Latest

เป็นหมอแล้วกลัวถูกฟ้อง อยากไปเป็นนักบิน

เรียน อ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
        สวัสดีครับ อ ผมติดตามงาน อ มาสาม-สี่ปีแล้วครับ  เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสขอรบกวน อ ครับ ผมเป็นแพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 แล้วครับ อยู่ จ. … ครับ จึงมีความกังวลเรื่องการเรียนต่อ เพราะถ้าถามตัวเอง ไม่ค่อยชอบเรื่อง major ward ครับ แต่ทำงานก็พอไปได้ครับ
       ผมได้หาสาขาแพทย์ที่่สนใจและเจอกับสาขาใหม่ที่เพิ่งเปิดครับ จึงกราบเรียนถามความรู้เล็กๆน้อยๆครับ
1 Travel medicine มีความน่าสนใจ หรือการเรียน การทำงานเป็นในแนวทางไหนครับ
2 สาขาอื่นๆ ที่ผมสนใจคือ สาขาจิตเวช หรือ X ray น่าจะรุ่งกว่าไหมครับ หรือ
3 Pilot หรือนักบินเนี่ยแหละครับ  ผมอยากเป็นนักบิน ตั้งแต่แอดมิชชั่น แต่ตอนนั้น มืดแปดด้าน อายุไม่ถึง และครอบครัวแนะนำแพทย์เลยมาเรียนจนจบอะครับ การที่ผมเปลี่ยนสายอาชีพไปเลย อ ว่าเวิร์คไหมครับ ผมมองว่าถ้าสมัครเรียนนักบินมันก็ใช้เวลาพอๆกับการเรียนต่ออะครับ แถมไม่ต้องอยู่เวรอดหลับอดนอน เสี่ยงต่อการฟ้องร้องที่มากขึ้นในปัจจุบันด้วยครับ
ปัญหาผมอาจจะดู basic แต่ยังไงก้ขอโทษที่รบกวนเวลาครับ
ขอบคุณมากครับ

………………………………………………..

ตอบครับ

มีจดหมายหมอรุ่นใหม่ถามเรื่องอยากทิ้งอาชีพแพทย์ไปเรียนเป็นนักบินเข้ามาแล้วสองราย ถือว่าได้รวบตอบเสียในคราวนี้คราวเดียวนะครับ

     เรื่องที่ 1. ระหว่างอาชีพแพทย์กับอาชีพนักบิน

     เอกลักษณ์งานแบบของแพทย์ พยาบาล นักกายภาพ แพทย์แผนไทย หรือผู้ดูแลคนป่วยเรื้อรัง มันเหมือนกันตรงที่เป็นงานเอ็กเซอร์ไซส์เมตตาธรรม คือต้องรับฟังความเดือดร้อนของคนอื่น แสดงความเห็นใจ และใส่ใจลงมือช่วยเหลือ แล้วมีความสุขกับการได้ทำเช่นนั้น ส่วนในแง่วิธีคิดวิธีทำงานของแพทย์นั้น มันเป็นการคิดเพื่อวินิจฉัย ซึ่งมีลักษณะว่าต้องคิดเสาะหารายละเอียดให้มากเข้าไว้เพราะข้อมูลทางการแพทย์นั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยมากและยืดหยุ่นได้มาก การละเลยข้อมูลหรือร่องรอยเพียงเล็กๆน้อยๆก็อาจทำให้วินิจฉัยผิด ไม่ค่อยมีความกดดันเรื่องเวลายกเว้นงานศัลยกรรมบางสาขา คือเคสไหนที่ยากๆตอนนี้ยังคิดไม่ออกก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนแล้วเก็บเอาไปคิดต่อที่บ้านก็ยังได้ การตัดสินใจก็ไม่มีแรงกดดันมากเพราะการตัดสินใจรักษาของแพทย์แม้จะยึดมั่นตามมาตรฐานหลักวิชา แต่ในนั้นไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งมีธรรมชาติเป็นการลองผิดลองถูก ลองแบบนี้ไม่ได้ผลก็เปลี่ยนไปลองแบบนั้น

     ส่วนงานของนักบินนั้นเป็นการตัดสินใจภายใต้ภาวะกดดันของเวลาเพื่อทำภาระกิจระยะสั้นให้สำเร็จ คือเป็นงานที่ต้องเปิดรับเซนเซชั่นทุกทางขณะทำงาน ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง สัมผัสต่างๆ ต้องจดจ่อท่องอยู่ในใจตลอดเวลาว่าตัวเองพาเครื่องมาจากไหน กำลังจะไปไหน ตอนนี้อยู่ที่ไหน กำลังมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง การคิดก็เป็นการคิดเพื่อตัดสินใจในเวลาจำกัด ต้องจับแต่สาระสำคัญ ตัดรายละเอียดปลีกย่อยทิ้งแล้วตัดสินใจในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่กดดันและเครียดเพราะลักษณะงานก็เป็นความเครียดโดยตรงอยู่แล้ว คือเตรียมพร้อมในภาวะถูกสิ่งเร้าคุกคาม ดังนั้นคนจะไปทำอาชีพแบบนี้ต้องเป็นคนที่ทนแรงกดดันได้สูงแต่ขณะเดียวกันเมื่อพ้นสภาพกดดันแล้วก็ต้องสามารถผ่อนคลายตัวเองได้ทันที เหมือนแมวที่เวลาปกติมีบุคลิคขี้เกียจเซื่องๆนอนอยู่ในหวด แต่นานๆครั้งเวลามีอะไรขึ้นมาก็กลับเคลื่อนไหวทำการได้อย่างรวดเร็ว ในแง่ของการยุ่งเกี่ยวกับคนอื่น นักบินไม่ต้องยุ่งกับคนอื่นในลักษณะต้องรับฟังใส่ใจให้ความเห็นอกเห็นใจใครมากมายอย่างหมอ แต่เป็นการยุ่งเกี่ยวในลักษณะการเป็นผู้นำ (leadership) ในภาวะวิกฤติ คือควบคุม บังคับ สั่งการ มอบหมายงาน มากกว่า

     ทั้งสองอาชีพมีความแตกต่างกันมากพอควร คุณหมอต้องประเมินว่าตัวเองเหมาะที่จะทำงานแบบไหนแล้วตัดสินใจเลือกเองเพราะไม่มีใครรู้ดีกว่าตัวเองว่าตัวเองเหมาะกับงานแบบไหน

     แต่คำแนะนำของผมก็คือการจะมีอาชีพอะไรนั้นไม่สำคัญ ขอให้เป็นอาชีพสุจริต เป็นสัมมาอาชีพ แต่สำคัญที่เราจะต้องรู้วิธีใช้ชีวิตให้ตัวเองมีความสุข ผมอยากให้เวลาคุยกับคุณหมอตรงนี้มากกว่า เพราะอาชีพเป็นเพียงมรรควิธีหนึ่งในหลายๆวิธีที่จะพาเราไปสู่เป้าหมายปลายทางของการเกิดมามีชีวิต ซึ่งนั่นก็คือการมีความสุขในชีวิต แต่คนมักเข้าใจว่าเราควรใช้ชีวิตในวันนี้ในลักษณะเตรียมการสร้างความสุขให้แก่เราในวันหน้า คือไปมองว่าความสุขเป็นธงชัยที่ปักอยู่ข้างหน้าโน้น แต่ในความเป็นจริงคือ “ความสุขเป็นสถานะของจิต (state of mind)” ซึ่งจะปรากฏแก่เราเฉพาะที่นี่เดี๋ยวนี้เท่านั้น ขยายความตรงนี้นิดหนึ่ง สถานะของจิตไม่ใช่ความคิดนะ สถานะของจิตหมายความถึงความตื่นรู้ของเราหรือจิตหรือวิญญาณ (concsiousness) ของเรา ที่จะปรากฏแก่เราเฉพาะ ณ ขณะนี้เท่านั้น มันปรากฏแก่เราได้ในสองสถานะ คือถ้ามันถูกครอบด้วยขยะเช่นความง่วงซึมหรือความคิดลบต่างๆตัวมันจะมีความหนัก ทึบ ตื้อ เชื่องช้า ซึม เราเรียกว่ามันเป็นจิตที่ไม่ดี หรืออยู่ในสถานะที่ไม่ดี แต่ถ้ามันไม่ง่วงไม่ถูกครอบด้วยความคิด มันจะเป็นตัวของมันเองโดยธรรมชาติคือจะมีความบางเบา แหลมคม คล่องแคล่ว ว่องไว พร้อมใช้งาน และมีความร่าเริงเบิกบาน เราเรียกว่ามันเป็นจิตที่ดีหรืออยู่ในสถานะที่ดี ความสุขก็คือสภาวะในปัจจุบันที่จิดแหวกหลุดพ้นออกมาจากขยะความคิดที่ครอบมันมาอยู่ในสถานะจิตที่ดีได้ ดังนั้นความสุขจึงไม่ใช่สิ่งที่จะไปหาเอาในอนาคต เพราะจิตของเราปรากฏแก่เราในปัจจุบันเท่านั้น แต่ความสุขจะได้จากการรับรู้สถานะของจิตตัวเอง ณ ขณะนี้ ซึ่งต้องอาศัยทักษะสี่อย่างคือ

(1) มีทักษะที่จะย้อนดู (recall) ความคิดใดๆในใจเราที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ

(2) มีทักษะที่จะเฝ้ามองความคิดนั้น จนความคิดนั้นฝ่อหายไป หมายความว่า aware of a thought คือเฝ้าดูจากภายนอกนะ ไม่ใช่เข้าไปคลุกเคล้าผสมโรงคิด คือไม่ใช่ thinking a thought สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน คุณหมอต้องตีให้แตก

(3) มีทักษะที่จะดึง (re-orientation) ถอนเอาความสนใจของเราจากความคิดที่สลายตัวไปแล้ว มาตั้งหลักอยู่กับหลักจอดที่ใดที่หนึ่งในปัจจุบันขณะ ซึ่งหลักจอดที่ใช้การได้ง่ายที่สุดก็คือลมหายใจของเราเอง

(4)  มีทักษะที่จะมองออกจากหลักจอดไปดูสถานะของจิตของตัวเองในยามที่ใจเราว่างจากความคิดแล้ว มองครั้งแล้วครั้งเล่า เห็นสถานะของจิตตัวเองที่เปลี่ยนไปครั้งแล้วครั้งเล่า มองเมื่อไหร่ ก็เห็นเมื่อนั่น

     ด้วยเทคนิคทั้งสี่อย่างนี้ ท้ายที่สุดขยะคือความคิดที่ห่อหุ้มจิตอยู่ก็จะเบาบางลงจนจิตหลุดลอดออกไปอยู่ในสถานะที่ดีได้ นั่นก็คือมีความสุข ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในขณะปัจจุบันนี้เท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องเข้าใจว่าคำว่า “ปัจจุบัน” ก็เหมือนนาฬิกาที่ ติ๊กตอก..ติ๊กตอก..ติ๊กตอก เหมือนจะเลื่อนไปข้างหน้าตลอดเวลา แต่หากเราจะมองหาความสุข เราต้องมองเฉพาะติ๊กตอกสุดท้ายหมาดๆที่เป็นปัจจุบันขณะเท่านั้น

      เรื่องที่ 2. Travel medicine เป็นสาขาใหม่ที่ประมาณว่า..งอกรากแตกแขนงมาจากเวชศาสตร์ป้องกัน (ระบาดวิทยา)ที่แยกย่อยไปเรียนเฉพาะเรื่องโรคอุบัติใหม่และโรคติดต่อข้ามแดน สาขานี้ในอเมริกาและยุโรปไม่มีนะครับ คุณไม่ต้องไปถามหา มีแต่ในเมืองไทยนี่แหละ ผมเข้าใจว่าความที่โรคติดต่อข้ามแดนสมัยนี้มีบ่อยจนกลายเป็นภาระกิจใหญ่ของกรมควบคุมโรค แต่ยังไม่มีใคร “เล่น” เรื่องนี้จริงจัง กรมควบคุมโรคจึงเป็นแรงสนับสนุนด้านหนึ่งให้เกิดสาขานี้ขึ้นมา อีกด้านหนึ่งคือคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ซึ่งผมรู้สึกว่าเขากำลังสะบัดแข้งสะบัดขาหาตัวตนใหม่ของตัวเองอยู่ โดยที่เดิมนั้นเขามีความเจนจัดในเรื่องโรคเขตร้อน มีความใกล้ชิดกับ WHO และ CDC ของสหรัฐเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การจะกางแขนกางขาไปเล่นเรื่องโรคอุบัติใหม่และโรคติดต่อข้ามแดนสำหรับเขาก็จึงไม่ใช่เรื่องยาก เวชศาสตร์เขตร้อนจึงเป็นสถาบันฝึกอบรมหลักของสาขานี้ เนื้อหาแกนกลางก็เป็นระบาดวิทยา เช่นการวิจัยอุบัติการ ความชุก การเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค เพียงแต่เน้นโรคอุบัติใหม่และโรคติดต่อข้ามแดน โดยแพทย์ประจำบ้านก็ได้ประสบการณ์จากคลินิกนักท่องเที่ยว (แนะนำก่อนท่องเที่ยว หลังท่องเที่ยว และให้บริการฉีดวัคซีน) ค่ายผู้อพยพ และสถานที่เสี่ยงต่อโรคข้ามแดนเช่นกีฬาโอลิมปิก พิธีฮัจจ์ และเพื่อให้ครอบคลุม travel โดยสมบูรณ์ก็ต้องเรียนเกี่ยวกับเวชศาสตร์การปีนเขาขึ้นที่สูง การดำน้ำประดาน้ำ การผจญกับอาหารใหม่ วัฒนธรรมใหม่ เวชศาสตร์การบิน ซึ่งรวมไปถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการเดินทางข้ามเขตเวลา (time zone) และการออกหนังสือรับรองว่าพร้อมขึ้นเครื่องบินได้ (fit for flight) เป็นต้น ฟังดูเหมือนแยะ แต่ความจริงไม่แยะหรอก เพราะเป็นเรื่องที่หมอคนไหนก็ตามที่ทำงานเกี่ยวกับคนเดินทางข้ามแดนต้องรู้ทั้งสิ้น ตัวผมเองไม่ได้เรียนสาขานี้แต่ก็พอรู้เรื่องพวกนี้อยู่บ้างเพราะคนไข้ของผมจำนวนราวสิบเปอร์เซ็นต์เป็นคนต่างชาติต่างภาษา ในการเรียนนอกจากการอยู่ประจำคลินิกนักท่องเที่ยวและแหล่งนัดพบโรคข้ามแดนที่กล่าวไปแล้ว ผู้เข้าฝึกอบรมยังต้องหมุนเวียนไปตามวอร์ดที่มีโรคติดเชื้อ เช่นอายุรกรรมที่รพ.ราชวิถีบ้าง กุมารเวชที่สถาบันเด็กฯบ้าง ซึ่งแน่นอนก็ต้องมีการอยู่เวรเหมือนกัน

      แต่ก่อนจะสมัครไปเรียนต้องยอมรับก่อนนะว่าเขาบังคับให้เรียน Master degree of Clinical Tropical Medicine หรือ MCTM ซึ่งเรียนกันเป็นภาษาอังกฤษ เสียเงินเองด้วย (ราวหนึ่งแสนบาท) เพื่อนร่วมชั้นเรียนหลักสูตรนี้มีหลายชาติหลายภาษา ดังนั้นภาษาอังกฤษต้องแข็งนะ ไม่งั้นเครียด ถ้าจะเรียนจริงผมแนะนำให้ไปสอบ IELTS หรือ TOEFL ก่อน ถ้ากึ๋นภาษาอังกฤษสั้นผมแนะนำว่าไปเรียนสาขาอื่นดีกว่า

     ส่วนการทำงานนั้น ณ วันนี้แหล่งที่จะรับเข้าทำงานพอจะมีอยู่สามแหล่ง คือ (1) กรมควบคุมโรค ซึ่งผมเข้าใจว่าต้องเข้าไปขอทุนให้เขารับเป็นต้นสังกัดให้เสียตั้งแต่ก่อนเข้าฝึกอบรม (2) อายุรศาสตร์เขตร้อนเอง ที่จะรับเอาคนหน่วยก้านดีๆไว้เป็นอาจารย์สาขานี้ต่อไป (3) โรงพยาบาลเอกชนที่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว ที่หากมีหมอเฉพาะด้านนี้ก็จะยินดีเปิด Travel Clinic ขึ้นบริการลูกค้าอย่างแน่นอน เพราะคลินิกแนะนำก่อนและหลังการท่องเที่ยวนี้เขาทำกันทั่วโลก จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่าในอนาคตเมืองไทยซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวก็ต้องมีคลินิกแบบนี้ขึ้นกับเขาบ้าง

     พูดถึงอายุรศาสตร์เขตร้อน หมอไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จัก เพราะที่นั่นเป็นเมืองลับแล การจะเรียนสาขานี้ต้องไปเรียนที่อายุรศาสตร์เขตร้อน จึงควรเข้าใจ culture ของอายุรศาสตร์เขตร้อนไว้บ้าง ที่นั่นเขามีธรรมชาติเป็นอินเตอร์ คือมีหมอหลายชาติหลายภาษามาเรียนมาทำงานหรือทำวิจัยอยู่ด้วยกัน ต้องพูดภาษาอังกฤษมาก นั่นเรื่องหนึ่ง และที่นั่นเขาให้ความสำคัญกับการวิจัยและข้อมูลสถิติ ทุกคนต้องสนุกกับการทำวิจัย นั่นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าไม่สันทัดสองเรื่องนี้ ไปอยู่กับเขาก็จะเป็นคนแปลกๆ

     เรื่องที่ 3. การเป็นจิตแพทย์กับเป็นหมอเอ็กซเรย์ ทั้งสองสาขานี้เป็นสาขาที่แพทย์ทุกคนรู้จักดีอยู่แล้วเพราะเป็นสาขามาตรฐาน ผมคงไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติมให้คุณหมอมาก การจะตัดสินใจว่าจะไปเรียนดีหรือไม่ก็อยู่ที่การเทียบนิสัยความชอบของตัวเองกับเอกลักษณ์ของแต่ละสาขาแล้วตัดสินใจเอง

     ผมตอบคำถามคุณหมอครบแล้วนะ  ก่อนจบบทความนี้ขอย้ำที่ผมพูดไปแล้วอีกที ว่า

     “..การจะมีอาชีพอะไรนั้นไม่สำคัญ ขอให้เป็นสัมมาอาชีพ แต่สำคัญที่การจะต้องรู้ว่าใช้ชีวิตอย่างไรตัวเองจึงจะมีความสุข…”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

………………………………………………………………

จดหมายจากท่านผู้อ่าน

Ream Techasophonmani

ฟังอาจารย์ คุณหมอสันต์ เฉลยความคิดให้คุณหมอว่าที่อยากเป็นนักบินแล้ว ให้ชื่นชมความลึกในคำตอบ ที่พยายามจะให้ผู้อ่านได้มองเห็นว่าแท้จริงแล้ว ความคิด ชีวิต ความสุข อาชีพ ที่ผสมผสานเข้าด้วยกันนั้น มันไม่ใข่ เรื่องใหญ่โตให้ขบคิด ตัดสินใจ ตลอดจนเลือกหนทางเดินไปข้างหน้า

…สำหรับผู้มีอายุผ่านเวลาเดินทางชีวิตมายาวนานพอควร ใคร่เรียนขอแสดงความคิด ดังนี้ค่ะ

…ชีวิตคือการเดินทาง หากเราไม่รู้จุดหมายที่จะไป เราอาจเดินวกวน อ้อมไปอ้อมมา เสียเวลา อาจเสียทางแล้วหลงเข้าป่าไปเลย จุดหมายจึงเป็นสิ่งสำคัญ จุดหมายที่ว่านี้ คือเป้าหมายสูงสุดของชีวิตที่ไฝ่ฝันถึง มันเป็นนามธรรม..ยากที่จะเข้าใจ บางคนจนเกษียนยังไม่รู้เลยว่า ต้องการอะไร จึงมักพูดว่า…รู้ยังงี้..ฉันจะ..ไม่เรียนมาทางนี้ สู้ไปเป็นอย่างอื่นดีกว่า โดยส่วนใหญ่ คนเรามักจะคิดและให้ความสำคัญกับ อาชีพหรือการงานมากเสียจน ยึดเป็นหลักชัยหรือ จุดหมายปลายทางของชีวิตทีเดียว ดิฉันคิดว่าท่าน
มองไกลเกินไป จนมองไม่เห็น ความจริงตรงหน้า ใกล้ตัว อาชีพ เป็นอาวุธหรือ เครื่องมือไว้ถากถางทางเดินชีวิต ให้มีสิ่งกีดขวางน้อยลง ทางเดินสบายขึ้น เพราะมีความรู้ติดตัวมาจากการเรียน สามารถนำมา ทำมาหากินเลี้ยงปากท้อง ลูกเต้า ครอบครัวและบริวาร ให้มีสิ่งต่างเพิ่อเสพย์ ตามความอยาก สมบูรณ์มากเท่าที่อยากมี อยากเป็น

แต่ความรู้ที่เรียนนั้นไม่ใช่ สิ่งที่เรียกว่า ปัญญาญาณ (Intuition หรือ Wisdom) ดังนั้น หากชีวิตมีภัย มีทุกข์ หรือตกอยู่ในวิกฤติการณ์ บางทีความรู้ก็ไม่อาจกู้ชีวิตได้ สิ่งที่จะตัดสินใจ ต้องรู้จักใจตนเอง โดยพยายามมองเข้ามา ใกล้ตัว ชิดใจที่สุด จนสามารถมองเห็น แก่นของชีวิต เรียนรู้ใจตน อยากเป็นอะไร ลองเข้าไปจุ่มเท้าดูก่อนก็ได้ ลองจนรู้ถึงรสชาติ เพื่อที่ว่า จะได้เต็มที่กับชีวิตเมื่อตัดสินใจครั้งสุดท้าย ความสุขที่เป็นนิรันดรต่างหาก คือสิ่งที่คนเราอยากได้ ถ้าเรามองตนออกชัดเจน เราจะเลือกทางที่พอใจ อิ่มใจ พากพูมใจ สนุกไปกับมัน แน่นอนที่ หากอาชีพที่เลือก เมื่อลงมือโจนเข้าไปแล้ว อุปสรรคต่างๆจะไม่สามารถทำให้คุณพูดได้ตอนจบว่า..รู้ยังงี้..

……………………………………