Latest

กลุ่มอาการสะง็อกสะแง็ก (Frailty Syndrome)

เรียนอาจารย์นพ.สันต์ 
     ดิฉันอายุ ุ61 ปี กำลังเกษียณมา สูง 155 ซม. นน. 42 กก. ลดลงจากเมื่อปีกลายซึ่งอยู่ที่ 46 กก.  ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปีหมอก็ไม่เคยบอกว่าเป็นโรคอะไร ได้แต่บอกว่าปกติดี เมื่อสามเดือนก่อนไปเที่ยวเมืองจีนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง รู้สีกว่าตัวเองเดินช้า ตามคนอื่นเขาไม่ทัน จึงไม่อยากเดิน จนวันสุดท้ายสมัครใจเฝ้าโรงแรมไม่ออกไปไหน ธรรมดาอยู่ที่บ้านก็ไม่ค่อยไปไหนอยู่แล้วเพราะไม่ชอบออก กลับมาได้ตั้งสามเดือนแล้ว ตั้งใจกินอาหารเสริมและวิตามินบำรุงก็ไม่หาย น้ำหนักทำท่าจะลดลงไปอีก ดิฉันเป็นโรคอะไรและควรจะทำอย่างไรดี

…………………………………….

ตอบครับ

   ผมประเมินเอาตามข้อมูลที่คุณให้มาว่าผลการตรวจสุขภาพประจำปีทุกอย่างปกติ จึงขอวินิจฉัยทางอากาศว่าคุณน่าจะป่วยเป็น “กลุ่มอาการสะง็อกสะแง็ก” นี่เป็นชื่อภาษาไทยที่ผมตั้งให้เองเพราะศัพท์บัญญััติยังไม่มี ผมแปลมาจากชื่อในทางการแพทย์ว่า frailty syndrome ทั้งนี้หากถือตามงานวิจัยสุขภาพหญิง (WHAS) และงานวิจัยสุขภาพคนเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด (CHS) คำนิยามของกลุ่มอาการสะง็อกสะแง็กมี 5 ประการดังนี้
1. น้ำหนักลด (ลดเกิน 5% ในหนึ่งปี)
2. ขาดพลัง (exhaustion) หรือจิตตก นิยามว่าจากเดิมพลังงานเต็มสิบ ลดลงเหลือน้อยกว่าสาม
3. มีกิจกรรมน้อยลง (low physical activity) นิยามว่าหญิงออกแรงได้น้อยกว่า 270 แคลอรี่ ชายออกได้น้อยกว่า 383 แคลอรี่ ต่อสัปดาห์ 
4. เชื่องช้าลง (slow) นิยามว่าเดินแค่ 15 ฟุต (4.57 เมตร) ใช้เวลาเกิน 6-7 วินาที (ขึ้นกับเพศและความสูง)
5. ไม่แข็งแรง (weakness) นิยามว่าแรงบีบมือลดเหลือต่ำกว่า 20% 

     โรคนี้ม้ันเป็นโรคของคนแก่นะ อุบัติการณ์ของโรคสะง็อกสะแง็กในชุมชนในคนอายุเกิน 65 ปีในอเมริกาพบว่ามีมากถึง 7-12% และยิ่งแก่มากก็ยิ่งเป็นกันมากขึ้นๆ แต่ว่าคุณนี่อายุยังไม่ถึง 65 เลยนะ

     สาเหตุของโรคนี้เชื่อว่ามันเป็นการประชุมแห่งเหตุ คือสาระพัดสาเหตุมาเกิดบรรจบกันจนทำให้ระบบตั้งศูนย์ถ่วงล้อของร่างกาย (homeostasis) เสียการทำงานไปจนร่างกายรับมือกับภาวะเครียดไม่ไหว สาเหตุตัวเอ้ๆที่มักพบร่วมเสมอคือเกิดการอักเสบเรื้อรังขึ้นในร่างกาย มีความเครียดจากสิ่งแวดล้อมหรือจากการใช้ชีวิต หรือมีการเจ็บป่วยด้วยโรคเรืื้อรังต่างๆซ่อนอยู่ ส่งผลให้ระบบกล้ามเนื้อและระบบฮอร์โมนเสียการทำงานตามไปด้วยจนมีอาการดังกล่าว 

     สำหรับการพยากรณ์โรคนี้ เมื่อใดก็ตามที่โรคสะง็อกสะแง็กเกิดขึ้น เมื่อนั้นเชื่อขนมเจ๊กกินได้ว่าอัตราตายจะเพิ่มตามมา แต่อย่างไรก็ตาม สถิติบอกว่าโรคนี้มันกลับฟื้นคืนดีได้ถ้า…   

     หลักฐานทางการแพทย์นับถึงวันนี้วิธีที่จะป้องกันและแก้ไขโรคสะง็อกสะแง็กได้เด็ดขาดมีวิธีเดียวคือออกกำลังกาย ทั้งการออกกำลังกายแบบเล่นกล้าม แบบแอโรบิก และแบบเสริมการทรงตัว ครบสูตรครบสามรส ถ้าผู้สูงอายุที่สะง็อกสะแง็กไม่ยอมออกกำลังกายไม่ยอมเล่นกล้ามเสียอย่างก็..จบข่าว 

    ดังนั้นผมแนะนำคำเดียวว่าให้คุณเริ่มด้วยการออกกำลังกาย เน้นการเล่นกล้าม พอการออกกำลังกายกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารขึ้นมาก็ให้กินทุกอย่างที่ขวางหน้า เดี๋ยวคุณก็จะดีขึ้นเอง ถ้าทำอย่างนี้แล้ว 3 เดือนยังไม่ดีขึ้นคุณค่อยกลับไปโรงพยาบาลเพื่อให้หมอเขาสืบค้นหาโรคเรื้อรังที่อาจซุกซ่อนอยู่แต่หาไม่เจอในเมื่อตอนไปครั้งที่แล้ว

     การรักษาโรคสะง็อกสะแง็กที่ได้ผลรองลงไปก็คือการบำบัดแบบปจว. หรือปฏิบัติการทางจิตวิทยา ผมหมายถึงการพยุงผู้ป่วยให้รอบด้านแบบผสมผสานหรือแบบองค์รวม (comprehensive care) ท้ั้งทางร่างกาย ความคิด จิตวิญญาณ ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม ก็มีหลักฐานว่าทำให้ดัชนีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

     ส่วนการบำบัดด้วยวิธีอื่นเช่นการบำบัดทางโภชนาการ หมายถึงกินอาหารที่กลัวว่าจะขาดแคลนให้ครบเช่น แคลอรี่ โปรตีน ไวตามิน เกลือแร่ และกาก เป็นวิธีที่น่าจะได้ผลในเชิงทฤษฎี แต่หลักฐานวิจัยที่จะสนับสนุนว่าการบำบัดทางโภชนาการที่ไม่มีการออกกำลังกายได้ผลจริงไหมยังไม่มี พูดง่ายๆว่าถ้าไม่ออกกำลังกายเสียอย่าง แม้จะตั้งใจกินหรือตั้งใจกรอกอาหารเสริมอย่างไรก็ไม่ได้ผล ต้องเข็นให้ออกกำลังกายให้ได้ก่อน พอมีความอยากอาหาร การบำบัดด้วยอาหารจึงจะมีช่องทางได้ประโยชน์  

     ส่วนการบำบัดด้วยยา ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนเพศชาย ฮอร์โมนเพศหญิง ฮอร์โมน IGF1 หรือยาต้านการอักเสบ ล้วนมีผลสองด้านคือดีบ้างเสียบ้าง ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าดีมากกว่าเสียหรือเสียมากกว่าดี ดังนั้นผมจึงยังไม่แนะนำ ยกเว้นตัวเดียวที่มีผลข้างเคียงต่ำและมีความสัมพันธ์กับการที่อาการสะง็อกสะแง็กอาจจะดีขึ้นคือวิตามินดี. แต่ว่าผมสนับสนุนให้ใช้วิธีออกแดดเป็นหลักมากกว่า หรืออย่างน้อยถ้าระดับวิตามินดี.ต่ำมากก็ออกแดดควบกับการกินวิตามินดี. เพราะการออกแดดมีคุณค่าต่อร่างกายและจิตใจที่มากกว่าการช่วยสร้างวิตามินดีเท่านั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Fried LP, Tangen CM, Walston J, Newman AB, Hirsch C, Gottdiener J, Seeman T, Tracy R, Kop WJ, Burke G, McBurnie MA, Cardiovascular Health Study Collaborative Research Group. Frailty in older adults: evidence for a phenotype. J Gerontol A Biol Sci Med Sci. 2001 Mar; 56(3):M146-56.
2. Theou O, Stathokostas L, Roland KP, et al. The effectiveness of exercise interventions for the management of frailty: a systematic review. J Aging Res. 2011;2011:569194. 
3. Gill TM, Baker DI, Gottschalk M, Peduzzi PN, Allore H, Byers A. A program to prevent functional decline in physically frail, elderly persons who live at home. N Engl J Med. 2002;347:1068–1074.
4. Fiatarone MA, O’Neill EF, Ryan ND, et al. Exercise training and nutritional supplementation for physical frailty in very elderly people. N Engl J Med. 1994;330:1769–1775.
5. Forster A, Lambley R, Hardy J, et al. Rehabilitation for older people in long-term care. Cochrane Database Syst Rev. 2009;(1):CD004294.