Latest

หมอสันต์มีเทคนิคแก้ความกังวลไหม

สวัสดีครับคุณหมอสันต์
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณบทความดีๆที่คุณหมอเขียนในบล๊อค
ปัจจุบันผมอายุ 39 สูง 178 หนัก 91.7 กก ครับ (วิ่งและควบคุมอาหาร 4-5 เดือน ลดมาจาก 106 กก.)
TC 209 (ลดจาก 220) LDL 131 (ลดจาก 150) HDL 53 (ลดจาก 55 ???? มันลดด้วย) น้ำตาล 92 ตั้งใจจะออกกำลังกายและควบคุมเพื่อลดต่อให้ปกติครับ ผมเป็นความดันมา 6 ปีได้แล้วครับ แต่ก็ไม่มราบสาเหตุครับ ปัจจุบันคุณหมอให้กินยา Madiplot 20 mg 1 เม็ด และ Concor 5 mg 1 เม็ด หลังอาหารเช้าครับ จากการลดน้ำหนักมา 14 กก แต่ความดันผมเหมือนไม่ลดเลย ที่ผมเก็บเองที่บ้าน อยู่ประมาณ 128/75 เฉลี่ย แต่พอไปวัดที่ รพ. กับวัดได้สูงมาก 140-150/ 80-90 ผมมีคำถามครับคุณหมอ
1. ความดันตามนี้ถือว่ายาที่ผมทาน ควบคุมความดันได้หรือไม่ครับ? ควรต่องปรึกษาคุณหมอเรื่องปรับยาไหมครับ?
2. ผมมีเจ็บแต่เหมือนจุดนึงแถวซี่โครงซ้ายใต้ราวนมใกล้รักแร้ แน่น และ มีอาการเรอครับ บางครั้งก็มีเจ็บไปข้างหลัง แต่จริงๆก็ไม่ได้เจ็บหนักมาก ไม่ได้ถึงกับแน่นอะไรมาก แต่ตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นตำแหน่งเจ็บของหัวใจไหมครับ? (ผมไปพบคุณหมอท่านก็บอกว่าดูไม่เหมือน EKG ก็ออกมาปกติครับ แต่ผมก็กังวลครับ)
3.ผมได้อ่านบทความคุณหมอครับ ปกติผมเดินเร็วประมาณ 6-7 กม/ ชม ประมาณ 60 นาที (HR avg 125-129 bpm) ไม่ถึงกับหอบยังหายใจทางจมูกได้ หมายถึงไม่ได้ใช้ปากช่วยหายใจครับ
อาทิตย์นึงประมาณ 4-5 วันครับ แต่ไม่มีอาการเจ็บหน้าอกครับ แต่ผมก็ยังกังวลเรื่องการออกกำลังกายว่าจริงๆผมไม่ได้เดินเร็วมาก HR สูงไปไหม? หรือว่าจริงๆ ควร ออกให้หนักกว่านี้ (เห็นคุณหมอบอกให้หอบแฮก)
4. จากการที่ผมกังวล ก็ไปพบคุณหมอบ่อย คุณหมอก็บอกว่าผมเป็นแพนิคแม้แต่ภรรยาที่บ้านก็บอกว่าผมกังวลเกินไป (อันนี้ก็ปัญหาครับ เรารู้สึกว่าเราไม่ได้แกล้ง คือบางครั้งผมก็รู้สึกหวิวๆ ด้วย จนผมมีปัญหานอนได้ 3-4 ชม. แล้วตื่นกลางดึก บางครั้งนอนต่อไม่หลับ บางครั้งก็นอนต่อได้ แต่ผมถามแฟนผมเค้าบอกว่าผมเหมือนนอนดีขึ้นคือ กรนเบาลงมาก หรือบางทีไม่กรนเลย
ตอนนี้ผมแก้ปัญหานี้ด้วยการสวดมนต์ ฟังธรรมะก่อนนอน ก็รู้สึกดีขึ้นนิดหน่อย
– ผมถือว่าอาการหนักไหมครับ?
– ตรงนี้ผมควรพบจิตแพทย์ไหมครับ?
ลืมบอกไปครับคือเมื่อก่อนผมไม่เคยมีปัญหาการนอน ผมสามารถสั่งตัวเองได้เลยว่าจะนอนตอนไหน ตื่นตอนไหน แต่ปัจจุบันนอนยากขึ้นครับ
5. ก่อนหน้าที่จะมาออกกำลังกาย ผมเคยเป็นลมบนเครื่องบินขากลับจากต่างประเทศ แต่น่าจะประมาณ 10 วิฯ (เพื่อนที่ไปด้วยกันบอก) เป็นจุดเริ่มต้นของความกังวล เรื่องโรคหัวใจ
จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมเดินทางบ่อย จนการเป็นลมครั้งนี้ เป็นการเป็นลมครั้งแรกบนเครื่องแต่ไม่ได้เจ็บหน้าอก แต่แค่แน่นท้องก่อนเป็นลมครับ ณ ตอนนั้นมีองค์ประกอบในเหตุการณ์ แต่ไม่รู้ว่าเกี่ยวไหม
– เป็นลมตอนเครื่องจะเทคออฟ แล้วตอนนั้นบนเครื่องอากาศดูอ้าวๆ เหมือนแอร์เสีย
– ทั้งอาทิตย์ผมดื่มหนักกับลูกค้า (ปกติผมไม่ดื่ม ปัจจุบันคือเลิก 100% No alcohol)
– พอปาร์ตี้หนัก ก็พักผ่อนน้อย เพราะต้องออกไปประชุมเช้า
คือผมไม่รู้ว่าจริงๆพวกนี้คือสาเหตุหรือเปล่า แต่ทำให้ผมกังวลเกี่ยวกับการเดินทางมากเลยครับ เดือนหน้าผมมีแพลนต้องเดินทางไปต่างประเทศด้วย คุณหมอมีเทคนิคแก้ปัญหาเรื่องความกังวลไหมครับ รบกวนช่วยแนะนำด้วยครับ
ผมขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำแนะนำคุณหมอครับ
ขอบคุณครับ

……………………………………………

ตอบครับ

     1. ความดันเลือดยังสูงอยู่ แต่คุณอย่าไปยุ่งกับเรื่องของยา ส่วนนั้นเป็นส่วนที่หมอเขาจะดูแลเอง คุณควรยุ่งกับส่วนที่คุณต้องดูแลตัวเอง อันได้แก่การลดน้ำหนัก การกินอาหารที่มีพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ การลดการกินเกลือ การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียดให้ดี นั่นคือส่วนที่คุณต้องทำ

     2. อาการเจ็บหน้าอกแบบที่่ว่ามา ไม่ใช่อาการหัวใจขาดเลือด (stable angina) เพราะเป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่สัมพันธ์กับการออกกำลังกาย และไม่ใช่อาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) เพราะอาการไม่ได้เป็นต่อเนื่องรุนแรงยาวนาน และผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจก็ปกติ

     3. เมื่อออกกำลังกายแล้วหัวใจเต้น 125-129 ครั้งต่อนาทีสำหรับคนอายุขนาดคุณถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนอายุขนาดคุณหากออกกำลังกายเต็มที่ (VO2max) หัวใจจะเต้นได้ถึง = 220-39 = 181 ครั้งต่อนาที หากคุณต้องการออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควร คุณต้องออกให้ได้ 60-80% ของ VO2max นั่นหมายความว่าคุณให้หัวใจเต้นได้มากถึง 145 ครั้งต่อนาทีก็ยังเป็นแค่หนักพอควรอยู่ยังไม่ได้หนักมาก ดังนั้นในการออกกำลังกายคุณควรออกกำลังกายให้หนักกว่านี้ คือให้ออกจนหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้ เอาหอบแฮ่กๆเป็นเกณฑ์ไม่ต้องสนใจชีพจรก็ได้ ง่ายดี

     4. ถามว่าหมอก็บอกว่าคุณเป็นโรคประสาท เมียก็บอกว่าคุณเป็นโรคประสาท ถือว่าคุณอาการหนักไหม ตอบว่าถ้าหมอบอกว่าเป็นโรคประสาทอาการยังไม่หนักเท่าไหร่ แต่ถ้าเมียบอกว่าเป็นโรคประสาท นี่อาการหนักแน่นอนแล้วครับ

     5. ถามว่าคุณควรจะไปพบจิตแพทย์ไหม ตอบว่าจิตแพทย์เป็นกัลยาณมิตรของคนที่มีความทุกข์ใจทุกคนนะครับ ดังนั้นเมื่อใดที่คุณคิดว่าคุณหมดหนทางไป ไร้กัลยาณมิตร ผมแนะนำว่าเมื่อนั้นคุณควรไปพบจิตแพทย์

     6. ถามว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเป็นลมบนเครื่องบิน ตอบว่ายังไม่ทราบครับเพราะยังไม่มีหลักฐานอะไรมาประกอบการวินิจฉัยได้เลย ได้แต่เดาเอาว่าเป็นเพราะร่างกายไม่ fit to fly ตอนนี้คุณได้ออกกำลังกายจนร่างกายฟิตขึ้นแล้วปัญหาก็น่าจะหมดไปแล้ว

     7. ถามว่าหมอสันต์มีเทคนิคแก้ความกังวลไหม ตอบว่ามีครับ ความกังวลก็คือความคิด เทคนิคแก้ความกังวลก็คืือเทคนิคการวางความคิด ซึ่งก็คือเทคนิคไปสู่ความหลุดพ้นนั่นแหละ ซึ่งหมอสันต์พร่ำพูดซ้ำซากจนจะกลายเป็นเพ้อเจ้ออยู่แล้ว ให้คุณหาอ่านย้อนหลังเอาเอง วันนี้ผมขอพูดแค่สั้นๆ และย้ำว่านี่ไม่ใช่หลักวิชาแพทย์แผนปัจจุบันนะ เป็นประสบการณ์ส่วนตัวของหมอสันต์เอง ว่าในภาพใหญ่ให้คุณมองให้ออกก่อนว่าชีวิตมีสามส่วนคือ (1) ร่างกาย (2) ความคิด และ (3) จิตสำนึกรับรู้หรือความรู้ตัว ความกังวลเกิดจากการมองชีวิตออกมาจากมุมมองของการเป็นร่างกายและความคิด หรือเรียกอีกอย่างว่ามุมมองของการเป็นบุคคล การจะปลอดความกังวล คุณจะต้องเปลี่ยนไปมองชีวิตออกมาจากมุมมองของความรู้ตัว หรือเรียกอีกอย่างว่ามุมมองของการเป็นดวงวิญญาณ หมายความว่าคุณต้องถอยตัวเองออกมาเป็นผู้สังเกตดูสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายและในใจของตัวเองให้ได้ก่อน ว่าคุณไม่ใช่ร่างกาย คุณไม่ใช่ความคิด แต่คุณเป็นผู้สังเกตร่างกายและความคิด ในกระบวนการฝึกสังเกตกายและใจตัวเองนี้ คุณต้องรู้จักเลือกใช้เทคนิคต่างๆต่อไปนี้ตามจังหวะอันควร คือ

     (1) เทคนิคเปิดรับเอาพลังงานจากข้างนอกเข้ามากระตุ้นตัวเอง พลังงานจากข้างนอกให้คุณสมมุติว่ามันมากับลมที่คุณหายใจเข้ามานั่นแหละ ให้คุณตั้งใจเปิดรับอ้าซ่าหายใจเข้าเอาพลังงานเข้ามากระตุ้นตัวเอง

     (2) เทคนิคการสนใจรับรู้พลังงานในร่างกาย เมื่อพลังงานจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในและอบร่ำหมุนเวียนอยู่ในร่างกาย เราจะรับรู้ถึงมันได้ด้วยการรับรู้ความรู้สึกบนร่างกาย จะเป็นความรู้สึกวูบๆวาบๆ จิ๊ดๆ จ๊าดๆ เหน็บๆชาๆตามผิวหนังก็แล้วแต่ ให้ขยันใส่ใจรับรู้ถึงความรู้สึกเหล่านี้บนผิวหนังของร่างกาย เพราะด้านหนึ่งการจดจ่อความสนใจอยู่กับร่างกาย ก็เป็นตัวช่วยให้วางความคิดได้ง่ายขึ้น อีกด้านหนึ่งพลังงานในร่างกายนี้มีธรรมชาติเป็นการสั่นสะเทือน (vibration) ซึ่งหากตามรับรู้ให้ลึกละเอียดลงไปมันก็คือพลังงานระดับละเอียดที่ประกอบขึ้นเป็นความรู้ตัวนั่นเอง เท่ากับว่าการอยู่กับพลังงานในร่างกายก็กลายเป็นการตั้งต้นที่จะลงลึกไปอยู่กับความรู้ตัว

     (3) เทคนิคการผ่อนคลายร่างกาย หมายถึงการผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั่วตัว เพราะภาคหนึ่งของความคิดที่เรียกว่า “อารมณ์ (emotion)” จะแสดงเป็นอาการของร่างกาย  เมื่อคิด กล้ามเนื้อจะเกร็งตัว เมื่อวางความคิดได้ กล้ามเนื้อจะคลายตัว ในทางกลับกัน ฉันใดก็ฉันเพล การคลายกล้ามเนื้อก็จะนำไปสู่การวางความคิด 

     (4) เทคนิคการมีสมาธิ อันนี้ไม่ต้องอธิบายมากเพราะสมาธิใครๆก็รู้จัก ซึ่งก็คืือการที่ใจทิ้งความคิดมาจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่าง การทำสมาธิทำอย่างไรใครๆก็พูดถึงกันอยู่เสมอ การทำสมาธิด้วยการตามรู้ลมหายใจเป็นวิธีที่ผมแนะนำมากที่สุด ประเด็นก็คือเมื่อใจจดจ่อมีสมาธิอย่างยิ่ง (ฌาณ) พลังงานจากภายนอกจะไหลบ่าเข้ามาเอง หรือจะพูดว่าพลังงานที่ลึกละเอียดจะเอ่อท้นขึ้นมาเองก็ได้ ซึ่งนอกจากจะนำมาซึ่งความเบิกบานแล้วยังนำมาซึ่งปัญญาญาณ (intuition) อันจะเป็นตัวช่วยกำราบความคิดตื้นๆงี่เง่าๆซ้ำซากๆที่ครอบหัวเราอยู่ประจำได้ดีนัก

     (5) เทคนิคการรับรู้สิ่งเร้าแบบรับรู้ตรงๆตามที่มันเป็น อันนี้มันเป็นผลมากกว่าเหตุ คุณฝึกเทคนิคสี่ข้อข้างต้นพอมีสมาธิและปัญญาญาณแล้วความสามารถในการรับรู้สิ่งต่างๆตามที่มันเป็นโดยไม่ไปคิดใส่สีตีไข่จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ถึงจุดนี้ความกังวลจะหมดไป เพราะความกังวลก็คือความคิดงี่เง่าที่ไม่รับรู้สิ่งเร้าตรงๆตามที่มันเป็น แต่รับรู้แบบใส่สีตีไข่สิ่งเร้านั้นด้วยคอนเซ็พท์เรื่องความเป็นบุคคลและคอนเซ็พท์เรื่องเวลาโดยเข้าใจผิดว่าคอนเซ็พท์ทั้งสองเรื่องนั้นเป็นของจริงนั่นเอง

    ในเชิงการมองความรู้ตััวจากมุมของการเป็นพลังงาน เทคนิคข้อนี้เป็นการขยาย scope หรือย่านการรับรู้ออกไปจากตัวเอง ขยายความรู้ตัวออกจากร่างกายไปยังสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไกลออกไปๆ โดยไม่สนใจความคิด ลืมตา รับรู้ภาพของสนามหญ้า ต้นไม้ ก้อนเมฆ ได้ยินเสียงรถ เสียงนก เสียงไก่ขันแต่ไกล รับรู้ทุกอย่างตามที่มันเป็นโดยไม่สนใจความคิดหรือเสียงของนักพากย์ที่เสนอความเห็นแทรกเข้ามา ถ้าเผลอคิดก็ดึงความสนใจกลับมาจากความคิดอย่างนุ่มนวล มองเห็นร่างกายและความคิดของตัวเองว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ปรากฎขึ้นในความว่างอันกว้างใหญ่นี้ มาถึงตรงนี้ได้ คุณก็อยู่กับปัจจุบันโดยไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของความคิดได้แล้ว

     พูดมากไปก็ไลฟ์บอย หยุดอ่าน หยุดคิด แล้วลงมือทำดีกว่า ไม่เข้าใจไม่เป็นไร ให้ลองทำก่อน การวางความคิดก็เหมือนกับการวางปากกาในมือลงบนโต๊ะ ถ้าคุณไม่ลงมือวางมันลงแล้วคุณจะวางมันได้ไหมละ หากคุณลองทำเองแล้วมันติดขัดอะไรในเชิงเทคนิค ให้คุณหาโอกาสมาเรียน MBT หรืือมาเข้า  Spiritual Retreat สักครั้ง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์