเอาผู้มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและปัจจัยกวนอื่นๆเช่นการดื่มของเหลวอื่นเสริม การออกกำลังกาย ความอ้วน ความผอม ออกไปแล้วก็ตาม 
     ในทางกลับกัน งานวิจัยนี้พบว่ายิ่งดื่มของเหลวอื่นที่ไม่ใช่น้ำมาก (ส่วนใหญ่เป็นน้ำผลไม้คั้นแบบทิ้งกากไปเอาแต่น้ำหวานไว้) ยิ่งมีความเสี่ยงการเกิดจุดจบที่เลวร้ายทางหัวใจมากขึ้น
     จากงานวิจัยนี้ สามารถให้คำแนะนำแบบมีหลักฐานสนับสนุนได้ว่าคนทั่วไปควรดื่มน้ำมากๆอย่างน้อยวันละ 5 แก้วขึ้นไป และไม่ควรดื่มของเหลวหวานๆอื่นเช่นน้ำผลไม้แบบคั้นเอากากทิ้ง แทนการดื่มน้ำเปล่าเป็นปริมาณมากเกินไป
     
     นอกจากปริมาณแล้ว ผู้บริโภคควรคำนึงถึงคุณภาพด้วย ในเชิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วถือว่าน้ำก๊อกหรือน้ำประปาซึ่งมีการไหลอยู่ตลอดเวลา เป็นน้ำที่มีการปนเปื้อนบักเตรีน้อยที่สุด แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะนิยมน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกโดยเข้าใจว่าสะอาดกว่าน้ำประปา ซึ่งความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป งานวิจัยคุณภาพน้ำดื่มบรรจุขวดในตลาดเมืองฮิวสตัน (สหรัฐ) จำนวน 35 ยี่ห้อ ทั้งน้ำแร่ น้ำกรอง น้ำอัดก๊าซ พบว่ามี 4 ยี่ห้อที่มีบักเตรีปนเปื้อนสูงกว่าน้ำประปา[2]
     ชา
     ชากับการป้องกันมะเร็ง
     ชาเป็นใบพืชที่มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ทั้งชาเขียวและชาขาวต่างผลิตจากพืชชนิดเดียวกันและมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระมากพอๆกัน แต่ชาขาวจะมีสารต้านอนุมูลอิสระมากขึ้นถ้าใส่มะนาวลงไปด้วย งานวิจัยในห้องทดลองพบว่าชาสามารถระงับการเติบโตของเนื้องอกหลายชนิดรวมทั้งเซลมะเร็งได้ หลักฐานว่าชาระงับการเติบโตของเนื้องอกได้นี้ มีหลักฐานถึงระดับการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบในคนที่พิสูจน์ได้ว่าขี้ผึ้งชาเขียว (polyphenol E) สามารถใช้ทาหูดหงอนไก่แล้วมีผลป้องกันการกลับเป็นหูดหงอนไก่ได้ดีกว่าขี้ผึ้งหลอก[3]
     ชากับการมีอายุยืน
     งานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มชาเขียวกับอัตราตายจากทุกสาเหตุในคนญี่ปุ่นอายุ 40-69 ปี จำนวน 90,914   คนติดตามดูนาน 16.7 ปี มีคนตาย 12,874 คน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์พบว่ายิ่งดื่มชาเขียวเป็นจำนวนถ้วยต่อวันมากยิ่งมีอัตราตายต่ำกว่าผู้ดื่มชาเขียวน้อยหรือไม่ดื่ม โดยสัมพันธ์กับอัตราตายด้วยโรคหัวใจหลอดเลือดมากที่สุด[4] ทั้งนี้ต้องย้ำก่อนนะครับว่านี่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่งที่อาจจะไม่เป็นเหตุเป็นผลต่อกันเลยก็ได้

      ชากับการป้องกันเบาหวาน
     งานวิจัยเมตาอานาไลซีส 12 รายการเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มชากับความเสี่ยงการเป็นเบาหวานพบว่าการดื่มชาวันละ 3 แก้วขึ้นไปสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2 ลงเมื่อเทียบกับผู้ดื่มน้อยหรือไม่ดื่ม [5]
     ชากับการลดความดันเลือดและลดโคเลสเตอรอล
      การทบทวนงานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง 1,536 คน พบว่าชาเขียวลดความดันเลือดได้เล็กน้อย (1.94 มม.) ลดโคเลสเตอรอลรวมและ LDL ในเลือดได้ปานกลาง (8%) [6]
     ชากับการมีฟันแข็งแรง
     งานวิจัยแบบตัดขวางเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มชากับการเกิดฟันหลุดร่วงในคนญี่ปุ่นอายุ 40-64 ปีจำนวน 25,078 คนพบว่าการดื่มชาวันละ 1 ถ้วยขึ้นไปมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงเกิดฟันหลุดร่วงลงได้
[7]
     ชากับการลดความเสี่ยงโรคพาร์คินสัน
     งานวิจัยเมตาอานาไลซีสผู้ป่วยพาร์คินสัน 2,215 คนเทียบกับคนทั่วไป 145,578 คน พบว่ายิ่งดื่มชามากยิ่งมีโอกาสเป็นพาร์คินสันน้อย[8]
     ชาและกาแฟกับการลดความเสี่ยงโรคตับและมะเร็งตับ
งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาพบว่าการดื่มชาและกาแฟสัมพันธ์กับการเป็นโรคตับเรื้อรังและโรคมะเร็งตับน้อยลง
[9]
     ความเข้าใจผิดว่าชาและกาแฟทำให้กระดูกหักง่าย
การดื่มชาหรือกาแฟไม่ได้เพิ่มอุบัติการณ์กระดูกหัก ทั้งนี้การทบทวนงานวิจัยทั้งหมดที่ทำมาก่อนปี 2013 ซึ่งครอบคลุมประชากร 195,992 คน ในจำนวนนี้เกิดกระดูกสะโพกหัก 9,958 คน เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดกระดูกหัก (จากกระดูกพรุน) กับการดื่มชาหรือกาแฟ พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดกระดูกหักกับการดื่มชาหรือกาแฟเลย[10]
     กาแฟ
     ความเข้าใจผิดว่ากาแฟทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ
     งานวิจัยให้นักดื่มกาแฟจำนวน 50 คน ที่ดื่มประจำวันละ 3-6 แก้ว ให้ทำการทดลองสองครั้งแยกกัน แต่ละครั้งทดลองนานสามวัน ครั้งแรกให้ดื่มกาแฟ 200 ซีซี.สี่ครั้งต่อวัน (มีคาเฟอีน 4 มก./กก) ครั้งที่สองให้ดื่มน้ำเปล่า 200 ซีซี.สี่ครั้งต่อวัน โดยทั้งสองครั้งมีการควบคุมอาหาร น้ำดื่ม และกิจกรรมอื่นๆให้เท่ากันอย่างเข้มงวด แล้วตรวจวัดปริมาณน้ำทั้งหมดในร่างกาย (TBW) วัดมวลกายที่ไม่ใช่น้ำ (BM) ความเข้มข้นของปัสสาวะ ความเข้มข้นของปริมาตรเม็ดเลือด ความเข้มข้นของน้ำเลือด ปริมาณปัสสาวะใน 24 ชั่วโมง และดัชนีวัดการขาดน้ำต่างๆ พบว่าการดื่มหรือไม่ดื่มกาแฟในสภาพที่ร่างกายได้รับน้ำจากการดื่มน้ำและอาหารเท่ากันไม่มีผลให้ร่างกายขาดน้ำแต่อย่างใด[11]
     ความเข้าใจผิดว่ากาแฟทำให้เป็นโรคความดันเลือดสูง
      เป็นความจริงที่ว่าเมื่อดื่มกาแฟแล้วไปวัดความดันเลือดทันที ความดันเลือดจะสูงขึ้นประเดี๋ยวประด๋าวแล้วมันก็ลง แต่ไม่เป็นความจริงที่ว่าดื่มกาแฟเป็นประจำแล้วจะทำให้เป็นโรคความดันเลือดสูง ทุกวันนี้แพทย์บางท่านก็ยังแนะนำให้คนเป็นความดันเลือดสูงเลิกดื่มกาแฟด้วยความเข้าใจผิดว่ากาแฟมีความสัมพันธ์กับการเป็นความดันเลือดสูง ความเชื่อเช่นนั้นเคยมีอยู่ในหมู่แพทย์ทั่วโลกจนเมื่อฮาร์วาร์ดได้ตีพิมพ์งานวิจัยขนาดใหญ่ไว้ในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน (JAMA)[12] งานวิจัยนี้เป็นการตามดูผู้หญิงจำนวนถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นกว่าคนโดยติดตามนานถึง 12 ปี ในประเด็นจำนวนกาแฟที่ดื่มต่อวันกับการเป็นความดันเลือดสูง แล้วก็มีข้อสรุปออกมาแน่ชัดว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มหรือไม่ดื่มกาแฟกับการเป็นหรือไม่เป็นความดันเลือดสูงแต่อย่างใด
      ความเข้าใจผิดว่ากาแฟทำให้เป็นโรคกระเพาะและกรดไหลย้อน
     งานวิจัยกลุ่มคนสุขภาพดี 9,517 คนที่ญี่ปุ่น เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มกาแฟกับการเป็นโรคที่สัมพันธ์กับการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากสี่โรค คือ
 (1) โรคกรดไหลย้อนแบบไม่มีหลอดอาหารอักเสบ (NERD)
(2) โรคแผลในกระเพาะอาหาร(GU)
(3) โรคแผลในลำไส้ส่วนต้น(DU) และ
(4) โรคหลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน (RE)
โดยทำวิจัยควบกับการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเมตาอานาไลซีสในผู้ดื่มกาแฟ 5,451 คน ผู้ไม่ดื่มกาแฟ 2,562 คน พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มกาแฟกับการเป็นโรคใดโรคหนึ่งทั้งสี่โรคข้างต้น [13]
     กาแฟทำให้การทำงานของสมองระยะสั้นดีขึ้น                             
      งานวิจัยพบว่ากาแฟทำให้การทำงานของสมองระยะสั้นดีขึ้น ทั้งความเร็วในการสนองตอบ ความเร็วในการตัดสินใจเลือก การย้อนระลึกความจำชั่วคราวด้วยวาจา การใช้จินตนาการวิเคราะห์แก้ปัญหาเชิงสามมิติ (visuospatial reasoning) งานวิจัยต่างๆล้วนให้ผลตรงกันว่ากาแฟทำให้สมองทำงานเหล่านี้ดีขึ้นทุกประเด็น ผลอันนี้พบได้แม้ในคนอายุมาก งานวิจัยในหญิงอายุ 80 พบว่ากลุ่มที่ดื่มกาแฟมากกว่ามีการทำงานของสมองในประเด็นเหล่านี้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่มหรือดื่มน้อยกว่า[14]
     กาแฟกับการป้องกันสมองเสื่อม
     ความสามารถของกาแฟในการช่วยป้องกันสมองเสื่อมนี้มีนี้มีหลักฐานสนับสนุนสองชิ้น ซึ่งบังเอิญเป็นหลักฐานระดับกลางไม่ใช่หลักฐานระดับสูง กล่าวคือ
     ชิ้นที่ 1 เป็นการวิจัยแบบเทียบคู่ (match case control study) โดยเอาผู้ป่วยสมองเสื่อมมา 54 คน แล้วไปเอาคนธรรมดาที่มีอายุและลักษณะอื่นๆคล้ายๆกันแต่ไม่ได้เป็นสมองเสื่อมมา 54 คน แล้วตรวจสอบย้อนหลังถึงปริมาณกาแฟที่ดื่มใน 20 ปีที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มที่เป็นสมองเสื่อมดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนเฉลี่ย 73.9 มก.ต่อวัน (เทียบเท่ากาแฟประมาณครึ่งแก้ว) ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้เป็นสมองเสื่อมดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนเฉลี่ย 198.7 มก.ต่อวัน (เทียบได้กับกาแฟประมาณหนึ่งแก้วครึ่ง) ข้อมูลนี้บ่งบอกว่าคนชอบดื่มกาแฟเป็นสมองเสื่อมน้อยกว่าคนไม่ชอบดื่มกาแฟ[15]
     ชิ้นที่ 2. เป็นงานวิจัยที่แคนาดาทำแบบติดตามกลุ่มคนไปข้างหน้า (prospective cohort study) โดยเอาคนอายุ 65 ปีขึ้นไปที่สมองยังดีๆอยู่ยังไม่เสื่อมมาหกพันกว่าคน เอามาตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่อาจเป็นสาเหตุหรืออาจะเป็นตัวช่วยป้องกันสมองเสื่อมแล้วบันทึกไว้ หลังจากนั้นอีก 5 ปีจึงตามไปดูคนกลุ่มนี้อีกครั้งซึ่งพบว่าเหลืออยู่ 3,894 คน ในจำนวนนี้กลายเป็นสมองเสื่อมไป 194 คน เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆแล้วสรุปได้ว่าปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเป็นสมองเสื่อมคือ การมีอายุมาก มีการศึกษาต่ำ และมียีนสมองเสื่อม (ApoE4) ส่วนปัจจัยที่สัมพันธ์กับการที่สมองไม่เสื่อมมีสามปัจจัย คือ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การดื่มกาแฟ และการใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบข้อ (NSAID) เป็นประจำ [15]
     กาแฟกับการลดความเสี่ยงเบาหวาน
     หลักฐานจากงานวิจัยติดตามพยาบาลสี่หมื่นกว่าคนของฮาร์วาร์ด นาน 12 ปีพบว่าพยาบาลที่ดื่มกาแฟมาก เป็นเบาหวานน้อยกว่าพยาบาลที่ไม่ดื่มกาแฟหรือดื่มน้อย[16]
     กาแฟกับการลดความเสี่ยงโรคพาร์คินสัน
     งานวิจัยเปรียบเทียบพบว่าคนดื่มกาแฟมาก(เกินวันละสามแก้วครึ่ง) เป็นโรคพาร์คินสันน้อยกว่าคนไม่ดื่มกาแฟ[17]
     งานวิจัยแบบติดตามดูกลุ่มคนใน CPS II cohort ซึ่งต่อมามีชายเป็นพาร์คินสัน 197 คน หญิง 120 คน พบว่าคนที่ยิ่งดื่มกาแฟมาก ยิ่งมีโอกาสเป็นพาร์คินสันน้อย[18]
     งานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ ให้ผู้ป่วยพาร์คินสันกินยาเม็ดกาแฟอีนวันละ 100 มก.วันละสองครั้งเทียบกับยาหลอก นาน 6 สัปดาห์ พบว่าคาแฟอีนไม่ลดอาการง่วงเหงาหาวนอนตอนกลางวันลงแต่อย่างใด แต่ทำให้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแบบจงใจในผู้ป่วยพาร์คินสันดีขึ้น[19]
     คนดื่มกาแฟอายุยืนกว่าคนไม่ดื่ม
     การติดตามดูกลุ่มคนสูงอายุในงานวิจัย NIH-AARP จำนวนราวสี่แสนคนนาน 14 ปีเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการดื่มกาแฟกับอัตราตายพบว่าคนยิ่งดื่มกาแฟมากยิ่งมีอัตราตายรวมต่ำกว่าคนดื่มกาแฟน้อยหรือไม่ดื่ม ความสัมพันธ์นี้มีอยู่ในช่วงการดื่มกาแฟวันละ 0 – 6 แก้ว[20]
     ข้อดีอื่นๆของกาแฟ
     กาแฟลดโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีทั้งในผู้ชายและผู้หญิง[21]
     คนดื่มกาแฟเป็นเก้าท์น้อยกว่าคนที่ไม่ดื่ม
     กาแฟกระตุ้นลำไส้ใหญ่ ทำให้ขับถ่ายอุจจาระสะดวก
     คนดื่มกาแฟเป็นมะเร็งในปาก หลอดอาหาร ลำคอ เต้านม เยื่อบุโพรงมดลูก ตับ และต่อมลูกหมาก น้อยกว่าคนที่ไม่ดื่ม
                           
     ข้อเสียของกาแฟ
1.      กาแฟทำให้ติด
2.      กาแฟทำให้นอนไม่หลับในบางคน แต่ก็ทำให้เป็นโรคหลับมากเกินไปในบางคน โดยเฉพาะเมื่อดื่มกาแฟในตอนบ่าย ทำให้กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่สัมพันธ์กับปัญหานอนไม่หลับในผู้สูงอายุอย่างมาก
4.      กาแฟทำให้กระวนกระวาย โกรธง่าย ในบางคน
5.      กาแฟรบกวนการดูดซึมเหล็ก และเพิ่มโอกาสเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กถ้าดื่มกาแฟติดกับมื้ออาหาร
6.      กาแฟมีสารเพิ่มโคเลสเตอรอล (LDL) ในเลือด แต่สารนั้นจะถูกกรองออกทิ้งไปก่อนหากปรุงกาแฟด้วยวิธีใช้กระดาษกรอง
7.      กาแฟทำให้หญิงมีครรภ์เพิ่มความเสี่ยงทารกตายระหว่างคลอด
8.      การดื่มกาแฟร่วมกับกินยาแก้ปวดพาราเซ็ตตามอลเพิ่มความเสียหายต่อตับมากขึ้น
     กล่าวโดยสรุปในเรื่องเครื่องดื่ม น้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มที่ดีที่สุด ชาและกาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีผลดีต่อสุขภาพมากกว่าผลเสีย และถือเป็นเครื่องดื่มที่ดีรองลงมาจากน้ำเปล่า ดีเสียยิ่งกว่าน้ำผลไม้สำเร็จรูปที่คั้นเอากากทิ้งไปเหลือแต่น้ำหวานใสๆ

     ส่วนที่จะให้หมอสันต์แนะนำว่าชาชนิดใดดีกว่าชนิดใดนั้นแนะนำไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐานครับ งานวิจัยชาส่วนใหญ่วิจัยแบบรูดมหาราช คือดื่มชาหรือไม่ดื่มชา แค่นั้น ไม่มีงานวิจัยเปรียบเทียบชนิดของชาที่มีผลสรุปแตกต่างกันชัดเจนพอจะมาแนะนำให้ท่านเลือกชาได้ ท่านเลือกด้วยดุลพินิจของท่านเองก็แล้วกัน
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Valtin, H., “Drink at least eight glasses of water a day.” Really? Is there scientific evidence for “8 x 8”? Am J Physiol Regul Integr Comp Physiol, 2002. 283(5): p. R993-1004.
2.  Saleh, M.A., et al., Chemical, microbial and physical evaluation of commercial bottled waters in greater Houston area of Texas. J Environ Sci Health A Tox Hazard Subst Environ Eng, 2008. 43(4): p. 33547.
3. Tzellos, T.G., et al., Efficacy, safety and tolerability of green tea catechins in the treatment of external anogenital warts: a systematic review and metaanalysis. J Eur Acad Dermatol Venereol, 2011. 25(3): p. 34553.
4. Saito, E., et al., Association of green tea consumption with mortality due to all causes and major causes of death in a Japanese population: the Japan Public Health Centerbased Prospective Study (JPHC Study).Ann Epidemiol, 2015. 25(7): p. 512518 e3.
5. Yang, W.S., et al., Tea consumption and risk of type 2 diabetes: a doseresponse metaanalysis of cohort studies. Br J Nutr, 2014. 111(8): p. 132939.
6. Onakpoya, I., et al., The effect of green tea on blood pressure and lipid profile: a systematic review and metaanalysis of randomized clinical trials.Nutr Metab Cardiovasc Dis, 2014. 24(8): p. 82336.
7. Koyama, Y., et al., Association between green tea consumption and tooth loss: crosssectional results from the Ohsaki Cohort 2006 Study.Prev Med, 2010. 50(4): p. 1739.
8. Barranco Quintana, J.L., et al., Parkinson’s disease and tea: a quantitative review. J Am Coll Nutr, 2009. 28(1): p. 16.
9.    Georgoulis, M., et al., The impact of cereal grain consumption on the development and severity of nonalcoholic fatty liver disease. Eur J Nutr, 2014. 53(8): p. 172735.
10.    Sheng, J., et al., Coffee, tea, and the risk of hip fracture: a metaanalysis. Osteoporos Int, 2014. 25(1): p. 14150.
11.    Killer, S.C., A.K. Blannin, and A.E. Jeukendrup, No evidence of dehydration with moderate daily coffee intake: a counterbalanced crossover study in a freeliving population. PLoS One, 2014. 9(1): p. e84154.
12.    Winkelmayer, W.C., et al., Habitual caffeine intake and the risk of hypertension in women.JAMA, 2005. 294(18): p. 23305.
13.    Shimamoto, T., et al., No association of coffee consumption with gastric ulcer, duodenal ulcer, reflux esophagitis, and nonerosive reflux disease: a crosssectional study of 8,013 healthy subjects in Japan. PLoS One, 2013. 8(6): p. e65996.
14.    JohnsonKozlow, M., et al., Coffee consumption and cognitive function among older adults. Am J Epidemiol, 2002. 156(9): p. 84250.
15. Maia, L. and A. de Mendonca, Does caffeine intake protect from Alzheimer’s disease? Eur J Neurol, 2002. 9(4): p. 37782.
16. SalazarMartinez, E., et al., Coffee consumption and risk for type 2 diabetes mellitus. Ann Intern Med, 2004. 140(1): p. 18.
17. Ross, G.W., et al., Association of coffee and caffeine intake with the risk of Parkinson disease. JAMA, 2000. 283(20): p. 26749.
18. Palacios, N., et al., Caffeine and risk of Parkinson’s disease in a large cohort of men and women. Mov Disord, 2012. 27(10): p. 127682.
19. Postuma, R.B., et al., Caffeine for treatment of Parkinson disease: a randomized controlled trial. Neurology, 2012. 79(7): p. 6518.
20. Freedman, N.D., et al., Association of coffee drinking with total and causespecific mortality. N Engl J Med, 2012. 366(20): p. 1891904.
21. Leitzmann, M.F., et al., Coffee intake is associated with lower risk of symptomatic gallstone disease in women. Gastroenterology, 2002. 123(6): p. 182330.