Latest

การปกป้องลูกไม่ให้ง่าว เอ๋อ สึ่งตึง คือพันธกิจหลัก

หนูมีเรื่องจะสอบถามนะค่ะ
หนูผ่าตัด CA Thyroid  ไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2556  และกลืนแร่ ไปเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2556  ตอนนี้หนูตั้งครรภ์ได้ 6 เดือนแล้วค่ะ หนูปรึกษากับหมอที่รักษาหนูแล้วค่ะ หมอบอกว่าสามารถตั้งครรภ์ได้ และตอนปลายเดือน พ.ย.2559 หมอปรับยาให้หนูใหม่ เนื่องจากแคลเซียมต่ำ (ยาที่กินอยู่เป็นประจำ)ยาแอลฟ่าแคลซิดลอล0.25มคก(ALFACALCIDOL) กิน 1 เม็ด เช้า  ยาแคลเซียมคาร์บอเนต600มก(CALCIUM CO3) กิน 3 เม็ด  4 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน(เคยกิน 2 เม็ด 4 เวลา)  และยาเอลทรอกซิน 0.1 มก(ELTROXIN) 1 เม็ด ก่อนอาหารเช้า   และเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2560 หนูไปหาหมอตามนัด แต่กลับไม่เจอหมอคนที่ผ่าตัดให้หนู  หมอย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้วค่ะ  เจอหมอคนใหม่  หนูบอกว่าหนูตั้งครรภ์อยู่  เขาบอกหนูว่า ทำไมปล่อยให้ท้อง รู้ไหมว่ามีโรคประจำตัว  เขาเลยบอกให้หนูมาคุยกับหมอที่หนูฝากท้อง  เขาบอกว่ากลัวมีผลกระทบกับเด็ก  หนูเครียดมาก  หนูก็เลยไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาล ผลเลือดวันที่ 4 ก.ค.60 free T4 = 0.761  , TSH = 75.72 , Free T3 = 1.56 และ แคลเซียม 9.13 หนูก็เลยเอาไปให้หมอใกล้บ้านที่หนูเคยรักษาดู  หมอเลยปรับยาให้ใหม่   ยาแอลฟ่าแคลซิดลอล0.25มคก(ALFACALCIDOL) กิน 1 เม็ด เช้า  ยาแคลเซียมคาร์บอเนต600มก(CALCIUM CO3) กิน 3 เม็ด  4 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน  และยาเอลทรอกซิน 0.1 มก(ELTROXIN) 1 เม็ดครึ่ง ก่อนอาหารเช้า(เคยกิน 1 เม็ดเช้า) และหมอนัดเจาะเลือดใหม่ ผลเลือดวันที่ 15 ส.ค.2560 หลังจากที่ปรับยาไทรอยด์แล้วค่ะ free T4 = 1.21 , TSH = 3.01  ,Free T3 = 2.06 และ แคลเซียม 9.30 ค่ะ

หนูอยากทราบว่า
1. ยาที่หนูกินอยู่ทั้ง แคลเซียม  ไทรอยด์ และวิตามินดี มีผลต่อลูกในท้องไหมค่ะ  โดยเฉพาะยาไทรอยด์ค่ะ เห็นเภสัชที่ รพ.ที่หนูไปรับยาถามว่าทำไมหมอไม่ให้หยุดยาไทรอยด์ หนูเลยบอกว่า ถ้าหนูหยุดยาไทรอยด์ ไทรอยด์หนูจะต่ำค่ะ หนูกลัวมากเลยค่ะ ไม่รู้จะปรึกษาใครค่ะ แต่หนูเคยอาจเพจของคุณหมอ หนูเลยคิดว่ายาไทรอยด์ไม่มีผลต่อเด็กค่ะ
2.ขณะหนูตั้งท้อง หนูต้องกินยาไทรอยด์ไปตลอดจนคลอดใช่ไหมค่ะ

…………………………………………………………..

ตอบครับ

     1. ถามว่ายาที่กินทั้งแคลเซียม ฮอร์โมนไทรอยด์ และวิตามินดี.มีผลต่อทารกในครรภ์ใหม ตอบว่า “ไม่มี” ครับ การที่เภสัชกรที่รพ.บอกว่ายาฮอร์โมนไทรอยด์มีผลต่อเด็กนั้น ท่านคงจะเข้าใจข้อมูลผิดไป หรือท่านอาจจะจำยาสับสน ยาฮอร์โมนไทรอยด์ (Eltroxin)นั้น ในทำเนียบพิษยาเขาจัดเป็นยา category A แปลว่ามีความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์สูงสุดคือ 100% การไม่กินยาต่างหากที่จะมีผลต่อทารกในครรภ์ เพราะหากขาดฮอร์โมนไทรอยด์ทารกในครรภ์จะกลายเป็นคนง่าว คนเอ๋อ คนสึ่งตึง คุณรู้จักคำสามคำนี้ไหม มันแปลได้ความหมายเดียวกัน ผมจะอธิบายคำแปลด้วยเพลงคำเมืองเหนือที่ผมชอบร้องตอนผมเป็นเด็กหนุ่มๆนะ

    “…เขาว่าตัวอ้าย เป็นคนสึ่งตึง
     มีสองสลึง ป๋ายแถมซาวห้า
     คิดๆขึ้นมา ใคร่หุย กินยาหมูตุ้ย ตะวา
     เปิ้นจุ๊อ้ายว่า มีวิตามิน…”

    แปลเป็นภาษาไทยภาคกลางได้ความว่า

    “…เขาว่าตัวพี่นี้เป็นคนปัญญาทึบ
    มีสองสลึง บวกอีกยี่สิบห้าสะตางค์ ก็แปลว่าเป็นคนสามสลึง หรือไม่เต็มบาทนะแหละจ๊ะ
    คิดๆขึ้นมามันน่าร้องไห้ เมื่อวานนี้พี่กินยาหมูอ้วนไป
    เขาหลอกพี่ว่ามันมีวิตามิน…อะจ๊าก..ก”

    แคว่ก แคว่ก แคว่ก ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

    ขอโทษ เผลอนอกเรื่อง กลับมาเข้าเรื่องดีกว่า ที่เภสัชกรของคุณบอกว่ายาไทรอยด์มันอันตรายกับทารกในครรภ์ ท่านคงจำสลับกับยาต้านไทรอยด์เช่นยาพีทียู.(PTU) และยาเมทิมาโซล (methimazole) ผมขอพูดถึงด้วยเสียเลยเผื่อแฟนบล้อกที่เป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ที่ต้องกินยาพวกนี้แล้วตั้งท้อง เพราะเคยมีรายงานทางระบาดวิทยาและรายงานเคสผู้ป่วยไม่กี่รายว่าการกินยานี้สัมพันธ์กับการเกิดความพิการของทารกในครรภ์ ทำให้แม้แต่หมอก็เกิดความกลัวยาเมทิมาโซลกันทั่วไป แต่ว่ามันเป็นความกลัวแบบคนกลัวผี ไม่เคยมีใครเห็นผีจริงๆสักคน กล่าวคือหลักฐานทั้งสองแบบ (งานวิจัยระบาดวิทยาและรายงานเคสผู้ป่วย) นี้ ไม่ใช่หลักฐานที่จะเอามาบอกได้ว่าอะไรทำให้เกิดอะไร หมายความว่าไม่ใช่หลักฐานที่ปรักปรำได้ว่ายาเมทิมาโซลทำให้ทารกพิการ อาจเป็นแค่ว่าการพบทารกพิการร่วมกันการใช้ยาเมทิมาโซลนั้นเป็นความฟลุ้คที่สองอย่างมาจ๊ะเกิดในคนๆเดียวกันโดยบังเอิญโดยที่ทั้งสองอย่างนั้นไม่มีผลต่อกันเลย อธิบายอย่างนี้จะรู้เรื่องไหมเนี่ย ไม่รู้เรื่องก็ไม่เป็นไร ผ่านไปก่อน ต่อมาได้มีการทำวิจัยแบบแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบแบบตามดูไปข้างหน้า (cohort study) ซึ่งเป็นหลักฐานระดับสูงกว่าเชื่อถือได้มากกว่า โดยเอาหญิงตั้งครรภ์ที่กินยาเมทิมาโซล 241 คน มาติดตามดูเปรียบเทียบกับหญิงตั้งครรภที่กินยาอื่นที่รู้แน่ชัดว่าไม่มีผลต่อทารกในครรภ์รวมทั้งยาพีทียู. จำนวน 1089 คน ผลปรากฎว่าทั้งสองกลุ่มมีอัตราการเกิดทารกพิการไม่แตกต่างกันเลย นั่นหมายความว่าหลักฐานที่สูงกว่านี้บ่งชี้ว่ายาเมทิมาโซลไม่ได้ทำให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์มากไปกว่าความพิการตามความฟลุ้คหรือตามดวง ต่อมาก็มีงานวิจัยอีกสองชุดที่ทำการวิจัยเปรียบเทียบแบบย้อนหลัง (retrospective study) ก็ไม่พบว่าการกินยาเมทิมาโซลทำให้ทารกพิการเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แล้วก็มีอีกงานวิจัยหนึ่งเปรียบเทียบความเสี่ยงของการเกิดไฮโปไทรอยด์ในเด็กทารกที่แม่กินยาเมทิมาโซลเทียบกับแม่ที่กินยาโพรพิลไทโอยูราซิลหรือพีทียู. (PTU) ก็พบว่าโอกาสเกิดความพิการไม่แตกต่างกันเช่นกัน กล่าวโดยสรุป ยาไทรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนไทรอยด์ หรือยาต้านไทรอยด์ ไม่มีผลก่อความพิการต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใดทั้งสิ้น

     การเป็นโรคไทรอยด์แล้วไม่กินยานั่นแหละที่มีผลต่อทารก กล่าวคือถ้าเป็นไฮโปไทรอยด์ก็จะทำให้ลูกเป็นคนสึ่งตึงอย่างที่เล่าไปแล้ว ถ้าเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ก็จะทำให้เกิดปัญหากับการตั้งครรภ์และการคลอดสาระพัดแบบ รวมทั้งการตายขณะคลอด คลอดมาน้ำหนักน้อย คลอดมาเป็นคอหอยพอก หรือเป็นไฮโปไทรอยด์ ดังนั้นแม่ที่เป็นโรคของต่อมไทรอยด์ไม่ว่าแบบไฮโปหรือไฮเปอร์แม้ขณะตั้งครรภก็ต้องกินยาต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาเด็ดขาด

     พูดถึงความกลัวยาเมทิมาโซลของแพทย์นี้ลามไปถึงหมอเด็กนู่นเลยนะ คือกลัวว่าแม่กินยาเมทิมาโซลแล้วให้ลูกดูดนมลูกจะกลายเป็นเด็กสึ่งตึง ซึ่งเป็นความกลัวที่ไร้สาระ หลักฐานวิทยาศาสตร์มีอยู่ว่าเป็นความจริงที่เมื่อตามไปตรวจดูน้ำนมแม่แล้วพบว่ายาพีทียู.และเมทิมาโซลออกไปอยู่ในน้ำนมแม่ (พีทียู.ออกไปน้อยกว่า) แต่งานวิจัยเปรียบเทียบแม่ที่กินยาเมทิมาโซลด้วยให้นมลูกด้วยจำนวน 139 คนก็ไม่พบว่าลูกของแม่ที่กินยาเมทิมาโซลด้วยให้นมบุตรด้วยจะมีปัญหาในเรื่องพัฒนาการของเด็กหรือง่าวเอ๋อแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าให้ยาในขนาดที่ต่ำกว่า 20 มก.ต่อวันนั้นไม่ได้ทำให้ทารกเป็นไฮโปไทรอยด์แน่นอน

     2. ถามว่าขณะตั้งท้อง ต้องกินยาไทรอยด์ไปตลอดจนคลอดใช่ไหม ตอบว่า ก็ใช่อะสิครับ ถ้าคุณไม่อยากให้ลูกของคุณถูกหลอกให้กินยาหมูตุ้ย อย่าลืมว่าคุณเป็นแม่คนแล้วนะ ภาระกิจหลักของคุณคือการปกป้องลูกไม่ให้เป็นคนง่าว คนเอ๋อ คนสึ่งตึง ดังนั้นคุณต้องตั้งใจกินยาไปจนคลอด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Martínez-Frías ML, Cereijo A, Rodríguez-Pinilla E, Urioste M. Methimazole in animal feed and congenital aplasia cutis. Lancet. 1992;339(8795):742–3.
2. Clementi M, Di Gianantonio E, Pelo E, Mammi I, Basile RT, Tenconi R. Methimazole embryopathy: delineation of the phenotype. Am J Med Genet. 1999;83(1):43–6.
3. Valdez RM, Barbero PM, Liascovich RC, De Rosa LF, Aguirre MA, Alba LG. Methimazole embryopathy: a contribution to defining the phenotype. Reprod Toxicol. 2007;23(2):253–5. Epub 2006 Nov 28.
4. Barbero P, Ricagni C, Mercado G, Bronberg R, Torrado M. Choanal atresia associated with prenatal methimazole exposure: three new patients. Am J Med Genet A. 2004;129A(1):83–6.
5. Di Gianantonio E, Schaefer C, Mastroiacovo PP, Cournot MP, Benedicenti F, Reuvers M, et al. Adverse effects of prenatal methimazole exposure. Teratology. 2001;64(5):262–6.
6. Momotani N, Ito K, Hamada N, Ban Y, Nishikawa Y, Mimura T. Maternal hyperthyroidism and congenital malformation in the offspring. Clin Endocrinol (Oxf) 1984;20(6):695–700.
7. Wing DA, Millar LK, Koonings PP, Montoro MN, Mestman JH. A comparison of propylthiouracil versus methimazole in the treatment of hyperthyroidism in pregnancy. Am J Obstet Gynecol. 1994;170(1 Pt 1):90–5.
8. Marchant B, Brownlie BE, Hart DM, Horton PW, Alexander WD. The placental transfer of propylthiouracil, methimazole and carbimazole. J Clin Endocrinol Metab. 1977;45(6):1187–93.
9. Azizi F, Khoshniat M, Bahrainian M, Hedayati M. Thyroid function and intellectual development of infants nursed by mothers taking methimazole. J Clin Endocrinol Metab. 2000;85(9):3233–8.
10. Azizi F, Hedayati M. Thyroid function in breast-fed infants whose mothers take high doses of methimazole. J Endocrinol Invest. 2002;25(6):493–6.