Latest

ท้องอืด ลมเต็มท้องไปหมด

     ก่อนเปิดจม.ฉบับนี้ ขอทบทวนกับท่านผู้อ่านอีกครั้ง เนื่องจากตอนนี้มีจดหมายถามเรื่องปัญหาการเจ็บป่วยเข้ามาแยะมาก บางท่านก็เร่งยิกว่าทำไมไม่ตอบสักที แต่ชีวิตจริงคือเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะตอบจดหมายให้ได้แม้สัก 10% ของจำนวนฉบับที่ถามเข้ามา ดังนั้นจึงขอทบทวนพันธกิจวิสัยทัศน์ของบล็อกหมอส้นต์ว่ามีไว้เพื่อให้ความรู้การดูแลสุขภาพตัวเองด้วยตัวเอง ไม่ใช่คลินิกออนไลน์ ไม่ใช่บล็อกตอบคำถามวิธีรักษาโรคแบบเจาะเฉพาะให้ทีละคน เพียงแค่อาศัยหยิบจดหมายที่ผู้อ่านทั่วไปจะได้ประโยชน์ขึ้นมาเป็น “แซมเปิ้ล” ของปัญหาเพื่อที่จะได้โยงไปสู่วิธีดูแลตัวเอง จดหมายที่เขียนเข้ามาทุกฉบับจึงมีสถานะเป็น “จิตอาสา” ที่จะเอาเรื่องราวของตัวเองเป็นสื่อความรู้ในการดูแลตัวเองแก่คนอื่น จดหมายที่ผมไม่ตอบ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ผมเคยตอบไปแล้ว เพราะผมตอบไปแล้วตั้งพันกว่าเรื่อง หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่มีคนมีปัญหานี้น้อยเช่นเป็นโรคที่ทั้งประเทศมีคนเป็นอยู่สองสามคน ผมจึงให้ลำดับความสำคัญน้อยกว่า อีกอย่างหนึ่ง บล็อกนี้เป็นบทรำพึงรำพันนอกป่าช้าของชายแก่คนหนึ่งด้วยนะ ดังนั้นบ่อยครั้งก็มีบทรำพึงรำพันไร้สาระ อย่าหงุดหงิดว่าทำไมหมอสันต์ไม่ตอบจดหมายของฉันซึ่งเป็นเรื่องเป็นเรื่องตายเสียทีแต่เอาเวลาไปพล่ามเรื่องอะไรก็ไม่รู้.. ฮี่ ฮี่ อย่าคาดหวังอะไรกับคนแก่คนหนึ่งขนาดนั้นเลย เพราะคนแก่ที่เลอะหลงแล้วย่อมจะลำดับความสำคัญของเรื่องเปะปะไม่เหมือนที่ท่านคาดหวัง ถ้าคาดหวังก็จะผิดหวังเปล่าๆ

     พูดถึงการลำดับความสำคัญของเรื่อง ขอนอกเรื่องหน่อยนะ บางครั้งเรื่องเป็นเรื่องตายบางคนเขาก็ถือว่าไม่สำคัญนะ อย่างเช่นเรื่องเล่าไว้ในไบเบิ้ล(คัมภีร์ใหม่)ตอนหนึ่งเล่าว่า

     Then He said to another man, “Follow Me.” “Lord,” the man replied, “first let me go and bury my father.” But Jesus told him, “Let the dead bury their own dead. You, however, go and proclaim the kingdom of God.”
  
     ซึ่งแปลตามสำนวนของหมอสันต์ได้ว่า

     ..แล้วจีซัสพูดกับชาวบ้านอีกคนหนึ่งว่า “ตามฉันมา”

     “เดี๋ยวก่อนพระเจ้าข้า” ชายคนนั้นตอบ 

     “ก่อนอื่นข้าขอไปฝังศพพ่อของข้าให้เรียบร้อยก่อน” แต่จีซัสบอกเขาว่า

     “ปล่อยให้คนตายฝังความตายของพวกเขาเองไปเถอะ แต่ตัวเจ้านั้นสิ จะอย่างไรเสียก็ต้องไปเข้าให้ถึงอาณาจักรของพระเจ้า” 

     เห็นแมะ โห..ขนาดจะฝังพ่อยังเป็นเรื่องไม่สำคัญเลย ยังมีคนเห็นว่าเรื่องอื่นสำคัญกว่าเลย เห็นแมะ.. หิ หิ เล่าเรื่องนี้ให้ฟังไม่มีอะไร แค่จะให้โหสิกับหมอสันต์ที่ทิ้งจดหมายที่สำคัญของท่านมาเขียนเรื่องที่ท่านอาจจะเห็นว่าไร้สาระแค่นั้นเอง

    เอาละ มาเปิดจดหมายตอบกันดีกว่า

…………………………………………..

คุณหมอสันต์ที่เคารพ

     ดิฉันเป็นไทรอยด์ตํ่าเมื่อ4ปีที่แล้ว โชคดีมาเจอหนังสือ ทําไมคุณถึงป่วย (ก่อนจะมาพบบล็อคคุณหมอ) แล้วปฎิบัตตามด้วยการทานมังสวิรัต ทําให้หายจากโรคโดยสิ้นเชิงภายใน7-8เดือน ซึ่งดิฉันก้อยังทานนํ้าใบย่านางปั่นคั้นเอาแต่นํ้าและทานผักสดต่างๆมาตลอด แต่2-3ปีนี้มีปัญหา ท้องอืดเป็นลมมาก เคยไปตรวจสุขภาพประจําปีอัลตราซาวน์ช่องท้องก้อพบลมเต็มท้องไปหมดค่ะ ลมเยอะมากจนบางครั้งรู้สึกเหนื่อย หอบ หายใจไม่ทัน เวลาเล่นโยคะก้อต้องเล่นไปพักไปเพื่อให้ลมออกจากช่องท้องค่ะ
ขณะนี้ดิฉันอายุ 56ปี สูง 162 ซม นํ้าหนัก 57 กก ไม่มีโรคประจําตัวไม่ได้ทานยาใดๆ ความดันปกติค่ะ
ดิฉันออกกําลังกายด้วยการเล่นโยคะเป็นส่วนใหญ่ครั้งละ 1 ชั่วโมงเศษ ผสมกันระหว่างท่าเบสิกกับท่า plank บางครั้งก้อมีเดินบนเครื่อง walk in the air ประมาณ25-30 นาที แต่ไม่บ่อยค่ะ แต่ละสัปดาห์ประมาณ 3-5 วันค่ะ ถ้าออกกําลังกายทุกวันติดต่อกัน6-7 วัน จะรู้สืกเพลีย เหนื่อยมาก จนบางครั้งต้องพักไปเลย 3-4 วัน ค่ะ
เรื่องอาหาร เมื่อก่อนจะทานนํ้าผักปั่นใบย่านางหรือจิงจูฉ่ายปั่น ก่อนอาหารเช้าเย็น กลางวันก้อดื่มนํ้าสกัดย่านาง ผสมนํ้าเปล่าไม่แช่เย็น ไม่ใส่นํ้าแข็งค่ะ ตอนนี้เหลือแต่นํ้ามะนาวคั้นสด 1 ลูก
มื้อเช้าทานข้าวกับแกงจืด ฟักบ้าง ผ้กกาดขาว ปวยเล้ง ตั้งโอ๋บ้าง ผักรวมมิตรฟักทอง ข้าวโพด แครอทบ้าง จับฉ่ายบ้างค่ะ ไม่ใส่หมู ส่วนใหญ่ก้อแกงจืดอย่างเดียวบางครั้งก้อมีปลาทอดร่วมมาด้วย
กลางวันส่วนใหญ่จะเป็นก๋วยเตี๋ยวนํ้าต่างๆ แต่ใส่ผักลวกเยอะโปะไว้ข้างบนค่ะ เมื่อก่อนจะเป็นผักสลัดต่างๆผักคอสทานสด แต่เดี๋ยวนี้ลวกก่อนค่ะ อาทิตย์นี้ทั้งอาทิตย์เปลียนเป็นบล็อคโครี และดอกกระหลํ่าแทนผักคอสค่ะ อาหารว่างตอนบ่าย ส่วนใหญ่เป็นถั่วแดง ถั่วดํา ถั่วเขียวต้ม ไม่ใส่นํ้าตาล ผลไม้ สลับกับมันต้ม และบางวันก้อเป็นข้าวเหนียวดํากะทิ ขนมเล็บมือนาง สลับไปมาค่ะ ตอนเย็นส่วนใหญ่ก้อเป็นผัดผักกระหลํ่าปลี หรือผักรวมมิตร ถั่วลันเตา แครอท บล็อคโครี (ที่บ้านใช้แต่นํ้ามันมะพร้าวค่ะ
แต่ใส่นํ้ามันน้อยผสมกับนํ้าแกงจืด เวลาผัดกับข้าวค่ะ) บางครั้งก้อมีแกงจืดต่างๆแกงไก่ ไก่ทอด ไข่พะโล้
หอยลายหรือเนื้อปูผัดนํ้าพริกเผา สลับไปมา
อยากจะขอรบกวนคุณหมอสันต์ช่วยบอกวิธีกําจัดลมอย่างถาวร  พอจะมีวิธีมั้ยคะ ดิฉันอยากกลับไปดื่มนํ้าผักปั่น และอยากทานผักสดมาก จะรับทานอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก
คุณหมอมีคอร์สไหนที่เปิดและสอนการทานผักอย่างถูกวิธีมั้ยคะ ดิฉันเคยไปเข้าแคมป์ฝึกสติ ขอบอกค่ะอาหารอร่อยมาก ทั้งมื้อกลางวัน และอาหารว่าง
คําถามสุดท้ายดิฉันควรไปส่องกล้องตรวจกระเพาะลําใส้มั้ยคะ
ขอขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

……………………………………………………

ตอบครับ

      ถามว่าท้องอืดลมเต็มท้อง (dyspepsia) จะทำอย่างไรดี ตอบว่านี่เป็นปัญหาระดับชาติ หรือเผลอๆอาจเป็นปัญหาระดับโลก ดังนั้นวันนี้เราคุยกันถึงหลักฐานวิทยาศาสตร์ใหม่ๆเรื่องท้องอืดเสียทีก็ดีเหมือนกัน

     ประเด็นชนิดและสาเหตุของท้องอืด การประชุมผู้เชี่ยวชาญท้องอืดของโลกครั้งหลังสุด (Rome IV) ได้แบ่งโรคท้องอืดออกเป็นสองกลุ่ม (แบ่งไปงั้นแหละ ยังไม่รู้จะรักษายังไงแต่ก็ขอแบ่งไว้ก่อน) คือ

     กลุ่มแรก เรียกว่าโรคท้องอืดหลังอาหาร หรือ postprandial distress syndrome (PDS) โดยตั้งสมมุติฐาน (จากงานวิจัยตัดชิ้นเนื้อกระเพาะลำไส้มาตรวจที่พบว่ามีการอักเสบของลำไส้ส่วนต้นแล้วมีเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลและมาสก์เซลซึ่งมักพบในการแพ้แทรกเข้ามามาก) ว่าเฉพาะคนไข้ที่มีพันธุกรรมอืด เอ๊ย..ไม่ใช่ พันธุกรรมท้องอืด เมื่อติดเชื้อหรือได้รับสารที่แพ้ใดๆ (allergen) แล้วจะเกิดการอักเสบแบบมีอีโอซิโนฟิลและมาสก์เซลแทรกเข้าไปทำความเสียหายต่อปลายประสาททำให้ปลายประสาทรายงานอาการอืดไม่อยากกินอะไรไปยังสมอง อย่างไรก็ตาม สมมุติฐานนี้เป็นเพียงมั้งศาสตร์นะ จริงเท็จอย่างไรยังไม่ทราบ เพราะ

     (1) งานวิจัยระดับดีที่ทำเพื่อหาสาเหตุของโรคท้องอืดหลังอาหารซึ่งทำที่ออสเตรเลียให้ผลที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง เพราะว่าพบสาเหตุอย่างเดียวคือการมีสัตว์เลี้ยงที่เป็นสัตว์กินพืช (เช่นม้า) สาเหตุอื่นนั้นไม่พบเลย..แหะ แหะ คนไข้ของผมที่ท้องอืด ผมไม่เห็นใครเลี้ยงม้าสักคน

     (2) อีกสมมุติฐานหนึ่งเดาเอาว่าโรคท้องอืดหลังอาหารเกิดจากดุลยภาพของบักเตรีในทางเดินอาหารเสียไป เพราะในงานวิจัยซึ่งทำที่เมโยคลินิก (สหรัฐ) พบว่าผู้ป่วยที่กินยาปฏิชีวนะรักษาอะไรก็ตามมีโอกาสเป็นโรคท้องอืดหลังอาหารมากกว่าคนไม่กินเกือบสองเท่า ดังนั้นคนที่ชอบท้องอืดควรตั้งใจเลี้ยงดูบักเตรีในท้องของตัวเองไว้ให้ดี ด้วยการกินอาหารกาก (fiber) ซึ่งเป็นอาหารของบักเตรีแยะๆ

     (3) งานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับโรคท้องอืดหลังอาหารพบว่าคนที่เครียดมีท้องอืดหลังอาหารมากกว่าคนไม่เครียด การศึกษาภาพของสมองพบว่าคนเป็นโรคท้องอืดมีความเปลี่ยนแปลงในสมองคล้ายกับคนเป็นโรคซึมเศร้า และหากได้ยาต้านซึมเศร้าบางชนิดอาการท้องอืดก็ดีขึ้น

     กลุ่มที่สอง เรียกว่ากลุ่มอาการแน่นลิ้นปี่ หรือ epigastric pain syndrome (EPS) โดยตั้งสมมุติฐานว่าพวกนี้มีกลไกการอืดที่ต่างออกไปเช่น การติดเชื้อในทางเดินอาหาร เช่นติดเชื้อเอ็ช.ไพรอไร แล้วมีแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

    ประเด็นอาหารที่กินกับการเกิดท้องอืด

     งานวิจัยทางการแพทย์พบว่าอาหารที่ทำให้ท้องอืดมากที่สุดมีสามอย่างคือ

(1) อาหารไขมัน โดยเฉพาะอาหารทอด
(2) เครื่องเทศที่เผ็ดร้อน
(3) น้ำอัดลม

     ส่วนอาหารพืชผักไม่ว่าจะดิบหรือสุก หรืออาหารพวกถั่วต่างๆ งานวิจัยไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ใดๆกับอาการโรคท้องอืดอย่างมีนัยสำคัญ มีแต่รายงานเคสว่าอาหารบางอย่างทำให้มีอาการท้องอืดในบางคน แต่เมื่อวิจัยกับคนส่วนใหญ่แล้วกลับพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นให้ตัวใครตัวมัน หมายความว่าใครกินอะไรแล้วอืดซ้ำซากก็แสดงว่าตัวเองอาจจะแพ้ ให้เลี่ยงเสีย

     ประเด็นวิธีกินกับการเกิดท้องอืด

     งานวิจัยที่อิหร่านพบว่าการแบ่งกินอาหารมื้อเล็กๆหลายๆมื้อทำให้ท้องอืดน้อยลง

     ประเด็นการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน 

     วิธีการรักษาท้องอืดของแพทย์แผนปัจจุบันคืออัดยาลูกเดียว แต่เนื่องจากวงการแพทย์ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าโรคท้องอืดว่าเกิดจากอะไร การรักษาจึงเป็นการใช้ยาบรรเทาอาการทั้งสิ้น ซึ่งไม่ได้แก้ไขที่สาเหตุ ยาที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันซึ่งได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ได้แก่

(1) ยาที่ออกฤทธิ์คลายกระเพาะอาหารส่วนปลาย เช่น mosapride (Gasmotin)
(2) ยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มสารเคมีปลายประสาทอัตโนมัติ (acetylcholine) เช่นยา acotiamide
(3) ยาแก้แพ้ cyproheptadine
(4) ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม  tricyclic และ tetracyclic (แต่ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SSRI ไม่ได้ผล)

     นอกจากนี้ เนื่องจากโรคท้องอืดมักแยกไม่ออกจากโรคกรดไหลย้อน (GERD) ดังนั้นแพทย์จึงมักควบการรักษากรดไหลย้อนไปด้วยกันซะเลย คือรักษาแบบรูดมหาราช รายละเอียดยารักษากรดไหลย้อนผมเคยพูดไปแล้ว จะไม่พูดซ้ำในที่นี้อีก

     ประเด็นการรักษาท้องอืดแบบพื้นบ้าน 

     ในบรรดาชาติที่ท้องอืดมากที่สุดในโลกผมว่าน่าจะยกให้อินเดีย เพราะเขากินเครื่องเทศมากและชอบกินของมันๆจึงสั่งสมประสบการณ์ท้องอืดมาหลายพันปี สูตรรักษาท้องอืดของอินเดีย (อายุรเวดะ) จึงเป็นแม่ของการรักษาท้องอืดแผนพื้นบ้านทั้งหลายในแถบเอเซียนี้ ไม้เด็ดระดับท็อปของเขาก็หนีไม่พ้นขิง สมอ มะนาว พริกไทยดำ พริกยาว ยี่หร่า ได้ผลไม่ได้ผลไม่รู้ คุณลองเอาเองก็แล้วกัน
 
     ถ้าไม่ชอบอินเดีย ลองเจ็ดสมุนไพรเด็ดแก้ท้องอืดของไทยก็ได้นะ เช่น กระเทียม กะเพรา กระชาย ขิง ข่า ขมิ้นชัน ตะไคร้
   
     ที่พูดถึงการรักษาแผนพื้นบ้านเป็นคุ้งเป็นแควทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้มีความรู้เลยนี่ก็เพราะตัวผมเองเคยเป็นโรคท้องอืดระด้บแช้มป์ คืออืดเจ็ดวันเจ็ดคืน ทั้งเรอทั้งสะอึก สะอึกจนเจ็บชายโครง เรอจนเมียหาว่าแกล้งทำ เธอบอกว่าคนเราจะเอาลมจากไหนมาเรอออกได้มากมายขนาดนั้น ยาฝรั่ง สมุนไพรไทย สมุนไพรแขก ผมลองมาหมดแล้ว ไม่มีตัวไหนประทับใจโก๋สักตัวเดียว มาหายเป็นปลิดทิ้งกับสูตรของแม่จำเนียร คือ..

    “ปลงเสียเถอะ..แม่จำเนียร”

     หมายความว่าผมไปฝึกสติลดความเครียดควบกับการออกกำลังกายทุกวัน ได้ผลปึ๊ดเลย ดังนั้นหากคุณท้องอืดรักษาไม่หายให้สงสัยไว้ก่อนว่าจะเป็นโรคปสด. ประสาทแด๊กซ์ ให้ฝึกสติควบกับออกกำลังกายทุกวัน ถ้าเป็นปสด.จริง รับประกันหายปึ๊ด..ด

ปล. ลืมตอบอีกสองคำถาม

(1) ถามว่าต้องไปส่องกระเพาะไหม ตอบว่าหากรักษาด้วยวิธีบ้านๆนาน 8 สัปดาห์แล้วไม่หาย ก็ควรส่องกระเพาะนะครับ

(2) ถามว่ามีคอร์สสอนวิธีกินผักไหม ตอบว่าไม่ต้องไปเข้าคอร์สหรอก ผมสอนตรงนี้ก็ได้ อ้าปากจับยัดแล้วเคี้ยวๆ (อุ๊บ..ขอโทษ พูดเล่น) แต่วิธีสอนลูกให้กินผักเป็นอีกแบบนะ ผมเรียนรู้มาจากพี่พนักงานผดุงครรภ์สมัยผมเป็นหมอบ้านนอกอยู่ปากพนัง เธอใช้วิธีง้างปากลูกให้อ้าออก เอาผักยัด แล้วใช้กำลังงับปากลูกไว้ จนกว่าลูกจะกลืนผักหมดจึงคลายมือ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Talley NJ, Ford AC. Functional dyspepsia. N Engl J Med 2015; 373:1853–1863.
2. Holtmann G, Talley NJ. Functional dyspepsia. Curr Opin Gastroenterol 2015; 31:492–498.
Stanghellini V, Chan FK, Hasler WL, et al. Gastroduodenal disorders. Gastroenterology 2016; 150:1380–1392.
3. Paula H, Grover M, Halder SL, et al. Non-enteric infections, antibiotic use, and risk of development of functional gastrointestinal disorders. Neurogastroenterol Motil 2015; 27:1580–1586.
4. Göktaş Z, Koklu S, Dikmen D, et al. Nutritional habits in functional dyspepsia and its subgroups: a comparative study. Scand J Gastroenterol 2016; 51:903–907.
5. Feinle-Bisset C. Upper gastrointestinal sensitivity to meal-related signals in adult humans – relevance to appetite regulation and gut symptoms in health, obesity and functional dyspepsia. Physiol Behav 2016; 162:69–82.
6. Hassanzadeh S, Saneei P, Keshteli AH, et al. Meal frequency in relation to prevalence of functional dyspepsia among Iranian adults. Nutrition 2016; 32:242–248.
7. Gutié rrez RL, Riddle MS, Porter CK. Increased risk of functional gastrointestinal sequelae after Clostridium difficile infection among active duty United States military personnel (1998–2010). Gastroenterology 2015; 149:1408–1414.
8. Du LJ, Chen BR, Kim JJ, et al. Helicobacter pylori eradication therapy for functional dyspepsia: systematic review and meta-analysis. World J Gastroenterol 2016; 22:3486–3495.
9. Wouters MM, Vicario M, Santos J. The role of mast cells in functional gastrointestinal disorders. Gut 2016; 65:155–168.
10. Cirillo C, Bessissow T, Desmet AS, et al. Evidence for neuronal and structural changes in submucous ganglia of patients with functional dyspepsia. Am J Gastroenterol 2015; 110:1205–1215.
11. Dibaise JK, Islam RS, Dueck AC, et al. Psychological distress in Rome III functional dyspepsia patients presenting for testing of gastric emptying. Neurogastroenterol Motil 2016; 28:196–205.
Lee IS, Wang H, Chae Y, et al. Functional neuroimaging studies in functional dyspepsia patients: a systematic review. Neurogastroenterol Motil 2016; 28:793–805.
12. Tominaga K, Tsumoto C, Ataka S, et al. Regional brain disorders of serotonin neurotransmission are associated with functional dyspepsia. Life Sci 2015; 137:150–157.
13. Amano T, Ariga H, Kurematsu A, et al. Effect of 5-hydroxytryptamine receptor 4 agonist mosapride on human gastric accommodation. Neurogastroenterol Motil 2015; 27:1303–1309.
14. Yamawaki H, Futagami S, Kawagoe T, et al. Improvement of meal-related symptoms and epigastric pain in patients with functional dyspepsia treated with acotiamide was associated with acylated ghrelin levels in Japan. Neurogastroenterol Motil 2016; 28:1037–1047.
Madani S, Cortes O, Thomas R. Cyproheptadine use in children with functional gastrointestinal disorders. J Pediatr Gastroenterol Nutr 2016; 62:409–413.
15. Ford AC, Luthra P, Tack J, et al. Efficacy of psychotropic drugs in functional dyspepsia: systematic review and meta-analysis. Gut 2015. [Epub ahead of print]