Latest

ความรู้ตัว, เต๋า, อาตมัน

อาจารย์ที่เคารพ

ผมกลับจากคอร์ส MBT ที่มวกเหล็กมาแล้ว ได้เอาสิ่งที่อาจารย์สอนมาเปลี่ยนชีวิตตัวเองไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคนิคต่างๆออกมาจากความคิดซ้ำซากแบบแผ่นเสียงตกร่อง ต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่จัดหลักสูตร MBT ขึ้น แต่ผมยังมีความข้องใจในบางประเด็นที่อาจารย์สอน แต่ไม่กล้าถามในชั้นเรียน ตอนแรกตั้งใจว่าจะไม่ถาม แต่มันก็คาใจมานาน คือผมข้องใจว่าความรู้ตัวที่อาจารย์ย้ำมากนั้น มันเป็นอันเดียวกับนิพพานของทางพุทธหรือเปล่าครับ และอีกคำถามหนึ่ง ความรู้ตัวนี้มันเป็นของเราคนเดียวหรือว่ามันเป็นของร่วมที่ใช้ด้วยกันทุกๆคนครับ
ผมข้องใจแค่นี้แหละ

…………………………………..

ตอบครับ

     น่าเสียดายที่ผมไม่มีความรูุ้ลึกซึ้งเรื่องศาสนาเลย อย่างมากก็ขโมยไอเดียเอามาจากหนังสือนิทานบ้าง หนังสืออ่านเล่นบ้าง จึงไม่สามารถเปรียบเทียบให้คุณฟังได้ว่าศัพท์ที่ผมใช้คำว่า “ความรู้ตัว”  นั้น เมื่อเปรียบกับทางศาสนาแล้วเปรียบได้กับคำไหน ขอโทษจริงๆ ด้วยความเคารพ ผมไม่ทราบว่าศัพท์คำว่า “นิพพาน” หมายความว่าอะไร เป็นความสัตย์จริง จึงไม่อาจจะตอบคำถามคุณได้

       อย่างไรก็ตาม ในหนังสือนิทานอินเดียเรื่องมหาภารตยุทธ์ ตัวละครตัวหนึ่งชื่อกฤษณะ (คนขับรถม้า) ได้สอนอรชุน (พระเอก) โดยพาดพิงถึงสิ่งที่เรียกว่า “อาตมัน” ซึ่งมันอาจจะเทียบเคียงได้กับสิ่งที่ผมเรียกว่า “ความรู้ตัว” นะ ผมขอตัดคำพูดจากหนังสือภารตะยุทธ์ ตามสำนวนแปลของกรุณา-เรืองอุไร กุศลาศัย มาทั้งดุ้น ดังนี้

     “..ไม่ว่าเรา ท่าน หรือราชบุตรเการพเหล่านั้น ทั้งหมดไม่มีใครเกิดและไม่มีใครตาย อาตมันที่สิงอยู่ในร่างกายของเราต่างหากที่ลอยล่องผ่านร่างเด็ก ร่างหนุ่มสาว และร่างชราของเราไป อาตมันนี้ย่อมจะเข้าสิงอาศัยร่างใหม่เรื่อยไป เมื่อร่างเก่าชำรุดจนใช้งานไม่ได้ ผู้มีปัญญาย่อมไม่คลางแคลงในเรื่องนี้
หนาวร้อนสุขทุกข์ ฯลฯ เกิดจากการประจวบกันระหว่างอารมณ์ภายนอกกับการรับรู้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่แน่นอน นึกจะมามันก็มา นึกจะไปมันก็ไป เพราะเหล่านั้นท่านจงหัดอดทนในสิ่งเหล่านี้เสียบ้างเถิด
ผู้ที่วางใจให้เป็นปกติเมื่อประสบกับทุกข์สุขได้ ชื่อว่าทำชีวิตตนให้เป็นอมตะ

ในอสัตยภาวะ ย่อมไม่มีภาวะแห่งความจริง เช่นกันกับที่ในสัตยภาวะย่อมไม่ปราศจากภาวะแห่งความจริง ผู้ประจักษ์สัจจะย่อมมองเห็นความจริงสองประการนี้

ขอท่านจงทราบเอาไว้ว่าในสกลจักรวาลนี้มีอานุภาพอย่างหนึ่งแผ่ซ่านอยู่ทั่ว อานุภาพนี้ไม่รู้จักพินาศแตกตับ ไม่มีใครทำลายมันได้ มันคืออาตมัน มันสิงสู่อยู่ในร่างมนุษย์ มันคือภาวะนิรันดรเหนือการพิสูจน์หยั่งรู้ ใครก็ตามที่คิดว่าอาตมันนี้เป็นผู้ฆ่า หรืออาตมันนี้เป็นผู้ถูกฆ่า คนนั้นไม่รู้ความจริง เพราะอาตมันนี้ไม่เคยฆ่าใคร และใครฆ่าไม่ได้ อาตมันนี้ไม่เกิด ไม่ตาย เป็นสภาวะนิรันดร เที่ยงแท้ ไม่มีแปรเปลี่ยน
เมื่อร่างกายของคนถูกฆ่า  อาตมันหาได้ถูกฆ่าด้วยไม่

     อรชุน ใครก็ตามที่รู้ซึ้งถึงอาตมันอันเป็นสภาวะนิรันดรไม่รู้จักพินาศแตกดับอย่างนี้แล้ว เขาผู้นั้นจะได้ชื่อว่าฆ่าใครหรือถูกใครฆ่าอยู่หรือ อุปมาเหมือนคนถอดเสื้อผ้าที่เก่าชำรุดทิ้ง แล้วสวมเสื้อผ้าใหม่เข้าแทน อาตมันก็ฉันนั้น ละร่างเก่าแล้วก็ลอยล่องออกสิงร่างใหม่ อาตมันนั้นไม่มีอาวุธหรือศาสตราชนิดใดตัดขาด ไฟก็ไม่อาจเผาไหม้ น้ำก็มิอาจพัดพาให้เปียกละลาย กระทั่งลมก็ไม่สามารถกระพือพัดให้แห้งระเหยไป เพราะตัดไม่ขาด เผาไม่ไหม้ ถูกน้ำถูกลมก็ไม่ละลายหรือแห้งเหือด อาตมันจึงชื่อว่าเป็นสภาะอันนิร้นดร แผ่ซ่านอยู่ทุกอณูของจักรวาล ยืนยงไม่รู้จักแปรเปลี่ยนตามกาลเวลา อาตมันนี้ไม่ปรากฏให้เห็นแจ่มแจ้ง คิดตามก็ไม่อาจหยั่งทราบ ..”

     “….อรชุน โลกเรานี้นับวันก็มีแต่จะหมุนไปข้างหน้า ผู้ใดจมชีวิตตนเองไว้กับกระแสโลกียสุขไม่ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับการเปลี่ยนแปรของวันคืน ชีวิตของคนผู้นั้นนับว่าสูญเปล่าปราศจากแก่นสารแท้ แต่สำหรับบุคคลผู้มีใจเอิบอิ่มในอาตมัน พอใจในอาตมัน และยินดีในอาตมันอันสูงสุดนั้น กรรมอันได้แก่หน้าที่ที่พึงปฏิบัติอย่างอื่นของบุคคลนั้นย่อมเป็นอันจบสิ้นไม่มีอีกแล้ว บุคคลเช่นนั้นย่อมข้ามพ้นทั้งกรรมและอกรรม เขาไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งใดเพื่อให้ลุถึงประโยชน์ของตน เพราะฉะนั้นจงปฏิบัติในสิ่งอันพึงปฏิบัติโดยไม่ยึดมั่นเถิด บุคคลผู้กระทำกรรมโดยไม่หวังผลตอบแทนจากการกระทำนั้น ย่อมบรรลุถึงปรมัตถภาวะอันสูงสุด..”

      อีกเล่มหนึ่งเป็นหนังสืออ่านเล่นระดับคลาสสิกของจีนชื่อ Tao Te Ching แปลโดย Stephen Mitchell มีส่วนที่พูดถึงสิ่งที่คล้ายกับสิ่งที่ผมเรียกว่า “ความรู้ตัว” ด้วยเหมือนกัน โดยในหนังสือนี้ใช้คำว่า “เต๋า” ผมขอลอกมาและแปลเป็นไทยให้ เฉพาะความบางตอน ดังนี้

“..There was something formless and perfect,
before the Universe was born.
มีสิ่งหนึ่งที่ไร้รูปร่างแต่สมบูรณ์แบบ ดำรงอยู่มาตั้งแต่ก่อนที่จักรวาลนี้จะเกิดขึ้นเสียอีก

It is serene. Empty. Solitary.
Unchanging. Infinite. Eternally present.
It is the mother of the Universe.
มันยังดำรงอยู่อย่างสงบเยือกเย็น ว่าง วิเวก คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีที่สิ้นสุด อยู่ที่นี่อย่างนิรันดร  
มันเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดจักรวาลนี้

For lack of a better name, I call it the Tao.
ความที่ไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไร ข้าเรียกมันว่าเต๋าก็แล้วกัน

It flows through all things,
inside and outside,
and returns to the origin of all things.
มันไหลแทรกซึมเข้าไปในทุกสรรพสิ่ง ข้างในและข้างนอก แล้วไหลกลับไปยังต้นกำเนิดของทุกสิ่งนั้น…

     และมีอีกตอนหนึ่งเขียนว่า

     “..Can you coax your mind from its wandering
and keep to the original oneness?
กล่อมใจของคุณไม่ให้กระเจิดกระเจิงฟุ้งสร้าง ให้หันมาอยู่แต่กับหนึ่งเดียวดั้งเดิมนี้ได้ไหม

Can you let your body become
supple as a newborn child’s?
ผ่อนคลายร่างกายจนอ่อนโยนเหมือนร่างเด็กทารกได้ไหม

Can you cleanse your inner vision
until you see nothing but the light?
หลับตาแล้วล้างสิ่งที่เห็นในใจจนเหลือแต่แสงสว่างได้ไหม

Can you love people and lead them 
without imposing your will?
รักและนำผู้คนโดยไม่หวังให้เขาทำอย่างใจเราอยาก..ได้ไหม

Can you deal with the most vital matters
by letting events take their course?
รับมือกับเรื่องความเป็นความตายด้วยวิธีสงบนิ่งปล่อยให้เหตุการณ์คลี่คลายตัวมันเองได้ไหม

Can you step back from your own mind
and thus understand all things?
ถอยออกมาจากการคิด เพื่อหันมารู้สรรพสิ่งได้ไหม

Giving birth and nourishing,
ให้กำเนิดแล้วเลี้ยงดู

having without possessing,
มีทรัพย์โดยไม่เป็นเจ้าของ

acting with no expectations,
ลงมือทำโดยไม่คาดหวังผล

leading and not trying to control:
นำโดยไม่พยายามเป็นนาย

this is the supreme virtue.
นี้แหละคืออำนาจดีงามสูงสุด…”

     สิ่งที่ผมเรียกว่า “ความรู้ตัว” น่าจะใกล้กับคำว่าเต๋านี้มากที่สุด

     ส่วนที่ถามว่าความรู้ตัวนี้มันเป็นของตัวเราคนเดียวหรือเป็นของสาธารณะที่ใช้ร่วมกับคนอื่น ตอบว่าคุณนิยามว่า “ตัวเรา” คืออะไรละครับ ถ้า “ตัวเรา” ของคุณคืออีโก้หรือตัวตนสมมุติที่เกิดจากความคิดของคุณเอง ความรู้ตัวก็ไม่ใช่ของตัวเราหรอกครับ เพราะความคิดอันเป็นต้นกำเนิดของอีโก้นั้นเกิดมาจากความรู้ตัว เสมือนวังน้ำวนเกิดจากมหาสมุทร และความคิดนี้จะดำรงอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีความรู้ตัว แต่ความรู้ตัวดำรงอยู่ได้แม้ในยามปลอดความคิด

    ถ้าคุณนิยามว่า “ตัวเรา” คือ “ความรู้ตัว” โดยตรรกะความรู้ตัวก็เป็นของความรู้ตัวเองนั่นเองใช่ไหมครับ ไม่ใช่ของใครหรอก

     หิ หิ งงไหมครับ ผมแกล้งตอบเลอะเทอะไปงั้นเอง เพราะคุณเล่นเจาะถามเข้าประเด็นตรงๆโต้งๆว่าความรู้ตัวนี้เป็นสมบัติส่วนตัวหรือเป็นของใช้ร่วมกันแบบที่เรียกกันว่า “ทุกอณูของจักรวาล” หรือ “หนึ่งเดียวดั้งเดิม” (original oneness) กันแน่ คุณต้องอาศัยตีความเอาเองจาก “ใบ้” ที่บอกมาในหนังสือเก่าสองเล่มข้างต้น ตัวผมมิอาจจะตอบคุณตรงๆเป็นคำพูดของผมได้ เพราะมันจะเป็นการชักชวนคุณคุยเรื่องใบไม้นอกกำมืออันจะพาให้คุณหลงทางสติแตก

     ในขั้นต้นซึ่งเป็นชั้นคอนเซ็พท์นี้ขอให้คุณเข้าใจความรู้ตัวเพียงแค่ว่า มันเป็นความตื่น เป็นความสามารถรับรู้ คือรู้ร่างกาย รู้ใจว่ากำลังว่างจากความคิด และรู้อารมณ์ว่าเป็นกลางๆเบิกบานอยู่ไม่ขึ้นไม่ลง ขอให้มีคอนเซ็พท์เกี่ยวกับความรู้ตัวแค่นี้ก่อนก็พอแล้ว เอาเวลาในชีวิตที่มีอยู่จำกัดไปฝึกออกจากการ “คิด” เพื่อไปอยู่กับการ “รู้” ให้เป็นมวยก่อนดีกว่า แล้วคุณก็จะ “รู้” ด้วยตัวเองว่าความรู้ตัวนี้มันเป็นสมบัติเฉพาะตัวหรือมันเป็น “ทุกอณูของจักรวาล” กันแน่

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย (ผู้แปล). มหาภารตยุทธ. สำนักพิมพ์ศยาม พ.ศ. 2555 จำนวน 253 หน้า ISBN:9789747033854

2. Mitchell S. Tao Te Ching, a new English version. Accessed on April 3, 2017 at https://u.osu.edu/dialecticseastandwest/files/2016/02/taoteching-Stephen-Mitchell-translation-v9deoq.pdf