Latest

เป็นเหงา (loneliness) หรือเป็นปลีกวิเวก (solitude)

เหงาเมื่อแก่

อายุ 66 ค่ะ อยู่คนเดียว กำลังเผชิญความเหงาอย่างหนักหน่วง บางครั้งก็กลายเป็นความเจ็บปวดอย่างสุดจะทน คุณหมอสันต์ช่วยหน่อยนะค่ะ

………………………………………

ตอบครับ

     มนุษย์เป็นสัตว์ฝูง (pact animal) การพลัดอยู่นอกฝูงทำให้เกิดความเหงา บางคนอย่างคุณนี้เหงาแล้วเป็นทุกข์ แต่ว่าความทุกข์แบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะครับ เพราะสิ่งที่คุณเรียกว่าความเจ็บปวดอย่างสุดจะทนที่มาพร้อมกับความเหงานั้น บ่อยครั้งมันกลายเป็นแรงบีบจนคุณหมดทางไปในแนวราบตามปกติ ที่ผมใช้คำว่าทางไปในแนวราบหมายความว่าเช่น การแสวงหามิตร เพื่อน หรือญาติ หรือการได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นที่ทำให้คุณรู้สึกอบอุ่นและมีคุณค่า คนเราเมื่อหมดทางไปในแนวราบ แบบว่าไม่อาจจะมีชีวิตอยู่กับ “ตัวกู” ตัวนี้ได้อีกต่อไปแล้ว ก็จะถูกบีบให้ “เล็ด” ออกไปในแนวดิ่ง หมายถึงว่าจิตสำนึกรับรู้ถูกบีบให้ถอยกลับเข้าไปในตัวเองลึกลงๆจนถอยลงไปถึงสนามหลวงอันเป็นจิตดั้งเดิมของตัวเองก่อนที่ความคิดความจำและคอนเซ็พท์ใดๆของความเป็น “ตัวกู” ณ ตอนนี้จะเกิดขึ้น เมื่อถูกไล่ให้ถอยร่นไปจนถึงจุดนั้น บ่อยครั้งมนุษย์เราจะกลายเป็น “ได้น้ำ” หรือได้พลังหรือพรสวรรค์ยิ่งใหญ่จากอะไรไม่รู้ขึ้นมาดื้อๆ คุณลองศึกษาจากเรื่องราวของนักคิด นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน ระดับโลกหลายคน เรื่องราวชีวิตเขาก็เป็นแบบนี้ คือเริ่มจากการเป็นคนเกิดหรืออยู่ “ผิดที่” จนจะพูดจะคุยกับใครก็ไม่รู้เรื่องมีแต่คนถุยน้ำลายใส่ก่อน แล้วก็ถูกบีบให้เล็ดจนได้โอกาสเปลี่ยนความเหงาให้กลายเป็นการปลีกวิเวก

     ความเหงา (loneliness) แปลว่าเมื่อได้อยู่คนเดียวแล้วเป็นทุกข์ หรือไม่ชอบ แต่

     ปลีกวิเวก (solitude) แปลว่าเมื่อได้อยู่คนเดียวแล้วเป็นสุขหรือชอบมัน

     เมื่อเปลี่ยนได้แล้วก็สามารถใช้ศักยภาพดีๆในตัวสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาได้เยอะแยะ

     ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าจะให้คุณเสาะหาความเป็นนักคิดหรือศิลปินยิ่งใหญ่ในตัวคุณหรอก แต่จะบอกว่ามองด้านหนึ่งความเหงามันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ไม่ใช่จะเป็นแต่จุดจบที่เลวร้ายตะพึด คำแนะนำของผมสำหรับคุณก็คือ

     ในระดับลึก ผมแนะนำว่าให้คุณเริ่มด้วยการยอมแพ้ (surrender) แก่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวคุณ ณ ตอนนี้ก่อน ยอมรับทุกอย่างที่มันเป็นอยู่ตอนนี้ ที่ว่ายอมแพ้ทุกอย่างนี่ผมหมายความรวมถึงการยอมละทิ้งคอนเซ็พท์หรือแนวคิดที่ว่า “ตัวกูอยู่คนเดียว” ทิ้งคอนเซ็พท์ที่ว่า “กูเหงา” คอนเซ็พท์ที่ว่า “กูไม่มีใครแล้วในชีวิตนี้” ทิ้งไปดื้อๆเลย ทิ้งไปแม้กระทั่ง “ตัวกู” ที่เป็นความทรงจำที่ชื่อนางสาวกิ่งกาญจน์ ภูวดล (นางเอกหนังเรื่องชีวิตบัดซบเมื่อสามสิบปีก่อน) คนนั้น ทิ้งไปเลย แล้วดำรงอยู่ในชีวิตนี้ไม่ใช่อยู่อย่างนางสาวกิ่งกาญจน์ที่เคยเป็นอีกต่อไปแล้ว แต่อยู่อย่างจิตสำนึกรับรู้ (consciousness) ที่ไม่ใช่ทั้งความคิดของกู และไม่ใช่ทั้งร่างกายของกู แต่เป็น “ฉัน” ตัวใหม่ผู้รับรู้สิ่งต่างๆที่ประดังเกิดขึ้นต่อหน้า ณ ที่นี่เดี๋ยวนี้แบบช็อตต่อช็อตตามความเป็นจริง พอทิ้งตัวกูมาเป็นฉันผู้รับรู้ได้แล้ว คราวนี้คุณก็ค่อยๆมองไปรอบ เดินไปเดินมา ไปโน่นมานี่ ทำโน่นทำนี่ แล้วต่อจากนั้น

     ในระดับตื้น สิ่งดีๆที่ไม่เคยโผล่มาก็จะโผล่มาให้คุณได้หยิบฉวยเลือกใช้ จะว่าไม่เคยโผล่มาก็อาจจะไม่ใช่ แต่ว่าก่อนหน้านั้นคุณจมอยู่กับคอนเซ็พท์ที่ว่าตัวกูเป็นนางสาวกิ่งกาญจน์นางเอกหนังเรื่องชีวิตบัดซบ อะไรดีๆโผล่มาคุณก็เลยไม่เห็น อะไรดีๆที่ว่านี้ก็เช่นคุณอาจพบว่าตัวคุณก้าวออกมาจากกับดักของการเป็นนางเอกหนังนั้นได้ หรือตัวคุณอาจพบกิจกรรมอะไรที่ใช่หรือที่ทำให้คุณรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายหรือมีคุณค่า

     ในส่วนของความเจ็บปวดที่เกิดจากความเหงา มันก็เหมือนกับความเจ็บปวดที่เกิดจากอารมณ์ชนิดลบอื่นๆทั้งหลาย บางครั้งมันเป็นปรากฎการณ์ฝนตกขี้หมูไหล คนจัญไรมารวมกัน คืออารมณ์ที่ซ้อนอารมณ์อยู่จะพาเอาความเจ็บปวดของใครของมันมาหลอมรวมกันเป็นซุปเปอร์ปวด

     ความเจ็บปวดนี้เกือบร้อยทั้งร้อยเป็นเพราะเราเข้าใจเรื่องเวลาในชีวิตผิดไป หมายความว่าแทนที่เราจะทำตัวเป็น “ผู้รู้” หรือจิตสำนึกรับรู้อยู่นอกร่างกายและนอกความคิดของเรา แต่นี่เรากลับไปจมหรือมุดอยู่กับความคิด แถมความคิดนั่นดันโง่เสียอีก คือไปเข้าใจผิดว่าอดีตอนาคตเป็นของจริง จึงไปคร่ำครวญรู้สึกผิดหรือโกรธหรือเสียใจกับอดีตที่ผ่านไปแล้ว หรือไปวิตกกังวลกับอนาคตว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าในชีวิตจริงที่รับรู้โดยจิตสำนึกของเรานี้ อดีตอนาคตมันมีอยู่จริงซะที่ไหนละครับ เรารับรู้อดีตที่นี่เดี๋ยวนี้ในรูปของความรู้สึกผิด เสียใจ หรือโกรธ อนาคตเราก็รับรู้มันที่นี่เดี๋ยวนี้ในรูปของความวิตกกังวล ทุกอย่างเกิดที่นี่เดี๋ยวนี้หมด

     เพื่อให้คุณเข้าใจ คุณลองเปรียบเทียบคอนเซ็พท์สองคอนเซ็พท์นี้นะ คอนเซ็พท์แรกคือเปรียบเหมือนว่าสถานีรถไฟเป็นสถานที่ (place) ใช่แมะ แล้วรถไฟ เปรียบเหมือนเวลา (time) ใช่แมะ สถานที่อยู่นิ่งๆ แล้วเวลาเป็นรถไฟที่วิ่งผ่านมาแล้วผ่านไปตู้แล้วตู้เล่าขบวนแล้วขบวนเล่า นี่เป็นคอนเซ็พท์เรื่องเวลาในใจของเรา (psychological time) คือมีอดีต แล้วก็มีอนาคต ซึ่งเป็นคอนเซ็พท์ที่ผิด

     อันนี้คนละอันกับปฏิทินหรือ clock time นะ นั่นเป็นอีกคอนเซ็พท์หนึ่งที่มนุษย์เราไปเอาอะไรก็ตามที่เคลื่อนไหวเป็นรอบๆของมันอยู่แล้วตามธรรมชาติในจักรวาลนี้มาสร้างเป็นคอนเซ็พท์ปฏิทินปีเดือนวันชั่วโมงนาที เช่นผลึกควอทซ์เคลื่อนไหวหนึ่งรอบก็เป็นเสี้ยวของวินาที โลกหมุนหนึ่งรอบก็เป็นวัน ดวงจันทร์หมุนรอบโลกหนึ่งรอบก็เป็นเดือน เป็นต้น นั่นเป็น clock time ซึ่งแม้จะเป็นสมมุติบัญญัติแต่เรายังใช้ประโยชน์ในการนัดหมายกันหรือใช้วางแผนทำงานได้ แต่ผมกำลังพูดถึง psychological time หรืออดีตอนาคตที่รับรู้โดยจิตสำนึกซึ่งเป็นสมมุติบัญญัติที่มีแต่โทษเนื้อๆโทษเน้นๆ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

     คราวนี้ผมจะอธิบายคอนเซ็พท์ที่สองซึ่งเป็นคอนเซ็พท์อีกแบบให้คุณค่อยๆคิดตามนะ คราวนี้ผมจะเปลี่ยนสถานีรถไฟ หรือตัวคุณหรือจิตสำนึกรับรู้ของคุณที่นั่งอยู่ที่สถานีรถไฟให้เป็นเวลา หมายความว่าเวลานั้นอยู่นิ่งๆไม่วิ่งไปมา ไม่มีอดีต ไมมีอนาคต มีแต่ที่นี่เดี๋ยวนี้เท่านั้น แล้วผมจะเปลี่ยนรถไฟเป็นความคิด (thought หรือ mind) ขณะที่คุณนั่งนิ่งๆอยู่ที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ (here and now) ความคิดเป็นรถไฟที่วิ่งผ่านหน้าคุณไปตู้แล้วตู้เล่าขบวนแล้วขบวนเล่า บนคอนเซ็พท์ของผมนี้อดีตอนาคตไม่มี มีแต่ตัวคุณซึ่งก็คือที่นี่เดี๋ยวนี้ ตัวคุณเป็นเวลาซึ่งมีแต่ปัจจุบัน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งตัวคุณนั่นแหละคือปัจจุบัน กำลังนั่งมองความคิดของคุณซึ่งก็คือรถไฟ เข้าใจนะ? ความคิดเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับเหมือนตู้รถไฟที่วิ่งผ่านไป สิ่งที่คุณคิดว่าเป็นอดีตอนาคตแท้จริงเป็นเพียงเนื้อหาสาระของความคิด คือที่คุณเรียกว่าเป็นอดีตแท้จริงก็คือความคิดเสียดาย เสียใจ หรือโกรธกับเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ที่คุณเรียกว่าเป็นอนาคตแท้จริงก็คือความคิดกังวลถึงสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่ทั้งสองความคิดต่างก็เกิดขึ้นที่นี่ เดี๋ยวนี้ เป็นตู้รถไฟที่กำลังวิ่งผ่านหน้าคุณไปทั้งนั้นแหละ ถ้าเข้าใจตรงนี้ก็จะได้ไม่เผลอไปคร่ำครวญรู้สึกผิดหรือรู้สึกโกรธกับเรื่องในอดีต หรือกังวลกับอนาคต ซึ่งมันไม่มีอยู่จริง

     กลับมาพูดถึงความเจ็บปวด การไม่ยอมรับ กลัว ขับไสไล่ส่ง ต่อสู้ขัดขืนต่อความเจ็บปวด จะทำให้อาการปวดมีระดับความรุนแรงมากขึ้น เพราะเราจะเผลอปล่อยให้ความเจ็บปวดมาลากเอาความคิดของเราเองไปเป็นพวก ในทางตรงกันข้าม การรับรู้อาการเจ็บปวดแบบเฉยๆ ไม่ยอมให้มีความคิดลบถูกก่อต่อยอดขึ้นมาจากความเจ็บปวด ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว รับรู้มันตามความเป็นจริง ว่าบางครั้งมันก็ปวด บางครั้งมันก็หาย เป็นธรรมชาติของมัน รับรู้โดยไม่ก่อความคิดพิพากษาหรือประเมินผล ไม่เอาความคิดของเราเข้าไปตีความ จะทำให้อาการปวดมีระดับความรุนแรงลดลงหรือแม้กระทั่งหายไปได้

     การจะรับมือกับความเจ็บปวดสำหรับคุณซึ่งไหนๆก็ถูกต้อนมาจนจนตรอกแล้ว ผมแนะนำให้คุณกระโดดไปใช้เทคนิคสูงสุดระดับเทพให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย คือฝีกรับรู้อาการปวดแบบรู้แล้วเฉยได้ การฝึกทำโดยการนั่งสมาธิตามดูลมหายใจ โดยจดจ่อความสนใจอยู่ที่ใต้รูจมูกเหนือริมฝีปากบนเฝ้าดูลมหายใจวิ่งเข้าออก เข้าออก จนไม่มีความคิดอะไรเหลือและมีสมาธิดีแล้ว จากนั้นจึงเคลื่อนเอาความสนใจที่กำลังจดจ่ออยู่ที่ใต้รูจมูกออกไปลาดตระเวณรับรู้อาการต่างๆทั่วร่างกาย แล้วไปโฟกัสลาดตระเวนบริเวณที่มีอาการปวด เริ่มต้นโดยลาดตระเวนในลักษณะขี่ม้าเลียบค่าย เสมือนหนึ่งการสาดแสงไฟฉายแห่งความสนใจของเราไปรอบๆบริเวณที่มีอาการปวด รับรู้ ทำความรู้จัก ทำความคุ้นเคยกับอาการปวด รับรู้แบบเฉยๆ ค่อยๆลาดตระเวนความสนใจอยู่ห่างๆก่อน แล้วค่อยๆใกล้ชิดเข้าไปๆ จนไปจอดความสนใจอยู่ที่ตรงกลางของความเจ็บปวดได้ แล้วเฝ้าดูความเจ็บปวดอยู่อย่างนั้น รับรู้แบบเฉยๆ เสมือนว่าตัวเราเป็นที่ว่างที่โอบรับเอาความเจ็บปวดเข้ามาอยู่ด้วย บางครั้งจะมีความรู้สึกอื่นเช่นความรู้สึกเหน็บๆชาๆจี๊ดๆเหมือนมีเข็มเล็กๆจิ้ม หรือความรู้สึกสั่นสะเทือนแทรกเข้ามา ก็รับรู้ไปด้วย ทำเช่นนี้ เฝ้าดูอยู่เช่นนี้ จนในที่สุดจะเห็นความเจ็บปวดค่อยๆหายไปเอง บางครั้งหายจากที่หนึ่งแล้วไปเกิดอีกที่หนึ่ง ก็ตามไปรับรู้อีก บางครั้งหายไปแล้ว แล้วก็กลับเกิดขึ้นที่เดิมใหม่ ก็ตามไปรับรู้อีก ทำเช่นนี้อยู่ตลอดเวลาที่เกิดความรู้สึกเจ็บปวด ก็จะอยู่กับความเจ็บปวดได้โดยไม่ต้องทุรนทุราย และไม่ต้องใช้วิธีการบรรเทาปวดที่รุนแรงและมีผลแทรกซ้อนอื่นๆเลย

มีบางครั้งที่ความสำเร็จของการเฝ้าดูอาการเจ็บปวดแบบดูแล้วเฉยนี้นำไปสู่การพลิกผันความเจ็บปวดให้กลายเป็นพลังงานที่ทำให้ร่างกายมีชีวิตชีวาซู่ซ่าขึ้นมา เป็นความจริงที่ผมเคยประสบมาด้วยตัวเอง เพราะอันที่จริงความรู้สึกใดๆที่รับรู้ได้บนร่างกายเรานี้ล้วนเป็นการรับรู้พลังงานของร่างกายทั้งสิ้น ยิ่งเป็นอาการปวด ยิ่งเป็นพลังงานระดับแรง ดังนั้นให้ถือเสียว่าคุณมีความรู้สึกให้รับรู้ดีกว่าไม่มีความรู้สึก เพราะไม่รู้สึกเลยก็คือเป็นอัมพาต คุณชอบไหมละ ถ้าเป็นพลังงานที่ดูเหมือนจะลื่นไหลดีเราก็จะรับรู้เป็นความรู้สึกดีๆเช่นร้อนหรือเย็นวูบวาบขนลุกหรือจิ๊ดๆหรืออย่างแย่ก็เหน็บๆชาๆ แต่หากเป็นพลังงานที่ทำท่าจะไปกองอยู่ที่ใดที่หนึ่งไม่ลื่นไหลเราก็จะรับรู้เป็นความปวด

ทุกคนย่อมจะเกิดความเจ็บปวด และย่อมจะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดกันมากบ้างน้อยบ้างอย่างแน่นอน ไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่งในชีวิต ตอนนี้ความเจ็บปวดก็มาอยู่กับคุณที่นี่แล้ว เอา เอ๊ย..ไม่ใช่ ฝึกมันซะเลยสิครับ ฝึกรับรู้ความเจ็บปวดแบบรู้แล้วเฉยๆนี้ให้บ่อยๆ ทุกวันๆ มันอาจจะกลายเป็นพลังเทอร์โบพาชีวิตให้คุณเด้งขึ้นมาจากปลักขี้ควายของความเหงาได้เร็วขึ้นก็ได้นะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์