Latest

อะไรที่โผล่มาได้ หายไปได้ ไม่ใช่ของจริง

จดหมายฉบับที่ 1
อาจารย์สันต์คะ
ปกติหนูจะฝึกสติในชีวิตประจำวันตามที่อ่านจากหนังสือของติชนัทฮัน แต่เมื่อมาเรียน MBT กับอาจารย์ เมื่อปฏิบัติถามตัวเองว่าฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า แล้วฝึกวางความคิดเข้าไปอยู่ในความรู้ตัวที่เป็นความว่างที่มีความตื่นรู้ หนูก็รู้สึกว่าว่างและโล่งสบายดี แต่ก็เกิดปัญหาในทางปฏิบัติขึ้นมาว่ามันจะขัดๆกับวิธีปฏิบัติเดิมที่หนูทำอยู่ว่าพยายามมีสติกับทุกอริยาบถในชีวิตประจำวันหรือเปล่า การจะไปอยู่กับความรู้ตัวแบบของอาจารย์ หนูต้องทิ้งสติที่อยู่กับอริยาบถไปหรือเปล่า

จดหมายฉบับที่ 2
เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
ผมนั่งสมาธิแล้วเห็นพระพุทธรูป เห็นสามครั้งแล้ว เห็นแล้วสบายใจเกิดปิติ ผมควรจะยึดเอาพระพุทธรูปนี้เป็นเป้าหมายหลักในการทำสมาธิดีไหม

…………………………………………..

ตอบจดหมายฉบับที่ 1.

     คำว่าความรู้ตัวหรือ awareness นี้ของจริงมันไม่สามารถสื่อได้ด้วยภาษา เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่อาจรู้ได้โดยผ่านอายตนะ (อย่างภาพเสียงหรือสัมผัส) มันเป็นของที่ต้องรู้จากความรู้สึกภายใน บางคนเรียกความสามารถที่จะรู้แบบนี้ว่าปัญญาญาณ (intuition) แต่จะเรียกอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่คุณสามารถรู้ความรู้ตัวได้โดยไม่ต้องอาศัยอายตนะปกติ นี่เป็นความสามารถที่ทุกคนมี ทีนี้พอเราใช้ภาษาอธิบายความรู้ตัวว่ามันเป็นความว่าง (empty space) มันทำให้จินตนาการไปถึงผู้มองกับผู้ถูกมอง เช่นท้องฟ้ากับก้อนเมฆ ท้องฟ้าเป็นความรู้ตัวก้อนเมฆเป็นสิ่งที่ถูกความรู้ตัวรับรู้ ทำให้คุณรู้สึกว่าความรู้ตัวเป็นอะไรที่มามองอยู่ข้างหลังของสติที่คุณใช้กำกับอริยาบถทในชีวิตประจำวันอีกต่อหนึ่ง แล้วเกิดความลังเลสงสัยขึ้นมาว่าจะต้องทิ้งอ้นหนึ่งไปเอาอีกอันหนึ่งหรือเปล่า

     ในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น การอธิบายความรู้ตัวว่าเป็นความว่างหรือ space of awareness อาจทำให้เป็นภาษาพูดที่ไม่รัดกุม เพราะในความเป็นจริงนั้น ความรู้ตัวไม่ได้เป็นท้องฟ้าที่มองเห็นก้อนเมฆลอยผ่านไป แต่ในการรับรู้สิ่งที่ถูกรับรูุ้ (object) ใดๆไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง สัมผัส ความคิด หรืออารมณ์ ความรู้ตัวมันรับรู้แบบแนบเป็นเนื้อในของสิ่งที่ถูกรับรู้นั้นด้วย เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ “แปดเปื้อน” โดยสิ่งที่ถูกรับรู้ และไม่ได้ “ทิ้งร่องรอย” ไว้บนสิ่งที่ถูกรับรู้

     เพื่อขยายความให้เข้าใจ ผมเปลี่ยนอุปมาเสียใหม่ว่าความรู้ตัวคือจอโทรทัศน์ชนิดจอแบน ส่วนสิ่งที่ถูกรับรู้คือหนังที่ฉายบนจอ ต้องมีจอจึงจะมีหนังได้ แต่หากหนังไม่ฉาย มีแต่จอเปล่าๆก็ได้ เวลาหนังฉายขึ้นมา ทั้งหนังและจอเป็นเนื้อเดียวกันแยกกันไม่ออก แต่เวลาหนังฉายเรื่อง Tower in ferno ไฟไหม้คอนโดวอดวาย แต่จอไม่ไหม้ไฟนะ เช่นเดียวกันเวลาหนังฉายเรื่อง Titanic ชู้รักเรือลม พายุพัดน้ำกระจายไปทั่ว แต่จอไม่เปียกน้ำนะ การที่จอไม่ไหม้ไฟและไม่เปียกน้ำนี้คำศัพท์ที่คุณอาจจะคุ้นเคยกว่าคือคำว่า “อุเบกขา” คือการรับรู้นั้นเป็นการรับรู้อย่างตามที่มันเป็นไม่ไปใส่สีตีไข่ใส่อารมณ์ต่อยอดด้วย และมันอาจจะง่ายกว่าสำหรับคนที่มาถึงระดับคุณแล้วหากผมจะเปลี่ยนชื่อการเรียกความรู้ตัว (awareness) มาเป็นคำว่า การรู้ (knowing)

     เมื่อคุณมีสติอยู่กับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน คุณเพิ่มสิ่งที่คุณเรียกว่าสตินั้นแหละให้เป็นการ “รู้” แล้วความรู้ตัวกับสติก็จะเป็นอันเดียวกัน เช่นเวลาคุณรินน้ำจากขวดใส่แก้ว คุณใส่ใจละเอียด “รู้” แต่ละโมเมนต์ที่น้ำไหลรินออกจากปากขวดลงไปในแก้ว ความรู้ตัวของคุณก็จะอยู่ที่นั่นด้วย เมื่อคุณกอดใครสักคน คุณปล่อยวางความคิดทั้งหมดของคุณลงไป อยู่ในความรู้ตัว ให้ความว่างของความรู้ตัวของคุณรวมเป็นหนึ่งเดียวกับของเขา ความรู้ตัวของคุณก็จะอยู่ที่การกอดนั้น หรือเมื่อคุณมองดอกไม้ให้คุณ “รู้” ดอกไม้นั้นด้วยปัญญาญาณของคุณนอกเหนือไปจากภาพที่เห็นด้วยตา ความรู้ตัวของคุณก็จะอยู่ที่นั่น ไม่ต้องไปพะวงจำแนกว่าตรงนี้สติ ตรงนั้นความรู้ตัว

ตอบจดหมายฉบับที่ 2.

     ถามว่านั่งสมาธิเห็นพระพุทธรูป จะบรรลุธรรมผ่านพระพุทธรูปนั้นได้ไหม ประมาณนั้น ผมไม่ตอบเองดีกว่า เพราะการไม่รู้เรื่องศาสนาพุทธพูดไปก็อาจมีอะไรผิดพลาด แต่ขอเล่าเรื่องของปาปาจี

     ปาปาจี เป็นครูใหญ่ทางด้านจิตวิญญาณคนหนึ่งของอินเดียซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เขาเป็นคนที่ชื่นชอบและบูชาพระกฤษณะมาก (องค์เดียวกับที่เป็นคนขับรถม้าให้อรชุน พระเอกเรื่องมหาภารตยุทธ์นั่นแหละ) เขาเล่าว่าเวลานั่งสมาธิเห็นพระกฤษณะมาหาเขาบ่อยจนในที่สุดก็กลายเป็นเพื่อนเล่นหัวกันได้ ปาปาจีเล่าให้ฟังผ่านการบันทึกเทปโดยชาวอังกฤษว่าเขาเคยไปเรียนอยู่กับศาสดาคนหนึ่งของอินเดียชื่อรามานา มหารชี ซึ่งมีชีวิตอยู่ประมาณช่วงอังกฤษครองอินเดีย วันหนึ่งปาปาจีไปนั่งสมาธิอยู่บนเขาสี่วัน พอกลับลงมารามานาก็ถามว่าไปไหนมา ปาปาจีตอบว่า

     “ไปนั่งสมาธิที่บนเขามา พระกฤษณะมาคุยเล่นด้วย” รามานาตอบว่า

     “อ้อ เหรอ แล้วตอนนี้กฤษณะยังอยู่หรือเปล่า” ปาปาจีตอบว่า

     “ไม่อยู่แล้ว ไปแล้ว” รามานาถามว่า

     “แล้วความรู้ตัวของเจ้ายังอยู่หรือเปล่า” ปาปาจีตอบว่า

     “อยู่สิ ความรู้ตัวของฉันยังอยู่กับฉันตลอดมา” รามานาจึงสอนว่า

     “อะไรที่โผล่มาได้ แล้วหายไปได้ นั่นไม่ใช่ของจริง อะไรที่อยู่ตลอดมาและอยู่ตลอดไป นั่นแหละคือของจริง” 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์