Latest

อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์
คุณแม่ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่แล้วไปเบียดลำไส้ จึงต้องผ่าลำไส้ที่โดนเบียดด้วย รักษาเกือบ 2 ปี จนคุณหมอให้เตรียมตัวตายแล้วค่ะ ตอนนี้คุณแม่ลำไส้แห้งแล้วก็พับ ณ ตอนนี้เวลาทานอาหารหรือแม้กระทั่งนมที่คุณหมอให้มาก็อาเจียน ทานอะไรแทบไม่ได้เลย ทานแล้วก็ปวดท้อง อาเจียน แต่ไม่ถ่าย ร่างกายเริ่มซูบผอม ใกล้จะไม่มีแรงแล้วค่ะ แต่ยังเดินได้บ้าง จึงอยากรบกวนคุณหมอช่วยแนะนำว่าผู้ป่วยมะเร็งเมื่อตอนที่ยังทานได้ควรทานอาหารแบบไหน เมื่อทานไม่ค่อยได้แล้วอย่างคุณแม่มีอาหารอะไรที่เหมาะกับคนไข้ระยะแบบนี้บ้างคะ
ขอบคุณพระคุณมากค่ะ

…………………………………………………..

ตอบครับ

     1. ถามว่าเมื่อยังทานอาหารได้เอง ผู้ป่วยมะเร็งควรทานอาหารแบบไหน ผมขอตามตามคำแนะนำของสมาคมมะเร็งอเมริกัน (ACS) ซึ่งได้ออกคำแนะนำมาตรฐานให้ผู้ป่วยมะเร็งกินอาหารดังนี้

     1.1 จำกัดการทานเนื้อสัตว์ในรูปแบบไส้กรอก เบคอน แฮม (processed meat) และจำกัดการทานเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (red meat) เช่นเนื้อหมูเนื้อวัว

     1.2 ทานผักและผลไม้ให้มากๆเข้าไว้ อย่างน้อยวันละสองถ้วยครึ่ง

     1.3 ทานธัญพืชไม่ขัดสี (เช่นข้าวกล้องหรืือขนมปังโฮลวีท) แทนธัญพืชขัดสี

     1.4 ทานอาหารในปริมาณพอดีไม่ทำให้อ้วน ถือหลักผอมไว้เป็นดี แต่อย่าผอมจนผิดปกติ (อย่าให้ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 18.5) เพราะความอ้วนสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งมากขึ้น แต่ถ้าผอมเกินไปก็จะทำกิจกรรมประจำวันลำบาก

     1.5 ถ้าดื่มแอลกอฮอล์อยู่ให้จำกัดไม่เกินวันละ 1-2 ดริ๊งค์

     1.6 ให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอด้วย คือออกกำลังกายถึงระดับหนักพอควร (หอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้) สัปดาห์ละ 150 นาที หรือหนักมาก (พูดไม่ได้) สัปดาห์ละ 75 นาที โดยทะยอยออกแบบกระจายตลอดสัปดาห์ ร่วมกับหาโอกาสทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากกว่าชีวิตประจำวันปกติบ่อยๆ

     2. ถามว่าถ้าเป็นมะเร็งมากจนทานอาหารไม่ค่อยได้แล้วอย่างคุณแม่ของคุณนี้ควรทานอะไรอย่างไรบ้าง ตอบว่าประเด็นทานอะไรก็เหมือนกับคนเป็นมะเร็งทั่วไปที่แนะนำไว้ในข้อ 1 นั่นแหละ แต่หมอสันต์มีคำแนะนำวิธีทานให้ได้คุณประโยชน์มากขึ้นเพิ่มเติมดังนี้

     2.1 ถ้าเห็นว่าทานอาหารไม่ได้ หรือทานได้ไม่พอ ควรหันไปใช้วิธีเลือกเอาอาหารอุดมคุณค่ามาปั่นรวมกันด้วยเครื่องปั่นความเร็วสูงโดยไม่ทิ้งกากหรือส่วนดีๆใดๆเลยให้ผู้ป่วยดื่ม เพราะงานวิจัยในเนอร์ซิ่งโฮมได้ผลสรุปว่าเป็นวิธีช่วยให้ผู้ป่วยได้อาหารครบถ้วนพอเพียงมากขึ้น มีโอกาสขาดอาหารน้อยลง

     2.2 ประเด็นการใช้วิตามินแร่ธาตุและอาหารเสริมที่ทำจากพืชสมุนไพรยังไม่มีหลักฐานว่าจะมีประโยชน์หรือไม่ จะใช้หรือไม่ใช้ก็แล้วแต่เจ้าตัวชอบหรือไม่ชอบ

     แต่หมอสันต์แนะนำให้หาผักพื้นบ้านแปลกๆหาทานยากๆอย่างละนิดอย่างละหน่อยรวมทั้งเห็ดต่างๆตามฤดูกาลมาให้ท่านทานสดบ้างปั่นบ้างตามสะดวก เพราะการได้ธาตุที่หายากและที่ร่างกายใช้น้อย (trace element) ซึ่งมักมีแต่ในพืชเท่านั้น น่าจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานดีขึ้น นี่เดาเอานะ แต่อย่างน้อยหมอสันต์ก็มีหลักฐานระดับเรื่องเล่า คืือตัวอย่างเมียของเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ทำตัวอย่างนี้แล้วอยู่มาได้เกินยี่สิบปี คือเธอจะไปตลาดบ้านนอกทุกเช้าแล้วซื้อผักทุกอย่างที่ชาวบ้านเขาทานกันมาทานสดบ้างต้มบ้างอย่างละนิดอย่างละหน่อยๆ เธอบอกว่ารุ่นเดียวกันที่นั่งรอหมออยู่ที่คลินิกมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่สวนดอกเมื่อยี่สิบปีก่อนตอนนี้กลับบ้านเก่ากันไปหมดแล้ว เหลืออยู่แต่เธอคนเดียว

     2.3 ในกรณีที่ใช้ยาเคมีบำบัดในกลุ่ม methotrexate ควรทานโฟเลทเสริม เพราะจะไปลดพิษของยาเคมีบำบัดลงได้บ้าง

     2.4 การทานหรืือฉีดวิตามินหรืือแอนตี้ออกซิแดนท์ เช่น วิตามินซี. วิตามินอี. ในขนาดสูงมากๆ สูงเกินความต้องการปกติของร่างกายมาก ภาษาจิ๊กโก๋เรียกว่าสูงเกินแบ๊คดอร์ การทำอย่างนั้นไม่มีหลักฐานว่าให้ผลดีแต่อย่างใด หมอสันต์แนะนำโดยไม่มีหลักฐานประกอบว่าหากอยากจะทานแอนตี้ออกซิแดนท์ ก็ควรทานอย่างมากแค่ 100% ของมาตรฐานความต้องการต่อวัน (DV) ก็พอแล้ว อย่าเอาให้ถึงขนาดเกินแบ๊คดอร์เลย

     ตอบคำถามหมดแล้วนะ ไหนๆก็พูดถึงอาหารผู้ป่วยมะเร็งแล้ว ขอพูดต่ออีกสามประเด็น คืือ

     ประเด็นที่ 1. ยุคนี้มักจะมีความเชื่อว่าการดูแลคนไข้มะเร็งต้องให้อดๆอยากๆเข้าไว้ เพราะถ้ากินมากก็จะไปเลี้ยงมะเร็งให้เติบโตพรวดพราดทำให้เจ้าตัวตายเร็วขึ้น นี่เป็นเพียงความเชื่อนะครับ ยังไม่เคยมีหลักฐานวิจัยใดๆที่มีผลสรุปชี้ชัดว่าการอดอาหารจะทำให้อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้น มีแต่หลักฐานว่าการที่ผู้ป่วยมะเร็งได้ทานอาหารพอเพียงครบถ้วนในเชิงคุณค่าทางโภชนาการและรักษาดัชนีมวลกายให้ปกติ จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าและเคลื่อนไหวทำกิจกรรมได้ดีกว่าการได้ทานอาหารแบบขาดๆวิ่นๆ

     ประเด็นที่ 2. ปัจจุบันมีคนส่วนหนึ่งเชื่อว่าการทานแต่พืชเท่านั้นอย่างเข้มงวดไม่ทานอะไรที่เป็นเนื้อสัตว์เลยรวมทั้งนมวัว ไข่ และปลา ด้วย เป็นวิธีใช้อาหารรักษามะเร็งให้หายได้ ความเชื่อนี้จะเป็นความจริงหรือไม่วงการแพทย์ยังไม่มีคำตอบ เพราะไม่เคยมีใครทำวิจัยเปรียบเทียบไว้

     ประเด็นที่ 3. ผู้คนจำนวนหนึ่งเชื่อกันว่าคนเป็นมะเร็งจะต้องจำกัดอาหารโปรตีนให้น้อยๆเข้าไว้ ด้วยความเชื่อว่าอาหารโปรตีนเป็นหมวดอาหารที่มะเร็งเอาไปสร้างเป็นก้อนเนื้องอก แต่ในความเป็นจริงไม่มีหลักฐานวิจัยว่าคนเป็นมะเร็งกินโปรตีนน้อยๆแล้วจะมีอายุยิืนยาวกว่าคนกินโปรตีนให้พอเพียงตามปกติแต่อย่างใด

     อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณสี่สิบปีก่อนมีงานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่พบว่าเมื่อเอาเซลปกติของมนุษย์มาเลี้ยงในจานเพาะเลี้ยงแล้วให้อาหารที่ขาดกรดอามิโนจำเป็น (ซึ่งเป็นโมเลกุลพื้นฐานของโปรตีน) ตัวหนึ่งที่ชื่อเมไทโอนีน (methionine) แล้วดูการเติบโตของเซล พบว่าเซลปกติของมนุษย์ยังสามารถเติบโตได้เป็นปกติแม้ไม่มีเมไทโอนีน แต่เมื่อเอาเซลมะเร็งของมนุษย์มาเพาะเลี้ยงในจานเพาะเลี้ยงโดยให้ขาดเมไทโอนีน พบว่าเซลมะเร็งไม่สามารถเติบโตได้ พอใส่เมไทโอนีนลงไปเซลมะเร็งก็เติบโตได้ การวิเคราะห์เพิ่มเติมในห้องทดลองพบว่าเซลมะเร็งมีความผิดปกติในกระบวนการเผาผลาญภายในทำให้จำเป็นต้องพึ่งเมไทโอนีนจากภายนอกจึงจะเติบโตได้ บริษัทยาได้พยายามผลิตยาเคมีบำบัดที่ออกฤทธิ์ต้านเมไทโอนีนแต่ก็ไม่สำเร็จเพราะร่างกายได้รับเมไทโอนีนจากอาหารอย่างต่อเนื่องไม่มีขาด ความพยายามที่จะใช้ความรู้เรื่องที่ว่าเซลมะเร็งขาดเมไทโอนีนไม่ได้นี้จึงเลิกรากันไป

     เมไทโอนีนนี้เป็นกรดอามิโนจำเป็นที่มีมากที่สุดในเนื้อปลาและเนื้อไก่ รองลงไปพบมากปานกลางในไข่ เนื้อหมูเนื้อวัว และนมวัว แต่พบน้อยที่สุดในพืช โดยพืชที่มีเมไทโอนีนน้อยที่สุดระดับน้อยกว่าปลาเป็นร้อยเท่าคือผลไม้และนัท  ถัดขึ้นมาคือผัก ธัญพืชไม่ขัดสี และถั่ว ตามลำดับ แม้ถั่วจะเป็นพืชที่มีเมไทโอนีนมากที่สุดในบรรดาพืชด้วยกันแต่ก็ยังม่ีน้อยกว่าเนื้อสัตว์หลายเท่า คือมีน้อยกว่าเนื้อปลาถึง 7 เท่า

     น่าเสียดายที่่ยังไม่มีงานวิจัยทางคลินิกเปรียบเทียบว่าหากเลิกทานอาหารที่มีเมไทโอนีสูงเช่นปลา ไก่ ไข่ เนื้อสัตว์ และนม แล้วหันมาทานอาหารที่มีเมไทโอนีนต่ำคือพืชทั้งหลายแทนโดยเน้นหนักผลไม้ นัท และผัก จะลดอัตราตายจากโรคมะเร็งลงได้หรือไม่ ตรงนี้เป็นความลึกลับที่วงการแพทย์ยังไม่ทราบคำตอบ
 
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.  Kushi LH1, Doyle C, McCullough M, Rock CL, Demark-Wahnefried W, Bandera EV, Gapstur S, Patel AV, Andrews K, Gansler T. American Cancer Society Guidelines on nutrition and physical activity for cancer prevention: reducing the risk of cancer with healthy food choices and physical activity. CA Cancer J Clin. 2012 Jan-Feb;62(1):30-67. doi: 10.3322/caac.20140.

2. Halpern BC, Clark BR et al.The effect of replacement of methionine by homocystein on survival of malignant and normal adult mammalian cells in culture. Proc Nat Acad Sci USA. 1974:74(4);1133-1136.