Latest

ตอนหมอสันต์อยู่ป.2 แม่ต้องมัดดินสอห้อยคอ

เรียน คุณหมอที่เคารพ

ก่อนอื่นต้องขอ ขอบคุณ คุณหมอ สำหรับบทความดีๆ เรื่องราวสาระที่นำเสนอผ่าน Blog ของคุณหมอ ผมมีโอกาสเข้าไปอ่านอยู่เรื่อยๆ และพยายามนำมาปรับใช้กับตัวเองและครอบครัว

ตอนนี้ผมมีลูกชายวัย 7 ขวบ (ป. 2) และลูกสาว วัย 3 ขวบ ปัญหาที่ผมจะรบกวนขอคำแนะนำนั้น เกี่ยวกับลูกชาย วัย 7 ขวบครับ ลูกคนโตนี้โดยรวมแล้วเป็นเด็กดี เชื่อฟังพ่อแม่ได้ดีในระดับหนึ่ง รักน้องสาว ชอบคุย ชอบเล่น แต่ปัญหาที่พบอยู่ที่การเรียน ซึ่งเขายังขาดความรับผิดชอบ ไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จได้ ไม่สนใจเรียน ไม่รักษาของใช้ที่ติดตัวไป เช่น ดินสอ ยางลบ กระติกน้ำ หายเป็นประจำ ตามหาเจอบ้างไม่เจอบ้าง การบ้านทำไม่เสร็จ เสร็จแล้วลืมส่ง เป็นต้น ผมไม่ได้คาดหวังเรื่องเรียนเก่งเรียนดี เกียรตินิยมพวกนี้ แต่ยอมรับว่าตัวเองคาดหวังให้เขาเป็นคนมีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับ งานที่ต้องทำได้  (คุณหมอเคยสอนผ่านบทความไม่ให้คาดหวัง ให้สร้างม้อตโต้ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น … ผมเองอาจจะยังทำใจไม่ได้ในจุดนี้…) ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของเขาเมื่อโตขึ้นไป
  ผมจึงอยากขอรบกวนคุณหมอ ช่วยแนะนำแนวทางแก้ปัญหาให้ผมทีครับ บางทีอาจจะไม่ใช่ปัญหาของลูก แต่อาจจะเป็นปัญหาในการเลี้ยงดูลูกๆของผมเองก็ได้…

 ถ้าผมจำเป็นต้องไปพบคุณหมอหรือนักจิตแพทย์เฉพาะด้าน หรือมีค่าใช้จ่ายใดๆ รบกวนคุณหมอแจ้งและแนะนำด้วยนะครับ ขอบคุณมากๆครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง
(ชื่อ) ……………..
(เบอร์โทร)………

……………………………………………………
ตอบครับ
ก่อนจะตอบคำถามขอป่าวประกาศก่อนว่าหมอสันต์ไม่ใช่หมอเด็กนะ คนเป็นหมอเด็กคือ ม. ของหมอสันต์ต่างหาก จึงขอป่าวประกาศมาเพื่อป้องกันความสับสน เพราะหลังๆนี้ชักมีจดหมายถามเรื่องเด็กมาแยะ แม้จะไม่ได้ตอบให้ก็ขยันถามมา จนหมอสันต์รู้สึกผิดนิดๆ จึงขอบตอบให้บ้างละกัน 
     1. ถามว่าเด็กป.2 ไม่รู้จักรักษาของใช้ที่ให้ติดตัวไปโรงเรียนจะทำไงดี ตอบว่าตัวหมอสันต์เองเนี่ย ตอนอยู่ ป.2 มีสมบัติติดตัวไปโรงเรียนสามชิ้น คือหนังสือ สมุด กับดินสอที่มียางลบติดปลาย หนังสือกับสมุดนั้นไม่มีปัญหาเพราะเลิกเรียนก็จับยัดเสื้อ ไม่ใช่เป้สะพายหลังนะ แต่ยัดเข้าไประหว่างผิวหนังของแผ่นหลังกับเสื้อเชิร์ตสีขาวแก่ หนังสือกับสมุดมันก็จะไปล็อกอยู่ที่เข็มขัดเพราะเสื้อมันยัดชายอยู่ พอกลับถึงบ้านก็ถอดเสื้อออก หนังสือกับสมุดมันก็จะหล่นออกมาแบบอัตโนมัติ แต่..ดินสอหาย เป็นเช่นนี้ประจำ ในที่สุดแม่ของผมต้องมัดดินสอห้อยคอให้ แล้วผมจะช่วยอะไรคุณได้ไหมเนี่ย  ขนาดแม่มัดดินสอห้อยคอให้แล้วก็ยังหายได้อีกเป็นครั้งคราวนะ เพราะเวลาเล่นตี่จับเพื่อนกระชากคอเสื้อ ดินสอติดมือไปแล้วไปเลยไม่ยอมคืน แต่ยังไงก็ต้องนับว่าวิธีของแม่ผมได้ผล ดังนั้นผมตอบคุณว่าก็ลดสมบัติที่จะให้เขาเอาไปโรงเรียนลงให้เหลือน้อยชิ้นที่สุดสิครับ แล้วมัดติดตัวเขาไว้ (หิ หิ)
     2. ถามว่าลูกอยู่ป.2 ไม่ทำการบ้านจะทำไงดี ก่อนตอบคำถามนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ เรื่องการบ้านเด็กป.2 เนี่ยแหละ สมัยที่ผมเป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่รพ.เลิดสิน ประมาณพ.ศ. 2523 ก็สามสิบกว่าปีมาแล้ว เวลาอยู่เวรห้องฉุกเฉินจะมีเจ้าหน้าที่อยู่กันสามคนคือหมอเวรหมายถึงตัวผมเอง พยาบาล และยามซึ่งมีไว้ปลดปืนออกจากคนไข้เพราะคนไข้สมัยนั้นชอบพกปืนมาห้องฉุกเฉิน ยามจึงต้องมีคุณสมบัติรูปร่างใหญ่ถนัดใช้มือใช้เท้าและห้าวๆหน่อย ยามคนนี้แกมีลูกเรียนป.2 แล้วลูกแกเอาการบ้านมาให้แกทำ แกทำไม่ได้ ก็เลย ว. (วิทยุสื่อสาร)ไปถามยามอีกคนหนึ่งซึ่งเฝ้าประตูหน้ารพ.และมีลูกเรียนชั้นเดียวกัน ยามคนนั้นก็ทำการบ้านข้อนี้ให้ลูกเขาไม่ได้เหมือนกัน แกก็จึงหาจังหวะเห็นพยาบาลว่างๆก็เอาการบ้านป.2 ถามพยาบาล พยาบาลก็ทำไม่ได้จึงเอาการบ้านมาปรึกษาผมอีกต่อหนึ่ง ท่านผู้อ่านเชื่อหรือไม่ครับ ผมก็จนปัญญาทำไม่ได้ ผมแก้เขินยังไงรู้ไหมครับ เปล่า..ผมไม่ได้ปรึกษาแพทย์ประจำบ้านดอก ผมร้องบอกยามที่เป็นพ่อเด็กด้วยเสียงดังว่า
     “ครูบ้า”
     (อุ๊บ..กราบขอโทษครับคุณครู)
     กลับมาเรื่องลูกของคุณไม่ยอมทำการบ้านดีกว่า ผมแนะนำว่า
     1. คุยกับเขาดีๆก่อน สั้นๆ ตรงๆ ง่ายๆ ก่อน ถ้าลูกลืมเอาของไปโรงเรียน ลูกจะไม่มีของใช้นะ ถ้าลูกไม่ทำการบ้าน ลูกจะถูกครูทำโทษนะ สะเต็พนี้ง่ายมาก พ่อแม่คนไหนเขาก็ทำกัน และทำได้ทั้งนั้น
     2. ความรับผิดชอบเป็นทักษะ (skill) ซึ่งต้องมีการสอน สาธิตให้ดู แล้วให้ลงมือทำภายใต้การกำกับ เขาถึงจะทำเป็น มันไม่ใช่ความรู้ (knowledge) ที่เพียงแค่บอกแล้วเขาจะเก็ทเอาไปใช้ได้ ดังนั้นคุณต้องสอนและต้องกำกับเขาก่อน ตัวอย่างเช่นการจะสอนการทำงานเป็นขั้นเป็นตอนให้เขา คุณก็สอนให้เขาทำ mental check list เช่น ก่อนขึ้นรถก็ให้เขาไล่เช็คลิสต์ในใจด้วยเสียงอันดังให้พ่อแม่ฟังว่า (1.) สมุด มายัง (2.) ดินสอ มายัง (3.) หนังสือ มายัง เป็นต้น เขาทำได้เราก็แสดงความชื่นชม เขาไม่ทำเราก็ยังไม่ออกรถ คือเราต้องลงไปเล่นกับเขาให้มันจริงจัง สะเต็พนี้เป็นสะเต็พที่มีประโยชน์กับเด็กชั่วชีวิต แต่ไม่มีพ่อแม่คนไหนทำ รวมทั้งตัวหมอสันต์สมัยมีลูกเล็กก็ไม่ได้ทำ เพียงแต่มารู้ว่าควรจะทำเอาเมื่อลูกโตแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นผมเคยได้ยินแต่ว่าพ่อแม่บางคนออกรถโดยที่ลูกยังอยู่ในห้องส้วม เพราะนึกว่าลูกนั่งอยู่หลังรถแล้ว พูดง่ายๆว่าตัวพ่อแม่เองยังทำเมนทอลเช็คลิสต์ไม่เป็นเลย อย่าลืมว่าการทำเม็นทอลเช็คลิสต์เป็นทักษะที่ต้องใช้ชั่วชีวิต ยิ่งไปมีอาชีพการงานที่ใช้สมองมากสลับซับซ้อนยิ่งต้องท่องเช็คลิสต์ทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นงานผ่าตัดหัวใจหรืองานขับจรวดไปดวงจันทร์ ดังนั้นตอนนี้ลูกของคุณยังเล็กก็ทำซะ ยังไม่สาย
     3. ให้เขาหัดรับมือ (cope) กับผลงานห่วยๆของเขาด้วยตัวเขาเอง อย่าไปทำอะไรให้เขา อย่าไปช่่วยเขา เขาไม่ทำการบ้าน ปล่อยให้เขาไปโดนครูอัดเอง เวลาเขาโดนครูอัด อย่าตามไปปกป้อง แต่ให้ความเห็นใจแบบพวกเดียวกันโดยไม่ซ้ำเติมว่าครั้งหน้าเราตั้งใจทำซะหน่อยละกันจะได้ไม่โดนอัด เขาลืมของ อย่าขับรถกลับมาเอาของให้เขา เวลาสอนการบ้าน ให้เขาถามก่อนจึงค่อยอธิบาย โดยต้องเป็นการอธิบายแบบท้าทายให้เขาคิดต่อเอาเอง ไม่ใช่ไปทำแทนเขา ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะสอบตก สอบตกก็ซ้ำชั้น ซึ่งก็ยิ่งดี เขาจะได้มีวุฒิภาวะที่แมทช์กับภาระงานที่ได้รับมอบหมาย เราจะได้ไม่ปวดหัวไม่รู้จบ จบช้ากว่าเพื่อนไปสองสามปีก็ไม่เป็นไรหรอก สมัยผมเป็นผู้อำนวยการรับเด็กจบมหาลัยมาแล้วต้องรออีกไม่ต่ำกว่าสามปีห้าปีกว่าเขาหรือเธอจะ cope กับความรับผิดชอบของตัวเองได้ ดังนั้นช้าตอนเด็กดีกว่ามาช้าเอาตอนเป็นผู้ใหญ่ การฝึกทักษะการรับมือ (coping skill) เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำให้ลูก แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ทำ ยิ่งไปกว่านั้นยังไปบล็อกการเสริมสร้างทักษะในการรับมือของลูกเสียฉิบ ด้วยการเข้าไปช่วยทำ ไปปกป้อง ฝรั่งเรียกว่า helicopter parents คือพ่อแม่ที่ทำตัวเป็น ฮ.ลาดตระเวณคุ้มกันลูก ครูให้เกรดบี.ก็ไปเอ็ดครูว่าทำไมลูกฉันไม่ได้เอ. ซึ่งทำเช่นนั้นสิ่งที่เด็กจะได้มาแทนทักษะการรับมือกลับได้อัตตาปลอมๆว่ากูแน่ (ทั้งๆที่กูไม่เอาไหน) มาแทน ซึ่งเป็นอะไรที่จะทำลายชีวิตของลูกในวันข้างหน้าไปอีกนาน..น มาก คุณต้องไม่สอนให้ลูกสนใจเรื่องศักดิ์ศรีซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระและพาชีวิตล่มจม แต่ต้องสอนให้ลูกสนใจเรื่องฝีมือ ซึ่งเป็นเรื่องมีสาระที่จะนำพาชีวิตลูกให้รุ่งเรือง
     รู้สึกผมจะตอบคำถามคุณหมดแล้วนะ แถมท้ายนิดหนึ่ง ว่าพ่อแม่เป็นคนสำคัญเหลือเกินที่จะวางพื้นฐานชีวิตที่ดีให้ลูก ชีวิตที่ดีไม่ใช่ชีวิตที่มีการศึกษาจบปริญญาสูงๆอะไรแบบนั้น แต่ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ดำเนินไปอย่างมีความสุขและมีคุณค่าต่อสังคม ตัวคุณเองในฐานะพ่อแม่ชัดเจนหรือยังว่าอะไรนำมาซึ่งความสุขในชีวิต และคุณสามารถลงมือใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ด้วยตัวเองหรือยัง ใช่..เราพูดถึงความสุขในวันนี้นี่แหละ ถ้าคุณยังไม่ชัด หรือคุณยังไม่รู้ หรือคุณยังทำไม่เป็น ลูกของคุณก็ไม่มีวันจะรู้ได้หรอก ยกเว้นถ้าตอนตั้งท้องแฟนคุณฝันว่าช้างเผือกเอาดอกบัวมายื่นให้ (เพราะลูกคุณจะตรัสรู้เองได้ไง.. หิ หิ) คุณจะต้องรีบหัดใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในวันนี้ด้วยตัวเองให้เข้าใจชัดเจนก่อน โดยในการหัดนี้ก็เอาลูกเข้ามาหัดไปด้วยพร้อมๆกัน ถือว่ายังไม่สาย เพราะลูกคุณยังไม่ถูกโปรแกรมความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการมีความสุขเข้าไปในสมองมากนัก เขาจะหัดได้ง่ายกว่าคุณ สำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ยังไม่มีลูก หากตัวเองยังไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตในวันนี้อย่างไรให้มีความสุข ผมว่าอย่ามีลูกเป็นดีที่สุดครับ เพราะเตี้ยไม่อาจจะอุ้มค่อมได้ฉันได การมีลูกของคุณก็จะเป็นฉันนั้น
ปล. เรื่องการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในวันนี้ ถ้าคุณสนใจลองอ่านที่ผมตอบจดหมายท่านผู้อ่านท่านหนึ่งเมื่อวันสองวันมานี้ เรื่องการปรับเปลี่ยนอาหารและออกกำลังกายไม่สำเร็จหรืออะไรเนี่ยแหละ ผมพูดถึง Pleasure Trap และเครื่องมือเจ็ดอย่างที่ผมใช้เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง นั่นเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของผม คุณจะลองเอาไปประยุกต์ใช้ดูก็ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์