Latest

นมแม่ + อาหารธรรมชาติ = ดีที่สุด

คุณหมอสันต์ที่เคารพ

เป็นคุณแม่ยังสาว คืออายุ 22 ค่ะ ลูก (คนแรกและน่าจะเป็นคนเดียว) ได้ 6 เดือนแล้ว เลี้ยงนมแม่มาตลอด ตอนนี้จะหย่านม และไม่อยากให้ลูกดื่มนมวัว จะเป็นไปได้ไหมคะ การไม่ให้ดื่มนมวัวเลยมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง คุณหมอเด็กที่ดูแลอยู่แนะนำว่าให้ดื่มนมวัวแทนนมแม่ไปจนกว่าจะพ้นวัยเด็กประถม เพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กจะไม่ขาดโปรตีน

…………………………………….

ผมจะตอบแบบเปรียบเทียบข้อดีเสียของนมวัวให้ทีละประเด็นนะ

ประเด็นที่ 1. ถ้าเด็กไม่ดื่มนมวัว จะขาดโปรตีน จริงหรือ

    ตอบว่าไม่จริงครับ เพราะร่างกายต้องการโปรตีนในปริมาณที่ต่ำมาก นมแม่ซึ่งเป็นอาหารวิเศษที่ไม่ต้องกินอาหารอื่นเลยก็เติบโตได้ดีนั้น มีโปรตีนแค่ 1% อาหารอุดมโปรตีนแต่ไม่ใช่นมมีเยอะแยะทั้งพืชและสัตว์ พืชก็เช่น ถั่ว งา เมล็ดต่างๆ และธัญพืชไม่ขัดสี รวมทั้งข้าวกล้อง คืออาหารธรรมชาติไม่ว่าจะกินแบบไหน จะกินแต่พืช จะกินแต่สัตว์ จะกินทั้งพืชทั้งสัตว์ หากกินให้อิ่มและการดูดซึมของร่างกายไม่ผิดปกติ หมายถึงกินให้ได้แคลอรี่พอใช้แล้ว ไม่มีขาดโปรตีนผมรับประกัน เพราะตัวผมเองเป็นหมอมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ยังไม่เคยเห็นคนไข้ที่เคี้ยวกินและดูดซึมอาหารได้เป็นปกติจะเป็นโรคขาดโปรตีน (kwashiorkor) สักคนเดียว ไม่ว่าเขาจะดื่มนมหรือไม่ดื่มนมก็ตาม ถ้ามีคุณหมอท่านใดพบเห็นคนไข้ที่กินและการดูดซึมอาหารเป็นปกติดีแต่เป็นโรคขาดโปรตีนก็ช่วยบอกผมเอาบุญด้วยนะครับ เพราะผมสนใจที่จะทำวิจัยเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ

ประเด็นที่ 2 นมวัวทำให้เป็นโลหิตจาง จริงหรืือ

     ตอบว่าเป็นความจริงสำหรับโลหิตจางชนิดที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก อันที่จริงทั้งนมวัวและนมแม่ต่างก็มีธาตุเหล็กต่ำมากทั้งคู่ แต่เด็กอายุหกเดือนแรกมีเหล็กสะสมที่ได้มาจากร่างกายแม่ หลังจากนั้นจำเป็นต้องได้เหล็กจากอาหารอื่นที่ไม่ใช่นม แต่เด็กที่ดื่มนมแม่จะมีโอกาสขาดธาตุเหล็กน้อยกว่าเพราะนมแม่มีวิตามินซี.และแล็คเตสซึ่งช่วยการดูดซึมของเหล็กได้ดีกว่า ขณะที่นมวัวไม่มีแลคเตสจะทำให้เยื่อบุลำไส้เกิดระคายเคืองดูดซึมเหล็กได้น้อยแถมบางครั้งทำให้มีเลือดออกที่เยื่อบุทำให้ร่างกายสูญเสียเหล็กอีกต่างหาก

    นอกจากนั้นนมแม่มีโปรตีนที่ล็อกธาตุเหล็กในลำไส้ไว้ให้ร่างกายเด็กใช้ได้แต่ผู้เดียว (lactoferrin และ transferrin) บักเตรีในลำไส้ที่ชอบใช้เหล็กซึ่งส่วนใหญ่เป็นบักเตรีที่นิสัยไม่ดีเช่น E. Coli จะใช้ธาตุเหล็กไม่ได้

     แต่ถ้าให้ดื่มนมวัวแล้วเสริมธาตุเหล็ก จะมีข้อเสียดังนี้

    (1) นมวัวไม่มีโปรตีนที่จะล็อคธาตุเหล็กไว้ให้ร่างกายใช้ บักเตรีที่นิสัยไม่ดีจึงได้จะใช้ธาตุเหล็กเสริมการเพิ่มจำนวนของพวกมันได้ ทำให้เกิดปัญหาโรคทางเดินอาหารได้ง่าย
    (2) เหล็กที่เสริมเข้าไปจะไปรบกวนการดูดซึมธาตุสังกะสีจากอาหาร
    (3) เหล็กที่เสริมเข้าไปมักรบกวนการทำงานของลำไส้ ทำให้ท้องเสียง่ายขึ้น
    (4) งานวิจัยบางชิ้นพบว่าการเสริมเหล็กโดยที่เด็กไม่ได้เป็นโลหิตจางทำให้เด็กโตช้า (วัดจากความยาวตัวและเส้นรอบหัว)

     ดังนั้นเรืื่องโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กนี้ นมแม่โดยค่อยๆเสริมอาหารธรรมชาติอุดมเหล็กเช่นผักใบเขียว ถั่วต่างๆ ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ โดยไม่ต้องให้ดื่มนมว้ัวเลย ดีที่ซู้ด..ด

ประเด็นที่ 3. นมวัวทำให้เป็นมะเร็ง จริงหรือ

     ตอบว่า ไม่จริงครับ นี่นับตามหลักฐานที่มีอยู่ตอนนี้นะ ท่านที่ติดตามเรื่องนมวัวก่อมะเร็งอาจมีความเห็นขัดแย้งกับคำตอบของผม แต่ความเป็นจริงคือ

     (1) เป็นความจริงที่ว่าการผลิตนมมีการใช้ฮอร์โมนเร่งการเติบโตของวัว (rBGH) มาก

     (2) เป็นความจริงว่าฮอร์โมนเร่งการเติบโตที่ใช้มีความสัมพันธ์การเพิ่มระดับฮอร์โมนเร่งการเติบโตอีกตัวหนึ่งที่คล้ายอินสุลิน (IGF-1) ขึ้นในร่างกาย และ

     (3) เป็นความจริงว่า IGF-1 นี้เมื่อเอาไปหยดใส่จานเพาะเลี้ยงเซลมะเร็งบางชนิดแล้วจะทำให้เซลมะเร็งเติบโตมากขึ้น

     แต่ทั้งหมดนี้เป็นแค่หลักฐานในห้องทดลอง ไม่ใช่หลักฐานในคนจริงๆ วงการแพทย์ไม่ได้ใช้หลักฐานในห้องทดลองมารักษาคนไข้หรอกครับ เพราะมันเป็นหลักฐานระดับต่่ำ ยกตัวอย่างเช่นพูดถึงเอาอะไรหยดลงไปในจานเลี้ยงเซลมะเร็ง ฉี่ของเรานี่แหละ ฉี่เหลืองๆนี่แหละ เอาหยดลงไปในจานเลี้ยงเซลมะเร็งก็จะทำให้เซลมะเร็งตายเรียบ แต่คุณเชื่อว่าการกินฉี่จะรักษามะเร็งได้หรือเปล่าละ..ก็เปล่า เพราะสิ่งที่เกิดในห้องทดลองก็เรื่องหนึ่ง สิ่งที่เกิดในร่างกายคนก็อีกเรื่องหนึ่ง หลักฐานในคนจริงๆยังขัดแย้งกันเอง สรุปว่านับถึงวันนี้วงการแพทย์ถือว่ายังไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าการดื่มนมวัวจะทำให้เป็นมะเร็งมากขึ้นแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 4. นมวัวทำให้เป็นเบาหวานมากขึ้น จริงหรืือ

     ตอบว่าเป็นความจริงกรณีเบาหวานประเภทที่ 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากให้ดื่มนมวัวเป็นอาหารตั้งแต่ก่อนอายุครบ 3 เดือน

    คือเรื่องนี้มันเป็นเรื่องซับซ้อน ผมจะเล่าให้ฟังเป็นขั้นตอนนะว่าหลักฐานวิทยาศาสตร์ในเรืื่องนี้มันเป็นมาอย่างไร

     เริ่มต้นด้วยพยาธิสรีรวิทยาของโรคเบาหวานประเภทที่ 1 วงการแแพทย์ทราบดีแล้วว่ามันเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายทั้งฮอร์โมนอินสุลิน (insuline auto antibody – IAA) และทำลายเนื้อตับอ่อนส่วนที่ผลิตอินสุลิน (Islet Antibody – IA) จนเกิดเป็นโรคขึ้นเมื่ออินสุลินไม่พอใช้ เมื่ออินสุลินไม่มี ก็ไม่มีใครสั่งให้เอาน้ำตาลเข้าไปในเซล น้ำตาลก็เลยล้นอยู่ในกระแสเลือดจนเกิดปัญหา ด้านหนึ่งคือเลือดข้นเกินไปจนร่างกายเสียน้ำและช็อกได้ อีกด้านหนึ่งคือร่างกายไม่มีวัตถุดิบไปผลิตพลังงาน จึงต้องไปผลิดพลังงานจากคีโตน ซึ่งจะมีผลให้เลือดเป็นกรดจนร่างกายช็อกได้อีกเช่นกัน ทั้งหมดนั้นเป็นความรู้พื้นฐานของโรคนี้ ส่วนสาเหตุว่าอะไรเป็นตัวแหย่ให้ร่างกายผลิตภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายตัวเองนั้นวงการแพทย์ยังไม่ทราบจริงๆดอก ได้แต่สงสัยว่าน่าจะเป็นเพราะโน่นบ้าง นี่บ้าง เหล่าจำเลยผู้ถูกตั้งข้อสงสัยได้แก่

     (1) นมวัว
     (2) กลูเตนในแป้งสาลี
     (3) สารพิษ (เช่น เอ็นไนโตรโซคอมปาวด์จากเนื้อสัตว์โดยเฉพาะไส้กรอก เบคอน แฮม)
     (4) ความเครียด
     (5) การติดเชื้อไวรัส (เช่น coxsackie virus)
     (6) สัดส่วนของบักเตรีชนิดต่างๆในลำไส้ หมายความว่าเลี้ยงบักเตรีเลวไว้มากกว่าบักเตรีดี

     เหตุที่นมวัวตกเป็นผู้ต้องสงสัยหมายเลขหนึ่งนี้ มันเริ่มต้นด้วยข้อมูลสถิติเชิงระบาดวิทยาว่าชาติพันธ์ที่เด็กมีโอกาสได้ดื่มนมวัวมากขึ้นเช่นประเทศจีนมีอัตราการเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 สูงขึ้นมากกว่าประเทศที่เด็กมีอัตราการดื่มนมคงที่หรือไม่ได้ดื่มนมวัว

     ต่อมาในปี 1999 ก็มีการทำวิจัยที่ฟินแลนด์โดยเปรียบเทียบเด็กที่มียีนเอื้อต่อการเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 จำนวน 200 คน โดยที่ 100 คนให้ดื่มนมวัวเป็นอาหารตั้งแต่อายุยังไม่ครบ 12 สัปดาห์ อีก 100 คนไม่ให้ดื่มนมวัวเลยจนกว่าอายุจะครบ 12 สัปดาห์แล้ว เมื่อตรวจเลือดเด็กทั้งสองกลุ่มดูพบว่ากลุ่มที่ดื่มนมวัวตั้งแตอายุยังไม่ครบ 12 สัปดาห์มีระดับภูมิคุ้มกันทำลายอินสุลินของตัวเอง (IAA) สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่มนมวัวจนกว่าอายุจะครบ 12 สัปดาห์ จึงเป็นที่มาของข้อสรุปว่าการให้เด็กดื่มนมวัวตั้งแต่ก่อนอายุจะครบ 12 สัปดาห์อาจทำให้เด็กเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 มากขึ้น โดยอธิบายกลไกการเกิดว่าโมเลกุลโปรตีนในนมวัวไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันทำลายตนเองขึ้นมา

     ต่อมาในปี 2012 ก็มีการตีพิมพ์ผลวิจัยชื่องานวิจัย DAISY (ย่อจาก Diabetes Autoimmunity Study in the Young) ซึ่งได้ติดตามเด็กที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่อต้านอินสุลินของตัวเอง (IAA) สูงผิดปกติ ซึ่งถือว่าเป็นเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภูมิคุ้มกันต่อต้านเนื้อตับอ่อนของตัวเอง (IA) สูงตามมา ตามดูเด็กจำนวน 1,835 คน ในจำนวนนี้พบในเวลาต่อมาว่ามีเด็กที่ร่างกายผลิตภูมิต้านทานทำลายตับอ่อนตัวเอง (IA) ขึ้นมาจริงๆ 143 คน ซึ่งต่อมาในจำนวนนี้ 40 คนได้ป่วยเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 แล้วงานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความแรงของยีนที่เอื้อต่อการเป็นโรค กับอัตราการเป็นโรคจริง เทียบกับการดื่มหรือไม่ดื่มนมวัว พบว่าในเด็กที่ยีนมีความแรงที่จะเป็นโรคปานกลางและต่ำ การดื่มนมวัวมีความสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 มากขึ้น

     งานวิจัยทั้งสองนี้เป็นหลักฐานที่ดีที่สุดเท่าที่วงการแพทย์มีตอนนี้ ซึ่งมีข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่าการให้เด็กดื่มนมวัวจะมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากให้ดื่มตั้งแต่อายุยังน้อย

ประเด็นที่ 5. ไม่ดื่มนมวัวจะทำให้เด็กไม่โต จริงหรืือ

     ตอบว่าไม่จริงครับ แต่ว่าหลักฐานที่มีปัจจุบันยังขัดแย้งก้ันอยู่ กล่าวคือ

     สำหรับเด็กก่อนเข้าเรียนนั้น มีงานวิจัยการสำรวจเด็กกินมังเข้มงวดแบบไขมันต่ำหลังหย่านม 51 คน ที่อะริโซนาโดยดร.สตีเว่น โกลเบิร์กและดร.เกลน ฟรีดแมน ตีพิมพ์ไว้ในวารสารกุมารเวช (J of Pediatrics) พบว่าเมื่อเด็กเหล่านี้มีอายุถึง3 ปี ก็ยังมีอัตราการเติบโตเท่ากับเด็กหสรัฐทั่วไปที่กินเนื้อและดื่มนมวัว ซึ่งเป็นผลสรุปที่เหมือนกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่ทำกับเด็กอายุ 7-11 ปีที่อังกฤษ

     อีกงานวิิจัยหนึ่งทำที่ใต้หวัน ตามดูเด็กก่อนวัยเรียนที่กินมังเข้มงวด (คืือนมก็ไม่ดื่ม) 42 คนเทียบกับที่กินปกติ 56 คน โดยวัดความสูงและดัชนีมวลกาย วัดความหนาผิวหนังหลังแขน เจาะเลือดดูสารอาหาร พบว่าทั้งสองกลุ่มมีดัชนีการเติบโตทุกตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ

    กล่าวโดยสรุป เมื่อคุณหย่านมแม่ การจะไม่ให้ลูกดื่มนมวัวนั้นไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่สิ่งที่คุณพึงทำเพื่อประกันว่าจะไม่ขาดโปรตีนคือควรให้ลูกกินถั่วต่างๆและงาแยะๆ นอกเหนือจากข้าวกล้องและผักผลไม้ซึ่งต้องกินมากๆเข้าไว้เพื่อให้แน่ใจว่ามีวิตามินซี.มากพอที่จะช่วยการดูดซึมธาตุเหล็ก

    ในประเด็นการขาดวิตามินบี.12 ในกรณีที่คุณให้ลูกกินไข่กินปลาด้วยก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่กรณีที่จะให้ลูกกินมังเข้มงวด แบบว่านมก็ไม่ให้กิน ไข่ก็ไม่ให้กิน เนื้อก็ไม่ให้กิน ผมแนะนำให้เสริมวิตามินบี.12 ในขนาด 1 ไมโครกรัมต่อกก.ด้วยก็จะเป็นการเผื่อเหนียวที่ดี เพราะหากไม่ให้เด็กกินอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลยปึ๊ด..ด มันมีความไม่ชัวร์เรื่องการขาดวิตามินบี.12 เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าวิตามินบี.12 ไม่มีในพืช และงานวิจัยการเติบโตของเด็กทั้งสามงานข้างต้นนั้น ล้วนมีการเสริมวิตามินบี12 ทุกงาน

    ส่่วนหลักฐานที่ว่าการไม่ดื่มนมวัวสัมพันธ์กับการที่เด็กจะสูงน้อยกว่าคนที่ดื่มก็มีเหมือนกันในเด็กโตและวัยรุ่น อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ล้วนเป็นหลักฐานระดับจับคนสองกลุ่มมาเปรียบเทียบกันโดยไม่ได้สุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ ซึึ่งมีปัจจัยกวนได้มากมาย จะต้องรอหลักฐานระดับสูงกว่านี้ก่อนจึงจะสรุปประเด็นนี้ได้ชัดๆ

ประเด็นที่ 6. ไม่ดื่มนมวัวถ้าแก่แล้วกระดูกจะหักง่าย จริงหรืือ

     ตอบว่าไม่จริงครับ

     อันนี้เป็นความเข้าใจผิดซึ่งมีอยู่ทั่วไปรวมทั้งในหมู่แพทย์ ความเป็นจริงคือ ณ ขณะนี้แน่ชัดแล้วว่าไม่มีความสัมพันธ์ใดๆระหว่างการดื่มหรือไม่ดื่มนมวัว กับการจะเกิดกระดูกหักหรือไม่เกิดเมื่ออายุมากขึ้น หลักฐานระดับเชื่อถือได้ที่มีอยู่ตอนนี้คือการทบทวนงานวิจััยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบครั้งใหญ่ที่สุดมีผลสรุปว่าไม่มีความสัมพันธ์ใดๆระหว่างการเกิดกระดูกสะโพกหัก กับการดื่มนมวัวหรืือไม่ดื่มเลย

    และเมื่อปี 2015 ก็มีการตีพิมพ์งานวิจัยใหญ่มากงานหนึ่งในวารสาร BMJ ซึ่งใช้ข้อมูลงานวิจัยติดตามดูสุขภาพชายและหญิงของประเทศสวีเดน ได้ผลสรุปว่าทั้งหญิงและชายที่ดื่มนมวันละ 3 แก้วขึ้นไปมีความเสี่ยงเกิดกระดูกหักและมีความเสี่ยงตายมากกว่าผู้หญิงที่ดื่มนมวัวน้อยกว่าวันละ 3 แก้ว โดยที่เหตุการตายของผู้ชายที่ดื่มนมมากกว่าวันละ 3 แก้วเป็นความเสี่ยงตายจากหัวใจขาดเลือดมากกว่าจากกระดูกหัก

    สำหรับคำอธิบายว่าทำไมดื่มนมวัวมากแล้วกลับกระดูกหักมากกว่าและตายมากกว่าคนดื่มนมวัวน้อย อันนี้ยังไม่มีใครทราบ ต้องรอให้งานวิจัยใหม่ๆพิสูจน์ประเด็นนี้กันต่อไป สำหรับตอนนี้ท่านผู้อ่านที่ชอบดื่มนมวัวก็ให้ใช้หลักบันยะบันยังก็แล้วกัน รัฐบาลสหรัฐ (USDA 2015) แนะนำว่าไม่ควรดื่มนมวัวเกินวันละ 2-3 แก้ว โดยควรเป็นนมที่อยู่ในรูปของนมไร้ไขมัน


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1 American Academy of Pediatrics. Committee on Nutrition. Iron fortification of infant formulas. Pediatrics 1999 Jul;104(1 Pt 1):119-23.
2. Balmer SE, Wharton BA. Diet and faecal flora in the newborn: iron. Arch Dis Child. 1991;66:1390-1394.
3. Bullen JJ, Rogers HJ, Leigh L. Iron-binding proteins in milk and resistance to Escherichia coli infection in infants. Br Med J. 1972;1:69-75.
4. Bullen JJ. Iron-binding proteins and other factors in milk responsible for resistance to Escherichia coli.Ciba Found Symp 1976;(42):149-69.
5. Centers for Disease Control and Prevention. PDF Recommendations to Prevent and Control Iron Deficiency in the United States. MMWR 1998;47(No. RR-3).
6. Dewey KG, et al. Iron supplementation affects growth and morbidity of breast-fed infants: results of a randomized trial in Sweden and Honduras. J Nutr 2002 Nov;132(11):3249-55.
7. Griffin IJ, Abrams SA. Iron and breastfeeding. Pediatr Clin North Am (United States), Apr 2001, 48(2) p401-13
8. Krebs NF. Dietary zinc and iron sources, physical growth and cognitive development of breastfed infants. J Nutr 2000 Feb;130(2S Suppl):358S-360S.
9. Oski F and Landau F. Inhibition of iron absorption from human milk by baby food. Am J Dis Child 1980; 134:459-60.
10. Vaarala O, Knip M, Paronen J, Hamalainen AM, Muona P, Vaatainen M et al. Cow’s milk formula feeding induces primary immunization to insulin in infants at genetic risk for type 1 diabetes. Diabetes 1999; 48: 1389–1394.
11. Molly M. Lamb, Melissa Miller, Jennifer A. Seifert,1 Brittni Frederiksen, Miranda Kroehl, Marian Rewers, and Jill M. Norris. The Effect of Childhood Cow’s Milk Intake and HLA-DR Genotype on Risk of Islet Autoimmunity and Type 1 Diabetes: The Diabetes Autoimmunity Study in the Young (DAISY). Pediatr Diabetes. 2015 Feb; 16(1): 31–38. doi:  10.1111/pedi.12115
12. O’Connell JM, Dibley MJ, Sierra J, Wallace B, Marks JS, Yip R. Growth of vegetarian children: The Farm Study. Pediatrics. 1989 Sep; 84(3):475-81.
13. Nathan I, Hackett AF, Kirby S. A longitudinal study of the growth of matched pairs of vegetarian and omnivorous children, aged 7-11 years, in the north-west of England. Eur J Clin Nutr. 1997 Jan; 51(1):20-5.
14. Yen CE1, Yen CH, Huang MC, Cheng CH, Huang YC. Dietary intake and nutritional status of vegetarian and omnivorous preschool children and their parents in Taiwan. Nutr Res. 2008 Jul;28(7):430-6. doi: 10.1016/j.nutres.2008.03.012.
15. Bischoff-Ferrari HA1, Dawson-Hughes B, Baron JA, Kanis JA, Orav EJ, Staehelin HB, Kiel DP, Burckhardt P, Henschkowski J, Spiegelman D, Li R, Wong JB, Feskanich D, Willett WC. Milk intake and risk of hip fracture in men and women: a meta-analysis of prospective cohort studies. J Bone Miner Res. 2011 Apr;26(4):833-9. doi: 10.1002/jbmr.279.
16. Susanna C. Larsson, Alessio Crippa,, Nicola Orsini,, Alicja Wolk, and Karl Michaëlsson. Milk Consumption and Mortality from All Causes, Cardiovascular Disease, and Cancer: A Systematic Review and Meta-Analysis. Nutrients. 2015 Sep; 7(9): 7749–7763.. doi:  10.3390/nu7095363