Latest

การช่วยให้คนบริหารสุขภาพตนเอง น่าจะมีวิธีดีกว่านี้

สวัสดีค่ะ
เป็นแฟนคลับคุณหมอค่ะ เคยไปcampที่มวกเหล็ก3-4ปีแล้วค่ะ
เรียนถามคุณหมอนะคะ
1 อายุ60up หญิง ปกติดี ไม่มีอาการอะไร คลอเรสเตอรองสูงกว่าเกณฑ์ ควรตรวจสุขภาพหัวใจ แบบไหนมั้ยคะ
2 60up ชาย เป็นเบาหวาน ความดัน 20ปีup แต่ไม่มีอาการผิดปกติอะไร ควรตรวจสุขภาพหัวใจอะไรบ้างมั้ยคะ
ขอบพระคุณค่ะ

……………………………………..

ตอบครับ

     1. เป็นหญิงหรือชาย อายุเท่าไหร่ก็ตาม มีไขมันในเลือดสูง ไม่มีอาการอะไร ถามว่าควรไปตรวจหัวใจไหม ตอบว่า สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การไปตรวจอะไรเพิ่มเติม แต่คือการลงมือลดไขมันในเลือดด้วยตนเอง ด้วยการปรับอาหารไปกินอาหารที่มีพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ คือมีพืชเยอะ มีไขมันน้อยๆ ควบกับการออกกำลังกาย อย่างน้อยๆก็ออกเดินทุกเช้าหรือทุกเย็น ทำแค่นี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องไปตรวจหัวใจ

    คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการขยันไปตรวจหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเอ็คโค่ วิ่งสายพาน ตรวจแคลเซียมที่หลอดเลือด หรือบางทีก็เอาถึงขนาดตรวจสวนหัวใจซะอีกด้วย จะทำให้โอกาสตายจากโรคหัวใจลดลง แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ การขยันทำอย่างนั้นทำให้อัตราตายจากโรคหัวใจลดลงได้น้อยมาก คือลดลงได้ 20-30% ถ้าคุณว่านอนสอนง่าย กล่าวคือถ้าหมอให้กินยาคุณก็กินและหมอให้ทำบอลลูนบายพาสคุณก็ทำ การลดอัตราตายจากโรคหัวใจอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นได้จากจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคที่ตัวเรามีอยู่เท่านั้น ปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคหัวใจที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ที่วงการแพทย์รู้ชัดๆอยู่แล้วก็มีเจ็ดอย่างคือ ความอ้วน ความดัน ไขมัน เบาหวาน การกินพืชผักผลไม้น้อยไป การไม่ได้ออกกำลังกาย และการสูบบุหรี่ ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของการที่สมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) ได้คิดตัวชี้วัดง่ายๆเจ็ดตัว (Simple 7) เพื่อวัดปัจจัยเสี่ยงเจ็ดอย่างข้างต้นขึ้นมาให้ผู้ป่วยหัดใช้จัดการปัจจัยเสี่ยงของตัวเอง และมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่าขณะที่การขยันใช้ยาและผ่าตัดลดอัตราตายของโรคนี้ลงได้ประมาณ 20-30% แต่เมื่อผู้ป่วยเอาตัวชี้วัดง่ายๆเจ็ดตั้งนี้ลงปฏิบัติด้วยตัวเองอย่างจริงจังด้วยแล้ว อัตราตายจะลดลงได้มากถึง 91% 

     ในบรรดาตัวชี้วัดทั้งเจ็ดตัวนี้ ผมเห็นว่าตัวที่สำคัญที่สุดมีสองตัวคือ จำนวนพืชผักผลไม้ที่คุณกินต่อวัน กับเวลาที่คุณใช้ในการออกกำลังกายต่อสัปดาห์ ในกรณีของคุณนี้คุณบอกว่าทุกอย่างของคุณปกติดีหมดแล้วยกเว้นไขมันสูง ผมเชื่อว่าคุณมีความดันปกติ น้ำตาลปกติ และไม่สูบบุหรี่จริง แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าน้ำหนักของคุณปกติหรือเปล่า และผมค่อนข้างแน่ใจว่าปริมาณการกินพืชผักผลไม้ของคุณน้อยกว่าปกติและเวลาที่ใช้ในการออกกำลังกายของคุณน้อยกว่าปกติ ไม่งั้นไขมันในเลือดของคุณคงไม่สูงอย่างนี้หรอก ดังนั้นคำแนะนำของผมคือไม่ต้องไปตรวจหัวใจ แต่เอาเวลานั้นไปจัดการปัจจัยเสี่ยงทั้งเจ็ดตัวนั้นด้วยตัวเองเสียเถอะ

     2. ถามว่าถ้าสามีคุณเป็นผู้ชายอายุหกสิบ เป็นเบาหวาน เป็นความดันสูงมา 20ปี จะต้องตรวจหัวใจอะไรเป็นพิเศษบ้าง ตอบว่านี่เป็นคนละกรณีกับตัวคุณแล้วนะ กรณีตัวคุณเป็นเรื่องการจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพส่วนบุคคล (personal health risk management – HRA) ส่วนกรณีสามีคุณเป็นเรื่องของการบริหารจัดการโรคเรืื้อรัง (chronic disease management – CDM) เรื่องแรกเป็นเรื่องใหญ่แต่คุณจัดการด้วยตัวเองได้ เรื่องหลังเป็นเรื่องใหญ่กว่า แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) จะรณรงค์ให้ตัวผู้ป่วยลุกขึ้นมาจัดการสุขภาพและการเจ็บไข้ได้ป่วยของตัวเอง ซึ่งเรียกคอนเซ็พท์นี้ว่า Self Management – SM แต่ผมมีความเห็นว่าการทำเช่นนั้นมันจะปลอดภัยยิ่งขึ้นหากมีแพทย์หนุนหลัง เพราะการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื่้อรัง (NCD) อย่างเช่นที่สามีคุณเป็นอยู่นี้เรื่องมันแยะ ถึงจุดนี้ต้องระวังนี่ ถึงจุดนั้นควรจะทำนั่น อย่างเช่นคนเป็นความดันสูงรักษากันมานานเป็นสิบๆปี แพทย์ก็ต้องประเมินว่าที่รักษามานั้นโรคมันนิ่งอยู่จริงหรือเปล่าหรือว่าเข้าใจว่าคุมโรคนิ่งแต่แท้ที่จริงโรคกำลังลามคุมไม่ได้ วิธีประเมินวิธีหนึ่งคือตรวจเอ็คโคหัวใจดูความหนาตัวและการบีีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย ถ้าทุกอย่างยังดีอยู่ก็แสดงว่าที่รักษามานานนั้นดีแล้ว แต่ถ้ากล้ามเนื้อหนาตัวขึ้น บีบและคลายตัวแย่ลง ก็แสดงว่าที่รักษามานั้นหน่อมแน้มเกินไปต้องปรับวิธีใหม่ เป็นต้น หรืออย่างน้อยที่สุดคนเป็นโรคเรื้อรังถึงระดับสามีคุณนี้ก็ต้องกินยาหลายตัวแล้ว การจัดการโรคนอกจากจะจัดการปัจจัยเสี่ยงด้วยตัวเองแล้วยังต้องมีการจัดการยา คือถ้าโรคไม่ดีขึ้นก็ต้องมีการเพิ่มยาบ้างเปลี่ยนยาบ้าง ถ้าโรคดีขึ้นก็ต้องมีการลดยาบ้างเลิกยาบ้างทั้งหมดนี้คนทั่วไปหากทำไปเองโดยไม่มีความรู้เรื่องยามากพอก็จะมีความเสี่ยง แต่ถ้ามีแพทย์คอยหนุนหลังอยู่การจัดการโรคเรื้อรังด้วยตัวเองก็จะปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้นกรณีของสามีคุณนี้ผมแนะนำให้หาหมอที่ซื้ๆและเข้าถึงง่ายๆไว้สักคนไว้เป็นที่ปรึกษาแล้วจัดการโรคของตัวเองโดยปรึกษาหารือกับหมอท่านนั้นน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดนะครับ

     พูดถึงเรื่องการจัดการโรคด้วยตัวเอง หรือการบริหารสุขภาพตนเอง ทุกวันนี้มีแฟนบล็อกจำนวนมาก ทั้งที่เคยเจอหน้ากัน ทั้งที่ไม่เคยเจอหน้ากัน ชอบเขียนมาปรึกษาประเด็นการจัดการโรคเรื้อรังของตัวเองโดยที่ผมเองก็รู้ข้อมูลไม่ครบ ยกตัวอย่างตัวคุณเองนี้เป็นต้น ข้อมูลเบสิกอย่างคุณน้ำหนักตัวเท่าไหร่สูงกี่ซม.ผมยังไม่รู้เลย ยังไม่นับข้อมูลลึกซึ้งอย่างอื่นอีกละ บางครั้งอยากช่วยแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะการให้คำปรึกษาเรื่องการลดยาก็ดี เลิกยาก็ดี จะผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดก็ดี มันต้องมีข้อมูลครบถ้วนมิฉะนั้นก็จะเป็นการซี้ซั้ว น่าเสียดายที่ทุกวันนี้เทคโนโลยีการสื่อสารส่งผ่านและแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ก้าวหน้าไปมาก แต่มนุษย์เราได้ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้านั้นในแง่การดูแลสุขภาพนิดเดียว 

     ผมกำลังนั่งคิดอยู่นะ อีกไม่กี่วันผมก็จะย่าง 66 ปีแล้ว หมายถึงอายุหนะ เมื่อตอนอายุ 60 ผมคิดว่าพอ 65 ก็จะวางทุกอย่างไปปลีกวิเวกแล้ว แต่พอ 65 มาถึงจริงๆก็รู้สึกว่าตัวเองยังมีพละกำลังอยู่มาก โรคความคิดกำเริบก็ยังไม่หมด คือผมปิ๊งไอเดียอยากจะทำคลินิกขึ้นมาอีกสักครั้ง ครั้งสุดท้ายที่ผมทำคลินิกคือพ.ศ. 2525 สามสิบกว่าปีมาแล้วสมัยเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่บ้านนอก แต่นั่นเป็นคลินิกหาเงินใช้หนี้ คราวนี้ผมอยากจะทำคลินิกอีกแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ผมจะเรียกมันว่า “คลินิกบริหารสุขภาพตนเอง” หรือ “Self Management Clinic (SMC)” ตัวคลินิกตามกฎหมายจะอยู่ที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ที่มวกเหล็ก แต่ว่าคลินิกจริงๆจะอยู่บนก้อนเมฆ (cloud-based) หมอและทีมงานจะอยู่ที่ไหนก็ได้ คนไข้จะอยู่ที่ไหนก็ได้ ข้อมูลคนไข้จะเก็บจากอุปกรณ์ที่คนไข้สวมใส่หรือวัดเองได้ (wearable device) เข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลบนก้อนเมฆผ่านบลูทูธ หรือถูกส่งเป็นไฟล์มาให้ทีมงานกรอกส่งขึ้นก้อนเมฆ ซึ่งจะถูกสรุปออกมาเป็นแผงหน้าปัทม์สุขภาพ (dashboard) เพียงหน้าเดียว ซึ่งประกอบด้วยการสรุปปัญหาเรียงตามลำดับความสำตัญ (problems list) ยาที่กำลังกินอยู่ (current medications) แผนการรักษา (Rx plan) และสรุปผลดัชนี้ง่ายๆเจ็ดตัว (simple 7) ทั้งฝ่ายหมอและทีมงาน ทั้งฝ่ายคนไข้ ต่างก็จะใช้ข้อมูลจากหน้าปัทม์นี้แหละ ส่วนการจะปรึกษาหารือกันก็ต้องแล้วแต่ช่องทางที่ทั้งคู่ถนัด อาจจะเป็นถามกันที่ตรงหน้าปัทม์สุขภาพนั้นเลย หรือทางไลน์ หรืออีเมล หรือโทรศัพท์ หรือถ้าจำเป็นก็นัดมาเจอกันซึ่งๆหน้าที่แค้มป์หรือที่คลินิก ก็ทำได้ทั้งนั้น ประเด็นสำคัญคือเมื่อใดก็ตามที่มีการถามและการตอบ เมื่อนั้นฝ่ายตอบมีข้อมูลสุขภาพที่จำเป็นของผู้ถามครบถ้วนพร้อมอยู่ตรงหน้าแล้ว มันจะเป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์สามารถสนับสนุนให้ผู้ป่วยบริหารสุขภาพและจัดการโรคเรื้อร้งของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด 

     นอกเหนือจากการเป็นเวทีให้คำปรึกษาหารือแบบแม้จะอยู่คนละที่แต่ก็มีข้อมูลครบถ้วนแล้ว คลินิกในฝันของหมอสันต์นี้ยังฝันว่าจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอีกสองเรื่อง คือ 

     (1) จะใช้ซอฟท์แวร์ช่วยการตัดสินใจ (diagnostic aid) ซึ่งพวกหมอฝรั่งเขาพัฒนามากันจนสุกงอมได้ที่ดีแล้ว มันจะช่วยให้ทั้งผู้ป่วย ผู้ช่วยแพทย์ และแพทย์ ใช้ในการวิินิจฉัยโรคและให้คำแนะนำตามสถานะของผู้ใช้ เช่นถ้าผู้ใช้เป็นผู้ป่วยก็จะแนะนำว่าอาการอย่างนี้เป้นอะไรได้บ้าง จะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ต้องไปหาหมอสาขาไหน การไปหาหมอจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องเตรียมคำตอบ และเตรียมคำถามอะไร เป็นต้น ถ้าผู้ใช้เป็นแพทย์หรือผู้ช่วยแพทย์ก็จะแนะนำวิธีรักษาว่าผู้ป่วยอย่างนี้ต้องรักษาอย่างไร 

     (2) จะใช้ระบบที่เอาข้อมูลตรงจากอุปกรณ์ช่วยวินิจฉัยโรคที่สวมใส่หรือติดตั้งได้เองโดยผู้ป่วยหรือพนักงานผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (wearable device) ให้ขึ้นไปอยู่ในเวชระเบียนผู้ป่วยของคลินิกที่อยู่บนก้อนเมฆ แล้วโผล่เข้ามาปรับปรุงข้อมูลของหน้าปัทม์สุขภาพของผู้ป่วยรายนั้นได้ทันที ทุกวันนี้การตรวจที่จำเป็นพื้นฐานเกือบทุกอย่างเช่นความดันเลือด อุณหภูมิร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ ออกซิเจนในเลือด คลื่นไฟฟ้าห้ัวใจ ภาพถ่ายหน้าตา ผิวหนัง เยื่อแก้วหู เสียงการปิดเปิดลิ้นหัวใจ และผลการตรวจชีวเคมีของเลือดที่เจาะจากปลายนิ้ว ไม่ว่าจะเป็นไขมัน น้ำตาล การทำงานของไต สามารถทำที่บ้านโดยตัวผู้ป่วยเองหรือพนักงานผู้ดูแลได้ทั้งหมด โดยที่สามารถให้ข้อมูลทั้งหมดขึ้นไปอยู่บนก้อนเมฆได้ทันที เทคโนโลยีพวกนี้มีอยู่แล้ว ราคาก็ไม่ใช่ว่าจะแพง แต่การเอามาใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนการบริหารสุขภาพตนเองยังไม่เกิดขึ้น หมอสันต์จะทำให้มันเกิดขึ้น ได้ไม่ได้จริงเดี๋ยวก็รู้ หิ หิ

     คลินิกบริหารสุขภาพตนเอง หรือ SMC ฝันกลางวันแสกๆของหมอแก่ๆคนหนึ่ง จะเป็นจริงได้หรือไม่ อย่าเพิ่งปรามาสน้ำยาคนแก่..นะจ๊ะ อยากรู้ต้องคอยติดตามตอนต่อไป แอ่น แอ้น แอ๊น..น 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์