Latest

เด็กแก่แดด กับการระบาดของโรคเด็กอ้วน

เรียนคุณหมอสันต์
หลานสาวอายุแค่ 7 ปีแต่มีนมโต มีกลิ่นตัว มีขนอวัยวะเพศ และมีประจำเดือนแล้ว พาไปหาหมอเด็ก หมอก็ไม่ได้รักษาอะไรเป็นพิเศษ ได้แต่สั่งว่าห้ามกินไก่เคนตั๊กกี้เด็ดขาด อยากถามคุณหมอว่าจะป้องกันเด็กไม่ให้เป็นสาวเร็วได้อย่างไร เพราะหลานสาวอีกคนเพิ่ง 3 ขวบ และถ้าเป็นแล้วอย่างคนพี่นี้จะรักษาอย่างไร

……………………………………

ตอบครับ   

     การเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วหรือเป็นเด็กแก่แดด ในทางการแพทย์นิยามว่าคือหญิงเป็นสาวก่อนอายุ 8 ปี ชายเป็นหนุ่มก่อนอายุ 9 ปี

     ผลวิจัยเด็กหญิงโดยใช้ข้อมูลสำมะโนสุขภาพประชากรสหรัฐ (NHANES)ก็ดี ผลวิจัยความเป็นหนุ่มสาวที่เดนมาร์คก็ดี ผลวิจัยการเริ่มเกิดนมตั้งเต้าของเด็กในโครงการวิจัยมะเร็งเต้านมกับสิ่งแวดล้อมก็ดี ล้วน พบว่าการเป็นสาวของเด็กหญิงเกิดเร็วขึ้นๆอย่างต่อเนื่องและแน่นอนโดยเฉพาะในปีหลังๆมานี้ สถิติบ่งชี้ว่าการเป็นสาวเร็วของเด็กหญิงนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการระบาดของโรคอ้วนในวัยเด็ก และการแก่แดดเร็วนี้ไม่ได้เป็นแต่เด็กหญิง งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Pediatrics ก็ได้ข้อมูลสรุปว่าเด็กผู้ชายก็แก่แดดเร็วเช่นกัน สรุปว่าที่ว่าเด็กสมัยนี้แก่แดดเร็วนั้นเป็นเรื่องจริงทั้งเด็กหญิงทั้งเด็กชาย

     ทางด้านคนทำมาค้าขายเขาล่วงหน้าไปก่อนแล้วด้วยการทะยอยผลิตผ้าอนามัยไซส์เด็ก (Kotex tween) ออกขาย และผมเคยเห็นที่ร้านบู้ทที่อิตาลี่หน้าร้อนมีน้ำยาดับกลิ่นขี้เต่าเด็ก (Keep It Kind Fresh Kidz Deoderant) ออกมาขายกันแล้ว เหลือแต่ว่าวงการแพทย์ยังไม่รู้จะทำอย่างไรกับการชลอแนวโน้มการเกิดเด็กแก่แดดซึ่งมีแนวโน้มเดินไปข้างหน้าอย่างไม่รู้จักหยุดนี้อย่างไรดี ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างต่อไปเราจะมีคุณแม่อายุไม่ถึง 10 ขวบให้เห็นกันแน่นอน เพราะเด็กแก่แดดนั้นวุฒิภาวะทางร่างกายจะล้ำหน้าไปก่อนวุฒิภาวะทางจิตใจ เมิ่อสองอย่างนี้มาบวกกัน..อะไรก็เกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นแล้วการเป็นสาวเร็วนมตั้งเต้าเร็ว ยังสัมพันธ์แน่นอนกับโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น

     งานวิจัยที่ผมให้ชื่อไว้ในบรรณานุกรมข้างท้ายนี้ ได้สรุปปัจจััยที่พบร่วมกับการเป็นสาวเป็นหนุ่มเร็วว่าได้แก่

1. พันธุกรรม
2. น้ำหนักตัว (ความอ้วน)
3. กินอาหารเนื้อสัตว์มากตอนก่อนวัยเรียน
4. ดื่มนมวัวและกินผลิตภัณฑ์นมวัวมาก
5. ดื่มเครื่องดื่มซอฟท์ดริงค์ที่ใส่น้้ำตาลมาก เช่นน้ำผลไม้บรรจุเสร็จ น้ำอัดลม
6. กินอาหารที่มีไวตามินและแร่ธาตุต่ำและไม่หลากหลาย หมายถึงอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบของพืช เช่นอาหารจังค์ที่ทำจากแป้งขัดขาวเคลือบน้ำตาล
7. กินอาหารที่มีกาก (พืช) น้อย
8. มีความเครียดในครอบครัว
9. ได้รับฮอร์โมนเพศ เช่นเอสโตรเจน, เทสโทสเตอโรน รวมไปถึงเคมีภัณฑ์ในสิ่งแวดล้อมที่มีฤทธิ์เพิ่มระดับฮอร์โมน หรือยับย้้งฮอร์โมนในร่างกายได้ เช่นยาฆ่าแมลง น้ำมันเชื้อเพลิง สารเคมีในอุตสาหกรรมต่างๆ และ..พลาสติกในกลุ่ม BPA และ phthalates สารเคมีเหล่านี้มักสะสมในเนื้อเยื่อไขมันของสัตว์ที่ถูกนำมาเป็นอาหารของคนเราเช่นเนื้อหมูเนื้อวัวด้วย

     ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการพบร่วมกันของสองสิ่งเท่านั้น วงการแพทย์ยังไม่รู้จริงๆว่าในบรรดาปัจจัยที่พบร่วมเหล่านี้ อะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการแก่แดด และเป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กแก่แดดเหล่านี้มีร่างกายที่ปกติดีมาก งานวิจัยที่ฝรั่งเศษเอาเด็กหญิงแก่แดด 200 คนมาตรวจสมองพบความผิดปกติแค่ 2% เท่านั้นเอง ที่เน้นการตรวจสมองก็เพราะว่ากลไกธรรมชาติของการเป็นหนุ่มเป็นสาวเกิดจากการที่สมองส่วนไฮโปทาลามัสปล่อยฮอร์โมนกระตุ้นต่อมเพศ (GnRH) ออกมามากขึ้น การค้นหาสาเหตุของการแก่แดดจึงเพ่งเล็งไปที่การมีเนื้องอกบริเวณไฮโปทาลามัส เจ้าฮอร์โมน GnRH นี้จะถูกปล่อยออกมาแบบเป็นลูกๆ ในเด็กหญิงออกมาทีก็จะไปกระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ (LH) และฮอร์โมนกระตุ้นโพรงสร้างไข่ (FSH) เป็นรอบๆทำให้เกิดประจำเดืิอน ในเด็กชายก็จะไปกระตุ้นอัณฑะให้สร้างน้ำอสุจิ

     เนื่องจากผมเป็นหมอปฐมภูมิ ผมจะขอตอบคุณเฉพาะประเด็นการป้องกันโรคเท่านั้น ส่วนใครที่มีลูกเป็นโรคเด็กแก่แดดไปเรียบร้อยแล้ว เชิญโน่นเลยครับ กุมารแพทย์สาขาพัฒนาการเด็ก (child development) ซึ่งมักจะต้องเจาะเลือดดูฮอร์โมน ตรวจดูภาพเอ็มอาร์ไอ.ของสมอง ถ้าจำเป็นก็ฉีดยาต้านฮอร์โมน GhRH ไปทางโน้นเลย

     ในแง่ของการป้องกันโรค หลักวิชาแพทย์แผนปัจจุบันว่าด้วยการป้องกันโรคเด็กแก่แดดยังไม่มี..ไม่มีเลยจริงๆ เพราะวงการแพทย์รู้แต่ปัจจัยที่พบร่วมกัน แต่ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง ดังนั้นหมอสันต์จึงต้องลุยถั่วออกคำแนะนำของตัวเอง ทั้งนี้ท่านผู้อ่านโปรดเข้าใจว่านี่ไม่ใช่มาตรฐานเวชปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เป็นแค่ที่หมอสันต์กุหรือคุ้กขึ้นมาเองโดยพิจารณาป้องกันไม่ให้มีปัจจัยที่พบร่วมกับการเกิดโรคเด็กแก่แดดให้ได้มากที่สุด ซึ่งสรุปว่าวิธีป้องกันโรคเด็กแก่แดดฉบับหมอสันต์ มีดังนี้

     1. อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างโรคเด็กอ้วนกับโรคเด็กแก่แดดนั้นมีแน่นอน การลดความอ้วนในเด็กต้องแก้ไขทั้งการไม่ให้กินอาหารที่มีแคลอรี่สูงเป็นปริมาณมากเกินไป และการกระตุ้นให้ออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญแคลอรี่ให้มากขึ้น

     2. ให้เด็กอยู่ห่างๆฮอร์โมนเพศ ห้ามกิน ห้ามทา ห้ามพ่น ยกเว้นถ้าจำเป็นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเอสโตรเจน, เทสโทสเตอโรน หรือ สะเตียรอยด์

     3. อย่าให้เด็กกินอาหารเนื้อสัตว์มาก การกินเนื้อสัตว์มากตั้งแต่วัยก่อนเรียนสัมพันธ์กับการเป็นเด็กแก่แดดมากขึ้น ส่วนข้อกังขาของคุณยายที่ว่าเนื้อไก่ยี่ห้อ… ฉีดฮอร์โมนมากทำให้เด็กเป็นสาวเร็วขึ้นจริงไหม ตอบว่าไม่ทราบครับเพราะไม่เคยมีใครทำวิจัยระดับของฮอร์โมนกระตุ้นการเติบโตหรืือฮอร์โมนเพศในเนื้อไก่แต่ละยี่ห้อไว้

     4. อย่าให้เด็กดื่มนมวัวและกินผลิตภัณฑ์นมวัวมาก ให้เริ่มอาหารธรรมชาติแบบปั่นหรือบดละเอียดเป็นของเหลวตั้งแต่ก่อนหย่านมแม่ เมื่อหย่านมแม่แล้วก็ให้กินอาหารธรรมชาติอย่างเดียวโดยไม่จำเป็นต้องให้ดื่มนมวัวต่อจากนมคน นับถึงวันนี้ยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ใดๆแม้แต่ชิ้นเดียวที่บ่งชี้ว่าการจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีมีอายุยืนนี้จะต้องดื่มนมวัวต่อหลังจากหย่านมคนแล้ว มีแต่หลักฐานว่าคนที่ดื่มนมวัววันละสามแก้วขึ้นไปจะมีอัตราตายรวมสูงกว่าคนที่ดื่มนมวัวน้อย แม้คำแนะนำของรัฐบาลอเมริกัน (USDA 2015) ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลกดดันของอุตสาหกรรมนมอย่างหนักก็ยังแนะนำให้ดื่มนมวัวไม่เกินวันละ 2-3 แก้ว โดยดื่มในรูปนมไร้ไขมัน (0% fat milk) ขณะที่คำแนะนำโภชนาการของฮาร์วาร์ดที่เรียกว่า Healthy Plate Eating นั้น แนะนำโต้งๆเลยว่าให้จำกัดการดื่มนมวัว โดยถ้าจะดื่มก็แนะนำไม่ให้เกินวันละ 1-2 แก้ว

     5. ให้ักินอาหารพืชมากๆ กินพืชให้หลากหลายเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เพราะอาหารพืชเป็นอาหารที่ให้กาก (fiber) ขณะที่อาหารเนื้อสัตว์ทุกชนิดไม่มีกาก อาหารกากมากมากมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคแก่แดดน้อยลง สัมพันธ์กันนะ แต่เกี่ยวข้องแบบเป็นสาเหตุกันจริงไหมหรือกลไกจริงๆเป็นอย่างไรไม่มีใครทราบ ทราบแต่ว่ากากชนิดละลายได้จะช่วยลดการดูดซึมโคเลสเตอรอลซึ่งเป็นสารตั้งต้นการสร้างฮอร์โมนเพศไม่ให้เข้าสู่ร่างกายมากเกินไป

     6. อย่าให้เด็กดื่มเครื่องดื่มใส่น้ำตาล เช่นน้ำอัดลม น้ำผลไม้บรรจุเสร็จ ให้ทานผลไม้สดๆหรือปั่นด้วยความเร็วสูงแล้วดื่มทั้งหมดโดยไม่ทิ้งกากดีกว่า

    7. อย่าให้เด็กกินอาหารจั๊งค์ แบบใส่กล่องใส่ถุงขาย เพราะส่วนใหญ่เป็นอาหารทำจากแป้งขัดขาวเคลือบไขมันทรานส์หรือเคลือบน้ำตาล ไม่มีไวตามินแร่ธาตุและกากซึ่งร่างกายต้องการ

     8. พ่อแม่ต้องร่วมด้วยช่วยกันดำเนินชีวิตในลักษณะสร้างครอบครัวอบอุ่น อย่าให้เด็กเติบโตท่ามกลางความเครียด ไม่มีใครทราบว่าทำไมเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่เคร่งเครียดจึงเป็นเด็กแก่แดดง่าย อาจเป็นสัญชาติญาณว่าชีวิตนี้ไม่เที่ยงหนอ ฉันอาจตายเมื่อไหร่ไม่รู้ อย่ากระนั้นเลยรีบๆออกลูกไว้ก่อนดีกว่า.. หิ หิ นี่เป็นมั้งศาสตร์ของหมอสันต์เองนะ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Euling SY, Herman-Giddens ME, Lee PA, et al. Examination of US puberty-timing data from 1940 to 1994 for secular trends: panel findings. Pediatrics. 2008;121(suppl 3):S172–S191
2. Age at puberty and the emerging obesity epidemic. Aksglaede L, Juul A, Olsen LW, Sørensen TI
PLoS One. 2009 Dec 24; 4(12):e8450.
3. Biro FM, Greenspan LC, Galvez MP. Puberty in girls of the 21st century. J Pediatr Adolesc Gynecol. 2012;25(5):289–294
4. Herman-Giddens ME, Steffes J, Harris D, et al. Secondary sexual characteristics in boys: data from the Pediatric Research in Office Settings Network. Pediatrics. 2012;130(5). Available at: www.pediatrics.org/cgi/content/full/1305/e1058
5. Vandeloo MJ, Bruckers LM, Janssens JP: Effects of lifestyle on the onset of puberty as determinant for breast cancer. Eur J Cancer Prev 2007;16:17-25.
6. Kaplowitz PB: Link between body fat and the timing of puberty. Pediatrics 2008;121 Suppl 3:S208-217.
7. Berkey CS, Gardner JD, Frazier AL, et al: Relation of childhood diet and body size to menarche and adolescent growth in girls. Am J Epidemiol 2000;152:446-452.
8. Rogers IS, Northstone K, Dunger DB, et al: Diet throughout childhood and age at menarche in a contemporary cohort of British girls. Public Health Nutr 2010:1-12.
9. Gunther AL, Karaolis-Danckert N, Kroke A, et al: Dietary protein intake throughout childhood is associated with the timing of puberty. J Nutr 2010;140:565-571.
10. Wiley AS: Milk intake and total dairy consumption: associations with early menarche in NHANES 1999-2004. PloS one 2011;6:e14685.
11. Vandeloo MJ, Bruckers LM, Janssens JP: Effects of lifestyle on the onset of puberty as determinant for breast cancer. Eur J Cancer Prev 2007;16:17-25.
12. Cheng G, Gerlach S, Libuda L, et al: Diet quality in childhood is prospectively associated with the timing of puberty but not with body composition at puberty onset. J Nutr 2010;140:95-102.
13. Diamanti-Kandarakis E, Bourguignon JP, Giudice LC, et al: Endocrine-disrupting chemicals: an Endocrine Society scientific statement. Endocr Rev 2009;30:293-342.
14. Leung AW, Mak J, Cheung PS, et al: Evidence for a programming effect of early menarche on the rise of breast cancer incidence in Hong Kong. Cancer Detect Prev 2008;32:156-161.
15. Susanna C. Larsson, Alessio Crippa,, Nicola Orsini,, Alicja Wolk, and Karl Michaëlsson. Milk Consumption and Mortality from All Causes, Cardiovascular Disease, and Cancer: A Systematic Review and Meta-Analysis. Nutrients. 2015 Sep; 7(9): 7749–7763.. doi:  10.3390/nu7095363