Latest

ปรับปรุงหลักสูตรฝึกสติรักษาโรค (MBT Day Camp)

     แค้มป์ฝึกสติรักษาโรค (Mindfulness Based Treatment – MBT) ทำมาแล้วหลายแค้มป์ ยิ่งสอนก็ยิ่งมีความเจนจัดและจับประเด็นปัญหาของผู้เรียนได้มากขึ้น ได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาและวิธีสอนตลอดมาจนเดี๋ยวนี้จำหน้าเดิมเกือบไม่ได้ การแก้ไขครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ซึ่งจะเริ่มใช้ในแค้มป์ถัดไป คือ MBT8 (21 ตค.60) สาระหลักที่เปลี่ยนแปลงคือ (1) ตัดส่วนที่เป็นการคุยกันถึง concept ทิ้งหมด ไม่คุยเลย (2) ตัดภาคปฏิบัติที่มีการใช้จินตนาการหรือ visualization ทิ้งหมด เหลือแต่การปฏิบัติในการวางความคิดจริงๆล้วนๆ (3) เพิ่มการสอนในรูปแบบสนทนาโต้ตอบปัญหาเชิงปฏิบัติ (Sat Sang) ซึ่งทำให้มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนมากขึ้น (4)  ขยายเวลาออกไปอีกหนึ่งชั่วโมง คือไปจบที่ห้าโมงเย็น จึงขอถือโอกาสนี้แจ้งเนื้อหาสาระของหลักสูตร MBT ใหม่มาให้แฟนๆบล้อกและผู้จะไปเรียนทราบทั่วกัน

หลักสูตรคอร์สฝึกสติรักษาโรค  
Course Syllabus
Mindfulness Based Treatment – (MBT)


     วัตถุประสงค์ (Objective)

     วัตถุประสงค์ด้านความรู้ มุ่งให้ผู้เรียนได้รู้

1. สถานะที่แท้จริงของความคิด (thought) คอนเซ็พท์ (concept) และความเชื่อ (belief)
2. กลไกการเกิดความคิด คอนเซ็พท์ และความเชื่อ
3. ความแตกต่างระหว่างกลไกของการรู้ (knowing) กับการคิด (thinking)
4. ความรู้ตัว (consciousness หรือ awareness)
5. สิบเทคนิคในการวางความคิด (Dropping the thought)
6. วิธีรับมือกับความเจ็บปวด (Coping with pain)
7. การเลือกความคิด (Choosing the thought)
8. การใช้ชีวิตประจำวันโดยใช้ประโยชน์จากความรู้ตัว

     วัตถุประสงค์ด้านทักษะ มุ่งให้ผู้เรียนสามารถ

1. “รู้” โดยไม่มี “การคิด”
2. วางความคิดจนเหลืออยู่แต่ความรู้ตัวได้
3. ใช้เทคนิคการวางความคิดสิบเทคนิคเป็น
3.1 ตั้งคำถามให้ตัวเองตอบ (Self inquiry)
3.2 ลาดตระเวณร่างกาย (Body scan)
3.3 ผ่อนคลายร่างกาย  (Body relaxation)
3.4 รำมวยจีน (Tai Chi)
3.5 การหัวเราะ (Laughing)
3.6 ฟังเสียงในหัว (Listen to voice in your head)
3.7 ขยายช่องว่างระหว่างความคิด (Expanse gap between thoughts)
3.8 ย้อนดูความคิด (Recall)
3.9 เฝ้าดูความคิดสลายตัว (Watching the thought)
3.10 นั่งสมาธิแบบตามดูลมหายใจ (Breathing meditation)
4. สามารถรับมือกับความเจ็บปวดด้วยตนเองได้
โดยให้มีทักษะเหล่านี้มากพอที่จะเอาไปฝึกปฏิบัติต่อในชีวิตประจำวันของแต่ละคนได้

     วัตถุประสงค์ด้านเจตคติ 
     มุ่งให้ผู้เรียนมีเจตคติ
4.1 ให้คุณค่าต่อการวางความคิดเพื่อให้เกิดความรู้ตัว
4.2 ชอบการแก้ปัญหาความเครียดด้วยวิธีวางความคิดแทนการใช้ยา

     การจัดประสบการณ์เรียนรู้ (Learning experience)

     ตารางเรียน
วันที่เปิดสอน MBT สามารถตรวจสอบได้จากปฏิทินที่ด้านขวามือของบล็อกนี้ (ครั้งถัดไปคือวันที่ 21 ตค. 60) รายละเอียดการเรียนการสอนในแต่ละครั้งมีดังนี้

 9.00 – 9.30 น. รู้จักกัน (Getting to know you)
 9.30 – 10.00 น. Workshop1. ฝึกปฏิบัติ “การรู้ (knowing)” และ “การคิด(thinking)”
10.00 – 10.30 น. Workshop2. ฝึกปฏิบัติการวางความคิดในชั้นเรียนแบบ Sat Sang

10.30 – 10.45 น. Coffee break

10.45 – 11.15 น. Workshop3. ฝึกปฏิบัติวางความคิดด้วยวิธีตั้งคำถามให้ตัวเองตอบ (Self inquiry)
11.15 – 11.45 น. Workshop4. ฝึกปฏิบัติทำสมาธิแบบลาดตระเวณร่างกาย (Body scan)
11.45 – 12.00 น. Workshop5. ฝึกปฏิบัติการผ่อนคลายร่างกาย  (Body relaxation)

12.00-13.00 น. Lunch break

13.00 – 13.30 น. Workshop6. ฝึกปฏิบัติวางความคิดด้วยวิธีฟังเสียงในหัว (Listen to voice in your head)
13.30 – 14.00 น. Workshop7. ฝึกปฏิบัติวางควาวมคิดด้วยวิธีขยายช่องว่างระหว่างความคิด (Expanse gap between thoughts)
14.00 – 14.30 น. Workshop8. ฝึกปฏิบัติใช้การวางความคิดด้วยวิธีย้อนดูความคิด (Recall)
14.30 – 1.30 น. Workshop9. ฝึกปฏิบัติใช้การวางความคิดด้วยวิธีเฝ้าดูความคิดสลายตัว (Watching the thought)

15.00 – 15.15 น. Coffee break (เปลี่ยนชนิดเก้าอี้)

15.15 – 15.30 น. Workshop10. ฝึกปฏิบัตินั่งสมาธิตามดูลมหายใจ (Breathing meditation)
15.30 – 16.00 น. Workshop11. ฝึกปฏิบัติการรับมือกับความเจ็บปวด (Coping with pain)
16.00 – 16.30 น. Workshop12. ฝึกปฏิบัติรำมวยจีน (Tai Chi)
16.30 – 16.45 น. Workshop13. ฝึกปฏิบัติวิธีวางความคิดด้วยการหัวเราะ (Laughing)
16.45 – 17.00 น. ถามตอบปัญหาในการปฏิบัติ

     การประเมินผล

1. ประเมินผลด้วยการพูดคุยเวลาพัก (focus group)
2. แบบสอบถามเมื่อสิ้นสุดการเรียน
3. ประเมินผลเมื่อกลับมาร่วมกิจกรรมฟรีซัทซัง

ผลการประเมินใช้เพื่อปรับปรุงฝ่ายผู้สอนและเนื้อหาหลักสูตรเท่านั้น ในการประเมินผลเพื่อปรับปรุงตัวผู้เรียน ผู้เรียนต้องประเมินผลเอง หรือไปเข้ากิจกรรมฟรีซัทซังหลังจากจบชั้นเรียน MBT เพราะชั้นเรียนนี้ไม่มีเวลาประเมินผลความสำเร็จ (achievement) ของผู้เรียนเป็นรายคน

     การติดตามระยะยาวด้วยฟรีซัทซัง (Free Satsang)

    เท่าที่ผ่านมา คนมาเรียน MBT แล้วก็หายจ้อยเข้ากลีบเมฆกลับบ้านใครบ้านมันไป บางคนผมมีโอกาสได้พบหลังจากนั้นเมื่อกลับมาเข้าแค้มป์สุขภาพอื่นๆ จึงได้ทราบว่าบางคนก็ไปได้ดีมากน่าชื่นใจ แต่บางคนก็เข้ารกเข้าพงเหมือนจะจับหลักไม่ถูกเอาโน่นผสมนี่จนตัวเองหมุนเป็นลูกข่างไม่ไปไหน บางคนก็ยังคงเป็นว่าวที่หลุดลอยไปตามกระแสชีวิตประจำวันโดยไม่อาจจะตั้งตัวตั้งใจได้  ผมจึงคิดว่าต้องหาทางเอาคนที่เรียน MBT ไปแล้วให้กลับมาเรียนรู้ปัญหาจากการปฏิบัติร่วมกันอีกเป็นระยะๆโดยไม่ต้องเสียเงิน เพราะถ้าเสียเงินคนก็มาบ่อยๆไม่ได้

     ผมชอบรูปแบบการร่วมกลุ่มปฏิบัติสู่ความหลุดพ้นที่นิยมทำกันในอินเดีย อเมริกา และ ยุโรป ในรูปแบบที่เรียกว่า “ซัทซัง”หรือ Satsang (แปลว่าการสมาคมกับสิ่งดีๆ) คือเป็นรูปแบบการพบปะรวมกลุ่มกันเพื่อปฏิบัติสู่ความหลุดพ้นในทางจิตวิญญาณ มักจะประกอบไปด้วยการสอนสั้นๆ การนั่งปฏิบัติสมาธิภาวนาร่วมกัน การถามตอบคำถามที่เกิดระหว่างปฏิบัติ ผมจึงตั้งใจว่าจะจัดให้มีฟรีซัทซังขึ้นที่เวลเนสวีแคร์เดือนละครั้ง ฟรีก็คือไม่เสียเงิน เป้าหมายหลักคือมีไว้ให้คนที่เรียน MBT ไปแล้วได้กลับมา “สอบ” ความถูกผิดเมื่อนำความรู้ไปใช้งานจริง ผู้เรียน MBT แล้วสามารถเช็คตารางเวลานัดหมายฟรีซัทซังได้ที่มุมขวาบนของบล็อกนี้ โดยครั้งแรกจะจัดวันที่อาทิตย์ 22 ตค. 60 เวลา 9.30 – 12.00 น. กรณีคนทั่วไปที่ไม่เคยเรียน MBT หรือไม่ได้มาพักที่เวลเนสวีแคร์ก็สามารถมาร่วมได้ (ทั้ง Hall จุได้สบายๆ 30 ที่นั่ง) ศิษย์เก่า MBT ทุกรุ่นและผู้พักค้างคืนที่เวลเนสวีแคร์คืนก่อนหรือคืนวันซัทซังมีสิทธิสำรองที่นั่งล่วงหน้าได้ หรือในกรณีไม่ได้สำรองที่นั่งล่วงหน้าหากมีที่นั่งเหลือก็มีสิทธิได้ที่นั่งก่อนผู้สนใจทั่วไป  สำหรับผู้สนใจทั่วไปที่มาแล้วหากไม่มีที่นั่ง..ก็ต้องยืน ผู้สนใจเข้าร่วมฟรีซัทซังดูรายละเอียดและวิธีสำรองที่นั่งได้ที่ http://visitdrsant.blogspot.com/2017/08/free-satsang.html

     ค่าเรียน MBT day camp

     คนละ 2,500 บาท ราคานี้รวมค่าอาหารกลางวัน อาหารว่างสองเบรก ค่าวิทยากร ผู้ช่วยวิทยากร ค่าสถานที่ ค่าห้องแอร์ และอุปกรณ์การเรียนที่ต้องใช้ในศูนย์ แต่ไม่รวมค่าเดินทาง ทุกคนต้องเดินทางไปเอง

     ไม่จำเป็นต้องพักค้างคืนที่เวลเนสวีแคร์ เพราะการเดินทางด้วยรถยนต์ไปกทม.ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชม. แต่สำหรับผู้ประสงค์ที่จะพักค้างคืนที่เวลเนสวีแคร์ ก็มีห้องพักให้ (ห้องละสองเตียง) ค่าห้องรวมอาหารเช้า (สองคน) ลดพิเศษจากคืนละ 3,000 บาทเหลือ 2,500 บาทสำหรับผู้เข้าเรีียน MBT

     วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

1. แจ้งสำรองที่เรียน

     1.1 ทางโทรศัพท์ที่ พญ.สมวงศ์ ใจยอดศิลป์ โทร. 086 8882521 หรือคุณตู่ (ฐานวีร์ พีรกุล) โทร. 081 900 8321 หรือ 086 985 8628
     1.2 ทางอีเมล somwong10@gmail.com หรือ thannawee_pur@phyathai.com

2. ชำระเงินค่าลงทะเบียน

     โอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารกรุงเทพ สาขาเมืองทองธานี เลขบัญชี 931 0 06792 2 ชื่อบัญชี นายสันต์ ใจยอดศิลป์

3. ยืนยันการรับลงทะเบียน

     ส่งภาพถ่ายสลิปใบโอนเงินที่เขียนชื่อของท่านด้วยปากกาทับไว้อย่างชัดเจนบนใบสลิปนั้นด้วย ส่งไปยังพญ.สมวงศ์ทางอีเมล somwong10@gmail.com  ในกรณีไม่สะดวกในการส่งภาพถ่าย จะโทรศัพท์บอกกับพญ.สมวงศ์ที่หมายเลข 086 8882521 โดยตรงด้วยตนเองก็ได้

     ขอความกรุณาอย่าส่งใบสลิปมาโดยไม่เขียนชื่อว่าเป็นเงินของใคร เพราะทางเวลเนสวีแคร์ได้รับใบสลิปแล้วก็ยังไม่รู้จะลงทะเบียนในชื่อใครอยู่ดี

     การลงทะเบียนจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อทางเวลเนสวีแคร์ได้รับทั้งเงินและชื่อผู้ส่งเงินแล้วเท่านั้น

4. เงินค่าลงทะเบียนรับแล้วไม่มีคืน ถ้ามาไม่ได้ก็ไม่คืน เพราะเอาไปจ่ายค่าจ้างคนค่าสถานที่ค่าอาหารไปแล้ว

   การลงทะเบียนเรียนใช้สูตรเดิม คือมาก่อนได้ก่อน เต็มสิบคนแล้วปิด เพราะถ้ามากกว่านั้นจะเป็นสติแตกไม่ใช่สติรักษาโรค

     สถานที่ 

     เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์  อยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์ ย่านมวกเหล็ก-เขาใหญ่ สามารถใช้ Google map โดยคีย์คำว่า wellness we care center  

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์