Latest

เพราะหมอคนนี้ “เป้า” เก่ง

เรียน อาจารย์หมอ สันต์ ใจยอดศิลป์
     ดิฉันติดตามอ่าน blog อ.จ. อยู่เสมอๆ ได้ประโยชน์มากทีเดียวค่ะ ดิฉันอายุย่าง 69แล้ว  น้ำหนัก 55 ก.ก.  สูง เดิม158 cm but now 155.5 ทราบดีว่าเข่าเสื่อม ข้อเสื่อมแล้ว  แต่แปลกใจจู่ๆ สักสามอาทิตย์มานี้ ทั้งข้อไหล่ ข้อเข่า ข้อสะโพก พร้อมใจกันปวด  เป็นมากเวลาลุก และหย่อนตัวลงนั่ง หรือเวลาขึ้นรถ  ดิฉันเคยทำ MRI เมื่ออายุ 60 ที่ ร.พ.จุฬา ดูกระดูกสันหลังข้อที่ 4-5 หมอบอกว่าหมอนรองกระดูกตีบแคบ แต่ยังไม่ถึงกับต้องผ่า  ก็พยายามไม่หิ้วของหนัก แต่ไม่ค่อยได้ออกกำลังท่ากายภาพท่าที่หมอกายภาพแนะนำ สม่ำเสมอเท่าไรนัก  เป็นคนระมัดระวังเรื่องการกินอาหาร ไม่ทานของมัน ข้อสะโพกไม่ปวด แต่รู้สึกเคล็ดๆ แต่เข่าปวดมาก  ขณะเดินไม่ปวดค่ะ และที่ lower back รู้สึกปวด เพิ่งไปดึงหลังมา 4 ครัง

ขอเรียนปรึกษา อ.จ.ค่ะว่า
1  นี่คืออาการอักเสบใช่ไหมคะ
2  วิธีรักษาโดยไม่กินยาแก้ปวดได้ไหมคะ ไม่ชอบกินยาเลยค่ะ
3  นีเป็นอาการกระดูกพรุนหรือไม่
4  จะต้องไป MRI หรือเปล่าคะ
5 ถ้าเราไปออกกำลังด้วยการเดิน หรือเต้นเบาๆ walk exercise ตาม youtube จะหายปวดหรือไม่ (ปัจจุบันกำลังพยายามเดิน exerciseให้มากๆ)
ขอคำแนะนำจาก อ.จ.หมอสันต์ด้วยค่ะ

ขออภัยค่ะ นี่เป็นการส่ง repeat เนื่องจากเมื่อกี้มือไปโดน ปุ่มไรไม่ทราบ  email เลยส่งออกทั้งที่ยังเขียนไม่จบค่ะ
ด้วยความเคารพ
นาง …..

……………………………………………………

ตอบครับ

     1. ถามว่าเป็นคนแก่อยู่ๆทุกข้อก็ปวดขึ้นมาพร้อมกันลุกๆนั่งๆก็โอดโอย อย่างนี้เรียกว่าอักเสบใช่ไหม ตอบว่าคำว่าอักเสบ (inflammation) เป็นคำครอบจักรวาล แค่เผลอไปทำอะไรออกแรงมากโดยไม่รู้ตัวแล้วมีกรดคั่งอยู่ในกล้ามเนื้อตามมาด้วยอาการปวด อย่างนี้ก็เรียกว่าการอักเสบได้แล้ว ดังนั้นที่คุณเป็นนี้จะเรียกว่าเกิดการอักเสบก็เรียกได้ แต่เรียกไปก็ไลฟ์บอย คือไม่มีอะไรเกิดขึ้น

     2. ถามว่าจะรักษาอาการปวดโดยการไม่กินยาแก้ปวดได้ไหม ตอบว่าได้ ตำรวจที่ไหนจะมาจับคุณละครับถ้าคุณไม่กินยาแก้ปวด การรักษาอาการปวดหลังจากได้ลงมือแก้สาเหตุของการเกิดอาการปวดแล้ว การบำบัดอาการปวดที่เหลืออยู่วิธีที่ดีที่สุดไม่ใช่คือการกินยาแก้ปวดนะ แต่คือการรับรู้อาการปวดตามที่มันเป็น รับรู้แล้วก็ยอมรับ ไม่ไปใส่สีตีไข่โวยวายคิดมากต่อยอด นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาอาการปวด

     3.  ถามว่านี่เป็นอาการกระดูกพรุนหรือไม่ ตอบว่าไม่ใช่ครับ กระดูกพรุนไม่มีอาการอะไรทั้งสิ้น

     4.  ถามว่าจะต้องไป MRI หรือเปล่า ตอบว่าไม่ต้อง คุณจะทำไปทำไมละครับ อย่าตอบนะว่าก็มีสิทธิสามสิบบาทหรือสิทธิราชการ ทำ MRI ได้ฟรี ผมไม่เถียงว่า MRI เป็นความบันเทิงในชีวิตอย่างหนึ่งของทั้งหมอและคนไข้ แต่ว่าถ้ามันไม่จำเป็น หมายความว่ามันไม่มีข้อบ่งชี้ให้ทำ ก็อย่าไปทำเลยครับ คุณไปหาความบันเทิงในชีิวิตด้วยวิธีอื่นที่ประหยัดเงินของชาติมากกว่านี้ดีกว่า

     5. ถามว่าถ้าเราไปออกกำลังด้วยการเดิน หรือเต้นเบาๆตาม youtube จะหายปวดหรือไม่ ตอบว่าถ้าทู่ซี้ทำให้ได้ถึงสองสามสัปดาห์ก็จะหายครับ เพราะอาการปวดกล้ามเนื้อและเอ็นรอบๆข้อจะหายเป็นปลิดทิ้งด้วยการยืดเหยียดและออกกำลังกายใช้งานกล้ามเนื้อและเอ็นนั้นในระดับไม่มากไม่น้อยเกินไป อีกทั้งการออกกำลังกายยังจะทำให้มีการหลั่งเอ็นดอร์ฟินออกมาในกระแสเลือด สารตัวนี้ีมีฤทธิ์แก้ปวดด้วย

     จบคำถามแล้วนะ คราวนี้ขอหมอสันต์พูดอะไรเรื่อยเปื่อยตามสไตล์หมอสันต์บ้าง คนสูงอายุโดยทั่วไป เมื่อมีอาการปวดเมื่อยก็ต้องไปตรวจ ไปเข้าเครื่อง CT หรือ MRI ไปทำกายภาพบำบัด ซึ่งมักหมายถึงนอนนิ่งๆให้เขาดึงโน่นดึงนี่หรือเอาอะไรร้อนๆเย็นๆมาประคบหรือเอาอุลตร้าซาวด์มาจ่อ อาจจะมีการบีบๆนวดๆบ้าง ไม่ค่อยมีการพาออกกำลังกายมากนักเพราะนักกายภาพเขาก็ไม่มีเวลา จึงมักบอกคนไข้ว่ากลับไปบ้านแล้วให้ออกกำลังกายอย่างนั้นอย่างนี่้ท่านั้นท่านี้นะ แต่คนไข้กลับไปบ้านแล้วก็ไม่ทำ เพราะขี้เกียจ พอถูกจี้ถามก็จะโวยวายว่า “โฮ้ย..ฉันแก่แล้วอย่าเอาอะไรกับฉันนักเลย” เพราะคนสูงอายุโดยทั่วไปผ่านชีวิตมาในเส้นทางที่ทุกความบันเทิงเกิดจากมีคนทำให้ (passive enjoyment) พอแก่ตัวลงจึงเป็นคนแก่ประเภทนั่งจุมปุ๊กอยู่หน้าจอทีวีหรือจอไอแพ็ด เมื่อยก็หาคนมานวด ปวดก็ไปหาหมอตรวจนั่นตรวจนี่ ชอบตระเวณหาหมอ หมอคนไหนพูดถูกหูก็ไปหาบ่อย หมอคนไหนดุก็เลิกไปหา

     สมัยผมเป็นเด็ก ญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมีอาการปวดๆเมื่อยๆอย่างคุณนี้แหละ แต่ท่านยืนยันดั้นด้นไปหาหมอถึงตัวจังหวัดเชียงรายโน่นซึ่งไกลบ้านชนิดที่สมัยนั้นไปกลับก็สิบชั่วโมง ผมมีหน้าที่ติดสอยห้อยตามไปรับใช้ ไปถึงคลินิกของคุณหมอคนไข้แน่นขนัดล้นออกไปนอกถนน เป็นคนสูงอายุทั้งนั้น บ้างก็ให้ลูกหลานมาส่ง ผมฟังพวกลูกหลานเขาเม้าท์กันก็จับความได้ว่าที่คลินิกนี้แน่นก็เพราะ

     “หมอคนนี้เป้าเก่ง”

    “เป้า” เป็นภาษาเหนือแปลว่าเอาอกเอาใจประคบประหงม ผมจึงถึงบางอ้อว่าที่คุณย่าคุณยายแห่กันมานี่ไม่ใช่จะมาเสาะหาการรักษากับหมอเก่งอะไรหรอก แต่มาเสาะหาคำ “เป้า” ซึ่งเป็นความบันเทิงอีกรูปแบบหนึ่งของชีวิตคนสูงอายุ

     แนวทางการใช้ชีวิตแบบนี้เรียกว่าเป็นการแก่แบบ passive aging คือแก่แบบขี้เกียจ ซึ่งเป็นแนวทางที่ขัดแย้งกับข้อมูลทางการแพทย์ที่ชี้บ่งว่าการจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุท่านจะต้องแก่แบบ active aging คืือแก่แบบขยัน ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ไม่อยู่นิ่ง

     คนที่แก่แบบขี้เกียจมีแต่จะเป็นภาระหนักอกแก่ลูกหลานและเป็นภาระทางการเงินแก่ชาติและสังคม จะเป็นคนแก่แบบเรียกร้องสูง อ่อนแอ สะง็อกสะแง็ก  (frail) เต็มไปด้วยอาการทางร่างกาย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อยากให้คนอื่นมา “เป้า” มาเอาใจ จนลูกหลานต้องหลบหน้า บ้างยอมลงขันกันจ้างผู้ดูแลแม้จะแพงแสนแพง ถ้าอะไรไม่ได้อย่างใจก็จะกลายเป็นคนหงุดหงิดฉุนเฉียว โวยวาย ลำเลิก แล้วก็จบลงด้วยการเป็นคนแก่ซึมเศร้า สมองเสื่อม

     ในแง่ภาระต่อชาติบ้านเมืองนั้น คนแก่แบบขี้เกียจมีแนวโน้มจะกลายเป็นคนป่วยเต็มโรงพยาบาล ทั้งป่วยจริงและป่วยเพราะอยากหาคนเป้า ชอบหาหมอ รับยามาเยอะแยะ รับมาแล้วก็กินบ้างไม่กินบ้าง การไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ขี้เกียจทำงาน ขี้เกียจออกกำลังกายจะทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสาระพัดโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคกระดูกหัก โรคซึมเศร้า และโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งจะเป็นโรคระดับท็อปที่กัดกินทรัพยากรณ์ของชาติในอนาคตอย่างสุดๆ 

     ดังนั้น คุณอย่าเป็นคนแก่แบบขี้เกียจเลย คุณต้องเป็นคนแก่แบบขยัน คุณต้องแก่แบบ Active Aging กล่าวคือนอกจากจะดูแลตัวเองได้ ดูแลตัวเองให้อยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว ยังต้องทำตัวเองให้มีสุขภาพดี ขยันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแจ่มใสร่าเริงและเข้าไปมีส่วนร่วม ทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ร่วมกับคนรุ่นลูกรุ่นหลานสร้างสังคมที่มีความเป็นปึกแผ่น รวมถึงขยันไปเข้ากลุ่มเข้าชุมนุมคนสูงอายุที่เขาขยันทำเรื่องที่แอคทีฟกัน

     การดูแลตัวเองนี้ เนื่องจากเราทำทุกอย่างเองไม่ได้ การเลือกอยู่ในที่ที่เราดูแลด้วยตัวเองสะดวกก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าคุณไม่มีลูกหลานและจะซื้อบ้านหรือคอนโดอยู่เองตอนแก่ก็ให้เลือกที่ที่มันมีที่ทางให้เดินออกกำลังกายได้ มีปารค์ที่ทุกคนมาพักผ่อนหย่อนใจและพบกันได้ฟรี มีอาหารสุขภาพที่ซื้อหาได้ง่าย มีกิจกรรมกลุ่มที่คนสูงอายุเข้าร่วมได้ใกล้ๆง่ายๆบ่อยๆเช่น ออกกำลังกาย เต้นรำ ร้องเพลง มวยจีน โยคะ เดินไพร เป็นต้น   การเลือกที่อยู่นี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การใช้ชีวิตแบบ active aging ทำได้ง่ายขึ้น

     ไหนๆก็พูดถึง active aging แล้ว ผมขอย้ำก่อนจบว่าคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยนั้นมีประเด็นหลักสองประเด็นเท่านั้น คือ

     (1) การมีอิสระ หมายถึงการสามารถตัดสินใจเองว่าวันหนึ่งๆจะใช้ชีวิตอย่างไร จะทำอะไรก็สามารถทำได้อย่างที่ใจตัวเองปรารถนา

     (2) การพึ่งตัวเอง หมายถึงความสามารถทำกิจกรรมจำเป็นในชีวิตประจำวันขณะอยู่ในบ้านเช่นอาบน้ำ กินข้าวหรือขณะอยู่ในชุมชนเช่นเดินตามทางเท้าได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาคนช่วยหรือพึ่งน้อยที่สุด

     ซึ่งการจะมีทั้งสองอย่างนี้ได้จนชนวันท้ายๆของชีวิต ก็ต้องเป็นคนที่ตั้งใจจะแก่แบบ active aging เท่านั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์