Latest

การรักษาเบาหวานด้วยตัวเอง และมายาคติเรื่องเบาหวาน

เมื่อวันก่อนผมตอบจดหมายผู้ป่วยโดยได้ติดค้างยังไม่ได้ตอบคำถามที่ว่าเป็นเบาหวานจะดูแลตัวเองอย่างไร ขอถือโอกาสเอามาตอบเสียเลยในวันนี้

มองในแง่นิยามของโรค

โรคเบาหวาน หมายความว่ามีน้ำตาลหลังอดอาหาร (FBS) สูงตั้งแต่ 126 มก./ดล.ขึ้นไป หรือน้ำตาลสะสม (HbA1c) สูงตั้งแต่ 6.5% ขึ้นไป โรคนี้มีสองชนิด คือ

เบาหวานชนิดที่ 1 (type I diabetes) เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ ทำให้ไม่มีอินซูลินที่จะพาน้ำตาลเข้าไปใช้ประโยชน์ในเซลล์ เปรียบเหมือนประตูบ้านล็อคกุญแจไว้ แต่ดันทำกุญแจหาย ไม่มีกุญแจไขเข้า โดยอินซูลินเปรียบเหมือนกุญแจไขเอาน้ำตาลเข้าเซลล์ เมื่อเข้าไม่ได้น้ำตาลจึงค้างเติ่งอยู่ในกระแสเลือด เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันแบบผิดปกติขึ้นมาทำลายเนื้อตับอ่อนของตัวเอง มักพบในเด็กและวัยรุ่น

เบาหวานชนิดที่ 2 (type II diabetes) เกิดจากการที่ร่างกายได้รับอาหารไขมันมากเกินไป ไขมันส่วนเกินจะถูกนำเข้าไปเก็บในเซลล์โดยอินซูลินซึ่งอินซูลินนี้ในภาวะปกตินอกจากจะมีหน้าที่นำน้ำตาลเข้าเซลล์แล้วยังมีหน้าที่นำไขม้นเข้าไปเก็บในเซลล์ด้วย เมื่อนำไขมันเข้าไปเก็บมาก เซลล์ก็บวมเป่งและบางแล้วแตกดังปุ๊.. เซลล์ที่แตกสลายจะไปกระตุ้นให้เกิดโมเลกุลข่าวสารส่งซิกให้เพื่อนเซลอื่นๆที่ยังไม่ตายว่า

     “เฮ้ย.. อย่าไปเชื่อฟังคำสั่งของเจ้าอินซูลินนะโว้ยเอ็ง ไม่งั้นก็จะได้ตายอย่างข้านี่ไง” 

เมื่อเพื่อนเซลอื่นๆได้รับข่าวสารนี้ก็พากันแข็งข้อต่ออินซูลิน สั่งให้เอาไขมันหรือน้ำตาลเข้าไปในเซลก็ไม่ยอมทำตาม เปรียบเสมือนจะเปิดประตูเข้าห้อง ทั้ง ๆ มีกุญแจคืออินซูลินอยู่ในมือ แต่คนในห้องดันลงกลอนไว้ก็เปิดประตูเข้าไม่ได้อยู่ดี

มองในแง่ปัจจัยเสี่ยง

สถิติทางการแพทย์พบว่าปัจจัยเสี่ยงของการเป็นเบาหวาน ได้แก่ มีพันธุกรรม, อ้วน, เอาแต่นั่งจุมปุ๊กไม่ออกกำลังกาย, แก่ (หมายความว่าอายุมาก), เป็นโรคพี่โรคน้องหรือโรคพันธมิตรกัน อันได้แก่โรคความดัน ไขมัน หัวใจ และกินยาที่ทำให้เป็นเบาหวาน เช่นยาสเตียรอยด์ ยาลดไขมันสะแตติน เป็นต้น

มองในแง่อาการวิทยา

     คนเป็นเบาหวานสมัยนี้ไม่ได้มาหาหมอด้วยอาการของโรคเบาหวาน แต่มาเพราะเจาะเลือดแล้วรู้ว่าน้ำตาลสูง ดังนั้นไม่ต้องไปสนใจอาการของเบาหวานเพราะกว่าจะรอให้ถึงตอนนั้นมันไปไกลเกินแล้ว ให้ตรวจเลือดดูน้ำตาลปีละครั้งเอาทันสมัยกว่า

 อาการที่พบบ่อยสมัยนี้คือนกเขาไม่ขัน (หย่อนสมรรถภาพทางเพศ) ชาหรือเหน็บปลายมือปลายเท้า (ปลายประสาทอักเสบ) ถัดจากสองอาการนี้ไปก็โน่นเลยแบบที่นักเรียนแพทย์ท่องจำกันว่า.. ตา ไต หัวใจ ตีน หมายความว่ามีอาการจากโรคที่อวัยวะปลายทาง ได้แก่ตามัวตามืดตาบอด ไตวาย หัวใจขาดเลือด เท้าขาดเลือดหรือเป็นแผลไม่หาย

มองในแง่การรักษาเบาหวานด้วยตัวเอง

     ผมขอไม่พูดถึงการรักษาเบาหวานตามสูตรคือการควบคุมน้ำตาลด้วยยาซึ่งคนทั่วไปรู้กันอยู่แล้ว แต่ผมจะขอพูดถึงเรื่องที่คนเข้าใจผิดบ่อย หรือมายาคติ (myth) เกี่ยวกับการดูแลตัวเองของผู้ป่วยเบาหวาน ดังนี้

     มายาคติ 1. คาร์โบไฮเดรททำให้เป็นเบาหวาน

     ความเป็นจริงคือ อาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ต่างหากที่ทำให้เป็นเบาหวาน

     นี่หมอสันต์ไม่ได้พูดเองนะ แต่หลักฐานวิทยาศาสตร์ปัจจุบันบอกว่าอย่างนั้น งานวิจัยแบบสุ่มตัวแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบที่ทำโดยหมอเบาหวานตัวจริงๆแท้ๆ แบ่งกลุ่มให้ผู้ป่วยกินอาหารสองชนิด กลุ่มหนึ่งกินอาหารเบาหวานที่แนะนำโดยสมาคมเบาหวานอเมริกันซึ่งมีทั้งเนื้อนมไข่ปลาตามสูตร อีกกลุ่มหนึ่งกินอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ ไม่ให้กินเนื้อสัตว์เลย นม ไข่ ปลา ก็ไม่ให้กิน พบว่ากลุ่มที่กินอาหารแบบพืชเป็นหลักเลิกยาเบาหวานได้มากกว่ากลุ่มกินอาหารปกติสองเท่าตัว ลดน้ำตาลในเลือดได้มากกว่าสองเท่าตัว ลดน้ำหนักได้มากกว่าสองเท่าตัว จากงานวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่าอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานคืออาหารที่มีพืชเป็นหลัก ไม่ใช้น้ำมันผัดทอด ไม่มีเนื้อสัตว์แม้กระทั่งไข่ นม และปลาเลย นอกจากนั้นสิ่งที่น่าสังเกตจากงานวิจัยนี้คือคนไข้เบาหวานกลุ่มที่กินอาหารพืชเป็นหลักนั้น สามารถเลิกยาทั้งยากินยาฉีดได้เกือบครึ่่งหนึ่งของกลุ่ม ทั้งนี้ในเวลาเพียงหกเดือน ดังนั้นใครอยากจะเลิกยาเบาหวานเร็วๆก็ลองทำตามเขาดูสิครับ

      งานวิจัยข้างต้นสอดคล้องกับงานวิจัยขนาดใหญ่ที่กลุ่มประเทศทางภาคพื้นยุโรปได้ร่วมกันทำงานเพื่อติดตามดูกลุ่มคน 448,568 คนแบบตามไปดูข้างหน้า แล้วดูความสัมพันธ์ของอาหารกับการเจ็บป่วย เรียกว่างานวิจัยเอพิก (EPIC study) ซึ่งตอนนี้ได้ตามดูมาแล้วสิบกว่าปี พบว่าอาหารที่สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 นั้นไม่ใช่อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) อย่างที่คนทั่วไปเคยเข้าใจกัน แต่เป็นอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการถนอม (ไส้กรอก เบคอน แฮม) [2, 3]

     สำหรับคนที่คิดจะกินพืชผักผลไม้มากขึ้นแต่กลัวว่าคุณภาพชีวิตจะแย่ลงนั้นก็เป็นเพียงมายาคติ เพราะงานวิจัยการใช้อาหารมังสวิรัติรักษาผู้ป่วยเบาหวานพบว่านอกจากจะไม่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงแล้ว อาหารมังสวิรัติยังทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น อารมณ์ดีขึ้น และพฤติกรรมการกินดีขึ้น[4]

     สำหรับเจ้านายที่เป็นเจ้าของโรงงานหรือบริษัท การคาดการณ์ว่าการช่วยพนักงานที่เป็นเบาหวานเปลี่ยนมากินอาหารพืชเป็นหลักทำได้ยากนั้นก็เป็นเพียงมายาคติ เพราะงานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบเอาพนักงานในสิบบริษัทที่มีน้ำหนักเกินและเป็นเบาหวานมาแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งกินอาหารปกติ อีกกลุ่มหนึ่งกินแต่พืชที่ไม่ใช้น้ำมันปรุง โดยทุกบริษัทมีร้านอาหารมังสวิรัติบริการภายใน ทำการวิจัยนาน 18 สัปดาห์ พบว่าพนักงานสามารถรับอาหารมังสวิรัติได้ดี กลุ่มกินมังสวิรัติลดน้ำหนักได้มากกว่า (4.3 กก เทียบกับ 0.08 กก) ลดไขมันเลว LDL ได้ดีกว่า (13.0มก./ดล. เทียบกับ 1.7 มก./ดล.) น้ำตาลสะสมลดลงมากกว่า (0.7% เทียบกับ 0.1%)เมื่อเทียบกับอีกกลุ่ม [5]

     มายาคติ 2. กินผลไม้มาก ทำให้เป็นเบาหวาน

     ความเป็นจริงคือ กินผลไม้สดมากๆสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง

     งานวิจัยเรื่องนี้ทุกงานให้ผลสรุปตรงกันว่าการกินผลไม้มากแม้จะเป็นผลไม้ที่หวาน ไม่ได้ทำให้เป็นเบาหวานมากขึ้น ต่างจากการกินน้ำตาลเพิ่มในเครื่องดื่มมากหรือการกินธัญพืชที่ขัดสีมาก ซึ่งทำให้เป็นเบาหวานมากขึ้น

    งานวิจัยติดตามกลุ่มคนประมาณสองแสนคนของฮาร์วาร์ด [6] ซึ่งได้เกิดผู้ป่วยเบาหวานขึ้นระหว่างการติดตาม 12,198 คน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการกินผลไม้กับการเป็นเบาหวานพบว่าการกินผลไม้สดโดยเฉพาะอย่างยิ่งองุ่น แอปเปิล บลูเบอรี่ สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง แต่การดื่มน้ำผลไม้คั้นทิ้งกากกลับสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมากขึ้น

     เช่นเดียวกัน งานวิจัยขนาดใหญ่ทางยุโรปชื่อ EPIC study [2,3] ก็ได้รายงานผลที่สอดคล้องกันว่าอาหารที่สัมพันธ์กับการลดการป่วยจากเบาหวานคือผักและผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ที่หวานหรือไม่หวานก็ตามก็ล้วนสัมพันธ์กับการลดโอกาสเป็นเบาหวานทั้งสิ้น

     มายาคติ 3. กินผลไม้สดที่หวานจะทำให้คนเป็นเบาหวานแย่ลง

     ความเป็นจริงคือ การกินผลไม้สดทั้งลูกแม้จะหวาน ก็ไม่ทำให้คนเป็นเบาหวานแย่ลง

     งานวิจัยระดับสูงชิ้นหนึ่ง [7] ได้สุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มคนไข้เบาหวานที่กำลังรักษาด้วยยาอยู่ออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้จำกัดผลไม้ไม่ให้เกินวันละสองเสิรฟวิ่ง อีกกลุ่มหนึ่งให้กินผลไม้มากๆเกินสองเสริฟวิ่งขึ้นไปและไม่จำกัดจำนวนทั้งไม่จำกัดว่าหวานหรือไม่หวานด้วย ทำวิจัยอยู่ 12 สัปดาห์แล้ววัดน้ำตาลสะสมในเลือด และภาวะดื้อต่ออินซุลินก่อนและหลังการวิจัย พบว่าทั้งสองกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงของน้ำตาลไม่ต่างกัน

      แม้แต่ผลไม้ที่มีรสหวานที่สุด คืออินทผาลัมหรือลูกเดท (date) งานวิจัย [8] ให้คนกินอินทผาลัมทั้งพันธ์เมดจูลและพันธ์ฮาลาวีวันละ 100 กรัม (สองกำมือ) ทุกวัน กินอยู่นาน 4 สัปดาห์แล้วเจาะเลือดก่อนและหลังการวิจัย พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แถมไตรกลีเซอไรด์ลดลงเสียอีก 8-15% ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของดัชนีมวลกายและไขมันในเลือดทั้ง LDL และ HDL ผลด้านดีอีกอย่างหนึ่งก็คือมีสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น และการเกิดออกซิเดชั่นในร่างกายลดลง 33%  

     มายาคติ 4. อาหารไขมัน ไม่เกี่ยวกับโรคเบาหวาน

     ความเป็นจริงคือ  อาหารไขมันนั่นแหละ ที่ทำให้เป็นเบาหวานผ่านกลไกเกิดการดื้อต่ออินซูลิน 

     งานวิจัยพิสูจน์กลไกการดื้อต่ออินสุลิน [9] พบว่าการดื้ออินสุลินเกิดจากการมีไขมันเก็บสะสมไว้ในเซลมาก งานวิจัยนี้ทำโดยทำการวัดระดับความเข้มข้นของไกลโคเจนและกลูโคสที่อยู่ในเซลกล้ามเนื้อไว้ก่อน แล้วทำให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ แล้วฉีดอินสุลินเข้าสู่กระแสเลือดให้ระดับอินสุลินในเลือดสูงผิดปกติ แล้ววัดการนำกลูโคสเข้าเซลและวัดอัตราเปลี่ยนกลูโคสเป็นไกลโคเจนในเซล ซึ่งพบว่าอินสุลินทำให้มีการนำกลูโค้สเข้าเซลมากขึ้น มีการเปลี่ยนกลูโคสในเซลไปเป็นไกลโคเจนมากขึ้น อันเป็นกลไกการทำงานของร่างกายตามปกติ ต่อมาในขั้นทดลองก็ทำการฉีดไขมันจากอาหารตรงเข้าไปไว้ในเซลกล้ามเนื้อก่อน แล้วทำให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ แล้วฉีดอินสุลินเข้าสู่กระแสเลือดให้ระดับอินสุลินในเลือดสูงผิดปกติ แล้ววัดการนำกลูโคสเข้าเซลและวัดอัตราเปลี่ยนกลูโคสเป็นไกลโคเจนในเซลอีกครั้ง ซึ่งครั้งหลังนี้พบว่าอินสุลินไม่สามารถนำกลูโค้สเข้าไปในเซล และไม่มีการเปลี่ยนกลูโคสในเซลไปเป็นไกลโคเจน ซึ่งเป็นสภาวะการณ์ที่เซลกล้ามเนื้อดื้อต่ออินสุลิน อันสืบเนื่องมาจากการมีไขมันไปสะสมในเซลกล้ามเนื้อมาก

      หลักฐานที่ว่าไขมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ทำให้เกิดการดื้อต่ออินสุลินอันเป็นต้นเหตุของเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ได้มีการวิจัยกันบ่อยครั้ง  อีกงานวิจัยหนึ่ง[10] ทำที่มหาวิทยาลัยลอนดอนได้เลือกผู้ไม่กินเนื้อสัตว์เลย (วีแกน) และกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณสูงมากอยู่แล้วมา 21 คน แล้วเลือกผู้กินเนื้อสัตว์ที่มีโครงสร้างสุขภาพคล้ายๆกันและกินคาร์โบไฮเดรตน้อยอยู่แล้วมา 21 คน ให้ทั้งสองกลุ่มออกกำลังกายเท่ากัน กินอาหารที่มีแคลอรี่เท่ากันทุกวันต่างกันเฉพาะเป็นเนื้อสัตว์หรือเป็นพืชเท่านั้น กินอยู่นาน 7 วันแล้วเจาะเลือดดูปริมาณอินสุลินที่ร่างกายผลิตขึ้นและตัดตัวอย่างชิ้นกล้ามเนื้อออกมาตรวจดูปริมาณไขมันสะสมในกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังการทดลอง พบกว่ากลุ่มวีแกนที่กินแต่พืชมีระดับอินสุลินในเลือดต่ำกว่าและมีไขมันสะสมในกล้ามเนื้อน้อยกว่ากลุ่มที่กินเนื้อสัตว์มาก ซึ่งผลนี้ชี้บ่งไปทางว่าอาหารพืชหรือคาร์โบไฮเดรตไม่ได้กระตุ้นการเพิ่มอินสุลิน แต่อาหารเนื้อสัตว์หรือไขมันต่างหากที่กระตุ้นการปล่อยอินสุลินและทำให้เป็นเบาหวาน

     ดังนั้นผู้เป็นเบาหวานจึงควรจำกัดอาหารไขมันให้เหลือน้อยที่สุด ไม่กินไขมันที่ได้จากการสกัดเช่นน้ำมันที่ใช้ผัดทอดอาหารต่างๆ กินแต่ไขมันที่อยู่ในอาหารตามธรรมชาติเช่นถั่วหรือนัททั้งเมล็ด เป็นต้น

     มายาคติ 5. กินข้าวและแป้งมากทำให้เป็นเบาหวาน

     ความเป็นจริงคือ  เฉพาะข้าวขาวและแป้งแบบขัดสีเท่านั้นที่ทำให้โรคเบาหวานแย่ลง ส่วนข้าวกล้องและธัญพืชไม่ขัดสี และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเช่นมันเทศกลับทำให้โรคเบาหวานดีขึ้น

     การวิเคราะห์ผลวิจัยติดตามสุขภาพแพทย์และพยาบาลของฮาร์วาร์ด [11] พบว่าการบริโภคข้าวขาวมาก(สัปดาห์ละ 5 เสริฟวิ่งขึ้นไป) สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานชนิดที่สองมากขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้บริโภคข้าว ขณะที่การบริโภคข้าวกล้องมาก (สัปดาห์ละ 2 เสริฟวิ่งขึ้นไป) กลับสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานชนิดที่สองน้อยลงกว่าคนที่ไม่ได้บริโภคข้าว

     การทบทวนงานวิจัยที่ทำในยุโรป [12] เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการกินธัญพืชชนิดขัดสีและไม่ขัดสีกับการเป็นเบาหวานประเภท 2 ก็พบว่าการกินธัญพืชไม่ขัดสีมีผลลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ขณะที่การกินธัญพืชขัดสีกลับมีผลเพิ่มความเสี่ยงการเป็นเบาหวานชนิดที่2 มากขึ้น

     งานวิจัยรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินสุลินด้วยการให้อาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดมีกากมาก (high carbohydrate high fiber – HCF) พบว่าทำให้ต้องใช้อินสุลินน้อยลงขณะที่ทำให้ระดับน้ำตาลต่ำลงและไขมันรวมในเลือดลดลง [12, 13]

     มายาคติ 6. เมื่อกินอาหารที่แคลอรี่เท่ากัน จะมีผลต่อโรคเบาหวานเท่ากัน การรักษาเบาหวานจึงคุมแคลอรี่ก็พอโดยไม่ต้องคำนึงถึงชนิดอาหารที่กิน

     ความเป็นจริงคือ  อาหารแม้จะมีแคลอรี่เท่ากันแต่ผลต่อโรคเบาหวานไม่เท่ากัน อาหารที่มีกากและไวตามินเกลือแร่มากกว่า (พืช) จะทำให้โรคเบาหวานดีขึ้นมากกว่าอาหารกากน้อยวิตามินเกลือแร่น้อย (สัตว์) แม้จะแคลอรี่เท่ากัน

     งานวิจัยแบบติดตามกลุ่มคนแบบไปข้างหน้า พบว่าการกินอาหารกากใยสูงสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 น้อยลง[14]
     งานวิจัยอาหารผู้ป่วยเบาหวานที่เน้นเลือกอาหารที่มีสารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการต่อหน่วยแคลอรีสูง (high nutrient density – HND) สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่า และทำให้ตัวชี้วัดปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือดดีกว่าการไม่เลือกอาหารแบบ HND[15]
     งานวิจัยรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินซูลินด้วยการให้อาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดมีกากใยมาก (high carbohydrate high fiber – HCF) พบว่าทำให้มีความจำเป็นต้องฉีดอินซูลินน้อยลงและทำให้ระดับน้ำตาลต่ำลงและไขมันรวมในเลือดลดลง[16]

     มายาคติ 7. คนเป็นเบาหวานควรกินยาเพื่อลดน้ำตาลให้ลงมาต่ำๆ

     ความเป็นจริงคือ  การพยายามลดน้ำตาลในเลือดของคนเป็นเบาหวานให้ต่ำ (ลดน้ำตาลสะสมลงต่ำกว่า 7.0%) ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานกลับแย่ลง

   งานวิจัย ACCORD trial [17] ได้เอาผู้ป่วยเบาหวานมา 10,251 คน สุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ยารักษาระดับน้ำตาลสะสมไว้ที่ 7.0 -7.9% อีกกลุ่มหนึ่งให้ยาแบบเข้มข้นโดยมุ่งให้น้ำตาลสะสมลงไปต่ำกว่าระดับ 6.0% ทำการทดลองอยู่ 1 ปี กลุ่มที่ยอมให้น้ำตาลสูงมีค่าน้ำตาลสะสมเฉลี่ย 7.5% ขณะที่กลุ่มที่จงใจใช้ยากดน้ำตาลให้ลงต่ำมีค่าเฉลี่ยน้ำตาลสะสม 6.4% ผลวิจัยพบว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาแบบเข้มข้นเพื่อเอาน้ำตาลในเลือดลงมาต่ำใกล้ 6.0% กลับตายและพบจุดจบที่เลวร้ายทางด้านหัวใจและอัมพาตมากกว่ากลุ่มที่รักษาแบบยอมคงระดับน้ำตาลสะสมไว้ในระดับ 7.0- 7.9%

     อย่างไรก็ตาม งานวิจัย ACCORD นี้ทำในคนไข้ส่วนใหญ่ที่โรคเป็นมากแล้ว อายุมากแล้ว คือระดับ 60 ปี มีโรคร่วมหลายโรค อีกทั้งใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดรุ่นเก่าซึ่งเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำง่าย การจะใช้ข้อมูลจากงานวิจัยนี้แพทย์จึงใช้วิธีชั่งน้ำหนักได้เสียแล้วตัดสินใจเป็นรายๆไปโดยไม่มีตัวเลขยึดถือตายตัว กล่าวคือในคนที่อายุน้อยมีโรคร่วมน้อย อันตรายจากการเอาน้ำตาลในเลือดลงต่ำก็จะไม่มากเท่าคนอายุมากและมีหลายโรค ก็เอาน้ำตาลลงต่ำ ส่วนคนอายุมากมีโรคมาก ก็ยอมให้น้ำตาลสูงหน่อย

     มายาคติ 8. คนเป็นเบาหวานไม่ควรดื่มน้ำชาหรือกาแฟ 

     ความเป็นจริงคือ  การดื่มชา (ไม่ใส่น้ำตาล) และกาแฟ (ดำ) มากๆมีความสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง

     งานวิจัยแบบเมตาอะนาไลซิสโดยนำงานวิจัยจริง 12 รายการมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มชากับการเป็นเบาหวาน พบว่าการดื่มชาวันละ 3 แก้วขึ้นไป สัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2 ลง[18]

     อีกงานวิจัยหนึ่งได้ทำการวิเคราะห์แบบเมตาอานาไลซีสงานวิจัยตามดูกลุ่มคนแบบไปข้างหน้า จำนวน 13 งานวิจัย ซึ่งมีคนเป็นเบาหวานเกิดขึ้นระหว่างการวิจัย 9,473 คน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างโอกาสเป็นเบาหวานกับการดื่มกาแฟดำ พบว่าคนยิ่งดื่มกาแฟดำมาก ยิ่งสัมพันธ์กับการมีโอกาสเป็นเบาหวานน้อยลง [19]

     มายาคติ 9. คนเป็นเบาหวานไม่ควรออกกำลังกาย 

     ความเป็นจริงคือ  ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ออกกำลังกาย จะอายุสั้นกว่าผู้ป่วยที่ออกกำลังกาย

     การออกกำลังกายมีความจำเป็นมากสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งการออกกำลังกายแบบแอโรบิก การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายเสริมการทรงตัวเพื่อชดเชยให้กับระบบประสาทที่จะเสื่อมไปตามการดำเนินโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนจึงควรจัดสรรเวลาวันละอย่างน้อย 1 ชั่วโมงไว้เพื่อการออกกำลังกายอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และควรวางแผนกิจกรรมในแต่ละวันของตัวเองให้มีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวตลอดเวลา

     ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้ออกกำลังกายจะมีอายุสั้น งานวิจัยผู้ใหญ่ที่เป็นเบาหวานและอ้วนที่ประเทศออสเตรเลีย (AusDiab) ทำการศึกษาในผู้ใหญ่ 8,800 คนติดตามอยู่นาน 6.6 ปี พบว่าทุกชั่วโมงที่ผู้ป่วยเบาหวานใช้นั่งดูทีวีหรือนั่งทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่นิ่ง ๆ มีความสัมพันธ์กับการตายจากโรคหัวใจขาดเลือดมากขึ้น[20]

     มายาคติ 10. อาการปลายประสาทอักเสบในโรคเบาหวาน ไม่มีทางดีขึ้นได้ 

     ความเป็นจริงคือ  อาการปลายประสาทอักเสบในเบาหวาน ดีขึ้นได้ด้วยการกินอาหารพืชเป็นหลัก

     งานวิจัยเอาผู้ป่วยเบาหวานที่มีปลายประสาทอักเสบรุนแรงมาสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินอาหารพืชเป็นหลักไขมันต่ำควบคู่กับการได้รับวิตามินบี 12  อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มควบคุมให้กินวิตามินบี 12 อย่างเดียวโดยไม่บังคับให้กินอาหารพืชเป็นหลัก ทำการทดลองอยู่นาน 20 สัปดาห์ แล้วตรวจประเมินอาการด้วยแบบประเมินปลายประสาทอักเสบมีชิแกน (MNSI scale) และแบบประเมินอาการปวดของ McGill และแบบประเมินคุณภาพชีวิตของ Norfolk พบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่กินอาหารพืชเป็นหลักไขมันต่ำมีอาการปลายประสาทอักเสบลดน้อยลงกว่ากลุ่มควบคุม และมีน้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 6.4 กก. ซึ่งบ่งชี้ว่าการรักษาอาการปลายประสาทอักเสบด้วยอาหารพืชเป็นหลักแบบอาหารธรรมชาติ ได้ผลดีกว่าการพยายามให้กินวิตามินบี 12 โดยที่ยังได้อาหารเนื้อสัตว์อยู่ตามปกติ[21]

    ตอบให้คุณครบถ้วนแล้วนะ หมดหนี้ต่อกันแล้ว

     โปรดสังเกตว่าในการตอบคำถามคุณครั้งนี้ ผมจงใจวงเล็บงานวิจัยอ้างอิงไว้ในเนื้อหาแทบจะบรรทัดต่อบรรทัดและให้เอกสารอ้างอิงท้ายบทความอย่างละเอียดผิดวิสัยที่ผมตอบคำถามเรื่องอื่นๆ แทบทุกงานวิจัยที่ผมอ้างเป็นงานวิจัยระด้บสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ (RCT) เพราะเรื่องมายาคติเกี่ยวกับโรคเบาหวานนี้ มีอยู่มากแม้ในหมู่แพทย์ รวมทั้งแพทย์ที่รักษาเบาหวานด้วย ทำให้คนไข้เป็นงงว่าแพทย์พูดไม่เหมือนกันจะเชื่อแพทย์ท่านไหนดี ผมจะดีใจมากหากจะมีเพื่อนแพทย์ท่านใดก็ตามที่มีโอกาสได้พบหรือรับรู้หลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับโรคเบาหวานซึ่งขัดแย้งกับข้อสรุปเรื่อง “มายาคติ” ทั้งสิบประการข้างต้นนี้ จะกรุณาส่งผลวิจัยเหล่านั้นมาให้ผมช่วยเผยแพร่ทางบล็อกนี้ ก็จะเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานได้รับความรู้ที่รอบด้านไปกลั่นกรองใช้ในการดูแลตนเองอย่างถูกต้องต่อไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Barnard, N.D., et al., A low-fat vegan diet improves glycemic control and cardiovascular risk factors in a randomized clinical trial in individuals with type 2 diabetes. Diabetes Care. 2006 Aug;29(8):1777-83.
2. InterAct, C., et al., Association between dietary meat consumption and incident type 2 diabetes: the EPIC-InterAct study. Diabetologia, 2013. 56(1): p. 47-59.
3. InterAct, C., Adherence to predefined dietary patterns and incident type 2 diabetes in European populations: EPIC-InterAct Study. Diabetologia, 2014.57(2): p. 321-33.
4. Kahleova H, Hrachovinova T, Hill M, Pelikanova T. Vegetarian diet in type 2 diabetes–improvement in quality of life, mood and eating behaviour. Diabet Med. 2013;30(1):127-9. doi: 10.1111/dme.12032. PubMed PMID: 23050853.
5. Mishra S, Xu J, Agarwal U, Gonzales J, Levin S, Barnard ND. A multicenter randomized controlled trial of a plant-based nutrition program to reduce body weight and cardiovascular risk in the corporate setting: the GEICO study. Eur J Clin Nutr. 2013;67(7):718-24. doi: 10.1038/ejcn.2013.92. PubMed PMID: 23695207; PubMed Central PMCID: PMCPMC3701293.
6. Muraki, I., et al., Fruit consumption and risk of type 2 diabetes: results from three prospective longitudinal cohort studies. BMJ, 2013. 347: p. f5001.

7. Christensen, A.S., et al., Effect of fruit restriction on glycemic control in patients with type 2 diabetes–a randomized trial. Nutr J, 2013. 12: p. 29.
8 Rock, W., et al., Effects of date ( Phoenix dactylifera L., Medjool or Hallawi Variety) consumption by healthy subjects on serum glucose and lipid levels and on serum oxidative status: a pilot study. J Agric Food Chem, 2009.57(17): p. 8010-7.

2006. 29(8): p. 1777-83.
9. Roden, M., et al., Mechanism of free fatty acid-induced insulin resistance in humans. J Clin Invest, 1996. 97(12): p. 2859-65.
10. Goff, L.M., et al., Veganism and its relationship with insulin resistance and intramyocellular lipid. Eur J Clin Nutr, 2005. 59(2): p. 291-8.

11. Sun, Q., et al., White rice, brown rice, and risk of type 2 diabetes in US men and women. Arch Intern Med, 2010. 170(11): p. 961-9.
12. Aune, D., et al., Whole grain and refined grain consumption and the risk of type 2 diabetes: a systematic review and dose-response meta-analysis of cohort studies. Eur J Epidemiol, 2013. 28(11): p. 845-58.
13. Anderson, J.W. and K. Ward, High-carbohydrate, high-fiber diets for insulin-treated men with diabetes mellitus. Am J Clin Nutr, 1979. 32(11): p. 2312-21.

14. Yao B, Fang H, Xu W, Yan Y, Xu H, Liu Y, et al. Dietary fiber intake and risk of type 2 diabetes: a dose-response analysis of prospective studies. Eur J Epidemiol. 2014;29(2):79-88. doi: 10.1007/s10654-013-9876-x. PubMed PMID: 24389767.
15.        Dunaief DM, Fuhrman J, Dunaief JL, Ying G. Glycemic and cardiovascular parameters improved in type 2 diabetes with the high nutrient density (HND) diet. Open Journal of Preventive Medicine. 2012;02(03):364-71. doi: 10.4236/ojpm.2012.23053.
16.        Anderson JW, Ward K. High-carbohydrate, high-fiber diets for insulin-treated men with diabetes mellitus. Am J Clin Nutr. 1979;32(11):2312-21. PubMed PMID: 495550.
17. Action to Control Cardiovascular Risk in Diabetes Study Group, Gerstein HC, Miller ME, Byington RP, Goff DC, Jr., Bigger JT, et al. Effects of intensive glucose lowering in type 2 diabetes. N Engl J Med. 2008;358(24):2545-59. doi: 10.1056/NEJMoa0802743. PubMed PMID: 18539917; PubMed Central PMCID: PMCPMC4551392.

18. Yang WS, Wang WY, Fan WY, Deng Q, Wang X. Tea consumption and risk of type 2 diabetes: a dose-response meta-analysis of cohort studies. Br J Nutr. 2014;111(8):1329-39. doi: 10.1017/S0007114513003887. PubMed PMID: 24331002.

19. Muley A1, Muley P, Shah M. Coffee to reduce risk of type 2 diabetes?: a systematic review. Curr Diabetes Rev. 2012 May;8(3):162-8.
20. Dunstan DW, Barr EL, Healy GN, Salmon J, Shaw JE, Balkau B, et al. Television viewing time and mortality: the Australian Diabetes, Obesity and Lifestyle Study (AusDiab). Circulation. 2010;121(3):384-91. doi: 10.1161/CIRCULATIONAHA.109.894824. PubMed PMID: 20065160.
21. Bunner AE, Wells CL, Gonzales J, Agarwal U, Bayat E, Barnard ND. A dietary intervention for chronic diabetic neuropathy pain: a randomized controlled pilot study. Nutr Diabetes. 2015;5:e158. doi: 10.1038/nutd.2015.8. PubMed PMID: 26011582; PubMed Central PMCID: PMCPMC4450462.

……………………………