Latest

จะซีพีอาร์.เขา ก็กลัวเขาจะกลายเป็นเจ้าชายนิทรา

เรียนนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ที่นับถือ

มีเรื่องข้องใจมากอยู่เรื่องหนึ่งค่ะ ว่าการทำ CPR โดยคนทั่วไปตามบ้าน มันมีสถิติว่าทำให้เสียชีวิตน้อยลงกว่าการรอให้หมอพยาบาลทำเองจริงๆไหม ถ้ามันน้อยกว่าจริง มันน้อยกว่ากี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไม่ได้ทำ แล้วการปั๊มหัวใจจะเพิ่มโอกาสที่เขาจะฟื้นขึ้นมาเป็นเจ้าชายนิทราใช่ไหม ได้ถามคุณหมอ…ที่…. ท่านบอกว่าตัวท่านไม่รู้ข้อมูลสถิติ ให้เขียนมาถามนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ เพราะนพ.สันต์เป็นผู้เริ่มต้นบุกเบิกเผยแพร่เรื่องการทำ CPR ในเมืองไทย ดิฉันก็เลยค้นหาจนเจอบล็อก
สามีอายุ 64 ปี เสียชีวิตไปได้เจ็ดเดือน ไม่รู้ว่าเป็นโรคหัวใจมาก่อน หัวใจวายที่บ้านตอนเช้ามืด ตอนดึกคืนนั้นมีปากเสียงกันแล้วก็ต่างก็เข้านอน ไม่ได้ทำ CPR ให้เขา ทำไม่เป็นด้วย ไม่เชื่อด้วย กลัวเขาฟื้นขึ้นมาเป็นเจ้าชายนิทราด้วย ทุกวันนี้ว้าวุ่นใจ บางอารมณ์ก็อยากขอโทษเขา บางอารมณ์ก็ยังโกรธ มันหลายเรื่อง แต่ก็พยายามเคลียร์ทีละเรื่อง
ขอบพระคุณค่ะ
………………………….
ตอบครับ
     ก่อนตอบคำถาม ขอพูดถึงคำว่าซีพีอาร์. (CPR) เพื่อให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นเข้าใจว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องอะไร คำเต็มมันย่อมาจาก cardiopulmonary resuscitation แปลอย่างเป็นทางการว่า “การปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ” แปลเป็นภาษาบ้านๆว่า “การปั๊มหัวใจ” หมายถึงเวลาคนหมดสติและหัวใจหยุดเต้น คนที่อยู่ใกล้ก็ลงมือขย่มหน้าอกปั๊มหัวใจไปก่อนแบบที่เห็นบ่อยๆในหนัง เอาละ คราวนี้มาตอบคำถาม
     1.. ก่อนอื่นขอแก้ข่าวเล็กน้อย ว่าหมอสันต์ไม่ได้เป็นคนริเริ่มเอาซีพีอาร์.หรือการปั๊มหัวใจมาสอนเมืองไทย กล่าวคือซีพีอาร์.เป็นส่วนหนึ่งของวิชาแพทย์แผนปัจจุบันที่สอนให้พวกนักศึกษาแพทย์กันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนหมอสันต์เกิดแล้ว แต่การเริ่มเอาซีพีอาร์.มาสอนประชาชนเริ่มโดยแพทย์รุ่นพ่อรุ่นแม่ของหมอสันต์โน่น นำโดย ศ.นพ.กัมพล ประจวบเหมาะ (ท่านเสียชีวิตไปนานแล้ว) คนรุ่นหมอสันต์ไปรับไม้ต่อมาจากคนรุ่นครูกัมพลอีกทอดหนึ่งมาจัดทำเป็นคำแนะนำมาตรฐานสากลสำหรับแพทย์พยาบาลและชาวบ้านโดยเชื่อมโยงกับสมาคมหัวใจอเมริกัน ทั้งนี้ไม่ใช่มีแต่หมอสันต์คนเดียวที่ช่วยกันทำเรื่องนี้ มีเพื่อนหมอรุ่นราวคราวเดียวกันอีกหลายท่านมาช่วยกันทำ ส่วนใหญ่เป็นหมอหัวใจบ้าง หมอวิสัญญีบ้าง อยู่ที่ศิริราช รามา จุฬา พระมงกุฎ ราชวิถี รพ.ตำรวจ รพ.ภูมิพล เป็นต้น ทุกคนทำแบบอาสาสมัคร ไม่มีเงินเดือนเงินดาว พอรุ่นหมอสันต์ปลดชรา ก็ได้ส่งไม้ให้แพทย์รุ่นน้อง ไม่ใช่รุ่นลูกนะ คือรับมาจากรุ่นพ่อ มาส่งต่อให้รุ่นน้อง พวกหมอรุ่นน้องเขาก็แข็งขันกันทุกคนโดยมีน้องที่สอนอยู่โรงเรียนแพทย์ต่างจังหวัดเช่นเชียงใหม่ สงขลานครินทร์ ขอนแก่น เข้ามาช่วยกันด้วยนอกเหนือจากพวกน้องที่สอนอยู่ในโรงเรียนแพทย์ในกรุงเทพ การสอนการช่วยชีวิตในภาคประชาชนจึงได้ก้าวหน้ามาเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้ นับว่าเป็นผลจากฝีมือของแพทย์ซึ่งทำงานแบบอาสาสมัครหลายรุ่น หลายคน
     2. ถามว่าการปั๊มหัวใจโดยชาวบ้านที่ยืนอยู่ใกล้ผู้หมดสติ (bystander) มันช่วยให้รอดตายได้จริงไหม ถ้าจริงรอดได้กี่เปอร์เซ็นต์ คำถามนี้ตอบได้ดีที่สุดด้วยงานวิจัยคลาสสิกที่ตีพิมพ์ในวารสารหัวใจอเมริกัน ซึ่งวิเคราะห์ผู้หมดสติหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล 2142 คน เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับการปั๊มหัวใจโดยคนที่ยืนอยู่ใกล้กับคนที่ไม่มีใครช่วยปั๊มหัวใจ พบว่ากลุ่มที่มีคนปั๊มหัวใจให้รอดตายไปถึงรพ. 22.9% ขณะที่กลุ่มไม่มีคนปั๊มหัวใจรอดตายไปถึงรพ. 14.6% เมื่อตามไปดูถึงโอกาสได้ออกจากรพ.กลับบ้าน พบว่ากลุ่มที่มีคนปั๊มหัวใจให้ได้กลับบ้าน 11.9% ขณะที่กลุ่มไม่มีคนปั๊มหัวใจให้ได้กลับบ้าน 4.7% จึงสรุปได้ว่าการที่มีคนยืนอยู่ใกล้ช่วยปั๊มหัวใจให้จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ออกจากรพ.มากขึ้นถึงเกินสองเท่าตัว 
     3. ถามว่าการที่คนยืนอยู่ใกล้ช่วยปั๊มหัวใจให้เขา จะเพิ่มโอกาสที่เขาจะฟื้นขึ้นมาเป็นเจ้าชายนิทราใช่ไหม ฮี่..ฮี่ นี่เป็นคำถามจี้เข้ากลางจุดคีมึ้งเลยนะเนี่ย เป็นโอกาสดีที่หมอสันต์จะได้ไขข้อข้องใจไม่เฉพาะของประชาชนทั่วไปเท่านั้น แม้แต่แพทย์จำนวนหนึ่งก็มีความเชื่อว่าการปั๊มห้วใจผู้หมดสติจะทำให้ได้เจ้าชายและเจ้าหญิงนิทราขึ้นมาเป็นภาระแก่ผู้เกี่ยวข้องแทนที่จะปล่อยให้เขาจากไปตามวิถีปกติของเขาซะดีกว่า นี่เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่งนะคะท่านสาระวัตร เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดตรงนี้ ผมขอเล่าให้ฟังถึงงานวิจัยขนาดใหญ่ทำที่เดนมาร์คซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ซึ่งศึกษาผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาลแล้วรอดชีวิตมาได้อย่างน้อย 30 วันหลังเกิดเหตุจำนวน 2855 คน แล้วติดตามดูต่อไปจนครบ 1 ปี โดยแยกเป็นกลุ่มที่ได้รับการปั๊มหัวใจโดยผู้ยืนอยู่ใกล้ กับกลุ่มที่ไม่ได้รับการปั๊มหัวใจ พบว่ากลุ่มที่ไม่ได้ร้บการปั๊มหัวใจโดยผู้ยืนอยู่ใกล้ฟื้นขึ้นมาแล้วกลายเป็นเจ้าชายเจ้าหญิงนิทราต้องไปใช้ชีวิตต่อในโรงเลี้ยงคนแก่ 19% ขณะที่กลุ่มที่ได้รับการปั๊มหัวใจฟื้นขึ้นมาแล้วกลายเป็นเจ้าชายเจ้าหญิงนิทราเพียง 12% ยิ่งหากได้รับการช็อกไฟฟ้าโดยผู้ยืนอยู่ใกล้ด้วยแล้ว โอกาสที่จะฟื้นแล้วเป็นเจ้าชายเจ้าหญิงนิทราลดเหลือ 8% นี่หมายความว่าไงท่านสารวัตร หมายความว่าปั๊มไม่ปั๊มหัวใจเขาก็มีโอกาสฟื้นของเขาอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง แต่ฟื้นแบบโดนปั๊มหัวใจดีกว่าเพราะจะฟื้นแบบปร๋อไม่กลายเป็นเจ้าชายเจ้าหญิงนิทรามากอย่างพวกที่ฟื้นแบบไม่มีใครช่วยปั๊มหัวใจให้ 
     ข้อมูลนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าความเชื่อเดิมที่ว่าปั๊มหัวใจเขาแล้ว เขาหรือเธอจะมีโอกาสฟื้นขึ้นมาเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทรามากขึ้นนั้นไม่เป็นความจริ๊ง..ไม่เป็นความจริงเลยคะท่านสารวัตร การที่เราละเลยไม่ช่วยปั๊มหัวใจเขาต่างหาก ที่เขาหรือเธอมีโอกาสจะฟื้นขึ้นมาเป็นเจ้าชายเจ้าหญิงนิทรามากกว่า ท้้งนี้ทั้งนั้นหมายความว่าอย่างไรเราก็พาเขาส่งโรงพยาบาลนะ หากเราจงใจจะพาเขาไปวัดโดยไม่ไปโรงพยาบาลนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
     ในแง่ของโอกาสเสียชีวิตเมื่อฟื้นมาได้แล้วหนึ่งปีก็เช่นกัน เมื่อตามไปดูหลังจากหนึ่งปีผ่านไปพบว่ากลุ่มที่ไม่มีคนยืนใกล้ช่วยปั๊มหัวใจให้จะเสียชีวิตก่อนครบหนึ่งปี 15% ขณะกลุ่มที่มีคนปั๊มหัวใจให้เสียชีวิตก่อนครบหนึ่งปีแค่ 8% ยิ่งกลุ่มที่มีคนยืนใกล้ช่วยช็อคไฟฟ้าให้ด้วยแล้วมีอัตราเสียชีวิตก่อนครบหนึ่งปีเพียง 2% เท่านั้นเอง
     กล่าวโดยสรุปการที่คนยืนใกล้จะกรุณาปั๊มหัวใจผู้หมดสติเป็นสิ่งดีที่สุดที่จะให้แก่เขาได้ เพราะทั้งจะช่วยเขาให้กลับฟื้นคืนชีพมามีชีวิตเดินเหินได้เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัว และทั้งจะช่วยลดโอกาสที่เขาหรือเธอจะกลายเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทราลงได้กว่า 40%
     4. ในแง่ของความขยันของคนไทยในการช่วยปั๊มหัวใจผู้หมดสติเมื่อเทียบกับฝรั่ง งานวิจัยที่เดนมาร์คที่กล่าวถึงข้างต้นพบว่าจำนวนผู้หมดสตินอกรพ.ที่ได้รับการช่วยปั๊มหัวใจโดยผู้ยืนอยู่ใกล้นั้นมีถึง 81% ของผู้หมดสติทั้งหมด และที่ได้รับการช็อกไฟฟ้าด้วยเครื่องช้อกอัตโนมัติซึ่งใช้โดยประชาชนผู้ยืนอยู่ใกล้มีถึง 17% แต่ในเมืองไทยนี้ผมเคยทำวิจัยขนาดเล็กกับผู้ป่วยหัวใจวายที่ถูกนำเข้ามาที่รพ.พญาไท 2 พบว่าที่ได้รับการปั๊มหัวใจโดยผู้ยืนอยู่ใกล้นั้นมีเพียง 6% เท่านั้น ส่วนที่ได้รับการช็อกไฟฟ้าโดยผู้ยืนอยู่ใกล้นั้นมีจำนวน…แหะ แหะ  0% โถ โธ่ ถัง มันช่างน้อยนิดเสียนี่กระไรท่านสารวัตรขา มันเป็นความผิดของใครกันนี่ แต่คงไม่ใช่ของหมอสันต์ดอกนะ เพราะหมอสันต์ได้พ้นหน้าที่จากการเป็นประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิตด้วยเหตุชราภาพไปเรียบร้อยแล้ว
    5. สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจอยากรู้ว่าปั๊มหัวใจทำกันอย่างไร ให้ลองศึกษาได้จากเว็บไซท์ของมูลนิธิสอนช่วยชีวิต (www.thaicpr.com) ถ้าสนใจจะไปเรียนก็ติดต่อที่นั่นได้ คนที่มาเข้าแค้มป์สุขภาพที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์หมอสันต์ก็จับสอนปั๊มหัวใจและช็อกไฟฟ้าให้เป็นกันทุกคนเผื่อมีโอกาสได้ใช้กับคนใกล้ชิดในอนาคต สำหรับคนที่ไม่เคยเรียนแต่เผอิญประสบเหตุคนใกล้ตัวหมดสติก็ให้ลงมือปั๊มหัวใจแบบมวยวัดไปเลยโดยไม่ต้องรอไปเรียนก่อนเพราะไม่ทันแล้ว ให้ถือว่าเรียนจากหมอสันต์แล้วตรงบล็อกนี้ กล่าวคือให้ทำการช่วยชีวิตด้วยมืออย่างเดียว (hands only CPR) คือกดหน้าอกอย่างเดียว ไม่ต้องเป่าปาก โดยเมื่อพบผู้หมดสติให้ทำไปทีละขึ้นดังนี้ 
(1) เรียกหาคนมาช่วย หรือโทรเรียกรถพยาบาลเองด้วยเบอร์ 1669
(2) วางผูุ้หมดสติให้นอนหงายบนพื้นราบแข็ง
(3) นั่งคุกเข่าข้างผู้หมดสติ วางส้นมือข้างหนึ่งลงบนหน้าอกผู้หมดสติ ตรงกลางระหว่างหัวนมสองข้าง แล้วเอามืออีกข้างซ้อนทับและประสานกับมือแรก 
(4) เริ่มต้นปั๊มหัวใจ โดยเหยียดแขนตรง โน้มตัวไปข้างหน้า ใช้น้ำหนักตัวกดส้นมือกระแทกลงบนหน้าอกแล้วปล่อย กระแทกแล้วปล่อย เป็นจังหวะๆ กดแต่ละครั้งกดแรงๆให้หน้าอกทรุดลงไปสองนิ้ว ปล่อยแต่ละครั้งให้หน้าอกเด้งกลับมาที่เดิมให้สุด คืออย่ากดแช่ไว้ กดเร็วให้ได้ 100-120 ครั้งต่อนาที หรือกดตามจังหวะ ชะชะช่า ถ้าเป็นคนรุ่นเดอะก็กดตามจังหวะเพลงสุขกันเถอะเรา
(5) กดหน้าอกไปจนมีคนมาช่วยเปลี่ยนหรือจนรถพยาบาลมาถึง หรือจนตัวเราหมดแรง

     6. จบเรื่องซีพีอาร์.แล้วนะ มาพูดเรื่องที่คุณไม่ได้ถามแต่หมอแอบสันต์สังเกตเห็นดีกว่า คือผมสังเกตเห็นว่าคุณรู้สึกผิดว่า ผ. ตายเพราะเป็นปากเสียงกับคุณ หรือตายเพราะเฉาปากคุณ (อุ๊บ ขอโทษ ปากเสียไม่เลือกกาละอีกละ) รู้สึกผิดว่าคุณใจดำไม่ปั๊มหัวใจให้เขา รู้สีกผิดว่าคุณทิ้งให้เขาตายเพราะกลัวเขาจะกลายเป็นเจ้าชายนิทราที่จะมาเป็นภาระแก่คุณในภายหน้า นี่น้องจ๋า (เรียกน้องได้นะ เพราะสามีคุณอ่อนกว่าผม ตัวคุณก็น่าจะอ่อนกว่าผม) ผมจะบอกสัจจธรรมชีวิตให้สองสามข้อนะ
     ข้อ 1. ความรู้สึกผิด (guilt) คือความโง่ คำว่า “โง่” ภาษาฝรั่งแปลว่า “ignorance” ภาษาบาลีแปลว่า “อวิชชา” ความรู้สึกผิดเป็น “ความคิด” ที่มีเนื้อหาสาระถวิลถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ความคิดเป็นแค่ลม ลมที่พัดผ่านไปแล้วก็คือไม่มีแล้ว เรื่องในอดีตเป็นเรื่องที่ไม่มีแล้ว แล้วคุณจะไปจมกับอดีตทำไม
     ข้อ 2. การประนามหรือลงโทษตัวเองก็เป็น “ความคิด” อีกเหมือนกันนะ เป็นความคิดที่ห่วยซ้ำซ้อนถึงสามชั้น 
    
     ชั้นที่หนึ่ง คือเป็นการคิดตั้งคอนเซ็พท์ที่ผิดๆขึ้นมา คอนเซ็พท์ที่ว่าตัวเองต้องเป็นคนอย่างนี้ต้องระดับนี้ พูดง่ายๆว่ามี “องค์” หรือมี “อีโก้”
     ชั้นที่สอง คือคุณดันไป “เชื่อ” คอนเซ็พท์ผิดๆนั้นเสียอีกว่าเป็นจริงเป็นจัง โถ น้องเอ๋ย อย่างใจดำกับใจขาวนี่ก็เป็นคอนเซ็พท์นะ ของจริงมันมีซะที่ไหนละ 

     ชั้นที่สาม คือ เพื่อที่จะปกป้ององค์หรืออีโก้ที่คุณหลงปักใจเชื่อนั้น คุณก็ดันไปสร้างความคิดลงโทษตัวเองซึ่งเป็นความคิดลบซ้อนบนความคิดลบสองชั้นแรกเข้าไปอีก นี่แหละที่ผมเรียกว่าห่วยสามชั้น  
     ข้อ 3. ฟังน้ำเสียงคุณคงเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ คนเรียนมาทางวิทยาศาสตร์มักจะบูชาความคิด เพราะวิทยาศาสตร์ก็คือการใช้ความคิด แต่ผมขอบอกคุณว่าความคิดไม่ใช่สิ่งสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์นะคุณ อันที่จริงความคิดนี่แหละที่จะเป็นตัวพาให้มนุษย์ตกต่ำ สิ่งสำคัญสูงสุดของการเป็นมนุษย์ที่คุณควรจะเข้าถึงคือความรู้ตัว (awareness) คุณต้องทิ้งความคิด ไปอยู่กับความรู้ตัว อย่าไปจมอยู่กับความคิด ผมเข้าใจคุณนะ ผมมีคนไข้บางคนที่สามีตายแล้วยังมาปรึกษาผมเรื่องจะเอาศพของสามีที่วัดกลับไปชัณสูตรใหม่เพราะคิดว่าทำอย่างนั้นจะเคลียร์ความคิดงี่เง่าที่คาอยู่ในใจตัวเองไดั คุณน้องขา ทิ้งอดีตอนาคตมาอยู่กับปัจจุบันเสียเถอะ ผ.ตายไปแล้ว เรื่องนั้นเป็นอดีตไปแล้ว ทำศพทำบุญกรวดน้ำคว่ำขันจบแล้วก็แล้วกัน จงทิ้งความคิดหันมา “รู้” ปัจจุบัน ใช้วันเวลาที่เหลือให้มีคุณค่าและเบิกบานดีกว่า
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Ritter G, Wolfe RA, Goldstein S, Landis JR, Vasu CM, Acheson A, Leighton R, Medendrop SV. The effect of bystander CPR on survival of out-of-hospital cardiac arrest victims. Am Heart J. 1985 Nov;110(5):932-7.
2. K Kragholm et al.  Efforts and 1-Year Outcomes in Out-Of-Hospital Cardiac Arrest. N Engl J Med 2017; 376 (18):1737-1747.