Latest

เรื่องความรู้ตัวมันตอบโจทย์ชีวิตได้ดีจริงๆ

กราบเรียนถามอาจารย์สันต์ที่เคารพ
ผมติดตามอ่านบทความอาจารย์มานาน และชื่นชอบสิ่งที่อาจารย์พยายามจะถ่ายทอดมากๆ เรื่องความรู้ตัว มันตอบโจทย์ชีวิตได้ดีจริงๆ ผมพยายามจะปฏิบัติให้ได้อยู่ตามที่อาจารย์แนะนำ แต่มันมีข้อสงสัยอยู่ว่า
เราจะทำยังไงให้มีความรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาในขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ทุกขณะ และสลัดทิ้งความคิดไปทั้งหมดได้อย่างไร ในเมื่อการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ในการทำกิจวัตรต่างๆ มันต้องประกอบไปด้วยความคิดอยู่ตลอดเวลาครับอาจารย์ เท่านี้ความรู้ตัวก็หายไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ผมกำลังจะพิมพ์อีเมล์มาถามอาจารย์ นี่ก็ต้องใช้ความคิดเรียบเรียงคำพูด ออกมาเป็นตัวอักษร เพื่อสื่อความคิดผมมาถามอาจารย์ หรือขณะอาจารย์อ่านอีเมล์นี้ อาจารย์เองก็ต้องใช้ความคิด เพื่อเข้าใจที่ผมเขียน แล้วก็ใช้ความคิดกลั่นกรองคำตอบมาตอบผมอยู่ดีอะครับ ตัวอย่างอื่นๆ เช่น แม้กระทั่งตื่นนอนขึ้นมา วันๆนึง เราก็ต้องคิดแล้ว ว่า วันนี้เราจะต้องทำอะไรบ้าง มีงานอะไร เตรียมตัวอะไร ไปกินข้าว กินอะไร ทำงาน ก็ต้องใช้ความคิด จะให้เรามีความรู้ตัวตลอดแบบไม่มีความคิด ชีวิตประจำวัน หน้าที่การงานของเราจะดำเนินไปยังไงครับอาจารย์
สงสัยจริงๆ ครับ ขอให้อาจารย์ช่วยตอบด้วยนะครับ
ว่างๆ อยากจะหาเวลาไปลงคอร์สกับอาจารย์ครับ
ขอบพระคุณสำหรับคำตอบล่วงหน้า ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่งครับ

……………………………………………………

ตอบครับ

     ฟังน้ำเสียง คุณเป็นคนหนุ่มที่มองเห็นความจริงของชีวิตได้เร็วและเห็นคุณค่าของการแสวงหาสิ่งที่เป็นสารัตถะในการเกิดมามีชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย ผมจะพยายามตอบคำถามคุณให้ครอบคลุมนะ คนหนุ่มคนสาวอีกจำนวนมากที่กำลังแสวงหาอย่างคุณจะได้ใช้ประโยชน์จากคำตอบนี้ด้วย

     ประเด็นที่ 1. ถ้าไม่คิด จะทำงานได้อย่างไร ตอบว่าความคิดเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการวางแผนกิจกรรมและการทำงานแน่นอน อย่างไรเสียก็ต้องคิด แต่ว่าเมื่อเสร็จงานแล้วเราก็ต้องเก็บเครื่องมือลงกล่องถูกไหม แต่ปัญหาคือคนเอาเครื่องมือไปใช้งานผิดแบบ ใช้แล้วไม่ยอมวางเครื่องมือลง กลับแบกเครื่องมือติดตัวไปตลอด คือคิดซ้ำคิดซาก อย่างนี้ไม่ใช่เป็นการใช้งานแบบธรรมดาเสียแล้ว เป็นการเสพย์ติดความคิด ความเป็นจริงคือเราใช้เวลาทำงานจริงๆไม่กี่ชั่วโมง เวลาส่วนใหญ่เราใช้ไปกับการเดินทางและทำกิจวัตรประจำวันล้างหน้าแปรงฟันเดินไปมาหรือรอรถไฟฟ้า ซึ่งในเวลาเหล่านั้นเราวางความคิดลงมาอยู่กับความรู้ตัวได้

     ถึงแม้ในขณะทำงานซึ่งมักจะมีลูกติดพัน มันก็ยังจะเป็นการดีกว่าถ้าเราทำงานติดพันไปสักชั่วโมงแล้วเราเบรกสักสองสามวินาทีเพื่อหายใจลึกๆแล้วถามตัวเองว่า “ฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า” แล้วก็จมลงไปในความรู้ตัวสักครู่ ก่อนที่จะเด้งกลับขึ้นมาทำงานใหม่ ทำแบบนี้แล้วเราจะพบว่าเราตัดตอนความคิดลบซ้ำซากได้ และทุกครั้งที่เด้งกลับขึ้นมา เรากลับมาพร้อมกับความสดชื่นจากการได้เข้าไปถึง “ฉัน” ตัวจริง การจะมีความคิดสร้างสรรค์อะไรก็มีได้เพราะเราได้พักความคิดเข้าไปอยู่กับ “ฉัน” ตัวจริงนี่แหละ ไม่ใช่มีได้เพราะการตะลุยคิดๆๆไม่หยุดหย่อน

     ประเด็นที่ 2. ในความคิดก็มีความรู้ตัวแทรกซึมเป็นเนื้ออยู่ด้วยนะ ฟังแล้วอย่าเพิ่งงง คือเรากำลังพูดถึงสิ่งที่ภาษาสื่อไปถึงไม่ได้ มันลึกซึ้งมาก คุณต้องตั้งใจฟ้งให้ดี คำว่าความรู้ตัว (awareness) นี้ ถ้าเราเอามาสื่อการเฝ้ามองความคิดจากข้างนอกเหมือนอย่างท้องฟ้าเฝ้ามองก้อนเมฆ มันเข้าใจได้ง่ายนะ แต่ในระดับลึกซึ้งกว่านั้น ความคิดกับความรู้ตัวมันไม่ได้แยกกันอยู่เหมือนก้อนเมฆกับท้องฟ้า แต่มันเป็นอันเดียวกันเหมือนจอทีวีแบบแอลซีดี.กับหนังที่ฉายบนจอ หนังคือความคิด จอคือความรู้ตัว ถ้าปิดหนังก็เหลือแต่จอ ต้องมีจออยู่ก่อนจึงจะเกิดหนังได้ ถ้าไม่มีจอดูหนังไม่ได้ เพราะหนังปรากฎขึ้นบนเนื้อของจอ เวลาหนังฉายเราสนใจเรื่องของหนังแต่จอก็อยู่ที่นั่นแหละ เราก็มองดูจออยู่โต้งๆแต่เราไม่สนใจจึงมองไม่เห็นจอ แต่มันอยู่ในหนังนั่นแหละ ดังนั้นสำหรับคนที่เข้าใจความแตกต่างของการ “คิด” กับการ “รู้” แล้ว ผมอยากจะเปลี่ยนชื่อความรู้ตัวว่าเป็น “การรู้ (knowing)” มากกว่า ถ้าไม่สันทัดกับคำว่า “การรู้” คำว่า “การอยู่” (being) หรือ “การอยู่ที่นี่” (presence) ก็ยังอาจจะสื่อได้ดีกว่า คือทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็น “ความรู้ตัว” “การรู้” “การอยู่” “การอยู่ที่นี่ ” ล้วนสื่อถึงสิ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นความจริงแท้ถาวรหนึ่งเดียวของการเกิดมามีชีวิต ส่วนอื่นๆของชีวิตไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือร่างกายล้วนเป็นมายาที่เปลี่ยนแปลงย่อยสลายได้ทั้งสิ้น

     ประเด็นที่ 3. ระวังความรู้ตัวปลอม  หมายความว่าความคิดของคุณนั่นแหละจะปลอมเป็นความรู้ตัว ตรงนี้คุณต้องระวังให้ดีนะ เพราะความคิดชอบปลอมเป็นความรู้ตัวทำให้คุณตายใจและให้อำนาจมัน เชื่อมัน คุณต้องค่อยๆสาวไปให้ดี เพราะบางครั้งคุณสาวไปถึงตัวผู้คิด (thinker) แต่ตัวผู้คิดนั้นก็เป็นเพียงอีกความคิดหนึ่ง หาใช่ความรู้ตัวไม่ การจะสาวไปถึงความรู้ตัวแท้จริง ให้คุณปล่อยความคิดทุกอย่างไป ทั้งคอนเซ็พท์และความเชื่อ อย่ายึดกุม ยกตัวอย่างเช่นเมื่อคุณโกรธ คุณมองหาต้นตอความโกรธเหมือนพ่อคร้วดมหาต้นตอของแก้สรั่ว เขาเชิดจมูกขึ้น ดมหา ดม ดม ดม เดินตามกลิ่นที่แรงขึ้นๆไป ในที่สุดก็พบก๊อกที่เป็นต้นเหตุของแก้สรั่ว ความโกรธก็เหมือนแก้สรั่ว มันต้องมีต้นตอ ร่างกายนี้เป็นเพียงผู้แสดงออกของความโกรธ แล้วใครเป็นคนโกรธละ ดมหาไป แล้วคุณก็จะพบว่าความโกรธแท้จริงแล้วก็เป็นเพียงความคิดหนึ่งที่ผ่านมาแล้วผ่านไปเท่านั้น ไม่ใช่ความรู้ตัว ถ้าคุณจับได้ไล่ทันแล้ววางมันลง คุณก็จะเข้าถึงความรู้ตัวจริงๆได้

     ประเด็นที่ 4. ในระหว่างความคิดสองแบบ ให้ระวังความเชื่อ   หมายความว่าความคิดมีสองแบบ
   
     แบบที่ 1 คือ คอนเซ็พท์ (concept) เช่นคอนเซ็พท์เรื่องเวลา นี่อดีต นั่นอนาคต คอนเซ็พท์เรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของ นั่นของเขา นี่ของเรา เรื่องตรรกะ เรื่องคณิตศาสตร์ เรื่องความดีความชั่ว อย่างนี้เรียกว่าดี อย่างนั้นเรียกว่าชั่ว คอนเซ็พท์ก็คือสมมุติบัญญัติ คอนเซ็พท์เหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหานะ ดีเสียอีกมันทำให้เราอยู่ในสังคมร่วมกันได้ และมันจะไม่เป็นปัญหาเลยตราบใดที่เราใช้ประโยชน์จากมันเสร็จแล้วเราวางมันลง

   แบบที่ 2 คือ ความเชื่อ (belief) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อที่ว่าความคิดในรูปแบบคอนเซ็พท์เหล่านั้นเป็นของจริงเป็นความจริง

     ในระหว่างความคิดทั้งสองแบบนี้ ให้คุณระวังความเชื่อ เพราะการปักใจเชื่อในคอนเซ็พท์ทำให้ชีวิตถูกจองจำให้คับแคบ เช่นเก้าอี้นี้ตามคอนเซ็พท์ทั่วไปก็คือมีไว้นั่ง แต่ผมเอามาตีเป็นกลองก็ได้เพราะผมไม่เชื่อในคอนเซ็พท์ที่ว่าเก้าอี้มีไว้นั่งเท่านั้น เมื่อใดที่ปักใจเชื่อในคอนเซ็พท์ เมื่อนั้นเราก็เป็นทาสความคิดทันที เช่นเชื่อว่านี่สมบัติของเขานั่นสมบัติของเรา ของเรามีน้อยกว่าเขา เชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริงจัง ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา ความเชื่อเป็นตัวให้อำนาจแก่อีโก้ คำว่าอีโก้นี้ผมหมายถึงความเป็นบุคคลคนหนึ่งของเรา การจะมีชีวิตที่ดีไม่เคร่งเครียดต้องมุ่งวางความเชื่อที่ว่าคอนเซ็พท์ทุกชนิดเป็นของจริงเสียก่อน อย่าไปมัวพะวงกับการมุ่งระงับหรือดับความคิดทุกความคิดแบบรูดมหาราช

     ประเด็นที่ 5. อย่าเผลอ “ถก” คอนเซ็พท์ แม้ความคิดแบบคอนเซ็พท์ซึ่งถือว่าไม่มีอันตรายมากอย่างความคิดแบบความเชื่อ แต่มันก็เป็นหลุมพรางให้คุณเผลอ “ถก” คอนเซ็พท์ การถกหรือการดิสคัส (discuss) ถึงแง่มุมต่างๆของคอนเซ็พท์เรื่องโน้นเรื่องนี้ เป็นลูกเล่นที่ความคิดชอบใช้กีดกันเราไม่ให้เข้าถึงความรู้ตัวมากที่สุด เมื่อไหร่ที่เราหลงกลไปถกคอนเซ็พท์ เมื่อนั้นก็เสร็จมัน เราจะกลายเป็นคนเสพย์ติดการถกคอนเซ็พท์ซึ่งทั้งชีวิตจะมีแต่ความฟุ้งสร้านซ้ำซากไร้สาระ การเป็นคนชอบอ่านหนังสือธรรมะ ชอบดูทีวี. ดูข่าว อ่านวิเคราะห์ข่าว เป็นตัวอย่างของการเป็นคนชอบถกคอนเซ็พท์ ดังนั้นเมื่อคุณคิดขึ้นได้ว่ากำลังเผลอถกคอนเซ็พท์อยู่ ให้รีบวางซะ แล้วหันกลับมาอยู่กับความรู้ตัวแทน

    ประเด็นที่ 6. ในระดับการคิด ให้คิดบวก บนเส้นทางการฝึกไปสู่ความรู้ตัวให้มากขึ้นๆ เรายังคงจะต้องหลงอยู่ในวังวนของการคิดไปอีกนาน ในเส้นทางนี้ ไหนๆก็จะคิดแล้ว ให้ใช้อำนาจของความรู้ตัวเลือกคิดแต่ความคิดบวก คือความคิดที่คิดแล้วทำให้เราเบิกบานใจ จริงหรือเท็จไม่สำคัญ แต่ขอให้คิดแล้วเบิกบานใจ ความคิดใดที่คิดแล้วเป็นทุกข์ให้รีบวางหรือทิ้งทันที อย่าคิดต่อยอด ไม่ต้องกลัวว่านี่หลอกตัวเองหรือเปล่า เดี๋ยวเจอของจริงก็จะเจ๊กอั่กดอก ไม่ต้องกลัว เพราะในระดับความคิด ไม่ว่าความคิดไหนก็ล้วนไม่ใช่ของจริงทั้งนั้น ของจริงที่เราจะเจอเป็นเรื่องของเดี๋ยวนี้ แต่ความคิดมีสารัตถะเป็นเรื่องของอดีตอนาคตซึ่งไม่ใช่ของจริงอยู่แล้ว ก็ในเมื่อจะเล่นกับของไม่จริงทั้งทีทำไมไม่เล่นกับความคิดที่คิดแล้วเบิกบานละ จะไปเล่นกับความคิดที่คิดแล้วหดหู่ทำไม

   ประเด็นที่ 7. อย่ากลัวเสียตัวตนที่คุ้นเคย ผู้แสวงหาจำนวนหนึ่ง เมื่อเดินมาถึงจุดที่จะต้องวางคอนเซ็พท์อันเป็นตัวตนสมมุติที่อยู่ด้วยกันมานานตั้งแต่เกิดไปก็ใจหาย แล้วหยุดเดินหน้าต่อ ตรงนี้คุณอย่าไปตกหลุมพรางของความคิดเข้าอีกนะ ความกลัวสูญเสียตัวตนของตัวเองนั้นไม่ใช่คุณนะ มันเป็นความคิดที่กลัวสูญเสีย ไม่ใช่คุณ คุณจะไม่สูญเสียตัวเองเมื่อคุณปลดปล่อยตัวเองออกจากความคิด โลกทั้งโลกจะไม่หันหลังให้คุณเมื่อคุณรู้ตัว ทุกคนยังมองคุณเป็นคนเดิม คุณอย่าไปเชื่อความคิดที่ดิ้นรนหาสิ่งที่คุณกลัวมาตีแผ่ชักแม่น้ำให้คุณถอย คุณต้องกล้าพูดว่าใช่ แล้วเดินออกไปจากตรงนี้ ไม่ต้องกลัว การมีชีวิตอยู่ในอำนาจของความคิดน่ากลัวกว่า หลายคนมาถึงจุดนี้แล้วถอยกลับไป ความคิดมันดูยิ่งใหญ่ แต่แท้จริงแล้วมันเป็นแค่ภาพหลอน คุณในฐานะความรู้ตัวต่างหากที่เป็นของจริง ความคิดจะมาข่มขู่ความรู้ตัวไม่ได้ มันข่มขู่ได้แต่ตัวตนที่เป็นบุคคลที่เราเรียกว่าอีโก้เท่านั้น การอยู่กับความรู้ตัว หรือการรู้ หรือการอยู่ที่นี่ ไม่ได้หมายความว่าต้องหยุดกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ลง แต่หมายความว่าเป็นการอยู่โดยสังเกตความเป็นไป โดยไม่ยึดติดหรือยึดกุมความคิดหรือคอนเซ็พท์ใดไว้เหนียวแน่น ไม่ได้เป็นการอยู่ในสถานะใหม่ แต่เป็นการเลิกการอยู่ในสถานะที่เป็นบุคคลคนหนึ่งมาอยู่ในสถานะผู้รู้ตัวแทน

     ประเด็นที่ 8. ให้คุณเดินทางลัด การหนีจากความคิดมาอยู่กับการรู้ตัว ต้นทางอาจจะเริ่มกันได้หลายแบบหลายวิธี แต่ละวิธีใช้เวลานานแตกต่างกัน ระดับสิบปี ยี่สิบปี สามสิบปี แล้วแต่เส้นทางที่ใช้เป็นทางอ้อมหรือเป็นทางลัด ทุกวิธีพามาโผล่ที่ที่เดียวกันคือที่ความรู้ตัว แต่บางวิธีเข้าไปแล้วส่วนใหญ่หายไปกลางทางมีส่วนน้อยที่ไปโผล่ที่ปลายทาง การอาศัยร่างกาย (เช่นลมหายใจ สัมผัสผิวหนัง การเคลื่อนไหว) ดึงความสนใจออกมาจากความคิดแล้วหลังจากนั้นก็ดึงความสนใจจากร่างกายไปสู่ความรู้ตัว เป็นวิธีที่ใช้กันมากที่สุด เป็นวิธีที่ชัวร์เพราะค่อยๆสอนให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “การคิด” กับ “การรู้” แล้ววางความคิดมารู้ร่างกาย แล้ววางร่างกายไปรู้ความรู้ตัว แต่ต้องอาศัยการฝึกฝนนานหลายปีหรือหลายสิบปี (ผมเคยเขียนเรื่อง “คิด” กับ “รู้” ไปหลายครั้งแล้ว ถ้ายังไม่เข้าใจก็หาอ่านย้อนหลังเอาเองได้)

      ถ้าคุณอยากลองทางลัด ผมแนะนำให้ลองวิธีที่ผมเองใช้แล้วได้ผลดีดูบ้าง คือแค่ถามตัวเองว่า

     “ฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า” 

     ถามซ้ำๆจนตอบตัวเองได้อย่างมั่นใจว่า

     “ฉันรู้ตัวอยู่” 

     นั่นแหละ คุณเข้าถึงความรู้ตัวแล้ว จากนั้นให้มุ่งหน้าจมลึกลงๆไปในความรู้ตัวได้เลย วิธีของผมนี้เป็นการ “รู้” ความรู้ตัวโดยไม่ผ่านอายตนะร่างกายเลย (aware of awareness) ไม่ต้องมีประสบการณ์ ทำไม่ยาก ไม่เชื่อลองดู วิธีนี้เป็นการใช้ความสามารถชนิดหนึ่งที่เรามีอยู่เป็นธรรมชาติที่เรียกว่าปัญญาญาณ (intuition) ซึ่งมองเห็นความรู้ตัวได้โดยไม่ต้องผ่านอายตนะใดๆเลย ที่ผมพูดว่ามองเห็นความรู้ตัวไม่ใช่เห็นเป็นภาพอย่างเรามองเห็นภูเขาเห็นต้นไม้นะ แต่เห็นเป็นความว่างที่มีความตื่นและความสามารถรับรู้อยู่ ความสามารถมองเห็นความรู้ตัวนี้มีกันทุกคน เพียงแต่เราไม่เคยได้ใช้ความสามารถนี้เท่านั้นเอง เหมือนเราดูโทรทัศน์เราไม่เคยเห็นจอ สมมุติผมถามคุณว่า ณ ขณะนี้ที่นั่งฟังผมอยู่นี่ คุณรู้ตัวอยู่หรือเปล่า คุณอาจจะอึ้งไปสักพัก แล้วก็จะตอบผมได้อย่างมั่นใจว่าคุณรู้ตัวอยู่ ผมถามคุณว่าคุณเอาอะไรมองละจึงรู้ว่าคุณรู้ตัวอยู่ เพราะความรู้ตัวมันไม่มีอายตนะใดๆจะไปมองเห็นได้ แต่คุณก็ตอบอย่างมั่นใจว่าคุณรู้ตัวอยู่ คุณอาจจะเอามือตบๆเบาๆที่หน้าอกแล้วตอบผมว่าอะไรสักอย่างที่ข้างในเป็นตัวบอก นั่นแหละ คุณได้ใช้ปัญญาญาณของคุณเองมองเห็นความรู้ตัวของตัวเองแล้ว

     ถ้าฝึกเองแล้วยังติดขัดทำไม่ได้ ลองมาเข้าเรียน MBT ก็ได้ ผมพยายามจะจัดเดือนละครั้ง แต่ก็ได้บ้างไม่ได้บ้างแล้วแต่จังหวะและโอกาส
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์