Latest

เซ็กซ์ ไม่ใช่ตัวการให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

กราบเรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
สามีอายุ 48 ปี เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน รักษาที่รพ. …. ทำบอลลูนฉุกเฉินและใส่ stent ไป 4 อัน หลังทำไม่มีอาการอะไรเลย ไปออกกำลังกายด้วยการจ๊อกกิ้งที่สวนรถไฟสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง ไม่มีอาการเจ็บหน้าอก ความจริงสามีไม่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อนเลย จนถึงวันที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ตอนนี้ทำมาได้เกือบปีหนึ่งแล้ว แต่ปัญหาคือเขาไม่กล้ามีเซ็กซ์ เขากลัวจะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอีก หมอที่ทำบอลลูนบอกว่ามีเซ็กซ์ได้แต่เขาก็ไม่เชื่อ เขาอ้างข้อมูลในอินเตอร์เน็ทว่ามีความเสี่ยง หนูก็ไม่กล้าอะไรกับเขามาก เพราะหนูก็กลัวเขาเป็นอะไรไปเหมือนกัน ทุกวันนี้เราอยู่กันเหมือนมีม่านกั้น รู้สึกแปลกๆอยู่เหมือนกัน อยากถามคุณหมอสันต์ว่าคนที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมาแล้วควรระมัดระวังในเรื่องเซ็กซ์เพียงใด

………………………………………………

ตอบครับ

       ถามว่าเซ็กซ์เป็นตัวการทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ไหม ตอบว่าในงานวิจัยความสัมพันธ์ของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือหัวใจวาย (heart attack) กับสาเหตุต่างๆ ซึ่งทำกับผู้ป่วยหัวใจวายจำนวนมากกว่า 4,500 คนที่เมืองพอร์ตแลนด์ โอเรกอน พบว่ามีที่เกิดเรื่องขณะมีเซ็กซ์หรือหลังจบภาระกินหมาดๆนับรวมกันได้ 34 คน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ 0.7% พูดง่ายๆว่าในบรรดากิจกรรมในชีวิตทั้งหลายที่สัมพันธ์กับการเกิดหัวใจวายนี้ เซ็กซ์เป็นเพียง 0.7% ของเหตุทั้งหมด มีเลขศูนย์นำหน้าจุดทศนิยมด้วยนะ โปรดสังเกต คือโอกาสน้อยกว่า 1% แล้วคุณคิดว่าโอกาสมันน้อยหรือมากละ สำหรับวิชาแพทย์  อะไรที่มีโอกาสเกิดต่ำกว่า 5% เราถือว่าไม่มีนัยสำคัญ แต่นี่ต่ำกว่า 1% อีกนะ ก็คือไม่มีนัยสำคัญเลย ดังนั้นผมตอบให้คุณสบายใจได้ว่าเซ็กซ์ไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน คุณอยากมีเซ็กซ์กับสามีก็จงมีเซ็กซ์ไปเถิด อย่าได้กังวลถึงอนาคตที่มีความเป็นไปได้ต่่ำเลย ตามงานวิจัยที่ผมพูดถึงนี้การนอนอยู่เฉยๆบนเตียงยังมีความเสี่ยงมากกว่าการมีเซ็กซ์เสียอีก

     วงการแพทย์ทราบว่ากลไกการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเกิดจากเยื่อบุที่คลุมผิวตุ่มไขมันบนผนังหลอดเลือดขาดชะเวิกออกทำให้ทำให้เลือดสัมผัสกับผิวขรุขระภายในตุ่มแล้วเลือดจับตัวเป็นก้อน ทั้งนี้มีปัจจัยร่วมอีกหลายอย่าง เช่น มีเหตุให้เลือดแข็งตัวง่าย มีเหตุให้เลือดไหลช้ากว่าปกติ  มีเหตุให้หลอดเลือดหดตัวทำให้รูของหลอดเลือดที่ตีบแคบอยู่แล้วยิ่งตีบแคบมากขึ้น เป็นต้น   

     วงการแพทย์มีข้อมูลที่ค่อนข้างชัดเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว ทั้งนี้เป็นเพราะมีการคิดค้นหัวตรวจอุลตร้าซาวด์ชนิดที่เล็กจนสอดเข้าไปในหลอดเลือดเล็กๆได้ (IVUS) ทำให้เอาภาพการหดตัวของหลอดเลือดขึ้นมาแสดงบนจอในขณะที่กำลังได้รับหรือสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆได้ งานวิจัยแบบนี้พบว่าปัจจัยทีี่เหนี่ยวไก (trigger) ให้หลอดเลือดหดตัวมากผิดปกติได้แก่

     1. การมีความเครียด โดยเฉพาะความเครียดเฉียบพลันแบบปรี๊ีดแตกเช่น ผ. กับ ม. ทะเลาะกัน (เพิ่มความเสี่ยง 8.5 เท่า) ความเครียดจากการอดหลับอดนอน หรือแม้กระทั่งเครียดจากรถติด (เพิ่มความเสี่ยง 3.5 เท่า)
     2. การที่ร่างกายขาดน้ำ
     3. การมีระดับไขมันในเลือดสูง
     4. การมีระดับเกลือ (โซเดียม) ในเลือดสูง
     5. การมีสารพิษล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารพิษจากบุหรี่และยาฆ่าหญ้า

     ดังนั้นถ้าไม่ต้องการแหย่ให้หลอดเลือดหดตัวอันเป็นเหตุนำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและอัมพาตเฉียบพลัน ให้จัดการปัจจัยเสี่ยงทั้งห้าข้อนี้

     ขณะที่ด้านหนึ่งป้องกันไม่แหย่ให้หลอดเลือดหดตัว อีกด้านหนึ่งก็ต้องชลอหรือหยุดการดำเนินของโรคค้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิต ซึ่งจะทำได้โดย
(1) การปรับเปลี่ยนอาหารไปกินอาหารพืชเป็นหลักแบบมีไขมันต่ำ
(2) การออกกำลังแบบแอโรบิกสม่ำเสมอ
(3) การจัดการความเครียดด้วยวิธีที่ตัวเองถนัด
(4) การมีเพื่อนหรือมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง

ทั้งสี่อย่างนี้ต้องทำ มิฉะนั้นโรคก็จะดำเนินไป ถึงจุดหนึ่งก็จะอุดตันหลอดเลือดและเกิดหัวใจวายอยู่ดีไม่ว่าจะมีหรือไม่มีปัจจัยเหนี่ยวไกก็ตาม

     การจะรู้ว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ทำไปนั้นถูกทางแล้วหรือไม่ ให้ใช้ตัวชี้วัดง่ายๆเจ็ดตัวในการดูแลตัวเอง คือ

(1) น้ำหนัก
(2) ความดัน
(3) ไขมันในเลือด
(4) น้ำตาลในเลือด
(5) จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน
(6) จำนวนเวลาที่ใช้ออกกำลังกายแต่ละสัปดาห์
(7) การสูบบุหรี่

    สุดท้ายนี้ ขอให้คุณและสามีโชคดี มีเซ็กซ์..เอ๊ย ไม่ใช่ มีความสุขตลอดปีใหม่ 2018 นะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Aapo L. Aro, Carmen Rusinaru, Audrey Uy-Evanado, Harpriya Chugh, Kyndaron Reinier, Eric C. Stecker, Jonathan Jui, Sumeet S. Chugh. Sexual Activity as a Trigger for Sudden Cardiac Arrest.
Journal of the American College of Cardiology Nov 2017, 24139; DOI: 10.1016/j.jacc.2017.09.025