Latest

ยาที่กินเข้าไป นานแค่ไหนจึงจะหมดจากตัว

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ
   ได้ติดตามบล็อกคุณหมอมานานพอสมควร เป็นบทความที่มีประโยชต่อสาธารณชนอย่างแท้จริงและตรงกับใจผมมากที่คุณหมอเน้นการป้องกันโรคดีกว่ามารักษาโรคภายหลัง ผมจึงหลีกเลี่ยงการใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะเพราะมันทำลายภูมิคุ้มกัน หลายสิบปีที่ผมแทบไม่เคยเป็นโรคสามัญประจำบ้านเลยครับ อย่างเช่นโรคไข้หวัด หากมีเริ่มอาการครั่นเนื้อ ครั่นตัว ผมใช้วิธีแค่ออกกำลังเล็กน้อย อาการดังกล่าวจะหายไปโดยไม่ต้องใช้ยาใดๆทั้งสิ้น  ก็ขอเกริ่นไว้เป็นข้อคิดแก่แฟนบล็อกคุณหมอด้วยครับ
    อารัมภบทแล้วขอรบกวนคุณหมอดังนี้ครับ ผมอายุ68ปี สูง 160 ซม.หนัก 56 กก. เมื่อปี 2549 มีอาการแน่นหน้าอก และร้าวไปที่แขนทั้งสองข้าง ขณะเช็ดถูรถ หมอบอกเป็นอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ ไขมันรวมประมาณ 233 mg/dl  HDL 43 mg/dl  TRIGLYCERRIDE 163 mg/dl  LDL 131 mg/dl ความดัน 140/90-150/95  ยาที่ได้รับคือ
   เบบี้ แอสไพริน ตอนแรกไม่กิน ตอนหลังเห็นประโยชมากว่าโทษจีงกินทุกวัน
   prenolol 50 mg กินครึ่งเม็ด กินวันเว้นวัน เพราะวัดความดันปกติ
  lipitor  (ตอนหลังเปลี่ยนเป็น xarator )20mg กินครึ่งเม็ด กินสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือจันทร์กับพฤหัส เพราะผมได้ทดลองแล้วพบว่ายาคุมได้ถึง 60 ชม. กล่าวคือเจาะเลีอดวันอังคาร งดกินยาคืนวันจันทร์ (กินคืนวันอาทิตย์)ได้ผลเลือดดีมากเหมือนกินคืนวันจันทร์ ต่อมางดกินคืนวันอาทิตย์(กินคืนวันเสาร์) ได้ผลเลือดเหมือนกับกินคืนวันอาทิตย์ ทั้งสองแบบทดลองอย่างละ 2 ครั้ง โดยเจาะเลือดทุก 6เดือน เท่ากับผมใช้เวลา 2 ปีในการทดลองฤทธ์ของยา มีข้อเรียนถามว่า
   1 ผมทำอย่างนี้เป็นการสมควรไหมครับ มีการวิจัยฤทธ์ของยาอย่างที่ผมทดลองหรือไม่
   2 เมื่อปีเศษๆ ผมเริ่มมีอาการชาที่นิ้วเท้าข้างซ้าย (ค่า glucose 100 mg/dl) ขณะนี้เริ่มชาที่นิ้วเท้าข้างขวาแล้ว (ค่า glucose 103 mg/dl) อาการชาเกี่ยวข้องกับเสันเลือดหัวใจตีบ และหรือระดับน้ำตาลในเลือดไหมครับ
   3 มีงานวิจัยวิธีรักษาอาการชาที่เท้า(รวมทั้งที่มือด้วย) ไหมครับ
ป.ล.อาหารเน้นผักผลไม้แต่ยังอดเนื้อสัตว์ไม่ได้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอแต่ยังไม่ถึงขั้นที่คุณหมอแนะนำ ส่วนเรื่องคลายเครียดคิดว่าทำได้ดี
ขอขอบพระคุณคุณหมอ ณ โอกาสนี้
(ชื่อ) …….

…………………………………………………………….

ตอบครับ

     1. ถามว่าการที่ผู้ป่วยปรับยาลดไขมันและยาลดความดันเองเป็นการถูกต้องสมควรไหม ตอบว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องถูกผิด ส่วนความสมควรหรือไม่สมควรก็แล้วแต่ใครจะเป็นคนมอง

     มองจากมุมของคนไข้ก็เป็นการสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปรับไปในทิศทางที่จะลดยาลงเมื่อตัวชี้วัดดีขึ้น เนื่องจากสามสาเหตุคือ คนไข้หลายท่านกินยาเองโดยไม่พึ่งแพทย์ นั่นประการหนึ่ง ในกรณีที่ไปหาแพทย์ ระยะเวลาที่นัดหมายจะไปหาแพทย์นั้นมันนานมาก ทำให้ต้องกินยามากเกินความจำเป็นอยู่นานโดยใช่เหตุ นั่นอีกประการหนึ่ง และแพทย์บางท่านชอบจ่ายยามาก ถึงไปหาแพทย์ขอปรับยาทั้งๆที่ตัวชี้วัดดีขึ้นแล้วแต่แพทย์ก็ไม่ยอมลดยาให้ กลับจะเพิ่มยาตัวใหม่เข้ามาอีกต่างหาก นั่นอีกประการหนึ่ง

     แต่ถ้ามองจากมุมของแพทย์ผู้รักษาการที่คนไข้จะลดยาเองก็ถือว่าเป็นการไม่สมควร เพราะแพทย์ก็อยากให้คนไข้ทำทุกอย่างตามที่แพทย์บอก ไม่อยากให้คนไข้คิดอ่านทำอะไรเอง ซึ่งความปรารถนาของแพทย์นี้ดูเหมือนโอกาสที่จะเป็นจริงนับวันจะเลือนลางลงไปทุกที เพราะสม้ยนี้คนไข้เขาเชื่ออินเตอร์เน็ทหรือแม้กระทั่งเชื่อข่าวลือลมๆแล้งๆมากกว่าเชื่อแพทย์ เอาง่ายๆว่าระหว่างหมอแสงกับแพทย์ปริญญาคุณคิดว่าคนไข้เชื่อใครมากกว่ากัน หิ หิ ตัวผมเองมีความเห็นว่าสมัยนี้แพทย์ควรจะรับฟังความเห็นของคนไข้และเปิดให้คนไข้ได้มีโอกาสร่วมตัดสินใจในวิธีดูแลรักษาตัวเขาเองมากขึ้น เพิ่มเวลาโอภาปราศัยและอธิบายให้ความรู้แก่คนไข้มากขึ้น วิธีนี้อย่างน้อยก็ยังจะทำให้แพทย์เหลือสถานะเป็นที่ปรึกษาของคนไข้อยู่ ดีกว่าที่แพทย์กับคนไข้จะไม่ยอมรับกันและกันแล้วไม่มีใครได้ประโยชน์

     2. ถามว่ามีงานวิจัยการออกฤทธิ์ของยาในร่างกายคนว่าอยู่ได้นานเท่าไหร่หรือไม่ ตอบว่ามีครับ ยาทุกชนิดที่ได้รับอนุมัติให้เอาออกมาขายต้องมีผลการวิจัยเภสัชวิทยาอย่างละเอียด อย่างยา Xarator (atorvastatin) ที่คุณกินอยู่นี้ ผลวิจัยมีอยู่ว่าเมื่อกินไปแล้วระดับยาในเลือดก็จะขึ้นสูงสุดเมื่อเวลา 1-2 ชม.หลังกิน และตัวยาในรูปแบบที่ออกฤทธิ์ได้จะมีครึ่งชีวิต (half life) อยู่ในร่างกายนาน 20-30 ชั่วโมง ตีเสียง่ายๆว่า 24 ชั่วโมงหรือหนึ่งวันก็แล้วกันนะ หมายความว่าเมื่อคุณกินยานี้เม็ดเดียวแล้วหยุดเลยไม่กินอีก ผ่านไปหนึ่งวันปริมาณยาในเลือดจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง อีกหนึ่งวันลดลงไปอีกครึ่งของครึ่งที่เหลือ อีกหนึ่งวันลดลงไปอีกครึ่งของครึ่งที่เหลือ เป็นเช่นนี้ไปชั่วนิรันดร์ ดังนั้นโดยทฤษฎียาทุกตัวที่กินเข้าไปจะหมดไปจากร่างกายที่นิรันดร (infinity) ไม่เชื่อคุณลองเอาขนาดยาที่คุณกิน 20 มก.ตั้ง พอผ่านไปวันแรกคุณเอาสองหาร 20 ก็จะเหลือ 10 มก. ผ่านไปวันที่สองคุณเอาสองหาร 10 ก็จะเหลือ 5 มก. ผ่านไปวันที่สามคุณเอาสองหาร 5 ก็จะเหลือ 2.5 มก. ผ่านไปวันที่สี่คุณเอาสองหาร  2.5 ก็จะเหลือ 1.25 มก. ผ่านไปวันที่ห้าคุณเอาสองหาร 1.25 ก็จะเหลือ 0.625 มก. ผ่านไปวันที่หกคุณเอาสองหาร  0.625 ก็จะเหลือ 0.3125 คือทุกวันที่ผ่านไปคุณเอาสองหารยาที่เหลืออย่างนี้เรื่องไป หารไป หารไป หารไป ดูซิว่านานกี่อสงไขย์ยาจึงจะหมดเกลี้ยงจากร่างกายคือเหลือ 0 มก.ถ้วนๆ เมื่อเหลือศูนย์แล้วคุณไม่ต้องรายงานผลให้ผมฟังหรอกนะ เพราะชีวิตผมคงไม่อาจรอฟังข่าวได้ยืนยาวถึงปานนั้น หิ หิ

     เมื่อยาอยู่ในร่างกายได้ชั่วกัลปาวสานอย่างนี้ ระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ (duration of action) ที่บอกไว้ในฉลากยาจึงเป็นเพียงตัวเลขสมมุติที่เป็นค่าเฉลี่ยที่ได้จากคนส่วนใหญ่เท่านั้น ส่วนยาจริงยังเหลืออยู่ในตัวในระดับที่แม้ในคนส่วนใหญ่อาจไม่มีฤทธิ์ให้เห็นแล้ว แต่มีคนจำนวนหนึ่งที่ไวต่อยามากแม้ยาจะเหลือน้อยแต่ก็อาจจะออกฤทธิ์ไปได้อีกนานเท่าไหร่ไม่รู้ ต้องตามไปดูในร่างกายของแต่ละคนซึ่งสนองตอบต่อยาไม่เท่ากัน บางคนฉลากบอกว่ายาออกฤทธิ์นาน 8 ชั่วโมง แต่ของจริงกินเข้าไปเม็ดเดียวเจ็ดวันแล้วยายังออกฤทธิ์อยู่เลย

     เหลือคำถามอีกข้อหนึ่งนะ เรื่องชาปลายเท้า ผมขอยกยอดไปตอบวันพรุ่งนี้นะ เพราะวันนี้ต้องรีบไปออกกำลังกายก่อน สัญญาว่าจะตอบก็จะตอบให้แน่นอน โปรดมั่นใจ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์