Latest

ไม่มีสิ่งไหนจะหนักเกินไป ไม่มีคำว่าทำไม่ได้

     “วิหคน้อย.. 
     โผบินคอยคู่ อยู่กลางหนอง
     น้ำเป็นฟอง ฟองพริ้วสบัด เห็นมัจฉา
     เสียงนกไพรร้อง ใกล้ค่ำ พร่ำอำลา
    พี่จากมา ด้วยกรรมจำพราก จากดวงใจ..”

     วันนี้ขึ้นต้นด้วยการร้องเพลง ผมร้อง แต่ท่านไม่ได้ยินหรอก สมมุติว่าท่านได้ยินก็แล้วกัน เคยพยายามจะถ่ายออกมาเป็นคลิปให้ท่านได้ยินด้วยไอโฟนหกแต่ไม่สำเร็จ จึงเลิกราไป ถามว่า อ้าว ทำไมหมอสันต์ไม่ทันสมัย ทำไมยังใช้ไอโฟนหกอยู่เลยหรือ ตอบว่าเพราะวันหนึ่งภรรยาไปเข้าคอร์สอะไรสักอย่างเรื่องการพัฒนาศักยภาพตนเองอะไรเนี่ยแหละ เธอเล่าว่าครูซึ่งเป็นคนต่างชาติถามว่าใครใช้ไอโฟนเจ็ดแล้วบ้างยกมือขึ้น นักเรียนในชั้นก็ยกมือกันสลอน แล้วครูก็เฉลยว่า

    “คนที่ซื้อไอโฟนเจ็ดนั้น..โง่ เพราะไอโฟนห้าไอโฟนหกยังไม่รู้ว่าเขาใช้ประโยชน์กันยังไงเลยก็เสียเงินไปซื้อไอโฟนเจ็ดมาอีกแล้ว”

     ผมได้ยินอย่างนั้นจึงไม่สนไอโฟนเจ็ดเลย เพราะกลัวถูกคนเขาว่า..โง่ หึ หึ

    ครั้นจะให้คนอื่นเขาคอยมาถ่ายคลิปให้ ผมก็ไม่ชอบพิธีรีตอง เคยแล้ว สมัยก่อนผมทำโทรทัศน์ด้วยนะ เพราะผมต้องการให้ความรู้ผู้คนในวงกว้างจึงพยายามทำโทรทัศน์ ทั้งไปทำคู่กับคุณดู๋ที่ช่องเก้า ดู๋..สัญญา คุณากร เนี่ยแหละ และทั้งทำรายการของตัวเองอยู่พักหนึ่งที่ช่องเดอะเนชั่น แต่ว่ามันมาติดตรงที่มันไม่ได้อย่างใจ คือการทำโทรทัศน์แบบนั้นมันเป็นอะไรที่ใหญ่โตมโหระทึกอย่างกับต้อนช้างเข้าพะเนียด เวลาถ่ายทำทีมีคนอยู่ในห้องส่งร่วมสิบคน อีล้งช้งเช้ง คนนั้นทำนั่นคนนี้ทำนี่ แสงไฟก็จ๊าเสียจนเหมือนอยู่ในโลกเหนือจริง มันเป็นบรรยากาศที่ไม่ผ่อนคลายหรืือเป็นกันเอง ผมไม่ชอบเลย ในการให้ความรู้ผมอยากนั่งสบายๆ ไม่ต้องมีใครมาวุ่นวายขายปลาช่อน มีแต่ผมคนเดียวนั่งคุยกับผู้ชม เพราะยิ่งแก่ยิ่งไม่ชอบพิธีรีตอง เอาไว้ให้ผมทำเองเป็นก่อนแล้วจะลองอีกที

    พูดถึงไม่ชอบพิธีรีตอง ความจริงผมไม่ชอบมาตั้งแต่เด็กแล้ว ราวปีพศ. 2515 (คือ 45 ปีมาแล้ว) ตอนนั้นผมเป็นนิสิตใหม่มหาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขน สมัยโน้นทุกปีพระเจ้าอยู่หัวร.9 จะเสด็จมาทรงดนตรีกับวงเคยู.แบนด์ของมหาลัย เสด็จมาแต่ละทีรุ่นพี่ก็จะเกณฑ์น้องใหม่ไปนั่งเจี๋ยมเจี้ยมตัวแข็งทื่อฟังดนตรีอยู่แถวหน้าสุด ส่วนพวกรุ่นพี่ไปนั่งบ้างยืนบ้างอยู่ข้างหลังจะได้ยุกยิกได้สะดวก ผมถูกเกณฑ์ไปนั่งอยู่แถวหน้า ท่านอธิการบดีซึ่งพวกเราชอบเรียกท่านลับหลังว่า”จารย์หม่อม” (คือท่านจักรพันธ์ เพ็ญศิริ จักรพันธ์) ก็กราบบังคมทูลถวายรายงานโน่นนี่นั่นตามสูตร รวมทั้งเบิกตัวนักดนตรีนักร้องทีละคน พอถึงเวลาพระเจ้าอยู่หัวตรัสตอบ เสด็จมาที่ไมโครโฟนแล้วตรัสว่า

     “เราจะมาเล่นดนตรีฟังดนตรีกันนะ อธิการบดีก็ไม่ใช่เด็กแล้ว ไม่ต้องมีพิธีมากก็ได้”

     ผมฟังแล้วเผลอตบเข่าตัวเองด้วยความชอบใจ ไม่ใช่ชอบใจที่จารย์หม่อมเจอเบรคนะ ท่านผู้อ่านอย่าเข้าใจผมผิด แต่ชอบใจที่พระเจ้าอยู่หัวร.9 ไม่ทรงโปรดพิธีรีตอง

    กลับมาเรื่องของเราดีกว่า วันนี้จะตอบจดหมายนักศึกษาแพทย์หญิงปีที่สาม โปรดสังเกตว่านักศึกษาแพทย์ที่มีปัญหาเนี่ยส่วนใหญ่จะอยู่ปีสามนะครับ เพราะตรงนี้มันเป็นสันดอนของหลักสูตรแพทย์ เด็กมักจะมาเกยตื้นกันที่นี่ มาฟังรายนี้นะ

     “หนูเป็นนศพ.ปี 3 มหาลัย … หนูมีปัญหาว่าหนูคงจะเรียนไม่จบ พ่อแม่หนูคงจะต้องเสียใจ เพราะเวลาใกล้สอบ อย่างน้อยสามวันก่อนสอบหนูจะอ่านหนังสือไม่ได้เลย ยิ่งเพื่อนเขารีบอ่านหนังสือกัน หนูยิ่งอ่านไม่ได้ หนูต้องอ่านแต่นิยายอย่างเดียว คุณพ่อบอกว่าทำอย่างนี้ไม่ได้เพราะวิชาแพทย์ถ้าเรียนแบบไม่อ่านหนังสือก่อนสอบอย่างนี้ต่อไปต้องสอบตกแหงๆ เท่าที่ผ่านมาหนูก็ยังไม่ตกนะคะ แค่ก็ผ่านมาแค่ B กับ C เป็นส่วนใหญ่ ยิ่งวิชาใหญ่หนูยิ่งอ่านหนังสือก่อนสอบไม่เข้า หนูเคยขอพ่อแม่ว่าหนูเรียนไม่ไหวแล้ว หนูขอเปลี่ยนไปเรียนอย่างอื่น พ่อแม่ก็บอกว่าให้ทนอีกหน่อยๆ หนูเห็นเพื่อนหนูหลายคนดร็อปไป บาง คนก็เป็นโรคจิตต้องเลิกเรียนไป หนูไม่อยากรอให้ถึงตอนนั้น หนูควรจะทำอย่างไรดี”

     อ้า นี่ ท่านผู้อ่านจับประเด็นให้ดีนะ ไม่ใช่อ่านหนังสือไม่ได้นะ อ่านได้ แต่อ่านได้แต่หนังสือนิยายน้ำเน่า หนังสือวิชาแพทย์อ่านไม่ได้ นี่ เรื่องมันเป็นยังงี้ซะด้วยซิคะท่านสารวัตร หิ หิ

    เอา..า..ละ คราวนี้มาตอบ

……………………………………

    ตอบครับ

    สิ่งที่ปรากฎกับคุณสามวันก่อนสอบนั้นคือ “ความกลัว”

    “ความกลัว” เป็นความคิดนะ หรือจะว่ามันเป็นคอนเซ็พท์ก็ได้ มันถักทอขึ้นมาจากความคิดสองส่วน คือ (1) ความจำเรื่องแย่ๆ กับ (2) ความเชื่อในคอนเซ็พท์เรื่องเวลา ผมหมายถึงอนาคต เราจดจำอดีตที่เราเคยสอบได้คะแนนไม่ดี เห็นเพื่อนสอบตก เห็นเพื่อนบ้า นี่เป็นความจำ เราเอามันมาผูกกับคอนเซ็พท์เรื่องอนาคตสานมันขึ้นมาเป็นเรื่องเป็นราวว่าถ้าเราสอบตก เราจะต้องเป็นบ้า พ่อแม่เราก็ต้องเป็นบ้า ต้องบ้ากันไปหมด ภาวะอย่างนั้นเรายอมรับไม่ได้ ผลของความคิดนี้คือความกลัว กลัวขี้ขึ้นสมอง กลัวจนไม่มีแรงจะขยับตัวทำอะไรเลย สมัยผมเป็นเด็กปู่ของผมซึ่งเป็นคนทำไร่เลื่อนลอยและพรานป่าเคยเล่าให้ฟังว่าหมาเวลามันได้กลิ่นเสือมันจะกลัวมากเหมือนมันถูกสาปจนกลายเป็นหินขยับตัวไม่ได้ ร้องก็ไม่ออก ได้แต่เยี่ยวราดอย่างเดียว คุณก็เป็นประมาณนั้น ตอนนี้ยังไม่เยี่ยวราด แต่ต่อไปไม่แน่ ฮ่า ฮ่า (อุ๊บ..ขอโทษ พูดเล่น)

    คำแนะนำของหมอสันต์คือ

     1. ถ้าก่อนสอบอ่านหนังสือไม่เข้า ก็ไม่ต้องอ่าน

     2. ตอนเรียนในชั้นเรียนเป็นช่วงที่โดยธรรมชาติจะไม่มีความกลัวอะไร มีแต่ความอยากรู้ในเนื้อหาวิชา ให้ตั้งใจทำความเข้าใจกับเนื้อหาวิชาตอนนั้น ถ้ายังเข้าใจไม่ดีก็ทบทวนมันท้ายชั่วโมงหรือเย็นนั้นเลยหรืออย่างช้าที่สุดปลายสัปดาห์นั้น ทบทวนเสร็จแล้วก็จบ เวลาจะสอบก็อาศัยจากแค่นั้นพอ ผมสอนนักเรียนแพทย์อยู่หลายปี ผมรับประกันคุณอย่างหนึ่งว่าวิชาแพทย์นี้ถ้าคุณเข้าใจหลักพื้นฐานหรือสมมุติฐานของแต่ละเรื่องดี คุณสอบผ่านแหงๆ เบาะๆคุณก็ต้องได้ C เพราะวัตถุประสงค์หลักของหลักสูตรคือคาดหมายให้คุณเข้าใจแค่นี้ ส่วนการจดจำรายละเอียดนั้นเขามีไว้ท่องก่อนสอบเพื่อแข่งกันเอา A หรือ B คุณไม่ต้องไปแข่งกับเขาหรอก

     3. เวลาสามวันก่อนสอบที่อ่านหนังสือไม่ได้นั้น เมื่อตั้งใจว่าไม่ต้องอ่านหนังสือแล้ว ความอยากไขว่คว้าหานิยายน้ำเน่ามาอ่านแทนมันจะหายไปเอง เวลาตั้งสามวันนี้ก็จะไม่มีอะไรทำถูกแมะ ให้คุณใช้เวลานี้ “ดู” ความกลัว พอความกลัวสอบตกโผล่เข้ามาให้คุณรีบบอกว่า

     “เดี๋ยวนะ เดี๋ยวนะ เจ้าความกลัวเอ๋ย อย่าเพิ่งไปไหนนะ ฉันขอทำความรู้จักสมัครเป็นเพื่อนซี้หน่อย”

     แล้วคุณก็ดูเจ้าความกลัวนั้น ดูเพื่อจะทำความรู้จัก ดูให้เห็นตามที่มันเป็นจริงๆ ไม่ใช่ดูเพื่อขับไล่ หรือดูเพื่อสอบกำพืด ไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น ดูแบบเราเป็นคนหนึ่ง มองดูความกลัวซึ่งเป็นอีกคนหนึ่ง ดูให้รู้ว่ามันมาแล้ว มันมาแล้วก็ให้เฝ้าดูมันอยู่ เฝ้าแบบสวามิภักดิ์ ใกล้ชิด นอบน้อม แอบมอง เมื่อมันมาและอยู่จนพอใจแล้วมันก็ไป คุณก็ผ่อนคลาย มันมาอีกก็ดูอีก จนมันเซ็งไม่กลับมาแล้ว แค่คุณก็ยังไม่ต้องอ่านหนังสือหรอกนะ เพราะคุณตั้งใจไม่อ่านก็ไม่ต้องอ่าน รีแลกซ์ ทำอะไรเล่นๆ ทำอะไรเบาๆ แต่อย่าอ่านนิยายน้ำเน่าได้ไหม..ขอร้อง ไม่รู้เป็นอะไรกันนักศึกษาแพทย์ผู้หญิงสมัยนี้ชอบนิยายน้ำเน่ากันจัง บางคนเรียนจบจนเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแล้วแต่ก็ยังติดนิยายน้ำเน่า เวลานางอิจฉาจะตบตีกับนางเอกที่นึงก็ร้องเสียงดังแว้ด..ด แว้ด..ด การไปติดนิยายเป็นการเปิดรับความคิดไร้สาระเข้ามารกสมอง ซึ่งเป็นเรืื่องไม่เข้าท่าเลย เราเป็นนักวิชาชีพ สมองเราเมื่อว่างจากเนื้อหาวิชาที่จะใช้ช่วยคนไข้แล้วก็ควรปล่อยให้มันว่างจากความคิด ชีวิตเราจึงจะสงบเย็น

     พอรู้สึกว่าใจว่างลงแล้ว มีอารมณ์จะหยิบตำราแพทย์ขึ้นมาทบทวน ก็ยัง ยังไม่ต้อง รีแลกซ์ต่อไป การหยิบตำราแพทย์ตอนนี้เกิดจากแรงผลักดันของความกลัวที่เหลือเชื้ออยู่ อย่าไปเชื่อมัน รีแลกซ์ เฝ้าดูมันต่อไป สองวัน สามวัน ไม่ต้องอ่านหนังสือ ภูมิความรู้ที่จะเอาไปสอบก็เอาแค่ที่เรียนมาจากห้องและทบทวนหลังเลิกเรียนที่ได้ทำไว้ก็พอแล้ว

     ทำอย่างนี้จนค่อนข้างมั่นใจว่าความกลัวมันลดอิทธิพลลงไปมากแล้ว หากมีอารมณ์จะหยิบตำรามาทบทวนก่อนสอบจึงค่อยหยิบ หยิบแล้วก็ไม่ต้องอ่านมาก เอาแค่ทบทวนนิดๆหน่อยๆก็พอ วางหนังสือ อยู่ว่างๆ hang out ในความเงียบ อย่าอ่านจนปวดหัวแล้วจึงวางนะ แบบนั้นผิดสูตรของหมอสันต์

     จบคำแนะนำแล้ว ไหนๆพูดกับเด็กๆ ผมขอพูดกับคุณอีกสักหน่อยในเรื่อง “เวลา” คือเวลาไม่ใช่ของจริงนะ มันไม่มีอยู่จริงดอก มันเป็นคอนเซ็พท์ที่มนุษย์คิดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการนัดหมายบันทึกเรื่องราวและวางแผนการทำงาน อนาคตเป็นเพียงคอนเซ็พท์ มันไม่มีอยู่ในชีวิตจริง ชีวิตจริงมีอยู่แต่ที่นี่เดี๋ยวนี้เท่านั้น การที่คุณเชื่อว่าเวลาเป็นของจริง ความเชื่อของคุณนั่นแหละทีี่เป็นตัวให้พลังงานแก่เวลาซึ่งมีกำพืดเป็นเพียงความคิด แต่ความคิดไหนที่คุณเชื่อมัน มันจะใหญ่ขึ้นมาทันที จนตัวคุณเองต้องกลัวหนีหัวซุกหัวซุน ทั้งๆที่คุณเป็นคนให้อำนาจมันผ่านความเชื่อของคุณแท้ๆ

     ดังนั้นจงใช้ประโยชน์จากเวลาในการนัดหมายวางแผน แต่อย่าเชื่อว่าเวลาเป็นสิ่งที่มีดำรงอยู่จริง แต่นี่นักเรียนแพทย์ รวมทั้งโรงเรียนแพทย์ด้วย ทุกวันนี้กลับทำเสียอีกแบบ คือไม่เน้นสอนให้เด็กใช้ประโยชน์จากคอนเซ็พท์เรื่องเวลา สมัยที่ลูกชายยังเรียนแพทย์อยู่ เวลาเขานัดผู้ปกครองไปประชุมหรือทำอะไรแต่ละที ผมสังเกตว่าอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ท่าน late กันหลายสิบนาที แล้วแน่นอนว่าวัฒนธรรมอย่างนี้ย่อมต้องระบาดไปหานักเรียนแพทย์อย่างไม่ต้องสงสัย คือส่วนที่ควรจะได้ใช้ประโยชน์จากคอนเซ็พท์เวลาก็ไม่ได้ใช้ แต่ดันไปได้ใช้แต่โทษที่หลงผิดไปเชื่อว่าเวลาเป็นของจริงแล้วเอาเวลามาผูกเป็นความกลัวขึ้นมาหลอกหลอนตัวเอง

     ครูแพทย์ที่ผมเลื่อมใสมากโดยที่ผมไม่เคยได้เห็นตัวจริงเพราะท่านตายไปเสียก่อน คือเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ ท่านพร่ำสอนนักเรียนแพทย์แทบทุกวันถึงการมีชีวิตอยู่ในโลกของวันนี้ ท่านบอกนักเรียนแพทย์ว่าวันนี้เป็นห้องซึ่งมีฉากเหล็กทึบกั้นเมื่อวานนี้ไว้ด้านหนึ่ง และกั้นพรุ่งนี้ไว้อีกด้านหนึ่งโดยที่เราไม่อาจฝ่าข้ามฉากเหล็กนี้ไปมาได้ ท่านบอกนักเรียนแพทย์ที่เอาแต่กังวลถึงอนาคตว่า

     “..การเตรียมการที่ดีที่สุดสำหรับวันพรุ่งนี้ คือการทำวันนี้เสียให้ดีที่สุด”

     คุณหมอทำตามคำพูดของครูวิลเลียม ออสเลอร์ ไปเลยไม่ต้องคิดมาก เดี๋ยวทุกอย่างมันจะดีเอง 

     สุดท้ายนี้ผมจะร้องเพลงนี้ให้ฟัง

           “..ไม่มีสิ่งไหนจะหนักเกินไป
      ไม่มีคำว่าทำไม่ได้
      นาทีนี้ ตรงนี้ เป็นของเรา
      มาทำวันนี้ให้เป็นตำนาน
      ฝากไว้ให้นานเท่านาน….”

     นั่นคือเพลง “อะรูมิไร้” แปลว่าเพลงอะไรมิรู้ วันนี้จบแค่นี้นะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์