Latest

เรื่องไร้สาระ

วันนี้ขณะค้นหาหลอดไฟใหม่จะมาเปลี่ยนหลอดเก่าที่ริมรั้วซึ่งขาดไป ผมไปสะดุดบันทึกเก่าเมื่อไปเที่ยวฝรั่งเศส อ่านดูแล้วเห็นเป็นเรื่องไร้สาระทั้งเพ แต่ก็ขำดี จึงเอามาให้ท่านอ่านแก้ขัดช่วงไม่มีเวลาตอบคำถาม ท่านที่ไม่ชอบเรื่องไร้สาระให้ผ่านไปเลย

บันทีก 28 พ.ค. 58
(วันที่ 13 ของการขับรถเที่ยวฝรั่งเศส)

ตอน: รถหายที่กอลมา
คณะเราทั้งแปดคนนัดกันไว้ว่าหลังอาหารเช้าจะออกเดินทางออกจากกอลมาสัก 9 โมง กำลังช่วยกันเตรียมอาหารเช้าก็ได้ยินเสียงหมอแขกตะโกนเรียกหาผมลั่นตึกว่ารถหายไปแล้ว โดนลากไปแล้ว  เพราะจะมีตลาดนัดแล้วเราไม่รู้ คนดูแลที่พักไม่ได้บอกเรา  หมอแขกผู้ซึ่งชอบตื่นเช้าแล้วก็ออกไปเดินข้างนอกก่อนใครทันเห็นเขาเพิ่งลากรถไปต่อหน้าต่อตาบอกว่าเรียกไว้ไม่ทัน ผมตื่นนอนเพราะเสียงเรียกต้องรีบแต่งตัวมาดู  ลูกทัวร์ผู้รู้อีกท่านหนึ่งว่าดีแล้วที่เรียกตำรวจไม่ทันเพราะถ้าไปขัดขวางการยกรถจะเสียค่าปรับอีก 36 ยูโร พวกเราจึงต้องระดมพลทั้งแปดกลับเข้าประจำการ คนหนึ่งไปหาทางใช้เน็ทติดต่อมิสเตอร์คอฟแมนนายหน้าการเช่าแฟลตนี้ อีกคนหนึ่งไปสอบถามเอาความที่โรงพักซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าตั้งอยู่ที่ไหน รู้แต่ว่าเขาไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษพูดกัน อีกคนให้หาข้อมูลทางเน็ทเพื่อจัดทำแผนเลื่อนตั๋วรถไฟ TGV หากมีอันต้องตกรถที่จองไว้ กำลังพลที่เหลือให้รีบเก็บสมบัติและนั่งสวดคาถาชินบัญชรอยู่ในห้องพัก เพราะว่าวันนี้จะต้องเดินทางไปสตราสบูร์กเพื่อขึ้น TGV ไปปารีสเวลา 12.16 น. โดยต้องเติมน้ำมันก่อนคืนรถให้เต็มทั้งสองคันอีกด้วย ดังนั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยได้มาก

กว่าจะติดต่อกับมิสเตอร์คอฟแมนได้ก็พักใหญ่ มันน่า..มั้ยล่ะ ทำไมไม่บอกเราก่อนว่าตรงนี้วันพฤหัสเขาจะมีตลาดและห้ามจอด  แล้วมิสเตอร์คอฟแมนก็มารับผมกับหมอแขกไปไถ่รถซึ่งถูกลากไปทิ้งไว้ที่ป่าช้ารถนอกเมือง ในระหว่างนั้นผู้อาวุโสซึ่งสวดชินบัญชรจบแล้วได้ลงไปเดินหน้าบ้านแล้วกลับมาบอกคนอื่นว่าตลาดนัดข้างล่างมีของขายเยอะเลย พวกเหล่าหญิงขาช้อปจึงใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสลงไปช้อปปิ้งฆ่าเวลา ซื้อผ้าปูโต๊ะอาหารมาคนละ 2-3 ผืน ซื้อเสร็จกลับมาหน้าอาคารพบว่าประตูแฟลตปิดเข้าบ้านไม่ได้ ไม่มีกุญแจด้วย วันนี้ถ้าจะมองในเชิงฤกษ์ยามก็ต้องเป็นฤกษ์มหาอุตม์ ทุกอย่างถูกอุดตันไปหมด พวกขาช้อปที่เข้าบ้านไม่ได้พากันแก้ปัญหาโดยยืนเรียงแถวข้างถนนแหงนมองหน้าต่างห้องนอนของตัวเองที่อยู่บนชั้นสามของแฟลตแล้วส่งกระแสจิตขึ้นไปเรียกคนข้างบนให้ลงมาเปิดประตูให้ แล้วก็ราวปาฏิหาริย์ คนที่อยู่ข้างบนซึ่งกี่ปีกี่ชาติไม่เคยเปิดหน้าต่างห้องนอนก็เกิดอารมณ์อยากจะเปิดหน้าต่างชะโงกดูโลกภายนอกขึ้นมา จึงได้เห็นขอทานยิปซี เอ๊ย..ไม่ใช่พวกกันเองกลุ่มหนึ่งกำลังแหงนคอตั้งบ่ารอเมตตาธรรมอยู่

กล่าวถึงหน่วยที่ไปสถานีตำรวจ กลับมารายงานว่าได้ไปคุยกับตำรวจที่สถานีตำรวจซึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ซักคำ ต้องคุยกันด้วยวิธีเขียนรูปรถยกลากรถเก๋งให้ตำรวจดู ตำรวจก็เขียนตัวหนังสือเหมือนใบ้หวยกลับมา สรุปว่าต้องเสียค่าปรับคันละ 126 ยูโร โดยต้องไปจ่ายเงินและรับรถที่ป่าช้ารถนอกเมือง เมื่อได้รับทราบว่าผมกับหมอแขกกำลังไปที่นั่นพร้อมกันมิสเตอร์คอฟแมนแล้ว เขาก็กลับมาช่วยวางแผนสำรองกรณีไปไม่ทันรถไฟ

ข้างคณะที่ไปไถ่รถอันประกอบด้วยผม หมอแขก และมิสเตอร์คอฟแมน เมื่อไปถึงป่าช้ารถแล้วก็อาศัยมิสเตอร์คอฟแมนพูดภาษาฝรั่งเศสกับตำรวจให้ แล้วแปลให้ฟังว่าได้แจ้งนายตำรวจแล้ว เขาจะมาเปรียบเทียบปรับให้ที่นี่แล้วเราก็จะเอารถออกไปได้ มิสเตอร์คอฟแมนประสานงานให้แล้วก็ขอตัวไปทำมาหากินของตัวเองต่อไป ทิ้งให้ผมกับหมอแขกนั่งรอนายตำรวจอยู่ที่กลางป่าช้า ความจริงมันไม่ใช่เป็นป่าช้าหรอก มันเป็นสำนักงานที่มีรถเก่าๆจอดอยู่แยะมาก รออยู่นานราวหนึ่งชั่วโมงนายตำรวจก็ยังไม่มา หมอแขกออกไปสูบบุหรี่ได้ถึง 3 มวน พอเดินกลับเข้ามาในห้อง แค่ผ่านประตูเข้ามา smoke alarm ซึ่งดักจับควันจากลมหายใจของหมอแขกได้ก็ส่งเสียง alarm ดังลั่น ทุกคนหันมามองดูหมอแขกกันหมด พนักงานคนหนึ่งมาชะโงกดูว่า alarm ดังเพราะอะไร พอเห็นขี้ยาหน้าตาแขกคนหนึ่งก็ทำท่าเข้าใจแล้วไปปิดเสียง alarm

เรานั่งรอต่อกันอีกนานราวหนึ่งอสงไขยเวลา แต่ตำรวจก็ยังไม่มาสักที หมอแขกงุ่นง่านจะออกไปสูบบุหรี่อีกรอบ แต่คราวนี้ผมห้ามไว้ แล้วสอนธรรมะเขาว่า

“อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เอ็งอย่าสูบบุหรี่ก็แล้วกัน เพราะข้าไม่อยากโดนข้อกล่าวหาวางเพลิงโรงพักฝรั่ง”

ในที่สุดนายตำรวจก็มา เขาพูดภาษาอังกฤษได้ มาทำการสอบปากคำ พาไปให้เราชี้รถของเรา ยังดีที่เขาไม่ให้ทำแผนประทุษกรรมหรือชี้ที่เกิดเหตุ เกือบสิบเอ็ดโมงจึงเอารถออกจากป่าช้าได้

ภารกิจต่อไปก็คือบึ่งรถจากกอลมาร์มาไปสตราสบูร์กระยะทาง 70กม. มีเวลาให้แค่ชั่วโมงสิบห้านาที บนถนนที่รถเก๋งก็มาก รถบรรทุกก็แยะ ต้องหาปั๊มเติมน้ำมันและไปส่งรถ สมาชิกทั้งแปดคนส่วนใหญ่นั่งลุ้นกันมาตลอดทางยกเว้นหนึ่งท่านที่หลับกรนครอกฟี้สบาย เข้าใจว่าถ้าไม่บรรลุธรรมไปแล้วก็คงเป็นโรคขาดออกซิเจนจากการหยุดหายใจขณะหลับกลางคืน จึงต้องมาหลับกลางวันแทน ถึงสตราสบูร์กก็รีบไปเติมน้ำมันรถ ขับไปที่สถานีรถไฟเอากระเป๋าลงหมดแล้วก็บริหารจัดการด้วยสูตรเดิม คือผู้หญิงขนกระเป๋า ผู้ชายเอารถไปคืน สมบัติที่งอกเงยขึ้นมาจนเป็นวิบากแก่ผู้ขนนั้นก็ไม่ใช่สมบัติของใครที่ไหนดอก ของพวกเธอนั่นแหละเพราะชอบซื้อกันจัง เหลือเวลาอีกสี่นาทีรถไฟจะออก ขณะที่พากันกำลังจะลากกระเป๋าขึ้นบันไดเลื่อนไปชานชาลา บันไดก็เกิดหยุดเลื่อนกะทันหัน กระเป๋าและคนข้างหน้าหกล้มบนบันไดระเนระนาด เข้าใจว่าสายกระเป๋าของใครสักคนเข้าไปติดขัดกับบันไดเลื่อน จะมารอเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสแก้ไขบันไดเลื่อนในเวลาสามนาทีนั้นนะหรือ ฝันไปเถอะ พวกเราเลยต้องกระเตงสมบัติพระศุลีกลับลงมาขึ้นบันไดแบบโลว์เทคแทน ผู้อาวุโสบ่นว่าแขนล้าหมดแล้วเพราะใช้พลังหญิงเหล็กยกกระเป๋ายักษ์ข้างละใบ แต่ก็ขึ้นรถไฟได้สำเร็จจนได้ ขึ้นมาแล้วเกือบหมดเวลาพอดี ประตูรถยังไม่เลื่อนปิด ลูกทัวร์คนหนึ่งเอ่ยปากตั้งปุจฉาว่า

“..ใช่คันนี้หรือเปล่าวะ” อีกคนว่า

“ช่างเข้าใจสรรหาคำอัปมงคลมาพูดได้เหมาะเจาะกับเวลาจริงๆนะแก” 

อีกคนก็ให้ข้อมูลสำทับว่าเมื่อตะกี้ป้ายที่ห้อยข้างตู้โดยสารไม่มีคำว่า CDG อันหมายถึงสนามบินชารล์เดอโกลซึ่งเป็นสถานีจุดหมายปลายทางของเรา ผมสั่งให้ลูกทีมซึ่งเป็นคนหนุ่มคนเดียวลงไปเช็คป้ายซ้ำเดี๋ยวนั้น เขาแผล็บลงไป แล้วก็แผล็บขึ้นมาขณะประตูปิดไล่หลังเขาหวุดหวิด พร้อมกับตะโกนรายงานว่า

“..ใช่แน่”

เฮ้อ! โล่งอก วันนี้ได้ลุ้นระทึกแต่เช้าหมอแขกบอกว่ามาทัวร์นี้ต้องลุ้นทุกวันเลย มันมาก แล้วถามว่า

“จะมีอะไรให้ลุ้นกันอีกวะ”

พอได้นั่งผ่อนคลายแล้วก็เป็นเวลาที่ปากจะทำงาน บทสนทนาของคณะทัวร์ลุ้นทุกวันรอบนี้เป็นการนินทาเมืองกอลมาร์ บ้างว่าที่พักเมืองนี้ดีนะอยู่กลางเมืองเดินเที่ยวได้สะดวก ห้องนอนกว้าง ฮีทเตอร์อุ่น ครัวก็มีน้ำชากาแฟ น้ำมันทำกับข้าว น้ำยาล้างจาน อุปกรณ์ของใช้มีครบยกเว้นมีดทื่อไปหน่อยกับลูกบิดประตูห้องน้ำเสีย ถ้าไม่เจอโดนตำรวจลากรถก็น่าจะแฮปปี้ บ้างบ่นว่าน้ำร้อนหมดตอนกลางคืนต้องอาบน้ำเย็นหนาวแทบตาย บ้างว่าน้ำในโถชักโครกที่ห้องหมดตอนดึกต้องติดป้ายหน้าห้องบอกคนอื่นว่า

“..น้ำไม่ไหล โปรดช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา”

เราใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมงครึ่งก็ถึงสนามบินCDG  ปารีส เวลา14.49 น. ไปเอารถเช่นคันใหม่ที่ Hertz CDG airport เช่ารถ 2 คันออกเดินทางกันต่อไป มุ่งหน้าไปยังชีแวร์นี (Giverny)  เมืองเวอร์นอน ซึ่งห่างไปประมาณ 70 กม. มูลเหตุที่ต้องไปที่นี่เพราะผมต้องการไปเสาะหาความบันดาลใจจากสวนโมเนต์ เผื่อจะได้ไอเดียมาทำสวนเวลเนสวีแคร์ของตัวเองที่มวกเหล็กบ้าง รถออกจากปารีสติดหนักพอสมควรเพราะว่าเป็นเวลาเลิกงานพอดี กว่าจะถึงที่พักในชีแวร์นีก็ห้าโมงแก่ๆ เข้าที่พักที่ Forest Farm ที่อยู่ 3, Rue du Manoir 27620 Bois¬JérômeSaint¬Ouen โทร  +33672949170

เข้าที่พักแล้วเราออกไปหาอาหารทานกัน เจ้าของโรงแรมแนะนำให้ไปทานที่ร้านดังใกล้สวนโมเนต์ ผมขับรถออกไปตามจีพีเอส มันพามุดเข้ากลางทุ่ง เป็นถนนลูกรังแคบๆแบบไปได้เลนเดียว สองข้างทางเป็นทุ่งข้าวสาลีสีเขียวที่เพิ่งเริ่มออกรวงไหวพลิ้วตามแรงลมตัดผ่านกับแสงแดดอ่อนๆในยามเย็น สวยมากจนเราต้องชะลอรถเก็บภาพไว้  โชคดีที่ไม่มีรถสวนมา เราไปที่ข้างสวนโมเนต์ ตัวสวนวันนี้ปิดไปแล้ว เดินผ่านร้านกาแฟและร้านอาหาร 5-6 แห่ง มีร้านแกลอรี่และร้านขายของที่ตกแต่งไว้สวยงาม  ที่นี่เป็นหมู่บ้านเล็กๆในชนบทที่สงบเงียบและน่าเอ็นดู บ้านแต่ละหลังล้วนปลูกดอกไม้สวยๆ จนพวกเราบางคนพูดว่าได้มาดูแค่ข้างนอกสวนนี่ก็พอใจแล้วแหละ

เราเข้าไปที่ร้าน Ancien Hotel Baudy เป็นร้านเก่าแก่มีชื่อเสียงที่คนมาเรียนวาดรูปตามโมเนต์มักจะมาพักและทานอาหารที่นี่กัน ด้านหน้าติดถนน ข้างหลังเป็นสวนดอกไม้ สั่งอาหารแล้วเราจึงไปเดินถ่ายรูปฆ่าเวลารอ แม้คนจะเยอะแต่ก็ไม่ช้า พวกเราบ้างสั่งออมเรตไส้เป็ด บ้างสั่งเป็ดอบ บ้างสั่งสลัดไก่ซึ่งก็ได้ไก่ชิ้นโตจนทานไม่หมดเช่นเดิม เป็นมื้อที่แพงมากที่สุดในทริปถ้าไม่นับที่บ้านเชฟอีเลนที่เมืองคานส์ เพราะความดังของสวนโมเนต์ทำให้ผู้คนเดินทางมาเที่ยวที่เมืองเล็กๆแห่งนี้กันมาก แล้วที่กินในละแวกก็มีอยู่แค่นี้ อาหารแต่ละจานราคาอย่างน้อยเกือบ 20ยูโร ผมสั่งขนมโฟมาช ที่หน้าตาเหมือนโยเกิร์ตมาทาน พบว่าไม่อร่อยเลยสักนิด หลังอาหารเย็นเราก็ขับรถผ่ากลางทุ่งข้าวสาลีกลับที่พัก

ห้องนอนของบ้านที่พักในฟาร์มหลังนี้ทาสีฟ้าตกแต่งไว้สวยดี ปลูกดอกกุหลาบและลาเวนเดอร์ใส่กระบะไว้ที่หน้าต่าง แต่วันนี้ไม่เปิดฮีทเตอร์ให้เพราะถือว่าเป็นหน้าร้อนแล้ว พวกกะเหรี่ยงบางคนต้องหาทางหนีตายด้วยการเปิดเตาไฟฟ้าในครัวแทนฮีตเตอร์ มิน่า..ไม่นานมานี้ผมเคยเห็นเตาหุงต้มยี่ห้อสะเม็กเขียนป้ายติดไว้ข้างเตาตัวโตว่า “ห้ามใช้เตานี้แทนฮีตเตอร์เด็ดขาด” ที่มาของป้ายมันเป็นอย่างนี้นี่เอง

29 พค. 58

โรงแรมที่นี่มีอาหารเช้าให้ทาน ซึ่งพบไม่บ่อยนักในฝรั่งเศส คงเป็นเพราะต้องต้อนรับลูกค้าอเมริกันที่มาปักหลักวาดรูปอยู่แถวนี้บ่อยจึงต้องทำอะไรเอาใจคนอเมริกันบ้าง ห้องอาหารตกแต่งน่ารัก ขนมปังบาแกตยาวเป็นศอกหรืออีกชื่อหนึ่งคือขนมปังหัวไอ้โจรเพราะแข็งโป๊ก แต่ว่าเป็นความแข็งนอกนุ่มใน ทุกคนกินกันเอร็ดอร่อยแม้ไม่มีไข่หรือแฮม แต่ก็มีผลไม้ให้ หมอแขกคุยกับเจ้าของบ้านเรื่องจะหาซื้อฟัวกราส์ (foie gras) หรือตับห่านบด ออกเสียงกันหลายครั้งกว่าจะเข้าใจกันได้ เขาไปหยิบมาให้ชิมแล้วก็บอกว่าที่นี่มีขาย แต่เป็นตับห่านแค่ 30%ที่เหลือเป็นตับไก่ ราคา 10 ยูโร มีคนบอกว่าซื้อเหอะ เพราะไม่บอกคนรับของฝากเขาจะไปรู้ได้อย่างไรว่าเป็นตับห่านตับเป็ดหรือตับไก่

นักท่องเที่ยวมาชีแวร์นีอันเป็นแค่ตำบลเล็กๆนี้ส่วนใหญ่มาเพื่อชมสวนโมเนต์เพียงอย่างเดียว ประวัติความเป็นมาของสวนโมเนต์คือเริ่มตั้งแต่ช่วงปี 1863 ได้เกิดกลุ่มศิลปินไส้แห้งที่เรียกตัวเองว่า Avant Garde หรือศิลปินกองหน้า คือเป็นพวกวาดรูปแหกคอกจากงานสมจริงแบบคลาสสิกมาเป็นงานตวัดพู่กันชุ่มๆแบบทำให้ภาพชัดบ้างไม่ชัดบ้างโดยใช้สีสว่างๆเพื่อช่วยสร้างอารมณ์ให้ภาพ เรียกว่าพวกอิมเพรสชั่นนิสม์ พวกนี้พอส่งภาพไปแสดงทีไรกรรมการก็คัดทิ้งหมด จึงต้องรวมหัวกันจัดแสดงภาพของตัวเอง ระยะแรกก็ไม่มีคนชอบ จึงต้องเป็นจิตรกรไส้แห้งไปตามระเบียบ โมเนต์เป็นหนึ่งในศิลปินในกลุ่มนี้ ตอนอายุ 34 ปี โมเนต์ถูกไล่ที่เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ตอนนั้นเขามีลูกของเขาเองสองคน กิ๊กของเขามีลูกอีกหกคน จึงต้องออกมาหาบ้านอยู่นอกเมือง และมาถูกชะตากับบ้านร้างสีชมพูอ็องต็องกลางสวนผลไม้ที่หมู่บ้านชิแวร์นีนี้ จึงขอเช่าเขาแล้วตอนหลังพอมีเงินก็ซื้อเขาไว้ สวนของเขาออกแบบด้วยตัวเขาเองด้วยความชอบไม้ดอก เวลาเขาวาดภาพ เขาพูดเสมอถึงการจับเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ (effect) ของภาพที่จะสื่อออกมา อารมณ์ของภาพนี้มันขึ้นกับบรรยากาศ แสงและเงาในขณะนั้นด้วย สวนของเขาก็สร้างขึ้นมาด้วยคอนเซ็พท์เดียวกัน แต่เขาไม่ได้สร้างสวนไว้วาดภาพ เพราะภาพที่เขาวาดมีไม่กี่ภาพที่วาดจากในสวน แต่เขาสร้างสวนของเขาให้เป็นผืนผ้าใบที่มีชีวิตจริงๆ โดยให้ดอกไม้เป็นเสมือนสีที่เขาแต้มแต่งลงไปบนผ้าใบ

บันทึกของเพื่อนของโมเนต์เล่าว่าตัวโมเนต์เข้านอนก่อนสามทุ่มทุกวัน เพื่อจะได้ตื่นแต่เช้ามืด ขุดดิน หว่านเมล็ด ถอนวัชพืชเพื่อสร้างสวนนี้ ลูกๆทั้งแปดคนรับผิดชอบรดน้ำ โมเนต์ย้ำคิดอยู่กับการวางองค์ประกอบ (composition) ของสวน ทั้งทดลองวิจัยเอง ทั้งอ่านไม่ว่าจะเป็นเอกสารหรือหนังสือภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ หรือเยอรมัน เขาเอาความบันดาลใจจากการทำสวนไปวาดรูป แล้วก็เอาอารมณ์ (effect) ที่อยากสร้างขึ้นในรูปมาสร้างขึ้นที่สวนก่อน เมื่อเขาไปวาดรูปที่ฮอลแลนด์เมื่อปี 1866 เขาบ่นว่าเขาไม่สามารถใช้สีสื่ออารมณ์เมื่อเห็นดอกทิวลิปสีแดงสีเหลืองที่กำลังบานเจิดจ้าอยู่ในทุ่งออกมาได้ พอกลับมาบ้านเขาจึงมาสร้างแปลงดอกไม้แทนหลุมในจานผสมสี เขาทำแปลงดอกไม้จำนวน 38 แปลงไว้หน้าบ้าน และเรียกแปลงดอกไม้เหล่านี้ว่า paint box เขาให้แปลงดอกไม้ 38 แปลงนี้เป็นเหมือนจานผสมสี ใช้มันทดสอบสีและนิสัยของดอกไม้แต่ละอย่างให้ได้คอนเซ็พท์แน่นอนก่อนว่ามันจะให้สีให้อารมณ์ภาพแบบไหนได้บ้าง  ก่อนที่จะเอามันลงปลูกในสวนจริงๆซึ่งเสมือนเป็นขั้นตอนการแต้มแต่งสีลงบนผ้าใบ การวิเคราะห์ภาพถ่ายที่มีการถ่ายไว้ในช่วงเวลาต่างๆในอดีต ทำให้รู้ว่าลูกเล่นอันหนึ่งซึ่งโมเนต์ชอบใช้สร้างอารมณ์ภาพของผ้าใบที่มีชีวิตของเขาก็คือปลูกพืชชนิดเดียวกันแต่มีหลายเฉดสีลงในพื้นที่เดียวกัน แล้วรอให้มันออกดอกมาพร้อมๆกัน มันก็จะให้ผลเหมือนการป้ายพู่กันไล่เฉดสีบนผ้าใบวาดภาพ เมื่อได้ไอเดียที่แจ่มชัดดีแล้ว เขาก็นำไอเดียนั้นไปเขียนภาพจริง

คนกลุ่มแรกที่ชื่นชอบศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์คือคนอเมริกัน พอขายรูปให้คนอเมริกันได้มากขึ้น เขาก็มีเงินพอที่จะซื้อที่ดินขยายสวนและสร้างสวนน้ำ พอได้สวนน้ำก็ทำให้รู้จักบัว แล้วก็บ้าบัวอยู่พักใหญ่ ถึงขนาดพยายามทำน้ำให้อุ่นเพื่อให้บัวทนอากาศเย็นได้ แต่ก็ไม่ได้ผลและต้องเลิกไป

หลังจากโมเนต์ตายในปี 1926 สวนนี้ถูกทิ้งร้างจนถึงระดับกลายเป็นพงหญ้ารกแบบถาวรอยู่นานหลายสิบปี การฟื้นฟูสวนนี้เป็นผลงานของ Gerald Van der Kemp ผู้เคยแสดงฝีมือหาเงินฟื้นฟูแวร์ซายมาแล้ว เงินจำนวนมากในการฟื้นฟูสวนนี้มาจากชาวอเมริกันเพราะพูดก็พูดเถอะ คนอเมริกันเป็นคนพวกแรกที่ดูภาพอิมเพรสชั่นนิสซึ่มเป็นตั้งแต่สมัยที่คนฝรั่งเศสยังไม่เดียงสาเรื่องนี้เลย ในการฟื้นฟูสวนนี้ได้หัวหน้าคนสวนคือ Gilbert Vahe ซึ่งได้ทำการสืบค้นศึกษาภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายไว้ช่วงปี 1960 ศึกษาเอกสารและรูปถ่ายต่างๆ และศึกษาบันทึกของพ่อค้าเมล็ดพันธ์ที่ค้าขายกับโมเนต์จนเข้าใจถ่องแท้ถึงเรื่องราวและชนิดของพืชที่โมเนต์ปลูกที่นี่ในแต่ละฤดูของแต่ละปีจึงเริ่มการฟื้นฟูสวน Vahe เล่าไว้ในโบรชัวร์ของสวนว่า

          “ผมยังยึดแนวทางการเลือกสีของโมเนต์อยู่เหมือนเดิม ตรงมุมมืดใต้เงาไม้ใหญ่ที่มีแดดส่องรำไรลงมา ต้องเปิดด้วยดอกไม้ที่เหมือนแต้มสีขาวเหลืองสว่างๆ ลงบนพื้นสีเขียวทึบ นี่เป็นการเล่นแสงและเงาที่เขาทำมาและต้องทำต่อไป” 
       
เช้าวันนี้เราจะไปดูฝีมือการทำสวนของ Monet และ Vahe กัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์