Latest

เจ็บเท้า ตาปลา ฝ่าเท้าแบบ หัวแม่เท้าเก

สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์   ใจยอดศิลป์
     เมื่อก่อน  ถ้ามีเวลาว่าง ดิฉันชอบออกกำลังกายด้วยการเดินและวิ่งจ๊อกกิ้งเบาๆ ที่สวนลุม พอเกษียณแล้ว กลัวจะมีปัญหากับหัวเข่าก็ใช้วิธีเดินแทน แต่จะเดินหรือวิ่ง ก็ทำได้ไม่นานนัก เพราะจะปวดเท้า จากตาปลาที่ฝ่าเท้า และผิวบริเวณข้อนิ้วหัวแม่เท้าก็แดง และด้านหนา      เป็นมานานหลายปีแล้วคะ  ซึ่งพอไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน  (…)  หมอผิวหนังก็ใช้เลเซอร์จี้ตาปลาออกทำให้สบายขึ้น  แต่ไม่นานก็เป็นตาปลาอีก ต้องซื้อยามาป้ายให้ลอกออก  พอเป็นมากก็ต้องไปจี้อีก เพราะถ้าเดินมากก็ปวด  ทรมานมาก               
     ตอนนี้ลองใช้วิธีหาซื้อแผ่นยางนุ่มไว้รองพื้นรองเท้าอีกชั้น จะได้ไม่ปวดตาปลา  ทำให้ต้องซื้อรองเท้าเบอร์ใหญ่ขึ้น (ตอนซื้อทดลองใส่ก็พอดีแล้ว)  แต่พอใส่เดินกลับไม่สบายก็ต้องเปลี่ยนหาซื้อรองเท้าใหม่ บ่อยมาก นอกจากนั้น ก็ยังเกิดตาปลาที่ฝ่าเท้า และข้อนิ้วหัวแม่เท้าก็แดง และด้านหนาอยู่ดี เดี๋ยวนี้ตามตลาดนัดมีซิลิโคนไว้รองนิ้วเท้า ฝ่าเท้าทุกรูปแบบขายเต็มไปหมด ราคาก็ไม่ถูก (หลักร้อยแล้วแต่แบบ)  ลองซื้อมาใช้แต่ใช้ได้ไม่นานก็ขาด  ต้องซื้อใหม่
     ขอความกรุณาคุณหมอ ช่วยแนะแนวทางการรักษาแบบยั่งยืน ให้ด้วยนะคะ   เพราะเพื่อนๆก็เป็นกันหลายคนเหมือนกัน (แต่่ทำไมบางคนก็ไม่เป็นแบบนี้)
      ขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

…………………………………………

ตอบครับ

     ก่อนตอบคำถามนี้ขอป่าวประกาศเรื่องหนังสือ “ป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตัวเอง” ว่าหมดแล้ว ต้องขอโทษท่านที่ส่งเงินมาเก้อ จำเป็นต้องส่งเงินกลับไป ส่วนหนังสือเป็น hard copy จะไม่พิมพ์ซ้ำแล้ว จะยึดเจตนาเดิมที่จะเผยแพร่แบบ eBook และ audioBook บนอินเตอร์เน็ทเท่านั้น กะว่าจะเอาขึ้นได้ไม่เกินปีใหม่

     เอาละ คราวนี้ตอบคำถามได้ 

     ก่อนตอบขอนิยามศัพท์คำว่า “ตาปลา” สำหรับคนที่เกิดไม่ทันหรือไม่รู้จักคำนี้ก่อนนะตาปลาแปลว่าการที่จุดใดจุดหนึ่งบนฝ่าเท้าเกิดหนาด้านเป็นปุ่มเป็นปมขึ้นมาผิดแผกจากพื้นฝ่าเท้าทั่วไป การเกิดตาปลาแสดงว่าการลงน้ำหนักบนฝ่าเท้าของเจ้าของตาปลาเป็นไปอย่างผิดธรรมชาติ กล่าวคือการเดิน การยืน หรือรองเท้าที่ใช้ ทำให้น้ำหนักลงไปตรงจุดที่เกิดตาปลานั้นมากกว่าจุดอื่น จุดที่เกิดตาปลานี้จะเจ็บเวลาเดิน หรือเวลากด ทำให้โบราญสอนลูกหลานว่าอย่าไปเหยียบตาปลาของใครเข้า หมายความว่าจะคบหาพูดจากับผู้คนให้เข้าใจจุดอ่อนหรือปมด้อยของเขาแล้วอย่าเผลอพูดลำเลิกเบิกประจานหรือจี้ใจดำเขาเข้าเพราะมันจะทำให้เขาเจ็บเหมือนถูกเหยียบตาปลา อันจะเป็นชนวนความแค้นให้เขามาหาทางชำระเอากับเราภายหลัง

     พูดถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ สมัยผมแตกหนุ่ม มีโจ๊กเรื่องเหยียบตาปลาเล่ากันในหมู่คนเหนือ เป็นโจ๊กสมัยที่คนเหนือยังไม่ถนัดภาษากลางแต่ก็พยายามพูด เรื่องมีอยู่ว่าหนุ่มคนเหนือไปเที่ยวงานฤดูหนาวกับหนุ่มคนใต้ (หมายถึงคนที่อยู่ต่ำกว่าจังหวัดอุตรดิตถ์) กำลังชะเง้อชะแง้ดูเขาประกวดนางงามกันอยู่ หนุ่มใต้เผลอเหยียบไปบนหลังเท้าของหนุ่มเหนือซึ่งบังเอิญเท้าเป็นตาปลาอยู่พอดี หนุ่มเหนือเจ็บจึงกระซิบบอกหนุ่มใต้อย่างสุภาพว่า 

     “คุณ..คุณ เหยียบเท้า”  หนุ่มใต้ได้ยินไม่ถนัดจึงถามกลับว่า

     “อะไรนะ” หนุ่มเหนือก็พูดซ้ำว่า

     “คุณ เหยียบเท้า”  หนุ่มใต้ได้ยินไม่ถนัดอีก ก็ถามกลับอีกว่า

     “อะไรนะ” 

     คราวนี้หนุ่มเหนือเจ็บตาปลาถึงขีดแล้ว จึงตะโกนเป็นภาษาเหนือเสียงดังลั่นงานว่า

     “ย่ำตี๋น.น..น…น

     จบละ ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     กลับมาตอบคำถามกันต่อ คนที่ชอบเป็นตาปลา มักจะมีโครงสร้างของเท้าผิดแผกจากชาวบ้านในสองสามประเด็น คือ
คนฝ่าเท้าแบบ (ซ้าย) เมื่อเหยียบพื้นทราย จะได้รอยเท้าที่ต่างจากปกติ (สีแดง)

1. มักจะมีฝ่าเท้าแบน (flat foot) หมายความว่าอันธรรมดาเท้าของคนเรามันจะเว้าคล้ายกับอุ้งมือ หรือจะพูดให้ชัดกว่านั้นก็คือเว้าเหมือนอุ้งตีนลิง กล่าวคือหากมองจากด้านข้างมันจะค่อยๆเว้าจากส้นเท้าขึ้นซึ่งแตะอยู่บนพื้นขึ้นไปมากที่สุดที่กลางเท้าแล้วค่อยๆกลับลงมาแตะพื้นอีกทีที่โคนนิ้วเท้า จะเห็นชัดที่สุดเมื่อเรามองจากด้านในตัวออกไปนอกตัว คราวนี้ถ้าเราให้คนอื่นไปยืนมองเท้าเราจากด้านหน้า (นิ้วเท้า) ไปด้านหลัง (ส้นเท้า) ก็จะเห็นความเว้าอีกเหมือนกันในมิติที่ตั้งฉากกับความเว้าแรก คือเริ่มจากโคนหัวแม่เท้าเว้าโค้งขึ้นไปตรงกลางแล้วกลับลงไปแตะพื้นอีกครั้งที่โคนนิ้วก้อย นี่เป็นเท้าของคนปกติ ส่วนคนฝ่าเท้าแบน ความเว้าทั้งสองมีตินี้จะไม่มี กล่าวคือฝ่าเท้าจะแบนแต๊ดแต๋เสมอพื้นเรียบวุธไม่ว่าจะมองในมิติไหน และเมื่อเหยียบไปบนพื้นทรายรอยเท้าของเขาหรือเธอจะเป็นรอยเท้าแบบเต็มๆผิดแผกจากรอยเท้าคนทั่วไปที่จะมีส่วนขาดหายตรงกลาง
หัวแม่เท้าเกจากน้อย(ซ้าย) ไปหามาก (ขวา)

2. มักจะมีหัวแม่เท้าเก (hallux valgus) หมายถึงหัวแม่เท้าเอียงไปหานิ้วชี้ ถ้าเอียงมากก็เล่นเอานิ้วคู่ใดคู่หนึ่งขี่หรือซ้อนกันไปเลย 

3. มักจะมีท่าเดินแบบเป็ดหรือแบบช้าง คือเดินลงฝ่าเท้าหรือเดินแบบย่ำเท้า ยกเท้าสูง แล้ววางเท้าลงทั้งฝ่าเท้าลงถึงพื้นเสมอกันในคราวเดียว

แผ่นรองเท้า ซึ่งนิยมใช้กันแต่ได้ผลน้อยกับคนเท้าแบน

     ปัญหาฝ่าเท้าแบบ หัวแม่เท้าเก ตาปลาและเจ็บเท้านี้ คนทั่วไปแม้กระทั้งวงการแพทย์เองมองว่าเป็นปัญหาโครงสร้างของกระดูก เหมือนกับการปวดเข่า ปวดหลัง ปวดไหล่ และวิธีรักษามาตรฐานในปัจจุบันนี้ก็เน้นที่การปรับโครงสร้างของกระดูก ด้วยการใช้แผ่นรองเท้า (insole) ผ้าพันเท้า ที่ตรึงนิ้วเท้า รองเท้าส้นสูง เป็นต้น
การสวมผ้ายืด ก็ไม่ค่อยได้ผล
การใช้ที่ตรึงหัวแม่เท้า ก็ไม่หายปวด

     การรักษาเท้าแบน หัวแม่เท้าเก และตาปลาด้วยตัวเอง

     ขณะที่คนปวดเท้า ปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดเข่า ไปหาหมอออร์โธปิดิก ได้ทั้งกินยา ฉีดยา ใช้กายอุปกรณ์กันจนเบื่อแล้วไม่หาย พวกนักกายภาพบำบัดทั่วโลกได้ค่อยๆพัฒนาวิธีที่จะหายจากอาการปวดกระดูกเรื้อรังเหล่านี้โดยการสอนคนไข้ใหสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆข้อหรือกระดูกส่วนนั้นๆซึ่งทำได้ด้วยตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งหากทำจริงก็จะได้ผลดี และเป็นวิธีที่ผมสนับสนุนสุดลิ่ม โดยเฉพาะในคนสูงอายุ เพราะการแก้ปัญหาปวดกระดูกด้วยการฝึกกล้ามเนื้อหรือเล่นกล้ามได้ประโยชน์ถึงสามเด้ง เด้งที่หนึ่งคือทำให้หายปวด เด้งที่สองคือทำให้กระดูกไม่บางไม่พรุนและไม่หักง่าย เด้งที่สามคือทำให้เคลื่อนไหวได้กระฉับกระเฉงและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้้น

     ในเรื่องปวดเท้าจากเท้าแบบหัวแม่เท้าเกและตาปลานี่ก็เช่นกัน นักกายภาพบำบัดญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่อฟุรุยะ (Tatsuji Furuya) ได้สรุปหลักการรักษาด้วยการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อนิ้วเท้าออกมาเป็นหนังสือ ซึ่งผมขอขอบคุณทั้งผู้เขียนผู้แปลและผู้นำหนังสือนี้มาให้ผมไว้ ณ ที่นี้ด้วย ในหนังสือนี้สอนให้ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อนิ้วเท้าสามวิธี คือ (1) การเดิน (2) การยืน และ (3) การขยับนิ้วเท้า เมื่อกล้ามเนื้อนิ้วเท้ามีมวลมากขึ้น แข็งแรงขึ้น การบิดงอและผิดรูปของนิ้วเท้าอันสืบเนื่องมาจากกล้ามเนื้อลีบก็จะหายไป ผมขอเล่ารายละเอียดดังนี้ 

     1. การเดิน ให้เปลี่ยนจากการเดินลงฝ่าเท้าแบบเป็ดหรือแบบช้างซึ่งกล้ามเนื้อนิ้วเท้าไม่มีโอกาสได้ออกแรงเลย มาเป็นการเดินแบบคนธรรมดาสามัญหรือแบบทหาร คือยืดตัวตรง เดินโดยเตะเท้าไปข้างหน้า แล้ววางส้นเท้าลงบนพื้นก่อน (แต่ไม่ใช่กระแทกส้น) แล้วค่อยๆโยกตัวถ่ายน้ำหนักไปยังเท้าหน้าโดยให้น้ำหนักเริ่มกดเลื่อนจากส้นเท้าไปยังฝ่าเท้าและไปยังนิ้วเท้าตามลำดับขณะสลับก้าวเท้าอีกข้างหนึ่ง แล้วส่งท้ายด้วยการจิกนิ้วเท้าลงบนพื้นเพื่อ “ถีบ” ส่งให้เท้าลอยขึ้นจากพื้นเพื่อก้าวครั้งต่อไป 

     2. การยืน ให้เปลี่ยนจากการชอบยืนโดยให้ตัวเอนไปข้างหลังซึ่งน้ำหนักจะไปลงแต่ที่ส้นเท้าจนนิ้วเท้าไม่ได้ออกแรงกดพื้นเลย มาเป็นการยืนแบบย่อเข่านิดๆให้ตัวตรงแต่เอนตัวมาข้างหน้าให้ทั้งฝ่าเท้าและนิ้วเท้าได้ออกแรงกดพื้นแทนส้นเท้า แล้วควรฝึกนิสัยยืนโดยมีการโยกเอียงถ่ายน้ำหนักไปตามส่วนต่างๆของเท้าให้ทั่วๆ เช่นเวลายืนบนรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ก็ให้พยายามเกาะหรือพิงให้น้อยที่สุดและเอียงตัวไปมาตามการเคลื่อนไหวของรถ
การฝึกขยับนิ้วเท้าด้วยการหนีบบอล ดึงหัวแม่เท้า และขยุ้มผ้า

     3. การขยับนิ้วเท้า หมายความว่าฝึกออกกำลังกายนิ้วเท้านั่นเอง นึกภาพเราออกกำลังกายนิ้วมือเราอย่างไร เราก็ออกกำลังกายนิ้วเท้าเราอย่างนั้น ซึ่งผมเลือกมาแนะนำสามท่าคือท่าใช้นิ้วเท้าหยิบลูกบอล การใช้ยางยืดดึงหัวแม่เท้าออกจากนิ้วชี้ และการหัดใช้เท้าขยุ้มผ้าขี้ริ้วหรือผ้าเช็ดตัว ท่าสุดท้ายนี้ก็คือเลียนแบบเราฝึกนิ้วมือด้วยการกำหมัด แต่นิ้วเท้าเราฝึกด้วยการขยุ้มแทน

     ทั้งหมดนี้ต้องทำด้วยตัวเอง ทำทุกที่ ทุกเวลา ไม่มีใครคนอื่นเขาจะช่วยได้หากตัวเราขี้เกียจ โชคดีนะครับ..คนเท้าแบน หิ หิ (อุ๊บ..ขอโทษ เปล่าล้อเลียน) 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. ฟุรุยะ, ทะสิจึ. นิ้วหัวแม่เท้าเก. กิ่งดาว ไตรยสุนันท์ ผู้แปล. กรุงเทพ อินสปายร์, 2557, 120 หน้า. ISBN 978-661-04-1828-2.