Latest

ร็อคโคโค..ศิลปะปูนปั้นในสมัยกลาง

   หลายวันก่อนผมไปสอนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

ประตูเก่าที่เลิกใช้แล้ว ปั้นปูนได้สวยระดับงานปั้นในยุโรปกินไม่ลง

ซึ่งเรียกกันในภาษาตลาดว่า “แบ้งค์ชาติ” ผมมาสอนที่นี่บ่อย แต่มักจะมาแบบมีรถมาส่ง คราวนี้ขับรถมาเองก็เลยหลงทางภายในแบ้งค์ไปจอดรถในลานจอดรถที่ไม่เคยจอด พอลงจากรถก็สังเกตเห็นประตูรั้วเก่าซึ่งปิดตายไม่มีใครเข้าออกแล้วแว่บหนึ่งก็เกิดเอะใจขึ้นมา ว่าเอ๊ะ เสาประตูนั่นเป็นปูนปั้นแบบร็อคโคโคนี่นา จึงลืมเรื่องที่จะต้องรีบไปสอนเสียชั่วคราว เดินเข้าไปดูประตูเก่านั้นใกล้ๆ ปั้นได้สวยเสียด้วย เรียกว่างานปั้นปูนเสาประตูรั้วของที่ฝรั่งปั้นจริงๆในยุโรปยังทำอะไรไม่ได้เลย  สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับคำนี้ ร็อคโคโค (Rococo) เป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมในยุโรปสมัยราวปี 1700 กว่าๆ หลังจากที่คนเบื่อสถาปัตยกรรมแบบเหลี่ยมๆโดมๆสไตล์บาโร้ค (baroque) อย่างเช่นวังวาติกันฝีมือไมเคิลแองเจโลแล้ว งานศิลปะออกแนว “ลิเก” แบบร็อคโคโคจึงเกิดขึ้น ร็อคโคโคของจริงนั้นลิเกจริงๆ ผมเคยขับรถผ่านไปเจอโบสถ์ขนาดใหญ่กลางทุ่งในประเทศเยอรมันแคว้นบาวาเรียแถบตอนปลายๆของถนนโรแมนติกโร้ด อยู่กลางทุ่งห่างบ้านผู้คนราวกับโบสถ์ร้าง จำชื่อโบสถ์ไม่ได้เสียแล้ว ใหญ่มาก แต่ว่าลิเกแบบสุดๆ คือปั้นปูนกันเสียจนลายตาไปหมด แต่ลายปั้นแต่ละอันก็หยดย้อยเป็นก้นหอยสวยดี

วังบางขุนพรหม หลักฐานว่าใครเป็นหมู่ ใครเป็นจ่า

     กลับมาเรื่องประตูรั้วเก่าที่แบงค์ชาติ พอผมเล่าให้ลูกศิษย์ซึ่งเป็นพนักงานแบ้งค์ฟังเธอก็ร้องอ๋อเลยว่า

    “นั่นมันเป็นประตูทางเข้าวังบางขุนพรหมซึ่งเลิกใช้ไปนานแล้ว”

     คำตอบนั้นทำให้สนใจวังบางขุนพรหมซึ่งเป็นตึกหลังหนึ่งในบริเวณแบงค์ชาตินี้ขึ้นมาทันทีทั้งๆที่มาสอนแบงค์ชาตินี้เกือบสิบครั้งแล้วไม่เคยสนใจเลย จึงออกปากขออนุญาตลูกศิษย์เข้าไปชม ตึกหลังนี้เขาเปิดให้คนทั่วไปให้เข้าชมได้ด้วยนะ วันไหนเวลาไหนบ้างผมจำไม่ได้แล้ว พอได้เข้ามาชมจริงๆแล้วก็รู้สึกว่าเมืองไทยนี้มีอะไรไกล้ตัวที่ผมไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นอีกมากแฮะ  วังนี้เป็นสถาปัตย์กรรมแบบบาโร้คผสมร็อคโคโคและถ้าเป็นคนที่สนใจศิลปะยุโรปสมัยกลางมาก่อนก็จะเห็นว่ามันผสมหรือเจือด้วยแนวของอาร์นูโว (Art Nouveau) ซึ่งชื่อเป็นฝรั่งเศสก็จริงแต่รากกำเนิดจริงเริ่มที่อังกฤษโดยทีี่ศิลปินแนวนี้ที่ดังที่สุดเป็นชาวเช็คโก บนชั้นสองมีห้องสีชมพูและห้องสีน้ำเงินซึ่งวิจิตรไม่เบา ทั้งหมดนี้ออกแบบและก่อสร้างโดย คาร์ล ซันเดรสกี สถาปนิกชาวเยอรมัน และมารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกผู้มีชื่อเสียงชาวอิตาลี ผมดูแล้วยกให้เป็นสถาปัตยกรรมร็อคโคโคที่เจ๋งที่สุดของเมืองไทย ถ้ามีอาคารร็อคโคโคอื่นใดเจ๋งกว่านี้ที่ผมไม่เคยเห็นท่านผู้อ่านก็ช่วยบอกคนแก่เอาบุญด้วยนะครับ

ภายในวังบางขุนพรหม ศิลปะร็อคโคโคบนพื้นกระดานไม้มะค่า 

 เข้าดูภายในวังนี้แล้วมีความรู้สึกเหมือนหลายปีมาแล้วตอนที่ไปสอนพวกหมอที่ญี่ปุ่นได้มีโอกาสไปดูวังโชกุนที่เมืองโอซาก้า ทำให้นึกถึงคำพูดแบบบ้านๆของคนไทยที่ว่า

     “ใครเป็นหมู่ ใครเป็นจ่า”

     หมายความว่าความเนี้ยบ ความคลาสสิก และความโอ่อ่าของวังนี้ มันแสดงถึงว่าเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ (กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) ผู้เป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ จะต้องเป็น “จ่า” ตัวจริงในยุคสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่อย่างแน่นอน

     ตอนขากลับออกจากชมวัง น้องมัคคุเทสก์ได้เล่าว่าในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทหารของคณะราษฏร์เอาปืนมาจี้เอาตัวเจ้าฟ้าบริพัตรฯไปทั้งที่ยังอยู่ในชุดนอนโดยไม่ยอมให้เปลี่ยนชุดกุยเฮงที่ใส่นอนด้วยซ้ำ แล้วเอาตัวไปกักไว้เป็นตัวประกันที่พระที่นั่งอนันต์ก่อนที่จะยื่นคำขาดต่อในหลวง ร.7 ซึ่งกำลังประทับอยู่ที่หัวหินให้สละราชสมบัติ ฟังมาถึงตอนนี้ความคิดของผมก็แล่นไปถึงสมัยเป็นนักเรียนมหาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนคนหนึ่งชอบอ้างพังเพยที่เขาคิดขึ้นมาเองบ่อยๆว่า

    “กิ้งกือมีหมื่นตีนยังพลาดตกส้วมได้” 

     เพราะว่าคนที่เป็นอัจฉริยะ จบการทหารระดับสูงจากเยอรมัน เป็นผู้ปรับโครงสร้างกองทัพไทยทั้งกองทัพให้ทันสมัยเข้มแข็ง มีอำนาจราชศักดิ์เป็นจ่าตัวจริงคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จบริบูรณ์ทั้งมหาดไทยกลาโหมแถมควบอำนาจผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างเช่นเจ้าฟ้าบริพัตรฯนี้ เป็นมนุษย์คนละเบอร์ฝีมือคนละชั้นกับพวกคณะราษฎร์อย่างที่ไม่มีอะไรจะเทียบเคียงกันได้ แต่ทำไม..ทำไมจึงพลาดท่าเสียทีแก่เด็กๆระดับลูกหาบได้ถึงเพียงนี้ เออหนอ..ข้อนี้ผมก็ไม่รู้ไม่เข้าใจเหมือนกัน

     แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้และเข้าใจก็คือคนเรานั้นเบื้องนอกมักยอมทำสิ่งที่คนเห็นว่าสำคัญแต่เจ้าตัวกลับเห็นว่าไม่สำคัญ ลึกลงไปในใจมีสิ่งที่ตนเห็นว่าสำคัญซุ่มรออยู่เหมือนภรรยาสุดที่รักรอการกลับบ้านของสามีตอนเย็น โดยที่คนอื่นไม่รู้ไม่เห็นด้วยหรอกว่านี่เป็นสิ่งสำคัญ

     ประวัติศาตร์บันทึกไว้ว่าทูลกระหม่อมบริพัตรเคยทรงเล่าประทานพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา พระธิดา ฟังว่า

     “…ถ้าพ่อเลือกได้ พ่อจะเรียนดนตรีและภาษา และจะทำงานด้านดนตรีอย่างเดียว แต่พ่อเลือกไม่ได้ เพราะพ่อบังเกิดมามียศตำแหน่ง ต้องทำงานให้ประเทศชาติ ทูลหม่อม (รัชกาลที่ 5) สั่งให้พ่อไปเรียนวิชาทหารเพื่อกลับมาปรับปรุงกองทัพไทย พ่อก็ไปเรียนวิชาทหาร บางครั้งพ่อเบื่อบางวิชาที่ต้องเรียนจนทนไม่ไหว ต้องเก็บพ็อกเก็ตมันนี่เอาแอบไปเรียนดนตรี แอบไปเรียนเพราะพวกผู้ใหญ่สมัยนั้นเห็นว่าวิชาดนตรีไม่เหมาะกับชายชาติทหาร เมื่อได้เรียนดนตรีที่พ่อรักก็สบายใจ เกิดความอดทนที่จะเรียนและทำงานที่พ่อเบื่อ…”

     บรรทัดนี้ ผมขอสดุดีต่อดวงวิญญาณเจ้าของบ้านหลังนี้ ไม่ใช่ต่ออัจฉริยภาพอันครบเครืื่องของท่านนะ แต่สดุดีต่อสำนึกรับผิดชอบอันเปรียบเสมือนห้องอันกว้างใหญ่ที่เปิดพื้นที่เกือบทั้งหมดให้กับการรับใช้คนอื่น โดยที่เวลาที่จะรับใช้ตัวเองนั้นเหลือเป็นเพียงซอกมุมเล็กๆของห้องอันกว้างใหญ่นี้เท่านั้น แต่ว่าซอกเล็กนี้แหละที่เป็นที่ตั้งของเทียนอันให้พลังส่องสว่างไล่ความมืดได้ทั่วทั้งห้อง

     วันนี้ว่าจะตอบจดหมายที่ถามเรื่องโรคภัยไข้เจ็บสักหนึ่งฉบับ แต่ว่าเขียนมาถึงตอนนี้เกิดความรู้สึกอย่างลุกไปเคาะเปียโนสักสองสามแป๊ง จดหมายเอาไว้ตอบวันหลังก็แล้วกันนะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์