Latest

เฮ้ย..ย มันง่ายเกินไปหรือเปล่า

    วันนี้ผมเพิ่งสอน MBT มา มีสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นในชั้นเรียนหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง “เฮ้ย..ย” ผมจึงอยากจะเขียนทิ้งไว้ที่นี่ ก่อนที่ผมจะลืม

     แต่ก่อนที่จะเขียนถึงเฮ้ย ผมขอเขียนปูพื้นถึงเรื่องที่สอนที่เรียนกันไปวันนี้คลุกเคล้าไปด้วยนะ เพื่อให้ท่านจำเฮ้ยได้

    ในชั้นเรียนเราคุยกันว่าชีวิตประกอบด้วยสามอย่างคือ “กาย (body)” “ใจ (mind)” และ “ความรู้ตัว (awareness)” การมองชีวิตให้ครอบคลุมทั้งสามด้านนี้เรียกว่าเป็นการมองชีิวิตแบบองค์รวม (holistic view)

     ใจหรือ mind นั้น เราจะรับรู้ถึงมันได้ง่ายเมื่อมันมีกิจกรรม กิจกรรมของใจก็คือการคิด หรืือมีความคิด (thought) การคิดนี้มีองค์ประกอบสองส่วนคือ

     “ความสนใจ (attention)” กับ
     “เป้า (object)” ที่ใจไปรับรู้

     ความสนใจนี้ป็นเครื่องมือหากินของความรู้ตัว (awareness) เปรียบไปก็เหมือนดวงอาทิตย์เป็นความรู้ตัว ความสนใจเป็นแสงอาทิตย์ ส่วนเป้าที่ใจไปรับรู้เป็นเสมือนต้นไม้ก้อนหินหรืออะไรก็ตามที่แสงอาทิตย์ส่องไปถึง
     หรือเปรียบอีกอย่างก็คืือความสนใจเหมือนแสงไฟฉายกระบอกนี้ มันฉายออกมาจากหลอดไฟตรงนี้ซึ่งเปรียบเหมือนความรู้ตัว เมื่อแสงจากความรู้ตัวถูกฉายไปกระทบกล่องลำโพงนั้น กล่องลำโพงนั้นคือเป้า เมื่อความสนใจสาดไปกระทบเป้าใด ความคิดเรื่องเกี่ยวกับเป้านั้นก็เกิดขึ้น เป้านั้นอาจจะเป็นภาพ เสียง สัมผัส หรือเป็นความคิดก็ได้ เมื่อลำแสงไฟฉายฉายผ่านเลยออกจากเป้านั้นไป เราก็มองไม่เห็นเป้านั้นอีกต่อไปแล้ว ความคิดเกี่ยวกับเป้านั้นก็หยุดลง ดังนั้นความสนใจหรือลำแสงของไฟฉายนี้จึงมีอำนาจมีอิทธิพลมาก มันเป็นตัวกำหนดว่าเราจะคิดอะไร มันสาดส่องไปที่สิ่งไหน ความคิดเกี่ยวกับสิ่งนั้นก็เกิดขึ้น สิ่งนั้นก็สำคัญขึ้น พอมันฉายผ่านเลยไปที่อื่น ความคิดเกี่ยวก้บเป้านั้นก็หยุดลง สิ่งนั้นก็หมดคววมสำคัญ

     พูดถึงความคิด ขึ้นชื่อว่าความคิดก็มีทั้งแบบบวกและแบบลบ ความคิดลบส่งผลลบต่อร่างกายซึ่งเรียกว่าความเครียด ซึ่งเป็นเหตุของความทุกข์ใจและเป็นเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆที่วงการแพทย์ยังไม่มีวิธีรักษาให้หาย การจะแก้ไขก็ต้องทำด้วยการวางความคิดลง โดยการดึงความสนให้ใจถอยออกจากความคิดซึ่งเป็นเป้าทีี่ภายนอกกลับไปสู่ภายใน ไปอยู่กับความรู้ตัวอันเป็นต้นกำเนิดของมัน

     พูดถึงความรู้ตัว (awareness) มันเป็นอะไรที่ไม่สามารถจับต้องได้หรือรับรู้ได้ด้วยอยาตนะใดๆไม่ว่าจะเป็นตาหูจมูกลิ้นผิวหนังก็ตาม และไม่อาจรับรู้ได้ด้วยการคิดจินตนาการเอา แต่จะรับรู้ได้โดยการแกะหรือปลดความสนใจให้หลุดออกจากเป้าที่ภายนอก ให้ความสนใจนั้นมันหดกลับลงไปสู่ภายใน กลับไปสู่ความรู้ตัวอันเป็นต้นกำเนิดของมันเท่านั้น ความรู้ตัวเป็นเสมือนความว่างที่มีจุดศูนย์กลางซึ่งผมสมมุติเอานะว่าน่าจะอยู่ประมาณบริเวณหน้าอกของเรา มันเป็นความว่างที่ไม่มีขอบเขต หมายความว่ายืดหดได้ไม่สิ้นสุด ในเชิงความลึกมันก็เป็นเหมือนหลุมที่ไม่มีก้น คือลึกได้ไม่มีที่สุด มันมีลักษณะเป็นความตื่น คือไม่หลับ สามารถรับรู้อะไรได้ และมีความเบิกบานเป็นลักษณะประจำตัว พูดสั้นๆง่ายๆว่าความรู้ตัวมีลักษณะว่าง ตื่น รู้ เบิกบาน

     กลับมาหาเรื่องความคิดอีกครั้ง เมื่อแรกเกิดมานั้น เราเกิดมาพร้อมกับร่างกายและความรู้ตัว คือมีความตื่น มีความสามารถรับรู้ แต่ยังไม่มีความคิด เราค่อยๆเรียนรู้ว่าร่างกายนี้เป็นส่วนที่ตัวเราเองควบคุมได้ สิ่งแวดล้อมอื่นๆตัวเราเองควบคุมไม่ได้ คือเราเรียนรู้ว่านี่เป็น “ฉัน” โน่นไม่ใช่ฉัน ดังนั้น “ฉัน” เป็นความคิดแรกของมนุษย์เรา เป็นความคิดโดดๆ

     จากความคิดเดี่ยวๆโดดๆจากนั้นเราก็ค่อยๆเรียนรู้เอาหลายๆความคิดที่คล้ายกันมาเกี่ยวเนื่องกันมาผูกกันเป็นชุดเหมือนเอาฟางหลายเส้นมามัดกันเป็นเส้นเชือก เกิดเป็นชุดของความคิดหรือคอนเซ็พท์ (concept) เช่นเมื่อรู้จัก ”ฉัน” แล้วเราก็เรียนรู้คอนเซ็พท์ “ของฉัน” ของเล่นของฉัน แม่ของฉัน พ่อของฉัน ดังนั้นคอนเซ็พท์เป็นความคิดในรูปแบบที่สองถัดมาจากความคิดโดดๆโดยมีความคิด “ฉัน” เป็นแก่นกลาง  การที่แต่ละคนมีชื่อนามสกุลของตัวเอง ชื่อและนามสกุลนี่ หรือความเป็นบุคคลนี่ก็เป็นคอนเซ็พท์ การที่เราถูกสอนให้ทำแต่ความดีอย่าทำชั่ว ดีและชั่วนี่ก็เป็นคอนเซ็พท์

     เมื่อเราโตขึ้น คอนเซ็พท์หลายๆอย่างเราถูกพร่ำสอนและย้ำเตือนจนเราจำได้ขึ้นใจและส่วนหนึ่งมันจะค่อยๆกลายเป็นความเชื่อ (belief) ดังนั้นความเชื่อก็คือความคิดในรูปแบบที่สามถัดมาจากความคิดโดดๆและคอนเซ็พท์ เมื่อเราเชื่อในคอนเซ็พท์ใด เราจะปักใจว่าคอนเซ็พท์นั้นเป็นเรื่องจริง ทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นแค่ความคิด ขึ้นชื่อว่าความคิดก็เป็นเพียงแต่สิ่งที่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ ไม่มีความคิดอันไหนจะเป็นของจริงแท้ไปได้หรอก

     เมื่อปักใจเชื่อในคอนเซ็พท์ต่างๆมากระดับหนึ่ง เราจะเกิดความรู้สึกว่าเราเป็นบุคคลคนหนึ่งขึ้นมา ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยมีความรู้สึกอย่างนี้ แม้พ่อแม่จะตั้งชื่อให้เราแล้วเราก็ไม่มีความรู้สึกว่าเราเป็นบุคคลคนหนึ่ง แต่นานไปใครต่อใครเรียกชื่อเราซ้ำๆซากๆและทุกครั้งที่เรียกก็จะตามมาด้วยการเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับตัวเรา ทำให้เราเริ่มเชื่อว่าเราเป็นบุคคลคนหนึ่ง มีตัวตน (identity) ที่ชื่อนั้นชื่อนี้ มีความเชื่อในคอนเซ็พท์เรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่นเชื่อว่าเรารักความยุติธรรม เป็นลูกที่กตัญญู เป็นต้น ดังนั้นความสำคัญมั่นหมายว่าเราเป็นบุคคลๆคนหนึ่งนี้จริงๆแล้วก็เป็นเพียงความคิดในรูปแบบที่สี่ ซึ่งไม่มีอะไรเป็นของจริง แต่ยิ่งมีความเชื่อในคอนเซ็พท์หนักแน่น ความสำคัญมั่นหมายว่าเราเป็นบุคคลนี้ยิ่งรุนแรง บรรทัดฐานของสังคมก็เสริมให้เราเชื่อในความเป็นบุคคลของเรามากขึ้น เราไปติดต่องานคนก็จะถามหาบัตรประชาชน เพศ อายุ วันเกิด การศึกษา ทั้งหมดนี้คือคอนเซ็พท์ที่ช่วยตอกย้ำความเป็นบุคคลหรือ identity ของเรา มันดูเป็นของจริงจนเราแทบคิดไม่ออกเลยว่าความเป็นบุคคลของเรานี้มันจะเป็นเพียงแค่ความคิดไปได้อย่างไร

      ในบรรดาสามองค์ประกอบของชีวิตคือ (1) กาย (2) ใจ และ (3) ความรู้ตัวนี้ หากเราประเมินเอาจากประสบการณ์จริงของเราเอง ไม่ต้องไปสนใจคำสอนทางศาสนาใดๆ เราก็ยังสามารถะสรุปได้ง่ายๆด้วยตัวเองเลยว่า ใจหรือความคิดเป็นอะไรที่แปรเปลี่ยนสูญหายไปได้ง่ายที่สุด แป๊บเดียวก็เปลี่ยนไปแล้ว ขณะที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงช้า แต่ก็ใช่ว่าจะถาวร ร่างกายของเราตอนเป็นเด็กเจ็ดขวบกับตอนนี้ก็เปลี่ยนเรื่อยมาจนจำเค้าเดิมไม่ได้ มีแต่ความรู้ตัวเท่านั้นที่จีรังไม่เคยเปลี่ยน อย่างน้อยก็ตั้งแต่เราจำความได้มาจนถึงวันนี้ ความรู้ตัวก็ยังเป็นความรู้ตัวอันเดิม เราก็ยังรู้ตัวว่าเป็นเราคนเดิม อยู่ที่นี่ในใจเราเหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยน

      เมื่อความคิดเป็นต้นเหตุของความเครียด การจะไม่เครียดก็ต้องวางความคิดลง นั่นหมายถึงการวางคอนเซ็พท์ ความเชื่อ และความเป็นบุคคลของเราลงไปด้วย ซึ่งมีวิธีทำหลายวิธี แต่ผมสอนให้คุณทำวิธีเดียว คือวิธีแกะหรือปลดความสนใจออกจากเป้าที่ภายนอกซึ่งก็คือความคิด ให้มันหดกลับเข้าไปสู่ภายในตัว ไปสู่ความรู้ตัวซึ่งเป็นบ้านที่อยู่ของมัน

     วิธีที่จะดึงความสนใจออกจากเป้าภายนอกให้หดกลับเข้าไปสู่ภายใน ผมแนะนำให้ใช้วิธีตั้งคำถามกับตัวเองด้วยคำถามประโยคเดียวว่า “ฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า” แล้วพยายามตอบคำถามนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นขณะพยายามตอบคือความสนใจจะถูกแกะหรือปลดออกจากเป้าใดๆที่ภายนอกให้หดกลับเข้าสู่ภายในมาอยู่ที่ความรูุ้ตัวอันเป็นบ้านของมันอย่างเป็นอัตโนมัติ เมื่อความสนใจกลับเข้ามาอยู่กับความรู้ตัว เราก็จะเกิดความมั่นใจที่จะตอบตัวเองได้ว่า “ฉันรู้ตัวอยู่” จากนั้นให้ “กัน” หรือ “ปล่อย” ให้ความสนใจจมอยู่กับความรู้ตัว ให้มันจมลึกลงไปๆให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าเผลอ มันก็จะหลุดออกวิ่งไปหาเป้าภายนอกใหม่ เมื่อเผลอปล่อยมันไปแล้ว ก็ตั้งคำถามใหม่อีกว่า “ฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า” เพื่อเริ่มการดึงความสนใจให้กลับเข้าบ้านอีก การทำเช่นนี้ทำได้ทั้งขณะนั่งสมาธิหรือขณะใช้ชีวิตประจำวัน เราจะทราบว่าเราก้าวหน้าหรือไม่จากการตัวชี้วัดสองอย่างคือ ถ้าเราก้าวหน้าจะพบว่า (1) ความคิดลดลง และ (2) จิตใจเบิกบานมากขึ้น

     “หนูมีความคิดเกิดขึ้นว่า เฮ้ย.. การวางตัวตนนี้ มันก็เป็นแค่คอนเซ็พท์ที่พูดกันหรือเปล่า หนูเองเมื่อยี่สิบปีก่อนก็เคยไปที่สวนโมกข์ ก็พูดกันมากถึงการวางอัตตา แต่ก็เป็นแค่การพูดกัน ไม่มีใครทำได้  มันคงไม่ง่ายอย่างนี้หรอก มันต้องมีอะไรมากกว่านี้หรือเปล่า”

     “เฮ้ย..ย”

     นี่เป็นคำสำคัญนะ เฮ้ยนี่เป็นความคิด เป็นความคิดที่อันตรายด้วย คือมันเป็นความสงสัย ความสงสัยนี่เป็นตััวร้าย เป็นความคิดชนิดที่จะลากจูงเราออกไปจากเกมเสียก่อนที่เราจะได้ทันวางความคิดลง ขณะหน้าสิ่วหน้าขวานกำลังจะเห็นดำเห็นแดงกันอยู่แล้ว พอเจ้าเฮัยนี้มาเท่านั้นแหละ เราก็ถูกดึงกลับไปหาความคิดทันที กลับไปตั้งต้นที่สนามหลวงกันใหม่ กลับไปตั้งต้นเสาะหาคำตอบกันใหม่ กลับไปอ่านหนังสือใหม่ ไปฟังอาจารย์คนใหม่ แล้วหนังสือก็ดี อาจารย์ก็ดี ก็เป็นเพียงความคิดอีกความคิดหนึ่ง ซึ่งจะพอกไปบนความคิดเดิมที่สับสนอลหม่านและมากมายเกินพออยู่แล้ว ความคิดแรกที่จะต้องวางลงก็คือหนังสือนั่นแหละ แล้วหันมาเดินหน้าถามตัวเองว่า “ฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า” ถามแล้วพยายามตอบ จนความสนใจผละจากความคิดกลับไปอยู่กับความรู้ตัวได้สำเร็จ

     ประเด็นสำคัญที่ผมจะชี้ตอนนี้คือหากคุณอยากจะพบความสุข คุณต้องหยุดแสวงหาหนทางที่จะคลี่คลายความสงสัย หันหลังให้กับคำว่า เฮ้ย..ย แล้วลงมือชักนำความสนใจออกจากเป้าภายนอกกลับไปสู่ความรู้ตัวที่ภายใน ที่นี่เลย เดี๋ยวนี้เลย อย่าลืมว่าหนังสือก็ดี คำแนะนำของใครก็ตามรวมทั้งของผมเองด้วย ล้วนเป็นความคิด ไม่มีความคิดในรูปแบบใดๆไม่ว่าจะเป็นคอนเซ็พท์ ความเชื่อ หรือความสำคัญมั่นหมายในตัวตนจะพาคุณไปพบความสุขที่ถาวรได้ เพราะความสุขถาวรมีอยู่แต่ในความรู้ตัวซึ่งเป็นที่ที่ปราศจากความคิดเท่านั้น ความรู้ตัวเท่านั้นที่เป็นของจริงที่จีรัง มันอยู่ที่นี่อยู่แล้ว เดี๋ยวนี้แล้ว ทีี่ในตัวคุณนี่เอง เพียงแค่คุณวางความคิดลง คุณก็เข้าถึงมันได้แล้ว

     “ความสุขไม่ใช่เกิดจากเราได้สนองตอบความต้องการของเราได้สำเร็จหรือครับ”

     มองเผินๆคล้ายจะเป็นอย่างนั้นนะ พอเราอยาก เราก็ดิ้นรนสนองความอยาก เมื่อความอยากนั้นได้รับการสนอง เราก็มีความสุข จึงดูเหมือนว่าความสุขเกิดจากการได้สนองความอยากสำเร็จ แต่ความเป็นจริงคือว่าความสุขเกิดขึ้นจากการที่เรามีความรู้ตัว หมายความว่าเมื่อความสนใจของเราทิ้งเป้าที่ข้างนอกหันกลับไปอยู่กับความรู้ตัวที่ข้างใน พอมีความอยากเกิดขึ้น หมายความว่าความสนใจที่เดิมอยู่ในบ้านอยู่ดีๆได้วิ่งจู๊ดออกจากบ้านไปหาเป้าที่อยู่ข้างนอกอีกแล้ว เราก็ร้อนรนกระวนกระวายเพราะความอยาก ก็ต้องไปดิ้นรนสนองตอบต่อความอยากนั้น พอสนองได้แล้วความสนใจก็ละจากเป้าซึ่งเป็นความอยากเดิมนั้นหดกลับมาอยู่กับความรู้ตัวได้อีกครั้งแม้จะชั่วคราว เราก็มีความสุขได้อีกครั้ง เราจึงนึกว่าความสุขเกิดจากการได้สนองความอยาก แต่แท้ัจริงความสุขเกิดจากความสนใจได้ผละทิ้งความอยากนั้นกลับไปสู่ความรู้ตัว

     เปรียบเหมือนวันอากาศร้อน คนสองคนนั่งอยู่ใต้ต้นไม้เพื่อแสวงหาความร่มเย็น คนหนึ่งนั่งได้สักพักก็ออกไปค้นหาความสงบเย็นที่ข้างนอกเงาต้นไม้ ไปโดนแดด พักหนึ่งก็บอกว่าร้อนๆแล้วก็กลับเข้ามานั่งใต้ต้นไม้แล้วจึงรู้สึกเย็น แต่อีกพักเดียวก็ออกไปค้นหาอะไรที่กลางแดดอีกแล้ว แล้วก็บอกว่าร้อนๆอีก เข้าๆออกๆร่มไม้อยู่อย่างนี้ ขณะที่อีกคนหนึ่งนั่งอยู่ใต้ร่มไม้ตลอดไม่ออกไปไหน เขาก็ได้รับความร่มเย็นตลอดไม่ต้องเจอความร้อนเลย คนที่เข้าๆออกๆเสมือนคนที่มีความอยากแล้ววิ่งตามสนองซ้ำซาก ส่วนคนที่นั่งนิ่งอยู่ใต้ต้นไม้เสมือนคนที่อยู่กับความรู้ตัวตลอดโดยวางความอยากลงเสีย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์