Latest

ผ่าตัดหัวเข่าผ่านกล้องเพื่อรักษาข้อเสื่อม

อายุ 53 ปี ไม่เคยประสบอุบัติเหตุที่หัวเข่า แต่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม หมอทำ MRI แล้วพบว่ามี meniscal tear ตอนนี้ทั้งฉีดสะเตียรอยด์แล้ว และฉีดจาระบีแล้ว กินกลูโคซามีนแล้ว กินยาอาร์คอกเซียแทบไม่เคยขาด อาการก็ยังมีอยู่ หมอออร์โธปิดิกที่รพ…. แนะนำให้ทำผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อล้างทำความสะอาดรักษาข้อเข่าเสื่อมและซ่อมแผ่นกระดูกอ่อนรองหน้าข้อ ซึ่งท่านบอกว่าเป็นสะเต็พที่ควรเลือกทำก่อนที่จะไปผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม เพราะอายุยังน้อย อยากถามคุณหมอสันต์ว่ามีหลักฐานวิจัยใดๆว่าการผ่าตัดผ่านกล้องในกรณีนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร

………………………………….

ตอบครับ

     1. ถามว่าเป็นข้อเข่าเสื่อมที่มีแผ่นรองข้อเข่าฉีกขาด (meniscus tear) จะไปผ่าตัดผ่านกล้อง (arthroscopic surgery) ผลวิจัยปัจจุบันว่าจะดีไหม ถ้าจะให้ตอบตามผลวิจัยที่นับถึงปัจจุบัน ก็ต้องตอบว่า ไม่ดีครับ

     คำตอบของผมตอบตามผลวิจัยในเรื่องนี้ที่ค่อยๆมีออกมาเรื่อยๆนับตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งมีผู้วิจัยแบบเมตาอานาไลซีสไว้ [1-3] แต่หลักฐานระดับสูงที่ตอบได้อย่างเด็ดขาดว่าการผ่าตัดผ่านกล้องได้ผลไม่ดีไปกว่าการออกกำลังกายโดยไม่ผ่าตัดคือการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบซึ่งทำที่นอร์เวย์และตีพิมพ์ในวารสาร BMJ เมื่อปีกลาย [4] ในงานวิจัยนี้เขาเอาผู้ป่วยอายุ 35-59 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยจาก MRI ว่ามีการฉีกขาดของแผ่นรองข้อเข่า (medial meniscal tear) จากการเสื่อมสภาพของข้อมา 140 คน มาสุ่มตัวอย่างแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ผ่าตัดผ่านกล้อง อีกกลุ่มหนึ่งให้ออกกำลังกายอย่างเดียว แล้วตามดู 2 ปีด้วยทั้งคะแนนวัดผลข้อเข่า (KOOS4) ทั้งด้านการใช้งาน และด้านคุณภาพชีวิต พบว่าทั้งสองกลุ่มได้คะแนนดีพอๆกัน และพบว่ากลุ่มออกกำลังกายมีกล้ามเนื้อขาแข็งแรงมากกว่ากลุ่มที่ทำผ่าตัดผ่านกล้องเสียอีก
   
     คำแนะนำว่าไม่ควรรีบทำผ่าตัดหัวเข่าผ่านกล้องนี้ หมอผู้เชี่ยวชาญเองก็แบ่งเป็นสองพวก มีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญโรคข้อเข่าเสื่อมบางกลุ่มได้ออกคำแนะนำเวชปฏิบัติ (Clinical Practice Guidelines) ในเรื่องนี้โดยตีพิมพ์ไว้ในวารสาร BMJ ฉบับเดือนพค. 2017 [5] ซึ่งมีสาระสำคัญโต้งๆว่า 

     “เราแนะนำอย่างแรงว่าอย่าใช้วิธีผ่าตัดผ่านกล้องรักษาคนไข้ข้อเข่าเสื่อมเกือบทุกคน (รวมทั้งที่มีแผ่นรองข้อเข่าฉีกขาด) เพราะการทบทวนหลักฐานถึงปัจจุบันนี้พบว่ามันไม่ได้ผล”  

     เพื่อประกอบความเข้าใจในเรื่องนี้ ผมขอแจงเพิ่มเติมนิดหนึ่ง คือคนไข้ข้อเข่าเสื่อมนี้แยกได้เป็นสองกลุ่มนะ

     กลุ่มแรก คือกลุ่มที่เป็นโรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) เหน่งๆจ๋าๆ โดยไม่มีการเสียหายของแผ่นรองข้อเข้า (meniscus) ซึ่งในกลุ่มนี้ศัลยแพทย์กระดูกส่วนใหญ่ได้เลิกใช้การผ่าตัตผ่านกล้องล้างทำความสะอาดไปนานแล้ว เพราะมันไม่ได้ผล สถาบันเพื่อความเป็นเลิศทางสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (NICE) ได้ออกคำแนะนำว่าไม่ควรทำการผ่าตัดผ่านกล้องมานานแล้วตั้งแต่ปี 2007 [6] แม้แต่วิทยาลัยศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกอเมริกัน (AAOS) ก็ยังแนะนำเมื่อเร็วๆนี้ว่าไม่ควรทำผ่าตัดผ่านกล้องในคนไข้ข้อเข่าเสื่อมที่โรคเป็นมากแล้ว

     กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่เป็นข้อเสื่อมแบบมีการฉีกขาดของแผ่นรองข้อเข่า (medial meniscal tear) อยู่ด้วย กลุ่มนี้วงการศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกทั่วโลกถือว่าเป็นกรณีที่ควรรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปซ่อมแผ่นรองข้อเข่า จนกระทั่งมีการทะยอยตีพิมพ์งานวิจัยออกมาว่าทำแล้วมันไม่ได้ผลจนมีบางกลุ่มบางองค์กรออกคำแนะนำว่าไม่ควรทำดังที่ผมเล่าแล้วข้างต้น ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ขัดแย้งกับคำแนะนำที่เชื่อถือกันมาแต่เดิม

     พูดง่ายๆว่า ณ ขณะนี้ความเห็นของหมอทั่วโลกแตกเป็นสองฝ่าย คุณในฐานะคนไข้ก็ต้องใช้ดุลพินิจเอาเองว่าจะเลือกเชื่อหมอฝ่ายไหน ระหว่างฝ่ายที่บอกว่าทำเถอะเพราะมันได้ผลดี กับฝ่ายที่บอกว่าอย่าทำเลยเพราะมันไม่ได้ผล ชีวิตการเป็นคนไข้ในยุคการแพทย์แบบอิงหลักฐานก็เป็นอย่างนี้แหละครับ เพราะที่เรียกว่าหลักฐานทางการแพทย์นั้นมันไม่ใช่สัจจธรรม มันเป็นเพียงสถิติ พอมีการตีพิมพ์สถิติใหม่ออกมาพวกหัวใหม่ก็เฮโลทิ้งวิธีนี้ไปหาวิธีโน้นแต่พวกหัวเก่าก็ยังนิ่งอยู่กับวิธีเดิมไปอีกสิบปียี่สิบปี ถ้าคนไข้ไปหาหมอพวกโน้นทีพวกนี้ทีก็จะได้คำแนะนำสองแบบ แล้วก็เป็นงงทำตัวไม่ถูก

     เนื่องจากหมอสันต์เป็นหมอประจำครอบครัว ไม่ใช่ศัลยแพทย์กระดูก จึงขอแนะนำคุณจากมุมมองการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมว่าควรแก้ปัญหาไปทีละขั้นทีละตอน โดยอย่าเพิ่งรีบทำผ่าตัดตอนนี้เลย แต่ให้ไปขยันออกกำลังกายฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่าสักหลายๆเดือนหรือหลายๆปีก่อนจนได้ชื่อว่าได้ออกกำลังกายเต็มที่แล้วก่อน ถ้ามันทุเลาลงและใช้ชีวิตปกติได้ก็จบแค่นั้น แต่ถ้ามันยังมีอาการสาหัส เดี๋ยวป๊อกๆ เดี๋ยวกึกๆ จนชีวิตเดินหน้าลำบาก ผมว่าถึงจุดนั้นไหนๆก็ไหนๆคือหมดทางไปแล้ว การลองผ่าตัดผ่านกล้องก็เป็นทางเลือกที่ควรทำนะครับ โดยที่เมื่อตัดสินใจทำแล้วก็ต้องทำใจด้วย..ว่ามันจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ต้องโอลูกเดียว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
  
 1. Khan M, Evaniew N, Bedi A, Ayeni OR, Bhandari M. Arthroscopic surgery for degenerative tears of the meniscus: a systematic review and meta-analysis. CMAJ2014;186:1057-64. doi:10.1503/cmaj.140433 pmid:25157057.
2. Thorlund JB, Juhl CB, Roos EM, Lohmander LS. Arthroscopic surgery for degenerative knee: systematic review and meta-analysis of benefits and harms. BMJ2015;350:h2747. doi:10.1136/bmj.h2747 pmid:26080045.
3.  Brignardello-Peterson R, Guyatt GH, Schandelmaier S, et al. Knee arthroscopy versus conservative management in patients with degenerative knee disease: a systematic review. BMJ Open 2017;7:e016114. doi:doi:10.1136/bmjopen-2017-161114
4. Kise NJ, Risberg MA, Stensrud S, Ranstam J, Engebretsen L, Roos EM. Exercise therapy versus arthroscopic partial meniscectomy for degenerative meniscal tear in middle aged patients: randomised controlled trial with two year follow-up. BMJ 2016;354:i3740
5. Siemieniuk RAC, Harris IA, Agoritsas T, et al. Arthroscopic surgery for degenerative knee arthritis and meniscal tears: a clinical practice guideline. BMJ 2017;257:j1982. doi:10.1136/bmj.j1982
6. National Institute for Health and Clinical Excellence. Arthroscopic knee washout, with or without debridement, for the treatment of osteoarthritis (Interventional procedures guidance IPG230). 2007. www.nice.org.uk/guidance/ipg230.